Advance search

แขนน

บ้านแขนนเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติอยู่ในเหตุการณ์สำคัญสมัยศึกถลาง โดยปัจจุบันชุมชนแห่งนี้โด่ดเด่นในด้านการรักษาอนุรักษ์และเผยแผ่วัฒนธรรมถลางดั้งเดิม ภายในชุมชนมีหมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง บ้านแขนนเป็นศูนย์กลางสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ แก่คนภายนอกที่เข้ามาเยือนชุมชน นอกจากนี้ชุมชนแห่งนี้ยังมีวัดเก่าแก่ชื่อว่า วัดแขนน ที่สืบอายุได้ราวสมัยอยุธยา โดยภายในวัดแห่งนี้แม้จะมีการบูรณะแต่ยังคงมีเจดีย์เก่าแก่เป็นโบราณสถานให้ได้ชม

หมู่ 2
บ้านแขนน
เทพกระษัตรี
ถลาง
ภูเก็ต
วีรวรรณ สาคร
6 ส.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
6 ส.ค. 2023
วีรวรรณ สาคร
7 ส.ค. 2023
บ้านแขนน
แขนน

ความเป็นมาของชื่อบ้านแขนนนั้น มีที่มาไม่ชัดเจนนัก สันนิษฐานว่า คำว่า "แขนน" น่าจะมาจาก 2 แบบ คือ ในประการแรก อาจมาจากในอดีตหมู่บ้านอยู่ติดกับเขาพระแทว ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของเมืองถลาง ทำให้มีลำธารหลายสายไหลผ่านหมู่บ้าน ในสมัยก่อนนั้นลำธารเหล่านี้เรียกว่า "บาง" ดังนั้นเมื่อมีบางหรือลำธารหนาแน่น จึงเรียกกันว่า "บ้านบางแน่น" หรือ อีกประการหนึ่งมีการเล่าว่าเดิมหมู่บ้านนี้มีชื่อเสียงในเรื่องของการทำเสน่ห์ยาแฝด และคุณไสยต่างๆ ผู้หญิงมักจะมาหาหมอทำเสน่ห์ที่หมู่บ้านนี้เป็นประจำ จึงเป็นที่กล่าวขาน และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านเหน่" ตามภาษาพูดของชาวภาคใต้ที่แปลว่า "บ้านเสน่ห์" นั่นเอง ทั้งนี้แม้ที่มาจะไม่มีที่มาแน่ชัดว่ามาจากสิ่งใดแต่ต่อมาชุมชนแห่งนี้ได้มีชาวจีนอพยพมาทำเหมืองแร่ในจังหวัดภูเก็ต และได้มาตัดไม้ที่เขาพระแทว เพื่อไปทำเหมืองทำให้ชื่อหมู่บ้านอาจเพี้ยนตามภาษาพูดของคนจีน จาก "บางแน่น" หรือ "บ้านเหน่" เป็น "บ้านแหน่" ซึ่งคำนี้เมื่อทางการมีการกำหนดเขตพื้นที่การปกครอง และกำหนดให้ตั้งชื่อหมู่บ้าน ทางการจึงตั้งชื่อใหม่เพื่อให้สามารถออกเสียงได้ง่ายจาก "บ้านแหน่" เป็น "บ้านแขนน" และได้ใช้ชื่อดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

บ้านแขนนเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติอยู่ในเหตุการณ์สำคัญสมัยศึกถลาง โดยปัจจุบันชุมชนแห่งนี้โด่ดเด่นในด้านการรักษาอนุรักษ์และเผยแผ่วัฒนธรรมถลางดั้งเดิม ภายในชุมชนมีหมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง บ้านแขนนเป็นศูนย์กลางสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ แก่คนภายนอกที่เข้ามาเยือนชุมชน นอกจากนี้ชุมชนแห่งนี้ยังมีวัดเก่าแก่ชื่อว่า วัดแขนน ที่สืบอายุได้ราวสมัยอยุธยา โดยภายในวัดแห่งนี้แม้จะมีการบูรณะแต่ยังคงมีเจดีย์เก่าแก่เป็นโบราณสถานให้ได้ชม

