มีประวัติศาสตร์อันโดดเด่นที่เกี่ยวข้องก้บพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในอดีต ซึ่งปัจจุบันชุมชนได้ดึงเอาจุดเด่นทางประวัติศาสตร์ ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติที่มี มาพัฒนาจนกลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดยะลา
เดิมชุมชนแห่งนี้มีชื่อว่า รัตนกิตติ 2 แต่ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10
มีประวัติศาสตร์อันโดดเด่นที่เกี่ยวข้องก้บพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในอดีต ซึ่งปัจจุบันชุมชนได้ดึงเอาจุดเด่นทางประวัติศาสตร์ ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติที่มี มาพัฒนาจนกลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดยะลา
การเกิดขึ้นของชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 หรือ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 มาจากประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา กล่าวคือ หลังการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ.2473 ที่มีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม พรรคคอมมิวนิสต์ดังกล่าวได้เคลื่อนไหวภายในประเทศมาเลเซียอยู่อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ตลอดการเคลื่อนไหวก็ถูกปราบปรามอยู่ตลอดจากภาครัฐและเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ จนหลังการประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลสหพันธรัฐมาลายาภายใต้อังกฤษ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2491 ฝ่ายรัฐบาลได้กวาดล้างปราบปราม จับกุมคอมมิวนิสต์มาลายาอย่างจริงจังและรุนแรง มีการใช้วิธีต่าง ๆ และแผนต่าง ๆ เข้าทำลายพรรคคอมมิวมาลายา จนในที่สุดทำให้กองทัพพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มอ่อนแอลงและเหลือประชากรอยู่เพียงประมาณ 800-2,000 คน ประชากรเหล่านี้ได้พยายามต่อสู้และถอยร่นเข้ามาอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย ซึ่งรวมถึงบริเวณพื้นที่ชุมชนจุฬาภรณ์ 10 ด้วย
ในระยะแรก เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ประชาชนพรรคคอมมิวนิสต์เหล่านี้ได้หลบซ่อนและฝังตัวตามบริเวณแนวพรมแดนไทย รวมถึงมาหาเสบียงอาหาร ข้าวของและอุปกรณ์สำหรับการต่อสู้ มิได้มีภัยคุกคามกับฝ่ายไทย จึงยังไม่ได้มาตรการจัดการใด ๆ แต่ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เหล่านี้ได้พยายามแทรกซึมลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปในหมู่บ้านสวนยางด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ มีการโจมตีรัฐบาลไทยและทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยที่เข้าขัดขวาง การที่พรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเริ่มเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของกับไทย จึงทำให้ประเทศไทยมีการทำความตกลงร่วมมือกับสหพันธรัฐมาเลเซียเพื่อจัดตั้งกำลังเข้าปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์เหล่านี้ และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 40 ปี หลังการดำเนินนโยบาย 66/23 หรือ การใช้การเมืองนำการทหาร จนสามารถเริ่มยึดกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาได้หลายพื้นที่
ต่อมากองกำลังผสมเฉพาะกิจฝ่ายไทยจึงได้ดำเนินนโยบายพยายามเจรจาในทางลับโน้มน้าวฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้เพื่อยุติปัญหาต่าง ๆ โดยฝ่ายไทยมีข้อเสนอให้พรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งการเจรจานี้เริ่มเห็นความสำเร็จมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ฝ่ายไทยได้เจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาอย่างต่อเนื่องจากระดับเล็กไปจนถึงการเจรจาระดับผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ระดับสูง จึงได้ข้อตกลงกันว่าจะเจรจาหาทางยุติร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ไทย