ชุมชนพหุวัฒนธรรมลีซู ลาหู่ จีน และไทใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อหนองแขมเป็นชื่อที่ไม่ปรากฏเรื่องเล่าและที่มา หมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลปิงโค้งเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก โครงการนี้ดำเนินการจัดพื้นที่ทำกินให้แก่กลุ่มชนบนพื้นที่สูงกลุ่มต่าง ๆ
ชุมชนพหุวัฒนธรรมลีซู ลาหู่ จีน และไทใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ประวัติการก่อตั้งชุมชนบ้านหนองแขม ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
จากการสอบถามพระและคนในชุมชนบ้านหนองแขม อดีตเคยมีหมู่บ้านที่เจริญอยู่ช่วงหนึ่งของการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะอาศัยอยู่ สันนิษฐานจากการพบโบราณสถานบริเวณวัดและโบราณวัตถุ แต่ได้มีการอพยพย้ายถิ่นฐานไปที่อาศัยอยู่ที่อื่นจากสาเหตุพื้นที่นี้ในอดีตชาวลัวะคิดว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยเพราะมีการล้มตายจึงเป็นเหตุให้มีการย้ายที่อยู่ หลังจากนี้เลาหลู่ได้อพยพมาจากบ้านถ้ำงอบ อำเภอไชปราการ เพราะเกิดความขัดแย้งกับชุมชนเดิมจึงเดินทางมาตามเส้นทางคาราวานและในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นทางนี้เคยเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธของทหารญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2482-2488 สันนิษฐานจากการพบอาวุธต่าง ๆ เช่น ดาบซามูไร ถนนที่ทำจากหิน กระสูนปืน และเศษเหล็ก และอีกหนึ่งสาเหตุที่ได้ย้ายมาในพื้นที่นี้เพื่อดูงานสัมปทานป่าไม้ของตระกูลชินวัตรจึงเลือกพื้นที่แห่งนี้อาศัยอยู่ พอในปี พ.ศ. 2505-2506 ได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นเป็นอย่างทางการมีเพียงแค่ 7 หลังคาเรือนหลังจากนั้นก็มีการอพยพย้ายเครือญาติโดยที่เลาหลู่นำรถ 6 ล้อไปรับมาจากอำเภอพาน อำเภอแม่สรวย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงรายและอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้น
ในอดีตพื้นที่นี้มีการปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมากเป็นพืชที่ทำรายได้ให้กับชุมชนจำนวนมากเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนเลยทีเดียว และพื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่สีแดงเส้นลำเลียงยาเสพติดในการค้าขายข้ามชายแดนไทย-พม่า ปัจจุบันการปลูกฝิ่นนี้ได้หายไปเปลี่ยนมาทำพืชเกษตรหมุนเวียน สาเหตุที่การปลูกฝิ่นหายไปนั้นฝิ่นเป็นพืชที่ผิดกฎหมายหน่วยงานรัฐเข้ามามีบทบาทในชุมชนจึงทำให้การปลูกฝิ่นนั้นหายไปและการค้ายาเสพติดก็ลดลง
ขณะเดียวกันในหมู่บ้านมีถ้ำที่ชาวบ้านให้ความสนใจ คือ ถ้ำงู ตั้งอยู่ทางหลังหมู่บ้าน มีตำนานเล่าว่า ถ้ำนี้มีงูขนาดใหญ่อาศัยอยู่ภายในถ้ำ เมื่อมีคนเดินทางมาเส้นทางนี้ส่งเสียงดังงูจะออกมากิน ชาวบ้านเลยเชิญคนจีนมาปราบงูตัวนั้นโดยที่ คนจีนนั้นนำหญ้ามาวางบนหัวล่องูออกจากถ้ำแล้วก็ฟันคองูตัวนั้นตาย สาเหตุที่เรียกว่า ถ้ำงูนั้น สันนิษฐานว่าบนเพดานถ้ำมีลอยงูขนาดใหญ่เลื้อยผ่านไป