บ้านแขนน
หมู่ 2
เทพกระษัตรี
ถลาง
ภูเก็ต
83110
8.033046847124652
98.34867761976702
องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกษัตรี

ชุมชนแขนน ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งมีหลักฐานยืนยัน คือ วัดแขนน อันเป็นวัดร้างโบราณที่มีสถูป 3 องค์ โดยนักโบราณคดีมีการลงไปสำรวจและพบว่าวัดแห่งนี้มีอายุประมาณราวสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นวัดที่ประชาชนที่ตั้งชุมชนบริเวณนี้ร่วมกันสร้างขึ้น จุดนี้จึงคาดว่าก่อนมีวัดที่แห่งนี้น่าจะมีชุมชนมาแล้ว นอกจากนี้ชุมชนแห่งนี้ยังปรากฎเป็นความสำคัญอีกครั้งในสมัยสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2352 ที่พม่ายกทัพมาตีเมืองถลาง จะพบว่าในช่วงเวลานั้นชาวบ้านจากชุมชนแขนนได้เป็นกำลังสำคัญในการสู้รบกับพม่าเคียงบ่าเคียงไหล่ กับท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ด้วยในสมัยนั้น ทั้งนี้ความเป็นมาของชื่อบ้านแขนนนั้น มีที่มาไม่ชัดเจนนักในอดีตไม่ได้ใช้ชื่อว่า "แขนน" เช่นเดียวกับในปัจจุบัน สันนิษฐานว่า คำว่า "แขนน" น่าจะมาจาก 2 แบบ คือ ในประการแรก อาจมาจากในอดีตหมู่บ้านอยู่ติดกับเขาพระแทว ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของเมืองถลาง หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่อยู่ด้านหน้าของเขาพระแทว ทำให้มีลำธารหลายสายไหลผ่านหมู่บ้าน ในสมัยก่อนนั้นลำธารเหล่านี้เรียกว่า "บาง" ดังนั้นเมื่อมีบางหรือลำธารหนาแน่น จึงเรียกกันว่า "บ้านบางแน่น" หรือ อีกประการหนึ่งมีการเล่าว่าเดิมหมู่บ้านนี้มีชื่อเสียงในเรื่องของการทำเสน่ห์ยาแฝด และคุณไสยต่างๆ ผู้หญิงมักจะมาหาหมอทำเสน่ห์ที่หมู่บ้านนี้เป็นประจำ จึงเป็นที่กล่าวขาน และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านเหน่" ตามภาษาพูดของชาวปักษ์ใต้ หรือ "บ้านเสน่ห์" นั่นเอง ทั้งนี้แม้ที่มาจะไม่มีที่มาแน่ชัดว่ามาจากสิ่งใดแต่ต่อมาชุมชนแห่งนี้ได้มีชาวจีนอพยพมาทำเหมืองแร่ในจังหวัดภูเก็ต และได้มาตัดไม้ที่เขาพระแทว เพื่อไปทำเหมืองทำให้ชื่อหมู่บ้านอาจเพี้ยนตามภาษาพูดของคนจีน จาก "บางแน่น" หรือ "บ้านเหน่" เป็น "บ้านแหน่" ซึ่งคำนี้เมื่อทางการมีการกำหนดเขตพื้นที่การปกครอง และกำหนดให้ตั้งชื่อหมู่บ้าน ทางการจึงตั้งชื่อใหม่เพื่อให้สามารถออกเสียงได้ง่ายจาก "บ้านแหน่" เป็น "บ้านแขนน" และได้ใช้ชื่อดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2537 ชุมชนแขนนได้มีการฟื้นฟูวัดร้าง (วัดแขนน) ที่ร้างไป 150 ปี ให้กลับมาอีกครั้งเพราะวัดแห่งนี้มีกองสถูปเจดีย์ที่สำคัญเป็นที่นับถือของชาวบ้านเป็นอย่างมากและทางการกลัวว่าหากทิ้งร้างไว้จะเกิดผลเสียกับวัดแห่งนี้จึงมีการบูรณะวัดขึ้นโดยขอกำลังพลจากชาวบ้านในชุมชน ซึ่งชาวบ้านก็ได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดีจนเกิดการรวมพลกันขึ้นมที่วัดในการบูรณะ ทั้งนี้ระหว่างการบูรณะวัดแห่งนี้พบว่าได้ทำให้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมเดิม รวมถึงวิถีชีวิตเดิมของผู้คนกลับมาอีกครั้งด้วย กล่าวคือ ในการบูรณะวัดนี้ได้รื้อฟื้นการก่อสร้างแบบเก่าดั้งเดิมขึ้นมา เพราะด้วยขณะสร้างวัดไม่ได้มีเงินสนับสนุนมากนักเพราะไม่ได้มีผู้มีทุนมาร่วมช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ผู้นำก่อสร้างจะเป็นชาวบ้านทั่วไปโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ว่างระดมพลกันลงแขกก่อสร้าง ดังนั้นการก่อสร้างวัดแห่งนี้จึงก่อสร้างแบบใช้วัสดุธรรมชาติและการก่อสร้างแบบดั้งเดิมโบราณ ซึ่งจุดนี้ก่อให้เกิดการรื้อฟื้นการก่อสร้างรูปแบบเดิมที่เคยมีในชุมชน นอกจากนี้ระหว่างการบูรณะวัดด้วยมีผู้คนหมู่มากมาอยู่อาศัยร่วมกัน ทำให้ต้องมีการทำอาหารให้แก่ผู้ที่มาบูรณะวัดเหล่านี้รับประทาน แต่ด้วยทุนขณะนั้นไม่ได้มีมากจึงต้องใช้วิธีอาหารการกินแบบสมัยออกรบ คือเหล่าผู้หญิงที่รับผิดชอบทำอาหารต้องหาพืชผักธรรมชาติตามป่าในชุมชนที่พอหาได้เอามาเป็นวัตถุดิบทำอาหาร จุดนี้จึงก่อให้เกิดการฟื้นฟูวัฒนธรรมการกินอาหารแบบพื้นถิ่นดั้งเดิมขึ้นมาเช่นกัน ทั้งนี้ในขณะที่บูรณะวัดของชาวบ้าน ทางภาคการศึกษาในจังหวัดภูเก็ตได้มีการสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่เด็กนักเรียน จึงทำให้มีการหาสถานที่อันที่จะเรียนรู้แก่เด็กๆเหล่านี้ได้ ซึ่งสถานที่วัดแขนนที่ชาวบ้านกำลังรวมพลก่อสร้างนี้ถือเป็นพื้นที่เหมาะต่อการเรียนรู้ภูมิปัญญาพอดี เพราะชาวบ้านมีการใช้วิธีก่อสร้างแบบดั้งเดิมและอาหารการกินที่อยู่ที่นี้ชาวบ้านก็มีการฟื้นฟูอาหารถิ่นแบบเก่าๆขึ้นมา ทางโรงเรียนจึงมีการพาเด็กต่างๆมาดูงานมาศึกษาที่วัดแห่งนี้จนต่อมากลายเป็นที่สามารถศึกษาสัมผัสวิถี