Advance search

ชุมชนวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ ต.โคกขี้หนอน อ. พานทอง ชลบุรี ถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและการเลี้ยงปลาเนื้อจำหน่าย โดยเฉพาะปลานิล ปลาสวาย ปละตะเพียน และปลายี่สก ที่ชาวบ้านยึดเป็นอาชีพหลักสืบทอดกันมา

โคกขี้หนอน
พานทอง
ชลบุรี
ปวินนา เพ็ชรล้วน
12 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
23 ส.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
7 ส.ค. 2023
คาทอลิกวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ

ตั้งชื่อตาม นักบุญฟิลิป อัครธรรมทูต และนักบุญยากอบ อัครธรรมทูต


ชุมชนชนบท

ชุมชนวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ ต.โคกขี้หนอน อ. พานทอง ชลบุรี ถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและการเลี้ยงปลาเนื้อจำหน่าย โดยเฉพาะปลานิล ปลาสวาย ปละตะเพียน และปลายี่สก ที่ชาวบ้านยึดเป็นอาชีพหลักสืบทอดกันมา

โคกขี้หนอน
พานทอง
ชลบุรี
20160
13.5555469
101.1244917
องค์การบริหารส่วนตำบลโคกขี้หนอน

ชุมชนวัดนักบุญฟิลิปและยากอบหัวไผ่ ต.โคกขี้หนอน อ.พานทอง จ.ชลบุรี ถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและการเลี้ยงปลาเนื้อจำหน่าย โดยเฉพาะปลานิล ปลาสวาย ปละตะเพียน และปลายี่สก ที่ชาวบ้านยึดเป็นอาชีพหลักสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย หากใครผ่านไปแถวนั้นก็จะเห็นบ่อปลาจำนวนมากมาย ชาวบ้านกว่า 3,000 คนในชุมชนแห่งนี้ อาศัยอยู่บนพื้นที่ของวัดนักบุญฟิลิปและยากอบหัวไผ่ ภายใต้การปกครองของสังฑมณฑลจันทบุรี ซึ่งร้อยละ 80 เป็นเกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด โดยเสียค่าเช่าที่ดินในอัตรา 400 บาทต่อไร่ต่อปี

คุณพ่อวิเชียร ฉันทพิริยกุล เจ้าอาวาส เล่าว่า ที่ดินของวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ กลายเป็นที่หมายปองของบรรดานักลงทุนรายใหญ่ทั้งหลายที่ต้องการซื้อไปสร้างเมืองใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรืออีอีซี เพราะเป็นที่ดินผืนใหญ่ถึง 10,000 ไร่ และตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะมาก ที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนรายใหญ่หลายรายทั้งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และนิคมอุตสาหกรรมต้องการซื้อที่ดินผืนนี้ แต่ทั้งคุณพ่อและชาวบ้านคัดค้านอย่างหนัก เพราะที่นี่คือพระอาณาจักรของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้  คุณพ่อวิเชียร จึงวางแนวทางในการฟื้นฟูชุมชนแห่งความเชื่อ ปลุกจิตสำนึกของเยาวชนให้เห็นถึงคุณค่าของแผ่นดิน อภิบาลชุมชนศิษย์พระคริสต์ และส่งเสริมกระแสเรียก นั่นคือส่งเสริมให้ลูกหลานคริสตชนมาบวชกันมากขึ้น ซึ่งการจะบวชเป็นพระได้ก็ต้องมีศรัทธา  เรียนดี สุขภาพดี สัตย์ซื่อ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ชุมชนวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ จะมีการจัดงาน "วันรู้คุณแผ่นดิน" เพื่อระลึกถึงพระสังฆราช ยาโกเบ แจง เกิดสว่าง และคุณพ่อมาธือแรง ฟรังซัว มารี เกโก มิชชันนารีผู้บุกเบิกแผ่นดินหัวไผ่ ซึ่งปีนี้ คุณพ่อวิเชียร ได้ยกระดับการจัดงานเพื่อรวมพลังสร้างความสามัคคีของชุมชน โดยริเริ่มการจัดแสดงละครเพลงจากเยาวชนโรงเรียนประชาสังเคราะห์วัดหัวไผ่ ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้ รวมถึงการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาศาสนจักรตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับความสนใจจากคริสตชนเข้าร่วมกว่า 500 คน

