ชาวผู้ไทบ้านน้อมเกล้ามีพิธีกรรมการรักษาโรคประจำกลุ่มชาติพันธุ์ คือ “พิธีกรรมเหยา” ซึ่งถือเป็นสัญญะทางมโนทัศน์ที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อดั้งเดิมของชาวผู้ไท
ชาวผู้ไทบ้านน้อมเกล้ามีพิธีกรรมการรักษาโรคประจำกลุ่มชาติพันธุ์ คือ “พิธีกรรมเหยา” ซึ่งถือเป็นสัญญะทางมโนทัศน์ที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อดั้งเดิมของชาวผู้ไท
“ผู้ไท” หรือ “ภูไท” คือ ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณดินแดนภาคอีสานของไทย ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สำหรับประวัติความเป็นมาของชาวผู้ไท สันนิษฐานว่าชาวผู้ไทเคยอาศัยอยู่แถบสิบสองจุไทมาก่อน ก่อนถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทย สมัยสงครามปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยส่วนใหญ่เข้ามาอาศัยอยู่ในภาคอีสานแถบบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง
ชาวผู้ไทที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยโสธร สันนิษฐานว่าเป็นชาวผู้ไทจากเมืองวังที่อพยพเข้ามาภายหลังปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2387 แล้วมาสร้างบ้านเรือนอยี่ที่เมืองหนองสูง (มุกดาหาร) ต่อมาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ชาวผู้ไทบางส่วนจึงได้แยกตัวย้ายออกไปสร้างที่อยู่อาศัยในจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียง เช่น ร้อยเอ็ด ยโสธร โดยเลือกทำเลที่ตั้งบริเวณใกล้ภูเขาและป่าไม้ ซึ่งมีความเหมาะสมกับการทำไร่ ทำนา และหาของป่า สำหรับชาวผู้ไทบ้านน้อมเกล้า คาดว่าอาจอพยพเข้ามาพร้อมกับชาวผู้ไทที่เมืองตะโปน (ปัจจุบัน คือ เมืองเสนางคนิคม) และผู้ไทจากเมืองคำเขื่อนแก้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้วตั้งถิ่นฐานปักหลักที่บริเวณนี้มาจนปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศบ้านน้อมเกล้าเป็นพื้นที่ป่าโปร่ง พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตร ส่งผลให้บ้านน้อมเกล้ามีอากาศร้อนจัดในฤดูร้อน และหนาวจัดในฤดูหนาว บ้านน้อมเกล้ามีป่าชุมชน เป็นป่าอนุรักษ์ที่มีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจไร้ตัวตนที่เชื่อว่ามีอยู่ในธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมเชิงนิเวศอนุรักษ์ต่าง ๆ ของชาวบ้านน้อมเกล้าและตำบลบุ่งค้า เช่น โครงการปลูกป่าชุมชน เป็นต้น
ประชากร
บ้านน้อมเกล้า หมู่ที่ 17 ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร มีประชากร 175 ครัวเรือน 660 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 335 คน และประชากรหญิง 325 คน ประชากรในหมู่บ้าน คือ ชาวผู้ไท
การสืบสายสกุล
ในอดีตการสืบสายสกุลของชาวผู้ไทบ้านน้อมเกล้า พ่อแม่มักจะมอบมรดกให้กับลูกชาย เพราะถือว่าลูกสาวต้องแต่งงานออกไปสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่กับสามี ส่วนปัจจุบันลูกทุกคนมีสิทธิได้รับมรดกจากพ่อแม่อย่างเท่าเทียมกัน แต่จะแบ่งส่วนหนึ่งไว้ให้ผู้ที่ทำหน้าที่เลี้ยงพ่อแม่จนตาย เรียกว่า “พูดพ่อแม่”
ผู้ไทอาชีพหลัก: รายได้หลักของชาวผู้ไทบ้านน้อมเกล้ามาจากการทำงานในภาคการเกษตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ข้าวที่นิยมปลูก คือ ข้าวหอมมะลิ นอกจากนี้ยังมีการทำไร่มันสำปะหลัง ปอ และแตงโม ควบคู่ไปกับการทำนา
อาชีพเสริม: ค้าขาย รับจ้าง และรับราชการ
ชาวผู้ไทบ้านน้อมเกล้ามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย เวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการทำงานในภาคการเกษตร เนื่องจากเป็นรายได้หลักของคนในชุมชน ด้านความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม มีความคล้ายคลึงกับชาวอีสาน มีกิจกรรมส่วนรวมที่ถือปฏิบัติมาอย่างยาวนาน คือ กิจกรรมประเพณีสิบสองเดือน หรือฮีตสิบสอง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวบ้านทุกหลังคาเรือน
ชาวผู้ไทมีพิธีกรรมประจำกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพ คือ “พิธีเหยา”
“พิธีกรรมเหยา” เป็นวิชาการแพทย์ทางจิตวิญญาณ ซึ่งถือเป็นสัญญะทางมโนทัศน์ที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อดั้งเดิมของชาวผู้ไท คือ การนับถือผี ในอดีตเมื่อสมาชิกในครอบครัวเกิดความเจ็บป่วย ชาวผู้ไทมักเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผี เนื่องจากผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวไปกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สร้างความไม่พอใจแก่ผี ผีจึงลงโทษบันดาลให้เกิดความเจ็บป่วย ฉะนั้นจึงต้องทำพิธีแก้โดยการติดต่อเจรจากับผีว่าผีต้องการสิ่งใด ในขั้นตอนนี้จะมี “หมอเหยา” เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม เรียกว่า “พิธีเหยา” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพิธีกรรมเหยาจะเป็นวิธีการรักษาโรคที่นับได้ว่าสวนทางกับความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ แต่ก็ยังคงปรากฏให้เห็นทั่วไปในสังคมของชาวผู้ไท เช่นเดียวกับบ้านน้อมเกล้าที่ปัจจุบันยังมีการสืบทอดพิธีกรรมเหยาอยู่ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะความเชื่อดั้งเดิมที่หยั่งรากลึกในจิตใจของชาวผู้ไทบ้านน้อมเกล้ายังไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าอิทธิพลจากศาสนาจะเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ชาวผู้ไทบางส่วนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ฯลฯ ถึงกระนั้นก็เป็นไปควบคู่กับการมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยึดถือเคารพดวงวิญญาณบรรพบุรุษ และเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยที่ไม่อาจทราบสาเหตุทั้งหมด น่าจะเกิดจากการกระทำของผีเป็นมูลเหตุสำคัญ พิธีกรรมเหยา ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำหรับหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยเหล่านี้ จึงถือเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อวิถีชีวิตของชาวผู้ไททุกพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
ภาษาพูด : ภาษาผู้ไท
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566].
พิสิฏฐ์ บุญไชย. (2542). ความรู้ ความเชื่อ ในการใช้สมุนไพรรักษาสุขภาพของชาวผู้ไทยจังหวัดยโสธร (รายงารการวิจัย). สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.