ภูมิปัญญาดั้งเดิมได้ หลังการบูรณะวัดเรียบร้อย ซึ่งใช้เวลาบูรณะกว่า 7 ปี วัดแห่งนี้ก็มีเสนาสนะครบ มีทั้งศาลาการเปรียญ มีกุฎิ มีโรงครัว และสิ่งก่อสร้างต่างๆในวัดมากมาย ซึ่งด้วยความสมบูรณ์พอที่จะเป็นวัดกลับมาอีกครั้งได้นี้ทางจังหวัดจึงได้ส่งเรื่องให้กรมศาสนา ซึ่งเมื่อกรมศาสนาได้ทราบข่าวจึงมาดูที่วัดแห่งนี้และเห็นว่าสามารถยกฐานะสถานที่วัดนี้ที่แต่เดิมเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นเป็นวัดได้ จึงมีการยกให้ที่แห่งนี้เป็นวัดแขนนอีกครั้ง หลังการเป็นวัดอย่างสมบูรณ์ ชาวบ้านที่ทำงานร่วมกันมา 7 ปี ยังอยากมีจุดรวมพลและมีพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ที่สะสมสมในช่วงบูรณะ จึงมีแนวคิดที่ต้องการสถานที่ใหม่ในการรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆกัน เพราะเดิมวัดแห่งนี้ถือเป็นสถานที่รวมตัวกันของชาวบ้านเหล่านี้แต่ด้วยสถานที่นี้ได้กลายเป็นวัดที่สมบูรณ์ที่ควรเป็นสถานที่สงบ ชาวบ้านจึงต้องหาสถานที่ใหม่ โดยได้ใช้พื้นที่สวนยางขนาด 6 ไร่ ที่อยู่กลางหมู่บ้านเป็นสถานที่ชุมชน ซึ่งสถานที่นี้เดิมเป็นที่เอกชนของชาวบ้านรายหนึ่ง ซึ่งเจ้าของที่ก็ยินยอม จึงมีการสร้างพื้นที่รวมตัวของชาวบ้านขึ้นมาบริเวณนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ต่อมาทางโรงเรียนต่างๆที่เคยมาดูศึกษาชาวบ้านครั้นสมัยบูรณะวัดเห็นว่าชาวบ้านย้ายจุดรวมพลมาบริเวณนี้ จึงร้องขอให้มีการใช้บริเวณนี้สืบทอดสืบสานเผยแพร่วิถีชีวิต วัฒนธรรม องค์ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับทั้งชุมชนแขนนและอำเภอถลางต่อ ซึ่งชาวบ้านเองก็เห็นด้วยและตัวชาวบ้านพอจะมีความรู้อยู่บ้างจึงทำให้บริเวณนี้ปรับเป็นแหล่งเรียนรู้และก่อเกิดเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมถลางขึ้นมา ส่งผลให้ต่อมาสถานที่นี้จึงเป็นสถานที่แหล่งความรู้ของนักเรียน นักศึกษา ที่จะเข้ามาเรียนรู้ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ทั้งนี้สถานที่นี้ได้ค่อยๆพัฒนาสิ่งต่างๆอันเป็นสิ่งที่นำเสนอความรู้ที่ได้สั่งสมมาเรื่อยๆ มีการก่อสร้าง มีการจัดสถานที่ มีการจัดองค์ความรู้ให้เป็นแบบฉบับมากขึ้น จนต่อมานอกจากเป็นแหล่งศึกษาของนักเรียน นักศึกษาแล้วยังกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอีกด้วย

