ชุมชนที่มีความหลากหลายในด้านเชื้อชาติ โดนมีทั้งกลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ย ชาวไทย ชาวจีนและชาวมุสลิม
ชุมชนที่มีความหลากหลายในด้านเชื้อชาติ โดนมีทั้งกลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ย ชาวไทย ชาวจีนและชาวมุสลิม
ชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านหัวแหลม เดิมเคยตั้งเพิงพักอาศัย ย่างปลา หุงหาอาหารและหลบพายุบริเวณตลาดศรีรายา เมื่อหมดหน้ามรสุมก็อพยพออกไปทำมาหากินในท้องทะเล และตามเกาะแก่งต่างๆ จะหวนกลับมาพักอาศัยอีกเมื่อถึงหน้ามรสุม แต่เมื่อหวนกลับมาก็พบว่ามีชาวมุสลิมมาอาศัยอยู่แล้ว จึงขยับไปใช้พื้นที่อ่าวถัดไป คือบริเวณหัวแหลมแค่(หัวแหลมใกล้) เป็นที่พักอาศัย ต่อมามีชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัยบริเวณตลาดศรีรายา ชาวมุสลิมเลยขยับไปใช้พื้นที่บริเวณหัวแหลมแค่ ชาวเลจึงต้องขยับขยายไปสร้างที่พักอาศัยบริเวณหัวแหลมกลาง ในอดีตมีชาวเลอูรักลาโว้ยอาศัยอยู่ที่หัวแหลมกลางประมาณ 40-50 ครัวเรือน แต่ก็มีสาเหตุที่ทำให้ชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านหัวแหลมกลางต้องอพยพอีก เช่น
- ประมาณปี พ.ศ.2480 ชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านหัวแหลมพาลูกหนีการเข้าโรงเรียน หนีการเกณฑ์ทหาร และหนีโรคระบาด ก่อนหนีได้ขายที่ดินให้คนอื่น เมื่ออพยพกลับมาก็ต้องอาศัยในที่ดินที่ขายให้คนอื่นไปแล้ว
- ในปี พ.ศ.2499 ชาวเลบ้านหัวแหลมมีสิทธิ์ได้รับสำเนาทะเบียนบ้านในฐานะคนไทย และต้องเข้ารับการคัดเลือกทหาร
- ในปี พ.ศ.2501 ชาวเลคนหนึ่งได้รับการคัดเลือกทหารไม่สามารถผ่อนผันได้ จึงหนีไปอยู่ที่เกาะอื่น ทำให้ชาวเลครอบครัวอื่นๆ ทยอยอพยพตามไปจนบ้านหัวแหลมแทบไม่มีชาวเลเหลืออยู่ แต่หลังจากนั้นก็หวนกลับมาอีกแม้จะมีปัญหาเรื่องที่ดินสำหรับอยู่อาศัย
สภาพชุมชน
การเลือกทำเลในการตั้งถิ่นฐานของชาวเลทั่วไป สืบเนื่องมาจากการดำรงชีวิตในอดีต ซึ่งต้องอาศัยเรือเร่ร่อนและทำมาหากินทางทะเล ดังนั้นสภาพที่ตั้งบ้านเรือนของชาวเลจึงมักอาศัยตามชายฝั่งติดกับแผ่นดินใหญ่หรือตามหมู่เกาะต่างๆ และจะต้องอาศัยอยู่ตามบริเวณอ่าว หรือบริเวณที่ต้นไม้ที่ค่อนข้างใหญ่และหนาทึบพอสมควร การเลือกทำเลเช่นนี้นอกจากเหตุผลที่ว่า “ถ้าไม่ได้ยินเสียงคลื่นก็จะนอนไม่หลับ” แล้วยังเป็นแหล่งที่หลบคลื่นลมในฤดูมรสุมได้เป็นอย่างดี และสะดวกต่อการดำรงชีวิตที่ต้องประกอบอาชีพตามความถนัด
การตั้งบ้านเรือน
ระยะแรกอยู่ในลักษณะเรียงรายกระจัดกระจายอยู่ตามชายฝั่งไม่ลึกนัก แต่ต่อมาหลังจากขยายชุมชนออกไปเป็นแนวยาวตามชายฝั่งทะเล และเริ่มมีปัญหาเรื่องที่ดิน จนกระทั่งได้รับพระราชทานที่ดินบริเวณบ้านหัวแหลมสุดตามพระราชดำรัส ซึ่งที่ดินบางส่วนอยู่ลึกเข้าไปจากชายฝั่งทะเล และเป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ ติดกับภูเขาใหญ่ พวกเขาจึงต้องขยายชุมชนขึ้นไปตั้งบ้านเรือนบนเนินที่อยู่ลึกเข้าไปจากชายฝั่งทะเลมากขึ้น การขยายชุมชนเช่นนี้ แม้จะมีปัญหากับการประกอบอาชีพบ้าง แต่ก็มีประโยชน์อย่างอื่นเสริมมากขึ้น เพราะชาวเลบ้านหัวแหลมรุ่นหลังๆ มีความรู้ความความเข้าใจด้านการเกษตรกรรมมากขึ้น มีการทำนาทำสวนมากขึ้น ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าชาวเลบางครัวเรือนมียุ้งข้าวเป็นของตนเอง มีที่เก็บพืชสวน เป็นต้น จากการที่ตั้งบ้านเรือนตามชายฝั่งริมอ่าวนี้เอง ทำให้ชาวเลบ้านหัวแหลมต้องสร้างที่พักอาศัยตามความสะดวกในการดำรงชีวิตมากกว่าที่จะยึดถือความเชื่อต่างๆดังที่ปรากฏอยู่ในสังคมชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ กล่าวคือ กลุ่มที่สร้างบ้านเรือยติดกับทะเลจะหันหน้าเรือนขึ้นฝั่ง และหันหลังเรือนออกทะเลเสมอ ส่วนพวกที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ด้านในลึกจากชายฝั่งทะเลเข้าไปมักจะหันหน้าเรือนออกทะเล เพื่อรับลมและความสะดวกในทุกด้าน โดยไม่ต้องคำนึงถึงระดับน้ำทะเลเหมือนกลุ่มแรก แต่ก็มีบางหลังที่จำเป็นต้องหันข้างออกทะเล เพื่อให้สัมพันธ์กับพื้นที่ที่ตั้งเรือนพัก แต่ไม่ปรากฏว่าเรือนพักที่ลึกจากชายฝั่งจะหันหลังให้ทะเลเลย
สภาพอากาศ
เนื่องจากเกาะลันตาอยู่บริเวณเขตมรสุม มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือ “ลมพลัด” พัดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ลมออก” พัดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน อิทธิพลของมรสุมดังกล่าวมีผลให้อากาศอบอุ่นชุ่มชื้นตลอดปี และมีเพียง 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม และฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม
เชื้อชาติ
ชาวเลอูรักลาโว้ย ชาวไทย ชาวจีน ชาวมุสลิม
การแต่งงาน
ในอดีตหนุ่มสาวชาวเลจะแต่งงานอายุประมาณ 14-18 ปีและมีพิธีสู่ขอหมั้นหมาย โดยผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะไปขอถึง 3 ครั้ง ถาตอบรับก็จะไปขอหมั้น หรือ“ปากัยตูนัง” ก่อนแต่ง 3 วัน ฝ่ายชายจะต้องอาสาทำงานบ้านผู้หญิง เช่น หาน้ำ ผ่าฟืน เป็นต้น วันแต่งงานขบวนแห่จะให้เจ้าบ่าวขี่คอเดินวนซ้ายรอบบ้านเจ้าสาว 3 รอบ ก่อนย่างเข้าประตูบ้าน ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะถามว่า มีเรือไหม มีแหไหม มีฉมวกไหม เจ้าบ่าวตอบว่า “มี” ก็จะมีคนล้างเท้าให้ก่อนข้ามเข้าธรณีประตู เพื่อนเจ้าบ่าวจะนำเสื่อและหมอนไปวางในห้องเจ้าสาว เจ้าสาวจะประแป้งให้แขกที่มาร่วมงาน วันรุ่งขึ้นพ่อแม่และญาติพี่น้องจะส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวลงเรือไปผจญภัยตามเกาะต่าง ๆ โดยมีข้าวสาร น้ำจืด เครื่องมือจับปลาไปด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าฝ่ายชายจะสามารถเลี้ยงดูภรรยาได้ ขาไปผู้ชายจะเป็นคนกรรเชียงเรือโดยให้ผู้หญิงนั่งหัวเรือ ขากลับผู้หญิงจะเป็นฝ่ายกรรเชียงเรือให้ผู้ชายนั่งหัวเรือ เป็นที่เขาใจได้ว่าทั้งคู่เป็นสามีภรรยาตามพฤตินัยแล้ว เมื่อแต่งแล้วฝ่ายชายจะต้องเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง
ปัจจุบันชาวเลบ้านหัวแหลม มีพิธีแต่งงานที่คล้ายกับคนไทยพื้นถิ่น เริ่มตั้งแต่หนุ่มสาวชอบพอกันให้ ผู้ใหญ่ไปสู่ขอ มีสินสอดของหมั้น มีงานเลี้ยงในหมู่ญาติและคนรู้จัก งานเลี้ยงจะขึ้นอยู่กับฐานะของคู่บ่าวสาว บางคู่ก็มีการกินเลี้ยงที่บ้าน อาหารในงานเลี้ยง เช่น ปลาทอด น้ำชุบหยำ แกงไก่ แกงหมู เป็นต้น มีพิธีรดน้ำให้พรโดยมีโต๊ะหมอ*เป็นผู้ทำพิธีและญาติผู้ใหญ่ ชุดแต่งงานของคู่บ่าวสาวแต่งตามสมัยนิยม ช่วงอายุของการแต่งงานประมาณยี่สิบปีขึ้นไป และหลังจากแต่งงานแล้วการที่จะอยู่บ้านของฝ่ายไหนก็ขึ้นอยู่กับสะดวกและสถานที่ทำงานของฝ่ายนั้น
การเลือกคู่ครองของหนุ่มสาวชาวเลในอดีต ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของพ่อแม่หรือหากชอบพอกันเอง พ่อแม่ก็จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้แต่งงานกันหรือไม่ แต่ปัจจุบันหนุ่มสาวจะเลือกคู่ครองและตัดสินใจกันเอง โดยรูปแบบการแต่งงานมีดังนี้
- การแต่งงานกันในกลุ่มเดียวกัน (Endogamy): คือการแต่งงานที่คู่แต่งงานเป็นชาวเลบ้านหัวแหลมกันทั้งคู่ เป็นการแต่งงานกันในเครือญาติ เพราะมีบรรพบุรุษร่วมกัน และใช้นามสกุล “ทะเลลึก” ร่วมกัน แต่จะมีข้อห้ามไม่ให้แต่งงานระหว่างพี่กับน้อง พ่อแม่กับลูก และลูกพี่ลูกน้องแบบคู่ขนาน คือ ลูกที่เกิดจากพี่ชายกับลูกที่เกิดจากน้องชาย หรือ ลูกที่เกิดจากพี่สาวกับลูกที่เกิดจากน้องสาว แต่จะอนุญาตให้ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นเพศตรงข้ามกันได้ เช่น ลูกของพี่สาวกับลูกของน้องชายและลูกของพี่ชายกับลูกของน้องสาว ซึ่งส่วนมากจะแต่งงานกันในกลุ่มเดียวกัน
- การแต่งงานกันนอกกลุ่ม (Exogamy): จะมีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่ผู้หญิงชาวเลแต่งกับผู้ชายชาวเล (อูรักลาโว้ย) ต่างถิ่น เช่น ชาวเลเกาะจัม ศาลาด่าน บ่อแหน แหลมตง(เกาะพีพี) จ.กระบี่ หาดราไวย์ แหลมตุ๊กแก จ.ภูเก็ต และเกาะหลี่เป๊ะ จ.สตูล หรือแต่งงานกับชาวเลมอเก็น ชาวจีน ชาวไทย และชาวมุสลิมทั้งที่อาศัยอยู่ในถิ่นเดียวกันและต่างถิ่น
การแต่งงานกันในทัศนะของชาวเล นอกจากการแต่งกันด้วยความรักแบบหนุ่มสาว พ่อหม้ายแม่หม้ายที่สูงอายุมักจะจับคู่แต่งงานกัน เพราะต้องการเพื่อนไว้คอยปรนนิบัติยามเจ็บไข้ไม่สบาย
การนับญาติและการเรียกชื่อ
แม้ชาวเลอูรักลาโว้ยจะยึดระบบการตั้งถิ่นฐานโดยฝ่ายชายไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิง(matrilocal) และมีการสืบทอดอำนาจทางฝ่ายแม่ แต่จะมีการนับญาติทั้งสองฝ่าย (bilateral kinship) คือแต่ละคนจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้สังเกตได้จากคำเรียกญาติทั้งสองฝ่ายที่มีสถานภาพเดียวกัน ด้วยคำเรียกญาติคำเดียวกัน อาจจะเป็นเพราะชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ย เป็นชุมชนเล็กๆ แม้จะแต่งงานแยกบ้านไปแล้วยังไปมาหาสู่กันได้สะดวก จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันทั้งสองฝ่าย
