Advance search

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอซึ่งตั้งถิ่นฐานในที่ราบท่ามกลางหุบเขาในพื้นที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงอนุรักษ์วิถีการเกษตรและงานหัตถกรรมท้องถิ่น

หมู่ที่ 3
แม่ขะปู
บ่อแก้ว
สะเมิง
เชียงใหม่
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
1 มิ.ย. 2020
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
1 ส.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
7 ส.ค. 2023
แม่ขะปูเปียง

ที่มาของชื่อหมู่บ้าน แม่ขะปู” สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนเสียงมาจากคำในภาษาปกาเกอะญอ ปรากฏการสันนิษฐาน ลักษณะ คือ ประการแรก เพี้ยนมาจากคำว่า เกอะปุ๊เด๊าะ” ซึ่งแปลว่าผักปูหรือผักกูดในภาษาปกาเกอะญอ (ในพื้นที่อื่น ๆ มีการเรียกผักกูดที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในพื้นที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียนว่า โปล่แปล่เด๊าะ หรือกุ๊เด๊าะ) ประการที่สอง เพี้ยนมาจากคำว่า เก่อปูคี โดยคำว่า เก่อปู หมายถึง หุบเขา ส่วนคำว่าแม่ เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า เหม่ เป็นชื่อที่ถูกเรียกขึ้นตามทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านตั้งอยู่กลางหุบเขาที่มีลักษณะคล้ายกับก้นหม้อดินและมีลำห้วยไหลผ่าน


ชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอซึ่งตั้งถิ่นฐานในที่ราบท่ามกลางหุบเขาในพื้นที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงอนุรักษ์วิถีการเกษตรและงานหัตถกรรมท้องถิ่น

แม่ขะปู
หมู่ที่ 3
บ่อแก้ว
สะเมิง
เชียงใหม่
50250
18.790903641898463
98.59724517359672
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว

ยุคที่ 1 : 4,000 ปีก่อน - พ.ศ. 2499

1) การตั้งถิ่นฐานและการปกครอง

ปกาเกอะญอ เป็นชื่อเรียกแทนตนเองของกะเหรี่ยงกลุ่มสะกอ ซึ่งมีความหมายว่า “คน” ชาวปกาเกอะญอมีภาษาและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตน โดยมีความสัมพันธ์และความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ความเป็นมาของพื้นที่หมู่บ้านแม่ขะปูนั้น มีเรื่องเล่ากันไปถึง 4,000 ปีที่แล้ว ผู้คนต่างอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย สันนิษฐานว่าคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานน่าจะเป็น “กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ” โดยปรากฏหลักฐานโบราณสถานวัดเก่าลัวะ จำนวน 4 แห่ง และพบป่าช้าลัวะ การย้ายถิ่นฐานของชาวลัวะออกจากพื้นที่บ้านแม่ขะปูนั้น พบตำนานบอกเล่าที่เกี่ยวข้องเรื่องก้อนเนื้อพูดได้ โดยเล่ากันว่า วันหนึ่งมีก้อนเนื้อก้อนหนึ่งตกลงมากลางหมู่บ้าน ชาวบ้านเห็นจึงได้นำมารับประทาน ก้อนเนื้อก็ตกลงมาเรื่อย ๆ จำนวนมาก และได้บอกกล่าวกับชาวบ้านว่า ถ้าท่านไม่กินเรา เราจะกินท่าน ต่อมาก้อนเนื้อได้กลายเป็นหิน และไล่ชาวลัวะที่อยู่ในพื้นที่นี้ไปจนถึงบ้านแม่ละอูบ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงทำให้ไม่มีชาวลัวะอาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านแม่ขะปูตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนชาวปกาเกอะญอนั้น ได้เข้ามาหลังจากที่ชาวลัวะได้ย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ไปแล้วในช่วงประมาณ พ.ศ. 2287 โดยการนำของอาเจะ และนายแซเจะได้นำชาวบ้านอพยพมาจากที่อื่น ซึ่งพบเรื่องเล่าทั้งการอพยพมาจากประเทศพม่า ประเทศทิเบต จังหวัดแม่ฮ่องสอน และการอพยพมาจากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จากการเคยเป็นคนดูแลช้างให้กับเจ้าเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านแม่ขะปูมีผู้นำคนแรก คือ คาชิหรือฮะจิ ถัดมา คือ อะลอย ผะบา เตอะเลอะ และมีการสืบทอดต่อกันมาจนถึงรุ่นที่ 5 คือ เจาะโด

ที่มาของชื่อหมู่บ้าน “แม่ขะปู” สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนเสียงมาจากคำในภาษาปกาเกอะญอ ปรากฏการณ์สันนิษฐาน 2 ลักษณะ คือ ประการแรก เพี้ยนมาจากคำว่า “เกอะปุ๊เด๊าะ” ซึ่งแปลว่าผักปูหรือผักกูดในภาษาปกาเกอะญอ (ในพื้นที่อื่น ๆ มีการเรียกผักกูดที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในพื้นที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียนว่า โปล่แปล่เด๊าะ หรือกุ๊เด๊าะ) ประการที่สอง เพี้ยนมาจากคำว่า เก่อปูคี โดยคำว่า เก่อปู หมายถึง หุบเขา ส่วนคำว่าแม่ เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า เหม่ เป็นชื่อที่ถูกเรียกขึ้นตามทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านตั้งอยู่กลางหุบเขาที่มีลักษณะคล้ายกับก้นหม้อดินและมีลำห้วยไหลผ่าน

พื้นที่หมู่บ้านแม่ขะปูนั้น แบ่งออกเป็น 7 หย่อมบ้าน คือ แม่ขะปูเหนือ ไหล่โต้ง แม่ขะปูหลวง แม่ขะปูใน บ้านแม่ขะปูเปียง ห้วยตองสาด และแควะเส่อโม๊ะก๊ะ สำหรับในพื้นที่หมู่บ้านแม่ขะปูเปียงนั้น เริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วง พ.ศ. 2467 เป็นต้นมา โดยมีผู้นำคนแรกของหย่อมบ้าน คือ พะแยแฮ

2) สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก

ในยุคแรกของการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่หมู่บ้านแม่ขะปู ยังไม่ปรากฏระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ มีเพียงการอยู่อาศัยที่พึ่งพิงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้นโดยในปี พ.ศ. 2470 มีการใช้วัวเป็นแรงงานหลักสำหรับการทำการเกษตร

3) ระบบการศึกษา

ระบบการศึกษาของชาวบ้านแม่ขะปูเปียงเกิดขึ้นผ่านการเรียนรู้การสอนของพ่อ แม่ บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการสอนสิ่งที่สะสมมาจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง การศึกษาเป็นกระบวนการส่งผ่านผ่านความรู้ ทักษะ จารีตรประเพณีและค่านิยมที่สั่งสมมากันจากรุ่นสู่รุ่น ชาวแม่ขะปูเปียงมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยอยู่กับธรรมชาติ โดยเป็นทั้งปัจจัย 4 ที่สัมพันธ์กับความเชื่อและความเคารพในธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิต

ชาวบ้านใช้ที่ดินในการทำไร่หมุนเวียน โดยรอบหมุนเวียนละประมาณ 5-7 ปี ที่ดินบางส่วนใช้สำหรับทำนา พื้นที่ป่าจะถูกจำแนกเป็นป่าใช้สอย ป่าอนุรักษ์ ซึ่งชาวบ้านใช้ประโยชน์โดยเก็บหาของป่าควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ตั้งแต่อดีตชาวบ้านมีการทำอาชีพเกษตรกรรมการทำนา การเก็บของป่าล่าสัตว์ โดยยังไม่มีการนำมาสร้างรายได้มีการทำเพื่อเลี้ยงชีพเพียงเท่านั้น ระบบการศึกษายังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ ในพื้นที่จะเน้นศึกษาเรื่องทำการเกษตรกรรมและการสื่อสารกันโดยใช้ภาษาปกาเกอะญอ

4) การประกอบอาชีพและการเลี้ยงสัตว์

ชาวบ้านแม่ขะปูเปียง ยึดถืออาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก โดยส่วนมากเน้นการปลูกข้าวเพื่อยังชีพ โดยไม่ได้ผลิตเพื่อการค้าขาย ข้าวของชาวบ้านแม่ขะปูเปียงมีหลากหลายพันธุ์ แต่ในอดีตนั้นยังไม่มีการแบ่งพื้นที่ในนาเป็นของตัวเองอย่างแน่ชัด แต่เป็นการกำหนดกันเองของชาวบ้านโดยผู้นำชุมชนเป็นผู้ช่วยตัดสินใจ

ในอดีตเคยมีพ่อค้าขายฝิ่นเข้ามาติดต่อซื้อข้าวจากคนในหมู่บ้าน แต่ด้วยลักษณะนิสัยคนในหมู่บ้านแม่ขะปูจะไม่ยอมขาย หรือแลกเปลี่ยนอะไรกับคนแปลกหน้าต้องทำให้ชาวบ้านเชื่อใจก่อนถึงจะยอมซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ต่อมาชาวบ้านเริ่มเชื่อใจพ่อค้าปลูกฝิ่นจึงทำให้มีพันธไมตรีต่อกัน และในปี พ.ศ. 2544 ชาวบ้านแม่ขะปูเปียงบางส่วนก็ได้ไปรับจ้างตัดฟืน และรับจ้างชาวม้งทำไร่ฝิ่นที่ดอยม่อนยะ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่เป็นอาชีพเสริม

สำหรับสัตว์เลี้ยงสำคัญในพื้นที่หมู่บ้านแม่ขะปูเปียงในยุคแรกนั้น ได้แก่ หมูดำ และไก่ โดยใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งนี้พบว่าการเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านเป็นการเลี้ยงเพื่อการใช้ประโยชน์มากกว่าการเลี้ยงเพื่อค้าขายเป็นอาชีพ โดยในปี พ.ศ. 2470 ได้มีการนำวัวเข้ามาเลี้ยงในหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นแรงงานในการทำการเกษตร และใช้บริโภคในงานสำคัญที่มีผู้เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง

ยุคที่ 2 : พ.ศ. 2500 - 2519

1) การตั้งถิ่นฐานและการปกครอง

ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา ที่ว่าการอำเภอสะเมิงได้มีการเข้ามาสำรวจสำมะโนครัว จัดทำบัตรประชาชน และมีการออกใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ให้กับชาวบ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน คือ โก๊ะโพดิ เป็นชาวบ้านแม่ขะปูเหนือ และมีตะเทอะ ซึ่งเป็นพี่ของโก๊ะโพดิเป็นผู้ช่วยดูแล

ในช่วง พ.ศ. 2516-2519 เริ่มมีบุคคลภายนอกที่ทราบเรื่องราวการเป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานเก่าของชาวลัวะในบ้านแม่ขะปูเปียงได้นำเครื่องมือเข้ามาค้นหาของเก่าภายในหมู่บ้าน ซึ่งจากคำบอกเล่าของชาวบ้านกล่าวว่าได้มีการนำเศษกระเบื้องและพระเก่าออกไปเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดีแม้ว่าหมู่บ้านแม่ขะปูเปียงยังคงมีการสืบทอดการปกครองด้วยระบบผู้นำชุมชนซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือ โดยประมาณ พ.ศ. 2517-2519 ได้มีการเปลี่ยนผู้นำคนที่สอง เป็น พาน่า ถัดจากการเป็นผู้นำของพะแยแฮ และมีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์เข้ามาในชุมชน

2) สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก

ในยุคที่สองนี้ ชาวบ้านส่วนมากยังคงดำรงชีวิตด้วยการทำการเกษตรและรับจ้างทั่วไป เริ่มมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อช่วยทุ่นแรง ในปี พ.ศ. 2500 เริ่มมีการนำควายเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร และปี พ.ศ. 2519 มีการตัดถนนดินแดงเพื่อเป็นทางเข้ามาภายในหมู่บ้าน

3) ระบบการศึกษา

ในปี พ.ศ. 2519 หน่วยงานของรัฐบาลเข้ามาจัดตั้งการศึกษานอกระบบ หรือ กศน. เพื่อช่วยให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้การศึกษานอกระบบ

4) การประกอบอาชีพและการเลี้ยงสัตว์

ในยุคนี้ชาวบ้านเริ่มมีการทำการเกษตรโดยใช้ควายไถนา จะนิยมปลูกข้าวไร่ในช่วงเดือน 9 เหนือ (มิถุนายน) และปลูกข้าวนาปลังในเดือน 10 เหนือ (กรกฎาคม) จนถึงปลายเดือนตุลาคม ต้นเดือนพฤศจิกายน จะไม่นิยมปลูกข้าวเหนียวส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเจ้า ส่วนพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านนิยมปลูก คือ บือมึ่ง บือศุ่วา (ข้าวไร่) ปิอิเซ่ (ข้าวเจ้า) บือเกาะก๊ะ (ข้าวนา) ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะไม่นิยมปลูกข้าวพันธุ์ ปิอิเซ่มากนักเพราะข้าวไม่ค่อยขึ้นหม้อแต่จะนิยมนำมาต้มเหล้าเพื่อใช้ในงานประเพณีพิธีกรรม

ยุคนี้ชาวบ้านยังคงมีการเลี้ยงสัตว์ที่เลี้ยงมาแต่เดิม คือ หมูดำ ไก่ วัว โดยในปี พ.ศ. 2500 เริ่มมีการเลี้ยงควาย เนื่องจากอาชีพส่วนใหญ่ของชาวปกาเกอะญอ คือ การทำนาข้าว ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาในชุมชนจึงมีการนำควายเข้ามาเป็นเครื่องทุ่นแรง

ยุคที่ 3 : พ.ศ. 2520 - 2538

1) การตั้งถิ่นฐานและการปกครอง

ในช่วงปี พ.ศ. 2520 หย่อมบ้านแม่ขะปูเปียงได้มีการเปลี่ยนผู้นำชุมชนรุ่นที่ 3 คือ พาโซ๊ะเจ๊ะ ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนตั้งแต่นั้นมาจนถึง ปัจจุบัน (พ.ศ. 2562) ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้เอง หมู่บ้านแม่ขะปูก็ได้มีการเปลี่ยนผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 คือ ปอเจ๊ะ ซึ่งเป็นลูกชายของโก๊ะโพดิผู้ใหญ่บ้านคนแรก

การเลือกผู้ใหญ่บ้านแม่ขะปูนั้น เป็นระบบการเลือกตั้ง โดยจะต้องมีการสมัครเป็นตัวแทนที่ว่าการอำเภอสะเมิง จากนั้น ทางอำเภอจะจัดส่งหีบเลือกตั้งมาทำการเลือกตั้งให้กับคนในหมู่บ้าน โดยสถานที่เลือกตั้งในครั้งแรกนั้นทำการเลือกตั้งที่บริเวณลานว่างกลางหมู่บ้าน ซึ่งผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงนั้น ต้องเป็นผู้มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจะได้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านจนกระทั่งอายุครบ 60 ปี จึงจะหมดวาระและมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่

ในปี พ.ศ. 2538 ได้มีการจัดการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านอีกครั้ง ผู้ได้รับการคัดเลือก คือ พรชัย ชาวบ้านแม่ขะปูเหนือ ถัดมา คือ มูเสาะ ชาวบ้านแม่ขะปูหลวง ซึ่งเป็นผู้มีเครือข่ายกับกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ จากนั้น คือ ไชยา ชาวบ้านแม่ขะปูหลวง (เดิมเป็นชาวบ้านแม่ขะปูเปียงแต่ได้แต่งงานและย้ายไปอยู่บ้านแม่ขะปูหลวง)

2) สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก

ในปี พ.ศ. 2520 มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้ามาในหมู่บ้าน มีการสร้างอนามัยประจำตำบล มีหมอ พยาบาลเข้ามาดูแลคนในชุมชน และเริ่มมีการนำถังเก็บน้ำเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านได้กักเก็บน้ำไว้ใช้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 มีการใช้รถมอเตอร์ไซค์และนำรถไถนาคันแรกในหมู่บ้านโดยนายกุหน่อซึ่งเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านแม่ขะปูเปียงเป็นผู้ซื้อมอเตอร์ไซค์คันแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 มีการตัดถนนลูกรังเป็นทางเข้ามาในหมู่บ้านโดยการนำของผู้ใหญ่บ้านปอเจ๊ะ ซึ่งในปีถัดมา พ.ศ. 2527 ได้มีโครงการไทย-นอร์เวย์เข้ามาอบรมส่งเสริมการปลูกกาแฟ ข้าวบาเลย์ และลิ้นจี่ให้กับชาวบ้านเพื่อเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน

พ.ศ. 2528 มีการเจาะน้ำประปาเข้ามาในหมู่บ้าน และในปี พ.ศ. 2529 โครงการไทย-นอร์เวย์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุมชนพร้อมตั้งสำนักงานที่โรงเรียนแม่ขะปู จากนั้นในปี พ.ศ. 2530 โรงเรียนแม่ขะปูได้ถูกพัฒนาจากอาคารไม้มุงหญ้าคาเป็นอาคารปูน ในปีเดียวกันนี้ได้มีร้านขายของชำร้านแรกเกิดขึ้นในหมู่บ้านแม่ขะปู ซึ่งจากคำบอกเล่าของชาวบ้านในหมู่บ้านทราบว่าเป็นชาวเมืองที่ขึ้นมาขายอยู่บริเวณหน้าวัด

3) ระบบการศึกษา

โรงเรียนบ้านแม่ขะปูได้รับการสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษาแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ในปีเดียวกันได้มีการสร้างวัดแม่ขะปู จากนั้น พ.ศ. 2523 ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชน (ศศช.) หรือชื่อเรียกเดิม คือ ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา ได้เริ่มเข้ามาสอนหนังสือและสอนให้ชาวบ้านทำการเกษตรกรรม ปลูกพืชผัก ไม่ให้ชาวบ้านไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ดี ในปี พ.ศ. 2525 โรงเรียนบ้านแม่ขะปูได้มีการขยายการจัดการเรียนการสอนจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้มีโครงการส่งเสริมทักษะการเงินและอาชีพสำหรับเยาวชน จาก CCF (มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชน) โดยติดต่อเข้ามาทางโรงเรียนบ้านแม่ขะปูซึ่งเข้ามาส่งเสริมการเพาะเห็ด เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ แจกกล้าต้นชมพู่ ไม้ไผ่ ให้กับชาวบ้านเพื่อไปต่อยอดเป็นอาชีพเสริมหรือต่อยอดเพื่อการเลี้ยงชีพของตนเอง และเพื่อให้เด็กในโรงเรียนนำผลผลิตเหล่านี้ไปเป็นอาหารกลางวัน

4) การประกอบอาชีพและการเลี้ยงสัตว์

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการทำการเกษตรของชาวแม่ขะปูเปียง คือ ช่วงประมาณ พ.ศ. 2524 ได้เริ่มมีการนำรถไถเข้ามาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรง และยังมีการขายควายเพื่อซื้อรถมอเตอร์ไซค์โดยนายกุหน่อ เป็นชาวบ้านแม่ขะปูเปียงคนแรกที่ซื้อรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตนเอง ในปี พ.ศ. 2527 โครงการไทย-นอร์เวย์ ได้เข้ามาตั้งสำนักงานบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านแม่ขะปู และได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ ข้าวบาร์เลย์ ถั่วแดงและไม้ยืนต้น เช่น ลิ้นจี่ แต่ไม่ได้ผลผลิตที่ดีจึงยกเลิก นอกจากนี้ ยังได้เข้ามาช่วยชาวบ้านทำแนวกันไฟ และสนับสนุนให้ชาวบ้านแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชน กองทุนธนาคารข้าว ต่อมาชาวบ้านได้เข้าร่วมโครงการเกษตรภาคเหนือเพื่อเรียกร้องสิทธิคนอยู่กับป่า เพื่อต่อรองการใช้พื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและการทำกินกับอุทยานแห่งชาติขุนขาน

พ.ศ. 2530 เริ่มมีการทดลองปลูกสตรอเบอรี่นำโดยนายคทา บุญมี และลาเจะ โดยได้นำต้นกล้าสตรอเบอรี่มาจากอำเภอแม่แจ่มและอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ และหลังจากนั้นสตรอเบอรี่ก็เริ่มได้รับความนิยมจากชาวบ้าน ก่อนจะค่อย ๆ ต่อยอดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของบ้านแม่ขะปูเปียง

