Advance search

ย่านเมืองเก่าภูเก็ต

ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต เมืองที่หล่อหลอมความหลากหลายของทั้งคน ประเพณี วิถีชีวิต อาหารการกิน ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่เป็นกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชุมชนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสและรูปแบบวัฒนธรรมเฉพาะที่เรียกวา "เปอรานากัน"

ชุมชนย่านเมืองเก่า ถนนถลาง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต
ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต
ตลาดใหญ่
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 ส.ค. 2023
ย่านเมืองเก่าภูเก็ต


ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต เมืองที่หล่อหลอมความหลากหลายของทั้งคน ประเพณี วิถีชีวิต อาหารการกิน ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่เป็นกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชุมชนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสและรูปแบบวัฒนธรรมเฉพาะที่เรียกวา "เปอรานากัน"

ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต
ชุมชนย่านเมืองเก่า ถนนถลาง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต
ตลาดใหญ่
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
เทศบาลนครภูเก็ต โทร. 0-7621-2196
7.884678349
98.39028105
เทศบาลนครภูเก็ต

ย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความเป็นมากว่า 100 ปี ด้วยพื้นที่มีทรัพยากรแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งตําแหน่งที่ตั้งอันเหมาะสมต่อการเป็นสถานีการค้าที่สําคัญ ทําให้มีกลุ่มคนหลากหลายวัฒนธรรมเข้ามาตั้งถิ่นฐานและทําการค้าขายบนพื้นที่แห่งนี้ทั้งชาวจีน อินเดีย อาหรับ และยุโรป เข้ามาทำการค้าและอาศัยอยู่ที่ภูเก็ตเป็นจำนวนมาก (เช่นเดียวกันเมืองท่าอื่น ๆ ในแหลมมลายู เช่น ปีนัง มะละกา และสิงคโปร์) จนกระทั่งมีการผสมผสานให้เกิดเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัย แม้ในช่วงเวลาต่อมาความต้องการทรัพยากรแร่ดีบุกจะลดน้อยลง แต่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตก็ยังคงมีศักยภาพในด้านทรัพยากร การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งหมาะสมในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองในยุคสมัยปัจจุบัน

ย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการปกครองของเกาะภูเก็ตที่ถูกย้ายมาจากศูนย์กลางเดิม คือ เมืองถลางที่ล่มสลายไปจากสงคราม โดยเริ่มตั้งถิ่นฐานใหม่ขึ้นบริเวณอ่าวทุ่งคา ในช่วงต้นพุทธศักราช 2400 หรือราวสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นยุคสมัยที่เริ่มมีการพัฒนาวิทยาการในด้านต่าง ๆ ขึ้นอย่างมากมาย ด้วยอิทธิพลจากองค์ความรู้ตะวันตกที่เข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการในด้านการก่อสร้าง การเข้ามาของชนชาติต่าง ๆ ก่อให้เกิดการผสมผสานทั้งวิถีความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม อาหารการกิน รวมถึงมีการนำรูปแบบของสถาปัตยกรรม “ชิโนโปรตุกีส” ที่ยุคนั้นได้รับความนิยมแพร่หลายในแหลมมลายูเข้ามาก่อสร้างเป็นจำนวนมาก

ย่านเมืองเก่าภูเก็ต มีการริเริ่มสร้างอาคารซ้อนชั้นหรืออาคารพักอาศัยที่ตอบสนองต่อการใช้งานทั้งในด้านพาณิชยกรรมและการอยู่อาศัย ทําให้เริ่มมีแนวคิดในการออกแบบผังเมืองอย่างเป็นระบบขึ้น ส่งผลให้เกิดสถาปัตยกรรมประเภทตึกแถวเป็นจํานวนมากเพื่อตอบสนองการค้าขายแลกเปลี่ยนในย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ซึ่งพบเห็นได้ในศูนย์กลางพาณิชยกรรมของพื้นที่คาบสมุทรมลายู ทั้งประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย

ปัจจุบันย่านเมืองเก่าภูเก็ตเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวจีนบาบ๋ากลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนฮกเกี้ยน รวมถึงชาวมุสลิมและชาวซิกซ์ที่อยู่อาศัยรวมกันในชุมชนแห่งนี้ โดยการอพยพของชาวจีนบาบ๋าเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ทั่วเมืองภูเก็ตนั้นมีสาเหตุจากหลายปัจจัยด้วยกัน คือ การที่ภาคใต้ของประเทศไทยนั้นตั้งอยู่ในเส้นทางการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการค้าทางเรือ มีลักษณะภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกพืช และที่สำคัญ คือ ภาตใต้ของไทยอุดมด้วยแหล่งแร่และกิจการเหมืองแร่ดีบุก อีกทั้งนโยบายของรัฐในสัมยรัชกาลที่ 4 ที่มีการดึงดูดชาวจีนให้เข้ามาขายแรงงานพัฒนาแหล่งดีบุก

