Advance search

หมู่ 3
บ้านโพนทราย
บ้านไทย
เขื่องใน
อุบลราชธานี
อบต.บ้านไทย โทร. 0-4525-1671
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
25 มี.ค. 2023
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
25 มี.ค. 2023
บ้านโพนทราย


ชุมชนชนบท

บ้านโพนทราย
หมู่ 3
บ้านไทย
เขื่องใน
อุบลราชธานี
34320
15.456985789616445
104.44584244156194
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไทย

ประวัติบ้านโพนทรายนั้นมีข้อมูลจากหลายแหล่ง มีทั้งคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน จากผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาหมู่บ้านพัฒนาตัวอย่าง กรณีบ้านโพนทราย ของ ประจักษ์ บุญอารีย์ และหลักฐานจารึกที่ปรากฏชื่อหมู่บ้านบนหลังตู้พระธรรม วัดโพธิ์ศรียาราม บ้านโพนทรายตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่มีว่า ประมาณ พ.ศ. 2264

กลุ่มคนไทลาวได้ย้ายมาจากบ้านหนองแก้ว บ้านหนองแวง และบ้านเปือย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ  โดยการนำของปู่สุขาและย่าแน่น เป็นต้นตระกูลกากแก้ว ย้ายมาเป็นกลุ่มแรก จากนั้นจึงมีกลุ่มอื่นย้ายตามมาเป็นระยะ สาเหตุที่ย้ายมานั้นเนื่องจากบริเวณบ้านหนองแก้วและบ้านหนองแวง เป็นบริเวณที่น้ำชีกับลำน้ำมูลมาบรรจบกันทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อย ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงพากันอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหมู่บ้านใหม่ คือ บ้านโพนทรายในปัจจุบันนี้

ส่วนมูลเหตุที่มาของชื่อเรียกหมู่บ้านนี้ มาจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านที่เป็นเนินดินและทรายเป็นจำนวนมากจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านโพนทราย

จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าถึงประวัติความเป็นมาของบ้านโพนทราย ว่าปู่สุขาและย่าแน่น พากันย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2264 ซึ่งอยู่ในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระครองราชย์

หลักฐานที่เป็นโบราณสถานที่แสดงให้ความเก่าแก่ของหมู่บ้านโพนทราย คือ สิม (อุโบสถ) สำนักสงฆ์วัดนอกบ้านโพนทราย (เดิมเรียก วัดป่า) ซึ่งสถานที่ที่ตั้งบ้านโพนทรายนี้เป็นหมู่บ้านร้างมาก่อนที่คนจะเข้ามาอยู่ ตามคำให้สัมภาษณ์ของคุณยายเจียม ต้นหลุบเลา อายุ 83 ปี  บ้านเลขที่ 11/2 หมู่ 4 (สัมภาษณ์เมื่อ 22 มีนาคม 2563)

เมื่อครั้งได้ร่วมบูรณะถากถางบริเวณสิมเก่าของวัดนอกเพื่อสร้างเป็นวัดขึ้นมาใหม่  ได้ขุดพบใบเสมาหักครึ่งหนึ่งใบและพระบุเงินจำนวนหนึ่งชำรุดมากซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้ที่วัดนอก เมื่อพิจารณาตามลักษณะของพระบุเงินที่ขุดพบมีความงดงามของลวดลายเทียบได้กับช่วงสมัยล้านช้างเวียงจันทน์ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า  250 ปี ปัจจุบันสิมหลังนี้ไม่มีแล้ว เพราะชำรุดมาก ไม่สามารถบูรณะได้ และพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกนำไปสร้างศาลาการเปรียญ

ส่วนหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ จารึกอักษรธรรมอีสานที่ตู้พระธรรมลายรดน้ำของวัดโพธิ์ศรียาราม บ้านโพนทราย โดยระบุข้อความดังนี้ “พระพุทธสังกาส(ศักราช)ล่วงไปแล้วได้ ๒๔๒๑ พระวัสสะปีขานสำเล็ดทีสก(สัมฤทธิศก) คณะสงฆ์ทั้งออกตนในบ้านโนนซายมีหัวพ่อทิดก่ำเป็นต้นพร้อมกันสร้างตู้ลคา(ราคา) คำ,น้ำหาง,น้ำลัก,พิดา(หรดาน) รวมเข้าเป็นเงิน ๑๑ ตำลึง ๓ บาท ๑ สลึง”

จารึกดังกล่าวระบุปีสร้าง พ.ศ. 2421 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และคำว่า “บ้านโนนซาย” ที่ปรากฏสามารถตั้งข้อสันนิษฐานเป็นสองอย่าง คือ หนึ่ง คนเขียนจารึกอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนจากคำว่า “โพน” เป็น “โนน” หรือ สอง บ้านโพนทราย แต่เดิมชื่อ บ้านโนนทราย แล้วเรียกชื่อเพี้ยนมาเป็น โพนทราย อย่างไรก็ตาม คำว่า โพน หรือ โนน นั้นก็เป็นคำใกล้เคียงกัน สามารถใช้แทนได้โดยความหมายอาจต่างกันเล็กน้อย

