Advance search

หาดราไวย์ แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อบนเกาะภูเก็ตที่คลาคล่ำไปด้วยนักเดินทางมาเสาะแสวงหาสินค้าที่ระลึก ลึกเข้าไปไม่กี่ร้อยเมตร จะพบภาพชาวเลนั่งจับกลุ่มคุยกัน บ้างกำลังคัดปลาที่เพิ่งนำขึ้นจากเรือ หลายคนสาละวนอยู่กับการทำความสะอาดเครื่องมือจับปลา ขณะที่บางคนนั่งเหม่อมองไปยังท้องทะเลเบื้องหน้าด้วยสายตาที่ยากจะเข้าใจความรู้สึกได้ คนเหล่านั้นคือชาวเล “อูรักลาโวยจ”

หมู่ที่ 2
หาดราไวย์
ราไวย์
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ธำรงค์ บริเวธานันท์
21 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 ก.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 ส.ค. 2023
หาดราไวย์


ชุมชนชาติพันธุ์

หาดราไวย์ แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อบนเกาะภูเก็ตที่คลาคล่ำไปด้วยนักเดินทางมาเสาะแสวงหาสินค้าที่ระลึก ลึกเข้าไปไม่กี่ร้อยเมตร จะพบภาพชาวเลนั่งจับกลุ่มคุยกัน บ้างกำลังคัดปลาที่เพิ่งนำขึ้นจากเรือ หลายคนสาละวนอยู่กับการทำความสะอาดเครื่องมือจับปลา ขณะที่บางคนนั่งเหม่อมองไปยังท้องทะเลเบื้องหน้าด้วยสายตาที่ยากจะเข้าใจความรู้สึกได้ คนเหล่านั้นคือชาวเล “อูรักลาโวยจ”

หาดราไวย์
หมู่ที่ 2
ราไวย์
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
831130
7.779024504
98.32855806
เทศบาลตำบลเทศบาลตำบลราไวย์

หาดราไวย์ มีชื่อตามภาษาชาวเลว่า “ปาไตราไวย์” (ปาไต-หาด ราไวย์-เบ็ด) ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าเดิมบริเวณนั้นมีการตกเบ็ด หากุ้ง และหาปลากันมาก สภาพพื้นที่หาดราไวย์ในอดีต ในขณะที่ชาวอูรักลาโวยจเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานมีสภาพเป็นป่ารกทึบ มีต้นไม้ใหญ่ขนาดเท่าคนโอบ บริเวณด้านหน้าหมู่บ้านเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นมะขาม ต้นลั่นทม ต้นน้อยหน่าขึ้นอยู่ตามป่า อีกทั้งบางส่วนก็เป็นป่าเตยขึ้นอยู่หนาแน่น

ชาวอูรักลาโวยจ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาก่อนการตั้งถิ่นฐานถาวรในพื้นที่แห่งนี้ว่า เมื่อบรรพบุรุษของตนเดินทางต่อมาเรื่อย ๆ จนมาถึงบริเวณจังหวัดภูเก็ต ได้แวะพักอาศัยอยู่ที่บริเวณเกาะยาว เกาะไม้ท่อน และเกาะเฮตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 บางสถานที่ยังมีการขุดพบเปลือกหอยต่าง ๆ ที่สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้ว่าชาวอูรักลาโวยจเคยอาศัยอยู่ตามสถานที่เหล่านี้มาก่อน

