
ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของพื้นที่ส่งผลให้ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ประกอบอาชีพทำนาเกลือ และนากุ้ง รวมทั้งยังมีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ
ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของพื้นที่ส่งผลให้ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ประกอบอาชีพทำนาเกลือ และนากุ้ง รวมทั้งยังมีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ
ชุมชนนาเกลือบางแก้วตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง เดิมเป็นทะเล ต่อมาพื้นที่เกิดการทับถมของตะกอนแม่น้ำที่พัดพากลายเป็นที่ดอนจนมีสภาพเป็นแผ่นดินที่มีลักษณะของป่าไม้น้ำท่วมเสมอครอบคลุมตั้งแต่บริเวณบ้านบางแก้วจรดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยในช่วงบุกเบิกของการตั้งถิ่นฐานพื้นที่บ้านบางแก้วริมคลองบางแก้วรายล้อมไปด้วยป่าไม้ และนาเกลือทางทิศตะวันออก โดยผู้คนเริ่มทยอยอพยพมาตั้งถิ่นฐานในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ซึ่งมีการค้าขายเกลือกับชาวยุโรป อเมริกา และอังกฤษ
หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398 มีการเก็บอากรนาเกลือในอัตราเดียวกับอากรขาออก ยกเว้นกรณีที่มีการขาดแคลนเกลือในประเทศ ซึ่งอยู่ในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นที่นาเกลือมีความสำคัญโดยมีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับอากรนาเกลือในช่วง พ.ศ. 2415-2416 และหลังการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยกเลิกอากรนาเกลือ พ.ศ. 2475 ซึ่งมีผลบังคับใช้เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนยากจน
ในปี พ.ศ. 2497 มีการเชื่อมต่อกันด้วยคลองขุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนที่กั้นกลางระหว่างศูนย์กลางพื้นที่นาเกลือในตำบลบางแก้วเป็นพื้นที่นา ส่งผลให้พื้นที่นาเกลือจังหวัดสมุทรสงครามกับจังหวัดสมุทรสาครเชื่อมต่อกัน เนื่องด้วยพื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่มีคลองธรรมชาติที่ช่วยในการส่งน้ำเค็มจากทะเลเข้าสู่พื้นที่นาเกลือด้านใน ประกอบกับในช่วงพ.ศ. 2497-2498 มีการร้องเรียนให้ยกเลิกพื้นที่ป่าสงวนและป่าเตรียมการสงวนทั้งหมดที่มีในจังหวัดสมุทรสงคราม ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีคำสั่งงระงับการสงวนป่าใน พ.ศ. 2500 และเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนใน พ.ศ. 2501 เพื่อเปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าใช้พื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน จนในที่สุดจังหวัดสมุทรสงครามไม่มีพื้นที่ป่าสงวนลงเหลืออยู่ มีเพียงแต่พื้นที่ป่าชายเลนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของราษฎร ตลอดจนใน พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงเศรษฐการให้ยืมเงินหมุนเวียนเพื่อซื้ำข้าวให้เปลี่ยนไปใช้ซื้อเกลือ และการของบประมาณขุดลอกคลองเพื่อนำเกลือที่ตำบลกาหลง และตำบลนางโคกออกจำหน่าย ทำให้พื้นที่นาเกลือตำบลบางแก้วมีศูนย์กลาง 2 แห่ง คือ บ้านบางประจันต์ และบ้านนาโคก
ในปี พ.ศ. 2506 เกิดหลักการการทำนาเกลือในรูปแบบการรวมกลุ่มและการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการค้นคว้าและทดลองการทำนาเกลือ และพ.ศ. 2507 มีการพิจารณายกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินอำเภอเมืองสมุทรปราการและสมุทรสาคร หรือเปลี่ยนแปลงใหม่เพื่อประโยชน์ในการทำนาเกลือ
ในปี พ.ศ. 2513 จากการพัฒนาถนนพระราม 2 ทำให้พื้นที่นาเกลือถูกเวนคืนไปเพื่อการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม แต่ในช่วงพ.ศ. 2510-2519 พื้นที่นาเกลือยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากการส่งเสริมการทำนาเกลือ และในระยะต่อมาช่วง พ.ศ. 2516-2534 พื้นที่เกษตรกรรมนาเกลือเข้าแทนพื้นที่เกษตรกรรมสวนยกร่อง เนื่องจากน้ำจืดไหลลงมาในพื้นที่น้อยลง ตลอดจนในช่วง พ.ศ. 2518-2534 มีการขยายตัวของชุมชนบริเวณป้ายหยุดรถไฟลาดใหญ่ ส่งผลให้พื้นที่นาเกลือลดลงจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ พ.ศ. 2520-2531 เป็นช่วงเวลาที่มีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งถือเป็นระยะแรกเริ่มของการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในประเทศไทย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมายสำหรับผู้ประกอบอาชีพการปลูกป่าชายเลนเริ่มเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรมนากุ้ง หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากประสบกับปัญหาไม่คุ้มต้นทุน เป็นผลมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) ที่มีการทดลองค้นคว้าอบรมเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและการเพาะเลี้ยงกุ้งชายฝั่ง ทำให้คนในพื้นที่เริ่มมีการขายที่ดินให้เอกชนเพื่อการก่อสร้างและขยายสะพานปลา โรงแช่แข็ง เพื่อรองรับการทำนากุ้ง แต่ต่อมา พ.ศ. 2533 เกิดการแพร่ระบาดไวรัสในกุ้งที่เลี้ยง ทำให้ชาวบ้านเกิดการขาดทุน เกษตรกรรมนากุ้งถูกปล่อยให้รกร้าง และถูกปรับพื้นที่กลับมาเป็นนาเกลืออีกครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณบางแก้ว

