เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลองข้าวเม่า ที่เป็นคลองสายประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา และมีวัดโกโรโกโส ที่เป็นวัดที่อยู่คู่ชุมชนมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลองข้าวเม่า
เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลองข้าวเม่า ที่เป็นคลองสายประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา และมีวัดโกโรโกโส ที่เป็นวัดที่อยู่คู่ชุมชนมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
ชุมชนริมคลองข้าวเม่า เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณคลองข้าวเม่า เป็นลำคลองที่มีความสำคัญของอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นคลองประวัติศาสตร์ที่เคยใช้เป็นเส้นทางเดินทัพในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลำคลองสายนี้เป็นสาขาของคลองระพีพัฒน์ (คลองขนาดใหญ่ที่แยกออกมาจากแม่น้ำป่าสักบริเวณเขื่อนพระรามหก อำภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) คลองข้าวเม่าไหลผ่านเขตชุมชน (ชุมชนวัดคานหาม และชุมชนวัดสะแก) และพื้นที่เกษตรกรรม (ทำนา) บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเขตโรงงานอุตสาหกรรม เช่น นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และโรงงานที่ตั้งอยู่ริมถนสายอุทัย ลำคลองนี้นับเป็นคลองสายหลักที่มีความสำคัญต่อชุมชนในด้านการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค คมนาคมทางน้ำ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม และจะถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันคลองข้าวเม่า เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง สภาพน้ำเน่านี้จะหมดไปเมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำหลากมวลน้ำจะช่วยพัดพาเอาสิ่งปฏิกูล และขยะจากลำคลองไหลออกสู่แม่น้ำป่าสักที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา การศึกษาความหลากหลายของพรรณพืชน้ำบริเวณคลองข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานที่สามารถนำมาใช้ประเมินคุณภาพแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรทางน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ลักษณะภูมิประเทศของตำบลข้าวเม่า จะเป็นที่ราบลุ่ม บริเวณตอนกลางของพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ปลูกข้าว
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอนครหลวง อำเภอภาชี
ทิศใต้ ติดต่อกับ คลองข้าวเม่า อำเภออุทัย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลอุทัย และตำบลเสนา อำเภออุทัย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จำนวนประชากรทั้งหมด 4,605 คน แบ่งเป็น ชาย จำนวน 2,213 คน และหญิง จำนวน 2,392 คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 1,636 ครัวเรือน
วัดโกโรโกโส
เดิมชื่อ วัดคลังทอง คนในท้องที่ส่วนใหญ่มักเรียกว่า วัดสี่โอ มีประวัติการสร้างวัดอยู่หลายเรื่อง เช่น พระเจ้าตากสินมหาราช ได้เดินทางพร้อมกับทหารมาทางทิศตะวันออก มาพบกับวัดคลังทอง จึงหยุดพักทัพ และได้ไปกราบขอพรพระในอุโบสถซึ่งเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ชื่อหลวงพ่อแก้ว (หลวงพ่อดำ) ท่านได้ขอพรว่า "ข้าแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระอุโบสถแห่งนี้ขอให้ข้าพระเจ้าได้กอบกู้เอกราชได้สำเร็จด้วยเทอญ เพื่อให้คนไทยได้มีที่อยู่ที่อาศัย" เมื่อกล่าวคำเสร็จมีพวกชาวบ้านเห็นเหตุการณ์จึงเข้าช่วยเหลือกองทัพของพระเจ้าตากสิน โดยการตำข้าวเม่าเพื่อเป็นเสบียงในการเดินทางไปสู้รบ และฝั่งตรงข้ามของคลองชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งช่วยกันทำธนู และอาวุธอื่นๆ เพื่อเตรียมเอาไปสู้รบกับข้าศึก เมื่อพระเจ้าตากสินทำการสู้รบกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ ท่านได้ทรงพระราชทานชื่อหมู่บ้านให้ทางฝั่งคลองที่ตำข้าวเม่า ว่าหมู่บ้านคลองข้าวเม่า และฝั่งตรงข้ามที่ทำธนูได้พระราชทานชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านธนู ต่อมาได้รู้ถึงข้าศึกชาวพม่าว่าวัดคลังทองเป็นแหล่งขุมกำลังของคนไทย จึงจัดกองทัพมาเผาทำลายวัด และพวกชาวบ้านจนสิ้น จนเป็นวัดร้างตั้งแต่บัดนั้นมา
