Advance search

บ้านแหลมตุ๊กแก

ชาวเลเกาะสิเหร่

ศูนย์รวมชาวเลอูรักลาโวยจขนาดใหญ่แห่งเกาะสิเหร่ที่ยังคงอนุรักษ์ สืบสานประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้อย่างเหนียวแน่น  

หมู่ที่ 4
แหลมตุ๊กแก
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 ส.ค. 2023
บ้านแหลมตุ๊กแก
ชาวเลเกาะสิเหร่


ชุมชนชาติพันธุ์

ศูนย์รวมชาวเลอูรักลาโวยจขนาดใหญ่แห่งเกาะสิเหร่ที่ยังคงอนุรักษ์ สืบสานประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้อย่างเหนียวแน่น  

แหลมตุ๊กแก
หมู่ที่ 4
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
เทศบาลตำบลรัษฎา โทร. 0-7652-5779-85
7.876368962
98.42428878
เทศบาลตำบลรัษฎา

แหลมตุ๊กแกหรือเกาะสิเหร่ เดิมเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ มีเพียงชาวอูรักลาโวยจ (อูรักลาโว้ย) ที่ได้ขึ้นฝั่งมาพักพิงเป็นบางฤดูกาล โดยชาวอูรักลาโวยจกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนย้ายมาจากหมู่เกาะในประเทศมาเลเซีย แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามาจากเกาะใด กระทั่งเข้ามายึดเกาะสิเหร่เป็นหลักตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวรของชาวอูรักลาโวยจนในพื้นที่แหลมตุ๊กแกบนเกาะสิเหร่มีอยู่ 2 ที่มา ดังต่อไปนี้

  • แต่เดิมชาวอูรักลาโวยจได้ยึดจับจองที่ดินบนเกาะสิเหร่จุดแรกบริเวณแหลมกลาง (อยู่ใกล้แหลมตุ๊กแก) ซึ่งเดิมเป็นแหลมร้างไม่มีคน ชาวอูรักลาโวยจจึงสร้างหมู่บ้านนี้ขึ้น แต่ต่อมามีบริษัทเหมืองแร่ คือ บริษัทเอเชียสแตนนั่มจํากัด เข้ามาซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นสํานักงานในการทําเหมืองแร่ เจ้าของที่ดินเก่าได้ขายที่ดินไป เกิดข้อพิพาทระหว่างบริษัทเหมืองแร่และชาวอูรักลาโวยจในพื้นที่แหลมกลาง โดยบริษัทเหมืองแร่ได้ดำเนินการฟ้องร้องผู้เฒ่าชาวอูรักลาโวยจ 4 คน เพื่อเรียกร้องเอากรรมสิทธิ์ที่ดิน และศาลเป็นผู้ตัดสินให้บริษัทเป็นฝ่ายชนะ ผู้เฒ่าทั้ง 4 คนจึงได้ย้ายบ้านออกจากที่ดินของตนบริเวณแหลมกลางใน พ.ศ. 2502 ชาวอูรักลาโวยจครอบครัวอื่น ๆ ที่เป็นลูกหลานจึงย้ายบ้านถอนเสาตามผู้เฒ่าของตนอย่างพร้อมใจกันหมดทั้งหมู่บ้าน แล้วเดินทางอพยพยจากแหลมกลางไปยังแหลมตุ๊กแก และตั้งหลักปักฐานอยู่ ณ แหลมตุ๊กแกแห่งนี้มาจนปัจจุบัน แต่เนื่องด้วยแหลมตุ๊กแกเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของที่ดินอยู่ก่อนแล้ว จึงมีการเจรจาระหว่างเจ้าของที่ดินชื่อ แจ๋วและสวด (ไม่ทราบนามสกุล) กับชาวอูรักลาโวยจ โดยตกลงให้ชาวอูรักลาโวยจสามารถอาศัยอยู่ในแหลมตุ๊กแกได้โดยไม่เสียค่าเช่า แต่มีเงื่อนไขว่าห้ามตั้งร้านค้าขายทุกชนิดแข่งกับร้านของลูกหลานเจ้าของที่ดินที่มาตั้งอยู่แล้วโดยเด็ดขาด แม้ว่าร้านค้าของกลุ่มเครือญาติเจ้าของที่ดินนั้นจะขายเครื่องอุปโภคบริโภคให้ชาวอูรักลาโวยจในหมู่บ้านด้วยราคาค่อนข้างสูง และยังรับซื้อปลาที่ชาวอูรักลาโวยจหามาได้โดยกดราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นก็ตามที