อีกข้อมูลหนึ่งที่นำมาอ้างอิงได้ในกรณีความเป็นมาของบ้านโพนทรายและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  ของหมู่บ้านคือ รายงานวิจัยของ ผศ. ประจักษ์ บุญอารีย์ ซึ่งเป็นคนบ้านโพนทราย และเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี) งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ถือว่าเป็นงานวิจัยที่เก่าพอควรแต่สามารถนำมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้

แม้ว่าโพนทรายเป็นหมู่บ้านหลักในอำเภอเขื่องใน แต่ก็ไม่มีหลักฐานการก่อตั้งแน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่าที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมา จากคำบอกเล่าของหลวงปู่ดี พงษ์สถิต และผู้เฒ่าผู้แก่คนอื่น ๆ ว่า บ้านโพนทรายเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ตั้งมานานประมาณ 250 ปี ชาวบ้านโพนทรายปัจจุบัน อพยพมาจากบ้านแวง ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากมีปัญหาน้ำท่วม (บ้านแวง เป็นหมู่บ้านเก่า อย่างนั้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำชีใกล้จุดบรรจบกับแม่น้ำมูล จึงเกิดน้ำท่วมบ่อย) โดยมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ชักชวนกันอพยพมาหาที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ กระทั่งมาปักหลักที่เนินดินทราย (โพน) เมื่อปี พ.ศ. 2277 ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน นับว่าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ตั้งเป็นชุมชนอยู่ก่อนที่จะตั้งเมืองอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2325-2335 หมู่บ้านโพนทรายคงเป็นหมู่บ้านเก่าแก่เช่นเดียวกับหมู่บ้านชีทวน บ้านท่านไห บ้านโพนทอง บ้านสร้างถ่อ บ้านเขื่องใน บ้านแวง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากเวียงจันทน์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่กรุงศรีสัตนาคนหุตเกิดความวุ่นวายทางการเมือง แย่งชิงราชสมบัติ ทำให้ราษฎรเกิดความเดือดร้อน จึงหลบหนีข้ามโขงมาตั้งหลักแหล่งในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะตามแนวลำน้ำชีและแม่น้ำมูล

เท่าที่ปรากฏหลักฐานเอกสาร มีการอพยพอยู่ 3 ครั้งใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ     ครั้งแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 20 จะเป็นปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เนื่องจากเกิดแย่งชิงราชสมบัติขึ้นในกรุงเวียงจันทน์ ไพร่บ้านพลเมืองจึงอพยพหลบหนีภัยการเมือง เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและบริเวณใกล้เคียงเรื่อยลงไปจนถึงนครจำปาศักดิ์     ครั้งที่ 2 ในราว พ.ศ. 2233 (จ.ศ. 1052) ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากเกิดเหตุวุ่นวายทางการเมืองในกรุงเวียงจันทน์ครั้งสำคัญ จึงทำให้มีการอพยพไพร่พลหนีข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งในภาคอีสานอีกครั้งหนึ่ง     ครั้งที่ 3 ใน พ.ศ. 2275 (จ.ศ. 1094) ก็ได้เกิดความวุ่นวายในกรุงเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง และได้มีการอพยพหนีความเดือดร้อนข้ามลำน้ำโขงอีกระลอกหนึ่ง กลุ่มหลังสุดนี้เองเป็นกลุ่มที่นำโดย พระวอ พระตา มาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองหนองบัวลำภู (จังหวัดอุดรธานี) และต่อมาถูกรุกรานจากกองทัพพระเจ้าสิริบุญสาร จนต้องพาไพร่พลอพยพมาอาศัยอยู่กับเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ และเป็นกลุ่มที่มาตั้งเมืองอุบลราชธานีในเวลาต่อมา (ระลึก ธานี 2527 : 9-13)

ระลึก ธานี นักประวัติศาสตร์ ชาวอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี สันนิษฐานว่า บรรพบุรุษชาวชีทวนคงอพยพมาจากเวียงจันทน์เป็นแน่ โดยเฉพาะการอพยพครั้งแรกในพุทธศตวรรษที่ 20 (ระลึก ธานี 2527: 13) กรณีบ้านแวงซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวบ้านโพนทรายนั้น เป็นที่แน่นอนว่าเป็นที่มีอายุนานกว่า 250 ปีหรือเป็นชาวเวียงจันทน์ที่อพยพมาก่อนกลุ่มพระวอพระตา ที่เป็นผู้นำไพร่พลมาก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี หากเป็นไปตามหลักฐานว่าตั้งใน พ.ศ. 2277 ชาวบ้านโพนทรายอาจจะเป็นกลุ่มแรกที่อพยพในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 กลุ่มที่สองที่อพยพเข้ามาใน พ.ศ.2233 (จ.ศ.1052) ก็เป็นได้

จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านโพนทราย ถึงสาเหตุอพยพหนีจากบ้านแวงมาตั้งหมู่บ้านใหม่ ได้ทราบว่า บริเวณบ้านแวง-หนองแก้วเป็นที่ลุ่ม แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลจะบรรจบกัน เกิดน้ำท่วมนาข้าวเสียหายบ่อย นอกจากนั้นยังมีที่ทำนาคับแคบ จึงมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งอพยพมาตั้งบ้านใหม่ที่บ้านโพนทรายปัจจุบัน จากคำบอกเล่าดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหมู่บ้านแวง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานพอควรจนจำนวนครัวเรือนมากขึ้น จนทำให้ที่ทำกินคับแคบ จึงมีผู้แยกตัวไปตั้งหมู่บ้าน และมีแนวโน้มว่าชาวบ้านโพนทรายและชาวบ้านแวงน่าจะมีบรรพบุรุษเป็นชาวเวียงจันทน์กลุ่มที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานกลุ่มที่ 2 ใน พ.ศ. 2233 มากกว่ากลุ่มแรกเพราะหากพิจารณาจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในเวียงจันทน์ในช่วงนั้นยาวนานและเป็นการอพยพครั้งใหญ่ ชาวอำเภอเขื่องในส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหมู่บ้านเล็ก ๆ มีเชื้อสายเวียงจันทน์ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาคราวเดียวกัน

กรณีชาวบ้านโพนทราย ซึ่งแยกตัวออกจากบ้านแวง คงตั้งรกรากอยู่ที่บ้านแวงช่วงระยะหนึ่ง จาก พ.ศ. 2233 จนถึงประมาณ พ.ศ. 2270-2280 หรือประมาณ 40-50 ปี จึงได้อพยพหนีน้ำท่วมมาตั้งอยู่หมู่บ้านโพนทรายในปัจจุบัน ทั้งนี้พิจารณาจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกว่า หมู่บ้านโพนทรายมีอายุประมาณ 250 ปี กลุ่มผู้นำที่พาพรรคพวกอพยพตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ตั้งปัจจุบันคือตระกูล “วงศาสนธิ์” และตระกูล “กากแก้ว” ตระกูลทั้งสองนับว่าเป็นตระกูลใหญ่ที่สุดของหมู่บ้าน โดยเฉพาะต้นตระกูลวงศาสนธิ์ เป็นผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองหมู่บ้านสืบต่อกันมายาวนาน สองคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่คือ พ่อใหญ่เสือ วงศาสนธิ์ และพ่อใหญ่ถนัด วงศาสนธิ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านของหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ตำแหน่งผู้ปกครองหมู่บ้านเดิมทีเดียวมักจะสืบทอดให้ทายาทของผู้ปกครองเดิมสืบต่อกันมายาวนาน จนมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการสรรหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นคนดีและเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นผู้ใหญ่บ้านในยุคหลังสุดนี้เอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเลี้ยงปู่ตา ศาลปู่ตาประจำชุมชนบ้านโพนทรายมีด้วยกัน แห่ง แห่งที่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกหมู่บ้านเป็นปู่ตาใหญ่ แห่งที่ 2 ทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นปู่ตาโนนสาปัง(สระพัง) และแห่งที่ 3 ทิศตะวันตกเป็นปู่ตาปากท้าง (ปากท้างหมายถึงปากน้ำหนองสามง่าไหลลงห้วยน้อยหรือห้วยส้มป่อย) อยู่บริเวณหนองสามง่า

การเลี้ยงปู่ตานั้นจะเลี้ยงปู่ตาใหญ่ก่อนในวันพุธแรกของเดือนหก ส่วนปู่ตาโนนสาปังกับปู่ตาปากท้างจะเลี้ยงวันพุธถัดไปหลังเลี้ยงปู่ตาใหญ่ การเตรียมอาหารที่จะเลี้ยงนั้นจะเอามารวมกันที่บ้านของจ้ำ (บุคคลผู้ที่ชาวบ้านแต่งตั้งให้ติดต่อกับผีปู่ตา) อาหารที่เลี้ยงปู่ตานั้นจะใช้เต่า (ชาวบ้านเรียกว่าควายทาม) กับไก่นำมาปรุงเป็นลาบเหล้าและไข่ต้ม อีกอย่างชาวบ้านจะเอาเม็ดพันธุ์ข้าวมารวมกันเพื่อจะหว่านปลูกบริเวณรอบศาลปู่ตา รวมถึงหญ้า (นิยมเอาใบไผ่) มารวมกันเพื่อถวายให้ช้างกับม้าของปู่ตาเพื่อให้เป็นพาหนะขี่ปกป้องไม่ให้กล้ำกลายเข้ามาในหมู่บ้าน ส่วนอาหารอย่างอื่นที่ชาวบ้านนำมาถวายก็สุดแต่จะนำมาแต่ขาดลาบเต่ากับลาบไก่ไม่ได้  

