
ชุมชนบางคล้ามีวิถีชีวิตท้องถิ่นเป็นชุมชนการเกษตร มีการดำเนินชีวิตคู่กับลุ่มน้ำบางปะกง และก่อให้เกิดอาชีพและผลผลิตต่าง ๆ เช่น กุ้งแม่น้ำ ปลาแม่น้ำ มะม่วง มะพร้าว น้ำตาลสด ชุมชนบางคล้ายังมีเส้นทางย้อนรอยประวัติศาสตร์ให้ท่องเที่ยว พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดปากน้ำโจโล้ และวัดโพธิ์บางคล้า ที่เป็นที่อาศัยของค้างคาวแม่ไก่ โดยเทศบาลตำบลบางคล้าได้มีการจัดตั้งตลาดน้ำบางคล้า เพื่อส่งเสริมอาชีพและช่วยขับคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน
บางคล้า เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาจากพรรณไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ต้นคล้า" ที่เป็นพืชท้องถิ่น ซึ่งเป็นไม้พุ่มขนานเล็ก มีเหง้าใต้ดิน และหน่อออกเป็นกอใหญ่ ลำต้นสูงถึง 2 เมตร แตกกิ่งก้านตอนปลาย ใบคล้ายใบกล้วย แต่มีขนาดเล็กกว่ากันมาก ดอกสีขาวออกเป็นช่อห้อยลงมาเป็นสาย ผลกลม พบขึ้นมากตามป่าดิบเขาริมธาร และที่ชุ่มชื้น ลำต้นใช้จากสวนทางเหนือเรียกว่า "แหย่ง" ปัจจุบันต้นคล้าในเขตบางคล้ามีเหลือน้อยมาก เท่าที่ยังเหลืออยู่เพราะชาวบ้านปลูกเอาไว้ใช้ประโยชน์ในการนำลำต้น มาเย็บจากเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเนื่องจากความต้องการในการใช้จากมุงหลังคาอาคารบ้านเรือนลดน้อยลง เพราะมีวัสดุอื่น ๆ ที่สะดวกกว่าจึงไม่ค่อยนิยมกันมากเหมือนแต่ก่อน
หรืออีกข้อสันนิษฐานอีกประการ เนื่องจากว่าบริเวณนั้นเดิมเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งเรียก “บ้านบางคล้า” และมีคลองซอยเล็ก ๆ อีกคลองหนึ่งเรียกกันว่า “คลองบางคล้า” จึงตั้งชื่ออำเภอว่า “บางคล้า”
ชุมชนบางคล้ามีวิถีชีวิตท้องถิ่นเป็นชุมชนการเกษตร มีการดำเนินชีวิตคู่กับลุ่มน้ำบางปะกง และก่อให้เกิดอาชีพและผลผลิตต่าง ๆ เช่น กุ้งแม่น้ำ ปลาแม่น้ำ มะม่วง มะพร้าว น้ำตาลสด ชุมชนบางคล้ายังมีเส้นทางย้อนรอยประวัติศาสตร์ให้ท่องเที่ยว พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดปากน้ำโจโล้ และวัดโพธิ์บางคล้า ที่เป็นที่อาศัยของค้างคาวแม่ไก่ โดยเทศบาลตำบลบางคล้าได้มีการจัดตั้งตลาดน้ำบางคล้า เพื่อส่งเสริมอาชีพและช่วยขับคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน
บางคล้าเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทราที่มีแม่น้ำบางประกงไหลผ่านหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งในอดีตเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยนาไร่ และสวนผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น สับปะรด มะพร้าว มะม่วง ฯลฯ โดยบรรพบุรุษชาวบางคล้า ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวเชื้อสายจีนสืบทอดกันมาช้านาน
นอกจากนี้พื้นที่ในชุมชนยังเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์อีกด้วย โดยในปี พ.ศ. 2309 คราวสงครามเสียกรุง พระจ้ามังระ ส่งกองทัพมาคุมชุมชน และเส้นทางบริเวณปากน้ำโจ้โล้ (ปากน้ำคลองท่าลาดที่ไหลลงแม่น้ำบางปะกง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา) ด้วยเป็นเส้นทางสู่เมืองตะวันออกของพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นสมรภูมิที่พม่ากับทัพของพระเจ้าตากสินมหาราชต่อสู้กัน และหลังปี พ.ศ. 2369 รัชกาลที่ 3 ทรงยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ และรับสั่งให้กวาดต้อนครัวลาวพวกหนึ่งมาอยู่ที่ลุ่มน้ำบางปะกง เกิดบ้านเมืองใหม่ชื่อ เมืองฉะเชิงเทรา แต่ปากชาวบ้านเรียกชื่อเดิมที่มีมาก่อนว่า เมืองแปดริ้ว (ปัจจุบันคือ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา)
ลักษณะภูมิประเทศ ชุมชนบางคล้ามีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกงไหลผ่านทางทิศตะวันตก พื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ กิ่งอำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
- ทิศใต้ ติดกับ อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอราชสาส์น และอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอเมือง และกิ่งอำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา

วิถีของในชุมชนเก่าแก่แห่งนี้มีความเป็นอยู่อย่างสงบ เรียบง่าย ต่างทำมาหากิน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทุกคนมีความรักใคร่ปรองดองให้ความนับถือพี่น้องดั่งเครือญาติ
วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตรอำเภอบางคล้า รวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะมะม่วงกวนบางคล้า
พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อำเภอบางคล้า มีประวัติการสร้าง เป็นอนุสรณ์สถานเป็นสถานที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญ ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าล้อมเมืองไว้ ก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ 2 ชาวบ้านเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการ ได้ตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา ก่อนกรุงแตกในปี พ.ศ. 2310 เพื่อไปรวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช ณ เมืองจันทบุรี จึงได้สร้างพระสถูปเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะของพระองค์ในบริเวณนี้
วัดปากน้ำโจโล้
วัดปากน้ำโจ้โล้เดิมเป็นสำนักสงฆ์อยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย หน้าวัดมีคลองไหลผ่านมารวมกับแม่น้ำบางปะกง พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของทัพพม่า ซึ่งมีทั้งทัพบกและทัพเรือ ได้ต่อสู้และพ่ายแพ้ทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ขึ้น ณ ที่แห่งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ (แต่ต่อมาเจดีย์นี้ถูกน้ำกัดเซาะพังทลายลงไปหมด กรมศิลปากรจึงได้สร้างขึ้นมาใหม่ในบริเวณเดิม) คำว่า "โจ้โล้" มาจากการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชชทรงวางแผนยุทธการการสงครามเข้าตีทหารพม่าโดยการที่ทรงโล้เรือมาตามน้ำ ให้ทหารพม่าเห็นว่าทรงมาเพียงลำพังให้ทัพพม่าตายใจ แล้วให้ทหารซุ้มล้อมโจมตีจนได้ชัยชนะ และได้เรียกกันต่อมาว่า "เจ้าโล้" แต่ต่อมาเพี้ยนมาเป็น "โจ้โล้" และอีกประวัติหนึ่งคือ ลำน้ำนี้มีปลากระพงชุกชุม และชาวจีนเรียกว่า โจ้โล้ จากข้อมูลกรมการศาสนา ระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2336
เอกลักษณ์ของวัด คือ อุโบสถสีทองทั้งหลัง หลังคาประดับด้วยพญานาคและธรรมจักรตรงกลางมีบุษบกยอดฉัตร ส่วนบริเวณกำแพงแก้วชั้นนอกตกแต่งด้วยลวดลายธรรมจักรสลับกับโคมไฟรูปช้างสามเศียรเป็นระยะ ๆ ภายในอุโบสถมีองค์หลวงพ่อโตเป็นพระประธาน จำลองมาจากพระพุทธชินราช ด้านหน้าพระประธานมีรูปพระเจ้าตากสิน ไหว้ด้วยพานเครื่องทองน้อยแทนการจุดธูปเทียน ด้านบนขออุโบสถมีการสร้างบุษบกไว้ที่ด้านบนอุโบสถเพื่อบรรจุพระบรมธาตุ ภายในอุโบสถมีการนำลวดลายปูนปั้นจำหลักหรือใช้แม่พิมพ์สร้างงานขึ้นมาประดับตกแต่งภายในอุโบสถซึ่งใช้สีทองทั้งหมดเหมือนกับภายนอก แทนการใช้ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
วัดโพธิ์บางคล้า
สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2310–2325 สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช และคาดว่าเคยเป็นที่พักทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งยกทัพไปต่อสู้กับพม่า ที่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ (ห่างจากวัด 1 กิโลเมตร) เมื่อราวปี พ.ศ. 2309 จากคำบอกเล่า เดิมมีกุฎิไม้ใต้ถุนสูง หลังคามุงจาก อยู่ใกล้กับท่าน้ำแม่น้ำบางปะกงและต้นโพธิ์ใหญ่ มีโบสถ์คล้ายเก๋งจีน หลังคาซ้อน 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย ช่อฟ้าเป็นรูปหัวมังกร ผนังก่ออิฐฉาบปูนขาวผสมน้ำอ้อย ล้อมรอบด้วยใบเสมา ปัจจุบันทางวัดได้รื้อถอนโบสถ์และกุฏิไม้แล้ว
ด้านหน้าวัดจะมีวิหารเก่าแก่ ทรงจัตุรมุขสมัยอยุธยาตอนปลาย หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่า และมีการซ่อมแซมหลังคาอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2485 และต่อมาหลังคาเกิดพังทลายลง ทำให้ต้องสร้างหลังคาขึ้นใหม่แทนของเดิม เมื่อ พ.ศ. 2541 มีหน้าต่างหนึ่งช่อง มีประตูสองช่องเหนือขอบประตูสองด้าน ประดับด้วยถ้วยชามสังคโลกเรียงกันเป็นรูปทรงกลม หน้าจั่วเป็นพื้นเรียบ กระเบื้องชายหลังคาเชื่อมด้วยปูน และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยทำด้วยปูน ประดิษฐานไว้โดยรอบจำนวน 8 องค์ ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์
ตลาดน้ำบางคล้า
ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ตลาดน้ำบางคล้า จัดตั้งขึ้นภายใต้นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของคณะผู้บริหารเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของอำเภอบางคล้า โดยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งทางเทศบาลตำบลบางคล้า ได้เตรียมการรองรับตลาดน้ำบางคล้าโดยจัดมีการฝึกอบรมอาชีพแก่ประชาชน เช่นบริการนวดเพื่อสุขภาพ การทำอาหาร และทำขนม การประดิษฐ์ของที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพจริงและสร้างรายได้จริง ตลาดน้ำบางคล้า มีลักษณะเป็นโป๊ะที่ยื่นลงสู่แม่น้ำบางปะกง และมีการค้าขายสินค้าทางเรือโดยส่วนมาก โดยมีการจัดจำหน่ายสินค้าอย่างหลากหลายทั้งยังเป็นสินค้าที่ผสมผสานความเป็นไทยในอดีตกับปัจจุบันได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นหีบห่อของอาหารที่ทำจากใบตอง ภาชนะใส่เครื่องดื่มทำจากดินปั้นเป็นต้น ตลาดน้ำบางคล้ายังมีความพิเศษ ในเรื่องทัศนียภาพที่สวยงามริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นป่าชายเลนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ปลา พันธุ์ไม้ต่าง ๆ หรือแม้แต่วิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำที่มีการดักลอบปลา หรือพายเรือจับปลา จับกุ้ง ตลาดน้ำบางคล้าเปิดให้บริการทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00 - 18.00 น .





ความร่วมมือในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตรอำเภอบางคล้ารวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเมื่อปี พ.ศ. 2557 และจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 โดยในระยะเริ่มต้นนั้นทางชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมกลุ่มประมาณ 5-6 คน ทำขนมจากดองไข่เค็มนำไปจำหน่ายตามบ้านเรือนในชุมชนแต่ประสบปัญหายอดขายน้อยประกอบกับในอดีตนั้นราคามะพร้าวมีราคาถูกส่งผลให้มีมะพร้าวเหลือทิ้งเป็นจำนวนมากทางวิสาหกิจชุมชนถึงได้เล็งเห็นพื้นที่อ.บางคล้านอกจากมีมะพร้าวแล้วยังมีมะม่วงเป็นจำนวนมากจึงได้ทำการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่รวมสมาชิกจำนวน10 คน เป็นเปลี่ยนเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตรอำเภอบางคล้าที่จำหน่ายมะม่วงแปรรูปและมะพร้าวแก้วโดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ณัฐพร ผลไม้แปรรูป” จากนั้นเป็นต้นมาซึ่งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตรอำเภอบางคล้าเป็นวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ตำบลปากน้ำจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนตามนโยบายส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC จากภาครัฐซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้วิจัยมองว่ามีวิสาหกิจที่มีศักยภาพและเป็นวิสาหกิจที่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ชนิสรา แก้วสวรรค์. (2564). การพัฒนาศักยภาพด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตรอำเภอบางคล้าจังหวัดฉะเชิงเทรา. วารสารด้านการบริหารรัฐกิจและการเมือง, 10(2), 92-108.
ชุมชนตลาดบางคล้า. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/.
ชุมชนบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา. (2561). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://www.paiduaykan.com/travel/ชุมชนบางคล้า.
บรรดิษฐ์ หมวดหอม. (ม.ป.ป.). ชุมชนบางคล้า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://www.travel2guide.com/2ท่องเที่ยวชุมชน-บางคล้า-จังหวัดฉะเชิงเทรา.
พอเจตน์ ธรรมศิริขวัญ และคณะ. (2561). การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ชุมชนเสมือนของศูนย์การเรียนรู้มะม่วงสำหรับวิสาหกิจผู้ผลิตมะม่วงเมืองแปดริ้ว อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา. วารสารชุมชนวิจัย, 12(1), 87-97.
วิภา จิรภาไพศาล. (2565). จังหวัดฉะเชิงเทรา มีที่มาอย่างไร? ชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ พ.ศ. 1000. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/.
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (2562). การท่องเที่ยวโดยชุมชนบางคล้า เทศบาลตำบลบางคล้า อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://web.codi.or.th/.
อำพวัน เอมบัณฑิต. (2558). การจัดตั้งตลาดน้ำบางคล้า. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Gastronomy. (ม.ป.ป.). ชุมชนบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://www.hellolocal.asia/.