ปีค.ศ. 1880 หรือปี พ.ศ. 2423 (สมัยรัชกาลที่ 5) คุณพ่อมาทูแลง เกโก บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ได้รับมอบหมายให้ออกมาขยายกลุ่มคาทอลิกในจังหวัดชลบุรี และได้สร้างวัดที่บางปลาสร้อย เมืองพนัส โคกกะเหรี่ยง จนกระทั่งแห่งสุดท้ายที่บ้านหัวไผ่ ในปีค.ศ. 1880 หรือปี พ.ศ. 2423 ขณะนั้นบริเวณนี้ยังเป็นป่าไม่มีผู้คนอาศัย คุณพ่อเกโก จึงได้จับจองพื้นที่ราบลุ่มบริเวณนี้กว่า 15,000 ไร่ และร่วมกับลูกศิษย์ที่ติดตามมาช่วยกันหักล้างถางพง สร้างวัดสร้างบ้านเรือน เนื่องจากบริเวณนี้มีป่าไผ่มาก จึงเรียกกันว่า วัดหัวไผ่ นั่นเอง คุณพ่อเกโก มรณะภาพในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2436 อายุ 84 ปี ปัจจุบัน วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ บริหารจัดการโรงเรียนประชาสังเคราะห์ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมต้น และจัดตั้งอภิบาลชุมชนเพื่อให้ตัวแทนชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน

นับตั้งแต่พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต (Lambert de la Motte) ซึ่งเป็นพระสังฆราชองค์แรกที่เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2205 มิสซังสยามก็เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ โดยเฉพาะในสมัยพระสังฆราชการ์โนลต์ (Garnault) ช่วงปี พ.ศ. 2329-2354 ต้องนับว่าเป็นสมัยฟื้นฟูมิสซังสยามโดยแท้ โดยมีการจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัดซางคาครูส เพื่อพิมพ์หนังสือชื่อ คำสอนคริสตัง เป็นเล่มแรกในประเทศสยาม พิมพ์ด้วยอักษรโรมัน แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทย หรือที่เรียกว่า ภาษาวัด นอกจากนี้ พระสังฆราชการ์โนลต์ยังได้ก่อตั้งบ้านเณรซางตาครูส เพื่อเป็นสถานฝึกอบรมชายหนุ่มที่สมัครใจจะบวชเป็นพระสงฆ์อีกด้วย

ปัจจุบันมีวัดคาทอลิกเก่าแก่หลายแห่ง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อ แต่ยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกด้วย อาทิ อาสนวิหารอัสสัมชัน บางรัก, วัดซางตาครูส กุฎีจีน, วัดคอนเซปชัญ สามเสน, วัดพระคริสตหฤทัย ราชบุรี และ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งจัดว่ามีความสวยงามที่สุดในประเทศไทย ในปีหน้าจะมีกิจกรรมสำคัญมาก โดยสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศให้คริสตชนฆราวาส นักบวช และพระสงฆ์ เตรียมพร้อมก้าวสู่การฉลอง 350 ปีมิสซังสยาม (พ.ศ. 2212-2562) พร้อมกับฉลอง 75 ปี มิสซังจันทบุรี (พ.ศ. 2487-2562) เพื่อร่วมฟื้นฟูความเป็นศิษย์พระคริสต์ในทุกมิติ ส่วนวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ จะครบรอบ 140 ปี ในปี พ.ศ. 2563