สำหรับสัตว์เลี้ยงที่เข้ามาภายหลังสุดในหมู่บ้านแม่ขะปูเปียง คือ เป็ด ซึ่งนำเข้ามาเลี้ยงในหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2535 จากการที่มูลนิธิ CCF ได้เข้ามาสอนในโรงเรียนแม่ขะปูเปียงให้ความรู้ชาวบ้านในเรื่องของการส่งเสริมการเพาะเห็ดรวมถึงการเลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา ในปัจจุบันคนในหมู่บ้านไม่นิยมเลี้ยงกันมากนักและพบว่ามีเพียงบ้านไม่กี่หลังเท่านั้นที่ยังคงเลี้ยงเป็ด

ยุคที่ 4: พ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน

1) การตั้งถิ่นฐานและการปกครอง

ในยุคของผู้ใหญ่บ้านไชยา ได้มีการเปลี่ยนกฎการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน โดยเปลี่ยนจากการหมดวาระตามอายุครบ 60 ปี เป็นการเปลี่ยนทุก ๆ 4 ปี ถ้าหากครบกำหนดแล้วก็จะต้องทำการเลือกตั้งใหม่ และในปี พ.ศ. 2560 ก็ได้มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า เฉลิม ทาแปะ ชาวบ้านแม่ขะปูในได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2562)

ช่วงปี พ.ศ. 2540 ได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว ทำให้ชาวบ้านแม่ขะปูเปียงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ก่อให้เกิดการพัฒนาเข้ามาในชุมชนมากยิ่งขึ้น ส่วนการปกครองภายในระบบผู้ใหญ่บ้านนั้น หลังจากหมดวาระของผู้ใหญ่บ้านพรชัย ชาวบ้านแม่ขะปูเหนือ ถัดมา คือ มูเสาะ ชาวบ้านแม่ขะปูหลวง ซึ่งเป็นผู้มีเครือข่ายกับกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ จากนั้น คือ ไชยา ชาวบ้านแม่ขะปูหลวง (เดิมเป็นชาวบ้านแม่ขะปูเปียงแต่ได้แต่งงานและย้ายไปอยู่บ้านแม่ขะปูหลวง)

ในยุคของผู้ใหญ่บ้านไชยา ได้มีการเปลี่ยนกฎการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน โดยเปลี่ยนจากการหมดวาระตามอายุครบ 60 ปี เป็นการเปลี่ยนทุก ๆ 4 ปี ถ้าหากครบกำหนดแล้วก็จะต้องทำการเลือกตั้งใหม่ ในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า เฉลิม ทาแปะ ชาวบ้านแม่ขะปูในได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2562) ส่วนผู้นำชุมชนของหมู่บ้านแม่ขะปูเปียง ยังเป็นคงเป็นพาโซเจ๊ะ

2) สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก

ในปี พ.ศ. 2540 ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาในชุมชนบ้านแม่ขะปูเปียง มีการเทถนนคอนกรีตในหมู่บ้าน ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2555-2556 ได้มีปั๊มน้ำมันขนาดเล็ก หรือปั๊มหลอดภายในหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2559 ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เครือข่าย True Move ต่อมาปี พ.ศ. 2560 ชาวบ้านในหมู่บ้านเริ่มมีถังเก็บเก็บน้ำมากยิ่งขึ้นจนเกือบครบทุกครัวเรือน มีการเทถนนคอนกรีตเพิ่มจากเมื่อปี พ.ศ. 2540 และในปี พ.ศ. 2561 มีการเทถนนคอนกรีตเพิ่มระยะทางเข้ามาในหมู่บ้านอีก 10 กิโลเมตร และทางรัฐบาลได้นำโครงการประชารัฐเข้ามาในหมู่บ้าน มีการติดตั้งเสาอินเตอร์เน็ตไร้สาย (WIFI) ให้กับหมู่บ้านแม่ขะปูเปียง

3) ระบบการศึกษา

ในปี พ.ศ. 2540 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่บ้านแม่ขะปูเปียง เพื่อส่งเสริมให้เด็กภายในชุมชนมีพัฒนาการและการศึกษามากยิ่งขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง กศน. ได้ปิดตัวลง นอกจากนี้ พ.ศ. 2544 โรงเรียนบ้านแม่ขะปูก็ยังได้มีการขยายระดับการศึกษาจากระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มาเป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาระดับต้นชั้นปีที่ 1-3 มาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2562)

ปี พ.ศ. 2558 นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราภัฏเชียงใหม่ได้ร่วมมือกับชาวบ้านในการสร้างห้องสมุดชุมชนให้แก่บ้านแม่ขะปูเปียง โดยได้ระดมทุนด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมเยาวชนรักษ์บ้านแม่ขะปูเปียง จาก Whiy I Why ภายใต้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) จนแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2560

4) การประกอบอาชีพและการเลี้ยงสัตว์

ประมาณปี พ.ศ. 2546-2547 ชาวบ้านได้ทำการปลูกดอกดาวเรืองเพื่อส่งขายไปยังเขตพื้นที่แม่โจ้ และจังหวัดลำพูนแต่ก็ต้องหยุดทำกิจการไปเพราะว่าต้นดาวเรืองติดโรค ในปี พ.ศ. 2550-2551 สตรอเบอรี่ได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของหมู่บ้านแม่ขะปูเปียง เนื่องจากได้รับความนิยมมากจากท้องตลาด กอปรกับบ้านแม่ขะปูเปียงมีสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตที่ดีของสตรอเบอรี่ ชาวบ้านจะเก็บเกี่ยวสตรอเบอรี่ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และได้ทำการจัดขายเองบ้างโดยการบรรจุลงกล่องให้ดูสวยงาม บางส่วนได้จัดส่งไปยังโครงการหลวงแม่แฮ ทางโครงการหลวงแม่แฮก็ได้นำไปแปรรูปเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น เช่น การแปรรูปเป็นแยมสตรอเบอรี่ น้ำสตรอเบอรี่ สตรอเบอรี่ตากแห้ง และไวน์สตรอเบอรี่ เป็นต้น ช่วงระยะเวลานี้ เป็นช่วงที่สตรอเบอรี่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านแม่ขะปูเปียงเป็นอย่างมาก แต่บ้านแม่ขะปูเปียงก็ได้ประสบปัญหาทางธรรมชาติครั้งใหญ่ในช่วง พ.ศ. 2555-2556 ดินถล่ม พื้นที่นาถูกตัดขาดเสียหาย และข้าวเป็นโรค

พ.ศ. 2559 เริ่มมีการนำเสาวรสเข้ามาทดลองปลูก ปัจจุบัน (พ.ศ. 2562) ก็ยังคงทำการทดลองปลูกแต่ก็ไม่ได้ผลตอบรับที่ดีนัก นอกจากนี้ ยังมีการนำเคพกูสเบอรี่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “โทงเทง หรือ สะกอจิโปะ” โดยชาวบ้านซื้อต้นกล้าจากโครงการหลวงแม่แฮ เคพกูสเบอรี่จะออกผลผลิตในระยะเวลาใกล้เคียงกันสตรอเบอรี่ ในปี พ.ศ. 2562 กำไรจากการขายสตอเบอรี่เริ่มไม่ค่อยดีนัก ชาวบ้านจึงเริ่มปลูกพืชชนิดอื่น ๆ เริ่มมีการนำอะโวคาโดเข้ามาทดลองปลูกในพื้นที่บ้านแม่ขะปูเปียง

สำหรับการเลี้ยงสัตว์ในยุคนี้กลับไปเป็นเช่นเดียวกับยุคแรก คือ นิยมเลี้ยงหมูดำและไก่ซึ่งยังต้องใช้ในประเพณีพิธีกรรม นอกจากนี้ยังคงมีการเลี้ยงวัวเพื่อขายและบริโภคในงานประเพณีพิธีกรรมที่มีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ยังคงมีการเลี้ยงสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง ส่วนควายไม่พบการเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในการเกษตรแล้ว เนื่องด้วยเทคโนโลยีและเครื่องทุ่นแรงสมัยใหม่เข้ามามีบทบาททางการเกษตรเป็นอย่างมาก จึงไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานควายอีกต่อไป

สรุปเหตุการณ์สำคัญ

ช่วงเวลาเหตุการณ์
เมื่อ 4,000 ปีก่อน
  • ยังไม่มีการจัดตั้งหมู่บ้านแม่ขะปู
  • ชาวลัวะอาศัยอยู่ในพื้นที่
พ.ศ. 2287
  • ก่อตั้งหมู่บ้าน โดยมีนายอาเจะ และนายแซเจะ นำชาวปกาเกอะญอเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
  • มีผู้นำคนแรก คือ คาชิหรือฮะจิ ถัดมา คือ อะลอย ผะบา เตอะเลอะ และ เจาะโด
พ.ศ. 2455
  • ชาวบ้านรับจ้างตัดฟืน และทำไร่ฝิ่นของชาวม้ง
พ.ศ. 2467
  • พะแยแฮ เป็นผู้นำคนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในหย่อมบ้านแม่ขะปูเปียง
พ.ศ. 2470
  • นำวัวมาใช้เป็นแรงงานหลักสำหรับการทำการเกษตร
พ.ศ. 2500
  • มีการใช้ควายไถนา
พ.ศ. 2513
  • ชาวบ้านได้ทำบัตรประชาชน และได้รับใบ ส.ค. 1
พ.ศ. 2515 - 2516
  • บุคคลภายนอกนำเครื่องสแกนเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อค้นหาของเก่า
พ.ศ. 2517 - 2519
  • เปลี่ยนผู้นำชุมชนเป็นรุ่นที่ 2 คือ พาน่า
พ.ศ. 2519
  • ตั้ง กศน. ในหมู่บ้าน
  • ตัดถนนดินแดงเข้ามาในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2520
  • ก่อตั้งโรงเรียนแม่บ้านขะปู
  • สร้างวัดแม่ขะปู
  • เปลี่ยนผู้นำชุมชนเป็นรุ่นที่สาม คือ พาโซเจ๊ะ
  • ถังเก็บน้ำเริ่มเข้ามาในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2524
  • เริ่มมีการใช้รถไถและมอเตอร์ไซค์
พ.ศ. 2525
  • ขยายการศึกษาของโรงเรียนบ้านแม่ขะปูขยายการศึกษาถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
พ.ศ. 2526
  • ตัดถนนลูกรังเข้ามาในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2527
  • โครงการไทย-นอร์เวย์เข้ามาอบรมส่งเสริมการเกษตรกรรมปลูกกาแฟ ถั่วแดงข้าวบาเล่ย์ ลิ้นจี่
พ.ศ. 2528
  • เจาะน้ำประปาเข้ามาในหมู่บ้าน
  • ศูนย์ศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) เข้ามาสอนหนังสือและสอนให้ชาวบ้านทำการเกษตรกรรม
พ.ศ. 2530
  • พัฒนาโรงเรียนแม่ขะปูจากไม้มุงหญ้าคาเป็นอาคารปูน
  • ตั้งร้านขายของชำร้านแรกในหู่บ้านบริเวณหน้าวัดแม่ขะปู
  • เริ่มปลูกสตอเบอรี่
พ.ศ. 2535
  • โครงการ CCF เข้ามาในโรงเรียนบ้านแม่ขะปู ส่งเสริมการเพาะเห็ด เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา
พ.ศ. 2536
  • ชาวบ้านเข้าร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือเพื่อเรียกร้องสิทธิคนอยู่กับป่า ต่อรองพื้นที่ทำกินกับอุทยานแห่งชาติขุนขาน
พ.ศ. 2538
  • พรชัยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน
พ.ศ. 2540
  • ไฟฟ้าและถนนคอนกรีตเข้ามายังชุมชน
  • ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
  • ตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว
  • ไชยา ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านแม่ขะปู และ เปลี่ยนกฎการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านจาก 60 ปีเป็นทุก ๆ 4 ปี
พ.ศ. 2544
  • ขยายระดับการศึกษาโรงเรียนแม่ขะปูถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
พ.ศ. 2546 - 2547
  • ปลูกดาวเรืองเพื่อส่งขาย
พ.ศ. 2550 - 2551
  • ปลูกสตอเบอรี่เป็นพืชเศรษฐกิจอย่างแพร่หลาย
พ.ศ. 2555 - 2556
  • ประสบปัญหาทางธรรมชาติครั้งใหญ่ ดินถล่ม พื้นที่นาถูกตัดขาดเสียหาย และข้าวเป็นโรค
  • มีปั๊มน้ำมันในชุมชน
พ.ศ. 2559
  • ติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เครือข่าย True Move
  • ปลูกเสาวรสและเคพกูสเบอรี่
พ.ศ. 2560
  • มีถังเก็บน้ำมากขึ้นในชุมชน
  • ห้องสมุดชุมชนแล้วเสร็จ
พ.ศ. 2561
  • ตัดถนนคอนกรีตเพิ่ม 10 กิโลเมตร
  • ติดตั้งเสาอินเตอร์เน็ตไร้สาย (WIFI)
พ.ศ. 2562
  • ปลูกอะโวคาโด

ลักษณะทางกายภาพ-วัฒนธรรม

พื้นที่หมู่บ้านแม่ขะปูเปียง ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่นั้น ห่างจากเขตอำเภอสะเมิงประมาณ 40 กิโลเมตร มีระดับความสูง 980 - 1600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลักษณะเป็นพื้นที่หมู่บ้านที่ลึกเข้าไปในหุบเขา ผ่าน ภูเขาเล็ก ๆ หลายลูก เมื่อเข้าไปถึงจะพบบ้าน ในลักษณะที่สร้างตามแนวเขา เดิมบ้าง ตัดเนินเขาบ้าง และจะพบกับไร่สตรอเบอร์รี่ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ของหมู่บ้านแห่งนี้ จากการสอบถามคนในชุมชนพบว่า ท่อน้ำประปาที่ส่งต่อมานั้น จะไหลได้ดีเพียงแค่ฝั่งด้านเดียวเท่านั้น คือ ฝั่งด้านขวามือของหมู่บ้าน เนื่องจาก พื้นที่บ้านแม่ขะปูเปียงค่อนข้างมีความลาดชันไปตามแนวเขา จึงทำให้ที่น้ำไหลมา จากท่อส่งออกได้ไม่เท่ากัน ภายในหมู่บ้านนั้นจะมีลักษณะถนนที่ลาดเอียงไปตาม แนวเขา คนในหมู่บ้านเป็นผู้คน “กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ” ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ตามธรรมชาติ

ลักษณะภูมิอากาศ มี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ประมาณช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือน พฤษภาคม ฤดูฝน ประมาณช่วงเดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนตุลาคม และฤดูหนาว ช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนมีนาคม

ภายในหมู่บ้านมีร้านค้าจำนวน 3 ร้าน มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และห้องสมุด ของชุมชน ในหมู่บ้านนั้นมีถนนสายหลักที่ผ่านกลางหมู่บ้าน ปัจจุบันหมู่บ้านได้รับ การพัฒนาจากภาครัฐพอสมควร เช่น มีไฟฟ้า น้ำประปา

ในบ้านแต่ละหลังมีการเลี้ยงสัตว์ คือ ไก่ เป็ด หมูดำ สุนัข และแมว พื้นที่บ้านบางหลังได้มีการปลูกสตรอเบอร์รี่ไว้ในที่ดินของตัวเอง ในเขตพื้นที่บ้าน ที่อยู่ลึกเข้าไปอีกจะพบไร่นา ฤดูทำนามักจะปลูกข้าวแบบขั้นบันได หลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวก็จะเปลี่ยนมาทำไร่สตรอเบอร์รี่ และไร่เสาวรส

ส่วนลักษณะพื้นที่แหล่งน้ำ พบว่าแหล่งน้ำห้วยที่ใช้ภายในหมู่บ้านนั้นมาจาก ลำห้วยเล็ก ๆ ที่ไหลมาจากหมู่บ้านแม่ขะปูหลวง สายน้ำห้วยนี้มีชื่อว่า “ห้วยนารุ” แหล่งน้ำที่สำคัญในหมู่บ้านแห่งนี้จะแบ่งออกเป็นแหล่งสำคัญหลัก ๆ จำนวน 10 แห่ง เป็นแหล่งที่คนในชุมชนใช้ในการอาบน้ำ ซักผ้า ห้วยแห่งนี้จะไหลผ่านไป ตามข้างทุ่งนากว้าง เป็นทุ่งนาที่มีลักษณะลดหลั่นลงมาจากภูเขาเล็กน้อย ข้างหลัง ทุ่งนานั้นจะเป็นภูเขา แหล่งน้ำที่สำคัญที่สุดในหมู่บ้านแม่ขะปูเปียง คือ น้ำตก แม่ขะปู หรือ “ทีลอชู” หรือ “น้ำตกเปียงธาร”

สำหรับสถานที่สำคัญในชุมชนบ้านแม่ขะปูเปียงจะมีสถานที่สำคัญทางศาสนาและความเชื่อ มีสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจหรือที่พึ่งทางใจ คือ วัด ของชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ และโบสถ์คริสต์ ของชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อ เกี่ยวกับผีอีกด้วย สำหรับวัดสำคัญในหมู่บ้าน มีทั้งสิ้น 3 แห่ง คือ “วัดแม่ขะปู” อยู่ก่อนถึงปากทางเข้าหมู่บ้านแม่ขะปูเปียง อีกแห่งนั้นอยู่ถัดไปจากทุ่งนาทางฝั่ง ทิศใต้เข้าไปจะเป็นภูเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของ “วัดพระธาตุแม่ขะปู” ซึ่งมี พระธาตุทรงน้ำเต้าประดิษฐานอยู่ ใจกลางของวัดมีบ่อน้ำซึม ภายในมีแท่งหิน ตั้งอยู่ สันนิษฐานว่าเป็นวัฒนธรรมหินตั้งของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในสมัยโบราณ แห่งสุดท้าย เดินถัดลงมาจากพระธาตุแม่ขะปูมาทางปากทางเข้าหมู่บ้านก็จะ พบวัดร้างอีกแห่ง ซึ่งมีแนวกำแพงเก่า ปัจจุบันไม่มีพระจำวัด

ปัจจุบันบ้านแม่ขะปูเปียง มีสถานที่สำคัญที่เป็นสถานที่รวมจิตใจ ศูนย์รวมของคนในชุมชนและเป็นที่พักผ่อนกายและใจหลัก ๆ ได้แก่

  • วัดแม่ขะปูเปียง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2537 ด้วยความสามัคคีของคนในชุมชนที่ช่วยกันสร้างเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
  • โรงเรียนแม่ขะปู สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2529 เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งแรกของชุมชน ทั้งนักเรียนทั้งสิ้น 100 กว่าคน มีครูประมาณ 10 กว่าคนรวมผู้อำนวยการ
  • ศูนย์เด็กเล็กแม่ขะปูแต่ก่อนเป็นศูนย์การเรียนรู้นอกพื้นที่หรือ กศน มีกว่าที่จะก่อตั้งเป็นศูนย์เด็กเล็กเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยการนำขององค์การจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือ มีเด็กเล็กในชุมชนตั้งแต่อายุ 1 ขวบขึ้นไป จำนวน 30 กว่าคน แล้วมีคุณครูจำนวน 1 คน
  • น้ำตก เป็นน้ำที่ไหลมาจากบนบ่อแก้ว ที่ไหลผ่านมาให้คนในชุมชนได้ใช้ได้ทำการเกษตรในแต่ละปีก่อนที่จะไหลมาตามลำธาร คนในหมู่บ้านเชื่อกันว่าไม่ควรไปเล่นหรืออาบใด ๆ ในวันอาทิตย์และวันพระศีลใหญ่ที่พระจันทร์เต็มดวง เชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่างออกมาให้เห็นแล้วถ้ามีคนไปก็จะต้องนำไก่คู่ไปขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งนี้
  • สถานีอนามัย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 จะมีหมอใหญ่จากบ่อแก้วมาให้การรักษาทุกวันจันทร์และวันพุธ แค่2วัน หลังจากนั้นก็เป็นแค่ผู้อาสาหรือ อสม ที่เป็นคนในหมู่บ้านที่รู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษา ถ้าเจ็บป่วยหนักก็จะต้องขึ้นไปที่โรงพยาบาลเท่านั้น
  • พระธาตุ เล่าต่อกันมาว่าสร้างขึ้นเมื่อสงครามครั้งที่ 2 ก่อนจะมีการอพยพเป็นมาอยู่ตั้งถิ่นฐานของคนในหมู่บ้านแล้วทำการสร้างพระธาตุขึ้นต่อมา มีการบูรณะองค์พระธาตุ

1) พัฒนาการปกครองหมู่บ้านแม่ขะปู

การปกครองภายในหมู่บ้านแม่ขะปูมีอยู่ 2 ลักษณะ ลักษณะแรก คือ การปกครองโดยผู้นำชุมชน และลักษณะที่สอง คือ การปกครองโดยผู้นำทางจิตวิญญาณ

