Advance search

ซอยเลริมชัง

ชุมชนกิ่งแก้ว ซอย 1 เป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จด้านการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมภายในชุมชน โดยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อผลักดันให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดการขยะต้นแบบให้เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการขยะในชุมชนให้กับประชาชนในซอยกิ่งแก้ว รวมถึงประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงและในจังหวัดภูเก็ต

หมู่ที่ 3
บ้านกู้กู
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 ส.ค. 2023
กิ่งแก้ว ซอย 1
ซอยเลริมชัง


ชุมชนกิ่งแก้ว ซอย 1 เป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จด้านการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมภายในชุมชน โดยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อผลักดันให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดการขยะต้นแบบให้เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการขยะในชุมชนให้กับประชาชนในซอยกิ่งแก้ว รวมถึงประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงและในจังหวัดภูเก็ต

บ้านกู้กู
หมู่ที่ 3
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
7.894402313
98.40978473
เทศบาลตำบลรัษฎา

ชุมชนกิ่งแก้ว ซอย 1 ตั้งอยู่ในเขตบ้านกู้กู หมู่ที่ 3 ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานกว่า 100 ปี ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ มีภูเขา ติดทะเล มีป่าชายเลนที่มีคลองมากมายหลายสายที่สามารถแล่นออกสู่ทะเลได้ และมีคลองอยู่สายหนึ่งที่ชาวจีนโพ้นทะเลใช้เป็นเส้นทางการอพยพเข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดภูเก็ต เรียกว่า คลองท่าจีน ผู้คนที่อพยพเข้ามาอยู่ในระยะบุกเบิกเป็นคนยากจนที่ดั้นด้นมาจากต่างจังหวัดหรือแผ่นดินใหญ่เพื่อจับจองที่ดินทํากิน ด้วยทําเลที่เปรียบได้ดังทําเลทอง ผู้ที่ได้เข้ามาหาที่ทํากินในยุคแรกจึงเป็นผู้ที่มีความมานะ อดทน ขยันไม่กลัวความยากลําบากจึงประสบความสําเร็จ สร้างหลักฐานได้อย่างมั่นคง จากผู้ที่มีฐานะอยากจนกลายเป็นผู้มั่งคั่ง เปรียบเสมือนการกู้ชีวิตของตนเองจากผู้ที่สิ้นไร้กลายมาเป็นผู้ที่ประสบความสําเร็จมีฐานะดี หมู่บ้านนี้จึงได้ถูกขนานนามว่า บ้านกู้กู (กู้ชื่อเสียง กู้ฐานะของตัวเอง) ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ทางราชการได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน เช่น การทําผ้าบาติก การเป่าแก้ว ผักปลอดสารพิษและการทําปุ๋ย ชีวภาพ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ การจักสาน รวมทั้งการสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จนบ้านกู้กูเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป

สำหรับพื้นที่บริเวณชุมชนกิ่งแก้วนั้น ในอดีตเรียกว่า “ซอยเลริมชัง” ตามชื่อร้านอาหารที่เข้ามาตั้งและเลี้ยงปลาในกระชังในพื้นที่เหมืองร้าง เดิมทีเคยเป็นที่สร้างแคมป์พักชั่วคราวสำหรับคนงานเหมือง เนื่องจากในยุคนั้นเป็นยุคที่ธุรกิจเหมืองแร่ในจังหวัดภูเก็ตกำลังมั่งคั่ง ซึ่งชาวบ้านได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เหมืองแร่นี้นานนับหลายสิบปี ก่อนมีการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคที่ธุรกิจท่องเที่ยวและประมงเฟื่องฟู โดยเลือกทำเลที่ดินบริเวณรกร้างว่างเปล่ารวมตัวเป็นชุมชนภายหลังเหมืองแร่ปิดตัวลง แต่ต่อมาไม่นานพื้นที่บริเวณดังกล่าวก็ถูกประกาศเป็นเขตอุทยาน ชาวบ้านได้รับหนังสือให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากป่าเลนคลองบางชีเหล้า-ท่าจีน เกิดเป็นข้อพิพาทเรื้อรังระหว่างชาวบ้านในชุมชนกิ่งแก้วกับกรมอุทยาน เป็นเหตุให้ยุคแรกที่ชาวบ้านเข้ามาบุกเบิก การพัฒนาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจึงมาไม่ถึง เพราะเป็นพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาทกันอยู่ระหว่างชาวบ้านกับอุทยานป่าชายเลน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่มีใครกล้าเข้ามารับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทาง ปัญหาทางด้านสาธารณสุข หรือแม้แต่การศึกษาของเยาวชน ดังนั้นชุมชนกิ่งแก้วยุคแรกจึงไม่ได้รับการพัฒนาจากภาครัฐ สภาพชุมชนเผชิญกับปัญหาเรื่องถนน คูระบาย ถนนดินลูกรังตั้งแต่ปากทางเข้าชุมชนกิ่งแก้วซอย 1 จนถึงท้ายซอยเป็นทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำขัง เนื่องจากไม่มีคูระบายน้ำ บางครั้งเวลาฝนตก น้ำไม่สามารถระบายออกได้ ทําให้น้ำขังอยู่ในถนนจนบางครั้งไม่สามารถเดินสัญจรไป-มาได้

ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2540 ชาวบ้านเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ ปลูกสร้างบ้านอยู่จํานวน 18 หลัง หลังจาก นั้นก็มีเครือญาติเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมด้วย ระยะแรกแบ่งปันที่ดินให้แก่กันและกัน ระยะหลังมีกลุ่มแรงงานพม่าเข้า อยู่ด้วย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนอพยพมาขายแรงงานในจังหวัดภูเก็ต ด้วยความที่เป็นคนขายแรงงานด้วยกัน จึงเกิดความเห็นอกเห็นใจกันที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ก็ชักชวนกันมาอยู่ที่ชุมชนกิ่งแก้ว ซึ่งช่วงแรกมีการตั้งกฎกติกาในการอยู่ ร่วมกัน คือ มีการวางผังชุมชนชัดเจนว่าบริเวณใดเป็นถนน บริเวณใดเป็นที่อยู่อาศัย ถนนหนทางช่วยกันสร้าง โดยขอดิน ขอหินเหลือทิ้งจากกลุ่มก่อสร้าง บางครั้งเรี่ยไรเงินกันซื้อดิน ทราย หิน เพื่อโรยถนนในชุมชน ในระยะแรกการรวมตัวกันของชาวบ้านบริเวณชุมชนกิ่งแก้วจึงมีลักษณะเป็นไปตามกลุ่มคนที่ชักชวนกันมา 

ที่ตั้งและอาณาเขต

ชุมชนกิ่งแก้ว ตั้งอยู่ในเขตบ้านกู้กู หมู่ที่ 3 ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากตัวอําเภอเมืองภูเก็ต ระยะทางห่างกันประมาณ 4 โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ จด หมู่ที่ 2 ตําบลรัษฎา
  • ทิศใต้ จด เขตเทศบาลนครภูเก็ต
  • ทิศตะวันออก จด ทะเลอันดามัน
  • ทิศตะวันตก จด หมู่ที่ 6 ตําบลรัษฎา เขตเทศบาลนครภูเก็ต

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนมีลักษณะเป็นภูเขาสลับที่ราบ ทางทิศตะวันออกติดทะเลภูเก็ตคลองลัดเก่า คลองลัดใหม่ มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์เป็นกันชนระหว่างแผ่นดินใหญ่กับทะเล อีกทั้งบ้านกู้กูยังเป็นแหล่งชุมชนใหญ่และยังเป็นที่ตั้งของที่ทําการเทศบาลตําบลรัษฎา และโรงเรียนบ้านกู้กู