  • ที่มาหนึ่งว่ากันว่าบรรพบุรุษชาวอูรักลาโวยจเข้ามาตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวรที่เกาะสิเหร่ในบริเวณแหลมร้างและแหลมตุ๊กแกตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตายายประมาณ 200 ปีมาแล้ว ซึ่งสภาพพื้นที่แหลมตุ๊กแกในอดีตเป็นพื้นที่มีน้ำทะเลท่วมถึง แต่ชาวอูรักลาโวยจได้นําเปลือกหอยมาถมและบุกเบิกพื้นที่เพิ่มเติมในบริเวณป่าโกงกางซึ่งมีขนาดพื้นที่ไม่มากนักเพื่อสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย แต่เกิดการระบาดของอหิวาตกโรค มีผู้เสียชีวิตจํานวนมาก จึงย้ายหมู่บ้านมาที่บริเวณเกาะร้าง ต่อมามีบุคคลมาอ้างสิทธิ์ในที่ดินในบริเวณเกาะร้าง ทําให้ชาวอูรักลาโวยจตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ที่แหลมตุ๊กแกเมื่อปี พ.ศ. 2502 และเป็นการย้ายถิ่นฐานอย่างถาวรมาจนปัจจุบัน

หมู่บ้านแหลมตุ๊กแกของเกาะสิเหร่ เป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะภูเก็ต มีเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ติดกับภูเขาและทะเล มีคลองท่าจีนที่เป็นคลองขนาดเล็กตัดผ่านเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างเกาะภูเก็ตกับเกาะสิเหร่ ตัวชุมชนอยู่ห่างจากตัวเมือง 7 กิโลเมตร บริเวณด้านหน้าหมู่บ้านอยู่ติดกับชายหาดที่มีลักษณะเป็นอ่าว โดยชาวอูรักลาโวยจนจะตั้งบ้านเรือนไปตามแนวยาวของอ่าว ประกอบกับการที่มีเกาะขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าหมู่บ้านซึ่งเป็นเกราะกำบังลมพายุได้ดี อีกทั้งบริเวณด้านหลังหมู่บ้านยังเป็นพื้นที่ป่าชายเลนและคลอง และมีบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ส่งผลให้แหลมตุ๊กแกมีระบบนิเวศที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ทว่า สภาพดินในพื้นที่แหลมตุ๊กแกมีลักษณะเป็นดินปนทรายอุ้มน้ำได้น้อยไม่เหมาะสําหรับเพาะปลูก

องค์ประกอบสถานที่สำคัญต่าง ๆ ภายในหมู่บ้านประกอบด้วย ศาลากิจกรรม เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนสำหรับทํากิจกรรมร่วมกัน เช่น การประชุมของคนในหมู่บ้าน ใช้เพื่อการเตรียมงานทําพิธีลอยเรือ หรือใช้พื้นที่เพื่อนั่งทําลอบดักปลา เป็นสถานที่ละเล่นของเด็ก ๆ และมีลานทําไซเพื่อใช้จับสัตว์ทะเล มีกลุ่มออมทรัพย์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการออมเงินของคนในชุมชน และมีร้านขายของที่ระลึกบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมชาวไทยใหม่ มีเทศบาลตําบลรัษฎาเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงสนามทํากิจกรรมหมู่บ้านซึ่งอยู่ทางด้านหลังหมู่บ้าน นิยมใช้เพื่อเล่นกีฬา ส่วนพื้นที่น้ำขัง ระดับน้ำจะขึ้น-ลงตามระดับน้ำทะเลที่ไหลเข้าไปในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ ศาลหรือ “หลาดาโต๊ะ” สำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมสําคัญและเป็นที่เคารพบูชาที่ถูกอัญเชิญมาจากแหลมร้าง ปัจจุบันศาลนี้ตั้งอยู่บนบริเวณเนินเขาสุดทางถนนหลักของหมู่บ้าน