มาเลเซีย และฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยใช้วิธี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการเสนอหลักการและเงื่อนไข ขั้นตอนการตกลงในหลักการ ขั้นตอนการกำหนดรายละเอียดในการปฎิบัติ และขั้นตอนการลงนาม โดยการปฎิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้ใช้การเจรจาทั้งหมด 5 ครั้ง จนในรอบสุดท้ายคือรอบที่ 5 ทุกปัญหาของทุกฝ่ายจึงสามารถยุติลง สามารถหาข้อตกลงกันได้ จึงนำไปสู่การลงนามเพื่อยุติสถานการณ์การต่อสู้ด้วยอาวุธของคอมมิวนีสต์มาลายา ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2532 โดยมีจีนเป็ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นผู้ลงนามฝ่ายคอมมิวนิสต์ มี ดาโต๊ะ ฮาจี วันซีเดท ปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเลเซียเป็นผู้ลงนามฝ่ายมาเลเซีย และ มี พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการทั่วไปและรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ฝ่ายไทย ในฐานะพยาน จากการลงนามที่เกิดขึ้นนี้ได้นำไปสู่การยุติบทบาทการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาอย่างเป็นทางการ มีการปลดอาวุธตามข้อตกลงรวมถึงชาวมาลายาที่หลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ด้วย
หลังการเจรจาและการลงนามยุติปัญหาต่าง ๆ ส่งผลให้ชาวคอมมิวนิสต์ที่หลบซ่อนตามชายแดนประเทศไทยกลุ่มต่าง ๆ มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ได้แก่ กลับสู่ประเทศมาเลเซีย หรือเลือกเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย หากเลือกเป็นผู้พัฒนาชาติไทย รัฐบาลไทยได้ยื่นข้อเสนอจะให้สัญชาติไทยเมื่ออยู่ครบ 5 ปี และจะให้ที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย โดยที่ดินที่จะให้อยู่อาศัยนี้จะเป็นที่ดินจากแหล่งที่เคยเป็นฐานปฎิบัติหรือแหล่งกบดานเดิมในอดีตของพรรคคอมมิสนิสต์มาลายาก่อนปลดอาวุธ ซึ่งทางไทยได้เปลี่ยนแหล่งการเคลื่อนไหวหรือฐานปฎิบัติการของคอมมิวนิสต์ให้กลายเป็นหมู่บ้านที่ชาวคอมมิวนิสต์สามารถอยู่อาศัยได้อย่างถูกกฎหมายขึ้นมารองรับการเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนเหล่านี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือพื้นที่ของหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 จนได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านในนาม “หมู่บ้านรัตนกิตติ 2” ซึ่งชาวคอมมิวนิสต์มาลายาเดิมที่อยู่อาศัยในที่แห่งนี้ส่วนมากก็ล้วนเลือกอยู่อาศัยต่อเพื่อเป็นผู้พัฒนาชาติไทยมากกว่ากลับไปประเทศเดิมของตน
ต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำโครงการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนาราธิวาส เพื่อให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่แนวชายแดน จึงโปรดให้รับหมู่บ้านรัตนกิตติ 2 แห่งนี้พร้อมกับหมู่บ้านอื่น ๆ แถบชายแดนที่เคยเป็นแหล่งปฎิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์เข้าร่วมโครงการ โดยเมื่อหมู่รัตนกิตติ 2 พร้อมหมู่บ้านอื่น ๆ เข้าร่วมโครงการแล้ว ก็ได้มีการพระราชทานเปลี่ยนชื่อใหม่ให้มีคำว่า "จุฬาภรณ์พัฒนา" อยู่ในชื่อหมู่บ้านแทนชื่อเดิม เพื่อแสดงออกถึงการเข้าร่วมโครงการพัฒนาของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งหมู่บ้านรัตนกิตติ 2 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น หมู่บ้าน "จุฬาภรณ์พัฒนา 10" ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2536 กล่าวได้ว่าจุดนี้ถือเป็นการก่อตั้งชุมชนแห่งนี้อย่างเป็นทางการอีกด้วย
หลังการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ ได้มีการจัดให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของหมู่ที่ 8 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2547 ด้วยหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 เป็นหมู่บ้านใหญ่ที่มีจำนวนคนพอเป็นหมู่บ้านหนึ่งได้ ทางภาครัฐจึงได้แยกตัวชุมชนแห่งนี้ออกมาจากหมู่ที่ 8 และได้ตั้งใหม่เป็นหมู่ที่ 10 ของตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 เป็นชุมชนที่ครอบคลุมพื้นที่ของหมู่ที่ 10 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตัวชุมชนแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 10,770 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเบตงไปประมาณ 25 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวงไปประมาณ 11 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 8 ตำบลอัยเยอร์เวง จังหวัดยะลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ พรมแดนประเทศมาเลเซียและตำบลยะรม จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สวนป่าพระนามาภิไธยส่วนที่ 2
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองมูบอ
สภาพภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนจุฬาภรณ์ 10 ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นภูเขาสลับกับที่ราบสูงเนินเขาและลุ่มน้ำ อันสูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1,900 ฟุต ทั้งนี้โดยรอบชุมชนแห่งนี้มักเป็นภูเขาและป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์โอบล้อมรอบชุมชน
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของชุมชนนี้เนื่องด้วยตัวของชุมชนอยู่ท่ามกลางภูเขาและธรรมชาติทำให้ที่ชุมชนแห่งนี้มีสภาพอากาศเย็นตลอดทั้งปี
การเดินทางเข้าสู่ชุมชน
การเดินทางเข้าสู่ชุมชนแห่งนี้สามารถเดินทางได้หลายเส้นทางดังนี้
เส้นทางที่ 1 จากอำเภอเมืองจังหวัดยะลา สามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 410 ตรงมาถึงอำเภอเบตง เมื่อถึงอำเภอเบตงให้ใช้เส้นทางหมายเลข 4062 และตรงมาเรื่อยๆประมาณ 25 กิโลเมตรก็จะถึงชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10
เส้นทางที่ 2 เส้นทางนี้ผ่านประเทศมาเลเซียเหมาะกับผู้ต้องการย่นระยะทางเดินทาง โดยเริ่มจากผ่านด่านชายแดนสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ออกสู่รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย จากนั้นเข้าสู่ด่านชายแดนเบตง เมื่อถึงเบตงแล้วให้ใช้ถนนหมายเลข 4062 ตรงมาเรื่อยๆประมาณ 25 กิโลเมตรก็จะถึงชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10
เส้นทางที่ 3 เส้นทางนี้ผ่านประเทศมาเลเซียเช่นกันกับเส้นทางที่ 2 แต่คราวนี้เริ่มจากด่านชายแดนประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ออกสู่รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย จากนั้นเข้าสู่ด่านชายแดนเบตง เมื่อถึงเบตงแล้วให้ใช้ถนนหมายเลข 4062 ตรงมาเรื่อยๆประมาณ 25 กิโลเมตรก็จะถึงชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10
ประชากรในชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 พบว่ามีจำนวนรวมทั้งหมด 195 คน แบ่งเป็น ชาย 89 คน หญิง 106 คน และมีจำนวนครัวเรือน 109 ครัวเรือน ประชากรในชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่นับถือศาสนาพุทธ โดยสาเหตุที่ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่มีคนเชื้อสายจีนนั้น พบว่าเนื่องจากเป็นลูกหลานของกลุ่มคอมมิวนิสต์มาลายาที่อพยพเข้ามาในอดีต ซึ่งจะพบว่าคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ต่อมาเมื่อมีลูกหลานในประเทศไทยลูกหลานเหล่านี้จึงกลายเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนนั่นเอง
การประกอบอาชีพ
ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้แต่ละครอบครัวมีการประกอบอาชีพหลัก อันได้แก่
- การประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกรวมประมาณ 1,245 ไร่
- การประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ตามฤดูกาล เช่น สวนทุเรียน สวนมังคุด สวนลองกอง สวนเงาะ