หมู่บ้านหนองแขม อยู่ในเขตพื้นที่การปกครองของเทศบาลตำบลเมืองนะ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่ตั้งของตำบลเมืองนะ เลขที่ 80 หมู่ 7 ถนนแม่ข้อน - นาหวาย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเชียงดาว ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 29 กิโลเมตรโดยทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 107 แยกเข้าทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 117
- ทิศเหนือ ติดกับ สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพเมียนม่าร์
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลทุ่งข้าวพวง
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ หมู่ที่ 11 บ้านหนองแขม เมื่อเดือนมกราคม 2566 ระบุว่า เป็นเพศชาย 741 คน เพศหญิง 772 คน รวมทั้งสิ้น 1,513 คน
บ้านหนองแขม ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูเป็นส่วนใหญ่แต่ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นปะปนกันไป สาเหตุเพราะชุมชนนี้มีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ มีการแต่งงานย้ายข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ลีซูแต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่หรือกลุ่มชาติกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูแต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ เป็นต้น ในการนับถือสายตระกูลนั้นการที่ผู้หญิงเข้ามาเป็นสะใภ้แต่ตนเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ก็ต้องเปลี่ยนมานับถือตามฝ่ายผู้ชายตามกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูทันที ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อะไรก็ตามเข้ามาแต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูนั้นก็ต้องเปลี่ยนมานับถือตามกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูทั้งหมด แต่ปัจจุบันนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงให้นับถือทั้งของตนเองและครอบครัวใหม่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ของตนเองมีกิจกรรมทางศาสนาก็แต่งกายชุดของตนเองไปแล้ว ถ้ากลุ่มชาติพันธุ์ลีซูมีกิจกรรมทางศาสนาก็แต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูไปร่วมงาน
ยกตัวอย่างจากครอบครัวของเลาหลู่ เลาหลู่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู แต่นาแฮเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ แต่เหตุเพราะนาแฮเป็นฝ่ายหญิงจึงเปลี่ยนการนับถือ การแต่งกายทั้งหมดมาเป็นลีซู เมื่อมีลูก ลูกก็จะบอกว่าตนเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูตามพ่อ เพราะในสมัยอดีตฝ่ายชายนั้นมีความเป็นผู้นำของครอบครัวเป็นเหมือนช้างเท้าหน้ามีบทบามมากกว่าฝ่ายหญิง จึงทำให้คนในชุมชนนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูเป็นส่วนมาก