สังคมชาวเลอูรักลาโว้ยมีศัพท์ที่ซับซ้อน แสดงถึงความเป็นสังคมเครือญาติ คือทุกคนในชุมชนเดียวกันจะเป็นญาติกันหมด มีทั้งญาติที่สืบทอดทางสายโลหิต ญาติทางการแต่งงาน และยังมีการสร้างความสัมพันธ์โดยการสมมุติ เช่น ศัพท์คำว่า “อะนะพีโด๊ะ” แปลว่า ลูกบุญธรรม และ“ซาบั๊ย” แปลว่า เกลอ เป็นการผูกญาติผูกมิตรเพื่อขยายวงญาติให้กว้างขวางขึ้น โดย “ลูกบุญธรรม” และ “เกลอ” อาจจะเป็นกลุ่มอูรักลาโว้ยด้วยกันหรือระหว่างอูรักลาโว้ยกับชาวไทยมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน หรือชาวไทยพุทธก็ได้
จีน, อูรักลาโวยจ
ชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านหัวแหลม มีเรือประมงเป็นของครอบครัว เครื่องมือประมงที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ได้แก่ ไซปลา, ไซหมึก, อวนปู, อวนกุ้ง,อวนปลา, อวนจับกุ้งเคย (อวนล้อม) ซึ่งเครื่องมือแต่ละชนิดสามารถใช้หมุนเวียนกันไปตลอดฤดูกาล ปัจจุบันชาวเลหันมาประกอบอาชีพอื่นๆ ได้แก่ ค้าขาย ลูกจ้างหน่วยงานราชการ รับจ้างทั่วไป เช่น แบกหาม, ทำสวน, ดายหญ้า, ก่อสร้าง, พนักงานเสิร์ฟ,แม่บ้านในรีสอร์ทและโรงแรม เป็นต้น
พิธีกรรมและประเพณี
ช่วงเวลา | ชื่อประเพณี | รายละเอียดประเพณี |
เดือน 5 ของทุกปี | ประเพณีเปอตัดญีรัย(ประเพณีการแต่งเปรว) | เป็นการทำความสะอาด บูรณะซ่อมแซม ตกแต่งเปรวหรือสุสานและหลุมศพของแต่ละครอบครัวแต่ละสายสกุล |
จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในระหว่างวันขึ้น 13 ค่ำถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน และ เดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ | ประเพณีลอยเรือ (อารีปลาจั๊ก | ประเพณีลอยเรือชาวเลบ้านหัวแหลม จัดขึ้นเพื่อลอยเคราะห์และส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับไป “ฆูนุงฌีไร” (ภูเขาต้นไทร ในรัฐไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย) ซึ่งชาวเลเชื่อว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ที่บรรพบุรุษเคยอยู่อาศัย ซึ่งชาวเลต้องทำพิธีลอยเรือ“ปลาจั๊ก” เพื่อเซ่นสรวงทุกครั้งที่ลมมรสุมพัดเปลี่ยนทิศทาง และประเพณีนี้ยังทำให้ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นได้มีโอกาสพบปะกัน |
ช่วงเทศกาลสารทไทย หรือเดือนสิบ | ประเพณีแลกเปลี่ยนสิ่งของและชิงเปรตระเพณีแลกเปลี่ยนสิ่งของและชิงเปรต | เป็นการนำขนมพอง ขนมลา ข้าวปลาอาหาร และเงินที่ร่วมกันทำบุญไปตั้งไหว้เปรต/บรรพบุรุษและนำมากิน เพราะเชื่อว่าต้องไปรับบุญไม่เช่นนั้นวิญญาณบรรพบุรุษจะอดอยาก |
ช่วงที่นำเรือมาซ่อมหรือเมื่อเรือชำรุด | พิธีไหว้หัวเรือ | ก่อนซ่อมจะมีการทำนูหรีเลี้ยงคน โดยมีความเชื่อว่าถ้ามีคนมาร่วมงานบุญนูหรีมาก ก็จะทำใหตอนออกไปหาสัตว์ทะเลจะได้มากเช่นกัน อาหารที่จัดเลี้ยง ได้แก่ ข้าว หมี่ผัด เหนียวเหลือง ไก่ต้ม โดยมีโต๊ะหมอเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม |
ระหว่างเดือนหกถึงเดือนสิบเอ็ด เป็นช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ ถ้าทำพิธีในช่วงน้ำทะเลกำลังขึ้นจะดีมาก | พิธีปูยาเกาะ(พิธีปูย่าปูเลา) | เป็นพิธีบวงสรวงเกาะและโต๊ะที่อยู่ประจำเกาะ ชาวเลอูรักลาโว้ยทุกชุมชนในเกาะลันตาจะมาร่วมพิธี และยังมีชาวเลอูรักลาโว้ยจากเกาะจัม อำเภอเหนือคลอง และบ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต มาร่วมพิธีด้วย |
พิธีศพ: เมื่อมีสมาชิกในชุมชนเสียชีวิต จะก่อกองไฟไว้หน้าบ้านผู้ตายและจัดวางอาหารไว้หน้ากองไฟตลอด 3 วัน 3 คืน ถ้าเสียชีวิตในช่วงเช้าจะฝังศพตอนเย็น ถ้าเสียชีวิตหลังเที่ยงวัน จะทำพิธีฝังในวันรุ่งขึ้น ผู้ชายจะช่วยกันทำโลงและมีการอาบน้ำศพ โดยโต๊ะหมอ*จะอาบให้เป็นคนแรก ต่อด้วยญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน หลังจากนั้นจะแต่งตัวให้ผู้ตายและทาน้ำมันหอมก่อนบรรจุลงในโลงศพที่ปูด้วยเสื่อและใช้ผ้าขาวยาว 9 ศอก คลุมบนศพ นำข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายใส่ไปในโลงศพด้วย แล้วแห่ศพไปฝังยังสุสาน เมื่อโต๊ะหมอ*ทำพิธี ญาติพี่น้องจะช่วยกันกลบหลุมศพ และปลูกมะพร้าวที่มีหน่อไว้ปลายเท้าศพ หลังจากนั้นอีก 3 วัน จะเลี้ยงอาหาร ดับกองไฟ และทำบุญผู้ตายอีกครั้งในพิธีแต่งเปลว
พิธีแก้บน(แก้เหลย): ชาวเลจะมีการแก้บน เพราะได้บนบานศาลกล่าวกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่ตนเคารพนับถือว่าให้ตนเองและครอบครัวหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบผลสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นไปตามที่ได้ขอหรือบนบานไว้ ก็ต้องมาแก้บน เช่น บนว่าถ้าหายป่วยจะจัดให้มีการแสดงรำมะนา หรือถวายอาหารคาวหวาน ก็ต้องมาทำตามที่ได้ให้พันธะสัญญาไว้
วิถีชีวิต
จำแนกตามวัฒนธรรมปัจจัย 4 ได้ดังนี้
ที่อยู่อาศัย: ชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านหัวแหลม สร้างที่พักอาศัยเป็นกลุ่มใกล้ๆกัน เป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย หลังไม่ใหญ่โครงสร้างบ้านทำด้วยไม้กลม ฝาไม้ไผ่ขัดแตะ ปัจจุบันบ้านที่อยู่บนเนินเปลี่ยนเป็นก่ออิฐถือปูน หลังคามุงสังกะสี ส่วนบ้านที่อยู่ริมฝั่งทะเล เป็นบ้านชั้นเดียว เสาบ้านจะยื่นลงไปในทะเล พื้นบ้านยกสูงเหนือระดับน้ำทะเล
การแต่งกาย: ในอดีตชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านหัวแหลม แต่งกายด้วยเสื้อผ้าไม่มากชิ้น ผู้ชายนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว หรือกางเกงชาวเลผ้าขาวม้าคาดเอว ไม่สวมเสื้อ ผู้หญิงอยู่บ้านนุ่งผ้ากระโจมอกไม่สวมเสื้อ กรณีออกนอกบ้านจะสวมเสื้อและนุ่งผ้าปาเต๊ะสีสดๆ ปัจจุบันชาวเลส่วนใหญ่แต่งกายตามสมัยนิยม ผู้ชายใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ส่วนผู้หญิงใส่เสื้อผ้าแฟชั่นสีสดใส แต่งหน้าและใส่เครื่องประดับ ส่วนชาวเลสูงวัยผู้ชายถ้าอยู่บ้านจะนุ่งผ้าขาวม้าหรือกางเกงชาวเลไม่สวมเสื้อ ส่วนผู้หญิงถ้าอยู่บ้านจะนุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อคอกระเช้า หรือเสื้อหลวมๆ