- การประกอบอาชีพทำสวนผักตามฤดูกาล เช่น ผักกวางตุ้ง ผักน้ำ ผักขม ผักบุ้ง ผักหวาน มะเขือเทศ พริก
- การประกอบอาชีพทำปศุศัตว์ เช่น เลี้ยงไก่เก้าชั่ง เลี้ยงไก่เบตง เลี้ยงปลาจีน เลี้ยงปลานิล เลี้ยงปลาดุก
- การประกอบอาชีพรับจ้าง เช่น รับจ้างเป็นไกด์นำเที่ยว รับจ้างตัดยาง รับจ้างถางหญ้า
- การประกอบอาชีพอื่นๆนอกหมู่บ้าน เช่น การเป็นพนักงานบริษัทเอกชน การทำงานราชการ เป็นต้น
วิถีชีวิต
ชาวบ้านในชุมชนจุฬาภรณ์ 10 หลังการเข้าเป็นผู้พัฒนาชาติไทยพบว่ามีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างเหมือนกลุ่มชาวจีนทั่วไป หรือเหมือนกลุ่มชาวบ้านอื่นในพื้นที่ละแวกนี้ โดยในวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจชาวบ้านมีการประกอบอาชีพ ทำสวน กรีดยาง รับจ้าง หรือประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่สามารถทำให้พื้นที่ได้ ส่วนวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมพบว่าด้วยคนเหล่านี้เป็นชาวจีนและเป็นชาวพุทธ ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาพุทธหรือวันสำคัญตามประเพณีจีน คนเหล่านี้ก็จะเข้าร่วมหรือมีกิจกรรมเสมอ เช่น การทำบุญไหว้พระในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ การทำกิจกรรมหลุมศพในวันเช็งเม้ง การทำกิจกรรมในวันไหว้พระจันทร์ในวันไหว้พระจันทร์ การไหว้เจ้าที่ศาลเจ้าในวันไหว้เจ้า เป็นต้น ซึ่งรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ในวันสำคัญต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้พบว่าชาวบ้านในชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ต่างปฎิบัติไม่แตกต่างจากชาวบ้านกลุ่มอื่นหรือชาวจีนกลุ่มอื่นเลย
ทุนทางวัฒนธรรม
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 เป็นพิพิธภัณฑ์สำคัญของชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้าน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีพ.ศ.2551-2552 การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บรวบรวมวัสดุสิ่งของที่พรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่เคยใช้ในอดีต โดยภายในตัวอาคารได้มีการจัดแสดงรูปภาพ อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องใช้ เครื่องดนตรี อุปกรณ์ต่างๆ ของชาวพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา นอกจากนี้ยังรวบรวมประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งกองทัพประชาชนมาลายา ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้ในด้านการใช้ชีวิตและแนวคิดอุดมการณ์ของพรรคในอดีตอีกด้วย โดยในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นศูนย์เรียนรู้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านนั่นเอง
อนุสรณ์วีรชน หรือ อนุสาวรีย์วีรชน ตั้งอยู่ในบริเวณบนเนินเขาสูงสุดประจำหมู่บ้าน สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรบุรุษเหล่านักรบพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่ยืนหยัดในการต่อสู้การคุกคามของชาติล่าอาณานิคมในประเทศมาลายาซึ่งพวกเขาได้ใช้เลือดเนื้อเพื่อแลกกับความเป็นเอกราชและความสงบสุขให้แก่ประเทศชาติ อนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพรรคมาลาที่หนึ่งในชุมชนและยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนต่างๆมาเยี่ยมชมรำลึกถึงเหล่าผู้กล้าในอดีตด้วย โดยคนที่มามักจะมาแสดงความเคารพนับถือพร้อมกับวางดอกไม้และยืนสงบนิ่งหน้าอนุสรณ์สถานแห่งนี้
ค่ายจำลอง ตั้งอยู่ในบริเวณทางเข้าไปชมต้นไม้ใหญ่ โดยสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่จำลองวิถีชีวิตสภาพความเป็นอยู่ในอดีตของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ซึ่งภายในค่ายจำลองแห่งนี้จะมีการจำลองศาลาการประชุม อาคารบัญชาการ ห้องพักหรือบ้านพักของทหาร ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องวิวาห์ บ่อทำลายอาวุธ เป็นต้น ในปัจจุบันค่ายจำลองถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในการศึกษาประวัติศาตร์ชุมชนและประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ดังนั้นจุดนี้จึงมักพบเห็นนักท่องเที่ยวพร้อมไกด์ท้องถิ่นเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้กันอยู่เสมอ
