Advance search

"เก็บหอยหาดเลน ชมเรือกายัก แลเอกลักษณ์วิถีชาวเลอูรักลาโวยจแห่งหาดสะปำ"

หมู่ที่ 3
หาดสะปำ
เกาะแก้ว
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ธำรงค์ บริเวธานันท์
21 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ก.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 ส.ค. 2023
หาดสะปำ


ชุมชนชาติพันธุ์

"เก็บหอยหาดเลน ชมเรือกายัก แลเอกลักษณ์วิถีชาวเลอูรักลาโวยจแห่งหาดสะปำ"

หาดสะปำ
หมู่ที่ 3
เกาะแก้ว
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
7.943344111
98.395046
เทศบาลตำบลเกาะแก้ว

ชาวอูรักลาโวยจที่อาศัยอยู่ที่หาดสะปำ เป็นกลุ่มที่แยกมาจากเกาะสิเหร่ บริเวณเกาะร้าง ก่อนย้ายไปอยู่ที่แหลมตุ๊กแก และหาดสะปำตามลำดับ ซึ่งบุคคลที่ถือว่าเป็นรุ่นบุกเบิกในการเข้ามาอาศัยอยู่ที่หาดสะปําในขณะนั้นมีจํานวน 4 คน ได้แก่ นายสวรรค์ บังแอ นางลํานะ และนายมะรุดเหยิม ต่อมาหลังจากที่บุคคลกลุ่มนี้เข้ามาอาศัยอยู่ได้ประมาณ 1 ปี ชาวอูรักลาโวยจก็ค่อย ๆ เดินทางตามมาอยู่ที่หาดสะปํามากขึ้น แต่นอกจากชาวอูรักลาโวยจแล้ว บริเวณหาดสะปํายังมีชาวมุสลิมอยู่มากเช่นกัน โดยชาวอูรักลาโวยจได้โยกย้ายมาอยู่บริเวณนี้มาเป็นเวลานานแล้ว และมีพื้นที่อยู่อาศัยเดิม คือ บริเวณบ้านบางเหนียว หมู่ที่ 3 ตําบลเกาะแก้ว อําเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามคนละฝั่งกับที่ตั้งหลา (ศาลประจำหมู่บ้าน) ในปัจจุบัน โดยมีคลองกั้นกลางระหว่างพื้นที่บ้านบางเหนียวกับซอยป่าพร้าว หมู่บ้านของชาวอูรักลาโวยจตั้งอยู่ติดกับทะเล แต่หมู่บ้านของคนไทยตั้งอยู่บริเวณถนนใหญ่ และสภาพพื้นที่ในขณะนั้นเป็นป่าโกงกาง ชาวอูรักลาโวยจจึงเข้ามาถางป่าอยู่ร่วมกัน แต่หลังจากที่อยู่มาเรื่อย ๆ บุคคลภายนอกก็ได้ขยายเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น บางคนก็เข้ามาซื้อที่ดินสร้างบ้านเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ชาวอูรักลาโวยจจึงต้องเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ และบางคนเห็นว่าพื้นที่บริเวณซอยป่าพร้าวมีสภาพดีกว่าบ้านบางเหนียว และมีผู้นําหมู่บ้านบอกให้เข้ามาอยู่ จึงย้ายเข้ามาอยู่ที่บริเวณต้นไทร ซึ่งถือเป็นถิ่นฐานแห่งที่ 2 ของชาวอูรักลาโวยจกลุ่มนี้ แต่ผ่านไปไม่นานก็มีบุคคลภายนอกเข้าไปสร้างบ้าน โดยบางคนก็บุกรุกเข้าไปภายในหมู่บ้าน เมื่อที่ดินกลายเป็นของบุคคลภายนอก และมีการกั้นกําแพงเขตแดน ส่งผลให้ชาวอูรักลาโวยจไม่มีที่อยู่ จึงต้องถอยออกไปเรื่อย ๆ แล้วข้ามคลองจากฝั่งบ้านบางเหนียวมายังซอยป่าพร้าว ขณะที่ชาวอูรักลาโวยจเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ซอยป่าพร้าว ซึ่งในขณะนั้นพื้นที่บางส่วนเป็นที่ตั้งบ้านของคนไทย แต่บริเวณที่ตั้งหลายหลังไม่มีใครเข้ามาอยู่ และเมื่อชาวอูรักลาโวยจเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน แต่ที่ดินบริเวณนี้เป็นของบริษัทเอกชน ผู้ใหญ่บ้านจึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากอําเภอ ให้ช่วยประสานงานกับนายทุน (เจ้าของบริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ในขณะนั้น) โดยแจ้งถึงการที่ชาวอูรักลาโว้ยไม่มีที่อยู่ นายทุนจึงยอมให้ชาวอูรักลาโว้ยอาศัยอยู่ที่บ้านบางเหนียว