ชุมชนแขนนปัจจุบันโดดเด่นอย่างมากในการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ของพื้นถิ่นถลาง ผู้คนต่างๆทั้งนักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยว จากทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ภูเก็ตต่างเข้ามาเพื่อเรียนรู้ในชุมชนนี้จำนวนมาก ทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายมาเป็นชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต

ชุมชนแขนน ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ชุมชนแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร ตัวชุมชนห่างจากที่ว่าการอำเภอถลางไปประมาณ 1.57 กิโลเมตร และ ห่างจากองค์การบริหาสรส่วนตำบลเทพกษัตรี 1.88 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ 7 บ้านนาใน
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่ 1 บ้านเคียน
  • ทิศตะวันออก ติดกับ อุทยานแห่งชาติน้ำตกโตนไทร
  • ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ 1 บ้านเคียน

ลักษณะภูมิศาสตร์

ลักษณะพื้นที่ของชุมชนบ้านแขนนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เชิงเขาและพื้นที่ราบ สภาพดินเป็นดินร่วนปนดินเหนียว มีแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติจากเขาพระแทวเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร

สภาพอากาศ

สภาพภูมิอากาศในชุมชนแขนนมีลักษณะเช่นเดียวกันกับลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นแบบเขตศูนย์สูตร อยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนชื้นตลอด ประกอบด้วย ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนพฤศจิกายน และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึง เดือนเมษายน

การเดินทางเข้าสุ่ชุมชน

สามารถเดินทางเริ่มจากตัวเมืองภูเก็ตผ่านแยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ไปตามถนนเทพกระษัตรี จนถึงสี่แยกถลาง (สี่แยกบ้านเคียน) เข้ามาทางน้ำตกโตนไทรประมาณ 2.2 กม.จะเจอชุมชนแขนน

ชุมชนแขนน หมู่ 2 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีจำนวนประชากรทั้งหมดคือ 221 คน ชาย 102 คน หญิง 119 คน และมีจำนวนครัวเรือน 101 หลัง ชาวบ้านภายในชุมชนแห่งนี้มักมีการประกอบอาชีพ ทำสวน ยางพารา เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย รับจ้าง เป็นต้น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวบ้านชุมชนแขนนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ทำให้เวลามีกิจกรรมทางศาสนาพุทธชาวบ้านก็จะไปร่วมกิจกรรมที่วัดอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนยังมีความเชื่อและความเคารพในเรื่องระบบเครือญาติสูง ทำให้มีการไหว้ตายายหรือบวงสรวงศาลตายายกันอยู่เป็นประจำทุกปี

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีเดือนสิบหรือสารทไทย ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 และ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 แต่ละวัดในอำเภอถลางและบางแห่งภูเก็ตจะมีการจัดงานขึ้น ซึ่งการจัดแล้วแต่ว่าวัดจะจัดในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 หรือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งวัดพระทองใกล้ชุมชนแขนนได้จัดในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ทั้งนี้ประเพณีนี้ถือเป็นประเพณีประจำปีของชาวไทยพุทธที่สืบทอดต่อกันมานาน เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยผู้คนเชื่อกันว่าเดือนนี้ยมบาลจะมีการปล่อยภูตผี และวิญญาณต่าง ๆ ให้ออกมารับเอาส่วนบุญ ดังนั้นลูกหลานที่รักบรรพบุรุษก็จะมีการนำของ คาวหวานต่าง ๆ มาทำบุญและให้ทานกันที่วัด ซึ่งชาวบ้านแขนนมักจะทำบุญในประเพณีนี้กันอยู่เป็นประจำทุกปี

งานท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร .ในวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกษัตรีร่วมกับราชการและภาคเอกชน จะมีการจัดงานระลึกถึงบรรพชนผู้กล้า โดยภายในงานจะมีการบวงสรวงบรรพชนผู้กล้าเมืองถลาง มีพิธีวงพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์สี่แยกท่าเรือ มีการแข่งขันกีฬาบนเส้นทางประวัติศาสตร์ และมีการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งงานนี้ชาวบ้านจากชุมชนต่างๆรวมถึงชุมชนแขนนมักจะมาร่วมชื่นชมต่างๆภายในงานอยู่เสมอ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางกายภาพ

น้ำตกโตนไทร ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของ ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง อยู่ติดกับหมู่บ้านแขนน โดยน้ำตกนี้เกิดจากสายน้ำสองสายไหลมารวมกันเป็นสายน้ำตก ตัวน้ำตกสูงไม่มากนัก มีแอ่งน้ำเล็กๆ ที่สามารถลงเล่นน้ำได้ ซึ่งอยู่ภายใต้ต้นไทรใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุม จึงเรียกกันว่า “น้ำตกโตนไทร โดยน้ำตกโตนไทรพบว่ามีบรรยากาศร่มรื่นและมีความเป็นธรรมชาติที่สวยงามมาก ทำให้มักมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชื่นชมอยู่เสมอจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญของภูเก็ต