การปกครองโดยผู้นำชุมชนนั้นจะมีการเลือกอยู่ 2 รูปแบบ โดยจะแบ่งเป็นวิธีการแบบเก่า และวิธีการแบบใหม่ ซึ่งการเลือกผู้นำชุมชนด้วยวิธีการแบบเก่าจะเป็นการให้ชาวบ้านมารวมตัวกันจากนั้นก็เลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการเป็นผู้นำหมู่บ้าน และให้ชาวบ้านไปยืนอยู่ข้างหลังของคนที่ตนเองชื่นชอบ ผู้ใดที่มีชาวบ้านยืนอยู่ข้างหลังมากที่สุดก็จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ส่วนวิธีการแบบใหม่ก็จะเป็นวิธีการเลือกเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปในปัจจุบันคือ มีผู้ลงสมัครตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และให้ประชาชนมาลงคะแนนเสียงให้กับคนที่ตนเองชื่นชอบ ใครได้คะแนนมากที่สุดก็จะได้รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

การปกครองของผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะมีผู้นำอยู่ 2 ประเภทคือ ผู้นำทางศาสนา (ศาสนาพุทธ) และผู้นำทางพิธีกรรม (การนับถือผี) วิธีการเลือกผู้นำศาสนานั้นไม่มีวิธีการสืบทอดโดยตรง หรือโดยสายเลือด แต่จะใช้วิธีการอุปสมบทพระใหม่ หน้าที่ของผู้นำทางศาสนาก็จะเป็น

การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา งานแต่งงาน งานศพ และการรื้อถอนบ้าน เป็นต้น ส่วนการเลือกผู้นำทางพิธีกรรมนั้นจะใช้วิธีการสืบทอดทางสายเลือดโดยจะให้ลูกชายคนแรก หรือลูกชายคนไหนก็ได้ในครอบครัว (ในกรณีที่ไม่มีลูกชายคนแรก) แต่ถ้าในครอบครัวหน้าที่นี้ก็จะถูกยกให้เป็นหน้าที่ของผู้อาวุโสคนอื่น ในส่วนของวิธีการเลือกผู้ที่จะมารับหน้าที่คนใหม่นั้นก็จะเลือกจากผู้ที่มาอาศัยในหมู่บ้านก่อนผู้อื่น หรือมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นเวลานาน

อ้างอิง พระประจักษ์ โสธโน อายุ 55 ปี และพ่ออุ๊ย โซเจ๊ะ อายุ 80 ปี

2) การกำเนิดหมู่บ้านแม่ขะปูเปียง

การกำเนิดหมู่บ้านแม่ขะปูเปียงนั้นมีเรื่องเล่า อยู่ 2 ความเชื่อหลัก ๆ ได้แก่ ความเชื่อเรื่องก้อนเนื้อ และความเชื่อเรื่องการย้ายเข้ามาอยู่ของคนดูแลช้างของเจ้าเมือง

2.1) ความเชื่อเรื่องก้อนเนื้อ มีเนื้อหาโดยสังเขปว่า ในอดีตภายในพื้นที่หมู่บ้านแม่ขะปูเปียงนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของคนลัวะ หลังจากคนในพื้นที่ทำให้เกิดความเสื่อมของศาสนาจึงมีก้อนเนื้อตกลงมาในหมู่บ้าน ในช่วงแรก ๆ ชาวบ้านก็เก็บก้อนเนื้อที่ตกลงมา มาทำอาหาร แต่พอก้อนเนื้อตกลงมาเรื่อย ๆ ก็ไม่สามารถกินไหวก้อนเนื้อจึงบอกกับชาวบ้านว่า “ถ้าชาวบ้านไม่กิน ก็จะกินชาวบ้านแทน” ชาวบ้านที่เป็นคนลัวะจึงได้หนีออกจากพื้นที่นั้นแล้วกระจายไปอยู่อาศัยตามที่ต่าง ๆ และตำนานนี้ก็ส่งผลต่อเนื่องให้กับตำนานก้อนหินที่ไล่ทับคนลั๊วะ

2.2) ความเชื่อเรื่องการย้ายมาอยู่ของคนดูแลช้างของเจ้าเมืองนี้เป็นอีกตำนานหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาโดยสังเขปว่า นอกจากความเชื่อเรื่องก้อนเนื้อแล้วมีความเชื่อว่าพื้นที่แม่ขะปูเปียงนี้ในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่เป็นผู้ดูแลช้างให้กับเจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ในบริเวณนี้ก็เป็นที่พักช้างที่ถูกใช้แรงงานมาจากในเมือง ซึ่งชื่อ “แม่ขะปู” นั้นก็มาจากชื่อของผักกูด หรือ ในภาษาท้องถิ่นก็คือ “กุปูเคาะ” ส่วน “เปียง” ก็เป็นชื่อของวัดที่อยู่ในบริเวณนี้ แต่ก็มีอีกความเชื่อหนึ่งที่ได้ข้อมูลจากการไปลงพื้นที่สัมภาษณ์พ่ออุ๊ยโซเจ๊ะที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในตอนที่ยังเด็กพ่ออุ๊ยได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่นี่กับพ่อของพ่ออุ๊ยนั้นมีผู้อยู่อาศัยที่นี่แค่เพียง 2 ครอบครัวเท่านั้น

ประชากรในพื้นที่เป็นชาวปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยงสะกอ

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ระบุว่าพื้นที่ หมู่ที่ 3 บ้านแม่ขะปู ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลเดือน มกราคม 2566 มีประชากรรวมทั้งหมด 1,142 คน เป็นเพศชาย 616 คน และเพศหญิง 526 คน

ปกาเกอะญอ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเกษตรกับแหล่งน้ำ

1) พืชเศรษฐกิจ 

ชาวบ้านแม่ขะปูเปียงใช้น้ำจากน้ำห้วยที่ไหลผ่านเข้ามาสู่หมู่บ้านทั้งใช้ในการอุปโภคและบริโภค ส่วนใหญ่จะใช้ในการอุปโภคเป็นหลัก แหล่งน้ำที่ใช้จะมีอยู่ 3 แหล่ง ได้แก่ ต้นน้ำทางเหนือของหมู่บ้าน กลางหมู่บ้าน และท้ายหมู่บ้านที่เป็นน้ำตก ใช้สอยในครัวเรือน ชาวบ้านจะใช้น้ำห้วยอาบน้ำ นอกจากนั้นยังมีน้ำประปาใช้แต่ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะบางวันน้ำก็ไหลบ้างไม่ไหลบ้าง น้ำที่ใช้บริโภคจะใช้น้ำห้วยและน้ำฝน น้ำห้วยจะได้จากน้ำตกบนดอยนอกหมู่บ้านที่จะขุดเป็นบ่อไว้ สามารถตักดื่มได้เลย และมีน้ำฝนที่ได้จากการรองเก็บไว้ในโอ่งยามฝนตก นอกจากนี้ชาวบ้านจะใช้น้ำห้วยในการทำการเกษตรอีกด้วย แหล่งน้ำที่บ้านแม่ขะปูเปียงเป็นน้ำที่ใสสะอาด มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี จะมีน้ำเยอะในฤดูน้ำหลาก น้ำน้อยในหน้าแล้ง เกษตรกรเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้าน และเป็นรายได้หลักของคนในชุมชน เช่น การปลูกสตรอเบอร์รี่ เคพกูสเบอร์รี่ ข้าว ข้าวโพด ผักกาดขาว กระเทียม สับปะรด เสาวรส กาแฟ ซึ่งเป็นการทำเกษตรที่ได้รับเมล็ดพันธุ์มาจากโครงการหลวง ผลผลิตแต่ละปีจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับฤดูกาลและสภาพอากาศในการเพาะปลูกประมาณ 1 เดือน จะโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ การเก็บผลผลิตเก็บ 1 วัน เว้น 1 วัน นิยมปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ของทุกปี ปัจจุบันราคาสตรอเบอร์รี่ ถูกมากตามท้องตลาด เพราะเพิ่มรายจ่ายในการใช้สารเคมีเพิ่มจะเร่งผลผลิตให้โตเร็ว และผลใหญ่ แต่กลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจึงหันไปปลูกเคพกูสเบอร์รี่ และผลไม้ อื่น ๆ แทนสตรอเบอร์รี่

2) ความเชื่อเรื่องน้ำ

นอกจากชาวบ้าน บ้านแม่ขะปูเปียงจะใช้น้ำห้วยในการอุปโภคและบริโภคแล้วนั้น ยังใช้น้ำห้วยในเรื่องของความเชื่ออยู่ด้วย เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับน้ำตก ชาวบ้านเชื่อว่าวันอาทิตย์และวันศีล เป็นวันที่แรง ภูตผีวิญญาณจะมาเอาวิญญาณของคนที่ไปเล่นน้ำตกไป จึงทำให้มีความเชื่อว่าห้ามไปน้ำตกในวันอาทิตย์และวันศีล แต่มีคนอีกกลุ่มที่ไม่เชื่อเกี่ยวกับเรื่องที่ห้ามไปน้ำตกในวันอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นศีล ก็สามารถไปเล่น ไปใช้น้ำตกได้ตามปกติ และยังมีอีกหนึ่งความเชื่อ คือ ความเชื่อในด้านการเกษตร ชาวบ้านเชื่อว่าถ้ามีการบนบานศาลกล่าวต่อเจ้าที่ บนที่ดินที่ปลูกผลผลิต ว่าถ้าได้ผลผลิตที่ดีจะมีการเลี้ยงเจ้าที่ตามคำบนบานศาลกล่าว การประกอบพิธีจะประกอบไปด้วย เหล้า 1 ขวด ไก่ 2 ตัว แต่ถ้าได้ผลผลิตจากข้าว จะมีการเลี้ยงเจ้าที่ด้วยพิธีกรรมการต้มเหล้า เพราะต้องใช้ข้าวแรกในการต้มเหล้า

การเลี้ยงสัตว์ (ระบบเศรษฐกิจ ความสำคัญของสัตว์ในการเกษตรและพิธีกรรม)

1) สัตว์ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในหมู่บ้าน

สัตว์ที่เกี่ยวข้องกับที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมนั้นมีหลายชนิด เช่น หมู เป็นสัตว์ที่มักใช้ในการพิธีกรรมมงคล เช่น งานแต่งงาน มัดมือ ขึ้นบ้านใหม่ เทศกาลปีใหม่ และงานเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ตัวอย่างการนำสัตว์มาใช้ในงานพิธีกรรม การแต่งงานจะล้มหมูเพื่อทำในงานเลี้ยงของบ่าวสาวที่แต่งงานโดยจะใช้หมูที่เลี้ยงไว้เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม จะไม่ฆ่ากินเองโดยไม่มีงานพิธีกรรมใด ๆ แต่จะเลี้ยงหมูไปเรื่อย ๆ จนกว่าหมูแก่และตายไปเอง ส่วนงานอวมงคลจะเป็น งานศพ ฆ่าเพื่อเลี้ยงคนในงาน วัว สามารถนำมาใช้ในงานมงคลแทนหมู ไก่ ใช้ในการมัดมือ เลี้ยงผีบรรพบุรุษ และสุนัข หรือ หมา ก็เป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเหมือนกัน โดยจะเกี่ยวกับเด็ก เมื่อเด็กอายุได้ 1 ขวบ ก็จะเริ่มทอผ้าให้ใส่ จะทอผ้าให้เสร็จภายในวันเดียว หลังจากนั้นก็จะเอาไปให้หมาใส่ก่อนที่จะนำมาให้เด็กใส่ เพราะเชื่อว่าการที่เอาผ้าให้หมาใส่ก่อนเพื่อให้หมารับเอาสิ่งที่ไม่ดีออกไปหรือผีร้าย แล้วนำไปให้เด็กใส่ ทำให้เด็กทารกเกิดร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย เป็นความเชื่อที่มีมาช้านานจากบรรพบุรุษ แต่ถ้าหากไม่มีหมาสามารถใช้ก้อนหินลับมีดมาใส่แทน

2) ระบบเศรษฐกิจของสัตว์ในหมู่บ้าน

วัวเป็นสัตว์เศรษฐกิจหลัก ๆ ของหมู่บ้าน วัวมีประโยชน์หลายอย่างที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน โดยเลี้ยงไว้ขายและมูลวัว สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยได้หรือใส่กระสอบแล้วนำไปขายเป็นรายได้เสริมอย่างหนึ่งหลังจากการทำไร่ทำสวน หมูเลี้ยงไว้กิน และขายบ้างแต่จะขายเฉพาะภายในหมู่บ้านหรือคนกันเอง จะไม่มีการขายตามท้องตลาดทั่วไป ไก่เลี้ยงไว้กินเหมือนกัน และอาจจะขายบ้างถ้าหากมีคนมาขอซื้อจะไม่มีการขายตามท้องตลาดทั่วไปเนื่องจากไม่ได้เลี้ยงเยอะ ควายเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยนิยมเลี้ยงกัน เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงยากตากแดดตากฝนนานไม่ได้จะทำให้ควายตายได้ง่าย ถึงแม้ควายจะมีราคาแพงก็ตาม แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเลี้ยงกันแต่ในอดีตควายเป็นสัตว์สำคัญที่มีผลต่อการทำการเกษตรอย่างมากไว้ใช่ไถ่นาปลูกข้าว แต่ปัจจุบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกมีมากมายทำให้ทุกคนหันมาใช้รถไถ่นาแทนควายเนื่องจากสะดวกรวดเร็วในการทำงาน

3) สถานที่และรูปแบบในการเลี้ยงสัตว์

การเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้านแม่ขะปูเปียง ชาวบ้านจะเลี้ยงแบบเรียบง่ายตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น วัวจะเลี้ยงตามทุ่งนา รูปแบบการเลี้ยงมีหลากหลายตามความสะดวกของเจ้าของวัว มีการเลี้ยงแบบปล่อย แบบมัดไว้ตามเสาหรือต้นไม้ตามในทุ่งนา หรือเลี้ยงแบบล้อมรั้ว อาหารที่ให้จะเป็นหญ้าและฟางข้าว หมูเลี้ยงไว้ในคอก เลี้ยงไว้ตาใต้ถุนบ้าน ใต้ยุ้งข้าว หรือใต้ต้นไม้ โดยจะมัดไว้และปล่อยไว้ในเขตบ้านของเจ้าของ อาหารที่ให้เป็นข้าว เศษอาหาร หยวกกล้วย ผักกาดขาว โดยการนำต้มมาผสมกัน ไก่เลี้ยงแบบปล่อยโดยให้อาหารเป็นเวลาเช้าและเย็น หรือบางครั้งก็ไม่ให้อาหารโดยให้ไก่หาอาหารกินเอง อาหารที่ให้เป็นข้าวเปลือก ควายเลี้ยงตามทุ่งนาโดยการมัดไว้ แต่ปัจจุบันชาวบ้านไม่นิยมเลี้ยงควายกัน จึงไม่ค่อยพบเห็นควายในหมู่บ้าน อาหารเป็น น้ำ ฟางข้าว หญ้าตามทุ่งนา

ข้าว เหล้าต้ม สมุนไพร

1) พิธีกรรม และขั้นตอนในการทำเหล้าต้ม

พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำเหล้าต้ม ยกตัวอย่างเช่น พิธีถวายข้าวใหม่ในช่วงเดือนมกราคม โดยพิธีกรรมนั้นจะเป็นผู้อาวุโสที่เป็นผู้ชายเป็นผู้ทำพิธี ผู้ที่อายุน้อยกว่าก็จะยกมือไหว้เท่านั้น ซึ่งพิธีกรรมมักจะทำในช่วงเย็น

วิธีทำเหล้าต้มมีดังนี้ ขั้นตอนที่แรก คือ หุงข้าวให้สุกเมื่อข้าวสุกแล้วก็ผสมข้าวที่หุงกับแป้งเหล้า หลังจากนั้นก็ใส่ข้าวที่ผสมกับแป้งเหล้าใส่ถังดอง โดยจะดองข้าวกับแป้งเหล้าทั้งหมด 3 คืน และรอข้าวที่ผสมกับแป้งเหล้าเปื่อยจึงใส่น้ำและแช่อีก 2 วัน 2 คืน เมื่อครบตามเวลาดังกล่าวแล้วจากนั้นจึงนำมาต้มและกลั่นทิ้งไว้สักพักก็บรรจุใส่ขวด และในการทำเหล้าต้ม 1 ครั้งนั้นก็จะสามารถเก็บเหล้าได้เป็นเดือน ๆ

2) สมุนไพรในหมู่บ้าน

สมุนไพรในหมู่บ้านแม่ขะปูนั้นส่วนมากเป็นสมุนไพรที่หาได้จากป่า และบริเวณบ้านไม่ได้แตกต่างจากสมุนไพรทั่วไปสักเท่าไหร่ แต่ก็มีสมุนไพรบางชนิดที่ผู้เก็บข้อมูลไม่คาดคิดมาก่อนว่าใช้ทำเป็นยาสมุนไพรได้แต่สมุนไพรที่จะยกตัวอย่างต่อไปนี้ก็เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมารุ่นสู่รุ่น เช่น “ใบพลู” ใช้รักษางูสวัดโดยหมอเป่าจะใช้คาถาเสกเข้าที่ใบพลูและใช้วิธีเช็ดบริเวณที่เป็นแผล, “มะขามป้อม” ใช้อมเวลาไอแต่ก็สามารถกินเล่นได้, “ยานักมวย” (ซึ่งผู้ให้ข้อมูลไม่ทราบชื่อเรียกในศัพท์ทางการ) ใช้ต้มกินทำให้กินข้าวได้มากเป็นยาเพิ่มน้ำหนัก, “ว่านน้ำ” ใช้รักษาโรคนิ่ว โรคไต โดยวิธีการนำใบที่ตากแห้งจากนั้นนำมาต้มกิน ส่วนใบสดใช้ตำแล้วโพกศีรษะเด็กเป็นยาแก้ไข้แก้หวัด, “ไพร” ใช้แก้ท้องอืด, “สาบเสือ” ใช้ห้ามเลือด, “ปีกผีเสื้อ” ใช้เป็นยาแก้โรคเลือดจาง, “ขมิ้นเหลือง” ใช้แก้โรคกระเพราะจะใช้วิธีกินสด หรือ บดเป็นผงใส่ในเครื่องแกงก็ได้, “ตระไคร้” ใช้เป็นยารักษาแผล, “ฟ้าทะลายโจร” ใช้รักษาอาการไอ, “เปลือกไม้ก่อ” ใช้กินแทนหมากมีสรรพคุณใช้ขัดฟัน, “ควันไฟเกาะหยากไย่” ใช้ทาคอแก้อาการเจ็บคอ, “ขี้ไคลจากครกไม้” ใช้ทาแก้ไฟไหม้ เป็นต้น

3) ความเชื่อ และพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว

ความเชื่อเกี่ยวกับข้าวในหมู่บ้านแม่ขะปูเปียงนั้นจะเกี่ยวกับผี (ผีไร่, ผีนา) ซึ่งก็จะสอดคล้องกับพิธีกรรม ซึ่งส่วนมากพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวก็จะเป็นการเลี้ยงผี และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร โดยพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวก็จะมีดังนี้ ช่วงเดือนเมษายนจะเป็นการเตรียมสถานที่ และหลังจากนั้นก็เริ่มหว่านต้นกล้า เดือนมิถุนายน เป็นการเริ่มปลูกข้าว เดือนกันยายน เป็นพิธีกรรมการเลี้ยงเจ้าที่ และผีไร่, ผีนา และเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนก็จะเกี่ยวข้าว ซึ่งการเจ้าที่ 1 ครั้งจะทำก่อนเอาข้าวเข้าหลองข้าว (ยุ้งฉาง) ครั้งนี้จะมีเหล้าเป็นเครื่องเซ่นของพิธีกรรม และจะเลี้ยงอีกครั้งหลังจากเอาข้าวเข้าหลองข้าว (ยุ้งฉาง) ในครั้งนี้จะมีข้าว เผือก อ้อย ข้าวหลาม และเหล้า เป็นเครื่องเซ่นของพิธีกรรม ส่วนพิธีการเลี้ยงผีไร่จะประกอบด้วย ไก่ 3 ตัว การเลี้ยงผีนาจะมีไก่ 2 ตัว รวมทั้งข้าวหุงสุกใหม่ จากนั้นเอาเลือดไก่แตะ นำใบข้าว และดึงขนไก่ใส่ รวมทั้งเอากระดูกไปวางไว้ที่บ้านเจ้าที่ จากนั้นก็เอาตาแหลววางไว้ไม่ให้ใครเข้า เป็นเวลา 1 คืน และเช้าตรู่ก็ไปเก็บ