แม้ว่านายทุนจะยอมให้ชาวอูรักลาโวยจอาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามขาย ให้อยู่ไปเรื่อย ๆ และไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด ๆ ต่อมาเมื่อบุคคลภายนอกเข้ามาอยู่ร่วมกับชาวอูรักลาโวยจมีจํานวนมากขึ้น ชาวอูรักลาโวยอาศัยอยู่ไม่ได้ เนื่องจากถูกเบียดขับโดยการปักเขตแดนให้กว้างออกไปเรื่อย ๆ อีกทั้งนายทุนเจ้าของร้านกาแฟยังบอกให้ชาวอูรักลาโวยจกลุ่มนี้ย้ายมาอยู่บริเวณหาดเลน เนื่องจากเจ้าของท่านกาแฟต้องการพื้นที่ที่ชาวอูรักลาโวยจตั้งบ้านอยู่มาทําร้านขายของ และบอกให้ชาวอูรักลาโว้ยไม่ต้องย้ายข้ามคลองกลับไปอยู่ฝั่งบ้านบางเหนียว ซึ่งในขณะนั้น พื้นที่บ้านบางเหนียวก็เป็นพื้นที่ของคนไทย ในที่สุดชาวอูรักลาโวยจประสบกับปัญหาหนี้สินที่ไปกู้ยืมเงินจากเถ้าแก่ภายนอกหมู่บ้าน เพื่อนําเงินมาใช้จ่ายและนําเงินมาทําเครื่องมือทํามาหากินจนมีจํานวนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและไม่มีเงินจ่ายคืน ชาวอูรักลาโวยจจึงถูกเถ้าแก่ยึดบ้าน ยึดที่ดินที่บริษัทเอกชนให้ชาวอูรักลาโว้ยอาศัยอยู่ และประสบกับปัญหาไม่มีที่ไปและไม่มีเงิน จึงตัดสินใจย้ายมาอยู่บริเวณหาดสะปําในปัจจุบัน

สถานที่สําคัญบนหาดสะปําที่เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่หาดสะปํา ประกอบด้วย

  • หลา ถือเป็นหลักฐานชิ้นสําคัญที่เป็นมรดกที่ทรงคุณค่าต่อจิตใจ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชาวอูรักลาโวยจ หลาดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบางเหนียว แต่ต่อมาก็ย้ายมาตั้งอยู่บริเวณต้นไทรที่ซอยป่าพร้าว และยังคงตั้งอยู่จนถึงปัจจุบัน ชาวอูรักลาโวยจบางคนมีความเชื่อและมีการเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับเรื่องราวของหลาดังกล่าวว่า ในขณะที่ชาวอูรักลาโวยจตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บางเหนียว พื้นที่บริเวณที่มีน้ำขึ้นถึงซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับคลอง มีตอไม้ตั้งอยู่ ต่อมามีคนในหมู่บ้านฝันว่าให้ยกตอไม้นั้นมาและนํามาตั้งที่หลา จึงทําให้ตอไม้นั้นกลายเป็นที่ตั้งหลา ต่อมาตอไม้นั้นเกิดมีจอมปลวกขึ้นมา จึงมีการทําหลาครอบจอมปลวกนั้นไว้”

  • บ่อน้ำ ในขณะที่ชาวอูรักลาโวยจตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านบางเหนียว ใช้น้ำจากบ่อต้นเหรียงซึ่งตั้งอยู่หลังหลา โดยบ่อน้ำนี้มีอยู่ก่อนที่ชาวอูรักลาโวยจจะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ และยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