ชุมชนคาทอลิกเกิดขึ้นจากการสำรวจจับจองพื้นที่ของบาทหลวงมาธือแรง เกโก เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2423 ได้รับการรับรองกรรมสิทธิ์อันแน่ชัดเหนือที่ดิน จนกลายเป็นชุมชนคาทอลิกหัวไผ่ มีพื้นที่โดยประมาณ 15,000 ไร่ ปละจากการพัฒนาของชุมชนคาทอลิกจากบาทหลวงที่เข้ามาดูแลชุมชนคาทอลิกต่อจากบาทหลวงมาธือแรง เกโก ตามที่มีบันทึกไว้ในรายงานของวัดนักบุญฟิลิป-ยากอบ (หัวไผ่) และจากการบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในชุมชนคาทอลิก เนื่องจากการสร้างความเจริญให้กับชุมชนคาทอลิกที่มีถนนหนทางตัดผ่านชุมชนคาทอลิกมากขึ้น ซึ่งแสดงอาณาเขตได้ตามแผนที่ วัดนักบุญฟิลิป-ยากอบ (หัวไผ่) ได้ดังนี้

ทิศเหนือ มีพื้นที่จรดถึงบางส่วนของหมู่ 4 ตำบลหนองตีนนก และหมู่ 3 ตำบลสิบเอ็ดศอก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ทิศใต้         มีพื้นที่จรดถึงบางส่วนของตำบลโคกเพลาะ ในเขตอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

ทิศตะวันออก มีพื้นที่จรดถึงบางส่วนของหมู่ 2 ตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

ทิศตะวันตก มีพื้นที่จรดถึงบางส่วนของหมู่ 2 ตำบลโคกขี้หนอน อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนคาทอลิกมีที่ดินในการประกอบอาชีพและประกอบกับมีระบบชลประทานที่ดี ทำให้ชาวชุมชนคาทอลิกส่วนใหญ่มีอาชีพหลักในการทำเกษตรกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งการเลี้ยงปลาน้ำจืด การเลี้ยงกุ้ง ตลอดจนการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดจำหน่ายของชาวชุมชนคาทอลิกเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้เลี้ยงปลาในระดับประเทศ อาชีพผู้ประกอบการจำหน่ายพันธุ์ปลาน้ำจืด จะเพาะพันธุ์ปลารวมถึงรับซื้อพันธุ์ปลาจากชาวชุมชนคาทอลิกหัวไผ่ และชุมชนใกล้เคียง เพื่อจำหน่าย โดยส่วนใหญ่จะมีการตั้งฟาร์มอยู่บนถนนศุขประยูร (ถนนสายฉะเชิงเทรา-พนัสนิคม) โดยฟาร์มที่ใหญ่และมีผลผลิตพันธุ์ปลาจำหน่ายมากที่สุดจะมีอิทธิพลในการเป็นผู้กำหนดราคาพันธุ์ปลา ทั้งรับซื้อและจำหน่าย ชุมชนคาทอลิกส่วนใหญ่ของผู้ประกอบอาชีพจำหน่ายพันธุ์ปลาน้ำจืด และเพาะพันธุ์ปลาเองประมาณ 20 ราย โดยจะเป็นผู้รับซื้อชั้นต้นที่มาเช่าที่ดินในชุมชนในการตั้งแพปลาหรือแพกุ้ง จากนั้นจะมีผู้มารับผลิตผลที่ได้ไปส่งตามตลาดหรือร้านอาหารทั่วไปอีกทอดหนึ่ง อีกอาชีพ คือ ผู้รับจ้างจับปลา-กุ้ง จากที่ชาวชุมชนส่วนใหญ่นั้นมีอาชีพเกษตรกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งปลาและกุ้ง ทำให้ชาวชุมชนส่วนหนึ่งมีการรวมกลุ่มกันกลุ่มละ 5-10 คน เรียกกันในชุมชนว่า ทีมลากปลา ทำหน้าที่รับจ้างจับปลาด้วยวิธีการลากอวนและจับกุ้งในชุมชน รวมถึงการรับจ้างคัดแยกขนาดลูกปลาเพื่อนำไปเลี้ยงหรือที่เรียกกันในชุมชนว่า การล่อนปลา ด้วย ซึ่งทุกๆ กลุ่มจับปลาและกุ้งนี้จะมีหัวหน้ากลุ่มในการรับจ้างงานและกำหนดราคา   ค่าตอบแทนเป็นครั้งๆ ไปตามลักษณะงาน