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรชุมชนชาวอูรักลาโวจย หมู่ที่ 4 บ้านแหลมตุ๊กแก ตำบลรัษฎา มีจำนวนประชากร 1,622 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 820 คน ประชากรหญิง 802 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 326 ครัวเรือน

ลักษณะครอบครัวของชาวอูรักลาโวยจแหลมตุ๊กแก ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยวที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ทําให้มีพื้นที่บ้านอย่างจํากัด เมื่อแต่งงานแล้วมักแยกตัวไปตั้งครอบครัวใหม่ ทําให้มีการขยายตัวของชุมชนมากขึ้นซึ่งไม่สัมพันธ์กับพื้นที่ในชุมชนที่มีจํากัด ส่งผลให้การสร้างบ้านไม่เป็นระเบียบ รวมถึงสุขภาวะที่ไม่สามารถดูแลได้อย่างเต็มที่ แต่ในปัจจุบัน ชุมชนได้รับการบริการจากภาครัฐที่เข้ามาให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ อาทิ การจํากัดยุงลาย การรักษาความสะอาดและการรับบริการตรวจโรค โดยมีอาสาสมัครหมู่บ้านเป็นฝ่ายประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงาน

อูรักลาโวยจ

ชาวอูรักลาโวยจแหลมตุ๊กแกส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การทําประมง โดยการหาหอย วางไซ (วางลอบ) ดํากุ้ง ผู้ชายส่วนใหญ่จะออกทะเล ผู้หญิงบางคนหาหอย หาเหยื่อหลัด (เหยื่อตกปลา) บริเวณริมทะเลและนํามาขายบริเวณหน้าหมู่บ้าน บางคนประกอบอาชีพรับจ้างเป็นอาชีพเสริม เนื่องจากการหารายได้จากทะเลเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอในการดํารงชีพ บางคนจึงเลือกประกอบอาชีพเสริมตามความถนัดของตน ส่งผลให้ในปัจจุบัน ชาวอูรักลาโวยจทํางานหลากหลายประเภทมากขึ้น เช่น ผู้ชายจะทํางานรับจ้างโค่นต้นไม้ ตกแต่งจัดสวนตามโรงแรม ขับรถส่งของ ก่อสร้าง รับจ้างแล่เนื้อปลาทูน่าที่อู่เรือ บรรจุปลาทูน่าลงกล่อง หาของเก่า อาชีพที่เป็นที่นิยมของหญิงสาว คือ อาชีพรับจ้างในโรงงานหรือบริษัทเอกชน และงานรับจ้างในตัวเมืองภูเก็ต เช่น รับจ้างช่วยงานในร้านอาหาร รับจ้างทําสวน ทํางานบ้าน อันเกิดจากข้อจำกัดจากการทำประมงหลายประการ ดังนี้

1) กฎระเบียบเกี่ยวกับพื้นที่หรือเขตหวงห้ามมีมาก

2) ต้นทุนทําประมงสูง ชาวอูรักลาโวยจต้องซื้อเรือ ซื้อเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ประมง รวมทั้งราคานํ้ามันที่สูงขึ้น

3) สัตว์ทะเลลดลง พื้นที่จับสัตว์น้ำมีน้อยลง และอุปกรณ์การทําประมงไม่อํานวยต่อการจับปลาในทะเลน้ำลึก

4) ปัญหาหนี้สินนอกระบบซึ่งเกิดจากการมีรายได้ที่ไม่แน่นอน จึงเกิดความจําเป็นที่ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ

ข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลักษณะการประกอบอาชีพของชาวอูรักลาโวยจในชุมชนบ้านแหลมตุ๊กแกเกิดความเปลี่ยนแปลง จากแรกเริ่มที่ยึดเพียงการทำประมงเป็นอาชีพหลักในการสร้างรายได้ พัฒนาไปสู่การประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติมให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน

ศาสนา

ชาวอูรักลาโวยจนับถือวิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณในธรรมชาติ แม้ว่าจะยังรักษาความเชื่อดั้งเดิมพระพุทธศาสนาก็มีบทบาทสำคัญย่างมากต่อความเชื่อและพิธีกรรมในชุมชน โดยเฉพาะพิธีกรรมลอยเรือปาจั๊ก พิธีกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อวิถีชีวิตของชาวเลอูรักลาโวยจทุกพื้นที่ ทั้งนี้ นอกจากศาสนาพุทธแล้ว ยังมีบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม กรณีการนับถือศาสนาคริสต์ เกิดขึ้นภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งมีคริสตจักรเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เช่น การสร้างบ้านให้กับชาวอูรักลาโวยจและชักชวนให้ชาวอูรักลาโวยจหันมานับถือศาสนาคริสต์ ส่วนการนับถือศาสนาอิสลาม บางคนนับถือมาตั้งแต่ดั้งเดิม เพียงแต่ไม่มีการเคร่งครัดในกฏข้อบัญญัติของศาสนามากนัก ชาวอูรักลาโวยจบางคนเชื่อว่ากลุ่มตนถือศาสนานี้มาตั้งแต่ในอดีต โดยสังเกตได้จากความเคร่งครัดบางประการเป็นผู้ที่นับถือศาสนาในการประกอบพิธีกรรมที่สําคัญที่มีการปฏิบัติตามข้อห้ามของหลักศาสนาอิสลามมาจนถึงปัจจุบัน และเกิดจากการที่บุคคลที่นับถือศาสนาอิสลามที่เข้ามาแต่งงานกับชาวอูรักลาโวยจในพื้นที่แหลมตุ๊กแก

การสร้างบ้านเรือน

การสร้างบ้านเรือนในมีความเป็นมาจากการที่อูรักลาโวยจได้อพยพย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ อยู่บนหาดชั่วคราวและรื้อถอนโยกย้ายไปตามสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อหาแหล่งทํากินที่ดีกว่าจึงเป็นเหตุให้เกิดการย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้ง บ้านเรือนในยุคสมัยนั้นจึงมักสร้างอย่างง่ายด้วยวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ใบจาก และไม้ไผ่ ภายหลังมีการตั้งถิ่นฐานถาวร บ้านที่อยู่ใกล้ริมทะเลจะสร้างให้มีใต้ถุนสูงกว่าระดับน้ำทะเลในช่วงที่ขึ้นสูงสุด ส่วนบ้านที่อยู่ลึกถัดจากชายฝั่งจะสร้างบ้านมีใต้ถุนเตี้ยประมาณ 1 เมตรเศษ และลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือ มีประตูหน้า-หลัง อยู่แนวตรงกันและมีบันไดขึ้น-ลงทั้ง 2 ทาง แต่บางบ้านจะมีชานพักเปิดโล่งยื่นออกไปด้านหลังบ้าน บ้านในอดีตมีขนาด 2 ห้องเสา ภายในไม่มีการกั้นห้อง แต่แบ่งสัดส่วนชัดเจน อาทิ ที่นอน ครัว ที่เก็บของ ส่วนวัสดุที่ใช้เป็นโครงไม้จริง หลังคามุงจาก ฝาขัดแตะ พื้นฟาก สร้างด้วยการผูกมัดคล้ายเรือเครื่องผูกทั่ว ๆ ไป