การรักษาโรค: ชาวเลมีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติหรือผีบรรพบุรุษ ถ้าเจ็บไข้เพียงเล็กน้อยก็จะรักษาเองด้วยสมุนไพร หรือให้โต๊ะหมอ*รักษาและทำน้ำมนต์ ปัจจุบันชาวเลเข้าถึงการรักษาโรคแผนปัจจุบันมากขึ้น แต่การรักษาโรคแบบพื้นบ้านก็ยังคงมีใช้ควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบัน เช่น เด็กเจ็บไข้เล็กน้อย ปวดท้องหรือเป็นชันนะตุจะรักษาเองด้วยการเคี้ยวหมากพลูหรือใบไม้พอกลงไปตรงที่เจ็บ ท้องเสียจะเคี้ยวยอดอ่อนของใบฝรั่ง ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้มือรมควันไฟจากตะเกียงน้ำมันก๊าดแล้วเอาไปวางที่ท้องเด็ก เป็นต้น
อาหาร: ชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านหัวแหลม มีอาหารทะเล ประเภท กุ้ง หอย ปลา ปู กั้ง หมีก และเพรียงทะเลเป็นอาหารหลัก นำมาต้ม ย่าง เผา หรือกินสด ๆ เช่น หอยติบ(หอยนางรมตัวเล็ก) ยำหอยติบกินกับน้ำชุบเคย หอยติบผัดหมี่หุน แกงกะทิหมี่หุนกับหอยติบ ข้าวมันหอยติบเผา ปลากระเบนย่าง ปลากระเบนต้มเกลือ ปลาฉลามหนูย่าง ปลาฉลามหนูต้มเกลือท้ังหนัง ปัจจุบันจะปรุงอาหารหลากหลายประเภท เช่น แกงส้มปลาปักเป้า(มีหนามยาวๆ) แกงคั่วปลาปักเป้า(มีหนามเล็กๆ) คั่วปลาย่าง แกงส้ม ปลากระเบนผัดเผ็ดน้ำชุบเคย ปลากระเบนแกงกะทิ เคี่ยวปลากระเบน เคี่ยวปลาพอง(ปลาเน่า) ปลาทอด แกงไก่ แกงหมู แกงกะทิหอยโหละ หอยตาวัว และหอยเวียน หอยเตาเข็มต้มกะทิหรือแกงกะทิ ยำหอยโข่งใส่มะพร้าวคั่ว เป็นต้น ขนมหวาน ได้แก่ มันต้มน้ำตาล, มันต้มคลุกมะพร้าวน้ำตาลทราย, ต้มบวดมัน(สว้านาแนะ) ต้มบวดเผือก, มันเชื่อม, เผือกเชื่อม, ข้าวโพดต้มคลุกน้ำตาลและเกลือ
(โต๊ะหมอ คือ ผู้นำกลุ่มที่ได้รับเลือกจากสมาชิกให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งและหน้าที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อมีกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ สมาชิกกลุ่มจะเชิญโต๊ะหมอไปประกอบพิธีกรรม เช่น พิธีแก้บน พิธีศพ พิธีเกี่ยวกับการให้กำเนิดทารก และพิธีลอยเรือ เป็นต้น นอกจากนี้โต๊ะหมอยังมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุข และแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนด้วย จึงนับว่าโต๊ะหมอเป็นผู้นำกลุ่มที่มีบทบาทหน้าที่ทั้งทางโลกและทางธรรม)
นายประชา ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านปี พ.ศ.2530
นายชัยยงค์ ไชยเพ็ชร ผู้ใหญ่บ้านหมู่1
นายนิรันดร์ หาญทะเล ผู้ใหญ่บ้านหมู่7
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ด้านการประกอบอาชีพ: การทำบูบูอีกัด (ไซปลา), การทำบูบูหนุย (ไซหมึก), การทำปูกัยจ ฮูรัก(อวนกุ้ง) การดูกระแสน้า , ดูทิศทางลม, ดูการโคจรของดวงจันทร์และดวงดาว
ด้านหัตถกรรม: การต่อเรือปลาจั๊ก การจักสานฝาบ้าน เย็บจากมุงหลงัคาบ้าน ในอดีตเคยมีคนจักสานเสื่อจากเตย ปัจจุบันไม่มีแล้ว