อ้างอิง ประกายพร ปฐมใจภักดิ์ (สัมภาษณ์, 2563)

การนับถือศาสนาภายในชุมชนบ้านแม่ขะปู

ในชุมชนบ้านแม่ขะปูเปียง เป็นหมูบ้านปกาเกอะญอที่มีความเชื่อและพิธีกรรมอยู่หลากหลาย แต่จะมีพิธีกรรมที่สำคัญอยู่ไม่กี่อย่างที่เกี่ยวกับผี เช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับเตาไฟที่อยู่ในบ้าน ในอดีตคนที่นี่จะใช้เตาไฟทำอาหารและประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษของทุกครัวเรือน เป็นการนับถือผี ซึ่งเมื่อก่อนนั้นมีมากภายในหมู่บ้านแต่ภายหลังได้ลดน้อยลงและเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ต่อมาหลังจากศาสนาพุทธมีบทบาทมากขึ้น บทบาทของเตาไฟได้ลดลงไป ชาวบ้านหันไปใช้พิธีทางศาสนาพุทธมากขึ้นด้วยการใช้พิธี “ตานขันข้าว” หรือ “ทานขันข้าว” คือการทานของกินให้แก่บรรพบุรุษแทนการซื้อหมูมาเลี้ยง ที่มีราคาแพงและความเสี่ยงที่หมูจะตายก่อนได้มาใช้งาน ปัจจุบันความเชื่อของเตาไฟยังคงมีอยู่แต่เหลือน้อยลงคงหลงเหลือเพียงการประกอบอาหารและการอยู่ไฟหลังคลอดบุตร ในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ นั้นจำเป็นที่จะต้องมีสัญญาลักษณ์ทางวัฒนธรรม หรือก็คือ สิ่งที่จำเป็นสำหรับพิธีกรรมนั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น กอธอโถ่ ศาลพระภูมิ ตาแหลวง และสะตวง

หมู่บ้านแม่ขะปูนั้น มีชาวบ้านนับถือ ศาสนา ถึง 3 ศาสนา ก็คือ การนับถือ พุทธศาสนา ศาสนาคริสต์ และ สุดท้าย การนับถือแบบวิถีชีวิตความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ซึ่งความเชื่อเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษ หรือ บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตในแต่ละวัน รวมถึงเหตุการณ์ ๆ สำคัญ เช่น การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ เป็นพิธีกรรมสำคัญของผู้คนในชุมชนหมู่บ้านแม่ขะปู ทั้งนี้ในหมู่บ้านจะมีคนทรง หรือ หมอผี ในการทำพิธี และ ในพิธีนั้นชาวบ้านก็เชื่อและนับถือสืบทอดปฏิบัติต่อกันมา แต่ในปัจจุบัน การนับถือ ศาสนานั้น ชาวบ้านทั่วไปจะนับถือศาสนาพุทธซึ่งศาสนาพุทธ มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเช่นเดียวกัน โดยชาวบ้านจะมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ เหมือนพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่ประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญ เช่น วันมาฆบูชา ชาวบ้านก็จะมีการทำบุญตักบาตร เมื่อเวลาพลบค่ำ ชาวบ้านก็จะพากันไปเวียนเทียน ที่วัด ซึ่งภายในหมู่บ้านก็จะมีวัดอยู่รอบ ๆ เช่นกัน ซึ่งตรงนี้เราก็สังเกตเห็นความซับซ้อนของศาสนาที่เข้ากันได้ ถึงชาวบ้านจะนับถือศาสนาพุทธแต่แฝงความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษไปด้วย

1) ความเชื่อท้องถิ่น

ศาสนาชาติพันธุ์ หมายถึง ประเภทของศาสนาที่ได้รับการยึดถือโดยชาติพันธุ์หนึ่ง ๆ โดยคนในชาติพันธุ์นั้นยอมรับว่าศาสนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ของตน เป็นสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์ของตน และสมาชิกของชาติพันธุ์นั้นส่วนใหญ่ก็ยึดถือปฏิบัติในศาสนาดังกล่าวโดยในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามนั้น ทางกลุ่มของเราได้เล็งเห็นประเด็นการศึกษา เรื่อง ศาสนาในชุมชน ของหมู่บ้านแม่ขะปู ทั้งนี้เพราะชาวบ้านในหมู่บ้านในหมู่บ้านแม่ขะปูได้ให้ความเคารพซึ่งกันและกันในแต่ละศาสนา อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและยังคงมีมิตรไมตรีต่อกันเช่นเคย ด้วยความลึกซึ้งของศาสนาที่มีความเชื่อแตกต่างกัน แต่แฝงไปด้วยหลักธรรมคำสอน ที่มุ่งเน้นให้ผู้คนนั้นปฏิบัติทำแต่สิ่งที่ดีงาม ในหมู่บ้านแห่งนี้ก็เช่นกัน

2) ความเชื่อในศาสนาพุทธ พราหมณ์ และคริสต์

ความเชื่อในหมู่บ้านแม่ขะปูนอกจากจะมีความเชื่อเรื่องผีแล้วนั้น ยังมีความเชื่อที่ด้านพระพุทธศาสนาอีกด้วย แรกเริ่มเดิมทีนั้นชาวบ้านแม่ขะปูเปียงนับถือพุทธศาสนาอยู่แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการก่อตั้งวัดแม่ขะปู โดยความเมตตาของเจ้าคณะตำบลบ่อแก้ว ได้อนุเคราะห์สถานที่ และมีชาวบ้านร่วมกันสร้างวัดขึ้นมาใช้ทำพิธีทางศาสนาพุทธในหมู่บ้าน เนื่องจากก่อนที่จะสร้างวัดนั้นชาวบ้านต้องเดินทางไปทำบุญที่ต่างหมู่บ้าน ในบริเวณหมู่บ้านยังมีสถานที่ ๆ เกี่ยวกับการสร้างวัดอยู่อีก คือ พระธาตุแม่ขะปู เสาหินหัก 3 ท่อน และวัดร้าง

พระธาตุแม่ขะปู คือ พระธาตุทรงน้ำเต้า ได้แรงบันดาลใจจากวัดกู่เต้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และนำมาดัดแปลงเป็นทรงน้ำเต้าแบบที่คิดขึ้นมาเอง ในพระธาตุนี้มีข้อห้าม คือ ห้ามผู้หญิงขึ้นไปบนพระธาตุ เพราะมีความเชื่อว่าพระธาตุแห่งนี้เป็นที่เก็บพระเกศาของพระพุทธเจ้า

เสาหินหลัก 3 ท่อน เป็นเสาหินที่อยู่ถัดลงมาจากพระธาตุแม่ขะปู เชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมหินตั้งของชาวลัวะที่เคยอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อนที่จะอพยพออกไป

วัดร้าง เป็นวัดแรกหรือวัดเก่าของหมู่บ้าน สันนิษฐานว่าจะเป็นวัดที่ชาวลัวะสร้างเอาไว้ก่อน อพยพออกจากพื้นที่นี้ วัดแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้างกลายเป็นซากโบราณสถาน

ศาลพระภูมิ ความเชื่อเรื่องศาลพระภูมิ จะลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างยกสูง 4 เสา พื้นทำด้วยไม้ หลังคามุงด้วยสังกะสีทรงสามเหลี่ยม ไม่มีผังกั้น ในหมู่บ้านพบเพียงหลังเดียวเท่านั้น ภายในประกอบด้วย ตุ๊กตาตัวแทนตายาย นางรำ และแจกันใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ที่พบการทำศาลพระภูมิเพียงหลังเดียวนั้นคือที่บ้านนายอนุรักษ์ นายอนุรักษ์กล่าวว่า มีลูกหลานป่วย จึงไปดูเมื่อ (เข้าทรง) ปรากฏว่า เจ้าที่ที่บ้านต้องการศาล นายอนุรักษ์จึงไปนิมนต์พระมาทำศาลพระภูมิ จากนั้นจึงหายจากการล้มป่วย (เจ้าอาวาสวัดแม่ขะปูเปียง, ยิ๊พอ, อนุรักษ์, อาวุธ ปัญญาโชรัตน์, พีแอะพอ, สัมภาษณ์, 2563)

นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ข้อมูลจากเจ้าอาวาส (พระเรืองฤทธิ์ จนฺทสาโร) วัดแม่ขะปูกลาง (สำนักสงฆ์พระธาตุจุฬามณี) ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญมา พร้อมกับ ชาวบ้านบ้านแม่ขะปูอีกสองท่านคือ พี่สุริยะ และ พี่พัทโย ได้ให้ข้อมูลในส่วนของการนับถือผี และเจ้าอาวาสก็ให้ข้อมูลมาว่า ตอนนี้ก็กำลังจะพัฒนาการบูรณาการของศาสนาพุทธให้เข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งของการนับถือความเชื่อแบบผีบรรพบุรุษ เช่น การทำพิธีกรรมทำสังฆกรรม ในบางครั้งก็ให้พระสงฆ์ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม หรือ ร่ายบทสวดบริกรรมคาถาต่าง ๆ ในจุดนี้ชาวบ้านในบ้านแม่ขะปูก็ให้ความสนใจ เพราะเป็นการผสมผสานกันของศาสนาที่ลงตัวและไม่ขัดแย้งกัน ต่อมาเจ้าอาวาสยังเสริมอีกว่า จะอัญเชิญพระพุทธรูป ให้ประดิษฐานในบ้านแต่ละหลังของชาวแม่ขะปู ทั้งนี้ทำเพื่อเหตุผล อยู่สองประการ คือ หนึ่งชาวบ้านนั้นส่วนใหญ่ไม่มีพระพุทธรูปประจำบ้านเพื่อบูชา สองคือเพื่อต้องการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีต่อพระพุทธศาสนาโยตระหนักถึงหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ส่วนสุดท้าย ศาสนาคริสต์ ที่มีการนับถืออยู่สามครัวเรือน โดยสองครัวเรือนแรกนั้นนับถือ นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งได้แก่ครอบครัวของพี่นิดาและอีก 2 ครอบครัวไม่ทราบชื่อ ซึ่งเป็นอีกนิกายหนึ่งแต่ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด เนื่องจากหาตัวบุคคลไม่พบ จึงไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ จะอย่างไรก็ตามแต่ทั้งสามครัวเรือนนี้ไม่เคยมีปัญหา หรือ เรื่องขัดใจอะไรต่อกันเลย

ในวันสำคัญทางศาสนาก็จะพากับเข้าโบสถ์ที่อยู่ท้ายหมู่บ้านเพื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ จากการลงเก็บข้อมูลภาคสนามนั้น พบว่า การนับถือผีบรรพบุรุษ 65% ซึ่งให้สัดส่วนที่มากเพราะการนับถือผีนั่นได้ฝั่งลึกมาแต่สมัยบรรพบุรุษของแต่ละครอบครัว และ ยังถือเป็นหลักถือในการประกอบอาชีพ หรือ การใช้ชีวิตในปัจจุบันด้วย

การนับถือ ศาสนาพุทธ 35% ในส่วนของศาสนาพุทธนั้นก็ได้เข้ามามีบทบาทเช่นเดียวกับการนับถือผี แต่เป็นการนับถือแบบควบคู่กันไป ทั้งนี้เมื่อได้ไปสอบถามผู้สูงอายุ บางส่วนก็มีการนับถือความเชื่อแนวทางปฏิบัติแบบดั้งเดิมอยู่ คือ การนับถือความเชื่อผีบรรพบุรุษ และสุดท้ายนั้น ศาสนาคริสต์ 5% ซึ่งถือว่ามีคนนับถือน้อยในชุมชน แต่ไม่ว่าผู้คนจะนับถือศาสนาอะไร ก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกถึงความต่างชั้นทางวรรณะหรือสังคมเลย เพราะที่ชุมชนแห่งนี้อาศัยให้ความช่วยเหลือกัน ดุจเป็นญาติครอบครัวเดียวกัน มีแต่ความเมตตาและความรักทำให้เกิดเป็นชุมชนหมู่บ้านที่สงบและน่าอยู่จวบจนปัจจุบันนี้

3) ความเชื่ออื่น ๆ ภายในหมู่บ้านแม่ขะปูเปียง

ความเชื่อภายในหมู่บ้านแม่ขะปูเปียงนั้นมีทั้งความเชื่อทั้งแบบการนับถือผี และนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งในปัจจุบันผู้คนในหมู่บ้านก็หันมานับถือศาสนาพุทธกันมากขึ้น เห็นได้ชัดจากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ “พิธีกรรมการเลี้ยงผีปู่ย่า” ที่ในอดีตเคยมีความสำคัญมากถึงขนาดที่ว่า ไม่ว่าสมาชิกครอบครัวจะอาศัยอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้เมื่อที่บ้านมีพิธีเลี้ยงผีปู่ย่าก็ต้องกลับมาร่วมพิธีอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันทุกคน แต่ในปัจจุบันเมื่อคนในหมู่บ้านเปลี่ยนไปนับถือพุทธศาสนากันมากขึ้นพิธีกรรมนี้ก็ค่อย ๆ เลือนหายไป อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ย่าถูกลดความสำคัญลงเป็นเพราะต้องใช้กำลังทรัพย์ในการใช้จ่ายซื้อของมาใช้ในการทำพิธีค่อนข้างสูง และสมาชิกหลาย ๆ คนในครอบครัวไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมพิธีกรรมแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ชาวบ้านภายในหมู่บ้านแม่ขะปูเปียงที่หันมานับถือพุทธศาสนาจึงหันมาทำบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับหรือเรียกอีกอย่างว่าการ “ทานขันข้าว”

นอกจากความเชื่อในด้านศาสนาแล้วภายในหมู่บ้านแม่ขะปูเปียงนั้นยังมีความเชื่อเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในหมู่บ้าน ในหมู่บ้านแม่ขะปูเปียงนั้นมีแหล่งน้ำอยู่หลายแห่ง แต่ที่มีความเชื่ออย่างเคร่งครัดเลยก็คือ “น้ำตกท้ายหมู่บ้าน” ที่มีความเชื่อกันว่าห้ามไปเล่นน้ำในวันอาทิตย์ และวันพระ (วันศีล) แต่จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ได้ข้อมูลว่าสาเหตุที่แท้จริงในการห้ามเล่นน้ำตกในวันอาทิตย์ และวันพระนั้นเป็นเพราะ ส่วนมากเด็ก ๆ ในหมู่บ้านที่ไปเล่นน้ำบริเวณน้ำตกในวันอาทิตย์แล้วกลับบ้านมาส่วนมากจะไม่สบาย ส่วนที่ห้ามไปเล่นน้ำตกในวันพระนั้นเป็นเพราะว่ามีผู้สูงอายุมีอาการลมชัก หรือลมบ้าหมูแล้วเสียชีวิตบริเวณน้ำตกในวันพระ

ความเชื่อเกี่ยวกับเด็ก: ชาวบ้านแม่ขะปูเปียงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่มีวัฒนธรรมอันเป็น เอกลักษณ์ ซึ่งมีวิถีชีวิตผูกพันกับความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ ความเชื่อ เหล่านี้ปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย ก่อให้เกิดเป็นพิธีกรรมต่าง ๆ ขึ้น

ในชุมชนยังคงมีการสืบทอดภูมิปัญญาหมอตำแยและหมอเป่ารักษาโรค การทำคลอดโดยหมอตำแย จะต้องมีการใส่ขันตั้งหรือดำหัว 100 บาท จะทำ คลอดบริเวณใกล้เตาไฟในตัวบ้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่น อุปกรณ์ที่ ใช้ในการทำคลอดจะใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือเด็ก และจะมีผ้าพาดไม้เพื่อให้ผู้หญิงที่ คลอดได้มีแรงเบ่งและถือไว้ตลอดเวลา เมื่อคลอดเสร็จจะตัดสายสะดือใส่กระบอก ไม้ไผ่ แล้วนำมาไปมัดกับต้นไม้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ต้นไม้ ถ้าหากมีคนมาตัดต้นไม้ นั้นจะต้องเสียไก่ให้กับคนที่นำสายสะดือในกระบอกไม้ไผ่ไปแขวน

ทั้งนี้ เมื่อมารดาให้กำเนิดลูกน้อยแล้ว ในวัยเด็กแรกเกิดหรือเด็กที่มีอายุ ตั้งแต่เกิดจนถึง 1 เดือน ชาวปกาเกอะญอจะไม่ให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าไม่ดี แต่สามารถนำผ้ามาห่อคลุมร่างกายได้ เมื่อเด็กอายุ 1 เดือน ขึ้นไปจึงจะสามารถให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้า นอกจากนี้จะนำตระกร้าสานจากไม้ไผ่ สำหรับใส่พืชผักต่าง ๆ ที่เรียกว่า “เซอกั๊วะ” โดยจะนำผ้าซิ่นของมารดาและมีดใส่ ในเซอกั๊วะ จากนั้นนำไม้กวาดมาวางพาดด้านบนเซอกั๊วะ แล้วจึงนำไปตั้งวางไว้ บริเวณข้าง ๆ ประตูทางเข้าบ้านหรือปลายเท้าบริเวณที่นอน

การนำเซอกั๊วะมาตั้งไว้นั้น ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการป้องกัน และขับไล่ผีหรือ วิญญาณร้ายที่พยายามเข้ามาในบ้านเพื่อทำร้ายลูก ที่เรียกว่า “ตาซู่” มีความเชื่อ ว่าตาซู่เป็นวิญญาณร้ายที่สิงสถิตคนภายในหมู่บ้าน ปัจจุบันชาวบ้านบางคนยังคง เชื่อว่ามีคนในหมู่บ้านคนใดคนหนึ่งเป็นตาซู่ โดยผู้ที่เป็นตาซู่อาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวว่า ตนเป็นตาซู่ก็ได้ ตาซู่จะกัดกินวิญญาณสัตว์เป็นอาหาร เช่น วัว ควาย และเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารก ซึ่งเป็นวัยที่ยังบอบบางและจิตยังอ่อนนั่นเอง

ประเพณีและพิธีกรรม

1) พิธีกรรมแต่งงานของชาวปกาเกอะญอ

พิธีกรรมก่อนแต่งงาน: 

เรื่องราวของการสู่ขอมีลักษณะดังนี้เมื่อเป็นที่รับรู้แล้วว่าหญิงชายรักชอบพอกัน พ่อแม่และญาติพี่น้องของฝ่ายหญิงก็จะส่งคนไปหาฝ่ายชาย เพื่อสอบถามให้แน่ใจว่าฝ่ายชายรัก และยินดีที่จะแต่งงานกับฝ่ายหญิงจริงหรือไม่ หากฝ่ายชายรักชอบพอกัน และยินยอมที่จะแต่งงานกับฝ่ายหญิงก็จะมีการนัดหมายวันเวลาทำพิธีแต่งงานกันในเวลานั้น (ตามหลักประเพณีปกาเกอะญอฝ่ายหญิงจะต้องเป็นฝ่ายไปขอฝ่ายชาย)

หากหนุ่มสาวได้เสียกันก่อนแต่งงาน ก็จะต้องมีการขอขมาต่อผีเจ้าที่ ซึ่งเป็นผีบ้านไม่ใช่ผีเรือนและให้มีการขอขมาต่อผู้เฒ่า รวมทั้งหัวหน้าหมู่บ้านและหมอผีด้วย วันต่อมาจึงจะจัดให้มีการแต่งงานกัน พิธีการแต่งงานของหนุ่มสาว ที่ได้เสียกันก่อนแต่งงานจะไม่มีงานสนุกสนานรื่นเริงเหมือนงานแต่งที่เป็นหนุ่มสาวบริสุทธิ์ แต่ทำพอเป็นพิธีเท่านั้นกะเหรี่ยงหนุ่มสาวที่บริสุทธิ์ จะไม่ยอมไปร่วมในพิธีด้วย เพราะเกรงว่าจะเอาตัวอย่างเหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีมาใช้ และถือว่าเป็นการผิดประเพณีกะเหรี่ยงทำให้วงศ์ตระกูลให้เกิดเรื่องน่าละอาย ถ้าหนุ่มสาวคู่ที่ได้เสียกันไม่ใช่หนุ่มสาวหรือสาวโสด ก็จะต้องถูกปรับเป็นเงินและสัตว์เลี้ยงได้แก่ หมู ไก่ และควาย เป็นต้น

