บ้านน้ำหราเป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งแหล่งน้ำและป่าไม้ ส่งผลให้เกิดแนวคิดการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านน้ำหรา การปลูกพืชแบบผสมผสาน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าชุมชนอย่างยั่งยืน จนได้รับการยกย่องจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูลเป็น “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ” ประจำปี 2556
บ้านน้ำหราเป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งแหล่งน้ำและป่าไม้ ส่งผลให้เกิดแนวคิดการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านน้ำหรา การปลูกพืชแบบผสมผสาน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าชุมชนอย่างยั่งยืน จนได้รับการยกย่องจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูลเป็น “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ” ประจำปี 2556
บ้านน้ำหรา เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล การก่อตั้งบ้านน้ำหรานั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณกว่า 70 ปีที่แล้ว มีครัวเรือนที่เป็นชาวไทยมุสลิมประมาณ 8-10 ครัวเรือน ได้อพยพเข้ามาจับจองพื้นที่ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ และปลูกข้าวไร่ แต่ก็ต้องย้ายออกไป เนื่องจากเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มโจรกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่บริเวณนี้ เนื่องจากพื้นที่นี้มีสภาพภูมิประเทศเป็นรอยตะเข็บติดต่อกัน 4 จังหวัด คือ สตูล สงขลา พัทลุง และตรัง มีภูเขาสลับซับซ้อน จึงเหมาะเป็นที่หลบซ่อนซ่องสุมของโจรผู้ร้ายได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องเข้ามาปราบปรามอยู่บ่อยครั้ง จนชาวบ้านต้องอพยพออกไปทำกินที่อื่น จึงทำให้พื้นที่รกร้างในระยะหนึ่ง และเมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวไทยมุสลิมได้เริ่มทยอยกลับเข้ามาจับจองที่ดินทำกินและตั้งถิ่นฐานใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมาชาวไทยพุทธก็เริ่มมีการอพยพเข้ามาจับจองที่ดินทำกินด้วย โดยเริ่มเข้ามาเมื่อประมาณ 30 ปี ที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจังหวัดสงขลาและพัทลุง และชักชวนญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้ามาหาที่ดินทำกินด้วย โดยขอแบ่งซื้อจากคนมุสลิมเดิมหรือบุกเบิกที่ดินทำกินเองในเขตพื้นที่ป่ารอบ ๆ ชุมชนเดิม ด้วยเหตุดังทีกล่าวมานี้ จึงทำให้ประชากรบ้านน้ำหราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรที่มีภูมิลำเนาอพยพมาจากที่อื่น โดยอพยพมาจากอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และอำเภอรัตนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
บ้านน้ำหรา มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาแดง เขาค้อม เขาใหญ่ อยู่ในปกครองหมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากที่ว่าการอำเภอควนกาหลงเป็นระยะทาง 9 กิโลเมตร และห่างจากศาลากลางจังหวัดสตูลเป็นระยะทาง 29 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ และตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลควนโดน และตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลทุ่งนุ้ย หมู่ที่ 6 บ้านน้ำหรา ทั้งสิ้น 1,067 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 512 คน ประชากรหญิง 555 คน จำนวนครัวเรือน 313 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)
ชาวบ้านน้ำหราส่วนใหญ่ทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก รองลงมา คือ ทำสวนผลไม้ และรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่ประกอบอาชีพทำไม้กวาดเป็นรายได้เสริมซึ่งสามารถสร้างรายได้ค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง ไม่ต้องใช้ต้นทุน เพราะวัสดุที่นำมาทำไม้กวาดเป็นผลผลิตจากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นชุมชน โดยรายได้เฉลี่ยจากการประกอบอาชีพของชาวบ้านน้ำหราอยู่ในช่วง 20,000-80,000 บาท/ปี/ครัวเรือน ทั้งนี้ รายได้หลักของเกือบทุกครัวเรือนจะมาจากการทำสวนยาง ซึ่งในช่วงเดือนหนึ่ง ๆ จะได้มากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับฤดูกาลและราคายางที่ขายได้ในแต่ละช่วงเวลา แต่โดยเฉลี่ยแล้วในปีหนึ่ง ๆ จะสามารถกรีดยางได้เต็มที่ประมาณ 3-4 เดือน และราคายางจะขึ้นลงตามราคายางที่ตลาดกลางหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งส่วนใหญ่ครัวเรือนจะขายผ่านพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น และจะถูกหักค่าขนส่งและค่าบริการ ทำให้ราคาที่ได้รับน้อยลงไปอีก แต่อย่างไรก็ตาม สภาพความเป็นอยู่โดยรวมของครัวเรือนในหมู่บ้านก็ไม่จัดว่าเป็นหมู่บ้านยากจนมากนัก ทั้งนี้ เนื่องจากเกือบทุกครัวเรือน มีรายได้เสริมจากการทำสวนผลไม้ (เงาะ ทุเรียน) ขายไม้กวาดดอกหญ้า รับจ้างกรีดยางในหมู่บ้าน และเก็บหาของป่า (ลูกเนียง สะตอ หน่อไม้ ผักพื้นบ้าน และน้ำผึ้ง) ในช่วงฤดูฝนเพื่อการบริโภค ในครัวเรือน รวมทั้งมีบางครัวเรือนสามารถเก็บน้ำมันยางขายเป็นรายได้ให้กับครัวเรือน ทว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ต้องซื้อข้าวสารมาบริโภค เนื่องจากพื้นที่ทำนาไม่มีในหมู่บ้าน หรือเคยมีในบางครัวเรือนแต่ได้เปลี่ยนเป็นสวนยาง หรืออาจปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า เนื่องจากการทำนาให้ผลผลิตได้ไม่คุ้มต้นทุน และบางครัวเรือนต้องไปเช่าพื้นที่ทำนานอกหมู่บ้าน หรือกลับไปทำนา รับจ้างทำนาในภูมิลําเนาเดิม โดยเฉพาะชาวไทยพุทธที่ย้ายมาจากอำเภอรัตภูมิ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีที่ดินทำนาหรือที่นาของญาติ ๆ