ด้านถนอมอาหาร: ทำน้ำพริกปลาย่าง, ปลาคั่วเครื่องแกง, ปลาเค็ม(ปลาแห้ง), หน่อไม้ดอง, สะตอดอง,การทำกะปิจากกุ้งเคยตัวเล็ก เป็นต้น การละเล่นในอดีต เด็กผู้หญิงชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านหัวแหลมมีการละเล่นกระโดดกบ หมากขุม หมากเก็บ ลากกาบหมาก(เตาะหมาก) กระโดดยาง(กิงก่องแก้ว) ปี่ซังข้าว เล่นข้าวหุงเลียง แทะแทะ(โยนก้อนหิน) เด็กผู้ชายละเล่นขว้างกระป๋อง, เล่นซ่อนแอบ เล่นตำรวจจับผู้ร้าย, เล่นยิงปืน เด็กชาวเลบ้านหัวแหลมปัจจุบัน มีการละเล่นตามสมัยนิยมเหมือนคนทั่วไป เช่น เล่นขายข้าวแกงขายก๋วยเตี๋ยว ร้องเพลง เต้นรำ เล่นเป็นครูสอนเด็ก เล่นตุ๊กตา ส่วนเด็กผู้ชาย เล่นน้ำ ขี่คอ กระโดด เล่นยิงปืน ตกเบ็ด เป็นต้น
ศิลปะการแสดง
รองเง็ง: เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มีทั้งการขับร้องและท่ารำที่ใช้การเคลื่อนไหวทั้งลำตัว มือและเท้าไปตามจังหวะของบทเพลง โดยมีพ่อเพลงและแม่เพลงขับโต้ตอบกันที่บอกกล่าวถึงความรักระหว่างหนุ่มสาวหรือธรรมชาติสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว บทขับร้องเพลงจะเป็นภาษามาลายูกลาง จะเริ่มต้นด้วยเพลงลาฆูดัว(ลาฆูดูวอ) ลาฆูมะอินัง ลาฆูบูหรงปูเต๊ะ เป็นเพลงไหว้ครู เครื่องดนตรีวงรองเง็ง ประกอบด้วย ไวโอลิน(ซอ) รำมะนา 1 คู่ และฆ้อง โอกาสในการแสดงจะแสดงในงานรื่นเริง เทศกาลประเพณี งานประเพณีลอยเรือของชาวเล เป็นต้น นักดนตรีและผู้แสดงรองเง็งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและไม่สามารถรับงานแสดงนอกพื้นทีได้ แต่ยังเล่นในพิธีกรรมสำคัญในชุมชน ปัจจุบันบ้านหัวแหลมมีคนขับรองเง็งได้ 2 คน เป็นผู้ชาย 1 คนและผู้หญิง 1 คน ปกติเวลามีงานจะร่วมรำกับคณะที่บ้านสังกาอู้ การสืบทอดแสดงรำรองเง็งของชาวเลอูรักลาโว้ยจะมีการรำประกอบเพลงด้วยชุดแผ่นเสียงเนื่องจากไม่มีนักดนตรีและนักร้องขับรองเง็งเป็นวงคณะได้ และกลุ่มเยาวชนลูกหลานไม่ให้ความสนใจ
รำมะนา: เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย ที่มีทั้งบทการขับร้องและท่ารำที่แสดงตามจังหวะเสียงดนตรี โดยนางรำจะแสดงและร่ายรำเป็นวงล้อมรอบนักดนตรีหลังจากจบการบรรเลงเพลงรำมะนา 3 เพลงไปแล้ว บทขับร้องเพลงรำมะนา มีทั้งหมด 7 เพลง เป็นภาษามาเลยก์ลางที่กล่าวถึงการอัญเชิญบรรพบุรุษมารับของบูชาเซ่นไหว้ และเรื่องราววิถีการดำเนินชีวิตของชาวเล โดยมีพ่อเพลงเป็นผู้ขับร้องนำและลูกคู่รับสลับกันไปมา วงรำมะนาจะบรรเลงในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีลอยเรือชาวเลในเดือน 6 และเดือน 11 พิธีแต่งเปรว และการแก้บน(แก้เหลย) เครื่องดนตรีวงรำมะนาประกอบด้วย กลองรำมะนา 5-7 ตัว ฆ้องกรับ ฉิ่งหรือฉาบ
ภาษาของชาวเลอุรักลาโว้ยในบ้านหัวแหลม ที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน มีแต่ภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน มีคำศัพท์น้อย จะมีคำศัพท์ที่เข้าใจกันเฉพาะกลุ่มแสดงถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ แบ่งเป็นหมวด ได้แก่
- หมวดเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากิน เช่น ดักดัก หมายถึง รถจักรยานยนต์ จาโตะ หมายถึง เครื่องมือเจาะหอย, ญาเวาะ หมายถึง สวิงตักปลา เป็นต้น
- หมวดเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น จาลก หมายถึง แก้วน้ำ บางา เบอซี หมายถึง กระทะ ตีกอ หมายถึง กาต้มน้ำร้อน เป็นต้น
- หมวดธรรมชาติ เช่น กอมมวง หมายถึง ก้อนเมฆ กาโบยจ หมายถึง หมอก ตานะ หมายถึง ดิน เป็นต้น
กรมเจ้าท่า จ.กระบี่
ความเชื่อที่เกี่ยวกับเรือนพักอาศัย
แม้ว่าการเลือกทำเลในการสร้างเรือนพักอาศัยของชาวเลบ้านหัวแหลม จะคำนึงถึงความสะดวกในการดำรงชีวิต และความเหมาะสมของพื้นที่มากกว่าความเชื่องเรื่องทิศทาง และสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ แต่ความเชื่อเหล่านี้จะปรากฏในรายละเอียดภายในตัวเรือนพัก เช่น
- ไม่ว่าตัวเรือนพักจะหันไปทางทิศใด การวางตำแหน่งหัวนอนก็จะไม่หันไปทางทิศตะวันตก เพราะเชื่อว่าเป็นทิศที่ฝังคนตาย
- ความเชื่อที่ว่าหากสามีออกทะเลแล้วภรรยาไปขยับเสื่อหรือข้ามหมอน จะทำให้สามีได้รับอุบัติเหตุทางทะเลได้ ก่อนจะออกทะเลผู้ชายจึงจะต้องจัดวางเสื่อและหมอนไว้ในที่ปลอดภัยก่อนจะออกจากบ้าน
- บริเวณประตูบ้านถือว่าเป็นเส้นทางที่ทั้งคนและผีร้ายเข้าบ้านได้ จึงต้องผูกห้อยหนามเอาไว้ตรงเชิงบน ตามความเชื่อที่ว่าหนามแหลมคมสามารถสกัดผีร้ายได้ ส่วนตรงธรณีประตูจะนำทองเหลืองมาตอกไว้ เพราะเชื่อว่าสามารถป้องกันผีร้ายได้เช่นกัน
เนื่องจากชาวเลบ้านหัวแหลมเพิ่งจะรู้จักสร้างเรือนพักอาศัยที่ถาวรหลังจากชาวจีนและชาวมุสลิม ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าพวกเขารับเอาวัฒนธรรมความเชื่อจากกลุ่มชนใกล้เคียงมาถือปฏิบัติหลายอย่าง เช่น ในปัจจุบันมีการตั้งเสาเอกตามพิธีการของศาสนาอิสลาม โดยมีการผูกผ้าแดง รวงข้าว ดอกไม้ และลูกมะพร้าว 1 ลูกเอาไว้บนปลายเสา และภายในเรือนพักส่วนหน้าก็จะมีหิ้งสำหรับวางรูปถ่ายของบรรพบุรุษ กระถางธูป และถ้วยกำยานไว้บูชาตามแบบฉบับของคนจีนผสมอิสลาม ส่วนหน้าของบ้านหลังหนึ่งมีศาลพระภูมิหน้าบ้าน จากการสอบถามพบว่าชาวเลมอนเก็นจากเกาะภูเก็ตเดินทางมาเที่ยวแล้วเห็นว่ามีผีร้ายจึงแนะนำให้สร้างศาลขึ้น สำหรับประตูเรือนด้านบนของโต๊ะหมอผู้นำชุมชน ปัจจุบันมียันต์ที่พระจีนเขียนด้วยกระดาษสีเหลืองที่ได้มาตอนเมื่อครั้งที่ภรรยาไปให้พระจีนรักษาโรคมะเร็งติดไว้ด้วย นอกจากนั้นปัจจุบันมีเรือนพักชาวเลหลายหลังที่สร้างหิ้งพระสยามเทวาธิราชไว้บูชาด้วยเนื่องจากพ่อค้าที่นำมาขายให้บอกว่าเป็นวัฒนธรรมของไทยใหม่
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่(2564). กลุ่มชาติพันธ์ชาวเล จังหวัดกระบี่, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566)
อาภรณ์ อุกฤษณ์(2532). พิธีลอยเรือ: ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมของชาวเล กรณีศึกษาชุมชนบ้านหัวแหลม เกาะลันตา จังหวัดกระบี่, วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.(มานุษยวิทยา)) มหาวิทยาลัยศิลปากร
โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย. ชนเผ่าพื้นเมืองอูรักลาโว้ย, มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (ม.ก.ส)