ตำบลบางแก้ว ตั้งอยู่บริเวณชายทะเลอ่าวแม่กลอง เป็นที่ราบลุ่ม มีสภาพเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ เนื่องจากมีการทำการประมง เพราะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำนาเกลือ บริเวณพื้นที่ชายงฝั่งเป็นจำนวนมาก อาณาเขตที่ตั้ง
ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลลาดใหญ่ และเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม
ทิศใต้ ติดกับ อ่าวแม่กลอง
ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลนาโคก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลบางจะเกร็ง

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรเกลือสมุทรบางแก้ว
ด้วยความสนใจงานผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกลือ คุณนงนุช เจริญฤท และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกลือสมุทรบางแก้ว ได้พัฒนาและทำการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องบำรุงผิวจากเกลือแบบต่างๆตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ในระยะต่อมาจึงมีการจดทะเบียน OTOP และได้ทำการผลิตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากคำแนะนำของลูกค้าและการศึกษาดูงานที่อื่นๆ มี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน เช่น กลือจืดสูตรขมิ้น สบู่เกลือน้ำมันมะพร้าว เกลือขัดผิว โดยทางกลุ่มมีการทำการตลาดเองทั้งหมด โดยมีหน้าร้านหลักที่ตลาดน้ำอัมพวา มูนิธิชัยพัฒนานุรักษ์ และจังหวัดอื่นๆ เช่น สุราษฏร์ธานี และเชียงใหม่

จากการขยายตัวของชุมชนทางทิศเหนือตามลำคลองสายต่างๆจนเกิดการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ก่อให้เกิดรูปแบบการทำนาเกลือ การตั้งถิ่นฐาน และการปลูกสร้างบ้านเรือนตามลำคลอง มีผู้ตั้งรกรากใหม่ต่างกลุ่มต่างวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่จนเกิดการผสมผสานกันทางวัฒนธรรมในชุมชนบางแก้ว จนกลายเป็นชุมชนชาวนาเกลือที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณริมน้ำที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่นาเกลือ โดยมีทุนวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เช่น
1.) เรือนของชาวนาเกลือ
เป็นเรือนที่อยู่อาศัยแบบเรือนไทยภาคตะวันออกที่มีตัวเรือนแบ่งเป็นส่วนสำหรับนอน ส่วนสำหรับอาศัย เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าตามความยาวของตัวเรือน ส่วนหน้าที่ต่อจากใช้นอนเปิดโล่ง ส่วนหลังถัดเข้ามาเป็นส่วนของห้องนอนและห้องครัว ด้านข้างของส่วนห้องนอนและพื้นที่ส่วนหน้าจะเปิดโล่ง และลดระดับพื้นต่ำลง ด้านหน้าบ้านมีชานพักและบันไดเชื่อมกับแม่น้ำลำคลอง วัสดุที่ใช้ปลูกสร้างเป้นวัสดุธรรมชาติ หลังคามุงจาก หญ้าคา หรือทางมะพร้าว
2.) ยุ้งฉางเกลือ
เป็นเรือนที่ใช้เก็บผลผลิตเกลือหลังจากที่ได้ผผลิตเกลือแล้วเพื่อพักเกลือ ชาวนาเกลือจะเลือกทำเลที่ตั้งบนที่ดอนหรือพื้นที่ถมสูงกว่าพื้นที่ปกติเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่ทำให้ผลผลิตเกลือละลายและเกิดความเสียหายได้ โดยมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่ว ภายในเปิดโล่งมีฝาปิดล้อมรอบ 4 ด้าน ทำประตูทางด้านสกัดที่หัวท้ายด้านละ 1 ประตู ฝาที่ยุ้งฉางเกลือนิยมใช้ฝาแบบฝากไม้ไผ่ด้วยการนำไม้ไผ่ทั้งลำมาผ่าซีกเพื่อให้ระบายน้ำจากผลผลิตเกลือได้ดี
ชนิธิกาญจน์ จีนใจตรง. (2564). ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิมจังหวัดสมุทรสงคราม. ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สหวิทยาการสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สรณพงษ์ บัวโรย และคณะ. (2545). การศึกษาคุณสมบัติและการใช้ประโยชน์จากขี้แดดนาเกลือ ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.