ชาวชุมชนคาทอลิกยังมีการเลี้ยงโค-เลี้ยงไก่ การเลี้ยงโคในชุมชนคาทอลิกหัวไผ่จะเป็นลักษณะอาชีพเสริมของชาวชุมชนบางส่วน จะเป็นการจัดหาโคมาเลี้ยงเพื่อให้ตกลูก ทำการเลี้ยงลูกโคให้โตแล้วจึงขายไป สำหรับการเลี้ยงโคทั่วไปจะเป็นการปล่อยให้โคหากินแบบอิสระในตอนเช้าหรืออาจมีล่ามโคบางตัว เช่น แม่โคในที่ดินส่วนตัวของตนเอง และที่ดินสาธารณะ จากนั้นก็จะทำการไล่โคในเวลาเย็น และการเลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ ชุมชนคาทอลิกหัวไผ่จะมีชาวชุมชนบางครอบครัวเลี้ยงไก่ไข่หรือไก่เนื้อ ควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ คือ มีการตั้งโรงเลี้ยงไก่ในบ่อปลา ปลาจะกินเศษอาหารและมูลไก่ แต่การปลูกโรงเลี้ยงไก่นั้นมีต้นทุนสูงมาก ประกอบกับผลตอบแทนด้านการเลี้ยงไก่ทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากต้องอ้างอิงกับบริษัทผู้ผลิตรายวใหญ่ๆ ทำให้ทุกวันนี้การเลี้ยงไก่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร นอกจากอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรมเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งการเพาะเลี้ยงปลาและการเลี้ยงกุ้งแล้ว ยังมีชาวชุมชนคาทอลิกประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น ครู พนักงานรัฐวิสาหกิจ ค้าขาย รับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โบสถ์หลังที่ 1

โบสถ์หลังแรกนั้นเริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2422 โดยบาทหลวงมาธือแรง ฟรังซัว มารี เกโก บาทหลวงเกโกได้อพยพชาวบ้าน และทาสมาทำการสำรวจหาพื้นที่ใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารกร้างว่างเปล่าประมาณ 15,000 ไร่ (ปัจจุบัน 13,000 ไร่) ไม่มีคนอาศัย มีแต่พวกสัตว์ร้าย บาทหลวงเกโกได้ซื้อปืนแก๊ป ปืนคาบหิน มากกว่า 30 กระบอกและปืนตั้งอีก 3 กระบอกสำหรับไล่ช้าง และสัตว์ร้ายต่าง ๆ ท่านปลูกบ้านไว้หลายหลัง และโบสถ์ชั่วคราวอีกหลังหนึ่งตรงใจกลางของพื้นที่ (ต่อมาให้ชื่อว่าโบสถ์นักบุญฟิลิปและยากอบ) 

โดยแรกเริ่มโบสถ์หลังแรกมีลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มีดอกบัวประดับอยู่บนหลังคา 6 ดอก ผนังเป็นไม้ไผ่ฉาบปูน ชั้นล่างไว้เก็บวัวเก็บควาย ด้านหน้ามีบันไดขึ้นลงเรียกว่า บันได้ดิน ดำเนินการก่อสร้างโดย หมอมาก ซึ่งเป็นทาสที่บาทหลวงเกโกได้ไถ่มา หมอมากท่านนี้มีความสามารถในการทำไม้ ในการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ และรอบ ๆ ตัววัดเป็นป่าพงไพรทั้งสิ้น มีแต่สัตว์ป่าอาศัยอยู่เช่น เสือ ช้าง ควายป่า หมูป่า กวาง ละมั่ง จระเข้ และงูพิษต่าง ๆ คุณพ่อต้องให้ลูกบ้านพกปืนกระบอก เพื่อไว้ไล่ช้างเป็นโขลง ๆ มีการสร้างโรงเรียนโดยการให้ใช้  ภาษาละตินในการสอน วัดหัวไผ่หลังแรกใช้งานมาทั้งสิ้น 49 ปี และได้ถูกรื้อถอนและสร้างโบสถ์หลังที่ 2 ขึ้นในสมัยของบาทหลวงยาโกเบ แจง เกิดสว่าง (ต่อมาได้รับการอภิเษกให้เป็นมุขนายกท่านแรกของมิสซังจันทบุรี) ปัจจุบันพื้นที่บริเวณโบสถ์หลังที่หนึ่งนี้ได้ทำการถมดินสูงและสร้าง ถ้ำแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ดไว้แทน ในสมัยของบาทหลวงเอวเยนบุญชู ระงับพิศม์ ขณะสร้างโบสถ์หลังที่สาม