หลักการพิธีแต่งงาน เริ่มด้วยการให้ผู้เฒ่าผู้แก่หรือพ่อสื่อ มาทาบทามเพื่อถามความสมัครใจทั้งสองคนก่อน จากนั้นจะเป็นการสู่ขอโดยฝ่ายหญิงได้ให้พ่อสื่อ ชาย 2 คนไปหาฝ่ายชาย ประเพณีการสู่ขอของปกาเกอะญอผู้หญิงจะเป็นผู้สู่ขอผู้ชาย หลังจากยินยอมตกลงกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ได้นัดหมายกันว่า อีกเจ็ดวันจะทำพิธีแต่งงาน เมื่อฝ่ายชายเต็มใจรับการสู่ขอ ก็จะมีพ่อสื่อชายฝ่ายชาย 2 คนและหนุ่มโสด 1 คน ที่ไม่ใช่พี่น้องของเจ้าบ่าว รับการสู่ขอเพื่อนัดหมายวันแต่งงาน ชายหนุ่มโสดคนนี้จะเป็นตัวประกันในการแต่งงาน หากเจ้าบ่าวตัวจริงเกิดขัดข้องด้วยเหตุใดก็ตาม ชายหนุ่มคนนี้จะต้องแต่งงานแทนเจ้าบ่าวตัวจริง ไปยังบ้านฝ่ายหญิงก็จะมีการฆ่าหมู่เพื่อต้มหรือแกง และมีการเตรียมเหล้าเลี้ยงพวกที่มาเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบิดพลิ้ว ฝ่ายนั้นจะหาคู่ครองยาก เพราะไม่มีสัจจะ จะมีการกำหนดวันแต่งงาน ซึ่งจะจัดขึ้นภายใน 7-9 วัน หลังจากวันสู่ขอ และต้องเป็นวันที่คี่ เช่น วันที่ 3 วันที่ 5 วันที่ 7 หรือวันที่ 9 หลังจากการสู่ขอ จะเป็นวันไหนก็ใช้วิธีปักกระดูกไก่ดูเอา เมื่อกำหนดวันแล้วก็บอกไปยังญาติมิตรทั้งหลาย จะได้เตรียมตัวช่วยเหลือ เช่น เตรียมหมู ไก่ หรือเหล้าสำรับใช้ในพิธีแต่งงาน

เมื่อได้ไปบอกกล่าวชาวบ้านในหมู่บ้านแล้ว ชาวบ้านจะมีการต้มเหล้าไปให้บ้านที่มีพิธีกรรมแต่งงานโดยการต้มเหล้านั้นต้องดูวัน ว่าวันไหนเป็นวันดี วันไหนเป็นวันเสีย การต้มเหล้าไม่นิยมต้มในเดือน 7 เพราะถึงว่าจะเป็นเดือนที่ร้อน เป็นเดือนไม่ดี

สำหรับการเตรียมชุดของเจ้าสาว จะมีการทอหรือปักเย็บเพิ่ม โดยจะเป็นแม่สื่อหรือภรรยาของพ่อสื่อเป็นคนจัดเตรียมให้เจ้าสาว ซึ่งในปัจจุบันจะมีการซื้อมาและให้ทางแม่สื่อจัดการให้ ชุดจะมีลักษณะเสื้อดำแดง ผ้านุ้งสีแดง ผ้าโผกหัวสีขาว เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นหญิงสาวที่มีครอบครัวแล้ว

พิธีกรรมในวันแต่งงาน: 

ชาวปกาเกอะญอนั้นมีความเชื่อหนึ่งอย่างที่แตกต่างจากชาติพันธุ์อื่นนั้นก็คือ ชาวปกาเกอะญอนั้นจะให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ฉะนั้นแล้วการแต่งงานนั้นก็จะเป็นผู้หญิงที่เป็นฝ่ายขอแต่งงานแทนฝ่ายชายโดยพิธีจะทำอยู่ด้วยกันสองวัน

วันที่ 1 ช่วงเช้า พ่อสื่อและเพื่อนเจ้าสาวจำนวน 2 คนจะเดินทางมายังบ้านเจ้าสาวเมื่อพูดคุยกับผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าสาว เมื่อพูดคุยตกลงกันเสร็จ ในเครื่องพิธีนั้นจะมีการแลกของ11อย่างนั้นคือ ซิ่น เสื้อดำ (ผู้หญิงใส่) เสื้อแดง (ให้ผู้ชายใส่) ผ้าโพกหัว สร้อยลูกปัด เสียม เกลือ( มัดเป็นห่อหากของในพิธีแต่งงานนั้นมีไม่ครบ 11อย่างก็สามารถเพิ่มเกลือได้) กำไลเงิน ก๋วย เม็ดเงินเป็นต้น เมื่อพูดคุยกันเสร็จจะมีการดื่มเหล้าจำนวน 10 แก้วให้เจ้าสาวและแม่เจ้าสาวให้ครบทั้งหมด 10 แก้วสามารถจิบกินทีละนิดได้ และสามารถเวียนให้ผู้อยู่ร่วมพิธีในนั้นร่วมจิบและดื่มได้โดยจะต้องเหลือเหล้าให้เหลือมายังผู้ริน ในวันแรกของพิธีแต่งงานจะใช้เหล้าเพียงสามขวด

ช่วงบ่าย จะเป็นพิธีแลกข้าวใหม่เพื่อให้เกียรติแก่พ่อแม่ผู้ใหญ่ในครอบครัวจึงได้มีการแลกข้าวใหม่ให้ได้กินระหว่างพ่อสื่อของทั้งฝ่ายชายและหญิงจะมายังบ้านเจ้าสาวจะมาพบพ่อแม่เจ้าสาวจะมีการแลกข้าวใหม่ระหว่างบ้านเจ้าบ่าวและเจ้าสาวในขณะที่กินนั้นก็จะทำการร้องเพลงอวยพรให้เมื่อทำการแลกข้าวใหม่เรียบร้อยทั้งสองฝ่ายแล้วก็จะทำการทั้งสองฝ่ายก็จะมากินข้าวใหม่และเหล้าที่ผามซึ่งมีลักษณะมุงคาโดยผามนี้จะสร้างโดยหนุ่มโสดของฝ่ายเจ้าบ่าวและคนไหนสร้างคนนั้นก็ต้องเป็นคนลื้อถอนจากนั้นพ่อสื่อและญาติทั้งสองฝ่ายพร้อมเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะมาร่วมทำพิธีขอขมาและบอกกล่าวเจ้าที่พร้อมกันที่ผามและแลกข้าวใหม่และทำการดื่มเหล้าเมื่อกินเสร็จเจ้าบ่าวก็จะเดินกลับบ้านเจ้าสาวจะมาส่งได้แค่ประตูรั้วบ้านเจ้าบ่าวจะถูกส่งตัวกลับบ้านโดยมีเสียงดนตรีตลอดทางทั้งตอนมาและตอนกลับและจะต้องไปส่งเจ้าบ่าวให้ถึงท้ายหมู่บ้าน ที่ท้ายหมู่บ้านนั้นจะนับหลังสุดท้ายจะมีการพูดคุยกินเหล้ากันที่บ้านหลังนั้นเหล้าจะมีจำนวน 2 ขวดเหล้าจะถูกแบ่งให้กินระหว่างผู้เข้าร่วมเดินทางมาร่วมพิธีจนเหลือเพียง 2 ขวดสุดท้ายจะต้องกินให้ครบวงจากนั้นก็จะเทให้หรือมอบให้แก่เจ้าที่ข้างทางหรือกิ่งไม้ 1 กิ่งวางตรงนั้นด้วยเป็นการเสร็จพิธีส่งเจ้าบ่าวผู้เล่นดนตรีก็จะเล่นดนตรีกลับมายังบ้านเจ้าสาวก็จะเป็นการเสร็จพิธีวันนี้

วันที่ 2 ช่วงเช้า เริ่มพิธีตั้งแต่ตีสาม จะมีการซอแลกของ 11 อย่างที่กล่าวข้างต้นไปมาระหว่างบ้านเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะครบ11อย่างโดยมีพ่อสื่อทั้งสองฝ่ายเป็นคนแลกในวันนี้ก็จะมีการทุบหมู ทำกับข้าวพ่อสื่อทั้งสองฝ่ายก้จะเข้าผามทำพิธีขอขมาเจ้าที่ เป็นอันเสร็จพิธีตอนเช้า

ช่วงบ่าย เจ้าบ่าวจะทำการเปลี่ยนชุดใหม่เป็นเสื้อแดงและพันผ้าโพกหัวโดยมีพ่อสื่อเป็นคนเปลี่ยนฝ่ายเจ้าสาวนั้นก็จะเปลี่ยนโดยแม่สื่อเปลี่ยนจากเสื้อขาวเป็นเสื้อดำซิ่นแดง หลังจากนั้นก็จะทำพิธีรินเหล้าให้ผู้ที่ร่วมอวยพรได้ดื่มกินและอวยพรก่อนจะเข้าพิธีรินเหล้านั้นก่อนขึ้นนอนเจ้าบ่าวจะต้องทำการล้างเท้าก่อน จากนั้นเมื่อเข้าพิธีรินเหล้าอวยพรเจ้าบ่าวเจ้าสาวเจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็จะทำการรินเหล้าแก่ผู้ที่มาขอพรจนครบหลังจากนั้นเจ้าบ่าวก็จะเข้าเรือนหอที่บ้านเจ้าสาวและอยู่ที่บ้านเจ้าสาวเป็นเวลาสามวันและเจ้าสาวก็ต้องไปอยู่บ้านเจ้าบ่าวสามวันเข่นกันจากนั้นก็เป็นอันเสร็จพิธี

หมูที่ใช้นั้นจะต้องเป็นหมูตัวผู้ ไก่นั้นถ้าจะใช้ก็ต้องเป็นไก่ขาวผู้หนึ่งตัวและเมียหนึ่งตัว โดยคนทุบหมูหรือฆ่าหมูนั้นจะต้องเป็นฝ่ายเจ้าบ่าวจัดหามา

บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องในพิธีกรรมแต่งงาน:

  • เจ้าบ่าว (เพราะควา) ชายคนสำคัญในพิธีแต่งงาน
  • เจ้าสาว (เพราะมึม) หญิงสาวคนสำคัญในพิธีแต่งงาน
  • พ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวและพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาว (เพราะมึนปล่า = พ่อ พรึงปล่า = แม่) เป็นบุคคลผู้ให้กำเนิดฝ่ายชายที่จะเป็นคนเชิญแขกต่าง ๆ ในหมู่บ้านหรือต่างหมู่บ้านที่เป็นญาติพี่น้องโดยจะมีการเชิญด้วยตัวเองจะไม่ให้บอกต่อ ๆ กัน (พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวก็ทำเช่นเดียวกับพ่อแม่ฝ่ายชายในการเชิญญาติพี่น้อง)
  • พ่อสื่อฝ่ายเจ้าบ่าว 2 คน (เจาะตะโลปล่า) จะต้องเป็นผู้ชายสองคนคือคนนำและผู้ตาม คือจะมีผู้รู้พิธีกรรมและจะมีลูกศิษย์ในการสืบทอดพิธีโดยจะอยู่ด้วยกันในพิธีกรรมเพื่อเรียนรู้และสืบทอดคนสืบทอดก็จะเป็นลูกหลานผู้ชายเท่านั้น พ่อสื่อในที่นี้จะเป็นคนกลางในการสื่อสารระหว่างสองฝ่ายพิธีก็จะมีการที่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะหาชายโสดมาตีหมูเพื่อทำพิธีการที่พ่อสื่อจะให้พรในการนั่งในผามและบนบ้านในพิธีการรับประทานอาหารพร้อมทั้งเหล้า
  • พ่อสื่อฝ่ายเจ้าสาว (เจาะตะโลปล่า) จะมีสองคนเช่นเดียวกับพ่อสื่อฝ่ายเจ้าบ่าวจะมีวิธีการเหมือนฝ่ายชายจะเป็นผู้สื่อสารให้กับเจ้าสาวระหว่างเจ้าบ่าวและเป็นผู้ให้พรทำพิธีการสวดขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเป็นผู้นำเนินพิธีโดยที่จะไม่ให้เจ้าสาวไปไหนมาไหนคนเดียวโดยจะมีพ่อสื่อในการสื่อในเรื่องพิธี เช่น การนำหัวหมู 1 หัวไปต้มร่วมกันและพิธีในการไปแลกของทั้ง 11 อย่างพ่อสื่อเป็นคนทำพิธี คือ จะมีการแลกของโดยพ่อสื่อจะเป็นคนสื่อสารการแลกของทั้ง 11 ชิ้น
  • แขกฝ่ายชาย-หญิง (ดะปู่แว) ญาติพี่น้องทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่อยู่ทิศทางใดก็ตามจะได้รับการเชิญมาร่วมทำพิธีในงานแต่งงาน เช่น จะมีการญาตินั่งเหล้าด้วยหรือมีการต้อนรับจากเจ้าบ่าวเจ้าสาวโดยจะมีการเล่นดนตรีในการแห่เข้ามาในบ้านของเจ้าสาวและจะมีการแวะที่ผ่าทำพิธีต้อนรับแขกโดยจะมีการนั่งในผ่าหรือผาม
  • แก่บ้าน (หยี่โข่) เป็นผู้เข้ามาอาศัยตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านเป็นคนแรกจะได้รับการเชิญเข้ามาทำพิธีให้กับเจ้าบ่าว-เจ้าสาว เพื่อให้พรและขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเจ้าบ่าว-เจ้าสาวคู่นี้ให้มีความรักที่มีแต่ความสุข
  • คนรินเหล้า (เด่ซิ) การเลือกชายผู้นี้คือ จะเป็นใครก็ได้แต่ขอแค่เพียงเวลาดื่มเหล้าชายผู้นี้จะต้องมีสติดื่มเหล้าแล้วไม่โวยวายจะเป็นคนรินเหลาให้กับพ่อสื่อ เฒ่าแก่ บ้าน คนซอ เป็นต้น
  • เฒ่าแก่ (เจาะตะโลปล่า) บุคคลสำคัญในหมู่บ้านคือเป็นเหมือนบุคคลที่ชาวบ้านนับถือว่าเป็นผู้ใหญ่ เฒ่าแก่จะมีการร่วมพิธีในการขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คู่เจ้าวบ่าว-เจ้าสาวและได้บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางว่าคู่นี้ได้เป็นผัวเมียกันแล้ว
  • ชายโสดสร้างผามและล้มผามบ้านเจ้าสาว (ฮาซูออ) จะต้องเป็นชายที่ยังไม่ได้แต่งงานแต่มีพ่อแม่ยังมีชีวิตชายคนนี้เป็นฝ่ายเจ้าสาวผู้เลือกมาโดยชายผู้นี้จะต้องสร้างผามให้กับบ้านเจ้าสาวเพื่อทำพิธีการแต่งงานโดยจะให้พ่อสื่อ พ่อแม่เจ้าสาว เฒ่าแก่ แก่บ้านทำพิธีในผามและชายผู้นี้ก็เป็นคนล้มผามเช่นกันคือผู้สร้างผู้ล้มคือคนเดียวกัน
  • คนโสด (ฮาซูออ) ชายฝ่ายเจ้าบ่าว(ฆ่า)หมูบ้านเจ้าสาวฮาซูออจะต้องเป็นชายที่ยังไม่ได้แต่งงานและพ่อแม่ยังมีชีวิตจะเป็นชายที่ฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนหามาเพื่อที่จะมาทำพิธีในการตีหมูโดยชายผู้นี้จะต้องตีตรงหัวหมูต่อจากนั้นจะเป็นใครตีก็ได้จะต้องตีจนตายโดยจะไม่ให้ใช้มีดในการฆ่าหมูจะใช้แต่ไม้ตีเท่านั้น
  • คนซอ (เพราะกวาทา) คนซอจะเป็นใครก็ได้แต่จะต้องเป็นผู้ชายซอเก่ง ๆ คนซออาจจะเป็นพ่อสื่อก็ได้หรือเป็นบุคคลอื่นที่มีความสามารถในการซอแต่เป็นคนในหมู่บ้านเท่านั้น
  • แม่สื่อฝ่ายเจ้าสาว (เจาะตะโลโม) เป็นภรรยาของพ่อสื่อฝ่ายเจ้าสาวทำหน้าที่เปลี่ยนชุดให้กับเจ้าสาว
  • นักดนตรี (โปรอ เดอ) เป็นคนเล่นดนตรีขณะเจ้าบ่าวมาและการำไปรับแขกส่งแขกของเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่มาร่วมงานแต่งงานโดยการเล่นดนตรีจะเป็นสัญลักษณ์ในการบ่งบอกถึงว่าเจ้าบ่าวกำลังมาหรือแขกกำลังมาให้คนภายในบ้านเตรียมต้อนรับ

ของใช้ในพิธีกรรมแต่งงาน: 

พิธีแต่งงานของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ขะปูเปียงมีสิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรมที่เป็นสิ่งสำคัญ ดังนี้

  • เหล้าต้ม (สิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีกรรม ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันต้มและนำมามอบให้กับบ่าวสาว)
  • หมูดำ (แล้วแต่บ้านของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวว่าจะใช้กี่ตัว)
  • ไก่คู่ (ใช้ในการส่งแขกหรือญาติพี่น้องที่มาร่วมงานจากต่างหมู่บ้านทั้งทิศเหนือและใต้ตอนกลับ)
  • ข้าวเบอะ (คล้ายข้าวต้มหรือโจ้ก ให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวกินตอนพิธีที่เจ้าบ่าวมาบ้านเจ้าสาว)
  • ด้ายขาว (ใช้มัดมือเจ้าบ่าวเจ้าสาว)
  • ผาม 4 เสา (บัลลังก์พิธี สร้างไว้หน้าบ้านเจ้าสาว ใช้แขวนเครื่องดนตรี และให้ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งตอนทำพิธี)
  • เครื่องดนตรี (กลองยาว, ฆ้อง, ฉาบ)
  • กระทงข้าวใหม่ (เครื่องใน+หัวใจหมู) ใช้ในการบูชาเจ้าที่ คนเฒ่าคนแก่จะเป็นคนวางซึ่งจะวางไว้บนหลังคาผาม)
  • สินสอด 11 อย่าง (ร้องเพลงซอ แลกสินสอดโดยพ่อสื่อทั้ง 2 ฝ่ายของบ่าวสาว) ถ้าสินสอดไม่ครบ 11 อย่าง ใช้ห่อเกลือเติมให้ครบ
  • ซิ่น
  • เสื้อดำ (ของฝ่ายเจ้าสาว)
  • เสื้อแดง (ของฝ่ายเจ้าบ่าว)
  • ผ้าขาวโพกหัว
  • สร้อยลูกปัด
  • เสียม
  • เกลือ (ห่อ)
  • เม็ดเงิน (มัดติดกับเข็มขัดทอผ้า)
  • กำไลเงิน
  • ชุดที่เจ้าบ่าว – เจ้าสาวเปลี่ยน
  • เจ้าบ่าว เปลี่ยนเป็นเสื้อสีแดง (ฝ่ายเจ้าสาวเตรียม) และใส่ผ้าโพกหัวสีขาว
  • เจ้าสาว เปลี่ยนเป็นเสื้อสีดำ ซิ่นสีแดง
  • หินลับมีด ใช้ตอนส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว วางตรงบันไดก่อนขึ้นบ้านเจ้าสาว และให้เจ้าสาวตักน้ำล้างเท้าเจ้าบ่าวเพื่อเป็นการต้อนรับเจ้าบ่าวก่อนขึ้นบ้าน

พิธีกรรมหลังแต่งงาน: 

พิธีกรรมหลังแต่งงาน หลังจากงานแต่งงานผ่านไปประมาณ 3 วัน เจ้าสาวจะไปบ้านเจ้าบ่าว เพื่อไปต้มเหล้าและทำพิธีบ้านเจ้าบ่าว ในช่วงเช้าวันที่จะเดินทางไปบ้านเจ้าบ่าวนั้น ชาวบ้านในหมู่บ้าน เฒ่าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว 2 คน เฒ่าแก่ฝ่ายเจ้าสาว 2 คน และผู้นำชุมชน 1 คน จะมารวมตัวกันบ้านเจ้าสาว เพื่อที่จะเดินทางไปบ้านเจ้าบ่าวกัน (คนเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี) ในระหว่างเดินทางไปบ้านเจ้าบ่าวจะไม่มีการเล่นดนตรีแต่อย่างใดเหมือนวันแต่งงานแล้ว เมื่อเดินไปถึงบ้านเจ้าบ่าว เจ้าสาวจะไปหาฝืนในป่าแล้วนำกลับมาไว้บ้านเจ้าบ่าว เพื่อนำฝืนมาหุงข้าวและหุงเหล้าในวันต่อ ๆ มา