ในอดีตชาวอูรักลาโวยจกลัวบุคคลภายนอกอย่างมากโดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ดังที่ครั้งหนึ่งชาวอูรักลาโวยจได้ปลูกมะพร้าวไว้ตามชายฝั่งเกาะเฮ แต่เมื่อมีคนนอกเข้าไปบอกว่าให้ย้ายออกไปเนื่องจากเจ้านายจะเข้ามาอยู่ ชาวอูรักลาโวยจจึงพากันหนีออกไปจากพื้นที่ แล้วเดินทางเคลื่อนย้ายมาเรื่อย ๆ กระทั่งตัดสินใจตั้งหลักปักฐานอยู่ที่หาดราไวย์อย่างถาวร แต่เมื่ออาศัยอยู่ที่หาดราไวย์เป็นหลักแหล่งแล้ว ก็ยังกลับไปที่เกาะเฮ เกาะโหลน เกาะบอนอีก เพื่อทำไร่ข้าว และสร้างที่พักเป็นกระต๊อบเล็ก ๆ พอข้าวสุกก็เดินทางกลับบ้านที่หาดราไวย์ สำหรับที่หาดราไวย์นั้น ชาวอูรักลาโว้ยเล่าว่าในอดีตมีบ้านอยู่เพียงประมาณ 20 หลังคาเรือน สภาพพื้นที่มีลักาณะเป็นป่าเตยโดง ป่าเสม็ด ต้นไม้ที่พบมาก คือ ลั่นทม และต้นเลือด ซึ่งชาวอูรักลาโวยจกลุ่มนี้ได้เข้ามาช่วยกันบุกเบิกสร้างบ้านขึ้น และอาศัยอยู่มาจนปัจจุบัน

นันทกา เครืออินทร์ (2553: 70-74) แบ่งประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านชาวอูรักลาโว้ยหาดราไวย์ ได้เป็น 3 ยุค ดังนี้

ยุคของการเดินทาง (พ.ศ. 2383-พ.ศ.2502)

  • ก่อนปี พ.ศ. 2383 ชาวอูรักลาโวยจได้เลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณหาดราไวย์แบบไม่ถาวร ระยะต่อมาเมื่อเกิดโรคอหิวาระบาด มีผู้คนล้มตายจํานวนมาก บางส่วนจึงมีการอพยพไปตั้งถิ่นฐานบริเวณเกาะเฮและเกาะบอน

  • พ.ศ. 2383 มีการย้ายกลับมาอยู่ที่หาดราไวย์และได้ตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร ในขณะเดียวกันก็มีคนไทยท้องถิ่นได้เข้ามาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงกัน

  • พ.ศ. 2482-2488 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวอูรักลาโวยจต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในป่าอย่างลําบาก

  • พ.ศ. 2484-2485 กลุ่มชาวมอแกนประมาณ 10 ครอบครัว อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หาดราไวย์

  • พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จพระราชดําเนินมาเยี่ยมเยือนราษฎรในจังหวัดภูเก็ตและทรงเสด็จพระราชดําเนินมาที่บริเวณหาดราไวย์

ยุคเอกสารสิทธิที่ดิน (พ.ศ. 2523-2539)

  • พ.ศ.2523 ชาวอูรักลาโวยจและชาวมอแกนส่วนหนึ่งได้รับบัตรประจําตัวประชาชน

  • พ.ศ.2526 ที่ดินที่ชาวอูรักลาโวยจอาศัยอยู่ถูกครอบครองโดยคนไทยท้องถิ่น ส่งผลให้ชาวอูรักลาโวยจต้องอาศัยอยู่อย่างลําบากในที่ดินของตนเองแต่มิได้เป็นเจ้าของตามกฎหมาย

  • พ.ศ.2539 มีการเรียกร้องสิทธิในที่ดินระหว่างชาวบ้านกับเจ้าของที่ดิน โดยมีองค์กรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเข้ามาช่วยเรียกร้อง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน)

  • พ.ศ.2544 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งในพื้นที่หาดราไวย์มีธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเกิดขึ้น พื้นที่ของหมู่บ้านทางทิศตะวันออกจึงถูกสร้างเป็นรีสอร์ตและสปาขนาดใหญ่ เจ้าของที่ดินพยายามปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านใช้หรือสัญจรผ่านพื้นที่ดังกล่าว แต่พื้นที่ด้านในสุดของแหลมราไวย์ ซึ่งใกล้กับรีสอร์ตและสปา เป็นที่ตั้งของศาลประจำหมู่บ้านและเป็นพื้นที่ถักไซ เครื่องมือจับปลาของคนในหมู่บ้าน ชาวบ้าน ชาวบ้านจึงไม่ยอมให้ปิดทางสัญจร จนเกิดการประท้วงขึ้น เจ้าของรีสอร์ตและสปาจึงต้องเปิดทางให้ชาวบ้านสัญจรได้ต่อไป

  • พ.ศ. 2547 เกิดเหตุธรณีภิบัติภัยสึนามิขึ้นในพื้นที่บริเวณ 6 จังหวัด ทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน กลุ่มชาวเลทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ และชาวอูรักลาโวยจได้เข้ามามีบทบาทในการร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีสาธารณะและกล้าที่จะติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น