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ชาวจีนที่อพยามีส่วนสำคัญในการเพิ่มจำนวนประชากรให้กับรัฐไทย และสร้างรายได้แก่รัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ รัฐจะได้ภาษีทั้งจากการแร่ดีบุก ภาษีจากฝิ่น สุรา การพนัน และหญิงโสเภณี ซึ่งในสมัยนั้นในภาคใต้เรียกว่า “ภาษีบำรุงถนน” (กรุงเทพฯ เรียก ภาษีบำรุงเมือง)

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 กิจการเหมืองแร่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเหมืองแร่ ทำให้ช่วงปี พ.ศ. 2435-2444 ได้มีการนำชาวจีนอพยพจากเมืองจีนเข้าสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นจำนวนมาก จากหลักฐานสำมะโนเมือง พ.ศ. 2446 มีชาวจีนในภูเก็ตกว่า 32,408 คน จึงอาจกล่าวได้ว่า กิจการเหมืองแร่ดีบุกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวจีนอพยพมาสู่ภาคใต้ของไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดภูเก็ต และกระจายตัวตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ทั่วไปรวมถึงในบริเวณพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วย 

ที่ตั้งและอาณาเขต

ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนรัษฎา ถนนเยาวราช ถนนดีบุก ถนนพังงา ถนนกระบี่ และถนนถลาง ถนนที่เก่าแก่ที่สุดสายหนึ่งในเมืองภูเก็ต เป็นย่านการค้าเก่าซึ่งบอกเรื่องราววิถีชีวิตที่เคยมีในอดีต เป็นถนนสายประวัติศาสตร์คู่กับจังหวัดภูเก็ตมานานกว่า 150 ปี นับจากปี พ.ศ. 2393 โดยพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ทัด) ดํารงตําแหน่งเจ้าเมืองภูเก็ต ถนนสายนี้ก็ได้ถูกกําหนดไว้ในประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม

โดยสองข้างทางของถนนถลางปรากฏสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปตุกีส รูปแบบอาคารมีการสร้างให้ตัวบ้านติดกันและเว้นพื้นที่หน้าบ้านไว้เพื่อเป็นทางเดินเท้าเป็นช่องทางเดินมีหลังคาคลุมเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี ป้องกันแดดและฝน ความกว้าง 5 ฟุต เรียกว่า “หง่อคาขี่” (arcade) โดยบางบ้านทําปิดทางเดิน บางบ้านยังเปิดให้โล่ง ทั้งนี้ก็เพื่อสนองกับนโยบายถนนสายวัฒนธรรมของทางเทศบาลนครภูเก็ต ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ครอบคลุมพื้นที่เขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมหรือย่านอาคารเก่า เนื้อที่ 210 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ จดทางแยกตัดถนนแม่หลวนกับถนนปฏิพัทธิ์ ต่อเนื่องไปทางตะวันออกตามแนวกึ่งกลางถนนแม่หลวนและถนนทุ่งคา ผ่านถนนเทพกระษัตรีและต่อเนื่องเรื่อยไปทางทิศตะวันออกตามแนวกึ่งกลางถนนดํารง จนกระทั่งถึงทางแยกตัดถนนปะเหลียน

  • ทิศตะวันออก จดทางแยกตัดถนนปะเหลียนกับถนนดํารง ต่อเนื่องลงมาทางทิศใต้ตามแนวกึ่งกลางถนนปะเหลียนจนถึงทางแยกตัดถนนนริศรไปทางทิศตะวันตกตามแนวกึ่งกลางถนนนริศรจนถึงทางแยกตัดถนนมนตรี ลงมาทางทิศใต้ตามแนวกึ่งกลางถนนมนตรีจนถึงทางแยกถนนพังงา ต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออกตามแนวกึ่งกลางถนนพังงาจนถึงทางแยกตัดถนนดิลกอุทิศ ซอย 2 ลงมาทางใต้ตามแนวกึ่งกลางถนนดิลกอุทิศ ซอย 2 จนถึงทางแยกตัดถนนอ๋องซิมผ่าย ต่อเนื่องไปทางทิศตะวันตกตามแนวกึ่งกลางถนนภูเก็ต จนกระทั่งจดแหลมสะพานหิน สุดแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน

  • ทิศตะวันตก จดแนวสุดชายฝั่งทะเลอันดามัน ต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวกึ่งกลางถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี จนถึงทางแยกตัดถนนพูนผล และต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวกึ่งกลางถนนพูนผล จนถึงทางแยกตัดถนนปฏิพัทธิ์ขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวกึ่งกลางถนนปฏิพัทธิ์ กระทั่งถึงทางแยกตัดถนนแม่หลวนกับถนนปฏิพัทธิ์

  • ทิศใต้ จดแหลมสะพานหิน สุดแนวชายฝั่งทะเลอันดามันต่อเนื่องไปทางทิศตะวันตกเลียบแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน ผ่านปากคลองบางใหญ่ จนกระทั่งถึงแนวกึ่งกลางถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี

สภาพภูมิอากาศ

สภาพทางภูมิอากาศของพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต อยู่ภายใต้อิทธิพลของมรสุมที่พัดประจําฤดูกาล 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพาเอามวลอากาศชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาสู่พื้นที่ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ทําให้มีฝนตกชุกทั่วไป และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดพาเอามวลอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีน พัดผ่านทะเลจีนใต้และอ่าวไทย แต่เนื่องจากพื้นที่ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตอยู่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกจึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือไม่เต็มที่ ทําให้อากาศไม่หนาวเย็น โดยมีฝนในฤดูมรสุมนี้แต่มีปริมาณน้อย

ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตในปัจจุบันนับเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีการอยู่อาศัยร่วมกันของประชากรทั้งชาวไทยมุสลิม ชาวซิกซ์ และชาวจีนบาบ๋า หรือเปอรานากัน (ชาวจีนเชื้อสายมลายู) ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่และมีความสำคัญอย่างมากต่อบริบททางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการพัฒนาชุมชน โดยระบบครอบครัวของชาวจีนบาบ๋านั้นโดยปกติจะให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะถือว่าผู้ชายอยู่ในฐานะทายาทสืบสกุล

อีกทั้งชาวจีนฮกเกี้ยนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวจีนบาบ๋ายังเป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายทางพ่อ ผู้หญิงเมื่อแต่งงานแล้วจะต้องใช้แซ่หรือนามสกุลของฝ่ายชาย และครอบครัวฝ่ายชายจะนับให้สะใภ้มีศักดิ์เหนือกว่าลูกสาวแท้ ๆ เพราะมีคติว่าสะใภ้แต่งเข้า ลูกสาวแต่งออก และบทบาทการเป็นผู้นำหรือหัวหน้าครอบครัวจะตกเป็นของฝ่ายชายหรือสามี สามีมีอำนาจในการตัดสินใจทุกสิ่งอย่าง ส่วนภรรยามีหน้าที่เป็นแม่บ้านดูแลครอบครัวและอบรมเลี้ยงดูลูกเท่านั้น ส่วนลักษณะครอบครัว โดยปกติมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีการอยู่ร่วมกันของสมาชิกจำนวนมากและให้ความสำคัญกับญาติฝ่ายพ่อมากกว่าญาติฝ่ายแม่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ยังคงปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนบาบ๋าที่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษชาวจีนฮกเกี้ยน 

ชาวจีนบาบ๋าที่อพยพเข้ามาในชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตยุคเริ่มแรกนั้นส่วนมากมีฐานะยากจน ไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัวมาเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ดังนั้น อาชีพแรกเริ่มส่วนใหญ่จึงมักเป็นอาชีพขายแรงงาน กรรมกรเหมืองแร่ ลูกจ้าง และเมื่อเก็บเงินได้บ้างแล้วก็ผันตัวเองจากการเป็นลูกจ้างกรรมกรมาเป็นเจ้าของกิจการเล็ก ๆ เช่น ร้านขายของชำ จนทําให้ชาวจีนบาบ๋าบางคนเริ่มมีฐานะร่ำรวยเป็นนายเหมือง และเป็นเจ้าของกิจการ แต่ภายหลังธุรกิจแร่ดีบุกหยุดชะงักลง ส่งผลให้รูปแบบทางเศรษฐกิจต้องขยายออกไปสู่กิจกรรมทางด้านอื่นนอกเหนือจากเหมืองแร่ดีบุกอย่างชัดเจนขึ้น

ทั้งการพัฒนาการเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวที่เกิดการขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจน มีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จากการที่ภูเก็ตเป็นที่รู้จักในนามของเมืองแห่งเหมืองแร่และมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยทะเล พ.ศ. 2524 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในไทย บรรจุแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเข้าไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตจึงขยายตัวอย่างกว้างขวางและรวดเร็วไปในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติชายฝั่ง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่แผ่ขยายมาถึงพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าย่านภูเก็ตด้วย

ในปัจจุบัน ย่านเมืองเก่าภูเก็ตมีความสําคัญในการเป็นย่านการค้าปลีกของที่ระลึกและย่านส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีการสนับสนุนส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีที่สืบสานมาแต่โบราณให้ประยุกต์เพื่อตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น อาทิ เทศกาลถือศีลกินเจ ที่เน้นการขายอาหารและอวดอภินิหารของคนทรงมากขึ้น หรืองานตรุษจีนย้อนอดีต ที่มีการสนับสนุนให้มีกิจกรรมเพิ่มเติมจากการเฉลิมฉลองตรุษจีนด้วยการย้อนระลึกถึงวิถีในอดีตผ่านการใช้พื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ทําให้เป็นย่านเมืองเก่าที่ยังมีกิจกรรมการใช้งาน มีวัฒนธรรมผสมผสาน อีกทั้งยังมีลักษณะเชิงพื้นที่ที่มีอาคารและพื้นที่สาธารณะอันโดดเด่น ลูกหลานบาบ๋าที่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนยังคงประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก บางครอบครัวที่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่เป็นเจ้าของกิจการเหมืองแร่หรือเจ้าเมืองในสมัยนั้นซึ่งมีฐานะดี ก็ประกอบอาชีพทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจ โรงแรมท่องเที่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต

โดยเฉพาะบริเวณถนนถลาง ถนนที่เก่าแก่ที่สุดสายหนึ่งในเมืองภูเก็ต เป็นย่านการค้าเก่า และเป็นถนนสายวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต ส่งผลให้การท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทกับชุมชนค่อนข้างมาก มีนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ทําให้การประกอบอาชีพของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ส่วนใหญ่เปิดกิจการค้าขาย โดยเปิดขายสินค้าและบริการจําพวกอาหาร อาทิ ผ้าปาเต๊ะ ผ้าโสร่ง อุปกรณ์ตัดเย็บเสื้อผ้าสําเร็จรูป รองลงมาเป็นขายสินค้าของฝากจากภูเก็ตจำพวกขนมพื้นเมือง เสื้อพิมพ์ลายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับถนนถลาง เมืองเก่าภูเก็ต ของฝากจากภูเก็ต เช่น สร้อยมุก โปสการ์ด

นอกจากนี้ยังมีร้านขายกาแฟ ร้านเค้กรูปแบบทันสมัยที่สามารถบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นภูเก็ตให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ถนนคนเดินตลาดใหญ่ภูเก็ต พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ทำการไปรษณีย์เก่าของจังหวัด ภายนอกอาคารสีขาวแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบโบราณ ส่วนภายในจัดแสดงดวงตราไปรษณียากรชุดต่าง ๆ ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 รวมไปถึงเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารในอดีตอีกทั้งยังมีอาร์ตแกลลอรี สถานที่จัดแสดงภาพวาด เกสต์เฮ้าส์ขนาดเล็กสําหรับนักท่องเที่ยวแบบแบ็คเพคเกอร์ รวมถึงบ้านชินประชา ตึกใหญ่ธนาคารกสิกรไทยภูเก็ต พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว และเปอรานากันนิทัศน์

อาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสที่จัดแสดงตั้งแต่เรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวจีนฮกเกี้ยนที่เดินทางมายังภูเก็ต ความเชื่อ วิถีชีวิตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนกับชาวภูเก็ต โดยเจ้าของธุรกิจมีทั้งคนในพื้นที่และกลุ่มธุรกิจภายนอกที่เข้ามาเปิดกิจการ ทั้งนี้ ถนนถลาง ย่านเมืองเก่าภูเก็ตยังเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่ทางจังหวัดพยายามปรับปรุงให้สวยงามเพื่อสร้างรายได้ และผลดีในด้านเศรษฐกิจให้กับทั้งจังหวัดภูเก็ตและคนในชุมชน

ศาสนาและความเชื่อ

ประชาชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตส่วนมากนับถือศาสนาพุทธและมีความเชื่อเรื่องการบูชาเทพเจ้าและวิญญาณบรรพบุรุษ เพราะเชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะคุ้มครองลูกหลาน โดยแสดงออกผ่านการเซ่นไหว้ทั้งที่บ้านและหลุมฝังศพตามประเพณีจีนตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังเคารพองค์เทพเจ้าต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัด คือ เทวดาที้ก้ง เป็นเทวดาที่ชาวจีนบาบ๋าให้การเคารพนับถือ โดยสร้างหิ้งเล็ก ๆ ประดับไว้ที่เสาหน้าบ้านฝั่งซ้ายของบ้านเพื่อให้เทวดาที้ก้งช่วยคุ้มครองให้คนในบ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข

โดยในปัจจุบันบ้านของชาวบาบ๋าในชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตโดยเฉพาะบริเวณถนนถลางยังมีหิ้งบูชานี้ให้เห็นอยู่ แสดงให้เห็นว่าแม้เวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ทว่า ความเชื่อในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังสืบทอดมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน ทั้งนี้ แม้ว่าย่านเมืองเก่าภูเก็ตมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนบาบ๋าที่นับถือศาสนาพุทธ ทว่า ยังมีประชาอีกหลายกลุ่มที่นับถือศาสนาอื่นเนื่องจากความหลากหลายทางเชื้อชาติของประชากรในพื้นที่ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต อาทิ ศาสนาอิสลาม ศาสนาซิกซ์ ความหลากหลายเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความเป้นพหุวัฒนธรรมที่มีการสืบต่อ ปรับปรุง และดัดแปลงจนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต โดยในปัจจุบัน ย่านเมืองเก่าภูเก็ตมีประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญ ดังนี้