พอกลับมาจากไปหาฝืนในป่า เจ้าสาวจะกลับมาหุงข้าว พอหุงข้าวเสร็จเจ้าสาวก็นำข้าวหุงมาหมักกับหัวเชื้อ เพื่อเตรียมไว้ต้มเหล้า โดยหมักข้าวทิ้งไว้ 5-7วัน ในระหว่างที่รอข้าวหมักเจ้าสาวก็จะอยู่บ้านเจ้าบ่าวและช่วยงานบ้านเจ้าบ่าว ส่วนแขก เฒ่าแก่ทั้งสองฝ่ายและผู้นำชุมชนจะนอนบ้านเจ้าบ่าว 1 คืน ก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านตนเองในเช้าวันรุ่งขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไป 5-7 วัน ถ้าข้าวหมักได้ที่แล้ว เจ้าสาวก็จะนำข้าวหมักนั้นออกมาหุง พอหุงเสร็จก็จะเชิญญาติพีน้องคนในหมู่บ้าน เฒ่าแก่ฝ่ายชาย 2 คน เฒ่าแก่ฝ่ายหญิง 2 คนและผู้นำชุมชน 1 คน จากนั้นเฒ่าทั้งสองฝ่ายผู้นำชุมชนจะนำเหล้าที่เจ้าสาวต้มมาทำพิธีอธิษฐาน ขอพรต่าง ๆ นา ๆ หลังจากนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะดื่มเหล้าร่วมกับเฒ่าแก่และผู้นำชุมชน

ต่อมาก็เป็นพิธีมัดมือเจ้าบ่าวเจ้าสาว โดยมีเฒ่าแก่ทั้งสองฝ่ายและผู้นำชุมชนเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม โดยมีอุปกรณ์ ในการดำเนินพิธีกรรมดังนี้

  • ไก่ต้มสุกตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 1 ตัว
  • เหล้าที่เจ้าสาวต้ม 1 ขวด
  • ด้ายมัดมือ

พอทำพิธีเสร็จแล้วก็จะกินข้าวกับไก่ที่มัดมือเจ้าบ่าวเจ้าสาวร่วมกัน หลังจากกินข้าวเสร็จเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็เดินทางกลับบ้านเจ้าสาวใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนแขกคนอื่น ๆ ก็เดินทางกลับบ้าน เป็นอันเสร็จพิธีกรรมหลังแต่งงาน

กรณีพิเศษ: 

  • กรณีที่ 1 ในกรณีที่เจ้าสาวท้องก่อนแต่ง ต้องทำพิธีผูกข้อมือพ่อแม่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้งสองฝ่าย เป็นการขอขมาพ่อแม่ที่ทำผิด
  • กรณีที่ 2 ถ้าหากว่าน้องแต่งงานก่อนพี่ คนน้องต้องทำพิธีขอขมาพี่ด้วย ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยมัดข้อมือให้พี่ ในการขอขมาต้องมี 1. หมูตัวผู้ 1 ตัว เสื้อ 1 ผืน กางเกง 1 ตัว ผ้าขาวม้า 1 ผืน
  • กรณีที่ 3 ถ้าผู้หญิงแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านการทำพิธีจะเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่หลังจากทำพิธีมัดมือ และกินข้าวเสร็จ ก่อนที่เจ้าบ่าวเจ้าสาว และแขกทางบ้านเจ้าสาวจะเดินทางกลับบ้าน พ่อแม่เจ้าบ่าวต้องห่อไก่ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 1 ตัว เหล้า 1 ขวด และข้าว 1 ห่อ ให้บ้านเจ้าสาวเอาไว้กินระหว่างทางกลับบ้าน แต่ห้ามนำกลับไปกินที่บ้านเด็ดขาด

2) พิธีกรรมการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ

การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ คือ การเลี้ยงผีปู่ย่าตายายของชาวปกาเกอะญอ เป็นการปฏิบัติที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ที่ในหมู่บ้านแม่ขะปูเปียงแห่งนี้ มีการเลี้ยงผี บรรพบุรุษเพียงแค่ในกลุ่มที่ยังคงนับถือผีอยู่เท่านั้น บ้านที่ยังมีการเลี้ยงผีนั้นจะมี เตาไฟอยู่กลางบ้านเพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรม

การเลี้ยงผีบรรพบุรุษนั้นจะต้องทำในช่วงเย็นเท่านั้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานกลับมาจากการทำงาน การเลี้ยงผีบรรพบุรุษจะมีอยู่ 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 เป็นการเลี้ยงตามธรรมเนียม กรณีที่ 2 เป็นการเลี้ยงหากมีอาการเจ็บป่วย

สัตว์ที่นำมาทำอาหารเพื่อใช้ในการเลี้ยงผีนั้นจะเลี้ยงไก่ 2 วัน เลี้ยงหมู 4 วัน โดยจะเลี้ยงสลับกัน ถ้าหากป่วยหนักจะใช้ทั้งไก่และหมูเลี้ยง แต่ถ้าเลี้ยงเพื่อเป็น การขอบคุณบรรพบุรุษที่ดูแลจะใช้ไก่ในการเลี้ยง ทั้งนี้จะเลี้ยงผีบรรพบุรุษทางฝ่าย แม่ก่อน แล้วค่อยเลี้ยงผีบรรพบุรุษทางฝ่ายพ่อ

ข้อห้าม: 

ข้อที่ 1 ห้ามคนในครอบครัวไปรับประทานอาหารที่บ้านหลังอื่น โดยจะต้อง รับประทานอาหารในบ้านของตัวเองเท่านั้น

ข้อที่ 2 ห้ามคนในครอบครัวไปนอนที่บ้านหลังอื่น โดยจะต้องนอนที่บ้านของ ตัวเองเท่านั้น

ข้อที่ 3 ห้ามนำไก่ขาวมาทำเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงผี

ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรม: 

ลักษณะที่ 1 ทุกคนในครอบครัวอยู่กันครบทุกคน

ทุกคนในครอบครัวจะต้องสวมใส่ชุดปกาเกอะญอที่ทอขึ้นมาเอง จากนั้น จึง เริ่มหุงข้าวในหม้อดินเผา ซึ่งจะต้องเป็นหม้อที่ใช้สำหรับการเลี้ยงผีเท่านั้น ห้ามนำ ไปใช้อย่างอื่นเด็ดขาด และฆ่าไก่โดยจะต้องทำการบีบคอไก่เท่านั้น จากนั้นสับไก่ เป็นชิ้น ๆ และใส่เครื่องปรุง เมื่ออาหารสุกแล้วให้หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ประกอบ พิธีเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษมากินอาหารที่จัดเตรียมไว้

หลังจากประกอบพิธีเสร็จ ผู้ประกอบพิธีจะต้องกินอาหารก่อน จากนั้นจึงให้ ภรรยากินต่อ แล้วตามด้วยลูกหลาน โดยจะต้องเรียงลำดับกัน คือ ลูกคนโต แล้วตามด้วยครอบครัวของลูกคนโต จากนั้นก็จะเรียงกันไปเรื่อย ๆ หลังจากที่กินอาหาร จนครบทุกคนแล้ว จึงจะสามารถล้างหม้อดินเผาได้เป็นอันเสร็จพิธี

ลักษณะที่ 2 คนในครอบครัวบางคนไม่สามารถมาร่วมพิธีได้

ในกรณีที่ลูกหลานมาร่วมพิธีกรรมไม่ครบทุกคน จะต้องเก็บข้าวและอาหารที่ เลี้ยงตากแห้งไว้ จนกว่าลูกหลานคนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมพิธีมาถึง หลังจากที่กินอาหาร และข้าวที่ตากแห้งไว้เรียบร้อยแล้วจะต้องทำการประกอบพิธีเลี้ยงผีขึ้นอีกครั้ง โดยหม้อดินเผาที่ใช้หุงข้าวและทำอาหารเพื่อเลี้ยงผีนั้นจะล้างได้ก็ต่อเมื่อทุกคนในครอบครัวอยู่ครบทุกคนเท่านั้น

หากเกิดเหตุการณ์เด็กทารกร้องไห้หรือเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุขึ้น ชาวบ้านจะเชื่อว่าอาจมีวิญญาณมาหยอกล้อหรือรบกวนเด็ก ชาวบ้านก็จะมีวิธีการ ในการจัดการแก้ไขตามความเชื่อ คือ วิธีแรก จะนำน้ำส้มป่อยมาร่ายคาถาอาคม โดยผู้รู้คาถา จากนั้นนำมาพรมเด็กทารก วิธีต่อมา หากเด็กยังคงร้องไห้หรือ เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ จะนำเชือกสีดำมาขดเป็นปม เว้นระยะให้ห่างตาม ความเหมาะสม ขณะขดปมจะร่ายคาถาอาคมโดยผู้รู้คาถา เมื่อเสร็จแล้วจึงนำไป สวมเป็นสร้อยคอ เรียกว่า “อูลื่อซู” ให้แก่เด็กทารก แต่ถ้าหากยังเกิดเหตุการณ์ ดังกล่าวติดต่อกันหลายวัน วิธีสุดท้ายที่ชาวปกาเกอะญอจะใช้ คือ การมัดมือด้วย ด้ายสีขาวหรือสายสิญจน์ โดยผู้รู้คาถาอาคมที่เป็นผู้ชายเท่านั้น

เมื่อเด็กอายุครบ 1 ปีบริบูรณ์ ถือเป็นการเข้าสู่วัยเด็กเล็กหรือเด็กที่มีอายุ 1 - 5 ปี ชาวปกาเกอะญอจะมีการซื้อของขวัญ ได้แก่ กำไลเงิน หรือสร้อยคอเงิน โดยเลือกซื้ออย่างใดอย่างหนึ่งตามกำลังทรัพย์ของครอบครัวที่มี เสร็จแล้วจะทำ พิธีก่อนสวมให้เด็ก โดยการนำภาชนะมาใส่ดอกไม้ ธูป และเทียน พร้อมทั้ง ของขวัญที่เตรียมไว้มาทำพิธีโดยผู้ชายของครอบครัวที่รู้คาถา ทั้งนี้ญาติไม่สามารถ ซื้อของขวัญเป็นกำไลเงินหรือสร้อยคอเงินมาร่วมในพิธี แต่สามารถใส่เงินเพื่อเป็น ของขวัญให้แทนได้ ซึ่งการมอบของขวัญนี้เปรียบเสมือนเป็นการรับขวัญ รวมถึง กำไลหรือสร้อยคอนั้นได้ผ่านการลงคาถาอาคมแล้วจึงเป็นเสมือนเครื่องรางที่คอยคุ้มครองลูกน้อยของพวกเขานั่นเอง

นอกจากนี้ เมื่อเด็กมีอายุครบ 1 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่สามารถประกอบ พิธีการเรียกขวัญ หรือ “เกาะเก่อลา” ได้แล้ว ก็จะมีการทำพิธี พิธีการเรียกขวัญ ของชาวปกาเกอะญอจะต้องประกอบพิธีโดยผู้รู้คาถาหรือหมอผีซึ่งเป็นผู้ชาย เท่านั้น โดยจะเริ่มจากการนำข้าวสารใส่ในภาชนะแล้วนำไข่ไก่มาวางบนข้าวสาร จากนั้นจะใช้ไม้ไผ่ดัดให้โค้งคล้ายรูปตัวยู (U) ใช้ด้ายสีขาวมัดปลายไม้ไผ่ทั้งสอง ด้าน แล้วจึงนำด้ายสีขาวมัดตรงกลางเป็นสายยาวขึ้นไปสำหรับจับ เมื่อพิธีเริ่มขึ้น ผู้ประกอบพิธีจะเรียกขวัญของเจ้าของกลับมา แล้วจึงใช้ไม้ไผ่ที่เตรียมไว้พยายาม ดึงไข่ไก่ให้ติดขึ้นมาเพื่อเป็นการเสี่ยงทายว่าขวัญกลับมาแล้วหรือไม่ ถ้าไข่ตั้งตรง หมายถึง ขวัญได้กลับมาแล้ว แต่ถ้าไข่ไม่ตั้งตรง จะต้องเรียกขวัญและเสี่ยงทายใหม่ เรื่อย ๆ จนกว่าไข่จะตั้งตรง

3) พิธีกรรมกอธอโถ่

พิธีกรรมกอธอโถ่ เป็นพิธีที่ทำหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ก่อนจะนำ ข้าวขึ้นไปเก็บบนยุ้งข้าว โดยพิธีกรรมนี้จัดขึ้นในเดือน 11 ประมาณวันที่ 15 - 16 พฤศจิกายน ของทุก ๆ ปี อุปกรณ์และขั้นตอนในการทำพิธีกรรมมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1. แบบทำพิธีกรรมด้านนอกยุ้งข้าว

ผู้ประกอบพิธีกรรมต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น อุปกรณ์ในการประกอบพิธี ได้แก่ ข้าวหลามที่แบ่งเป็นชิ้น ๆ ไข่ไก่ต้มสุก 1 ฟอง มันและเผือกอย่างละ 1 หัว ดอกแดงและดอกเหลือง (ดอกหงอนไก่) เหล้าต้ม แกง (ต้มไก่ใส่ผักและเผือกโดย ต้มจืดไม่ใส่เครื่องปรุง) สะตวงที่ทำจากไม้ไผ่สาน ในสะตวงประกอบด้วย พริก เกลือ ยาสูบ หมาก พลู และไก่ตัวผู้ 1 ตัว

ขั้นตอนในการประกอบพิธี นำอุปกรณ์ทั้งหมดยกเว้นไก่ตัวผู้และสะตวงวางไว้ ด้านในยุ้งข้าว แล้วนำสะตวงมาปักไว้ที่ด้านนอกยุ้งข้าว จากนั้นนำไก่ตัวผู้มาเชือด คอให้เลือดหยดลงบนสะตวง ระหว่างที่เชือดคอไก่นั้น ผู้ประกอบพิธีกรรมจะพูด กล่าวว่า ขอให้ปีหน้าทำนาปลูกข้าวไม่มีอุปสรรคใด ๆ ขอให้ข้าวงอกงาม ขอให้ ฝนตกต้องตามฤดูกาล ดินไม่แห้งลมไม่พัดแรงจนรวงข้าวแตก เมื่อเชือดคอไก่จน เลือดไหลออกหมดแล้ว จะทำการชำแหละส่วนอวัยวะของไก่เป็น ชิ้นเล็ก ๆ อย่าง ละ 1 ชิ้น ได้แก่ ตับ ไต ไส้ ก้น หัวใจ เล็บ และหงอนไก่ เพื่อนำมาใส่ในสะตวง จากนั้นจะนำไก่ไปทำอาหารเพื่อนำมารับประทาน

2. แบบทำพิธีกรรมด้านในยุ้งข้าว

ผู้ประกอบพิธีกรรมจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ อุปกรณ์ในการประกอบพิธี ได้แก่ ข้าวหลามที่แบ่งเป็นชิ้น ๆ ไข่ไก่ต้มสุก 1 ฟอง มันและเผือกอย่างละ 1 หัว ดอกแดงและดอกเหลือง (ดอกหงอนไก่) เหล้าต้ม แกง (ต้มไก่ใส่ผักและเผือกโดย ต้มจืด ๆ ไม่ใส่เครื่องปรุง) สะตวงที่ทำจากกากหน่อไม้ ในสะตวงประกอบด้วย พริก เกลือ ยาสูบ หมาก พลู และไก่ตัวเมีย 1 ตัว

ขั้นตอนในการประกอบพิธี จะนำอุปกรณ์ทั้งหมด รวมทั้งสะตวงและไก่ตัวเมีย วางกลางยุ้งข้าว จากนั้น นำไก่ตัวเมียเชือดคอให้เลือดไหลหยดลงบนสะตวงกาก หน่อไม้ ระหว่างที่เชือดคอไก่จะกล่าวเช่นเดียวกับการกล่าวในแบบพิธีกรรมด้านนอกยุ้งข้าว หลังจากนั้นแบ่งอวัยวะของไก่เป็นชิ้นเล็ก ๆ อย่างละ 1 ชิ้น ได้แก่ ตับ ไต ไส้ ก้น หัวใจ เล็บ และหงอนไก่ เพื่อนำมาใส่ในสะตวงกากหน่อไม้ แล้วจึง นำไก่ไปทำอาหารเพื่อนำมารับประทาน

ภาษา นิทาน การละเล่น

1) ภาษาปกาเกอะญอ

จากการสัมภาษณ์ลุงชัย นายชนะชัย เสริมธรรมชาติ (สัมภาษณ์, 2563) ชาวบ้านบ้านแม่ขะปูเปียง กล่าวว่าภาษาปกาเกอะญอมีรากฐานมาจากภาษาพม่าที่ผ่านการดัดแปลงจนกลายมาเป็นภาษาปกาเกอะญอในปัจจุบัน โดยภาษาปกาเกอะญอมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ภาษาเขียนจะมีลักษณะของอักษรคล้ายกับอักษรพม่า

อักษรปกาเกอะญอมีทั้งหมด 25 ตัว มีวรรณยุกต์คล้ายกับอักษรล้านาหรือตัวเมือง โดยส่วนมากผู้เฒ่าผู้แก่จะพูดภาษาไทยกลางกันไม่ได้ ซึ่งจากที่คณะผู้ศึกษาได้ลงพื้นที่ศึกษา ลุงชัยกล่าวว่าหลังจากนี้อีก 100 ปีข้างหน้า ภาษาปกาเกอะญออาจจะสูญหายไป เนื่องจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยจะพูดภาษาปกาเกอะญอในชีวิตประจำวันกันแล้ว อันเป็นผลมาจากการที่เยาวชนปกาเกอะญอไปเรียนต่อโรงเรียนในเมืองซึ่งใช้ภาษาไทยกลางเป็นหลัก แต่ถึงแม้ภาษาพูดจะสูญหายไปลุงชัยคิดว่าภาษาเขียนอาจจะยังมีการสืบทอดต่อไป สุดท้ายลุงชัยกล่าวว่าตนเองรับสอนภาษาปกาเกอะญอให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยคุณลุงจะเขียนตัวอักษรปกาเกอะญอให้ แล้วให้ผู้เรียนนำกลับไปฝึกเขียนเองอีกที

ตัวอย่างคำปกาเกอะญอและคำภาษาไทย เช่น ตาบือ-ขอบคุณค่ะ แลเลาะ-ไปไหน ออมเมลาเลาะ-กินข้าว มาดิจ่าเลาะ-ทำอะไร นมีดิเลาะ-ชื่อ เนาะนี่ดิเลาะ-อายุ หว้า-วัด

2) นิทานพื้นบ้าน

นิทานพื้นบ้านของชาวบ้านบ้านแม่ขะปูเปียงมีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่อง ซึ่งทั้งสองเรื่องล้วนแล้วแต่มีเนื้อหาเป็นนิทานตลกขบขันสอดแทรกคติให้กับผู้ฟังทั้งสิ้น นิทานทั้งสองเรื่องประกอบด้วย เรื่องคนขี้เกียจ และเรื่องลูกกำพร้า โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่างนิทานเรื่อง คนขี้เกียจ