ต่อมาชาวบ้าน และพระภิกษุคิดจะบูรณะซ่อมแซมวัดขึ้นมาใหม่ แต่ก็ยากที่จะทำได้ เพราะเหลือแต่ซากปรักหักพัง จึงได้ร่วมมือกันสร้างวัดใหม่ซึ่งอยูฝั่งตรงข้ามชื่อว่า วัดสะแก ชาวบ้านจึงเรียกวัดเก่านี้ว่า "วัดโกโรโกโส" จนติดปากเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาหลวงพ่อคอน สุริญาโน (พระราชมงคลมุณี) ได้เห็นสภาพของวัดโกโรโกโสอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก จึงได้บูรณะวัดขึ้นมาใหม่ หลวงพ่อคอนเห็นว่าพระพุทธรูปองค์นี้คือหลวงพ่อแก้ว (หลวงพ่อดำ) เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ควรที่จะอนุรักษ์ จึงสร้างซุ้มคลุมองค์พระพุทธรูป และต่อเศียรพระพุทธรูปให้อยู่ในสภาพเหมือนเดิม พร้อมกับสร้างถาวรวัตถุอีกมากมาย
อีกเรื่องเล่าหนึ่ง มีชาวจีนสองคน คือ "อาโกโร" และ "อาโกโส" (อาโก คือ พี่สาวหรือน้องสาวของพ่อภาษาแต้จิ๋ว) ซึ่งเป็นเพื่อนกันได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นโดยมิได้ตั้งชื่อเสียงเรียงนาม ชาวบ้านที่รู้ว่าท่านทั้งสองสร้างวัดจึงพากันเรียกว่า วัดอาโกโรอาโกโส ต่อมาทางการขนานนามให้ว่า "วัดคลังทอง" แต่ชาวบ้านก็ยังนิยมเรียกกันต่อมาว่า "วัดอาโกโรอาโกโส" ครั้นนานวันเข้าก็หายกลายเป็น "วัดโกโรโกโส"
สถาปัตยกรรมของวัด คงมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นถึงกลาง ต่อมาบูรณะในสมัยอยุธยาตอนปลายด้วยการสร้างอาคารขึ้นใหม่ในบริเวณที่ปัจจุบัน คือ วิหารหลวงพ่อดำ ส่วนซากอาคารที่หลงเหลือ เป็นแบบอยุธยาตอนปลาย สังเกตได้จากก่ออิฐถือปูนผนังหนารองรับน้ำหนักเครื่องหลังคา
หลวงพ่อดำ
พระพุทธรูปประธานภายในวิหารประภัสสร์ ชูวิเชียร สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปแบบอยุธยาตอนต้นถึงกลาง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20–21 สังเกตได้จากพระพักตร์รูปเหลี่ยม และลักษณะบางประการที่สามารถเทียบเคียงได้กับพระพุทธรูปหินทรายที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น
ส่วนรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ระบุว่าเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่น 3 ตอนปลาย สังเกตได้จากลักษณะการทำพระพักตร์รูปไข่ มีเส้นไรพระศก การทำสังฆาฏิเป็นแผ่นยาวจรดพระนาภี ปลายแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ แต่พระพักตร์มีลักษณะอิ่ม กำหนดอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย
คลองข้าวเม่า เป็นคลองระบายน้ำและเก็บกักน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในเขตอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และใช้รองรับน้ำจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมทั้งเป็นคลองในระบบชลประทานเพื่อใช้ในการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่อีกด้วย เกือบทุกปีคลองข้าวเม่ามีวัชพืชและผักตบชวาหนาแน่น ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย กีดขวางทางสัญจร การไหลระบายของน้ำ ท้าให้ลำน้ำตื้นเขิน สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนจำนวนมาก
ชเนตตี จาตุรนต์รัศมี. (2561). ภูมิวัฒนธรรมกับแนวทางการอนุรักษ์วิถีชีวิตริมคลองข้าวเม่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วารสารวิทยาการจัดการปริทัศน์. 20(2), หน้า 27-38.
ภูริพงษ์ แสงใบ และณัฐกิตทิ์ โตอ่อน. (2561). ความหลากหลายของพรรณพืชน้ำบริเวณคลองข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา. 23(1), หน้า 471-479.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2561). วัดโกโรโกโส มีหลวงพ่อดำ อยู่อยุธยา ชื่อวัดบอกความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานมาก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.matichon.co.th/columnists/news_527516