จีน, ไทใหญ่, ลาหู่, ลีซูในเรื่องการปกครองนั้นอดีตมีการปกครองตามอายุตามความอาวุโส หรือผู้นำชุมชนเป็นคนมีบทบาทมากที่สุดในหมู่บ้าน ผิดว่ากันไปตามผิดตามความตัดสินใจของผู้นำหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันนี้หน่วยงานภาครัฐเข้ามามีบทบาทในชุมชนในการเลือกตั้ง ผู้ใหม่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แต่ในท้ายที่สุดการจะทำอะไรก็ต้องมีการไปปรึกษากับผู้นำชุมชนอีกที ถึงจะมีการเลือกตั้งตามตำแหน่งงานแต่ก็ต้องผ่านการปรึกษาผู้นำชุมชนเช่นเดิมก่อนจะจัดทำงานหรือกิจกรรมในชุมชน
แต่เดิมพื้นที่บริเวณชุมชนบ้านหนองแขม ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีการทำการปลูกฝิ่นหรือทำฝิ่น มีรายได้จากการทำสวนฝิ่นเป็นหลัก มีการค้าขายและส่งออกพื้นที่ไปขายที่ USA ทำให้ในพื้นที่มีรายได้จากการปลูกฝิ่น แต่หลังจากนั้นในพื้นที่นี้ก็ได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานและฝ่ายต่าง ๆ ในการที่จะสอนและสนับสนุนให้ทำการเกษตร ดังนั้นจึงเกิดการยกเลิกการทำฝิ่นในปี พ.ศ. 2531 ตั้งแต่เลิกทำฝิ่นชาวบ้านก็ได้หันมาทำการเกษตร เช่น การปลูกข้าว, ปลูกข้าวโพด, ถั่ว, กาแฟ, และพืชผักชนิดต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในการเสริมรายได้ ชาวบ้านยังมีอาชีพเสริม โดยการหาสมุนไพรในป่ามาใช้เป็นยารักษาประจำบ้านแล้วยังมีการส่งขายนอกพื้นที่
ปัจจุบันนี้รายได้หลัก ๆ ของคนในพื้นที่ได้มาจากการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการทำเกษตรกรรมปลูกข้าวโพด ราคาอยู่ที่ 8 บาท รายได้จากการปลูกข้าวโพด 40,000 - 100,000 บาท ต่อปี และส่งออกอีกด้วย รายได้จากการปลูกราคาถั่วจะขึ้นลงไม่คงที่และช่วงหลังมีพันธุ์พืชชนิดใหม่เพิ่มขึ้น พื้นที่นี้มีการปลูกกาแฟ (พันธุ์เชอรี่) มีชาวบ้านที่ปลูกกาแฟอยู่ในพื้นที่มีแค่ 6 หลังคาเรือนมีคนเข้ามารับซื้อตลอดเลยเกิดเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี ภายหลังมานี้การทำเกษตรกรรมกลายเป็นอาชีพหลักที่ทำให้คนในพื้นที่มีรายได้ ถึงแม้ว่าการทำเกษตรกรรมจะทำรายได้หลักให้กับชาวบ้านแต่พอหมดช่วงฤดูกาลทำการเกษตรชาวบ้านบางคนเลือกที่จะออกไปหางานทำข้างนอกทำเช่น ทำงานรับจ้าง, แม่บ้าน, ก่อสร้าง และงานอื่น ๆ เพื่อที่จะเป็นรายได้เสริม
การทำสมุนไพรเป็นอาชีพหนึ่งของหมู่บ้านหนองแขมเพื่อเป็นการหารายได้พิเศษของชาวบ้าน สมุนไพรจะหาได้จากในป่าและชาวบ้านเอามาใช้เป็นยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคกระเพาะ โรคปวด นอกจากจะใช้เป็นยารักษาประจำบ้านแล้วยังมีการส่งขายออกนอกพื้นที่
ถึงแม้ว่าการทำเกษตรกรรมจะทำรายได้หลักให้กับชาวบ้านแต่พอหมดช่วงฤดูกาลทำการเกษตรชาวบ้านบางคนเลือกที่จะออกไปหางานทำข้างนอกทำเช่น ทำงานรับจ้าง, แม่บ้าน, ก่อสร้าง และงานอื่น ๆ เพื่อที่จะเป็นรายได้เสริม