  • ประเพณีกินเจ หรือประเพณีถือศีลกินผัก เป็นการถือศีลชําระจิตใจ และงดเว้นการบริโภค เนื้อสัตว์ทุกชนิดเป็นระยะเวลา 9 วัน

  • ประเพณีตรุษจีน เป็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของคนจีน มีพิธีกรรมเช่นเดียวกับชาวจีนในพื้นที่อื่น

  • ประเพณีไหว้เทวดา (ป้ายที้ก้ง) เป็นการไหว้ต้อนรับและขอบคุณเทวดาที่ช่วยพิทักษ์รักษามนุษย์

  • ประเพณีพ้อต่อ เป็นงานประเพณีของชาวภูเก็ตที่มีเชื้อสายจีน โดยมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ด้วยเครื่องบวงสรวง เป็นขนมชนิดหนึ่งทําด้วยแป้งเป็นรูปเต่าขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ทาสีแดง ซึ่งคนจีนเชื่อว่า เต่าเป็นสัตว์อายุยืน ดังนั้น การไหว้เต่าจึงเป็นการต่ออายุให้ตนเองและถือเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่

  • ประเพณีไหว้พระจันทร์ เป็นประเพณีการไหว้เจ้าด้วยขนมไหว้พระจันทร์และขนมโก๋ ถือเป็นเทศกาลที่มีความสําคัญสําหรับคนจีนมากเป็นอันดับสองรองจากเทศกาลตรุษจีน

  • ประเพณีถือศีลอด (มุสลิม) จัดขึ้นทุกปีเช่นเดียวกับชาวมุสลิมในพื้นที่อื่น โดยชาวมุสลิมทุก คนจะต้องถือศีลอด 1 เดือน เรียกว่า เดือนรอมฎอน

ลักษณะบ้านเรือน

บ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตโดยเฉพาะบริเวณถนนถลาง มีลักษณะเป็นตึกแถวเรียงติดต่อกันไป เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและทําการค้า โดยปกติมีลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ 2-3 ชั้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าบ้านเรือนของประชาชนแถบนี้มีประตูอยู่ตรงกลางและมีหน้าต่างอยู่ซ้ายและขวาของประตู การสร้างประตูและหน้าต่างแฝงนัยว่าเกี่ยวกับความเชื่อว่า ปากหน้าต่าง เปรียบเสมือนตาทั้ง 2 ข้าง ที่สามารถมองเห็นและป้องกันสิ่งชั่วร้ายภายนอกไม่ให้เข้ามาในบ้านได้ รวมถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นที่เรียกว่า สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ซึ่งเปรียบเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนในย่านเมืองเก่าภูเก็ต

วัฒนธรรมการแต่งกาย

แรกเริ่มเดิมทีชายชาวจีนที่อพยพเข้ามานิยมใส่เสื้อกุยเฮง (แขนยาว คอกลม กระดุมติดโดยห่วงผ้า) และสวมกางเกงจีนซึ่งคล้ายกับกางเกงเลในปัจจุบัน ทรงผมโกนออกครึ่งศีรษะด้านหน้า ด้านหลังไว้ผมยาวถักเป็นเปีย และเมื่อเข้ามาทํางานเป็นกรรมกรเหมืองหรือนายเหมืองก็ตามก็มีการแต่งกายให้เข้ากับงานที่ทํา เช่น ชุดนายเหมือง แต่ในปัจจุบันชายชาวจีนบาบ๋าซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายจากชาวฮกเกี้ยนนั้นจะแต่งกายแบบสากลทั่วไป คือ เสื้อเชิ้ต เสื้อยืด กางเกง โดยทิ้งแบบเก่าไปอย่างสิ้นเชิง ส่วนหญิงชาวบาบ๋าไม่ใช่หญิงที่มาจากเมืองจีน แต่เป็นหญิงที่เกิดในท้องถิ่น

ฉะนั้น การแต่งกายจึงไม่เหมือนหญิงชาวจีนที่มณฑลฮกเกี้ยน จึงมีการแต่งกายที่ผสมผสานระหว่างความเป็นท้องถิ่นภาคใต้กับวัฒนธรรมจีน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในสมัยแรกยังเป็นใช้ผ้าปาเต๊ะกับเสื้อแขนจีบคอตั้งซึ่งในสมัยก่อนผู้หญิงจะต้องอยู่บ้านแต่งกายมิดชิด และรูปแบบของการแต่งกายก็เปลี่ยนไปตามการผสมผสานทางวัฒนธรรมและสภาพอากาศ เช่น จากการใส่แขนจีบคอตั้งมีเสื้อครุยทับหลายชั้นมาเป็นชุดลําลองปักลวดลายฉลุสวยงามเข้ารูปตามแบบตะวันตก และในปัจจุบันก็แต่งกายของผู้หญิงก็เป็นแบบสากลทั่วไป

