ชุมชนตลาดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่รัตนโกสินทร์ ภายในตลาดแห่งนี้ปัจจุบันโดดเด่นด้วยขนมและอาหารที่มีรสชาติอร่อยที่ใครผ่านมาจะต้องซื้อสินค้าที่เป็นของฝากกลับไปทุกครั้ง นอกจากนี้ยังโดดเด่นด้วยบรรยากาศอาคารบ้านเรือนที่บางส่วนที่ยังคงมีสภาพเก่าแก่แบบในอดีตอยู่
ชุมชนตลาดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่รัตนโกสินทร์ ภายในตลาดแห่งนี้ปัจจุบันโดดเด่นด้วยขนมและอาหารที่มีรสชาติอร่อยที่ใครผ่านมาจะต้องซื้อสินค้าที่เป็นของฝากกลับไปทุกครั้ง นอกจากนี้ยังโดดเด่นด้วยบรรยากาศอาคารบ้านเรือนที่บางส่วนที่ยังคงมีสภาพเก่าแก่แบบในอดีตอยู่
ตลาดปากบางตั้งอยู่ที่ตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรีเดิมพื้นที่แห่งนี้ชื่อว่าบ้านปากบางหมื่นหาญ หรือตำบลหมื่นหาญ ทำให้ตลาดแห่งนี้จึงมีชื่อหมื่นหาญด้วยอีกชื่อหนึ่ง ตลาดแห่งนี้พบว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ราษฎรช่วยกันลอกคลองจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านทุ่งนาไปจรดบ้านตำบลบางงา อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ซึ่งการลอกคลองนี้ได้ทำให้พื้นที่คลองเหมาะแก่การค้าขายมาก เพราะมีเรือหรือคนเดินทางผ่านไปมาตลอด ชาวจีนจึงมาปลูกห้องแถวเรียงรายไปตามริมคลอง จนต่อมาเมื่อมากขึ้นพื้นที่นี้ก็กลายเป็นตลาดขึ้นมา
ตลาดปากบาง หรือตลาดหมื่นหาญ ด้วยความเก่าแก่ของตลาดที่มีมาตั้งแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำให้พบว่าชื่อของตลาดแห่งนี้เคยปรากฎในเส้นทางเสด็จพระพาสของรัชกาลที่ 5 ด้วย โดยพบปรากฎในพระราชหัตถเลขาเมื่อคราวเสด็จประพาสต้นพ.ศ. 2449 ที่มีความว่า "....ออกจากวัดชลอนขึ้นตลาดหมื่นหาญ สนุกครึกครื้นกว่าแต่ก่อน ตลาดนี้ติดได้เพราะเป็นท่าเกวียนมาแต่ลพบุรี.. "
ทั้งตลาดปากบางในอดีตถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของร้านค้านานาชนิดที่ผู้คนส่วนใหญ่จะมาจับจ่ายซื้อของกินของใช้กันอยู่เสมอ ในอดีตช่วงตลาดเจริญมากจะพบว่านอกจากตลาดแห่งนี้จะมีทั้งร้านขายของต่างๆทั้งของกินของใช้แล้ว ยังมีร้านขายทองด้วย โดยมีมากถึง 3 ร้าน นอกจากนี้ยังมีโรงสี มีโรงงานซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เรือ มีโรงลิเก โรงงิ้ว ด้วย จุดนี้แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของตลาดในสมัยนั้น ทั้งนี้ต่อมาตลาดแห่งนี้ได้เจริญมากขึ้นเนื่องด้วยมีท่าเรือที่รองรับส่งผู้คน โดยจะมีเรือเมล์โดยสาร 2 ชั้น วิ่งไปกลับระหว่างชัยนาท-กรุงเทพฯ จอดรับผู้คนบริเวณตลาดแห่งนี้ ซึ่งการที่มีท่าเรือนี้ทำให้มีผู้คนเข้าตลาดมากขึ้นตลาดแห่งนี้ก็ยิ่งเฟื่องฟูเรื่อยมา