ทุนทางวัฒนธรรม

หมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง บ้านแขนน ตั้งอยู่กลางที่หมู่ 2 ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต สถานที่นี้ก่อสร้างเมื่อพ.ศ. 2544 แต่เดิมเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านหลังการบูรณะวัดแขนนเสร็จ แต่ต่อมาเมื่อทางโรงเรียนต่างๆผลักดันให้ใช้สถานที่นี้เป็นแหล่งเรียนรู้จึงมีการปรับใช้สถานที่นี้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม-ภูมิปัญญา วิถีชีวิตของเมืองถลางในอดีต (จังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน) ทั้งนี้หน้าที่หลักของหมู่บ้านวัฒนธรรมถลางนั้นนอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้สอนวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมถลางแล้ว ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานทางด้านวัฒนธรรม วิถีชุมชน ทั้งเรื่องอาชีพ หัตถกรรม การแสดง อาหารพื้นเมือง ของว่างพื้นเมือง ขนมโบราณ ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงชุมชน เป็นแหล่งศึกษาดูงานเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ รวมถึงเป็นแหล่งดูการจัดการกิจกรรมการลงแขกโบราณ จิตอาสา อยู่ร่วมกันเป็นเครือญาติ ร่วมกันทำงานแบ่งปันผลประโยชน์ แบ่งรายได้ สร้างงาน สร้างกิจกรรมให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ทั้งนี้ภายในหมู่บ้านวัฒนธรรมแห่งนี้พบว่ายังมีกิจกรรมต่างๆให้แก่ผู้ที่เดินทางเข้ามาได้ลองทำ จุดนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มากขึ้น โดยทางหมู่บ้านวัฒนธรรมถลางบ้านแขนนจะมีการสร้างฐานกิจกรรมต่างๆ รวมถึงแหล่งความรู้ต่างๆดังนี้

  • 1. ฐานความรู้ ฐานนี้มีการเล่าถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน มีการแสดงรำโนราโชว์ศิลปะเอกลักษณ์ ของภาคใต้ และมีการสอนโดยประยุกต์ระหว่างการเต้นแอโรบิคกับโนราห์ เรียกว่า “โนราบิก” เพื่อให้ผู้ที่ฝึกไม่รู้สึกว่ายากเกินไป
  • 2. ฐานปรุงอาหาร ฐานนี้เน้นเรื่องการปรุงอาหารโดยใช้สมุนไพรพื้นบ้าน เริ่มตั้งแต่ การทำเกลือเคย การทำน้ำพริกหยำที่นำเอาสมุนไพรมาขยำรวมกันกับกุ้งสด ต้มส้มที่ใส่ส้มควายอันมีรสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็ม เป็นต้น
  • 3. ฐานขนม จะมีทั้งหมด 3 ฐาน ได้แก่ ขนมโค ที่เป็นขนมพื้นเมือง ขนมครกโบราณ การการทำข้าวหลามสูตรดั้งเดิม โดยแต่ละฐานจะได้ทำจริงกินจริง
  • 4. ฐานงานประดิษฐ์ ฐานนี้สอนประดิษฐ์ของเล่นที่ทำจากใบมะพร้าว สานเป็นรูปปลารูปสัตว์ต่างๆ
  • 5. บ้านโบราณ เป็นแหล่งที่แสดงรูปแบบบ้านไม้เก่าแก่

ปัจจุบันหมู่บ้านวัฒนธรรมถลางแห่งนี้เปิดให้เข้ามาศึกษาและสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ทุกวันแต่ผู้ที่จะเข้ามาจะต้องโทรมาจองล่วงหน้าก่อนเพื่อให้มีการจัดสถานที่และเตรียมกิจกรรมไว้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