  • ปัจจุบัน ชุมชนหาดราไวย์ ประกอบด้วยชาวอูรักลาโวยจ ชาวมอแกน และคนไทยเข้ามาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัดคับแคบ

จากการแบ่งยุคสมัยและพัฒนาการของหาดราไวย์ สรุปได้ว่า แม้ว่าชาวอูรักลาโวยจจะได้อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้เป็นเวลานานประมาณ 200 ปี แต่การที่ในอดีตชาวอูรักลาโวยจไม่มีความรู้เกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์และเกรงกลัวบุคคลภายนอก จึงไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์ขึ้นอย่างชัดเจน ในปี พ.ศ. 2515 มีผู้ออกเอกสารสิทธิ์จนทําให้ชาวอูรักลาโวยจต้องตกอยู่ในฐานะของผู้บุกรุกพื้นที่ แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานานก็ตาม ทว่า ก็ได้มีการเจรจาต่อรองจากชาวอูรักลาโวยจในการยังยืนยันถึงสิทธิ์ที่ตนจะสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่หาดราไวย์ได้ต่อไป

ที่ตั้งและอาณาเขต

หาดราไวย์ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของเกาะภูเก็ต ด้านหน้าหมู่บ้านติดกับทะเล มีเกาะเรียงรายอยู่รอบ ๆ จํานวน 9 เกาะ ได้แก่ เกาะโหลน เกาะเฮ เกาะราชาใหญ่ เกาะราชาเล็ก เกาะบอน เกาะแอว เกาะมัน เกาะนอก และเกาะแก้ว หมู่บ้านชาวอูรักลาโว้ยหาดราไวย์ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตําบลราไวย์ อําเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีเนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ 2 งาน แบ่งเขตพื้นที่อยู่อาศัยออกเป็น 3 กลุ่มบ้าน ได้แก่

  • บ้านบน เป็นแถบบ้านของชาวอูรักลาโวยจที่อยู่ปะปนกับบ้านของคนไทย ในพื้นที่ที่มีการสร้างกําแพงกั้นบริเวณด้านบนหมู่บ้านและมีทางออกสู่ถนนสายหลักและเป็นบริเวณที่ตั้งของปั๊มน้ำมันในอดีต บ่อดั้งเดิม และบ่อ 2 บ่อที่อยู่ติดกัน

  • บ้านกลาง เป็นบริเวณบ้านที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ขายอาหารทะเลและบริเวณ ศาลากลางหมู่บ้าน และหากเป็นบ้านหลังที่อยู่ถัดเข้าไปด้านในหมู่บ้านก็จะเรียกย่อยลงไปว่าบ้านออก

  • บ้านใต้ หรือบ้านตก (ตะวันตก) เป็นบริเวณบ้านที่อยู่ริมถนนสายหลัก ตรงข้ามกับบ่อน้ำและถัดเข้ามาด้านในครอบคลุมพื้นที่บริเวณที่ตั้งโบสถ์ของชาวอูรักลาโวยจ ซึ่งบางคนก็มีการแต่งงานที่นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนตะวันตกนี้เป็นที่อยู่ของชาวมอแกนซึ่งบางคนก็มีการแต่งงานกับชาวอูรักลาโวยจ

สถานที่สำคัญ

การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่หาดราไวย์ มีสถานที่สําคัญที่ชาวอูรักลาโวยจใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ แต่ละสถานที่ล้วนมีความสําคัญต่อการดํารงชีวิต เป็นจุดศูนย์รวมชาวอูรักลาโวยจและมีการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