อย่างไรก็ดีต่อมาเมื่อมีการตัดถนนสายเอเชียที่มุ่งขึ้นสู่เส้นทางภาคเหนือ การเปลี่ยนแปลงของตลาดแห่งนี้ก็เกิดขึ้น ด้วยการตัดถนนทำให้คนหันไปสัญจรทางบกการสัญจรทางน้ำก็ลดลง คนที่จะเข้าตลาดแห่งนี้ก็น้อยลง รวมถึงการตัดถนนยังทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงตลาดในที่อื่นๆได้ง่ายตลาดแห่งนี้ที่เข้าถึงยากกว่าเพราะต้องอาศัยทางน้ำจึงไม่มีผู้คนเข้ามา กล่าวว่าหลังการตัดถนนตลาดปากบางจึงเริ่มค่อยๆซบเซาลง ยิ่งเมื่อเรือเมล์ที่เคยรับส่งผู้โดยสารหน้าตลาดหลุดวิ่งตลาดแห่งนี้ก็ซบเซาอย่างมาก หลายบ้านได้ย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพที่อื่น ทิ้งบ้านเรือนให้ทรุดโทรม แต่ทั้งนี้พบว่าก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่รักในพื้นที่ตลาดแห่งนี้อยู่จึงเลือกสืบสานอาชีพค้าขายจากบรรพบุรุษต่อไป แม้ว่าธุรกิจจะไม่ดีเท่าเดิมก็ตาม
ปัจจุบันหลายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้พยายามที่จะอนุรักษ์ตลาดเก่าปากบางหมื่นหาญ 150 ปี แห่งนี้ให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสิงห์บุรีได้เข้ามาส่งเสริมในด้านการตลาดโดยให้ความรู้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งจัดงานแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมรายได้ในชุมชน แต่กระแสการท่องเที่ยวในที่แห่งนี้ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักและยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก เนื่องจากร้านค้าที่เปิดก็ยังไม่มีมากหรือยังมีมีสินค้าหลากหลายพอ และนโยบายการท่องเที่ยวที่ทางรัฐคิดนำมาปรับใช้กับที่ตำบลปากบางแห่งนี้ไม่ค่อยได้ผลนัก พอไม่เกิดผลรัฐบาลก็ไม่เสี่ยงที่จะเสนองบให้พัฒนา เมื่อการพัฒนยาไม่สามารถไปต่อได้การที่จะฟื้นฟูตลาดจึงยังไม่สามารถฟื้นฟูขึ้นมาได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตามยังพบว่าผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะฟื้นฟูตลาดแห่งนี้ขึ้นมาทางใดทางหนึ่งอยู่ โดยล่าสุดพบว่าผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านได้เปลี่ยนมาวางแผนที่จะทำตลาดถนนคนเดินในชุมชนปากบางในวันเสาร์และอาทิตย์แทน โดยหชาวปากบางนั้นทำกันเองและใช้งบจากการจัดงานงิ้วของตลาดปากบาง โดยวางแผนจัดพื้นที่ตลาดตั้งแต่บริเวณต้นตลาดไปยังท้ายตลาด คือ ตั้งแต่ศาลเจ้าไปยังร้านกระยาสารท ดังนั้นจุดนี้ในอนาคตต้องดูกันต่อไปว่าตลาดปากบางแห่งนี้จะสามารถฟื้นฟูเจริญได้หรือไม่ หรืออาจจะเป็นแค่ตลาดในอดีตที่ไม่สามารถมีวันหวนกลับได้อีกแล้ว
ชุมชนตลาดปากบางตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยอยู่ห่างจากเทศบาลพรหมบุรีไปประมาณ 270 เมตร
ลักษณะทางกายภาพ
ตลาดปากบางตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก บ้านเรือนมีลักษณะเป็นห้องแถว เรือนไม้กว่า 100 ห้อง แต่ปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรม รูปแบบส่วนใหญ่เป็นเรือนพักอาศัยที่สร้างด้วยไม้ และสร้างขึ้นติดต่อกันเป็นแถว มีทั้งส่วนที่อยู่ริมน้ำและถัดเข้ามาจากบริเวณริมน้ำ เรือนไม้บางหลังใช้พื้นที่ชั้นล่างเป็นร้านค้าขายของ แต่ทั้งนี้ปัจจุบันบ้านเรือนที่เป็นเรือนไม้หลงเหลืออยู่ไม่ถึง 30% เนื่องจากบ้านที่เป็นบ้านไม้ก็เริ่มพุพังไปตามกาลเวลา ทำให้ชาวบ้านสร้างเป็นบ้านปูนแทน นอกจากนี้พื้นที่นี้มักประสบปัญหาน้ำท่วมค่อนข้างบ่อยประกอบกับนโยบายการดูแลรักษาอนุรักษ์บ้านเก่าไว้ไม่มี บ้านเก่าจึงหายไปเป็นจำนวนมากนั่นเอง
การเดินทางเข้าสู่ตลาด
สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 32 สายเอเชีย แล้วเลี้ยวซ้ายที่หลักกิโลเมตร 81 จะมีป้ายบอกทางไปตลาดปากบางชัดเจน จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสาย 3033 ไปอีกประมาณ 200 เมตร เมื่อข้ามสะพานข้ามคลองส่งน้ำไปแล้วก็จะเข้าเขตตลาดปากบาง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก
ประชากรของตลาดแห่งนี้จะถูกรวมอยู่ในหมู่ที่ 1 ของตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งหมู่ 1 นี้ มีจำนวนประชากรรวมทั้งหมด 716 คน ชาย 331 คน หญิง 385 คน และมีจำนวนครัวเรือน 396 ครัวเรือน
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประเพณีงานงิ้วประจำปี เป็นประเพณีประจำตลาดแห่งนี้ โดยจะมีการจัดงานขึ้น 2 ครั้ง ครั้งล่ะ 3 วัน 3 คือน ในเดือนสิงหาคม และเดือนตุลาคม คืนที่สองของการจัดงานจะมีกิจกรรมการประมูลสิ่งของมงคลเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว
ประเพณีทิ้งติ้วและแย่งติ้ว ในเดือนสิงหาคมจะมีประเพณีการทิ้งติ้วและแย่งติ้ว ซึ่งพี่น้องชาวตลาดปากบางบางคนจะร่วมใจกันบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภคมาบริจาคเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการอุทิศผลบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษ โดยสิ่งของเหล่านี้จะใช้ในการจะมีคนมาแย่งติ้วเอาไป ซึ่งเหมือนการบริจาคไม่ระบุคน
ทุนทางวัฒนธรรม
ส่วนใหญ่ทุนของชุมชนตลาดปากบางมักเป็นร้านค้าเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อของตลาด รวมถึงพวกสถานที่ทางความเชื่อ อันได้แก่
ร้านขนมเปี๊ยะโซวเม่งเฮง ร้านนี้เป็นร้านขนมเปี๊ยะเจ้าแรกที่เปิดที่ตลาดปากบาง เปิดขายมานานกว่า 60 ปี โดยไม่มีสาขา ทั้งนี้เนื่องจากมีการสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันเป็นยุคพี่น้องรุ่นที่ 3 ที่ร่วมกันสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ภูมิปัญญาการทำขนมเปี๊ยะของที่นี่ คือ ลักษณะแป้งไม่เป็นชั้น เนื้อแป้งไม่ปลิงมีหลายไส้ เช่น ฟักไข่ ถั่วไข่ ทุเรียนไข่ ฯลฯ ร้านนี้มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนทำไปขายไป ทั้งนี้ในส่วนของวัตถุดิบที่ใช้จำพวกถั่วทางร้านจะไปซื้อมาจากในกรุงเทพฯ มาผลิต