  • สุสานเก่า มีที่ตั้งอยู่บริเวณต้นไทรริมถนนใหญ่ข้างวัดสะบ้า ในปัจจุบันบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงสุสานเก่าเป็นที่ตั้งของสุสานของคนจีน เพราะในอดีตพื้นที่นี้มีคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่ก่อนที่ชาวอูรักลาโวยจจะเข้ามาตั้งถิ่นฐาน แต่อย่างไรก็ตาม ชาวอูรักลาโวยจยังให้ความสําคัญกับพื้นที่สุสานเก่าว่าเคยเป็นสถานที่ฝังศพของบรรพบุรุษ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่และมีการขุดย้ายกระดูกไปไว้ที่สุสานเกาะร้างแล้วก็ตาม

  • ต้นไม้เก่าแก่ ต้นไทรที่มีอยู่บริเวณที่ตั้งหลาในซอยป่าพร้าว ถือเป็นต้นไม้เก่าแก่ซึ่งเป็นหลักฐานสําคัญที่แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่หาดสะปํา เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ก่อนที่ชาวอูรักลาโวยจจะเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยตอนที่ชาวอูรักลาโวยจได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่ซอยป่าพร้าวก็มีต้นไทรอยู่ก่อนแล้ว และชาวอูรักลาโวยจได้นําหลามาตั้งและสร้างบ้านอยู่อาศัยในเวลาต่อมา จนมีการย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมทะเล หลาและต้นไทรก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

หมู่บ้านชาวอูรักลาโว้ยหาดสะปำ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ บ้านสะปำห่างจากตัวเมืองภูเก็ต ประมาณ 7 กิโลเมตร หมู่บ้านมีลักษณะภูมิประเทศเป็นอ่าว ด้านหน้าหมู่บ้านติดกับทะเล ชาวอูรักลาโว้ยหาดสะปำมีการปลูกบ้านเรียงรายอยู่ในทะเลจรดมาจนถึงบริเวณคลองและป่าชายเลนด้านหลังหมู่บ้าน

ชุมชนอูรักลาโว้ย หาดสะปํา มีสถานที่สําคัญดั้งเดิมของชุมชน ดังนี้

  • หลา หรือที่ชาวอูรักลาโวยจในชุมชนเรียกว่า “บาไล ดาโต๊ะ” เป็นที่อยู่ของดาโต๊ะปรี่ร้า และโต๊ะมิซาฮ์ ซึ่งเป็นเจ้าที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลพื้นที่ที่ชาวอูรักลาโวยจอาศัยอยู่ในหาดสะปํา เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอูรักลาโวยจให้ความเคารพบูชา และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสําคัญของชาวอูรักลาโว้ยหาดสะปํา โดยหลานี้ตั้งอยู่บริเวณต้นไทรริมคลอง

  • ลานทําพิธีกรรมดั้งเดิม ชาวอูรักลาโวยจใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ในการประกอบพิธีกรรมตั้งแต่เริ่มต้นตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านบางเหนียวและซอยป่าพร้าว โดยมีลานประกอบพิธีกรรมตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของที่ตั้งหลา และเมื่อย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่สถานที่ริมทะเลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เรียกว่า ซอยป่าพร้าว (แปลง 2) ในระยะแรกลานประกอบพิธีกรรมตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าหมู่บ้าน แต่ต่อมาเมื่อประมาณกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีบุคคลภายนอกเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมภายในบริเวณเดียวกันมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ประโยชน์จากลาน ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างดังกล่าวในการสร้างบ้านเรือน ชาวอูรักลาโวยจจึงไม่มีลานประกอบพิธีกรรม ส่งผลให้ต้องหยุดประกอบพิธีกรรมภายในหมู่บ้านของตน โดยต้องไปทําพิธีกรรมลอยเรือร่วมกับชาวอูรักลาโวยจที่แหลมตุ๊กแกแทน

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านสะปำ ตำบลเกาะแก้ว มีประชากร 1,404 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 662 คน ประชากรหญิง 742 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 1,173 ครัวเรือน ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนนอกเหนือจากชาวอูรักลาโวยจแล้วยังมีชาวไทยท้องถิ่นเดิมอาศัยอยู่ด้วย 