ทุนทางกายภาพ
ป่าบาลา-ฮาลา จะพบว่าชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ตั้งอยู่ในผืนป่าบาลา-ฮาลา ซึ่งป่าบาลา-ฮาลาพบว่ามีพื้นที่แบ่งการครอบคลุมออกเป็น 2 เขต คือ ป่าบาลาครอบคลุมพื้นที่อำเภอแว้งและอำเภอสุคิรินของจังหวัดนราธิวาส ส่วนป่าฮาลามีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลาและอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส โดยหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 อยู่ในส่วนป่าฮาลานี้ ทั้งนี้ป่าบาลา-ฮาลาจะพบว่าเป็นผืนป่าดงดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายในระบบนิเวศอย่างมาก โดยป่าบาลา-ฮาลามีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืชและสัตว์จำนวนมาก ซึ่งพันธุ์พืชที่พบที่ป่าบาลา ฮาลา เช่น กระบาก สยาแดง สยาขาว สยาเหลือง ไผ่เขียว ตะเคียนชันตาแมว หยี ทองบึ้ง หลุมพอ กระบก กฤษณา หลาว ชะโอน จากเขา กะพ้อสี่สิบ ขิง ข่าป่า กระชายป่า ดาหลา เฟิร์น ว่าน กล้วยไม้ หม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นต้น ส่วนพันธุ์สัตว์ที่พบในป่าบาลา-ฮาลา เช่น ช้างป่า กระทิง กระซู่ สมเสร็จ เสือคร่ง นกเงือกหัวแรก นกชนหิน นกกางเขนดง เป็นต้น ซึ่งนอกจากป่าแห่งนี้จะมีฐานะเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืชและพันธ์สัตว์แล้วยังมีฐานะเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญ 3 สาย คือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำโกลก อันเป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยการที่ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 มีป่าบาลา-ฮาลานี้ล้อมรอบชุมชนได้ทำให้ชุมชนแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติ และไม่ประสบกับความแห้งแล้งตลอดทั้งปี อีกทั้งในอดีตชาวบ้านยังสามารถใช้ผืนป่าหาอาหารต่างๆได้ด้วย อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดของป่าแห่งนี้ที่นำประโยชน์มาให้ชาวบ้านในชุมชนก็คือ ทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ อันนำมาสู่การที่ชาวบ้านในชุมชนสามารถหารายได้จากป่าแห่งนี้ได้ โดยจะพบนักท่องเที่ยวหลายคนต้องการเข้ามาชุมชนแห่งนี้เพื่อศึกษา ท่องเที่ยวป่าบาลา-ฮาลาจำนวนมาก ซึ่งการที่นักท่องเที่ยวจะเข้าป่าแห่งนี้ได้ก็จะต้องมีไกด์ท้องถิ่นนำเข้าชม จุดนี้นำมาสู่การที่ชาวบ้านผู้คุ้นเคยกับป่าผันตัวประกอบอาชีพเป็นไกด์ท้องถิ่น นอกจากนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาชื่นชมธรรมชาติก็ต้องการที่พักผ่อนเมื่อเดินทางเข้ามาเที่ยว จุดนี้ก็นำมาสู่รายได้จากการเปิดบ้านพักรีสอร์ทในชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ยังไม่รวมธุรกิจร้านอาหารหรืออื่นๆที่อิงอาศัยกับการท่องเที่ยว กล่าวได้ว่าการประกอบธุรกิจหรือการประกอบอาชีพทางการท่องเที่ยวล้วนอาศัยประโยชน์ในการมีอยู่ของป่าแห่งนี้ทั้งนั้น ดั้งนั้นหากชุมชนแห่งนี้ไม่ได้อยู่ในป่าบาลา-ฮาลาหรือไม่ได้มีป่าบาลา-ฮาลาล้อมรอบ ผลประโยชน์หลายๆอย่างที่ชาวบ้านได้รับจากการท่องเที่ยวก็หายไปด้วยเช่นกัน จุดนี้ส่งผลต่อการท่องเที่ยวในชุมชนที่อาจจะไม่ได้เฟื่องฟูดังเช่นในปัจจุบันด้วยนั่นเอง
ต้นไม้ใหญ่ (ต้นสมพงษ์) ต้นไม้นี้อยู่ในป่าบาลา-ฮาลาห่างกับชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร โดยต้นไม้ต้นนี้มีจุดเด่นคือเป็นต้นไม้เก่าแก่ที่มีอายุเป็นพันกว่าปีและเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งพบว่ามีขนาดมากกว่า 30 คนโอบ ลำต้นมีฐานกว้างราว 120 ตารางเมตร ความใหญ่ของต้นไม้ต้นนี้ได้ทำให้ถูกเปรียบไว้ว่าเป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย ทั้งนี้ในปัจจุบันจะพบว่านักท่องเที่ยวนอกจากจะเข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในชุมชนแห่งนี้แล้วก็มักจะต้องการเข้ามาเยี่ยมชมต้นไม้ต้นนี้อยู่เสมอ จนกล่าวได้ว่าต้นไม้ต้นนี้ถือเป็นอันซีนของชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนแห่งนี้อีกด้วยนั่นเอง