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบ้านน้ำหรานี้มีทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม โดยชาวไทยมุสลิมได้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่เป็นเวลานานแล้ว และได้อพยพออกไปครั้งหนึ่งก่อนที่จะย้ายเข้ามาใหม่ สำหรับชาวไทยพุทธเป็นกลุ่มที่ย้ายเข้ามาภายหลัง และทยอยอพยพเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในหมู่บ้าน ส่งผลให้วัฒนธรรมหลักที่พบในบ้านน้ำหราส่วนมาแล้วจะเป็นวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธที่อาจจะเบียดทับวัฒนธรรมมุสลิมอยู่เล็กน้อย เนื่องจากจำนวนประชากรที่ต่างกันค่อนข้างมาก ทว่า ไม่ได้ถึงขั้นว่าวัฒนธรรมหรือประเพณีปฏิบัติของประชากรที่เป็นชาวมุสลิมต้องสูญหายภายในหมู่บ้านยังคงมีมัสยิดสำหรับประกอบให้ชาวมุสลิมประกอบพิธีกรรมทาศาสนา คือ มัสยิดอัชชาฟิอีย์ โดยประเพณีสำคัญของชาวบ้านน้ำหรา เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีชักพระ ประเพณีบุญเดือนสิบ ประเพณีลอยกระทง บรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน วันฮารีรายอ งานเมาลิดกลาง ประเพณีเข้าสุนัต ฯลฯ
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านน้ำหรา
ด้วยจุดเด่นของหมู่บ้านที่มีความพร้อมของแหล่งน้ำ มีดินที่อุดมสมบูรณ์ในการปลูกไม้ผลพันธุ์ดี เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด ส่งผลให้เกิดแนวคิดการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านน้ำหรา โดยมีนายยงยุทธ อินนุ่ม หรือลุงยก (ศูนย์การเรียนรู้ฯ นี้ชาวบ้านเรียกว่า “สวนลุงยก”) เป็นประธานศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนและเยาวชนในพื้นที่ได้เข้ามาเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการจัดการผลิตทางการเกษตร การปลูกพืชแบบผสมผสาน เช่น การปลูกผักกางมุ้ง การปลูกไม้ยืนต้น เป็นต้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามาฝึกอาชีพทางการเกษตรจากการฝึกปฏิบัติจริง และการทดลองทำงานจริงในแปลงสาธิตของศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งนอกจากแปลงสาธิตทางการเกษตรแล้วยังมีการฝึกอาชีพช่างตัดผมเป็นอาชีพเสริม ซึ่งในเวลาต่อมาศูนย์การเรียนรู้ฯ บ้านน้ำหรา เป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ตัวอย่างที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูล ได้เข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การทำเกษตรแบบผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนประสบความสำเร็จได้รับการคัดเลือกจากกรมการพัฒนาชุมชนยกให้เป็น “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ” ประจำปี 2556
ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ฯ มีแปลงสาธิตเพื่อให้นักเรียนและเยาวชน รวมถึงเกษตรกรที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้การประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกพืชปลอดสารพิษ และการปลูกผักกางมุ้ง ซึ่งเป็นผลมาจากการไปศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วได้นำมาทดลองดำเนินการที่ศูนย์ฯ จัดทำเป็นแปลงสาธิตจนประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากเกษตรกรในหมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้ นักเรียนที่อยู่ในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก หลายคนได้นำความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักกางมุ้งไปทดลองปลูกในพื้นที่ของตนเองจนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ศูนย์การเรียนรู้ฯ บ้านน้ำหรา อาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ทำให้เยาวชน และนักเรียนได้เข้ามาเรียนรู้ถึงแนวทางการประกอบอาชีพเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสานต่ออาชีพเกษตรกรของไทยให้ยั่งยืนและมั่นคงต่อไป
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
ป่าเขาแดง เขาค้อม เขาใหญ่
กรมการปกครอง. สำนักบริหารการทะเบียน. (2565). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). สืบค้นเมื่อ 23 กรฎาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/
ธนพร เพชรวารี และคณะ. (2563). แผนพัฒนาตำบล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓. สตูล: องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนุ้ย.
แนวหน้า. (2556). สกู๊ปพิเศษ : เปิดศูนย์การเรียนรู้‘บ้านน้ำหรา’เมืองสตูล เส้นทางสู่เศรษฐกิจพอเพียง. สืบค้นเมื่อ 23 กรฎาคม 2566, จาก https://www.naewna.com
ผู้จัดการออนไลน์. (2564). “ที่นี่..น้ำหรา” แหล่งท่องเที่ยวที่เนรมิตจากสวนปาล์มเป็นสวนน้ำ สัมผัสกับธรรมชาติที่ลงตัว. สืบค้นเมื่อ 23 กรฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/
พรทิพย์ ตังคณานุกูลชัย. (2541). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรป่าอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษาโครงการป่าชุมชนบ้านน้ำหรา อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย.
สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูล. (2559). ศึกษาดูงานการปลูกผักกางมุ้งตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง. สืบค้นเมื่อ 23 กรฎาคม 2566, จาก https://alro.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนุ้ย. (ม.ป.ป.). แหล่งการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นายยงยุทธ อินนุ่ม บ้านเลขที่ 25 ม.6 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล. สืบค้นเมื่อ 23 กรฎาคม 2566, จาก https://thungnui.go.th/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 23 กรฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/