ปัจจุบันของชาวอูรักลาโวยจแหลมตุ๊กแก มีลักษณะประยุกต์จากแบบบ้านในอดีตเนื่องจากความเจริญจากสังคมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้รสนิยมของชาวอูรักลาโวยจมีการเปลี่ยนแปลงและใช้วัสดุที่คงทนทันสมัย มีการกั้นห้องและแบ่งสัดส่วนชัดเจนมากขึ้น บางหลังมีการสร้างห้องน้ำภายในบ้าน อีกทั้งรูปแบบบ้านปัจจุบันยังมีความหลากหลายและมีการต่อเติมเพื่อความสวยงามและความมั่นคงมากขึ้น

1. ป๊ะซีอิน หรือนายสีอิน ประโมงกิจ

ป๊ะซีอินเป็นโต๊ะหมอหรือ “บูม่อย” คนสำคัญของบ้านแหลมตุ๊กแก เรียกได้ว่าหากไม่มีป๊ะซิอินผู้นี้ ก็ไม่สามารถประกอบพิธีกรรมใดได้ ต้องไปเชิญโต๊ะหมอจากที่อื่นมา เมื่อยังเป็นเด็ก ป๊ะซีอินได้เรียนหนังสือน้อยมาก เพราะตอนนั้นเป็นช่วงสงครามโลก ชาวอูรักลาโวยจต้องหนีภัยสงคราม แต่สิ่งที่ป๊ะได้เรียนรู้จากคนเก่าแก่ก็คือเรื่องการประกอบพิธีกรรม การรักษาพยาบาลพื้นบ้านทั้งด้วยสมุนไพรและด้วยคาถา หรือ “ฆูรู” การนวดการจับเส้น ท้ายที่สุดป๊ะได้นําความรู้เหล่านี้มาช่วยรักษาชาวบ้าน รวมทั้งลูกหลานของตนเองด้วย ทำให้ลูกหลานรู้สึกอุ่นใจที่มีป๊ะซีอินอยู่

2. มะลิ้ว หรือแม่จิ้ว ประโมงกิจ

แม่จิ้ว ประโมงกิ้จ อายุ 75 ปี เป็นนักร้องและร้องร็องเง็งที่มีชื่อเสียงของ "วงพรสวรรค์" แห่งแหลมตุ๊กแกแม่จิ้วเกิดและโตที่เกาะสิเหร่ แม่เกิดมาในครอบครัวศิลปินรองเง็งและมีเลือดศิลปินเต็มตัว ทำให้พี่สาวและตัวของแม่จิ้วสามารถร้องรำ ขับเพลงรองเง็งได้ทั้งบ้าน สมัยที่แม่จิ้วยังเด็ก พ่อได้เดินสายพาครอบครัวและคณะไปร้องรองเง็งตั้งแต่จังหวัดสตูลจนขึ้นไปถึงพังงาด้วยการกรรเชียงเรือปราฮู้ไปโดยตลอด คณะของพ่อเป็นคณะเล็ก ๆ มีนางรำ 6 คน มีมือซอ 1 คน รำมะนา 2 คน มีมือฉิ่ง กรับ และตัวตลกอีก 2 คน เมื่อแม่จิ้วอายุได้ 8 ปี ก็ได้ห้ดร้องรำรองเง็งและค่อย ๆ ซึมซับบทเพลงและท่ารำต่าง ๆ อีกทั้งแม่จิ้วก็มีความพยายามที่จะหัดรำจากแม่และพี่สาวอยู่ตลอด พ่อและแม่สอนอยู่ตลอดว่าให้ตั้งใจและขยันฝึกรำอย่างสม่ำเสมอต่อไปจะได้ดี แม่จิ้วก็จำคำพ่อและตั้งใจว่าต่อไปจะต้องสืบต่อศิลปะการแสดงจากพ่อ ต้องร้องเพลงให้เก่ง และในที่สุดแม่จิ้วก็ทำได้ ปัจจุบันวงคณะพรสวรรค์มีงานแสดงอยู่อย่างต่อเนื่อง แม่จิ้วได้เดินทางไปแสดงทั่วประเทศและเป็นศิลปินรองเง็งที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของภาคใต้ อีกทั้งมีลูกศิษย์ที่มาเรียนรองเง็งจากแม่จำนวนมาก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวอูรักลาโวยจในชุมชนบ้านท่าตุ๊กแกปัจจุบันใช้ภาษาอูรักลาโวยจในการติดต่อสื่อสาร 