  • หลาดาโต๊ะ (หลา ศาลาหรือศาล) หรือบาไล โดยหลาของหมู่บ้านเกิดจากการที่ชาวอูรักลาโวยจได้ร่วมมือกันสร้างนานแล้ว มีเรื่องเล่าว่าหลานี้ตั้งมาตั้งแต่ก่อนการเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง โดยตั้งอยู่ในสถานที่เดียวกันกับที่ตั้งของหลาในปัจจุบัน หลาดาโต๊ะเป็นสิ่งสําคัญต้องอยู่คู่กับหาดราไวย์มานานกว่า 100 ปี ปัจจุบันมีหลาดาโต๊ะ 2 หลา (ในอดีตมีเพียงหลาเดียว) ประกอบด้วยหลาโบราณหลังเล็ก สร้างด้วยไม้ระกําและทางมะพร้าว ไม่มีความถาวรมากนัก ต่อมาได้สร้างหลาหลังใหญ่ขึ้นโดยได้รับอนุญาตจากโต๊ะหมอ ซึ่งหลาทั้งสองหลาต่างมีความสําคัญ เนื่องจากเชื่อว่าพื้นที่บริเวณที่ตั้งหลานั้นล้วนเป็นสถานที่ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ โดยปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจหาดราไวย์มีการประกอบพิธีกรรมการเซ่นไหว้หลาเป็นประจำทุกปี การทําพิธีทําน้ำมนต์ในเดือน 6 และเดือน 11 ที่หลาหลังเล็ก ส่วนหลาหลังใหญ่จะใช้ในการบนบาน จากนั้นจะมีการแก้บนโดยการรำ หรือนำขนมจีนไปถวาย

  • สุสานหรือที่ฝังศพ (บางคนเรียกว่า เหลว หรือป่าช้า) ตั้งอยู่ที่หาดมิตรภาพติดกับหาดแหลมกาบริเวณอ่าวฉลองติดกับกุโบร์ (สุสาน) ของชาวมุสลิม พื้นที่ที่เป็นสุสานในปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีเจ้าของ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ในอดีตที่ชาวอูรักลาโวยจยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานถาวร จะมีการนำศพไปไว้ที่สุสานบนเกาะเฮ หรือบริเวณใกล้กับชายหาดที่มองเห็นเป็นสีดําใกล้กับหัวแหลม ซึ่งในปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจที่หาดราไวย์ยังนำศพไปฝังที่สุสานแห่งนี้อยู่

  • บ่อน้ำ บริเวณหาดราไวย์มีบ่อน้ำดั้งเดิมหรือบ่อลึก (บ่อขนาดเล็ก) ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านบน เป็นบ่อที่มีอายุราว 100 ปี ในอดีตเป็นบ่อดิน แต่ปัจจุบันมีการปรับปรุงให้มีสภาพดีขึ้น บ่อตาอุหมง เป็นบ่อที่มีอยู่ในหมู่บ้านตั้งแต่ในอดีต ซึ่งเป็นสถานที่สําคัญที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน บ่อตาอุหมงนี้ในระยะแรกเป็นบ่อดิน แต่ต่อมาตาอุหมงได้ซื้อท่อมาใส่จนบ่ออยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ถึงปัจจุบัน จึงเรียกชื่อบ่อน้ำว่า บ่อตาอุหมง 

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 หาดราไวย์ ตำบลราไวย์ มีจำนวนประชากร 3,649 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,748 คน ประชากรหญิง 1,901 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 3,376 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565) ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชน คือ ชาวอูรักลาโวยจและชาวไทย และมีบางส่วนเป็นชาวมอแกนที่เข้าไปแต่งงานกับชาวอูรักลาโวยจหาดราไวย์ แต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรชาวอูรักลาโวยจ

มอแกน, อูรักลาโวยจ

ชาวอูรักลาโวยจหาดราไวย์มีอาชีพหลัก คือ การทําประมง เช่น ดําหอย แทงปลา บางครั้งต้องไปนอนค้างคืนในเรือ 1-2 วัน จึงจะนําของกลับบ้านที่หาดราไวย์ บางคนเดินทางไปถึงบริเวณเกาะอาดัง แต่ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะเน้นทำประมงบริเวณทะเลใกล้บ้าน เนื่องจากการมีกฎข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรทางทะเล มีเพียงชาวอูรักลาโวยจบางคนเท่านั้นที่ยังออกไปทำประมงในที่ไกลจากหมู่บ้านออกไป และด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคมในปัจจุบัน ส่งผลให้การทำประมงในท้องทะเลเพียงอย่างเดียวไม่อาจนํามาซึ่งรายได้ที่เพียงพอต่อการดํารงชีวิตภายในครอบครัว ชาวอูรักลาโวยจบางคนจึงต้องประกอบอาชีพเสริม เช่น ก่อสร้าง (พอหยุดก่อสร้างก็ไปทําประมง) รับจ้างถางป่า รับจ้างเหมาโค่นต้นมะพร้าว รับจ้างปลูกต้นไม้ ทํางานรับจ้างในโรงแรม รับจ้างขับเรือนําเที่ยว พานักท่องเที่ยวไปดําน้ำ