ร้านกระยาสารทแม่ทองสุข ตั้งอยู่ท้ายตลาดหัวมุมถนน ตรงข้ามร้านกาแฟแป๊ะธง ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะของร้านเป็นบ้านไม้ชั้นล่างเป็นประตูบานเพี้ยม โดยกระยาสารทร้านนี้เป็นสินค้า OTOP ของขึ้นชื่อในตลาดปากบาง ซึ่งคุณปัารัตนา ศีลศร ทำมาขายสืบต่อจากคุณแม่ทองสุข มานานเกือบ 30 ปี กระยาสารทของที่นี่จะมีกระบวนการทำเป็นของตัวเอง มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง คือ รสชาติที่อร่อย หวาน มันกรอบ ในการทำนั้นต้องใช้คน 6 คน ใช้น้ำตาลมะพร้าวจากจังหวัดสมุทรสาคร ถั่ว งา ข้าวเม่า ข้าวตอก นำมากวนใส่กะทิ รสชาติไม่หวานเกินไปและไม่เหนียวจนเกินไป ทางร้านจะทำออกมาเป็นครั้ง ครั้งละ 3 กระทะ มีการส่งขายไปหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นทางกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด สินค้าภายในร้านทั้งหมดมีกระยาสารท ข้าวเหนียวแดง พุดซากวน มะม่วงกวน กล้วยตาก และข้าวต้มมัด
ร้านกุนเชียงสมประสงค์โอชา ตั้งอยู่ในซอยกลางของตลาด เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น เจ้าของร้าน คือ คุณสมพร กองกลิ่นหอม และคุณอมรเทพ มูลขุนทด เปิดขายกุนเชียงสืบรุ่นมาเป็นรุ่นที่ 4 ซึ่งกุนเชียงร้านนี้ทำมา 100 กว่าปีแล้ว ร้านนี้ขายกุนเชียง 2 ชนิด คือ กุนเชียงหมู และกุนเชียงปลา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ ซึ่งชื่อจริงๆ เรียกว่า"กวนเชียง" ตามกรรมวิธีการทำ โดยเอกลักษณ์การทำกุนเชียงของที่นี่ คือ เวลาผสมส่วนผสมจะทำเองโดยใช้มือ ซึ่งยังคงอนุรักษ์ขั้นตอนการผลิตแบบเดิมๆ เช่น ใช้เชือกกล้วยมัดกุนเชียงมีการเอากุนเชียงมาตากแดด 2 ชั่วโมง ก่อนจึงเอาเข้าเตาอบ ซึ่งยังมีการอบกุนเชียงโดยใช้ถ่านหุงข้าว กุนเชียงที่ตลาดปากบางแห่งนี้ไม่ใส่สารกันบูด ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ใส่ดินประสิว ไม่ใส่สี และไม่ใส่แป้ง ทำให้ได้กุนเชียงที่ไม่เหมือนกับที่อื่น และมีความหอม โดดเด่นรวมถึงความอร่อย ด้านการขายทางร้านจะขายส่งบริเวณในใกล้เคียง
ร้านกาแฟแป๊ะธง เป็นร้านกาแฟเก่าขายมานานนับร้อยปี ตั้งอยู่ท้ายตลาด ภายในร้านยังคงเอกลักษณ์เดิมๆ คือ เรือนไม้ 2 ชั้น มีการจัดพื้นที่ชั้นล่างด้านหน้าเป็นร้านกาแฟ
ร้านผัดไทยปากบาง (สูตรเดิม) ตั้งอยู่ข้างธนาคารไทยพาณิชย์ ด้านหน้าตลาดปากบางเป็นร้านผัดไทยเก่าแก่มีชื่อเสียงประจำตลาดปากบาง ลักษณะเป็นร้านแบบเปิดโล่งบรรยากาศแบบกันเองภูมิปัญญาในการทำผัดไทยของที่นี่ คือ ใช้ไข่เป็ดแทนไข่ไก่ เนื่องจากไข่แดงจะกลมใหญ่และหอมมันกว่าผสมกับเส้นผัดไทยที่เหนียวนุ่ม ทำให้เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่
ร้านบ้านดาวเรือง เป็นร้านผัดไทยที่เขาจุดขายของสิงห์บุรี คือ ปลาช่อน โดยใช้ปลาช่อนนาเนื่องจากกลิ่นคาวไม่แรงมาก โดยนำปลามาแล่เลาะก้างออก แล่เป็นชิ้นๆ หมักด้วยเครื่องเทศ จากนั้นนำมาชุบแป้งทอดแล้วปรุงผัดไทย ปรุงรสด้วยน้ำมะขาม ซึ่งสร้างความแตกต่างจากผัดไทยร้านอื่น