เรื่องมีอยู่ว่า “คนขี้เกียจอาศัยอยู่กับพ่อและย่า อยู่มาวันหนึ่งพ่อบอกให้ไปช่วยย่าถางหญ้า แต่ด้วยความที่เป็นคนขี้เกียจจึงนำเสียมที่ใช้ถางหญ้ามานอนหลับแทน พอเวลาผ่านไปสักพักมีลมแรงพัดมาจนทำให้คนขี้เกียจล้มลง คนขี้เกียจจึงเริ่มถามหาเจ้าลมจากคนในหมู่บ้าน แต่คนในหมู่บ้านบอกกับคนขี้เกียจว่าไม่มีคนชื่อนี้ จึงบอกให้คนขี้เกียจไปหาอีกหมู่บ้านหนึ่ง พอไปถามที่หมู่บ้านนั้นก็บอกว่าไม่มี คนขี้เกียจจึงไปถามที่หมู่บ้านถัดไปทำให้เจอกับกษัตริย์หรือผู้นำหมู่บ้าน คนขี้เกียจจึงเอ่ยชื่อถามหาคนชื่อเจ้าลม ผู้นำหมู่บ้านนั้นจึงบอกกับคนขี้เกียจว่าตนเองชื่อเจ้าลมแล้วกล่าวต่อไปว่า พอรู้ว่าเราชื่อเจ้าลมแล้วเจ้าจะทำอย่างไรกับเรา คนขี้เกียจจึงกล่าวตอบกลับไปว่าข้าจะฆ่าเจ้าเสีย ผู้นำจึงบอกว่าอย่าฆ่าเราเลยเรามีของมาเพื่อแลกเปลี่ยนกับชีวิตของเรา คือ หม้อวิเศษ หม้อนี้สามารถเสกข้าวและกับข้าวได้ แค่เจ้าอธิษฐานว่าต้องการกินอะไรในหม้อนี้ ก็จะมีของออกมาจามที่เจ้าอธิษฐาน คนขี้เกียจได้ฟังดังนั้นจึงไม่ฆ่าผู้นำ แล้วได้นำหม้อนี้กลับหมู่บ้านของตน พอมาถึงหมู่บ้านคนในหมู่บ้านก็ถามว่าเจ้าได้อะไรกลับมาบ้าง คนขี้เกียจจึงบอกกับคนในหมู่บ้านว่าได้หม้อวิเศษกลับมา หม้อนี้สามารถเสกข้าวเสกกับได้ พอคนในหมู่บ้านได้ฟังดังนั้นก็จัดงานเลี้ยงให้คนขี้เกียจที่ได้หม้อวิเศษกลับมา แต่ยังมีคนที่อยากได้หม้อวิเศษของตนขี้เกียจ จึงได้ทำการมอมเหล้าคนขี้เกียจจนเมาและหลับไป พอคนขี้เกียจหลับไปแล้วคนผู้นั้นจึงนำหม้อของตนเองมาแลกเปลี่ยนกับหม้อวิเศษที่คนขี้เกียจนำกลับมา พอคนขี้เกียจตื่นขึ้นมาก็นำหม้อที่ได้มานั้นกลับบ้านไปหาพ่อและบอกพ่อว่าตนไปได้หม้อวิเศษกลับมา พ่อจึงบอกให้คนขี้เกียจลองอธิษฐานกับหม้อดูว่าจะเป็นจริงหรือไม่ แต่พอคนขี้เกียจลองทำตามที่พ่อบอกหม้อกลับไม่สามารถที่จะเสกอาหารได้ตามคำอธิษฐาน ถึงแม้จะลองดูถึง 3 ครั้งก็ตาม โดยหารู้ไม่ว่าเป็นหม้อธรรมดาที่ถูกสับเปลี่ยน จึงทำให้โดนพ่อตีอย่างหนัก

คนขี้เกียจจึงกลับไปหาผู้นำที่ให้หม้อวิเศษแก่ตน แล้วกล่าวว่าทำไมหม้อถึงไม่สามารถเสกได้ตามที่เจ้าบอกเล่า ผู้นำจึงถามว่าเจ้าได้ไปแวะที่ไหนก่อนถึงบ้านหรือไม่ คนขี้เกียจตอบกลับว่าแวะกินเหล้ากับคนในหมู่บ้าน ผู้นำจึงบอกว่าต้องมีคนมาเปลี่ยนหม้อของเจ้าไปเป็นแน่ คนขี้เกียจได้ฟังดังนั้นจึงขอของที่สามารถจับโจรที่ขโมยหม้อวิเศษได้ ผู้นำจึงมอบเชือกกับไม้ให้คนขี้เกียจ แล้วบอกว่าสามารถสั่งให้มันทำอะไรก็ได้ เช่น สั่งให้มันมัดหรือตีใครก็ได้ คนขี้เกียจจึงกลับมาที่หมู่บ้าน และเป็นคนเดิมที่เป็นคนถามว่าเจ้าได้อะไรกลับมา คนขี้เกียจจึงบอกว่าได้เชือกกับไม้มา พอคนขี้เกียจตอบกลับไปก็รู้แน่ว่าคนนี้ขโมยหม้อของเขาไป จึงสั่งให้ไม้กับเชือกไปมัดคนคนนั้นไว้ และให้ไม้ตีคนนั้นจนทนไม่ไหวจึงบอกว่าตนเองเป็นคนเอาไปและจะนำหม้อมาคืนให้ดังเดิม พอคนขี้เกียจได้หม้อคืนมาแล้วก็กลับมาที่บ้าน แล้วบอกพ่อกับย่าว่าได้หม้อวิเศษและมีเชือกกับไม่เพิ่มมาอีก คนขี้เกียจไม่ไปทำงาน และสามารถไปเที่ยวเล่นโดยที่กลับมาบ้านก็ได้กินข้าวที่ตนเองอยากกิน และยังมีเงินใช้จากไม้วิเศษที่ได้กลับมาอีกด้วย

อ้างอิง จอห์นนี่ เจาะโด (สัมภาษณ์, 2563)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เกร็ดความรู้เรื่องสถาปัตยกรรม

ลักษณะสถาปัตยกรรม ในการสร้างบ้านนั้น มีทั้งบ้านที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง บ้านที่สร้างด้วยไม้ผสมปูน และบ้านปูนทั้งหลัง ไม้ที่ใช้ในการสร้างบ้านส่วนใหญ่ เป็นไม้เกี๊ยะ ซึ่งเป็นไม้สนชนิดหนึ่ง ที่มีน้ำมันยางไม้ไหลออกมาตามธรรมชาติ นิยม ใช้ในการก่อไฟ ใช้ไล่แมลงตามธรรมชาติ จากการสำรวจพบว่า บ้านเรือนส่วนใหญ่ ที่เป็นบ้านไม้นั้นจะเป็นบ้านในรูปแบบดั้งเดิม ปัจจุบันเริ่มมีการสร้างบ้านด้วยปูน เพื่อความแข็งแรงที่มากขึ้นของตัวบ้าน

ในสมัยก่อนชาวปกาเกอะญอจะสร้างบ้านโดยใช้ไม้ไผ่และตองตึง (หญ้าคา) ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในป่า โดยสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ ที่มีการยกใต้ถุนบ้านให้สูง ใต้ถุนใช้้สำหรับเลี้ยงหมู ไก่ วัว แต่ละบ้านจะมีชานเรือนไว้สำหรับไว้รับประทาน อาหาร และล้อมวงสนทนากับรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน ยุ้งฉางข้าวจะมีอยู่ในทุก ๆ บ้าน โดยมักจะสร้างอยู่บริเวณข้าง ๆ บ้าน

วัสดุที่ใช้ทำจะใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง ไม้แดง หรือ ไม้สัก การถ่ายทอด จะใช้หลักในการดูและจดจำ ผู้ชายวัยหนุ่มในหมู่บ้าน สามารถสร้างบ้านได้ทุกคน ในอดีตจะใช้กบเหลาไม้ในการเตรียมไม้สร้างบ้าน บ้านเก่าทุกบ้านจะมีช่องเล็ก ๆ ในบ้านเพื่อใช้สำหรับทิ้งขยะ การสร้างบ้านจะใช้เสาภายในบ้าน 8 ต้น และตั้งเสา บริเวณเตาผิงอีกจำนวน 4 ต้น ไม่มีการแบ่งห้อง

ชาวบ้านจะนำต๋าแหลวมาแขวนบริเวณหน้าบ้าน โดยจะเปลี่ยนต๋าแหลวตาม ประเพณีการสืบชะตา ภายในห้อง 1 ห้องของบ้านนั้นเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ สามารถใช้งานได้หลายอย่าง เช่น ทำอาหาร ให้ความอบอุ่น ทำพิธีกรรมต่าง ๆ และยังเป็นที่นอน อีกด้วย

ส่วนการสร้างบ้านในสมัยใหม่นิยมสร้างจากไม้เกี๊ยะ รวมทั้งไม้สำเร็จรูป ยก พื้นใต้ถุนสูง มีการจัดแบ่งห้องประมาณ 2 - 3 ห้อง มีพื้นที่ห้องครัวแยกออก จากที่นอน และสร้างห้องน้ำอยู่นอกตัวบ้าน ใต้ถุนจะใช้สำหรับเลี้ยงหมูและไก่ การสร้างบ้านแบบใหม่นั้น มีการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ มีห้องโถงกว้างใช้สำหรับต้อนรับแขก และเป็นที่พักสำหรับให้แขกนอนเมื่อค้างคืน และใช้ในการพบปะสังสรรค์ต่าง ๆ บ้านใหม่อาจสร้างแยกออกจากกัน หรือติดกัน กับบ้านหลังเดิม นอกจากนี้ ยังมีการสร้างบ้านหลังใหม่ด้วยปูนอีกด้วย

เกร็ดความรู้เรื่องศิลปะการต่อสู้ฟ้อนดาบ

ศิลปะการต่อสู้เป็นศาสตร์อย่างหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในอดีตการต่อสู้รบศึกสงครามเป็นเรื่องธรรมดาของกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุการณ์ทางสังคมและปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดวิชาการป้องกันตัวทั้งมือเปล่า และการใช้อาวุธ ตามประวัติศาสตร์ชุมชนของหมู่บ้านปกาเกอะญอ โดยส่วนมากอพยพมาจากพม่าในยุคอดีตตั้งแต่สมัยที่มีการใช้อาวุธ ฉะนั้น วิชาจำพวกนี้อาจติดตัวมาก็เป็นเหตุผลที่มีความเป็นไปได้ หรือการได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมาผสมผสานอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการฟ้อนดาบของกลุ่ม ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอขึ้นมา

การฟ้อนดาบของชาวปกากะญอเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มุ่งเน้นเพื่อการป้องกันตัวโดยไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่นโดยไม่จำเป็น ผู้ร่ำเรียนศิลปะด้านนี้จะถูกปลูกฝังถึงข้อห้ามหลายประการทำให้เป็นศาสตร์ที่ร่ำเรียนและสืบทอดได้ยาก โดยปัจจุบันบ้านเมืองหมดยุคสมัยของการใช้อาวุธเข่นฆ่าแบบโบราณทำให้ศิลปะการต่อสู้ของ ปกาเกอะญอกลายเป็นศิลปะการแสดงแต่ยังคงแฝงวิชาการป้องกันตัวไว้อยู่

ครูสอนฟ้อนดาบในบ้านแม่ขะปูเปียง ณ ปัจจุบันนั้นเหลือเพียงคนเดียว คือลุงชัย ซึ่งลุงชัยได้ไปเรียนการฟ้อนดาบมาจากเชียงดาวที่เป็นคนกระเหรี่ยงเหมือนกันเข้ามาสอนที่บ้านแม่ขะปู ในสมัยที่เรียนนั้นมีคนเรียนเพียงแค่ 2 คน ลุงชัยคือหนึ่งในนั้นโดยได้เรียนบนดอยที่จะทำพื้นที่กั้นไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามา แต่สามารถเข้าไปดูการเรียนการสอนได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้ามาในเขตบริเวณที่เรียนฟ้อนดาบที่มีการกั้นเขตเอาไว้ ปัจจุบันลุงชัยยังได้เป็นครูถ่ายทอดศิลปะการฟ้อนดาบให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนแม่ขะปูและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้ศิลปะการฟ้อนดาบยังได้มีการถ่ายทอดสืบต่อกันต่อไป

การเรียนฟ้อนดาบ

การเรียนฟ้อนดาบของชาวปกาเกอะญอ ส่วนมากจะเรียนหลังจากปีใหม่ โดยจะเรียนพร้อมกับคาถาอาคมด้วย ผู้ที่จะร่ำเรียนต้องมีอายุ 19 - 20 ปีขึ้นไป มีขั้นตอนพิธีกรรมในการเรียน ดังนี้

ก่อนร่ำเรียนจะมีการทำพิธีเลี้ยงผีครูคือ การนำเหล้า 1 ไห ไก่ 1 คู่ ซึ่งต้องเลี้ยงทุกๆ ปี ปีละหนึ่งครั้ง โดยการเรียนจะเรียนเพียง 7 วัน ในการเรียน 3 วันแรกจะใช้ไม้ไผ่ในการเรียน เหลาให้เป็นด้ามดาบ เพื่อป้องกันการบาดคอ บาดมือ บาดแขน และ 3 วันสุดท้ายจะเป็นการเรียนกับดาบของจริง ซึ่งเรียกบริเวณที่เรียนนี้ว่า “ป่า เจิง” ซึ่งมีข้อห้าม คือ ห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าใกล้การฟ้อนดาบโดยเด็ดขาด ในการเรียนจะเริ่มต้นเรียนฟ้อนแล้วจึงเรียนการใช้ต่อสู้จริงตามลำดับ เมื่อเรียนครบ 7 วัน ครูผู้สอนจะใช้ไม้ฟาดผู้เรียนแล้วให้ผู้เรียน หลบหลีก ปัด ตอบโต้กลับให้ได้ ซึ่งเป็นการทดสอบถ้าใครไม่ผ่านจะถือว่าเรียนไม่จบจะต้องเริ่มเรียนใหม่

ปัจจุบันยังมีการเรียนการสอนที่ฟ้อนดาบในโรงเรียนบ้านแม่ขะปูโดยลุงชั้ย มีแม่ท่าทั้งหมด 4 ท่า ตบบะผาบ 7 ครั้ง แต่ละท่ามีชื่อเรียกคือ 1.ฟ้อนสวยงาม 2.ฟ้อนท่าป้องกันตัว 3. ฟ้อนเข้าหาคนดู ปัจจุบันเน้นการสอนท่าฟ้อนแบบฟ้อนสวยงาม ซึ่งการเรียนฟ้อนดาบที่โรงเรียนจะเป็นการเรียนฟ้อนดาบแบบฟ้อนสวยงามไม่ได้สอนแบบมีคาถาอาคม ผู้หญิงผู้ชายเรียนได้ทั้งหมด หากการฟ้อนดาบแบบมีวิชาคาถาอาคมนั้นจะต้องเข้าป่าขึ้นดอยไปเรียน ซึ่งการเรียนแบบนี้จะสอนเพียงแค่ผู้ชายเท่านั้นห้ามให้ผู้หญิงเรียน เพราะมีความเชื่อที่ว่าจะทำให้ผู้หญิงคนที่เรียนนั้นไม่สามารถมีลูกได้

ลักษณะการฟ้อนดาบของปกาเกอะญอ

การฟ้อนดาบของชาวปกาเกอะญอ มีลักษณะคล้ายคลึงกับการฟ้อนดาบของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในดินแดนล้านนา สันนิษฐานว่าอาจจะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันโดยข้อสันนิษฐานนี้มีหลักรองรับคือ

1. คำไหว้ครูฟ้อนดาบของปกาเกอะญอมีภาษาล้านนาของคนเมืองปะปนอยู่

2. ท่าทางหลักมีความคล้ายคลึงกับของคนเมือง และคนไทใหญ่ แต่แตกต่างกันที่จริตลีลาของการฟ้อน ส่วนการเรียกชื่อท่านั้นคนเมืองและคนไทใหญ่ มีชื่อเรียกอย่างชัดเจนแต่ของชาวปกาเกอะญอจะเรียกชื่อท่าอย่างง่ายตามลักษณะท่าทาง เช่น ท่ายกขา ท่าเท้า ท่ามือ เป็นต้น

3. มีท่าทางการตบไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับท่าทาง “การตบบะผาบ” ของคนเมือง

การฟ้อนดาบของปกาเกอะญอ เริ่มต้นจากการฟ้อนมือเปล่าก่อนแล้วจึงจับดาบขึ้นฟ้อน ระยะเวลาในการแสดงจะขึ้นอยู่กับพละกำลังของผู้ฟ้อน การฟ้อนดาบโดยส่วนใหญ่จะปรากฏการใช้ดาบ 1 - 2 เล่ม สำหรับการใช้ดาบ 4 เล่มนั้นมีปรากฏอยู่บ้าง แต่ต้องอาศัยความชำนาญอย่างมากของผู้ฟ้อนในการใช้ดาบ

ดนตรีประกอบและโอกาสในการแสดง

ดนตรีที่ใช้ประกอบในการแสดงประกอบด้วย กลอง ฆ้อง และฉาบ ซึ่งใช้ตีเป็นจังหวะในการฟ้อน ส่วนโอกาสในการแสดงนั้นจะพบได้ทั่วไปตามงานสำคัญทางวัฒนธรรม เทศกาล และประเพณี เช่น งานปีใหม่ งานแต่งงาน และงานรื่นเริงต่าง ๆ เป็นต้น

เกร็ดความรู้เรื่องผ้าทอ

การทอผ้าของชาวบ้านแม่ขะปูเปียงมีการสืบทอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจะต้องทอผ้าเป็น ซึ่งจะต้องทอให้คนในครอบครัวและตนเองสวมใส่เพื่อเป็นการสืบทอดวิถีชีวิตของบรรพบุรุษ ไม่ให้ผ้าทอหรือวัฒนธรรมการทอผ้าขงหมู่บ้านเลือนหายไป ผ้าทอของชาวปกาเกอะญอจะทอด้วยมือทุกชิ้นโดยใช้เวลาว่างหลังจากการไปรับจ้างเสร็จแล้วจะมานั่งทอผ้า ซึ่งมีสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือการทอเสื้อหญิงโสดจะเป็นสีขาว ส่วนหญิงที่แต่งงานแล้วจะเป็นสีดำ เสื้อผู้ชายจะเป็นสีแดง

สำหรับพิธีการที่สำคัญจะแต่งกายเต็มรูปแบบของกลุ่มชาติพันธุ์ ลวดลายของผ้าทอจะมีลวดลายธรรมดา ลายแมงมุม ลายดอก ลาวดาว และตกแต่งลายด้วยเมล็ดพืช เสื้อของผู้หญิงจะใช้เวลาทอ 4 วัน ของผู้ชายจะใช้เวลาทอ 3 วัน ผ้าซิ่นจะทอลวดลายธรรมดา ลายแมงมุม ใช้เวลาในการทอ 4 วัน ส่วนผ้าโพกหัว ผ้าพันคอ กระเป๋าจะใช้เวลาทอ 2 วัน เสื้อผ้าทอบางผืนอาจมีการนำไปจำหน่ายในราคาตัวละ 400 บาท ผ้าทอบางชนิดก็จะส่งไปในวัง การทอผ้าครั้งแรกอาจจะทอยากแต่ต้องมีความอดทน พยายามในการเริ่มฝึกหัดทอผ้า วิธีการทำ ผู้ให้ข้อมูลกล่าวว่า ถนัดวิธีการปฏิบัติ มากกว่าเชิงทฤษฎี อาศัยความชำนาญมากกว่าที่จะบอกเป็นวิธีขั้นตอนการทำ ถ้าใครสนใจการทอผ้า ก็ยินดีที่จะสอนการทอผ้าให้ จะสอนในลวดลายที่ธรรมดาให้ก่อน ถ้าสนใจเพิ่มเติมอีกก็จะสอนในลวดลายที่ยากกว่านี้ให้ ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ที่ต้องการจะทอให้เป็น ว่ามีความตั้งใจที่จะทอมากน้อยแค่ไหน

เกร็ดความรู้เรื่องเหล้าต้ม

“เหล้าต้ม” ส่วนประกอบสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้ในพิธีกรรมของชาวปกาเกอะญอ ด้วยการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีวิธีการปฏิบัติซ้ำๆจนทำได้ บางคนได้รับการถ่ายทอดตั้งแต่อายุยังน้อย บ้างก็อายุ 25 ปี จึงได้เริ่มทำเหล้าต้ม ซึ่งนิยมทำกันทุกบ้านในพิธีกรรมสำคัญต่างๆของหมู่บ้าน อาทิ พิธีมัดมือ (สุดาพร เจาะโด), พิธีแต่งงาน เป็นต้น ทั้งนี้การต้มเหล้าของชาวบ้านแม่ขะปูเปียงจะไม่มีการต้มเพื่อจำหน่ายแต่จะต้มเพื่อดื่มกินกันเองและใช้ในพิธีดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น ทั้งยังในเรื่องของวิถีความเชื่อในการดื่มเหล้าของชาวบ้านแม่ขะปูเปียงที่มีความน่าสนใจคือการที่ดื่มตามลำดับจากผู้อาวุโส (พ่อบ้าน) ก่อนจะส่งให้ผู้ที่อาวุโสน้อยลงมาตามลำดับโดยการดื่มเหล้าจะใช้แก้วหรือจอกเหล้าเพียงแค่ 1 ใบแล้ววนกันดื่มในวงเหล้า

วิธีการต้มเหล้าแบบชาวแม่ขะปูเปียง

ขั้นแรก นำข้าวดอยไปตำแล้วผสมกับลูกแป้ง จากนั้นนำไปหมักไว้ 5 คืน เสร็จแล้วนำไปต้ม ซึ่งขั้นตอนการต้มจะต้มโดยใช้หม้อดินเผา ใช้เวลาในการต้มประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที จากนั้นตั้งกระทะบนหม้อดินเติมน้ำลงไป เมื่อน้ำเดือดให้ทำการตักออกแล้วเติมน้ำเย็นลงไป รอจนเหล้าระเหยออกจากสายยางจนหมดหม้อจึงจำเสร็จสิ้นการต้มเหล้า ในระหว่างการต้มเหล้าจะต้องคอยชิมอยู่ตลอดว่ารสชาติพอดีหรือยัง หากไม่พอดีหรือมีรสชาติเปรี้ยวจะมีวิธีการแก้ไม่ให้เหล้าเปรี้ยว คือ ใส่ปูนแดงกับมะเขือพวง แต่หากว่าเหล้ายังมีรสชาติเปรี้ยวไม่สามารถแก้ไขได้ เหล้าหม้อนั้นจะต้องทิ้งทันที