1) ปฏิทินการเกษตรและอาชีพของคนในชุมชน
ในพื้นที่หมู่บ้านหนองแขม ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้แก่ ข้าวโพด, ข้าว, ถั่ว, อโวคาโด, หอม, ลำไย, มะม่วง, กาแฟ, ฟักทอง และพืชผัดสวนครัว ในแต่ละฤดูกาลการปลูกข้าวโพดหวานจะปลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมแต่การปลูกข้าวโพด CP จะปลูกหลังจากการปลูกข้าวโพดหวานในเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวโพดจะมีการขายส่งออกนอกพื้นที่หรือมีคนเข้ามารับซื้อในพื้นที่ในแต่ละฤดูกาลจะมีราคาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจ
การปลูกถั่วจะมีการปลูกหลายชนิดเช่น ถั่วลิสง, ถั่วแดง จะใช้เวลาในการปลูก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ราคาจะอยู่ที่ประมาณปิ๊บละ 90 - 180 บาท ต่อปิ๊บ การปลูกถั่วจะปลูกหลังจากข้าวโพดเริ่มเก็บเกี่ยวหรือช่วงที่ต้นข้าวโพดย่อยสลายเพื่อให้ดินปรับสภาพให้เหมาะสมกับการปลูกถั่ว
การปลูกกาแฟ (พันธุ์เชอรี่) จะปลูกในช่วงฤดูฝนเพื่อให้ต้นกาแฟเพื่อให้ดินที่ความอุดมสมบูรณ์กาแฟจะออกผลเมื่อต้นมีอายุประมาณ 3 ปี เมื่อถึงเวลาเก็บได้ชาวบ้านที่ปลูกกาแฟจะส่งขายหรือมีคนเข้ามารับซื้อในพื้นที่ ราคากาแฟจะอยู่ที่ประมาณ 16 – 18 บาท การเก็บกาแฟจะเก็บในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
การทำสมุนไพรเป็นอาชีพหนึ่งของหมู่บ้านหนองแขมเพื่อเป็นการหารายได้พิเศษของชาวบ้าน สมุนไพรจะหาได้จากในป่าและชาวบ้านเอามาใช้เป็นยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคกระเพาะ, โรคปวดกล้ามเนื้อ และแก้ปวดท้องประจำเดือน เป็นต้น นอกจากจะใช้เป็นยารักษาประจำบ้านแล้วยังมีการส่งขายออกนอกพื้นที่ ราคาของสมุนไพรอยู่ที่ถุงละ 100 บาท
นอกจากอาชีพทำการเกษตรแล้วยังมีอาชีพเสริมในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำการเกษตร เช่น การก่อสร้าง, แม่บ้าน ชาวบ้านได้ออกไปทำนอกพื้นที่เพื่อที่จะได้หารายได้มาช่วยเหลือในครอบครัว
กิจกรรม/เหตุการณ์ | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ต. | พ.ย. | ธ.ค. | หมายเหตุ |
เกษตรกรรม | |||||||||||||
ปลูกข้าวโพดหวาน | / | / | / | / | ขาย, ส่งออก | ||||||||
ข้าวโพด CP | / | / | / | / | / | / | / | ใช้เลี้ยงสัตว์ | |||||
ถั่วลิสง ถั่วแดง | / | / | / | ขาย, แบ่งกิน | |||||||||
กาแฟพันธุ์เชอรี่ | / | / | / | / | / | / | / | ขาย, ส่งออก | |||||
รับจ้างทั่วไป | |||||||||||||
ก่อสร้าง | / | / | / | / | ว่างเว้นจากการทำการเกษตร | ||||||||
แม่บ้าน | / | / | / | / | ว่างเว้นจากการทำการเกษตร |
2) ปฏิทินความเชื่อชาวไทใหญ่ในหมู่บ้านหนองแขม