วัฒนธรรมการกิน

วัฒนธรรมการกินของชาวจีนบาบ๋าในชุมชนดั้งเดิมมักจะเป็นอาหารที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและพิธีกรรม เช่น เป็ดต้ม ไก้ต้ม หมูชิ้นใหญ่ต้ม เส้นหมี่เหลือง อาหารคาวหวานต่าง ๆ จะมีความหมายที่เป็นสิริมงคล กินข้าวเป็นหลัก และมีกับข้าวซึ่งมีผักเป็นส่วนประกอบสําคัญ รสชาติอาหารเน้นรสจืดไม่จัดจ้าน โดยมีเทศกาลถือศีลกินผักเป็นประเพณีที่สะท้อนวัฒนธรรมด้านอาหารของชาวจีนบาบ๋าได้เป็นอย่างดี ต่อมาเมื่อมีการผสมผสาน วัฒนธรรมระหว่างจีนฮกเกี้ยนหรือจีนบาบ๋ากับพื้นเมืองภูเก็ตแล้ว ก็เกิดวัฒนธรรมด้านอาหารที่เรียกว่า อาหาร บาบ๋า ที่เน้นอาหารจีนแต่รสจัดจ้านขึ้น มีเครื่องเทศและผักพื้นถิ่นที่มีกลิ่นฉุน เช่น โอ๊ะเอ๋ว ผัดหมี่ฮกเกี้ยน (หมี่เหลืองเส้นใหญ่ผัดกับผักและเนื้อสัตว์) บะกุดเต๋ (ซี่โครงหมูต้มยาจีน)

ทั้งนี้ นอกจากวัฒนธรรมการกินแบบชาวจีนบาบ๋าแล้ว ย่านเมืองเก่าภูเก็ตยังมีความหลากหลายของอาหารจากเชื้อชาติอื่นทั้งอาหารแบบมุสลิม เช่น โรตี มะตะบะ และอาหารแบบไทยภาคใต้ เช่น แกงไตปลา น้ําพริกกุ้งเสียบ และขนมจีนน้ำยา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พิพิธภัณฑ์บ้านชินประชา จ.ภูเก็ต

พิพิธภัณฑ์บ้านชินประชา อำเภอเมืองภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ จังหวัดภูเก็ต เป็นการนำคฤหาสน์ของอดีตคหบดีนามว่า พระพิทักษ์ชินประชา (ตันม่าเสียง) ซึ่งเป็นคหบดีผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัดภูเก็ต มาจัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยรูปแบบอาคารได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ลักษณะอาคารเช่นนี้พบได้ทั่วไปบริเวณอดีตสเตรทเซ็ตเทลเม้นท์ (strait settlement) ในภูเก็ตเรียกว่า “อั่งม้อหลาว” นอกจากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นแล้ว ด้านการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งรูปแบบอาคารและวัตถุที่จัดแสดงภายในอาคาร มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์จีนเปอรานากัน (Peranakan Chinese) ที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณช่องแคบมะละกา

อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจีนเปอรานากันเกิดจากการรับเอาและปรับใช้วัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ มลายู อินโด วัฒนธรรมจีนโพ้นทะเล รวมถึงวัฒนธรรยุโรปที่เข้ามาครองอำนาจในบริเวณนี้ กระทั่งเกิดเป็นอัตลักษณ์ของเครื่องแต่งกาย อาหาร ภาษา วรรณกรรม สถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์บ้านชินประชาจึงมีคุณค่าในเชิงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในภูเก็ต ด้วยวัตถุทางวัฒนธรรมที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์บ้านชินประชา วัตถุทางวัฒนธรรมจึงมีความสอดคล้องกับวัตถุที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัย อาทิ เครื่องแต่งกายของสตรีชุดบาจูปันจัง เครื่องเฟอร์นิเจอร์ อาทิ เก้าอี้ โต๊ะ เตียงนอน หรือภาชนะ อาทิ เครื่องกรองน้ำ

ภาษาพูด: ภาษาถิ่นภูเก็ต ภาษาจีนฮกเกี้ยน ภาษาบาบ๋า ภาษาไทยกลาง


หง่อคาขี่: การไหลบ่าของกระแสพหุวัฒนธรรมบนฐานเศรษฐกิจย่านเมืองเก่าภูเก็ต

“หง่อคาขี่” หรือ “หง่อกากี” เป็นคำที่มาจากภาษาภาษาจีนและมลายู “หง่อ” เป็นภาษาจีน แปลว่า 5 “กากี” เป็นคำภาษามลายู แปลว่า ทางเดิน นอกจากนี้คำว่า “กากี” ยังเป็นมาตราวัดระยะในการสร้างอาคารของนายช่างจีน ความยาว 1 กากี จะเท่ากับความยาว 1 ศอก ตามมาตรตราวัดไทยและจะเท่ากับ 1 ฟุต ของมาตราวัดของอังกฤษ “หง่อคาขี่” จึงหมายถึงทางเดิน 5 ฟุตที่ที่ทุกบ้านเว้นไว้สำหรับเป็นทางเดินเชื่อมต่อหน้าบ้านทุกหลังให้สามารถเดินได้ตลอดถึงกัน นับเป็นความพิเศษทางสถาปัตยกรรมของตึกเก่าภูเก็ต