โบสถ์หลังที่ 2

บาทหลวงยาโกเบ แจง เกิดสว่างมารับหน้าที่เป็นอธิการโบสถ์แทนบาทหลวงอเล็กซิส บาทหลวงยาโกเบ แจง เห็นว่าสภาพโบสถ์หลังที่บาทหลวงเกโกสร้างไว้นั้นชำรุดแล้ว จึงได้ส่งคำร้องขออนุญาตสร้างโบสถ์หลังใหม่กับพระคุณเจ้าเรอเน แปร์รอส และก็ได้รับการอนุมัติในเวลาต่อมา บาทหลวงยาโกเบ แจง จึงเริ่มลงมือในการสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้น โดยลักษณะของโบสถ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ 8-10 ห้อง มีเสาร่วมในการรับโครงสร้างหลังคา จั่วมีขนาดใหญ่เนื่องจากอาคารมีขนาดกว้างมาก และมีเสาริมผนังที่ยึดผนังอาคารการวางตัวอาคารวางในแกนนอนยาวในทางทิศตะวันออก ภายในแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนโถงทางเข้าด้านหน้า และส่วนร่วมชุมนุมประกอบพิธีกรรม ทั้งสองส่วนถูกแบ่งด้วยระดับพื้นเตี้ย ๆ ด้านหน้าบริเวณศักดิ์สิทธิ์ประกอบไปด้วยแท่นบูชา ที่นั่งประธาน ตู้เก็บศีลมหาสนิท โดยที่มีรูปนักบุญอยู่เหนือพระแท่นบูชา และในส่วนของที่ชุมนุมประกอบไปด้วยที่นั่งของสัตบุรุษ ซึ่งแยกฝั่งซ้ายเป็นส่วนของผู้หญิง และฝั่งขวาเป็นส่วนของผู้ชาย มีการเจาะช่องเปิดด้านข้างของอาคาร มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ประตู

และโบสถ์หลังที่สองหลังนี้เอง เคยเป็นที่อภิเษกบาทหลวงยาโกเบ แจง เกิดสว่าง เป็นมุขนายกไทยคนแรก โดยพระคุณเจ้าเรอเน แปรรอสเป็นผู้อภิเษกให้ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 และหลังจากได้รับการอภิเษกแล้วพระคุณเจ้ายาโกเบ แจง ยังได้ใช้โบสถ์หัวไผ่เป็นสำนักมิสซังแห่งแรกอีกด้วย (ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปทำการที่อำเภอศรีราชาแทนในสมัยของ พระคุณเจ้า ฟรังซิส เซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี) ปัจจุบันโบสถ์หลังที่ 2 นี้ได้แปรสภาพเป็นอาคารสงบ ในสมัยของบาทหลวงเอวเยน บุญชู ระงับพิศม์จนถึงปัจจุบัน