ชาวไทใหญ่ในหมู่บ้านหนองแขมนั้น อาศัยอยู่กันเพียง 3-4 คนและไม่ได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเช่นเผ่าลาหู่ หรือลีซู ชาวไทใหญ่แทบทั้งหมดเข้ามาในหมู่บ้านโดยการแต่งงาน ทำให้วิถีการใช้ชีวิต การใช้ภาษา วัฒนธรรมประเพณี และพิธีกรรม ล้วนทำตามแบบชนเผ่าลีซู แต่ก็ยังมีประเพณีที่ชาวไทใหญ่ยังคงทำอยู่ นั่นคือประเพณีปอยส่างลอง ในช่วงเดือน มีนาคม และเดือนเมษายน ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญทางศาสนา ชาวไทใหญ่จะกลับบ้านไปร่วมงาน และอีกประเพณีที่ชาวไทใหญ่ทำคือ ในช่วงปีใหม่ ชาวไทใหญ่จะกลับบ้าน และรดน้ำดำหัว ผู้ใหญ่ในบ้าน ชาวไทใหญ่เป็นชนเผ่าที่นับถือในศาสนาพุทธ จะขึ้นไปวัดทำบุญทุกวันพระ ที่วัดภายในหมู่บ้านหนองแขม
3) ปฏิทินความเชื่อชาวลาหู่ในหมู่บ้านหนองแขม
จากการที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากการสอบถามชาวบ้านในชุมชนถึงข้อมูลด้านประเพณีและความเชื่อสามารถนำมาเขียนเป็นปฏิทินชุมชน ซึ่งช่วยให้เห็นด้านความเชื่อและพิธีกรรรมจากอดีตถึงปัจจุบันและสามารถนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ในหมู่บ้านหนองแขม
- ความเชื่อการกินข้าวใหม่ เก็บเกี่ยวการเกษตรในรอบปีและมีการฉลองหลังเก็บเกี่ยวในรอบปี ฉลองกันที่โบสถ์เพื่อสรรเสริญพระเจ้า จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี
- ความเชื่อการกินวอ เป็นประเพณีของหนุ่มสาวที่มาเต้นเพื่อมาจีบกัน จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ลาหู่จะมีการจัดขึ้น 7 วัน มีวันที่ 4 เป็นต้นไป สืบทอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
- ความเชื่อศาลา ในแต่ละสวนของชาวบ้านจะมีศาลาสำหรับกินข้าวร่วมกัน จะมีขึ้นในเดือนเมษายนเป็นความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับการทำเกษตร
- ความเชื่อการเลี้ยงผี จะฆ่าไก่เลี้ยง ช่วงทำเกษตร จะเริ่มทำเกษตรทำในช่วงเมษายน จะทำการเลี้ยงผีทางเข้าสวน เชื่อเรื่องการค้าขายดี
- ความเชื่อการแลกเปลี่ยนผลผลิต จะมีในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน จะมีการแลกเปลี่ยนผลผลิต การทำเกษตร เช่น ข้าวโพด เผือก
- ความเชื่อมัดมือ เป็นความเชื่อ ถ้าชาวบ้านคนไหนไม่สบาย จะมีการมัดมือทำให้หายป่วย
- ความเชื่อการตาย ถ้าคนในบ้านตายต้องทำพิธี แต่ถ้าตายโหงจะต้องทำพิธีเผา
- ความเชื่อในเรื่องประตูทางเข้า ห้ามหันประตูไปทางตะวันตก
- ความเชื่อห้องนอน จะมีหิ้งอยู่ทางซ้ายมือและในห้องนอน หิ้งห้องทั้งสองใช้เป็นที่เคารพบรรพบุรุษ หิ้งนี้เรียกอีกอย่างว่าค่อตา วิธีเคารพบรรพบุรุษ จะใช้ไก่ต้ม ข้าวสวย น้ำเปล่า เหล้า และมีบทสวด เรียกบรรพบุรุษ
- ความเชื่อการแต่งงาน สมัยก่อนฆ่าไก่ 2 ตัว หมู 10 กิโลกรัม ก่อนพิธีแต่งงานจะมีการดูเดือน การเรียกสินสอดมีเท่าไรมีเท่านั้น เมื่อก่อนมีการเรียกสินสอดถูกมากประมาณ 600บาท แต่ปัจจุบันเรียก 100,000 บาท
- ความเชื่อถือศีล จัดขึ้นทุกเดือน 1 เดือนจะถือศีล 15 วัน และอีก 15 วันจะกินเนื้อสัตว์
- ความเชื่อปัดเป่าอัปมงคล จะไม่เกี่ยวกับวันเดือน ถ้าคนไม่สบายจะมีความมาทำพิธีปัดเป่า
- ความเชื่อเรื่องเครื่องราง ชาวบ้านมีความเชื่อการนำผ้ายันต์และหอย ไว้หน้าประตูบ้าน
4) ปฏิทินความเชื่อชาวจีนในหมู่บ้านหนองแขม