ชุมชนกิ่งแก้วซอย 1 มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 314 ครัวเรือน มีประชากรรวม 1,256 คน (ข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2562) ประชาชนในชุมชนมีความหลากหลายทั้งความคิด ศาสนา เนื่องจากประชากรที่อาศัยอยู่อพยพมาจากต่างพื้นที่ทั้งจากภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคเหนือ ชาวบ้านจะให้การยอมรับผู้ที่มีฐานะในชุมชนเพราะสามารถพึ่งพาอาศัยได้ เนื่องจากชาวบ้านมองว่าสามารถให้การช่วยเหลือชุมชนในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ความสัมพันธ์ของสมาชิกชุมชนในช่วงแรก ๆ นั้น เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเนื่องจากไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแล ชาวบ้านจําเป็นที่ต้องช่วยเหลือตัวเองและสมาชิกในชุมชนเพราะอย่างน้อยก็เป็นเพื่อนบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเหมือนกันตามสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ดังนั้นการที่คนมารวมตัวเป็นชุมชนและทําให้ชุมชนเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สามารถช่วยเหลือตัวเองมีรูปแบบการพัฒนาชุมชน สามารถประสานงานกับหน่วยงานเรื่องการพัฒนาด้านต่าง ๆ จนนําไปสู่งานพัฒนาที่เกิดขึ้น

การประกอบอาชีพ

ชาวบ้านชุมชนกิ่งแก้ว ซอย 1 ส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดภูเก็ต มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น การประมง ค้าขาย รับเหมาก่อสร้าง ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ลูกจ้างแรงงาน เก็บของเก่า รวมถึงข้าราชการและลูกจ้างประจํา อีกทั้งการประกอบอาชีพในจังหวัดภูเก็ตนั้นได้รายได้ดีเนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว อาชีพรับจ้างเป็นที่ต้องการ หางานทําได้ง่าย จึงทําให้คนในชุมชนนิยมประกอบอาชีพรับจ้างเต็มเวลา รายได้อยู่ในระดับเกณฑ์ดี มีรายได้เพียงพอต่อการดําเนินชีวิตประจําวัน โดยชาวบ้านในชุมชนมีรายรับ-รายจ่ายเฉลี่ย ดังนี้

  • รายได้เฉลี่ย 58,419.55 บาท/คน/ปี
  • รายรับจากบัญชีครัวเรือน 53,331.03 บาท/คน/ปี
  • รายจ่ายจากบัญชีครัวเรือน 58,811.59บาท/คน/ปี
  • หนี้สินจากบัญชีครัวเรือน 2,237.18 บาท/คน/ปี
  • เงินออมจากบัญชีครัวเรือน 3,560.62 บาท/คน/ปี

กลุ่มองค์กรชุมชน

1. ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สืบเนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวสถานที่ทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์ทําขึ้น เช่น ตึกชิโนโปรตุเกส วัดวาอาราม ศาลเจ้า ตลอดจน ป่าเขาลําเนาไพร ทะเล หาดทรายปะการัง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าหวงแหนอนุรักษ์ไว้ทั้งสิ้น ทุกแห่งทุกตําบลในจังหวัดภูเก็ต มีศักยภาพและความพร้อมต่อการดําเนินการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่นเดียวกับหมู่บ้านกู้กูที่ได้มีการจัดตั้งชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อนำเสนอการท่องเที่ยวในรูปแบบของการเรียนรู้ บ้านกู้กูมีทะเล มีป่าชายเลนผืนใหญ่ มีป่าใหญ่บนภูเขา มีเกาะกลางทะเล มีหาดทรายสวยงาม มีแหล่งตกปลาทะเล มีแหล่งปะการัง และมีศักยภาพพร้อมต่อการจัดการท่องเที่ยว ดังนั้น ทางชมรมจึงสร้างโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชมรมขึ้น โดยกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ชมรมฯ จัดขึ้น มีดังนี้

  • บ้านชาวประมง รูปแบบเป็นการทํา HOME STAY แบบชาวประมง โดยปกติชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมทะเลมีอาชีพทางประมงอยู่แล้ว บางคนมีกระชังเลี้ยงปลาอยู่ในทะเล ทางชมรมจึงได้สร้างเรือนพักในกระชังขึ้น 5 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้วันละ 10-20 คน นักท่องเที่ยวทุกคนต้องออกทะเลกับชาวประมง โดยนักท่องเที่ยวมีสิทธิเลือกจะไปด้วยเรือประเภทไหน เช่น เรือตกปลา เรือจับปู เรืออวน เรือลอบ หรือจะเลือกเรือไป นอนบนเกาะสวย ๆ หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม สัตว์น้ำที่หามาได้ส่วนหนึ่งจะถูกนํามาประกอบอาหารให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มรสชาติอาหารสด ๆ จากท้องทะเล