วัดแขนน ตั้งวัดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2544 จากการบูณะของประชาชนในปี พ.ศ.2537 แต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นวัดร้าง จากหลักฐานทางโบราณคดีคาดว่าวัดแขนนอาจสร้างขึ้นและถูกใช้งานในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย และในช่วง 100-150 ปีที่ผ่านมาได้ร้างลงเนื่องจากเกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน ซึ่งเรียกว่า “โรคห่าลง” ทั้งนี้ภายในวัดแห่งนี้มีสิ่งโดดเด่นหลายประการ ดังนี้

  • 1. เจดีย์ 3 องค์ที่เรียงกันทางทิศตะวันตกภายในวัด ซึ่งองค์เจดีย์นี้เป็นองค์เจดีย์เก่าแก่คู่กับวัดตั้งแต่ก่อนบูรณะ ชาวบ้านเชื่อกันว่าน่าจะเป็นอนุสรณ์หรือที่เก็บกระดูกของบุคคลสำคัญในสมัยก่อน คือ เจดีย์องค์ที่ 1 บรรจุกระดูก แม่ชี เจดีย์องค์ที่ 2 บรรจุกระดูก พ่อท่านไชยคีรี เจดีย์องค์ที่ 3 บรรจุกระดูก ทหารของท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทร 
  • 2. โบสถ์สีขาว โบสถ์นี้เป็นโบสถ์สร้างใหม่ลักษณะคล้ายวัดร่องขุ่น ซึ่งปัจจุบันยังสร้างไม่เสร็จแต่คาดว่าหากสร้างเสร็จแล้วจะถือเป็นจุดที่น่าสนใจโดดเด่นแห่งหนึ่งของวัดนี้
  • 3. ศาลตาทวดทั้ง 9 ตามประวัติสมัยสงคราม 9 ทัพ ผู้กล้า 9 ท่าน ได้แก่ ขุนศรีนครินทร์ ขุนฟ้า ขุนอ้อ ตาทิดหน่อย ขุนไกร ตายมดึง ขุนจัน ขุนศึก และตาศรีทอง ได้เป็นแกนนำชาวบ้านแขนนในการช่วยท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทรรบในสงคราม ซึ่งชาวบ้านนับถือพวกท่านมากจึงมีการสร้างศาลไว้กราอบไหว้ที่วัดแขนน
  • 4. รูปปั้นท่านพ่อไชยคีรี ชาวบ้านมีความเชื่อว่าวัดแขนนแห่งนี้มีวิญญาณพระศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านอยู่ ซึ่งก็คือท่านพ่อไชยคีรีผู้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ดังนั้นจึงมีการสร้างรูปปั้นท่านไว้ที่ศาลาการเปรียญเพื่อเป็นตัวแทนให้ชาวบ้านกราบไหว้ 

วัดพระทอง ตั้งอยู่ในซอยวัดพระทอง ตำบล เทพกระษัตรี อำเภอ ถลาง ภูเก็ต ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2328 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ภายในวัดแห่งนี้ มีพระพุทธรูปโบราณ มีลักษณะครึ่งองค์โผล่จากพื้น และมีอีกเรื่องเล่าว่า เมื่อคราวพระเจ้าปดุงมาตีเมืองถลางก็พยายามขุดพระไปด้วย แต่ไม่สามารถนำขึ้นได้เช่นกัน จึงสร้างพระครึ่งองค์ครอบไว้เรียกว่า พระผุด จนเมื่อพระธุดงค์มาปักกลดบริเวณนี้แล้วสร้างวัด โดยอัญเชิญพระผุดเป็นพระประธานในโบสถ์ กล่าวกันว่าพระผุดเป็นพระทองคำ จึงพอกปูนทับลงไปอีกครั้งดังที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งนี้นอกจากพระผุดที่โดดเด่นแล้ว ภายในวัดแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์อยู่ข้างโบสถ์พระทองที่โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยพิพิธภัณฑ์นี้เป็นแหล่วงรวบรวมโบราณวัตถุและเครื่องใช้ของชาวภูเก็ตที่ชาวบ้านนำมาบริจาค โดยของที่จัดแสดง เช่น จั่งซุ้ยหรือเสื้อกันฝนของชาวเหมืองแร่ เสี่ยหนา ซึ่งเป็นเครื่องจักสานคล้ายตะกร้า มีฝาเปิดปิดได้ รองเท้าตีนตุก กริชของชาวมุสลิมหลายรูปแบบ เป็นต้น