ชาวบ้านในชุมชนยังคงสามารถสื่อสารภาษาจีนและอ่านเขียนภาษาจีนได้ เนื่องจากบรรพบุรุษชาวจีนในชุมชนได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมภาษาจีนแก่ลูกหลานไว้เป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันลูกหลานในชุมชนแห่งนี้จึงยังพูด อ่านและเขียนภาษาจีนได้ นอกจากนี้การที่ชุมชนอยู่ห่างไกลจากพื้นที่อื่นที่ใช้ภาษาไทย ก็ช่วยเป็นเกราะป้องกันให้สามารถรักษาภาษาของตนไว้ได้ แม้ชาวบ้านจะติดต่อกับคนภายนอกด้วยภาษากลางบ้างหรือได้รับการศึกษาผ่านภาษาไทยกลางก็ตาม แต่ด้วยชุมชนอยู่ห่างไกล ผลกระทบของภาษาอื่นที่จะแทรกซึมเข้ามาจึงมีน้อย จนทำให้ยังคงดำรงวัฒนธรรมทางภาษาของชาติพันธุ์ตนไว้ได้นั่นเอง
กรมการพัฒนาชุมชน. (ม.ป.ป.). ทัวร์วิถี หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2566, จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/community/content/77/.
ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2566, จาก https://www.takemetour.com/local-community/ community/ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา10.
ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์และคณะ. (2546). การศึกษายุทธศาสตร์การจัดการสังคมสมบูรณ์แบบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส). (รายงานการวิจัย). ปัตตานี: โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
ทรูไอดี. (2565). โอบกอดต้นไม้ยักษ์ หลงรักป่า “ฮาลา-บาลา” เส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดยะลา “ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10” (2 วัน 1 คืน). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/detail/W9BM5mLAx46R.
ไปด้วยกัน. (2565). หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 เบตง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2566, จาก https://www.paiduaykan.com/travel/หมู่บ้านจุฬาภรณ์10.
เยือนเบตง ดินแดนท่ามกลางหุบเขา ที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10. (2565). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2566, จาก https://www.pptvhd36.com/travel/thailand/180751.
วีรภรณ์ โตคีรี. (2557). การพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน: กรณีศึกษาหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา. ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
ชลธิชา สุรัตนสัญญาและคณะ. (2565). มาตรการทางกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวภายใต้สถานการณ์ โควิด-19 กรณีศึกษาในเขตตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา. (รายงานการวิจัย). ยะลา: มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา.
สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี. (2565). เยือนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10: รำลึกประวัติศาสตร์ กลับคืนสู่ธรรมชาติ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2566, จาก http://www.psu10725.net/index.php/ข่าวสาร/117-ข่าวประชาสัมพันธ์/642-180265.
สถาบันพระปกเกล้า. (2565). โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2566, จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา.
หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/3735.
โอเคเบตง. (ม.ป.ป.). ต้นไม้ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ต้นสมพง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2566, จากhttps://www.โอเคเบตง.com /15639564/ต้นไม้ใหญ่ที่สุดในภาคใต้.