ระบบครอบครัวของชาวอูรักลาโวยจในหาดสะปำ ผู้ชายพร้อมที่จะมีครอบครัวได้ต่อเมื่อสามารถออกทะเลเพื่อทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 19-20 ปี ส่วนผู้หญิงเมื่อสามารถหุงหาอาหารเลี้ยงดูทารกได้ โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 14-18 ปี แต่ปัจจุบันเมื่อหนุ่มสาวตกลงปลงใจกันฝ่ายชายจะรอจนกว่าผู้หญิงอายุครบ 15 ปี และทำบัตรประชาชนก่อนจึงได้รับอนุญาตให้แต่งงานได้ ลักษณะครอบครัวเป็นแบบครอบครัวเดี่ยว โดยเริ่มจากฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงก่อนจนกระทั่งมีลูกคนแรกหรือพร้อมจะสร้างบ้านใหม่จึงแยกไปตั้งครอบครัวเดี่ยว แต่หากฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายเป็นลูกคนสุดท้องจำเป็นต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ก็จะต้องอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย จนกระทั่งพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่อาศัยอยู่ด้วยเสียชีวิต ก็จะกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีพ่อหม้ายหรือแม่หม้ายอาศัยอยู่ด้วย 

แม้ชาวเลอูรักลาโว้ยจะยึดระบบการตั้งถิ่นฐานโดยฝ่ายชายไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิง (matrilocal) และมีการสืบทอดอำนาจทางฝ่ายแม่ แต่จะมีการนับญาติทั้งสองฝ่าย (bilateral kinship) คือ แต่ละคนจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ สังเกตได้จากคำเรียกญาติทั้งสองฝ่ายที่มีสถานภาพเดียวกัน ด้วยคำเรียกญาติคำเดียวกัน อาจจะเป็นเพราะชุมชนชาวเลอูรักลาโวยจเป็นชุมชนขนาดเล็ก แม้จะแต่งงานแยกบ้านไปแล้วยังไปมาหาสู่กันได้สะดวก จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันทั้งสองฝ่าย ทุกคนในชุมชนเดียวกันจะเป็นเครือญาติกันหมด มีทั้งญาติที่สืบทอดทางสายโลหิต ญาติทางการแต่งงาน และยังมีการสร้างความสัมพันธ์โดยการสมมุติ เช่น ศัพท์คำว่า “อะนะพีโด๊ะ” แปลว่า ลูกบุญธรรม และ “ซาบั๊ย” แปลว่า เกลอ เป็นการผูกญาติผูกมิตรเพื่อขยายวงญาติให้กว้างขวางขึ้น โดย “ลูกบุญธรรม” และ “เกลอ” อาจเป็นกลุ่มอูรักลาโวยจด้วยกัน หรือระหว่างอูรักลาโวยจกับชาวไทยมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน หรือชาวไทยพุทธก็ได้

อูรักลาโวยจ

ชาวอูรักลาโวยจหาดสะปําส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การประมง ส่วนใหญ่จะนิยมหาหอยด้วยเรือถีบกายัก หรือกระดานถีบหาหอย ส่วนอาชีพทําลอบมีเพียง 2-3 หลังคาเรือนเท่านั้น และบางคนมีอาชีพเสริม ได้แก่ อาชีพรับจ้าง เช่น รับจ้างตัดหญ้า รับจ้างต่อยหอย รับจ้างเก็บหอยแครง รับจ้างวางอวน