ปัจจุบันมีนักธุรกิจ นายทุนที่เข้ามาทําธุรกิจนําเที่ยวเชิญชวนให้ชาวอูรักลาโวยหาดราไวย์ประมาณกว่า 40 คน ทํางานเป็นลูกจ้างประจํา ขับเรือนํานักท่องเที่ยวไปดําน้ำ (ขณะนี้ ชาวอูรักลาโวยจผ่านหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรเรือรับจ้างนําเที่ยว รุ่นที่ 1 ประมาณ 42 คน) ซึ่งหากสามารถผ่านหลักสูตรนี้ อย่างน้อยต้องได้ระดับสามดาว จึงสามารถนํานักท่องเที่ยวไปเที่ยวได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านบริษัททัวร์ แต่ในปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจต้องทําหน้าที่เป็นผู้ช่วย แม้ว่าบางคนจะมีความสามารถในการดําน้ำก็ตาม เนื่องจากการนํานักท่องเที่ยวไปดําน้ำและการฝึกอบรมแต่ละครั้งจะมีการคัดเลือกบุคคลที่มีประสบการณ์และมีความสามารถสูง โดยบางคนได้สองดาวก็สามารถเปิดบริษัทเองได้หากมีทุน แต่หากได้สามดาวก็สามารถเปิดโรงเรียนสอนได้เอง

ในอดีตชาวอูรักลาโวยจหาดราไวย์นับถือวิญญาณบรรพบุรุษและเจ้าที่ มีศาลเจ้าที่เรียกว่า “บาไล” (หลา หรือศาล) หรือรูมะดาโต๊ะ (คําว่า รูมะ หมายถึง บ้านหรือศาล) มีลักษณะเหมือนศาลพระภูมิ หรือศาลปู่ตาของชาวอีสาน มีผู้นําในการประกอบพิธีกรรมเรียกว่า “โต๊ะหมอ” ต่อมาเมื่อเปลี่ยนมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่หาดราไวย์อย่างถาวร ก็หันมานับถือศาสนาหลัก ๆ คือ ศาสนาพุทธ

ในปัจจุบันแม้ว่าชาวอูรักลาโวยจส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่บางคนก็ยังไม่มีการปฏิบัติตามหลักคําสอนของศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัดมากนัก เช่น การไปทําบุญที่วัด การเผาศพ เนื่องจากชาวอูรักลาโวยจส่วนใหญ่ยังคงให้ความสําคัญกับการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษและเจ้าที่เจ้าทาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีการนับถือต่อกันมา ตั้งแต่ในอดีต นอกจากนี้ มีชาวอูรักลาโวยจในชุมชนบางคนที่เริ่มหันมานับถือศาสนาคริสต์ตั้งแต่เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว และประมาณ 10 คน ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งการนับถือศาสนาอิสลามอาจเกิดจากการที่พ่อแม่นับถือศาสนาอิสลามมาก่อน จึงต้องนับถือตาม และบางคนนับถือเนื่องจากการแต่งงานกับคนที่นับถือศาสนาอิสลาม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาอูรักลาโวยจ ภาษามลายู และภาษาไทยถิ่นใต้ 