  • ชาวประมงพาไป GOOD MORNING PHUKET เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เน้นการชมและศึกษาธรรมชาติ เริ่มจากนํานักท่องเที่ยวเดินเท้าหรือนั่งเรือหางยาวเล็กเข้าคลองเล็ก ๆ ในป่าโกงกาง ศึกษาธรรมชาติ ความมหัศจรรย์ของป่า ชมแหล่งผลิตอาหารทะเล ร่วมกันปลูกป่าชายแลนเพื่อดํารงไว้ซึ่งห่วงโซ่อาหารเป็นแบบอย่างการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

  • แล้วแต่คุณจะไป เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบสั้นกระชับสําหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่มีเวลามากเป็นการเดินทางวันเดียวกลับ นักท่องเที่ยวจึงต้องเลือกโปรแกรมเองระหว่างการผจญภัยว่าต้องการร่วมกิจกรรมเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติของป่าชายเลน หรือติดตามดูวิถีชีวิตของชาวประมง

2. กลุ่มทําผ้าบาติก มีกิจกรรมในการเขียนผ้าบาติกด้วยเส้นลายสีสันแบบฉบับของตัวเองจากการค้น คิดเทคนิคแบบใหม่ ทําให้ผ้าบาติกของกลุ่มผิดแผกไปจากเดิม สร้างความชื่นชมประทับใจต่อผู้ที่พบเห็น

3. กลุ่มปลูกพืชผักปลอดสารพิษ มีกิจกรรมในการผลิตพืชผักตามความต้องการของตลาด เช่นพืชผักที่ใช้นําไปปรุงอาหารในโรงแรมให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ซึ่งจําเป็นที่จะต้องใช้เมล็ดผักที่นําเข้ามาปลูกแบบปลอดสารพิษ สามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกในกลุ่มเป็นกอบกำ

4. กลุ่มเป่าแก้ว เป็นกลุ่มที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ฝีมือสร้างงานแก้วเชิงวิจิตรศิลป์ นําเสนอในลักษณะของที่ระลึก เป็นของฝากจากเมืองไทยที่นักท่องเที่ยวนํากลับไปฝากเพื่อนฝูงญาติมิตรของเขา

5. กลุ่มจักสาน มีกิจกรรมเกี่ยวกับหัตถกรรมพื้นบ้าน ใช้วัสดุที่หาได้ในหมู่บ้าน เช่น กาบกล้วย ผักตบชวา หญ้ากก และพืชตระกูลหญ้าบนภูเขาโต๊ะแซ๊ะ นำมาจักสานเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ

6. กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งมูลค่าสูง เป็นกลุ่มของชาวประมงที่รับการสนับสนุนจากทางราชการให้ทํากิจกรรมเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่มูลค่าสูง เช่น ปลากะรัง (ปลาเก๋า ) ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว หอยแมลงภู่ ปูทะเล หอยนางรม เพื่อเป็นการช่วยเหลือธรรมชาติ สร้างแหล่งผลิตอาหารทะเลธรรมชาติที่ขาดศักยภาพไม่สามารถขยายพันธุ์เองได้เพียงพอต่อความต้องการ

7. กลุ่มประมงรัษฎา 37 เป็นกลุ่มที่ถูกจัดตั้งขึ้น ภายหลังจากการประสบภัยสึนามิ โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้มอบเรือหางยาวใหญ่ 20 ลํา พร้อมเครื่องยนต์ให้ชาวบ้านไว้ใช้ทํามาหาเลี้ยงชีพ กิจกรรมของกลุ่มนี้ คือ การออกหาอาหารทะเลทุกชนิดที่ซื้อ-ขายถูกต้องตามกฎหมายได้ และคอยช่วยสนับสนุนกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในการทําโปรแกรมท่องเที่ยว เช่น ชมวิถีความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้าน หรือบริการเรือเพื่อกิจการต่าง ๆ ในการท่องเที่ยว

