เป็นชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิต ศิลปะ งานฝีมือ ของชุมชน เช่นภูมิปัญญาการทำอิฐมอญ และมวยไทย
เป็นชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิต ศิลปะ งานฝีมือ ของชุมชน เช่นภูมิปัญญาการทำอิฐมอญ และมวยไทย
ชุมชนไทรน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นชุมชนมอญเก่าแก่ที่ตั้งรกรากมาตั้งแต่สมัยปลายสุโขทัยต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ที่ยังเห็นถาวรวัตถุอย่างชัดเจนคือโบสถ์หลวงพ่อใหญ่เป็นโบสถ์มหาอุตม์เจดีย์มี ลักษณะระฆังคว่ำ สันนิษฐานว่าอายุไม่ต่ำกว่า 600-700 ปี มาแล้ว องค์พ่อใหญ่หรือองค์หลวงพ่อมงคลบวรเป็นที่ เคารพสักการะของชาวบ้านมอญที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์รักษาไว้เป็นอย่างดีเพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นการเรียนรู้ ศิลปะมอญแบบโบราณ ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีอาชีพพื้นฐานด้านการเกษตร มีงานหัตถกรรม จักสานฝีมือละเอียดประณีตงดงามมาก ทำขนมไทย ทำอิฐมอญที่มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของท้องตลาดจนเป็น อาชีพที่สร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี และมีอาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวมอญเท่านั้น กล่าวคือ ข้าวแช่ ซึ่งเป็นอาหาร พิเศษที่มีเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือฤดูร้อนเท่านั้น โดยใช้ข้าวหอมมะลิหุงสุกแล้วอบควันเทียน นำข้าวลงแช่ในน้ำเย็นลอยดอกมะลิแล้วกินพร้อมเครื่องเคียงที่เตรียมไว้ จะได้อาหารที่เย็นและมีกลิ่นหอมชื่นใจคลายร้อนได้
อาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอป่าโมก (จังหวัดอ่างทอง)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอบางปะหันและอำเภอพระนครศรีอยุธยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอบางไทร
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเสนาและอำเภอผักไห่
การทำขนมไทยมงคลหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย เรียนรู้การทำขนมไทยมงคล อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน จ่ามงกุฎ ทองเอก เสน่ห์จันทร์ ขนมชั้น
การทำอิฐมอญโบราณหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย เรียนรู้การทำอิฐมอญโบราณที่ทำด้วยมือทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน การขึ้นรูปอิฐ ตากอิฐ ไปจนถึงขั้นตอนการเผา
ยาหม่องสมุนไพร
หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย นักท่องเที่ยวจะได้ทดลองทำยาหม่องสมุนไพรจากต้นตำรับของ “แม่อบเชย” สินค้าโอทอปขายดีประจำหมู่บ้าน เริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ไพร อบเชย กานพลู พิมเสน การบูร วาสลีน พาราฟิน น้ำมันระกำ เมนทอล ไปจนถึงการเคี่ยวสมุนไพรรวมกันจนได้ยาหม่อง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถนำยาหม่องที่ทำด้วยตัวเองกลับไปเป็นของที่ระลึกได้
ทุนวัฒนธรรม
- วัดท่าสุทธาวาสเดิมเรียกว่า “วัดผีมด” สร้างสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. 2315 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณ พ.ศ. 2320 มีประธานในพระอุโบสถคือ หลวงพ่อเศียรและหลวงพ่อเฒ่า มีคำขวัญของวัดคือ”หลวงพ่อเศียรคุ้มเกล้า หลวงพ่อเฒ่าคุ้มภัย”
- วัดบุญกันนาวาสวัดบุญกันนาวาส สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2356 โดยมีนางบุญมี และนายแจ่ม บริจาคที่ดินสร้างวัด มีหลวงพ่อเพชร ที่พบใต้ฐานโบถส์ เมื่อคราวดีดโบสถ์ขึ้น ประชาชนทั่วไปนิยมไปกราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล
- วัดปราสาททองวัดปราสาททอง สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. 2200 ต่อมากลายเป็นวัดร้าง มีซากฐานเจดีย์ใหญ่ปรากฎอยู่ และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ประมาณ พ.ศ. 2452 เดิมชาวบ้านเรียกชื่อวัดหลายชื่อ เช่น ชาวบ้านทางเหนือ เรียก “วัดใต้” ชาวบ้านทางใต้ เรียก”วัดเหนือ” ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบวัด เรียก “วัดเจดีย์” เมื่อคราวมีผู้ดูแลวัด ชื่อ”ตาบูน” ก็เรียก”วัดตาบูน” มีหลวงพ่อศิลานาเวงประดิษฐานอยู่ในวิหาร สร้างด้วยศิลาแลงปางสมาธิ ผู้คนทั่วไปจะไปกราบไหว้ขอให้ช่วยเหลือต่าง ๆ ตามแต่ปรารถนา หากสำเร็จจะจุดพลุถวายท่าน
- วัดเก้าห้องเดิมชื่อวัดท้ายตลาด ตั้งอยู่บ้านเก้าห้อง สร้างเป็นวัดตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2380 พระประธานในโบสถ์สร้างด้วยหินทรายปิดทองทั้งองค์ ใบเสมาคู่ทำด้วยศิลาแลงสลักลวดลายเครือเถาวัลย์เป็นของเก่าแก่ มีวัตถุมงคล คือเหรียญ , แหวนหลวงพ่อพระครูสุมนเมธากร (หลวงพ่อโก๊ะ) อดีตเจ้าอาวาสวัดเก้าห้อง ซึ่งเป็นเหรียญที่แปลกนั่นคือ หลวงพ่อนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ลูกศิษย์เมื่อยามได้รับนิมนต์ไปในงานต่างๆ
กานดา เต๊ะขันหมาก. (2564). การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการของชุมชนมอญ ตำบลไทรน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วารสารรัชต์ภาคย์. 15(43), หน้า 166-182.
ชุมชนคุณธรรมบ้านไทรน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. (2565). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://jk.tours/2022/01/20/ชุมชนคุณธรรมบ้านไทรน้อ/
วัดไทรน้อย หลวงพ่อใหญ่ โบสถ์มหาอุตม์. (2562). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://bangban.go.th/public/list/data/detail/id/41/menu/395/page/
วิหารหลวงพ่อใหญ่วัดไทรน้อย. (2555). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://www.m-culture.in.th/album/133542/วิหารหลวงพ่อใหญ่วัดไทรน้อย
สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). การทำอิฐมอญ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaiculture.go.th/web/detail.php?nid=4&tid=occupation&sid=
อิฐมอญทำมือ. (2565). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://m-culture.in.th/album/view/197332/