เมื่อเราได้ข้อมูลจากการพูดคุยกับชาวจีนในชุมชนบ้านหนองแขมในเรื่องของศาสนาและความเชื่อก็สามารถนำมาเขียนเป็นแผนผังปฏิทินชุมชนซึ่งช่วยให้เห็นภาพของวิถีชุมชนเกิดความเข้าใจและสามารถนำไปประกอบการวิเคราะห์และกำหนดกิจกรรมชุมชนให้สอดคล้องกับจังหวะชีวิตของชุมชนได้ ในหมู่บ้านหนองแขมมีชาติติพันธุ์จีนอาศัยอยู่โดยชาวจีนจะมีการนับถือศาสนาอยู่ 2 ศาสนาคือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์โดยรูปแบบในการปฏิบัติของทั้งสองศาสนานี้มีความเหมือนกัน
กุมภาพันธ์: ประเพณีกินข้าวหรือปีใหม่ตรุษจีนจะมีการจัดงานเลี้ยงรื่นเริงภายในหมู่บ้านชาวจีนจะประกอบพิธีกรรม เหมือนกับชาวลีซูที่มีการฆ่าหมูดำเพื่อถวายแก่ศาลเจ้าและมีการทำขนมที่เรียกว่าข้าวพุมีลักษณะคล้ายกับขนมเข่งของ คนจีนในช่วงตรุษจีนในที่นี้จะใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุก ตำให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันรวยงาบนหน้าขนมในช่วงปีใหม่เด็กๆรวมถึงผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจะเข้าร่วมการเต้นรำรอบหมู่บ้านและภายในโรงเรียนกรกฎาคม: ประเพณีเลี้ยงศาลเจ้า เมื่อผ่านพ้นช่วงฤดูของการปลูกพืชผลทางเกษตรออกผลผลิตอุดมสมบูรณ์ตามเป้าหมาย จะมีการเลี้ยงศาลเจ้าโดยจะมีการถวายไก่และอาหารคาวหวาน ภายในเดือนกรกฎาคมด้วยชาวจีนอาศัยวันในปฏิทินที่มีคำว่า 日四廿
สิงหาคม: ประเพณีไหว้ผีบรรพบุรุษโดยมีการให้ข้าวปลาอาหารไก่ถวายในบริเวณบ้านและเมื่อถวายเสร็จก็จะนำ อาหารมารับประทานกันในครอบครัวโดยมีคำกล่าวว่า"เขาได้กินเราได้กินชาวจีนเชื่อว่าเป็นการดูแลบรรพบุรุษหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว
กันยายน: ประเพณีไหว้พระจันทร์จะมีการถวายขนมไหว้พระจันทร์และไก่โดย จะมีการถวายภายในบริเวณที่โล่งแจ้ง หน้าบ้าน
5) ปฏิทินความเชื่อชาวลีซูในหมู่บ้านหนองแขม
ชาวลีซูในหมู่บ้านหนองแขมมีการนับถือศาสนาที่แตกต่างกันคือ ส่วนหนึ่งนับถือผีบรรพบุรุษอีกส่วนหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์ คิดเป็นสัดส่วนพุธต่อคริสต์ 60:40 ทำให้มีความเชื่อและประเพณีที่แตกต่างกัน ลีซูคริสต์จะมีการไปเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ซึ่งลีซูพุทธจะไม่มีตัวหนังสือ ส่วนลีซูคริสต์จะมีตัวหนังสือเนื่องจากมีการดัดแปลงตัวอักษรภาษาอังกฤษมาใช้ ประเพณีในหนึ่งปีของลีซูทั้ง 2 ศาสนามีความแตกต่างกัน ดังนี้
5.1) ลีซูพุทธ
เดือน | กิจกรรม |
กุมภาพันธ์ | จะมีงานตรุษจีน/กินวอ โดยมีการจัดในวันที่ 5 ของเดือนโดยจะจัดเป็นเวลา 1 อาทิตย์ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเต้นรำ กินเลี้ยงกันที่บ้านผู้นำศาสนา เป็นปีใหม่ใหญ่มีการแจกอั่งเปาบางบ้าน |
มีนาคม | จะมีงานปีใหม่น้อย โดยเฉพาะผู้ชายจะไปศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน จะมีการฆ่าหมูตัวใหญ่เพื่อเซ่นไหว้หลังจากเสร็จพิธี ผู้นำชุมชนจะนำหัวหมูและเครื่องในกลับบ้าน มาจัดงานเลี้ยงมีการเต้นรำ ดื่มกินกันที่บ้านผู้นำชุมชน |