หง่อคาขี่ เอกลักษณ์โดดเด่นของสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส เป็นลักษณะอาคารตามข้อกำหนดของประเทศเจ้าอาณานิคม ทางเดินเท้า 5 ฟุต ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกโดยกัปตันสแตม ฟอร์ด ราฟเฟิลล์ ชาวอังกฤษ โดยคณะผู้บริหารของรัฐบาลประเทศอังกฤษระบุให้ตึกแถวที่มีระเบียงยื่นล้ำออกมานอกอาคาร พื้นที่ส่วนที่อยู่บริเวณด้านหน้าของตึกแถวชั้นล่างจะต้องมีขนาดความกว้างอย่างน้อย 5 ฟุต สิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ปรากฎแก่ตึกแถวในประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์

ภูเก็ตเป็นเมืองหนึ่งในคาบสมุทรมลายูที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับมาเลเซียโดยเฉพาะเกาะปีนังผ่านการซื้อขายดีบุก ความเจริญในด้านต่าง ๆ ของภูเก็ตอิงอยู่กับเกาะปีนังเป็นสำคัญ มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่นำไปสู่การแลก รับ ปรับ เปลี่ยน ทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน รูปแบบการสร้างอาคารของภูเก็ตก็ถือเป็นหนึ่งในผลผลิตของการ แลก รับ ปรับ เปลี่ยน ทางวัฒนธรรมระหว่างภูเก็ตและเกาะปีนัง รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า หงอคาขี่ ด้วยเช่นกัน

ย่านเมืองเก่าภูเก็ต เดิมเคยเป็นศูนย์กลางการค้าของเมืองภูเก็ต และมีอาคารแบบชิโนโปรตุกีสที่สวยงาม มีการริเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอาคารมาตั้งแต่ พ.ศ. 2523 โดยส่วนราชการมีการเริ่มโครงการพัฒนาและอนุรักษ์ย่านการค้าเมืองเก่าขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดยมีเทศบาลเมืองภูเก็ตเป็นหลักในการประสานและดําเนินการร่วมกันกับกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต โดยให้ความสําคัญกับการบูรณะสถาปัตยกรรมย่านเมืองเก่าภูเก็ต และในปี พ.ศ. 2537 ก็มีการกําหนดพื้นที่นําร่องพัฒนา มีการรณรงค์ให้ประชาชนเล็งเห็นถึงความสําคัญของช่องทางเดินใต้อาคารด้านหน้า หรือที่เรียกว่า “หง่อคาขี่” (arcade) เพื่อให้เปิดทะลุถึงกันโดยตลอดเส้นทางให้เหมือนกับที่คนในสมัยก่อนปฏิบัติ กระทั่งใน พ.ศ. 2541 มีการเริ่มต้นจัดงานย้อนอดีตเมืองภูเก็ต ครั้งที่ 1 ขึ้นบนถนนถลาง ซึ่งมีการจัดต่อเนื่องเป็นประจําทุกปีถึงปัจจุบัน

จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาทําให้ทางเทศบาลในขณะนั้นเห็นว่ามีความจําเป็นที่ควรจะให้ความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนรวมถึงภาคธุรกิจให้เกิดจิตสํานึกต่อสาธารณะ เทศบาลเมืองภูเก็ตจึงได้ร่วมกับชุมชนจัดตั้งมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อจะได้หาความร่วมมือจากชุมชนได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนอีกทางหนึ่ง และก่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขึ้นในชุมชน

ซึ่งในปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบนถนนถลาง ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ก็เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาภูเก็ตเป็นอย่างดี ทว่า อาจฟังดูน่าใจหายที่ต้องรับทราบว่าปัจจุบันหง่อคาขี่ที่เคยเชื่อมหน้าบ้านถึงกันทุกสายถนนในชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตได้ถูกปิดลง กลายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล แม้ว่าจะมีทางเท้าเข้ามาแทนที่ แต่ก็ไม่อาจชดเชยคุณค่าของหง่อคาขี่ที่สะท้อนถึงความเอื้ออาทรและภูมิปัญญาาในการวางผังเมืองของคนในอดีตได้ ในอนาคต “หง่อคาขี่” อาจกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าที่รอวันเลือนลืม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีโครงการนำร่องในการเปิดช่องหง่อคาขี่ที่บางส่วนถูกปิดตายให้กลับมามีสภาพเดิม คือ เป็นช่องที่สามารถสัญจรได้ แต่กลับไม่สามารถใช้งานได้จริง เนื่องจากยังมีร้านค้านำแผงสินค้ามาวางขวางกั้นทำให้เส้นทางสัญจรหง่อคาขี่ไม่สามารถใช้งานได้ 

