ชุมชนเกษตรกรรมที่มีเรือนทรงไทยอยู่หลายหลังในพื้นที่ ปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตทำตาลโตนดที่มีชื่อเสียง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีคลองบางจากไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกของตำบล เหมาะสำหรับทำนาและทำตาล (น้ำตาลโตนด)
ชุมชนเกษตรกรรมที่มีเรือนทรงไทยอยู่หลายหลังในพื้นที่ ปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตทำตาลโตนดที่มีชื่อเสียง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีคลองบางจากไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกของตำบล เหมาะสำหรับทำนาและทำตาล (น้ำตาลโตนด)
ชุมชนบ้านท้ายหลวง เป็นชุมชนดั้งเดิมในอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลแน่ชัดว่ามีการตั้งถิ่นฐานเมื่อใด จากการอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรี บ้านท้ายหลวงนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งแต่สมัยทวารวดีและศรีวิชัยเคยมีกษัตริย์ปกครอง บางสมัยก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรที่เข้มแข็งกว่า ชื่อเมือง “เพชรบุรี” ได้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรมานานแล้วตั้งแต่เมื่อ 700 ปีก่อน ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย การมีชื่อเมืองที่ระบุอยู่ในศิลาจารึก เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าเพชรบุรี น่าจะเป็นบ้านเมืองมีคนอยู่อาศัยเป็นชุมชนถาวรมาแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว หลักฐานวัตถุที่แสดงถึงความเป็นบ้านเมืองเพชรบุรีที่ยืนยันได้ว่า มีอายุเก่าแก่ย้อนหลังไปเป็นพันปี
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพชรบุรีก็ยังเป็นหัวเมืองที่มีความสำคัญ ต่ออยุธยาอย่างสูง เพราะเป็น จุดยุทธศาสตร์สำคัญของพระราชอาณาจักร โดยเหตุที่มีฐานะเป็นแหล่งสะสมเสบียง เนื่องจากมีพื้นที่ราบลุ่มกว้างขวางเหมาะแก่การ เพาะปลูก และทำไร่ไถนา และขณะเดียวกันก็เป็นชัยภูมิอันเหมาะสมที่สามารถใช้เป็นที่ตั้งมั่นบัญชาการรบทั้งทางบกและทางทะเล ดังนั้น ตลอดสมัยที่อยุธยาเป็นราชธานี เพชรบุรี จึงกลายเป็นเมืองหน้าด่านในการรบพุ่งกับพม่า เพราะข้าศึกจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา จะยกกันมาทางช่องสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชาวเพชรบุรีต้องต่อสู้ป้องกัน อาณาจักรหลายครั้งหลายหน นอกจากนั้น เพชรบุรียังเป็นเมืองที่เรือจะต้องจอดแวะเพื่อขึ้นล่อง หรือเพื่อเดินทางต่อไปยังมะริด เมาะลำเลิง และไปกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพชรบุรีคงเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญตลอดมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเมืองเพชรบุรีมากได้โปรดให้สร้าง “พระนครคีรี” ขึ้นเพื่อประทับและรับแขกเมือง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเสวยน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี นอกจากนั้นทรงโปรดให้สร้าง “พระรามราชนิเวศน์” ขึ้นแต่สร้างไม่แล้วเสร็จก็สวรรคตเสียก่อน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างต่อจนเสร็จ และยังได้โปรดให้สร้าง “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ขึ้นอีกด้วย
พื้นที่ในชุมชนส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีภูเขาและป่าไม้ มีความอุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ โดยเฉพาะต้นตาล ซึ่งการทำน้ำตาลโตนดเป็นอาชีพที่คนในท้องถิ่นทำมาเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่รอดตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอเขาย้อยและอำเภอเมืองเพชรบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอเมืองเพชรบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอท่ายาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอแก่งกระจานและอำเภอหนองหญ้าปล้อง
จากข้อมูลจำนวนสถิติของกรมการปกครอง ณ เดือนมกราคม 2566 มีจำนวนประชากรในชุมชนบ้านท้ายหลวงรวมทั้งสิ้น 381 คน แบ่งเป็นเพศชาย 177 คน และเพศหญิง 204 คน
กลุ่มอนุรักษ์ทำน้ำตาลโตนดบ้านท้ายหลวง กลุ่มชาวบ้านที่ทำน้ำตาลโตนดเพื่อจำหน่าย โดยได้จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทำน้ำตาลโตนดบ้านท้ายหลวงขึ้นมา เพื่อส่งเสริมสินค้าภายในชุมชนให้มีคุณภาพ เทียบเท่ากับน้ำตาลโตนดจากแหล่งชุมชนอื่น ๆ
น้ำตาลโตนด น้ำตาลโตนดคือน้ำตาลที่ทำมาจากน้ำหวานของต้นตาล โดยนำน้ำตาลใส่กระบอกไม้ไผ่ที่มีพยอมรองไว้ที่ก้นกระบอก เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองขึ้นชื่อของน้ำตาลโตนด
วัดดอนหว้าพิกุลทอง หรือที่เรียกวัดหว้า, วัดดอนหว้า วัดเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชุมชนบ้านท้ายหลวงมากอย่างยาวนาน ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2325 ตามทะเบียนวัดภาค และได้รับพระราชทายวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2362 จากหลักฐานทางด้านสิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่ เป็นวัดเด่าแก่ที่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา
- การมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนที่จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทำน้ำตาลโตนดบ้านท้ายหลวงขึ้นมา เพื่อส่งเสริมสินค้าภายในชุมชนให้มีคุณภาพ เทียบเท่ากับน้ำตาลโตนดจากแหล่งชุมชนอื่น ๆ สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ
- นายชลอ ดำนิล ผู้อำนวยการศูนย์คู่แผ่นดินจังหวัดเพชรบุรี ผู้ดำเนินรายการเพจข่าวเมืองเพชรบุรี ไปเยี่ยมชมและดูการผลิตเจลลี่ตาลโตนดของนางแพรว หอมฟุ้ง ที่บ้านเลขที่ 84 หมูที่ 1 บ้านท้ายหลวง ตำบลสะพานไกร อำเภอบ้านจังหวัดเพชรบุรี พร้อมพูดกับนางมณียา ถมปัด ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านลาด และนายศักดิ์ชัย คชศรีสวัสดิ์ ประธานส่งเสริมและพัฒนาแบรนด์จังหวัดเพชรบุรี ถึงการผลิตและแนวทางส่งเสริมการตลาด ซึ่งการทำเจลลี่ตาลโตนดได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ้านลาดทั้งเรื่องการผลิตและการตลาด
กลุ่มอนุรักษ์ทำน้ำตาลโตนดบ้านท้ายหลวงนี้นอกจากจะส่งเสริมด้านเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนแล้ว ยังสนับสนุนให้วัฒนธรรมวิถีชีวิตดั้งเดิม คือ การทำน้ำตาลโตนดที่มีมาตั้งแต่อดีตให้คงอยู่เรื่อยไป
กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านท้ายหลวง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/.
วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี. (ม.ป.ป.). อำเภอบ้านลาด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบุรี. 2559. ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://phetchaburi.cdd.go.th/
สุกัญชลิกา บุญมาธรรม. 2563. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลปัญหาและความต้องการของชุมชนในจังหวัดเพชรบุรี กรณีศึกษาอําเภอบ้านลาด (บ้านลาดโมเดล). วารสารวิชาการนวัตกรรมการจัดการเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 7(1), 51-62.
FINDPLACES. (ม.ป.ป.). แหล่งชุมชนเก่า ชุมชนบ้านท้ายหลวง เพชรบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://maps.thaitravelloc.com/