การปกครองภายในชุมชนเมื่อครั้งอดีตมี “โต๊ะหมอ” เป็นผู้นําและมีบทบาทต่อชุมชนเป็นอย่างมากในเรื่องการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ แต่ปัจจุบันบทบาทของ “โต๊ะหมอ” ถูกลดทอนบทบาทความสำคัญลงไป เพราะชุมชนมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน โดยบทบาทของผู้ใหญ่บ้านนั้นมีหน้าที่รับฟังและช่วยแก้ปัญหา ช่วยประสานงานระหว่างรัฐกับชุมชนให้เกิดความมีระเบียบแบบแผนมากขึ้น


ปัจจุบันในหมู่บ้านแหลมตุ๊กแกยังมีชาวอูรักลาโวยจจํานวนประมาณ 20 คน ยังไม่มีบัตรประจําตัวประชาชน ซึ่งคนที่ได้รับการเสนอเรื่องไปแล้วมีประมาณกว่า 10 คน โดยกําลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อมูล และมี 30 หลังคาเรือน ยังไม่มีบ้านเลขที่


ในอดีตขณะที่อาศัยอยู่ที่เกาะร้าง ชาวอูรักลาโวยจส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เนื่องจากพื้นที่เกาะร้างเคยมีโรงเรียนตั้งอยู่ แต่บางคนก็เรียนไม่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หรือไม่ได้เรียน เพราะต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทํางานและต้องเดินทางติดตามพ่อแม่ไปหากินยังสถานที่ต่าง ๆ ปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจในชุมชนได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น เยาวชนส่วนใหญ่เข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านเกาะสิเหร่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านแหลมตุ๊กแกมากนัก เด็กผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสได้เรียนหนังสืออย่างเท่าเทียมกัน แต่เมื่อสําเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แล้ว มักไม่ได้เรียนต่อ แม้ว่าบางคนมีความต้องการที่จะเรียนต่อ ทว่า ประสบปัญหาด้านทุนทรัพย์ และบางคนก็ไม่อยากเรียนต่อเนื่องจากต้องการแต่งงานมีครอบครัว แต่ในปัจจุบันที่โรงเรียนบ้านเกาะสิเหร่ทําการเปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทําให้เยาวชนชาวอูรักลาโวยจได้รับการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มากขึ้น 


เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 บ้านแหลมตุ๊กแกประสบภัยพิบัติสึนามิทําให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน จํานวนทั้งสิ้น 9 หลังแบ่งออกเป็น เสียหายบางส่วน 6 หลัง และเสียหายหมดทั้งหลังจํานวน 3 หลัง ทําให้มีหน่วยงานจากทางภาครัฐเอกชนและองค์กรทางศาสนาเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยความช่วยเหลือเข้าไปถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมี 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกสําหรับผู้รอดชีวิตจะได้รับการจัดหาเรือและอุปกรณ์หาปลาที่จําเป็นต่อการฟื้นฟูความเป็นอยู่ของชาวประมงท้องถิ่น ระยะที่สองเป็นการฟื้นฟูความเสียหายไปสู่การปรับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ถาวร ได้แก่ การบรรเทาผลกระทบทางอ้อมของสึนามิเป็นการมุ่งผลประโยชน์ระยะยาวและยั่งยืน เช่น สภาพความเป็นอยู่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การจัดการภัยพิบัติกรณีที่ดินและบ้านพักอาศัยสําหรับผู้ที่ไร้ที่อยู่ ผู้ขาดแคลนที่ทํากิน สตรี เด็ก และแรงงานต่างถิ่น อีกทั้งยังช่วยสร้างและซ่อมแซมบ้าน ทําให้มีบ้านที่ใช้วัสดุ สังกะสี ปูน ไม้สังเคราะห์มากขึ้น ซึ่งการจัดการกับบ้านที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติสามารถแบ่งตามส่วนของพื้นที่ของชุมชนแหลมตุ๊กแกดังนี้