8. กลุ่มอาชีพสตรีด้านการปักผ้าด้วยลูกปัด และร้อยคริสตัล

9. กองทุนหมู่บ้าน มีเงินทุนหมุนเวียน จํานวน 1,343,840 บาท

10. บัญชีหุ้นสัจจะสะสม มีเงินหุ้น จํานวน 44,200 บาท มีเงินสัจจะสะสม จํานวน 682,000 บาท

11. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มีเงินสัจจะสะสม 33,200 บาท

ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีสํานักสงฆ์ในหมู่บ้านอยู่ 2 แห่ง คือ สํานักสงฆ์กู้กูและสํานักสงฆ์เขาโต๊ะแซ๊ะ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านกู้กูและชาวบ้านข้างเคียง ส่วนศาสนาอิสลามและคริสเตียนมีรวมกันไม่ถึง 5% โดยในเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุก ๆ ปี ชาวบ้านจะร่วมใจกันถือศีลกินเจเพื่อเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว จนกลายมาเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องยึดถือปฏิบัติติดต่อกันมาทุกปีของชาวจังหวัดภูเก็ต และยังมีส่วนในเดือนสิบจะมีประเพณีทําบุญเดือนสิบ และทําบุญสวดกลางบ้านในเดือนเมษายน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์พัฒนาศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนกิ่งแก้วซอย 1

เนื่องด้วยความหลากหลายของการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน อาทิ รับจ้างทั่วไป ประกอบกิจการด้านการประมง ธุรกิจส่วนตัว ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา คือ ปัญหาการทิ้งขยะไม่ถูกที่ทั้งทางบกและทางน้ำ รวมถึงการรักษาความสะอาดในชุมชน ชาวบ้านได้ตระหนักถึงสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้จึงได้รวมกลุ่มกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ก่อให้เกิดกลุ่มธนาคารขยะรีไชเคิลของชุมชน เพื่อนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์สูงสุด อาทิ การแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การสาธิตวิธีต่อยอด การปลูกพืชผักและการเลี้ยงปลาและกบปลอดสารพิษบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง มีการรณรงค์รักษาความสะอาดภายในชุมชนเป็นประจำทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง โดยมีภาคีเครือข่ายส่วนราชการในพื้นที่ช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนร่วมกันกับชุมชน ผลักดันให้เกิดกิจกรรมการเปิดศูนย์เรียนรู้ การจัดการขยะต้นแบบ “ศูนย์พัฒนาศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนกิ่งแก้วซอย 1” เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการขยะในชุมชนให้กับประชาชนในซอยกิ่งแก้ว ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงและในจังหวัดภูเก็ต

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นภูเก็ต

ภาษาเขียน : อักษรไทย


การเป็นชุมชนที่ตั้งในเขตป่าสงวนตามประกาศพื้นที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ดังนั้นในสายตาของรัฐชาวบ้านจึงกลายเป็นผู้บุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ส่งผลให้การพัฒนาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมาไม่ถึงโดยเฉพาะช่วงภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ชุมชนกิ่งแก้วประสบปัญหาเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องไฟฟ้าหรือระบบประปา

ปัญหาเรื่องไฟฟ้าเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้เป็นอย่างมากเพราะไฟฟ้าจากหน่วยงานรัฐเข้าถึงชุมชนเพียงแค่ครึ่งซอย ส่วนชาวบ้านที่เหลือก็ใช้วิธีการต่อพ่วงสายไฟฟ้าเป็นทอด ๆ ไป ซึ่งการพ่วงต่อสายไฟนี้ส่งผลให้เกิดค่าไฟฟ้าแพงกว่าปกติ ปัญหาที่ตามมา คือ ค่าใช้จ่ายที่จะต้องรับภาระมากกว่าปกติ และไฟฟ้าไม่พอจ่ายห้าเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกครัวเรือน

ปัญหาเรื่องน้ำประปาก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่สร้างความเดือดร้อนและไม่สะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในชุมชนกิ่งแก้ว เพราะต้องซื้อน้ำใช้ บางหลังคาเรือนใช้วิธีการต่อพ่วงน้ำประปาเหมือนกับไฟฟ้า ซึ่งก็ต้องทำให้จ่ายค่าน้ำในราคาที่สูงกว่าปกติ แต่ชาวบ้านเห็นว่าการจ่ายค่าน้ำในราคาที่สูงกว่าจากการไปขอต่อพ่วงน้ำประปาจากเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ยังดีกว่าไปซื้อน้ำจากรถที่ขนมาส่ง ซึ่งมีราคาแพงกว่า

