ชุมชนที่โดดเด่นในวิถีการทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะการปลูกมะม่วง โดยพื้นที่ชุมชนแห่งนี้ถือเป็นพื้นที่ส่งขายมะม่วงรายใหญ่และสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทั้งนี้นอกจากการเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญแล้วชุมชนแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ท้องเที่ยวเกษตรยั่งยืนที่คนทั่วไปจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมและวิถีชีวิตชาวสวนอีกด้วย
ในสมัยก่อนมีลำคลองสายหนึ่งแยกมาจากแม่น้ำบางปะกงตรงข้ามกับปากลัดบางคล้า เป็นคลองยาวประมาณ 3 เส้นเศษ (1 เส้นเท่ากับ 40 เมตร) ปลายคลองตื้นเขิน ชาวบ้านจึงเรียกว่าหมู่บ้านแถวนี้ว่าคลองเขิน แต่เนื่องจากคงฟังไม่เพราะจึงเรียกใหม่ว่า"คลองเขื่อน"
ชุมชนที่โดดเด่นในวิถีการทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะการปลูกมะม่วง โดยพื้นที่ชุมชนแห่งนี้ถือเป็นพื้นที่ส่งขายมะม่วงรายใหญ่และสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทั้งนี้นอกจากการเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญแล้วชุมชนแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ท้องเที่ยวเกษตรยั่งยืนที่คนทั่วไปจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมและวิถีชีวิตชาวสวนอีกด้วย
ชุมชนคลองเขื่อนแห่งครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองเขื่อนที่อยู่ในอำเภอคลองเขื่อน ซึ่งอำเภอคลองเขื่อน เดิมเป็นพื้นที่การปกครองส่วนหนึ่งของอำเภอบางคล้า ต่อมาทางราชการมีความเห็นว่าอำเภอบางคล้า มีอาณาเขตกว้างขวาง และมีพลเมืองจำนวนมาก มีท้องที่หลายตำบลซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำ บางปะกงและอยู่ห่างไกลจากที่ว่าการอำเภอบางคล้า ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ประกอบกับในขณะนั้นยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง จึงทำให้ราษฎรได้รับความยากลำบากในการเดินทางไปติดต่อกับทางราชการ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ออกตรวจดูแลทุกข์สุขของราษฎรได้ไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ สภาพท้องที่โดยทั่วไปของตำบลต่างๆ ที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกงมีแนวโน้มว่าต่อไปในภายภาคหน้าจะมีความเจริญขึ้นอีก ทำให้จากทั้งหมดทั้งมวลต่อมาจึงได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เรื่องแบ่งเขตพื้นที่อำเภอบางคล้า โดยกำหนดให้พื้นที่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอคลองเขื่อน โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2536 และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะ "กิ่งอำเภอคลองเขื่อน" เป็น "อำเภอคลองเขื่อน" เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน2550 ตามโครงการอำเภอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
ชุมชนคลองเขื่อนนี้แต่เดิมชาวบ้านมักมีการประกอบอาชีพ ทำนา และทำประมงกันเป็นส่วนมาก แต่ต่อมาชาวจีนได้อพยพมาบริเวณแถบนี้ทำให้มีการเริ่มทำสวนเกิดขึ้นมา ดังนั้นในปัจจุบันจึงมักเห็นมีสวนต่างๆบริเวณชุมชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกมะม่วงกัน โดยมะม่วงเหล่านี้ด้วยดินของชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ได้ผลผลิตดีและได้กำไรที่ดีมาก หลายครัวเรือนในพื้นที่จึงต่างปลูกกัน ส่งผลให้ต่อมาพื้นที่ชุมชนแห่งนี้จึงเป็นชุมชนหนึ่งที่ปลูกมะม่วงรายใหญ่ของประเทศ