ปัจจุบัน มีชาวอูรักลาโวยจและชาวมอแกนในหาดราไวย์หลายรายที่ยังไม่มีบัตรประจําตัวประชาชน ซึ่งกําลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อมูล เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ไม่มีหลักฐานหรือพยานใด ๆ เช่น ไม่สามารถหาหลักฐานเกี่ยวกับสถานที่เกิด เพราะตอนเกิดทำคลอดด้วยหมอตําแย ไม่ใช่สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน จึงไม่สามารถยืนยันกับนายทะเบียน และบางครอบครัวไม่ได้แจ้งเกิดให้กับบุตรหลาน เนื่องจากในอดีตยังไม่มีการให้ความสําคัญด้านนี้ และบางคนกล่าวว่าในอดีตเมื่อชาวอูรักลาโวยจไปทําเรื่องแจ้งเกิด แจ้งตาย ทําสํามะโนครัว ทําบัตรประจําตัวประชาชนกับผู้นําหมู่บ้าน แต่เขาไม่รับทําให้ จึงมีปัญหาในการหาเอกสารหลักฐานมายืนยัน ชาวอูรักลาโวยจบางคนจึงต้องหาบุคคลที่มีอายุหรือเกิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อดูว่าบุคคลคนนั้นเกิดในวันใดและต้องหาบุคคลที่สามารถยืนยันว่าตนเป็นบุคคลในพื้นที่นี้จริง ซึ่งอาจไปสอบถามจากหมอตําแย ผู้ซึ่งสามารถเป็นพยานที่สามารถยืนยันถึงการเป็นชาวอูรักลาโวยจในพื้นที่หาดราไวย์

ทั้งนี้เนื่องจากบางคนที่มีอายุประมาณ 40 ปี ที่ยังไม่มีบัตรประจําตัวประชาชนแต่หมอตําแยได้เสียชีวิตไปแล้ว ต้องมีการเทียบเคียงข้อมูลกับบุคคลที่เกิดในช่วงปีเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และต้องหาหลักฐานที่ชัดเจนเพื่อนํามายืนยัน อย่างไรก็ตาม ด้วยความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี ชาวอูรักลาโวยจส่วนใหญ่บนหาดราไวย์ได้รับบัตรประชาชนแล้ว ทว่า ก็ยังคงมีจำนวนไม่น้อยที่ยังเป็นผู้ไร้ซึ่งสัญชาติและไม่บัตรประชาชนในการแสดงตัวตนเป็พลเมืองของรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงสวัสดิการพื้นฐานต่าง ๆ ที่พลเมืองของรัฐทุกคนพึงได้รับ แต่ชาวอูรักลาโวยจที่ไม่มีบัตรประชาชนอาจไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการนั้นได้ ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิในการถือครองที่ดินและการออกเอกสารสิทธิเพื่อจัดทำบัตรประชาชนยืนยันตัวตนจึงถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ชาวอูรักลาโวยจหาดราไวย์ประสบอยู่ในปัจจุบัน 


ในอดีตชาวอูรักลาโวยจหาดราไวย์ได้รับการศึกษามากกว่าชาวอูรักลาโวยจในชุมชนอื่น เนื่องจาก ในหมู่บ้านมีการจัดตั้งโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่บ้านไทยใหม่ เปิดสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525-2529 รวมทั้งสิ้น 17 รุ่น ก็ต้องได้ยกเลิกไป เนื่องจากชาวอูรักลาโวยจได้รับการส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับมากขึ้น

ปัจจุบัน ชาวอูรักลาโวยจหาดราไวย์เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มีบางคนที่ครอบครัวพอมีฐานะ ได้ศึกษาต่อจนจบในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ก่อนออกมาทํางาน หรือบางคนที่ไม่สนใจอยากจะเรียนก็จะออกมาทํางานเช่นกันแต่ก็มีบางส่วนที่เลือกศึกษาต่อในสายอาชีวะศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งมีจํานวนน้อย


หลายปีมานี้ชาวอูรักลาโวยจหาดราไวย์ ต้องเผชิญกับปัญหาอันเนื่องมาจากการพัฒนาการท่องเที่ยวส่งผลต่อที่ทำกินและที่อยู่อาศัย จนเกรงว่าวิถีชีวิตการยังชีพในแบบวิถีประมงพื้นบ้าน หรืองานถักสานเครื่องมือหาปลาที่เรียกว่าบูบู หรือไซขนาดใหญ่จะสูญหายไป