การเสี่ยงทายนั้นจะมีอยู่สามอย่าง คือ หนึ่ง การเสี่ยงทายคางไก่ จะใช้ไก่หนุ่มสาวต้มจนสุกถวายปู่ตาแล้วจ้ำจะดึงเอาคางไก่ออกมาจะมีเส้นคางตรงกลางปีไหนฝนดีคางจะโค้งงามเหมือนเคียวเกี่ยวข้าวกลับกันถ้าปีไหนฝนไม่ดีคางก็จะตรงหรือหยิกงอไม่โค้งลง  สอง การเสี่ยงทายดีเต่าตัวที่นำมาทำลาบถวายปู่ตาจะเอาดีสดๆ ใส่กระดองเต่าไว้ถวายแล้วก็จะดู ปีไหนฝนดีมีความอุดมสมบูรณ์ดีเต่าก็จะเต่งตึง ถ้าปีไหนฝนแล้งดีเต่าจะเหี่ยวแฟบไม่เต็ม สาม การปล่อยเต่า (เต่าพวกนี้จะเรียกว่าควายทามเจ้าปู่) จะนำเต่า 7 ตัวมาเรียงกันข้างจอมปลวกสมมุติเต่าแต่ละตัวเป็นเดือน ตัวที่ แทนเดือน จนถึงเดือน 12  เมื่อสมมุติเต่าแต่ละตัวเสร็จจะอธิษฐานเสี่ยงทาย ถ้าเดือนไหนฝนดีก็ขอให้เต่าตัวนั้นไต่ขึ้นจอมปลวกถ้าเดือนไหนฝนไม่ดีก็อย่าให้ขยับ เมื่อเลี้ยงปู่ตาและเสี่ยงทายเสร็จชาวบ้านก็จะนำข้าวของที่ถวายเสร็จแล้วนำมาบริโภคร่วมกัน

  • นายเคน กากแก้ว อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 และอดีตกำนัน (ปัจจุบันลาออกไปประกอบอาชีพส่วนตัว)
  • ผู้ใหญ่ละมัย หวังสุข ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4
  • กำนันสมัย ประดับศรี ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านแทนกำนันเคน กากแก้ว และได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลบ้านไทยในปัจจุบัน
  • บ่อเกลือ เป็นแหล่งเกลือสินเธาว์ ของหมู่บ้านอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับห้วยใหญ่หรือห้วยเรือชาวบ้านเรียกว่า “บ่อหลวง” แต่ก่อนมีเนื้อที่สิบกว่าไร่ ปัจจุบันชาวบ้านบุกรุกทำที่นาเลยเหลืออยู่ปัจจุบันประมาณ 6 ไร่ วิธีทำเกลือคือชาวบ้านจะไปกวาดถากเอาส่าเกลือที่ระเหยขึ้นมาผสมกับดินเรียกว่า “ขี้ทา” จากนั้นจะน้ำดินขี้ทานี้ไปแช่น้ำในรางไม้ที่ขุดขึ้นโดยเฉพาะปัจจุบันใช้โฟมถังตู้แช่เย็นเก่าแทนถือว่าเป็นการประยุคเข้ากับสมัย ก่อนแช่ขี้ทาในรางแช่ต้องเจาะที่ให้น้ำลงเพื่อรองเอาน้ำเกลือ แล้วเอาฟางหรือหญ้าแห้งแรงในรางแช่ก่อนเพื่อกรองเอาเพียงน้ำเกลือส่วนดินเมื่อกรองเสร็จก็จะทิ้งไป เมื่อได้น้ำเกลือมาก็จะนำมาต้มใส่กระทะสังกะสีที่ตีขึ้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร ขอบสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ปัจจุบันก็ยังมีการต้มเกลือสินเธาว์นี้อยู่แต่ไม่มีมาก มีอยู่ประมาณ 3-4 ครัวเรือนเท่านั้น
  • ผ้าทุงผะเหวด
  • ผ้าขิด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ระลึก ธานี. (2527). บ้านชีทวน. อุบลราชธานี: ม.ป.พ. (พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานยกช่อฟ้าอุโบสถและตัดลูกนิมิต วัดธาตุสวนตาล ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2527)

อบต.บ้านไทย โทร. 0-4525-1671