ทั้งนี้ด้วยชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีการทำสวน การทำนา ทำให้จึงมีนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเข้ามาสู่ชุมชนแห่งนี้อยู่เสมอ ซึ่งทางภาครัฐก็ได้ร่วมมือกับชาวบ้านส่งเสริมสนับสนุนภายในชุมชนให้มีการจัดสถานที่กิจกรรมสำหรับท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาได้มีกิจกรรมเรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาต่างๆ รวมถึงมีการจัดสถานที่พัก จัดเส้นทางท่องเที่ยวอีกด้วย จากการดำเนินงานเหล่านี้จะพบว่าปัจจุบันชุมชนคลองเขื่อนมักมีคนเข้ามาท่องเที่ยว ศึกษาดูงาน ภายในชุมชนแห่งนี้อยู่เสมอนั่นเอง
ชุมชนคลองเขื่อน เป็นชุมชนที่ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ตำบลคลองเขื่อนมีเนื้อที่ รวมทั้งสิ้น 35.12 ตารางกิโลเมตร หรือ 21,950 ไร่ ซึ่งพื้นที่ตำบลคลองเขื่อนตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอคลองเขื่อนไป 3.5 กิโลเมตร และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยระยะห่างจากตัวจังหวัด 18 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ แม่น้ำบางปะกง
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลก้อนแก้ว อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทิศตะวันออก ติดกับ แม่น้ำบางปะกง
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลบางโรง อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะพื้นที่โดยรวมขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองเขื่อน เป็นที่ราบลุ่มทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญ มีคลองส่งน้ำเล็กๆทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่ขุดโดยหน่วยงานของรัฐ เพื่อนำน้ำไปใช้ในการอุปโภคและการเกษตร
สภาพภูมิอากาศ
ชุมชนคลองเขื่อนมีภูมิอากาศที่ทั่วไปเหมือนกับจังหวัดฉะเชิงเทรา คือมีลักษณะภูมิอากาศแบบฝนเมืองร้อน แบ่งได้เป็น 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ -เมษายน ของทุกปี
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม ของทุกปี
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน -มกราคม ของทุกปี
ประชากรของชุมชนคลองเขื่อนมาจากประชากรในตำบลคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยตำบลคลองเขื่อนมีประชากรรวม 3,401 คน ชาย 1,643 คน หญิง 1,758 คน และมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 1,380 หลัง
การประกอบอาชีพ
การเกษตร
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 95 ประกอบอาชีพทาการเกษตรกรรมได้แก่ ทำนา สวนมะม่วง และมะพร้าว
สวนหมาก และสวนผัก เป็นต้น
การประมง
ประชากรที่ทำประมง มีการทำประมงน้ำจืดคือ บ่อกุ้งก้ามกราม กุ้งขาว และเลี้ยงปลา
การปศุสัตว์
การประกอบอาชีพปศุสัตว์ พบประมาณร้อยละ 30 ของแต่ละหมู่บ้านจะมีการทำปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงวัว ไก่ เป็ด นก ฯลฯ
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ชาวบ้านตำบลคลองเขื่อน เมืองริมน้ำบางปะกงตอนบนของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน อดีตเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบางคล้าเพิ่งแยกตัวออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2538 ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ได้แก่ทำนาข้าว สวนมะม่วงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตที่ขึ้นชื่อ คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ มะพร้าว ที่มีความอร่อย เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศตำบลคลองเขื่อนโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนที่มากับแม่น้ำบางปะกง ทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรมีคุณภาพดีซึ่งได้รับรางวัลจากการประกวดแข่งขันทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ สวนมะม่วง สวนหมาก พลู มะพร้าว ยังเป็นสวนท้องร่อง ปัจจุบันสวนท้องร่องดั้งเดิมลดน้อยลงเนื่องจากที่ดินมีการเปลี่ยนเจ้าของและบางรายเปลี่ยนจากที่สวนเป็นนาข้าว เป็นบ่อปลาบ่อกุ้ง ชีวิตที่อยู่บริเวณแม่น้ำบางปะกง จะมีการทำการประมง ตกกุ้ง งมกุ้งแม่น้ำ สร้างเป็นรายได้เสริมให้แก่ประชาชน
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประเพณีทำบุญหลังบ้าน ประเพณีนี้มักพบเจอในหมู่ที่ 3 ของตำบลคลองเขื่อน โดยจะมีกำหนดจัดขึ้นในเดือน 4 หรือเดือน 5 หรือเดือน 6 โดยคนที่สืบสานประเพณีนี้คือลุงประโมทย์ วรชาติตะกูล ทั้งนี้จุดประสงค์ของประเพณีทำบุญหลังบ้านนี้คือเพื่อลอยทุกข์โศก โรคภัย ให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยขั้นตอนของพิธีในประเพณีนี้คือ ชาวบ้านจะเตรียมของเซ่นไหว้ ได้แก่ เรือกาบกล้วย 2 ลำ ที่ภายในเรือจะมีการปั้นดินเหนียวคนขี่ควายและมีกระทงที่ใส่ผัก ข้าว ปลายำ ข้าวตอกดอกไม้ น้ำ 1 กระออม เหล้า 1 นอกจากเรือแล้วยังมี ผลไม้ 5 อย่าง บายศรี ขนมหวาน ไก่ เป็ด หมู กุ้งต้ม ทั้งนี้เมื่อชาวบ้านเตรียมของเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่พิธีกรรม ทั้งนี้พิธีกรรมของประเพณีนี้จะมีการแบ่งเป็น 2 วัน โดยวันแรกจะมีการจุดธูปบวงสรวงเทวดา นอกจากนี้จะอธิฐานบอกผีทุ่ง ผีป่า ผีสัมประเวสี เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับวิญญาณ ต่อมาจะมีการนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ หลังจากพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสร็จ ชาวบ้านจะตั้งจิตอธิฐานลาสิ่งของที่หน้ามาบวงสรวงไว้ให้ผู้ที่เข้ามาร่วมรับประทานตอนเย็นร่วมกัน ประชาชนมีความเชื่อว่าถ้ารับประทานจะเกิดสิริมงคลสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ทั้งนี้ในวันถัดมาซึ่งเป็นวันที่ 2 พบว่าในตอนเช้าชาวบ้านจะนิมนต์พระมาเจริญพุทธมนต์และฉันเช้าเวลา 08.00 น. ประธานในพิธีจะกรวดน้ำใส่เรือกาบกล้วย 2 ลำ จากนั้นชาวบ้านจะนำเรือไปวางบนบก บริเวณทางสามแพ่ง รวมถึงจะนำเรือไปลอยทางน้ำโดยจะมีการตั้งจิตอธิฐานให้ทุกข์โศกโรคภัยหมดไปและตั้งจิตอธิฐานให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมีความสุข ความเจริญ เมื่อเรียบร้อยแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี
วัดคลองเขื่อน เป็นวัดที่อยู่ติดริมแม่น้ำบางประกง มีพระอุปชารอด หรือหลวงพ่อรอด เป็นที่สักการบูชาของผู้คนทั่วไป หลวงพ่อรอดถือกำเนิดที่บ้านคลองเขื่อน หมู่ที่ 3 ตำบลคลองเขื่อน ราวปี พ.ศ.2400 ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉานมีผู้เลื่อมใสศรัทธาในด้านการปลุกเสกน้ำมนต์ เหรียญหลวงพ่อรอดได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงและมีชื่อเสียงในเรื่องคงกระพันฟันแทงไม่เข้ ป้องกันเขี้ยวงา จนเป็นที่เล่าขานกันมาก
วัดบ้านกล้วย ตั้งอยู่บ้านพลับ หมู่ที่ 1 ตำบลคลองเขื่อน เป็นวัดที่สร้างมากว่า 200 ปี มีอีกชื่อ คือ วัดเกาะแก้วชวารีย์ เนื่องจากมีแม่น้ำบางปะกงล้อมรอบโดยตลอด มีมณฑปก่ออิฐถือปูนหลังคาเครื่องไม้ทรงจัตุรมุข 1 หลัง ข้างในมีพระพุทธรูปเก่าและประดิษฐานรอยพระพุทธบาท และประดิษฐานพระพุทธชินศรี มีหลวงพ่อผลเป็นที่สักการของชาวบ้าน ท่านเป็นพระสายปฏิบัติและเป็นผู้ที่มีเมตตาใครเดือดร้อนเรื่องเงินเรื่องทองมาหาท่าน ท่านมักจะให้ความช่วยเหลือ ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องทำสี่ผึ้งเมตามหานิยม แต่ท่านจะไม่ให้ใครนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง
วัดเทวารุทธาราม มีหลวงพ่อสง่า เป็นที่สักการบูชาของชาวบ้าน ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำน้ำมนต์ ซึ่งน้ำมนต์ของท่านสามารถรักษาพิษงู และท่นมีคาถาเพื่อการรักษาแผล ทำให้แผลสมานเร็วขึ้น และยังเชี่ยวชาญด้นการผูกดวง โทราศาสตร์ ซึ่งท่านได้ศึกษามาจาก พันอากาศเอก บุญช่วย บุญหิรัญ
สวนมะม่วงลุงปราโมทย์ วรชาติตระกูล ตั้งอยู่ที่บ้านคลองเขื่อน ตำบลคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่กว่า 30 ไร่ มีชื่อเสียงโด่งดังมาหลายปีในฐานะสวนผลไม้ที่เจ้าของได้รวบรวมเก็บรักษาพันธุ์มะม่วงพื้นบ้านไว้มากมายหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งบางพันธุ์หายากในประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้สวนลุงปราโมทย์ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ มีองค์ความรู้หลากหลายแขนงให้คนมาเที่ยวทดลองชิม ศึกษา เรียนรู้ รองรับทุกเพศทุกวัยที่สนใจเรื่องมะม่วง
สวนนายกิตติภพ มงคลหรือสวนลุงเชียร เป็นสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ที่มีคุณภาพระดับการส่งออก นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมสวน และเป็นสวนที่เกษตรกรใช้เป็นตัวอย่างในการผลิตมะม่วงคุณภาพ มีพื้นที่ 18 ไร่ โดยมีสายพันธ์ที่ปลูกหลัก ๆ คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ขายตึก ทะวายเดือนเก้า (มันเดือนเก้า) เขียวเสวยและมะม่วงอื่นๆ เช่น อกร่อง อาร์ทูอีทู เป็นต้น ลุงวิเชียรเจ้าของสวนได้น้อมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการปลูกมะม่วงโดยนำหญ้าแฝกมาปลูกคลุมดินริมตลิ่งร่องสวน ทำให้ไม่เกิดดินหล่นและยังสามารถตัดมาคลุมดินย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นภูมิปัญญาอีกด้วย
คุ้มวิมานดิน เป็นแหล่งแหล่งผลิต เครื่องปั้นดินเผา จากแหล่งดินในคุ้มวิมานดิน ภายในสถานที่นี้เปิดเป็นสถานที่จัดจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผา และสถานที่ที่มีกิจกรรมปั้นดินเผาให้ได้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาได้ลองทำ ทั้งนี้บรรยากาศสถานที่แห่งนี้พบว่าได้มีการตกแต่งอย่างสวยงามทำให้ยังเหมาะกับการเข้ามาพักผ่อนท่องเที่ยว ปัจจุบันสถานที่นี้เป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงสถานศึกษา และองค์กรต่างๆที่เข้ามาทัศนศึกษาภายในชุมชนคลองเขื่อนแห่งนี้
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). สามัคคีแบบแพนแพน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2565, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/21296.
ชุมชนคลองเขื่อน. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2565, จาก https://siayutthayanetwork.com/chachoengsao/ชุมชนคลองเขื่อน/.
ฐานข้อมูลชุมชนคลองเขื่อน. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2565, จาก https://khlongkhuean.com/.
เดลินิวส์. (2566). “คลองเขื่อน-บางกอบัว” วิถีชุมชนแห่งฉะเชิงเทรา-สมุทรปราการ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2565, จาก https://www.dailynews.co.th/news/2468186/.
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเขื่อน. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570). ฉะเชิงเทรา: องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเขื่อน.