โบสถ์หลังที่ 3

บาทหลวงเอวเยนบุญชู ระงับพิษม์มาเป็นอธิการโบสถ์ ได้ทำการสร้างโบสถ์หลังที่ 3 ขึ้นแทนหลังเดิมที่ชำรุดจากการใช้งานและสงคราม โบสถ์หลังที่ 3 เป็นโบสถ์ทรงไทยยาว 36 วา หรือ 72 เมตร (ตามการตรึงพระเยซูที่กางเขนเมื่ออายุ 36 ปี) ความกว้าง 11 วา หรือ 22 เมตร สูง 2 ชั้น ลักษณะเป็นทรงไทยด้านหน้าของวัดประกอบด้วยยอดสุดมีกางเขน แทนช่อฟ้า ใบระกา และหวงหงษ์ มีจั่วหลังคาทรงสูง และมีแปรองรับจันทัน คานรองรับด้วยคันทวยหรือท้าวแขนที่ชายคา มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ประตู ด้านข้างด้านละ 1 ประตู ทั้งหมดมีทรงเปนจั่วแหลม และมีบัวหัวเสาทุกประตู ผนังก่อซีเมนต์ ด้านในประกอบไปด้วยชีบอรีอุมที่คลุมเหนือพระแท่นไว้ ซึ่งชีบอรีอุมนี้มีลักษณะเป็นทรงไทยมีช่อฟ้าเป็นกางเขน ใบระกา และหวงหงษ์สวยงาม ตรงกลางของชีบอรีอุมได้ห้อยกางเขนประธานของวัดไว้ ซึ่งปัจจุบันได้นำไปติดไว้ที่ผนังแทน ผนังด้านหลังของพระแท่นบูชาวาดเป็นรูปกลุ่มลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เสารองรับน้ำหนักของวัดจะประดับด้วยบัวหัวเสารูปกาบไผ่ และใบหอก และมีกรอบลายนูนต่ำลายลูกฟักลายประจำยาม จะต่อลายกันด้วยลายก้ามปูลายประจำยามบนผนังชั้นลอยของวัดทั้งหลัง และฝ้าเพดานของวัดมีลายดาวเพดาน หรือกลุ่มดาวกระจาย ทั่วทั้งเพดานวัด และหน้าต่างประกอบไปด้วยกระจกสีสวยงาม มีแท่นตู้ศีลศักดิ์สิทธิ์และแท่นนั้นก็มีลักษณะมีชีบอรีอุมคุลมไว้เช่นกันแต่มีขนาดย่อมกว่า โดยมีบาทหลวงเอวเยน บุญชู เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างด้วยตนเอง มูลค่า 1,700,000 บาท ลงมือสร้างครั้งแรกเมื่อ  11 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 วางศิลาฤกษ์เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 เปิดเสกเมื่อ 11 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2508 รวมระยะเวลาการสร้างทั้งหมด 5 ปี โบสถ์หลังที่ 3 เคยเป็นที่อภิเษกพระคุณเจ้าเทียนชัย สมานจิต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2514

โบสถ์หัวไผ่หลังปัจจุบันนี้มีลักษณะพิเศษคือมีชีบอรีอุมครอบพระแท่นไว้ เนื่องจากโบสถ์คาทอลิกในประเทศไทยไม่มีโบสถ์หลังไหนมีชีบอรีอุมครอบพระแท่นเช่นหลังนี้มาก่อนและในตอนนี้ โบสถ์หลังนี้อยู่ในการบูรณะ เนื่องจากฝ้าเพดานเริ่มผุและพังทลายลงมา คานปูนด้านล่างของโบสถ์  เริ่มกร่อนแตกร้าว เนื้อปูนเสื่อมสภาพ มากกว่า 70 เปอร์เซนต์ หลังจากทีมสำรวจของโบสถ์ได้ทำการสำรวจแล้ว บาทหลวงยอห์น บัปติส วีเชียร ฉันทพิริยะกุลซึ่งเป็นอธิการโบสถ์ในขณะนั้นมีความว่า เห็นสมควรที่จะต้องดำเนินการการรื้อถอนตัวโบสถ์และดำเนินการสร้างโบสถ์หลังหลังใหม่ต่อไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คุณพ่อฟรังซิส เซเวียร์ อานนท์ ตันชัย. (2566). ฉลองพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระวรกายรุ่งโรจน์ต่อหน้าอัครสาวก (วันสื่อมวลชนสากล). สารวัด วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่. 34(1750), หน้า 1-8.

เมื่อชุมชนคาทอลิกงัดข้อกับนายทุน. (2561). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://happeningbkk.com/post/8336

อุษร จันทร และมนัส แก้วบูชา. (2560). ภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนคาทอลิก วัดนักบุญฟิลิป–ยากอบ (หัวไผ่) อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี. วารสารศิลปกรรมบูรพา. 2(2), หน้า 174-189.