เปอรานากันหรือบาบ๋า จีนลูกผสมจากดินแดนโพ้นทะเล

เปอรานากัน สายเลือดลูผสมระหว่างมลายูและจีนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบมลายูและพื้นที่ชายฝั่งทะเลของเกาะชวาและเกาะสุมาตราในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 บ้างก็ถูกขนานนามว่า “จีนช่องแคบ” (Straits Chinese) หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า “บาบ๋า ย่าหยา” ที่เพี้ยนมาจาก “บาบา นนยา” (Baba-Nyonya) ในภาษามลายูและชวา และจากคำว่า “บาบาเหนียงเหร่อ” (Baba Niangre) ในภาษาจีน “บาบ๋า” เป็นคำภาษามลายูที่มีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย เป็นคำที่ให้เกียรติแก่ปู่ย่าตายาย ใช้เรียกชาวเปอรานากันที่เป็นผู้ชาย ส่วน “นนยา” เป็นคำภาษาชวาที่ยืมมาจาก “dona” ในภาษาดัซต์ หมายถึง หญิงที่แต่งงานแล้ว ทั้งนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “บาบ๋า” ว่า เป็นคำเรียกชายที่เป็นลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดในมลายูและอินโดนีเซีย ใช้คู่กับ “ย่าหยา” หมายถึง หญิงลูกครึ่งจีนมลายูที่เกิดในมลายูและอินโดนีเซีย

ในจังหวัดภูเก็ต จีนบาบ๋า (Baba Chinese) เป็นคําที่ใช้เรียกทั้งชายและหญิงที่เป็นกลุ่มลูกครึ่ง หรือผู้สืบเชื้อสายที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน กล่าวคือ พ่อเป็นจีนฮกเกี้ยน แม่เป็นหญิงไทยท้องถิ่น ส่วนในมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จะเรียกรวมกันว่า “ชาวจีนเปอรานากัน” (Peranakan Chinese) โดยเรียกผู้ชายว่า “บาบ๋า” เรียกผู้หญิงว่า “ย่าหยา” หรือ “ยอนย่า” (Nyonya) แต่ในประเทศไทยคําว่า “จีนบาบ๋า” จะใช้ในจังหวัดภูเก็ต และคนในจังหวัดภูเก็ตจะเข้าใจว่าคือกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ส่วนคําว่า “ย่าหยา” สําหรับคนภูเก็ตจะหมายถึง เสื้อที่ผู้หญิงชาวบาบ๋าสวมใส่ประเภทหนึ่ง

ธนวัฒน์ นาคะสรรค์. (2564). ความเป็นศูนย์กลางที่มีชีวิตของพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต. วิทยานิพนธ์ปริญญาการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางผังและออกแบบเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปรียชนัน สายสาคเรศ. (2547). อิทธิพลที่ส่งผลต่อสถาปัตยกรรมย่านเมืองเก่าภูเก็ต. กรุงเทพมหานคร : ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย.

มิวเซียมภูเก็ต Museum Phuket. (2562). หง่อคาขี่ มีไว้เพื่ออะไร? บทความนี้มีคำตอบ. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/museumphuket/

อติยศ สรรคบุรานุรักษ์ และศศิณัฏฐ์ สรรคบุรานุรักษ์. (2561). เปอรานากัน : บาบ๋า-ย่าหยามรดกทางวัฒนธรรมสายเลือดลูกผสมมลายู-จีน. Veridian E-Journal, Silpakorn University (ฉบับภาษาไทย) สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ. 11(3), 2740-2742.

อรพรรณ ฐานะศิริพงศ์. (2555). กระแสวัฒนธรรมจีนบาบ๋า ในบริบทการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: ศึกษาเฉพาะกรณี ถนนถลาง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต. วิทยานิพนธ์ปริญญามานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

BAANPUCK1. (2565). รีวิว พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว เรียนรู้วัฒนธรรมเมืองภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://baanpuck.com/

BKK.EAT. (2561). สัมผัสเสน่ห์ย่านเมืองเก่า เดินเล่นชมสถาปัตยกรรมสุดคลาสสิกในเมืองภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.bkkmenu.com/

Clubmed. (ม.ป.ป.). 9 จุดเช็คอิน เมืองเก่าภูเก็ต เดินชิลล์ชมตึกคลาสสิค. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.clubmed.co.th/

Thailandtourismdirectory. (ม.ป.ป.). บ้านชินประชา. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thailandtourismdirectory.go.th/

Travelxpress. (ม.ป.ป.). ย่านเมืองเก่าภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://travelxpress.co.th/

Wonderfulpackage. (ม.ป.ป.). เที่ยวภูเก็ต พาชมเมืองเก่าสไตล์ชิโนโปรตุกีส. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.wonderfulpackage.com/