โนราบิก เกิดขึ้นที่ชุมชนแขนนเป็นที่แรก ซึ่งผู้คิดค้นคือ คุณกัลยา จันทวงศ์ โดยโนราบิกนี้เป็นการประยุกต์ท่ารำการแสดงโนราเข้ากับแอโรบิกที่สนุกสนาน มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการออกกำลังกายพร้อมการรักษาอนุรักษ์ศิลปะพื้นถิ่นอย่างโนราไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ท่ารำโนราบิกของชุมชนแขนนมีการดัดแปลงท่ารำโนราจนได้จำนวน 19 ท่ามาตรฐาน ซึ่งในแต่ล่ะท่าของโนราบิก จะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนเลือด ความยืดหยุ่นและความสมดุลของร่างกาย ปัจจุบันท่ารำโนราบิกเหล่านี้ได้ใช้เป็นกิจกรรมแก่ผู้ที่เข้ามาหมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง บ้านแขนน อีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวบ้านแขนน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/80190.

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). น้ำตกโตนไทร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/2677.

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง บ้านแขนน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/306.

คมชัดลึก. (2553). "บ้านแขนน" ชุมชนวัฒนธรรมมีลมหายใจ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.komchadluek.net/entertainment/52116.

ชุมชนท่องเที่ยวบ้านแขนน (หมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง). (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก http://pcc.psu.ac.th/phuketcommunitytourism/index/community?commid=3.

ชุมชนบ้านแขนน. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://meeza11779a.wordpress.com/ประวัติจังหวัดภูเก็ต/แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒ/ชุมชนบ้านแขนน/.

โชติกา เชื้อนาคา. (2555). กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนบ้านแขนน ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต.

ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. (2563). เจดีย์วัดแขนน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/269.

ประเพณีสารทไทย. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://ketwarin05.wordpress.com/ประเพณี/ประเพณีสารทไทย/.

โพสต์ทูเดย์. (2560). บ้านแขนนแห่งเมืองถลาง พิพิธภัณฑ์มีชีวิตกลางเมืองศิวิไลซ์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.posttoday.com/politics/502226.

วิกิพีเดีย. (2566). วัดแขนน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดแขนน.

วิกิพีเดีย. (2566). วัดพระทอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระทอง.

ศุภาภร รุ่งอุดม. (2547). การศึกษาโปรแกรมกิจกรรมนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุบ้านแขนน จังหวัดภูเก็ต. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการนันทนาการ คณะพลศึกษา มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2555). พิพิธภัณฑ์วัดพระทอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1196.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสรางเสริมสุขภาพ. (2560). โนราบิก ศิลปะพื้นบ้านภาคใต้ เพื่อคนทั้งประเทศ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thaihealth.or.th/โนราบิก-ศิลปะพื้นบ้านภา/.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (ม.ป.ป.). น้ำตกโตนไทร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://naturalsite.onep.go.th/site/detail/140.

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต. (ม.ป.ป.). ประเพณีที่ปฏิบัติประจำทุกปีของจังหวัดภูเก็ต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก http://164.115.23.164/phuket/index.php/tradition.

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านแขนน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/community/content/63/.

องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกษัตรี. (2559). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2557-2560). ภูเก็ต: องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกษัตรี.

ออกกำลังแบบ“โนราบิก” วิถี“มิกซ์เอกซ์เซอร์ไซส์”. (2553). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/qol/detail/9530000030223.

PITCHAORN. (2558). หมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง บ้านแขนน แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองภูเก็ต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://live.phuketindex.com/th/culture-center-thalang-phuket-8901.html.