ชาวอูรักลาโวยจที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หาดราไวย์ นอกจากจะมีสถานะเป็นผู้อยู่อาศัยแล้ว ยังมีหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รักษาทรัพยากรจากท้องทะเล เช่น การกำหนดขนาดตาข่ายของเครื่องมือหาปลาบางชนิดที่ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 3 นิ้ว เพื่อสงวนพันธุ์ปลา มรดกร่วมที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ดำรงชีวิตอยู่แบบรู้ทะเลและเรียนธรรมชาติเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ระยะหลังพื้นที่เกาะรอบ ๆ มีนายทุนถือเอกสารสิทธิ์ ทะเลกว้างหน้าบ้านจึงไม่ได้หากินได้ยากลำบาก เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้เหมือนก่อน บางคนขายเรือเพื่อเปลี่ยนอาชีพ แต่สำหรับคนที่ยังต้องหากินอยู่กับทะเลยังต้องใช้องค์ความรู้ในการอ่านน้ำจำลม อ่านฟ้าจำดาวอยู่ต่อไป

การสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติของน้ำ ลม และท้องฟ้า ช่วยให้ชาวอูรักลาโวยจสามารถกำหนดเวลาทำมาหากิน ตลอดจนคาดการณ์ภัยธรรมชาติได้แม่นยำ “อะเยปาซัก-อะเยซูโรจ” หรือน้ำขึ้นน้ำลงแต่ละวันมีผลต่อวิถีประมงพื้นบ้านที่ต้องแข่งกับเวลา ขณะที่ “อะเยเบอชัย” เกิดช่วงข้างขึ้นและแรม 11 ค่ำเป็นต้นไป เรียกว่าน้ำใหญ่ จะมีน้ำไหลเชี่ยวปลาชุม ส่วน “อะเยมาดี” หรือน้ำตายในระยะข้างแรม จะทำให้น้ำทะเลทรงตัวเหมาะกับการวางไซ ลากปลาหางแข็ง ตกหมึก คือ องค์ความรู้ที่ถ่ายทอดเป็นแบบแผนชีวิต นิยามสั้น ๆ ว่า อ่านน้ำจำลม อ่านฟ้าจำดาว ซึ่งจำเป็นต่อการอยู่รอดของชาวอูรักลาโวยจที่ออกทะเลแทบทุกวัน

10 ปี หลังการพัฒนาเกาะใหญ่น้อยเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำให้แหล่งหาอยู่หากินลดน้อยลง หลายครอบครัวถูกบีบบังคับให้ออกจากพื้นที่ซึ่งอาศัยมาเนิ่นนานจากผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ แม้มติคณะรัฐมนตรี ปี 2553 จะรับรองหลักการฟื้นฟูชุมชนชาวเลในฐานะเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ แต่จนถึงวันนี้ชาวอูรักลาโวยจหาดราไวย์ยังต้องต่อสู้เพื่อรักษาที่ทำกินและอาศัยที่ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ซึ่งเรื่องราวของอูรักลาโวยจบนหาดราไวย์นี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพชาวเลในภาคใต้อีกนับหมื่นที่ล้วนเจอปัญหาไม่แตกต่างกันนัก โดยเฉพาะปัญหาการบุกรุกที่ดินและการถูกจำกัดพื้นที่ทำกินในทะเล จนทำให้ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้ซึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้เหมือนอดีตที่เคยผ่านมา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นันทกา เครืออินทร์. (2553). ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากรระดับชุมชน: การพัฒนาที่มีผลกระทบต่อการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนิเวศทางทะเลของชาวอูรักลาโว้ย จังหวัดภูเก็ต (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

เมธิรา ไกรนที. (2552). พัฒนาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนอูรักลาโว้ยในพื้นที่ภูเก็ตจากมุมมองนิเวศวัฒนธรรม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาและสังคมมนุษย์ (สหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศุภวรรณ จันทร์เติบ. (2556). ความมั่นคงทางอาหารและสิทธิมนุษยชน: กรณีศึกษาการเข้าถึงแหล่งอาหารของชุมชนชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชนบทศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Google Earth. (ม..ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

PITCHAORN. (2557). เรียนรู้วิถีชีวิตชาวเล “อูรักลาโว้ย” ภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://live.phuketindex.com/th/rawai-orang-laut-phuket-5182.html

Thaipbs. (2553). การท่องเที่ยวกำลังแปรเปลี่ยนวิถีชีวิต “ชาวอูรักลาโว้ย”. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/126877

Thaipost. (2565). เสียงจาก ‘ชาวเลราไวย์ไร้แผ่นดิน’ และพลังของคนจนเมืองภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thaipost.net/public-relations-news/213040/