ร้านมะลิลาหมูทุบ ตั้งอยู่กลางซอยด้านเหนือติดกับร้านขนมเปี๊ยะโซวเม่งเฮง โดยเป็นร้านค้าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นอากง รุ่นนี้ถือเป็นรุ่นที่ 3 จำหน่ายหมูทุบ หมูแท่ง หมูหยอง หมูสวรรค์ และเป็นเจ้าแรกของปากบางที่ทำผักกาดหวาน หัวไชโป้ ขาย การทำหมูทุบของที่นี่จะใช้เนื้อหมูสะโพกหลัง ในอดีตการทุบหมูจะใช้ค้อนทุบบนเขียง แต่ต่อมาเปลี่ยนมาใช้เครื่องหมุนที่มีลักษณะคล้ายเครื่องบดปลาหมึกมาใช้ในกระบวนการทุบหมูแทน
ร้านบรรจงโอสถ ตั้งอยู่บริเวณถนนหน้าท่าเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามร้านกระยาสารทแม่ทองสุข เป็นร้านขายยาแผนโบราณที่ขายมานานเกือบร้อยปี โดยรวมตัวยาสมุนไพรในตู้ลิ้นชักไม้ ใช้เครื่องชั่งยาแบบโบราณ
ศาลาหลวงพ่อหิน หลวงพ่อหินอยู่คู่ตลาดมานาน และเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของคนในตลาด ประวัติของหลวงพ่อหินนั้นเล่ากันว่า เดิมชาวข้านพบแต่เศียรพระอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านช่วยกันสร้างเป็นพระ และสร้างศาลไม้ใต้ถุนสูงให้ ปัจจุบันมีการบูรณะทำเป็นศาลาปูน โดยสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2507 ปัจจุบันยังคงมีประชาชนที่ทราบถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเดินทางมาบนบานศาลกล่าวกันอย่างต่อเนื่อง
ศาลเจ้าพ่อปากบางหมื่นหาญ ลักษณะเป็นศาลจีน โดยเป็นศาลที่ศักดิ์สิทธ์ของที่นี่ โดยจะมีงานประเพณีทิ้งติ้วในงานไหว้เจ้าพ่อปากบางหมื่นหาญ เพื่อช่วยเหลือจุนเจือผู้ยากไร้ โดยเป็นงานประจำปีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่องของชาวชุมชนแห่งนี้ โดยจะจัดในช่วงเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ยังมีการตั้งโรงงิ้วภายในตลาดเพื่อไหว้เจ้าพ่อปากบางหมี่นหาญและเพื่อให้คนในชุมชนและบุคคลภายนอกได้ชมกัน
กระปุกดอทคอม. (ม.ป.ป.). เที่ยวตลาดปากบาง สิงห์บุรี ย้อนรอยวิถีชุมชนโบราณ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.kapook.com/view120486.html.
ฐิติมา อังกุรวัชรพันธุ์ และคณะ. (2559). การจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมเพื่อสื่อความหมายภูมิปัญญาท้องถิ่นสำหรับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.
ทรูไอดี. (2563). ตลาดปากบาง-หมื่นหาญ จ.สิงห์บุรี (จังหวัด สิงห์บุรี). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.t-promburi.go.th/detailRev2.php?page=4&id=389.
เทศบาลตำบลพรหมบุรี. (2560). แผ่นพับแนะนำตลาดเก่าปากบางหมื่นหาญ 150 ปี (จังหวัด สิงห์บุรี). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.t-promburi.go.th/detailRev2.php?page=4&id=389.