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องถนน คูระบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความสําคัญเป็นอย่างยิ่ง สภาพถนนตั้งแต่ปากทางเข้าชุมชนกิ่งแก้ว ซอย 1 จนถึงท้ายซอยเป็นทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำขังอยู่เป็นจํานวนมาก เนื่องจากไม่มีคูระบายน้ำ เพราะน้ำที่ใช้แล้วของบ้านแต่ละหลังต่างไหลลงสู่ถนน บางครั้งเวลาฝนตกจนทําให้น้ำไม่สามารถระบายออกได้ทําให้น้ำขัง จนบางครั้งไม่สามารถเดินสัญจรไปมาได้ ชาวบ้านต้องช่วยกันระดมทุนเพื่อซื้อหินมาถมถนนที่มีน้ำท่วมขังเพื่อบรรเทา บางครั้งก็ใช้การประสานงานกับท้องถิ่นเพื่อขอความอนุเคราะห์เศษหินและปูนมาถมถนน เพื่อให้เส้นทางสามารถสัญจรได้

ทั้งนี้ ปัญหาด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ ที่พบในชุมชนกิ่งแก้ว ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต และปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีสาเหตุจากการที่ชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นที่รัฐ ทำใหหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยของชาวบ้านในระยะหลังจะไม่ถูกทางการจับกุมหรือไล่รื้อที่อยู่อาศัย ทว่า การเข้ามาสร้างบ้านเรือนในพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนกิ่งแก้วไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ อีกทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ แต่ต่อมาชุมชนได้เข้าร่วมกับเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ตด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ชุมชนกิ่งแก้ว ซอย 1 ได้มีการจดแจ้งการจัดตั้งชุมชนตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนในปี พ.ศ. 2551 ส่งผลให้ชุมชนได้รับการบริการขั้นพื้นฐานจากภาครัฐเท่าเทียมกับชุมชนอื่น ๆ มากขึ้น นับแต่นั้นเป็นต้นมา 


โดยทั่วไปสมาชิกในชุมชนกิ่งแก้วจบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเข้ารับการศึกษาจากสถานศึกษาบริเวณใกล้เคียงชุมชน เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับหรือมัธยมศึกษาตอนต้นความสนใจในการศึกษาสายสามัญลดลงและจะเริ่มศึกษาในสายอาชีพมากขึ้น เช่น อาชีวะ เทคนิค หรือประกอบอาชีพ เนื่องด้วยการขาดโอกาสทั้งทุนการศึกษา การขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนขาดการสนับสนุนจากครอบครัว เนื่องด้วยครอบครัวยังไม่ค่อยให้ความสําคัญเรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชน ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากการเป็นเมืองเศรษฐกิจและหลักท่องเที่ยว อีกทั้งการใช้ชีวิตของผู้ปกครองที่ดำเนินมาด้วยการจบการศึกษาเพียงภาคบังคับก็สามารถประกอบอาชีพด้วยตนเองได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ถูกปลูกฝังไปสู่บุตรหลานในครอบครัว จึงเป็นเหตุให้การตัดสินใจศึกษาต่อของเด็กและเยาวชนในชุมชนกิ่งแก้วเป็นไปในอัตราค่อนข้างต่ำ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ข่าวภูเก็ต. (2562). ทต.รัษฎา เปิดศูนย์จัดการขยะต้นแบบ มุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชนกิ่งแก้วซอย 1. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.khaophuket.com/

ชุมชนกิ่งแก้วซอย1. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/

สนชัย ฤทธิชัย และคณะ. (2558). โครงการศึกษารูปแบบการจัดการที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมโดยชุมชนเป็นแกนหลักของชุมชนกิ่งแก้ว ซอย 1 อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. (2562). เทศบาลตำบลรัษฎา เปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะต้นแบบ ศูนย์พัฒนาศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนกิ่งแก้วซอย 1. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://thainews.prd.go.th/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/