พฤษภาคม | จะมีงานล้างหมู่บ้าน โดยจะมีการนำของใช้เช่น เสื้อผ้า สิ่งของที่ไม่ใช้แล้วไปทิ้งข้างนอกหมู่บ้าน เชื่อว่าเป็นการล้างหมู่บ้านเอาสิ่งที่ไม่ดีออกจากหมู่บ้าน |
มิถุนายน | จะมีงาน อิดะมาลัว โดยจะมีการบวงสรวงขอให้ได้ผลผลิต ฆ่าหมูไปเซ่นไหว้ |
กรกฎาคม | ช่วงปลายเดือนจะมีงานสารทจีน จะมีการเอาผลผลิตไปขอบคุณที่ศาลเจ้า |
5.2) ลีซูคริสต์
เดือน | กิจกรรม |
มกราคม | จะมีงานขึ้นปีใหม่สากลโดยจะมีการไปอธิษฐานขอพรที่โบสถ์ จุดพลุ จัดร่วมกับลีซูพุทธช่วยกันจัดงาน แต่ลีซูพุทธไม่สามารถร่วมพิธีกรรมทางศาสนาได้ |
เมษายน | จะมีงานอีสเตอร์เอ๊ก โดยจะมีการให้เด็กๆ เล่นเกมที่โบสถ์และแจกของรางวัล |
ตุลาคม | จะมีงานกินข้าวใหม่โดยจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต เอาข้าวโพด ข้าวใหม่ ไปถวายที่โบสถ์และมีการเต้นรำร่วมกัน |
ธันวาคม | จะมีงานคริสต์มาสโดยจะมีการไปโบสถ์อธิษฐาน จัดงานเลี้ยง |
หมายเหตุ : ในการประกอบพิธีทางศาสนาของลีซูพุทธ และลีซูคริสต์จะสามารถกินเลี้ยงร่วมกันได้ ส่วนการรับขวัญ จะรับขวัญทุกครั้งที่รับสิ่งใหม่ๆเข้ามาเป็นสมาชิกในบ้าน เช่น เด็ก หมู รถ โดยจะมีการฆ่าไก่เป็นเครื่องสังเวยในการรับขวัญ
6) ปฏิทินชุมชนและโรงเรียน
ชุมชนและโรงเรียน ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านหนองแขม ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในแต่ละปีชุมชน และโรงเรียน จะมีกิจกรรมที่ทั้งสองกลุ่มทำร่วมกัน และแยกกันบ้างบางกิจกรรมแบ่งคร่าว ๆ เป็นเดือนได้ดังนี้
เดือน | กิจกรรม (ชุมชน) | กิจกรรม (โรงเรียน) |
มกราคม | เทศกาลกินวอ | วันเด็ก |
กุมภาพันธ์ | เทศกาลกินวอ | - |
มีนาคม | ทำแนวกันไฟ | - |
เมษายน | วันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | วันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี |
พฤษภาคม | - | วันวิสาขบูชา |
มิถุนายน | - | วันอาสาฬบูชา, วันเข้าพรรษา |
กรกฎาคม | - | - |
สิงหาคม | วันแม่แห่งชาติ | วันแม่แห่งชาติ |
กันยายน | - | - |
ตุลาคม | - | วันพระราชสมภพของสมเด็จจพระศรีนครินทราบรมราชชนนี |
พฤศจิกายน | - | วันลอยกระทง, วันปิยมหาราช |
ธันวาคม | วันพ่อแห่งชาติ, วันคริสต์มาส, วันสิ้นปี | วันคริสต์มาส, วันสิ้นปี |
ในชุมชนใช้ภาษาไทยกลางและภาษาไทยถิ่นเหนือหรือคำเมืองในการสื่อสารเป็นหลัก ทั้งนี้ ในการสื่อสารภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ก็จะใช้ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ลีซู ลาหู่ จีน และไทใหญ่
เทศบาลตำบลเมืองนะ. (2566). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. จาก http://muangnalocal.go.th/
เอกภักดิ์ จำแน่ และคณะ. (2562). การเก็บรวบรวมข้อมูลและจัดทำหนังสือภาพถ่ายประกอบคำบรรยาย ชุมชนพหุวัฒนธรรม (ลีซู ลาหู่ ไทใหญ่ และจีน) ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.