ชาวอูรักลาโวยจหาดสะปำส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ มีพิธีกรรมสำคัญ คือ พิธีกรรมเซ่นไหว้บาไล ดาโต๊ะ และพิธีลอยเรือของชาวเลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่เนื่องจากที่บ้านสะปำไม่มีลานพิธีกรรมเป็นของตนเอง ในการประกอบพิธีลอยเรือชาวอูรักลาโวยจหาดสะปำจึงต้องไปร่วมกับชาวอูรักลาโวยจที่บ้านแหลมตุ๊กแก โดยมีขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ ถือเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ของชาวเล คล้ายกับพิธีลอยกระทงของชาวไทย มีการสร้างเรือจากไม้ระกำ ตัดผม ตัดเล็บ และทำตุ๊กตาไม้แทนคน ใส่ลงไปในเรือแล้วนำไปลอยเพื่อนำเอาความทุกข์โศกเคราะห์ร้ายต่าง ๆ ออกไปกับทะเล แล้วมีการร่ายรำรอบเรือ หรือที่เรียกว่ารำรองเง็ง หลังจากนั้นผู้ชายจะเข้าป่าไปหาไม้มาทำเป็นรูป ไม้กางเขนจำนวน 7 อัน ที่ปลายไม้ทั้งสองด้านติดใบกะพ้อนำไปปักเรียงเป็นแถวตามแนวตั้งจากบกออกสู่ทะเลตรงบริเวณที่วางเรือพิธี ไม้นี้ชาวเลเรียกว่า กายู่ฮาปัด เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์คอยปัดรังควานไม่ให้สิ่งอัปมงคลกลับเข้ามาในหมู่บ้านอีก ชาวบ้านจะปักไม้นี้ไว้จนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น จึงถอนออกไปปักใหม่เป็นแนวนอนยาวตลอดตั้งแต่หัวหมู่บ้านจนถึงท้ายหมู่บ้าน เป็นอันเสร็จพิธีลอยเรือ รอจนกว่าพิธีลอยเรือในครั้งหน้าจะเวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่งจึงถอนไม้กายู่ฮาปัดท่อนเก่าออกเพื่อนำท่อนใหม่มาปักแทน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กายัก เอกลักษณ์ชาวเลอูรักลาโวยจ

เนื่องจากชาวอูรักลาโวยจ บ้านสะปำ ตำเกาะแก้ว อำเมือง จังหวัดภูเก็ต ยังคงยึดอาชีพถีบเรือ “กายัก” ซึ่งเป็นเรือไม้โบราณ มีขนาดเล็ก สั้นรูปทรงแบน ทำจากแผ่นไม้ ใช้ถีบบนเลนเพื่อเก็บหอยแครงและงมหอยแครงที่ซ่อนอยู่ในโคลน ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งชาวอูรักลาโวยจจะอาศัยช่วงเวลาที่น้ำทะเลลดในการลงไปถีบเรือเพื่อหอย พร้อมกับใช้อุปกรณ์ไม้คราดหอย ลากตามโคลน และใช้มือเปล่างมตามรูที่หอยอาศัยอยู่ โดยใช้เวลาในการหา 2-3 ชั่วโมงต่อวัน หอยที่ได้จะเอาทำอาหารกิน ได้เยอะก็แบ่งขาย เป็นรายได้เสริมให้ชาวบ้านในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่สามารถหาจากทรัพยากรบริเวณหน้าบ้านตัวเอง

ปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจหาดสะปำส่วนใหญ่ทั้งผู้ใหญ่จนถึงรุ่นเยาวชน ยังมีการสื่อสารกันภายในกลุ่มของตนโดยใช้ภาษาอูรักลาโวยจ และสื่อสารกับบุคคลภายนอกโดยใช้ทั้งภาษาไทยกลางและภาษาท้องถิ่นภาคใต้


ชาวอูรักลาโวยจหาดสะปําในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้รับสิทธิความเป็นคนไทยโดยการมีบัตรประจําตัวประชาชน แต่มีชาวอูรักลาโว้ยประมาณ 17 คน ที่ยังไม่มีบัตรประจําตัวประชาชน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีปัญหาอันสืบเนื่องมาจากการที่พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด ไม่มีทะเบียนบ้าน จึงไม่มีเอกสารใด ๆ จากทางราชการ เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ไม่มีผู้แจ้งเกิดจึงเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ไม่ได้รับการศึกษา ไม่สามารถรับบริการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา และในปัจจุบันมีชาวอูรักลาโวยจจํานวน 13 หลังคาเรือน ที่มีบ้านเลขที่และมีทะเบียนบ้าน 34 หลังคาเรือน มีบ้านเลขที่ชั่วคราว และอีกจํานวน 6 หลังคาเรือน ที่ไม่มีบ้านเลขที่และไม่มีทะเบียนบ้านเป็นของตน จึงต้องแจ้งชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของผู้อื่นและแม้ว่าบางคนจะมีการแต่งงานจนย้ายครอบครัวออกไป แต่ก็ยังมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของพ่อแม่

สำหรับการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการไม่มีบัตรประจําตัวประชาชนและไม่มีบ้านเลขที่ ไม่มีทะเบียนบ้าน ให้กับชาวอูรักลาโวยจหาดสะปำในปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิชุมชนไทเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการผลักดัน แก้ไขปัญหาให้กับชาวอูรักลาโวยจโดยเป็นผู้ที่ทําการติดต่อกับหน่วยงานราชการ ซึ่งในการดําเนินการนั้นจะต้องมีการสืบสวนและหาพยานหลักฐานเพื่อแสดงว่าชาวอูรักลาโวยจที่ยังตกหล่นนั้นเป็นบุคคลในพื้นที่หาดสะปํา โดยการหาบุคคลที่สามารถมาทําการยืนยัน รับรองบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นบุคคลที่เกิดและอาศัยอยู่ในหาดสะปําอย่างแท้จริง แต่ทั้งนี้การที่หมอตําแย ผู้ซึ่งทําคลอดให้กับบุคคลต่าง ๆ ในอดีตได้เสียชีวิต จึงแก้ปัญหาโดยการนําเอาลูกศิษย์ของหมอตําแย ชื่อว่า นางเหนียม ผู้ซึ่งได้รับมอบวิชาความรู้มาจากหมอตําแย พร้อมทั้งนําสําเนาบัตรประชาชนของหมอตําแย (นางเหนียม) และต้องถ่ายรูปคนที่ยังไม่มีจํานวน 1 รูป โดยได้รับความช่วยเหลือจากนายอภินันท์ รุ่งรังสินธุ์ กํานันในพื้นที่หาดสะปําในอดีตได้เข้ามาช่วยเหลือโดยการยืนยันถึงการเกิดและอยู่อาศัยในพื้นที่หาดสะปํา โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวกําลังอยู่ในระหว่างการดําเนินการ และการแก้ปัญหาเรื่องการมีบ้านเลขที่ การมีทะเบียนบ้านเป็นของตนเองนั้น กําลังอยู่ในระหว่างการดําเนินการซึ่งได้รับการยินยอมจากอําเภอเมืองภูเก็ต ให้ชาวอูรักลาโวยจมีบ้านเลขที่ชั่วคราว ซึ่งในการแก้ปัญหาให้ชาวอูรักลาโวยจมีบ้านเลขที่หมดทั้งหมู่บ้านนั้น มูลนิธิชุมชนไทแจ้งว่าจะต้องมีการบรรจุบุคคลตกหล่นหรือคนที่ยังไม่มีบัตรประจําตัวประชาชนให้หมดก่อนจึงจะสามารถขอบ้านเลขที่และทําทะเบียนบ้านให้ได้


ชุมชนอูรักลาโวยจหาดสะปําไม่มีปัญหาขาดแคลนด้านไฟฟ้าและประปา แต่ทั้งนี้ การที่ชาวอูรักลาโวยจอยู่ร่วมกันเป็นจํานวนมากและมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่อยู่อาศัย และบางคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิความเป็นคนไทยทําให้ต้องประสบปัญหาด้านนี้ คือ แม้จะสามารถใช้บริการไฟฟ้าได้อย่างสะดวก แต่ก็ต้องเสียค่าไฟฟ้าในราคาที่สูง เนื่องจากในหมู่บ้านจะต้องพ่วงต่อไฟฟ้ากันประมาณ 4-6 หลังคาเรือน ต่อมิเตอร์ไฟฟ้า 1 เครื่อง โดยครอบครัวที่ไม่มีบ้านเลขที่ก็จะต้องต่อพ่วงไฟฟ้าจากบ้านผู้อื่น ทําให้ชาวอูรักลาโว้ยมีค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงมาก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เมธิรา ไกรนที. (2552). พัฒนาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนอูรักลาโว้ยในพื้นที่ภูเก็ตจากมุมมองนิเวศวัฒนธรรม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาและสังคมมนุษย์ (สหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

แลต๊ะแลใต้. (2564). สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/LaetaLaeTai/

Google Earth. (ม..ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

Phuket Times ภูเก็ตไทม์. (2565). ภูเก็ต-ประเพณีลอยเรือชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแก. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/PhuketTimeNews/