พื้นที่เดิมบริเวณชายฝั่งทะเล

1) ซ่อมแซมบ้านที่เสียหายบางส่วน โดยรับเงินจากงบประมาณของกลุ่มคริสตจักรคริสเตียนสถาน บ้านที่ได้รับความเสียหายบางส่วนมีองค์กรพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) มาช่วยซ่อมแซมให้ แต่ความช่วยเหลือเรื่องงบประมาณที่ได้รับยังไม่เพียงพอต่อการซื้อวัสดุก่อสร้างในการซ่อมแซม เช่น เสา ทราย กระเบื้อง ปูนซีเมนต์ แต่วัสดุบางชนิด เช่น สังกะสี ชาวบ้านสามารถซื้อและซ่อมแซมได้เอง ภายในชุมชนจึงมีบ้านหลายหลังที่ใช้ฝาผนังและหลังคาเป็นสังกะสี

2) ก่อสร้างบ้านใหม่ทั้งหลังในพื้นที่เดิมหรือใกล้เคียงกับพื้นที่เดิม โดยใช้แรงงานจากอาสาสมัครและคนในชุมชน

พื้นที่รัฐจัดสรรให้

มีการก่อสร้างบ้านถาวรใหม่ตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังบริเวณชุมชนเดิม โดยสร้างบ้านถาวรใหม่บนที่ดินของรัฐที่เป็นที่ดินของป่าชายเลนซึ่งอยู่ในอาณาเขตของป่าสงวนบริเวณด้านหลังหมู่บ้าน จํานวนทั้งหมด 26 หลัง และมีบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณและออกแบบ โดยสํานักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ตดําเนินการก่อสร้างโดยชุดเฉพาะกิจกองทัพเรือ โดยชาวบ้านที่ได้รับบ้านถาวรมีเพียง 3 ราย จาก 9 ราย ที่เสียหายทั้งหมด และหลังที่เหลือเป็นชาวบ้านที่แยกครอบครัวจากครอบครัวเดิม ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกคนที่เข้าไปอยู่ในบ้านถาวรมาจากการเลือกของผู้ใหญ่บ้านและองค์การบริหารส่วนตําบลโดยดูจากระดับความเสียหายจากบ้านเดิม แต่มีบ้านที่ได้รับผลจากสึนามิเข้าไปอยู่บ้านใหม่เพียง 3 หลัง นอกนั้นเป็นการสมัครใจในการเข้าไปอยู่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนเดิมแยกครอบครัวออกมาอยู่แถบนี้ และลักษณะที่อยู่อาศัยของบ้านถาวรใหม่มีลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น ใต้ถุนโล่งขนาด 29 ตารางเมตร 2 ห้องนอง 1 ห้องน้ำ ไม่มีห้องครัว (ศูนย์บริการวิชาการ, 2548 อ้างถึงใน ธนภรณ์ วัฒนสุข, 2557: 31-32)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์. (2563). อูรักลาโว้ย บ้านแหลมตุ๊กแก. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.blockdit.com/

ธนภรณ์ วัฒนสุข. (2557). อูรักลาโว้ย การเปลี่ยนแปลงของสังคมสั่ฒนาการของเรือนพื้นถิ่น: กรณีศึกษาชุมชนแหลมตุ๊กแก หมู่ 4 ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ภาควิชาสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เมธิรา ไกรนที. (2552). พัฒนาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนอูรักลาโว้ยในพื้นที่ภูเก็ตจากมุมมองนิเวศวัฒนธรรม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาและสังคมมนุษย์ (สหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Chok Somchok Pramongkit. (2565). ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวอูรักลาโว้ยบ้านแหลมตุ๊กแก. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

Google Earth. (ม..ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/