การต้มเหล้าเป็นการแสดงวิถีชีวิตรูปแบบหนึ่งของชาวปกาเกอะญอเป็นการดำรงชีวิตที่มีการสืบทอดภูมปัญญาของบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น ในบางครั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการต้มจากการใช้หม้อดินเผาเป็นหม้อสแตนเลส แต่ในปัจจุบันชาวบ้านยังคงใช้หม้อดินเผาในการต้มเหล้าเพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาเก่าแก่ให้ลูกหลานได้เห็นและเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษเอาไว้

เกร็ดความรู้เรื่องสตรอเบอรี่

สตอเบอรี่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของหมู่บ้านแม่ขะปูเปียงเนื่องจากสตอเบอรี่เป็นผลไม้ที่กำลังเป็นที่นิยม โดยเริ่มทำการเพาะปลูกมาอย่างยาวนาน ในช่วงแรกนั้นชาวบ้านในชุมชนมีอาชีพปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์, เลี้ยงวัว แต่ต่อมาได้มีศูนย์สงเคราะห์ได้นำเสนอให้ลองเปลี่ยนมาเพาะปลูกสตอเบอรี่ขึ้นมา

จากนั้นจึงเริ่มทำการเพาะปลูกและทำกำไรได้มากมายจึงเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่บ้านโดยมีการจัดจำหน่ายต้นกล้าที่ตำบลบ่อแก้ว แล้วจึงนำมาเพาะปลูกต่อเอง ในการเพาะปลูกนั้นจะเริ่มทำการเพาะต้นกล้าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปและเริ่มทำการนำต้นกล้าลงดิน ทิ้งพักไว้เพื่อให้ต้นกล้าเติบโตเต็มที่ในช่วงระยะเวลา 2 เดือน และจะเริ่มทำการเก็บเกี่ยวสตอเบอรี่ได้ในช่วงพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวสตอเบอรี่ โดยในเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถเก็บเกี่ยวสตอเบอรี่ได้มากที่สุด มีการเก็บเกี่ยวทุกวันในขณะที่เดือนอื่นๆ สามารถทำการเก็บเกี่ยวได้เพียงวันเว้นวัน

ในการเก็บเกี่ยวสตอเบอรี่นั้นจะมีการเก็บเกี่ยวตั้งแต่ช่วงเวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อที่ของไร่นั้นจะมีการเก็บเกี่ยวบางทีจะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่ช่วงเวลา 19.00 น. ถึง 22.00 น. แต่ในขณะบางที่เริ่มเก็บเกี่ยวตอน 3.00 น. ถึง 4.00 น. จะไม่เก็บในขณะที่มีอากาศร้อนเพราะจะทำให้ผลผลิตไม่สวยงาม ในส่วนของการส่งออกนั้นจะส่งออกเป็นสตอเบอรี่สดมีพ่อค้าคนกลางในตำบลบ่อแก้ว โดยหากเป็นสตอเบอรี่ผลสีขาวจะถูกส่งออกไปที่กรุงเทพและหากเป็นผลสีแดงจะถูกส่งออกไปในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่

ในส่วนที่คัดเกรดว่ารูปร่างไม่สวยงามนั้นจะถูกคัดไปยังโรงงานเพื่อแปรรูปเป็นแยมผลไม้ต่อไป นอกจากนี้ยังนำไปผลิตเป็นเหล้าหรือไวน์ที่ยิ่งหมักนานยิ่งมีราคาดี ทั้งนี้การมีสตอเบอรี่เข้ามาในชุมชนก็ทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านหลายคนเปลี่ยนแปลงไป เพื่อก้าวให้ทันโลกสมัยใหม่ ชาวบ้านบางส่วนยังคงทำทั้งการทำนาปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์เหมือนเดิม แต่ถ้าว่าสตอเบอรี่ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชุมชนแม่ขะปูเปียงไปแล้ว

เกร็ดความรู้เรื่องข้าว

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่าในทุกพื้นที่แทบทุกภาคของประเทศไทยที่ทำการปลูกข้าว เพราะข้าวมีความสำคัญในการดำรงชีวิต ซึ่งนอกจากข้าวจะเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตแล้วยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำมาเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนเพื่อเสริมรายได้ให้กับครอบครัว

ชาวปกาเกอะญอส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านแม่ขะปูเปียงมีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลักโดยนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจในแต่ฤดูกาล จากการที่ได้ลงพื้นที่สำรวจที่บ้านแม่ขะปูเปียงพบว่า ในช่วงฤดูฝนชาวบ้านนิยมปลูกข้าวไว้อุปโภค บริโภค มากกว่าการนำมาขาย แต่ถ้าหากว่าขัดสนจริงๆ ก็จะแบ่งขายเพื่อที่จะได้นำเงินมาจุนเจือครอบครัว

ในการปลูกข้าวชาวบ้านนิยมปลูกในเดือน มิถุนายน – ตุลาคม นิยมปลูกข้าวไร่ ในเดือน 9 เหนือ (มิถุนายน) และปลูกข้าวนาปรังในเดือน 10เหนือ (กรกฎาคม) จนถึงปลายเดือนตุลาคม ต้นเดือนพฤศจิกายน จะไม่นิยมปลูกข้าวเหนียวส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเจ้า ในอดีตจะใช้ควายในการไถนาแต่ปัจจุบันใช้รถไถในการไถนาแทนเพื่อเป็นการประหยัดเวลาและรวดเร็ว

นอกจากข้าวจะเป็นอาหารหลักของคนและสัตว์แล้ว ชาวบ้านแม่ขะปูเปียงยังได้นำข้าวมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมในการเลี้ยงผี บูชาพระแม่โพสพ เป็นต้น ข้าวยังสามารถนำมาแปรรูปมาเป็นอาหารว่าง ขนม เครื่องดื่มของมึนเมาได้อีกด้วย เช่น ข้าวจี่ ข้าวแต๋น น้ำมันรำข้าว เหล้าน้ำขาว และข้าวตอก เป็นต้น ซึ่งเหล้าน้ำขาว ชาวบ้านแม่ขะปูเปียงส่วนใหญ่จะนิยมทำกันทุกบ้าน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหรือมีพิธีกรรมในหมู่บ้าน

พันธุ์ข้าวที่ประชาชนนิยมปลูก ได้แก่ บือมึ่ง บือศุ่วา (ข้าวไร่) ปิอิเช่(ข้าวเจ้า) ปิอิ (ข้าวเหนียว) บือเกาะก๊ะ (ข้าวนา) และบือชอมี จะเป็นพันธุ์ข้าวดีและอร่อย (ข้าวนา) ชาวบ้านแม่ขะปูเปียงส่วนใหญ่จะไม่ค่อยนิยมปลูกข้าวพันธุ์ ปิอิเช่ มากนัก เพราะเป็นข้าวที่ไม่ค่อยขึ้นหม้อแต่ชาวบ้านจะนิยมนำมาต้มเหล้าเป็นส่วนใหญ่

เกร็ดความรู้เรื่องอาหารและยารักษาโรค

ชุมชนบ้านแม่ขะปูเปียงเป็นชุมชนในพื้นที่ค่อนข้างห่างไกลจากตัวเมือง อาหารและยารักษาโรค จึงมีความขาดแคลน อาหารส่วนใหญ่จะหาได้ตามฤดูกาล ส่วนยารักษาโรคจะเน้นไปในด้านสมุนไพร และการเป่าด้วยมนต์คาถาจากหมอเป่าเป็นส่วนมาก

อาหารส่วนใหญ่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในทุกฤดูกาล และมีเฉพาะช่วงฤดูกาล เช่นฤดูร้อน ชาวบ้านจะนิยมกินแกงเย็น ซึ่งมีวัตถุดิบที่ใช้จะเป็น ผักชี, ต้นกระเทียม, ขิง, ปลาแห้ง ปลาทู ฤดูฝนกินอาหารตามวัตถุดิบที่หาได้ และฤดูหนาวจะนิยมกิน อีฮวก เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้หลากหลายประเภท เช่นแอ๊บ หรือแกง อาหารที่สามารถกินได้ในทุกฤดูกาลของชาวบ้าน คือ ข้าวเบอะ ซึ่งข้าวเบอะเป็นอาหารที่ชาวปกาเกอะญอในทุกพื้นที่นิยมกินกัน เป็นอาหารที่ทำได้ง่าย คือการนำข้าวมาตำ นำไปต้มใส่พริกกับเกลือ เมื่อข้าวสุกนำไปกินกับไข่ต้ม นอกจากนี้ข้าวเบอะยังเป็นอาหารเฉพาะในพิธีกรรม เช่น วันขึ้นปีใหม่ และการฆ่าหมูเพื่อเอามาประกอบอาหารในพิธีแต่งงาน เป็นต้น

การใช้สมุนไพรเป็นยารักษาโรคของชาวบ้านแม่ขะปูเปียง เช่น การใช้เปลือกตะเคียนแก้อาการปวดฟัน ใบฝรั่งแก้อาการปวดท้อง ใบพลับพลึงแก้อาการฟกซ้ำปวดบวม ใบสาบเสือใช้กับแผลสด เป็นต้น ส่วนการใช้มนต์คาถาโดยหมอเป่าชาวบ้านจะใช้กับมะเร็งผิวหนัง เช่นมะเร็งไข่ปลา อาการบาดเจ็บภายใน กระดูกหัก แขนหัก ซึ่งอาการเจ็บป่วยเหล่านี้จะใช้การรักษาที่เหมือนกัน คือ เป่ามนต์คาถาที่แผลโดยตรง พร้อมกับเป่ามนต์ใส่น้ำให้ผู้ป่วยนำไปดื่มที่บ้าน

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าส่วนประกอบในอาหารของชาวบ้านโดยส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่หาได้ทั่วไปในหมู่บ้านทั้งพืชสมุนไพรต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ ทั้งสามารถรักษาโรค ช่วยบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง รวมไปถึงการรักษาด้วยหมอพื้นบ้านที่ชาวบ้านจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากหมูบ้านเป็นพื้นที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล สมุนไพรและหมอชาวบ้านจึงเป็นผู้ซึ่งช่วยในการรักษาเบื้องต้นที่จะพอช่วยบรรเทารักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านแม่ขะปูเปียงได้นั่นเอง

ภูมิปัญญาผ้าทอ เครื่องจักสาน วัสดุพื้นถิ่น

1) สีและลวดลายผ้าทอของบ้านแม่ขะปู

สีของผ้าทอบ้านแม่ขะปู มีอยู่หลากหลายสีมากในปัจจุบัน เนื่องจากเส้นฝ้ายที่ใช้มีการซื้อมาจากร้านค้าที่จำหน่ายเส้นฝ้ายสำเร็จมาจึงทำให้มีสีที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิม แต่สีที่นิยมใช้กันจะมีสีแดง สีดำ สีบานเย็น และ สีขาว ลวดลายผ้าทอของผ้าบ้านแม่ขะปู ค่อนข้างที่จะคล้ายกันหมดแต่สลับตำแหน่งของลายในผืนผ้า โดยแยกลายละเอียดของสีและลวดลายของผ้าที่ใส่ของผู้ชายและผู้หญิงได้ ดังนี้ เสื้อผู้หญิง หากเป็นผู้หญิงที่ไม่แต่งงานจะใส่ชุดสีขาวยาวคุมมาถึงหน้าแข้ง ลวดลายสอดเส้นฝ้าย ลายดาว ลายคาดเป็นเส้น นิยมใช้เส้นผ้ายสอดสีแดง หากเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะสวมชุดสีดำและแดง สีดำจะนิยมใส่ในคนวัยกลางคน สีแดงจะนิยมใส่ในวัยผู้สูงอายุ ลวดลายที่ทอก็จะมีอยู่ 2 แบบ คือ การทำลวดลายแบบสวดเส้นฝ้ายให้เกิดลายต่าง ๆ เช่น ลาย ดาว ลายเม็ดแตง และการทำลายปักและร้อยลูกเดือย จะปักเป็นลายต่าง ๆ เช่น ลายดอกไม้ ผ้าถุง มีลวดลายเดียว คือ จะมีเส้นสีดำหนาหัวและท้ายผ้าถุง ลายเส้นคาดเป็นชั้น ๆ และ ลายปิ่นที่คล้ายลายน้ำไหล ผ้าถุงจะทำเป็นชิ้นแล้วเย็บต่อกันเป็นผ้าถุง ผ้าโพกหัว เป็นผ้าทอที่มีความกว้าประมาณ 25 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เมตร มีลวดลายบนหัวผ้าทั้ง 2 ด้าน เป็นลายดาว ที่ใช้เทคนิคการทำลายสอดเส้นฝ้ายแต่เพิ่มเส้นฝ้ายในการสอดเพิ่มขึ้น จะทำให้ลายที่ได้ออกมาจะมีความนูนเห็นเป็นลายชัดเจน สีที่ใช้ในการทอจะใช้สีขาว สลับลายดาวสีแดง เสื้อผู้ชาย ใช้เทคนิคการทอสอดเส้นฝ้ายคล้ายกับเสื้อของผู้หญิงแต่จะใส่ลายน้อยลง และเพิ่มเส้นด้ายที่จะสอดเส้นฝ้ายให้นูนเป็นชั้น ๆ ลงมาก่อนจะสอดเส้นฝ้ายทำเป็นลาย ลายเสื้อผู้ชายส่วนใหญ่เป็นลายเม็ดแตง

2) วัสดุในการทอที่ใช้

ในสมัยก่อนการทอผ้าจะผลิตเส้นฝ้ายเองด้วยการปลูกฝ้ายเองมีกระบวนการทำเส้นฝ้ายเองทั้งหมด แต่ปัจจุบันไม่มีการทำเส้นฝ้ายเอง เพราะปัจจุบันชุมชนได้มีการซื้อเส้นฝ้ายจากข้างนอกหมู่บ้าน หรือในตัวเมือง เส้นฝ้ายในชุมชนเป็นเส้นฝ้ายแบบสำเร็จรูปทั้งหมด

อุปกรณ์ที่ใช้ทอในหมู่บ้านแม่ขะปูจะใช้กี่เอวในการทอผ้า โดยกี่เอวมีส่วนประกอบคือ ท่าโป คือ เสาหลักยึดเครือฝ้าย รือชุย เป็นไม้ยาวเล็กแยกเส้นยืนพังเส้น มีอยู่ 2 ชั้น แนสากอ เป็นเชือกที่มัด ไม่ให้เส้นยืนหลุดอออกมา ลูกโบ เป็น ลำไม้ไผ่แยกเส้นยืน แน (เคลือฝ้าย) เป็นตัวยกแยกก่อนที่จะสอดเส้นพุ่ง ท่าแพ่ มีหน้าที่คล้ายฟืมเป็นตัวกระทบเส้นฝ้าย หน่อแซ (กระสวย) ใช้สอดเส้นพุ่ง ท่าพิ เป็นตัวไม้ที่จะยึดเส้นกับหนังที่คาดเอว ลอกแค่ว แผ่นหนังที่ใช้คาดเอว เล่ คือ เครื่องที่ใช้ปั่นฝ้าย อิดฝ้าย คือ ใช้แยกเมล็ดฝ้าย บุดดา คือ เครื่องที่ใช้ทำให้ฝ้ายเส้นยืน และทำเคลือฝ้าย โจโก่ คือ เครื่องที่ใช้กอเส้นฝ้าย 

3) ความเชื่อ จารีต และการสืบทอดผ้าทอของหมู่บ้านแม่ขะปู

ความเชื่อในหมู่บ้านแม่ขะปูนั้นมีหลากหลาย เนื่องจากอดีตคนในหมู่บ้านแม่ขะปูมีการนับถือผี ก่อนที่จะเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา เนื่องจากการนับถือผีมีมานานปัจจุบันชาวบ้านก็ยังมีความเชื่อในเรื่องต่าง ๆ ถึงแม้จะนับถือศาสนาพุทธแล้วแต่ยังมีการปฏิบัติสืบทอดกันอยู่ ความเชื่อต่าง ๆ นั้นมีความเชื่อเรื่องผ้าอยู่ด้วย ทั้งในเรื่องของการทอผ้าการสวมใส่ ตัวอย่างความเชื่อได้แก่ จะไม่ทอผ้าในวันพระ ผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานจะสวมใส่ชุดขาวที่เป็นชุดยาว เพราะยังไม่ได้มีการทำพิธีกรรมถือว่าเป็นสาวบริสุทธิ์ แต่เหมือนว่าถ้าทำผิด เช่น ท้องก่อนแต่งจะต้องมีการทำพิธีกรรมสืบชะตาของบ้านหลังนั้นโดยจะใช้หมู 1 ตัวในการเลี้ยง และคนที่ทำพิธีกรรมจะสามารถกินหมูที่นำมาเลี้ยงไม่ได้ ผู้หญิงที่ผ่านการแต่งงานจะสวมใส่เสื้อสีเข้ม เช่น สีดำ สีม่วง และเมื่อลูกสาวจะแต่งงาน แม่ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องมีการทอเสื้อให้ลูกสาวไว้ใส่ในวันแต่งงาน และหลังจากนั้น 3 วัน จะต้องนำเสื้อที่เจ้าสาวใส่ให้กับแม่ของเจ้าบ่าวโดยมีความเชื่อว่าถ้าไม่ทำแบบนี้จะทำให้ไม่มีลูกหรือมีลูกยาก และจะทำให้เลิกกัน ลายซิ่นต้องมีลายคาดสีดำ เพราะมีความเชื่อว่าหากไม่มีจะทำให้สามมีมีชู้ การทอผ้าเด็กเมื่อทอเสร็จแล้วจะนำไปให้สุนัขใส่ก่อนแล้วค่อยนำไปให้เด็กใส่ บุดดา เป็นการนำฝ้ายมาพันไม้ เพื่อใช้เป็นเส้นยืน ประมาณ 4 ศอก โดยการทำขั้นตอนนี้จะต้องทำให้เสร็จในวันเดียวเท่านั้น ถ้าไม่เสร็จจะผิดผี และจะไม่ใช้ชุดนั้นเลย ความเชื่อในเรื่องการทอผ้านั้นมีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมานานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การสืบทอดในการทอผ้านั้นส่วนใหญ่จะมาจากการที่ดูผู้เฒ่าผู้แก่ทอกันและจำมาทำเป็นของตนเองแต่ในปัจจุบันจะมีการสอนให้ลูกสาวทอ ส่วนใหญ่ลูกชายนั้นจะไม่สามารถทอผ้าได้

ปัญณวิชญ์ แสงจันทร์ และคณะ. (2562). นิทรรศการและหนังสือชุดประวัติศาสตร์และพลวัตวัฒนธรรม: จากอดีตสู่ปัจจุบันชุมชนชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านแม่ขะปู (เปียง) ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. ค้นคืนเมื่อ 3 กันยายน 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/

พิสุทธิลักษณ์ บุญโต (บ.ก.). (2562). ปกาเกอะญอ ณ ว่าเป่อโข่: เรื่องราวผู้คนและชุมชนบ้านแม่ขะปูเปียง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: ทริโอ แอดเวอร์ไทซิ่ง แอนด์ มีเดีย.

จอห์นนี่ เจาะโด, สัมภาษณ์, มกราคม 2563.

ชนะชัย เสริมธรรมชาติ, สัมภาษณ์, มกราคม 2563.

โซเจ๊ะ, สัมภาษณ์, มกราคม 2563.

ประกายพร ปฐมใจภักดิ์, คุณครูอัตราจ้างโรงเรียนแม่ขะปู, สัมภาษณ์, มกราคม 2563.

พระประจักษ์ โสธโน, เจ้าอาวาสวัดแม่ขะปู, สัมภาษณ์, มกราคม 2563.

พีแอะพอ, สัมภาษณ์, มกราคม 2563.

ยิ๊พอ, สัมภาษณ์, มกราคม 2563.

วันนา ปัญญาชลรักษ์, สัมภาษณ์, มกราคม 2563.

ศิริพร เลิศธรรมพิภพ, สัมภาษณ์, มกราคม 2563.

อาวุธ ปัญญาโชรัตน์, สัมภาษณ์, มกราคม 2563.