Advance search

บ้านคลิตี้ล่าง

บ้านคลิตี้ล่าง เป็นหมู่บ้านที่มีการปฏิบัติสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่อง แม้ตกอยู่ภายใต้สภาวะปัญหาปนเปื้อนของลำห้วยคลิตี้ อันเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวคลิตี้ล่างไป

คลิตี้ล่าง
ชะแล
ทองผาภูมิ
กาญจนบุรี
วิไลวรรณ เดชดอนบม
27 มี.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
27 มี.ค. 2023
บ้านคลิตี้ล่าง

“คลิตี้ล่าง” เพี้ยนมาจากคำว่า “คี่ถี่ทา” แปลว่า เสือตัวเดียว หรือเสือโทน ในอดีตพื้นที่แถบนี้มีเสือทนใหญ่ตัวหนึ่งซึ่งมีความดุร้ายมาก หากเอ่ยชื่อจะปรากฏตัวออกมาให้เห็นทันที ชาวบ้านจึงถือเคล็ดว่าไม่ควรพูดคำว่าคี่ถี่ เพราะเสือจะดุ แต่ให้พูดคำว่าคี่ตี่หรือหม่องบือ (แปลว่า น้องคนเล็ก) จะทำให้เสือดุน้อยลง จึงต้องเลี่ยงการเรียกชื่อจาก คี่ถี่ เป็น คี่ตี่ และเพี้ยนกลายมาเป็น คลิตี้ ซึ่งเป็นชื่อเรียกหมู่บ้านในปัจจุบัน


บ้านคลิตี้ล่าง เป็นหมู่บ้านที่มีการปฏิบัติสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่อง แม้ตกอยู่ภายใต้สภาวะปัญหาปนเปื้อนของลำห้วยคลิตี้ อันเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวคลิตี้ล่างไป

คลิตี้ล่าง
ชะแล
ทองผาภูมิ
กาญจนบุรี
71180
หน่วยพัฒนาชาวเขาบ้านคลิตี้ล่าง โทร. 08-6180-2647, อบต.ชะแล โทร. 0-3451-0770
14.877668
98.950707
องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล

“กะเหรี่ยง” หรือ “ปกาเกอะญอ” คือ กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัดในประเทศไทย คือ ภาคตะวันตก 7 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี และภาคเหนือ 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย ตาก แพร่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และเชียงราย โดยพื้นที่ที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดจะอยู่บริเวณพื้นที่ป่าเขาทางทิศตะวันตกติดพรมแดนไทย-พม่า

บ้านคลิตี้ล่าง ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหนึ่งหมู่บ้านที่ปรากฏเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าก่อนการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านคลิตี้ล่าง ชาวกะเหรี่ยงได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณผืนป่าตะวันตกของไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี แล้วย้ายที่อยู่อาศัยเรื่อยไป โดยพิจารณาพื้นที่อยู่อาศัยจากแหล่งน้ำ ลำห้วย และสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่เหมาะกับการทำไร่หมุนเวียน โดยจะตั้งบ้านเป็นกลุ่มย่อยรวมกับญาติพี่น้องประมาณ 4-5 ครัวเรือน แต่เมื่ออาศัยอยู่ได้ประมาณ 2-3 ปี ก็จะย้ายที่ทำกินใหม่ เนื่องจากการทำไร่ซ้ำในพื้นที่เดิมติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีจะทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ดินจะมีปุ๋ยและแร่ธาตุน้อยลง หญ้าคาขึ้นหนาทำให้ข้าวไม่งาม อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องย้ายที่อยู่อาศัยบ่อยครั้ง คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการดื่มกินในช่วงหน้าแล้ง พื้นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างเคยอาศัยอยู่ เช่น ไร่ซูร่ง เขมิงกอง หนองกรื๋อ ชะลองค้า เดกะ เรียวออก่า ทิหน่วย องข่า โฮ่โปล่ คองหละหรือกองหล้า องเร่อ คี่ถี่คี-คี่ถี่ทา (คลิตี้บน-คลิตี้ล่าง) ภายหลังย้ายที่อยู่อาศัยไปมาหลายครั้งในแถบป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าลำคลองงูมาหลายร้อยปี กระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2440 ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในพื้นที่บริเวณลำห้วยคลิตี้ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ ครอบครัวกะเหรี่ยงบางส่วนก็เริ่มอพยพโยกย้ายเข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างในปัจจุบัน 

ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง มีอาณาเขตอยู่ในหมู่ 3 ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ และหมู่ 4 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูน ป่าดิบแล้งสลับป่าเบญจพรรณ พื้นที่ป่าโดยรอบถูกแผ้วถางเพื่อบุกเบิกเป็นพื้นที่สำหรับทำไร่หมุนเวียน สภาพอากาศค่อนข้างหนาวเย็นตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ย 22.9 องศาเซลเซียส ภายในหมู่บ้านมีสถานที่สำคัญ คือ สำนักสงฆ์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา และศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหลวงประกอบนิติสารและท่านผู้หญิงถวิล (คลิตี้ล่าง)

ประชากร

บ้านคลิตี้ล่าง ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานยาวนานกว่า 100 ปี ปัจจุบันมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 400 คน 145 ครัวเรือน

ระบบเครือญาติ

ลักษณะครอบครัวของชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง เป็นครอบครัวขยายแบบชั่วคราว ลูกสาวที่แต่งงานแล้วจะยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่เมื่อน้องสาวแต่งงาน ลูกสาวคนที่แต่งงานก่อนต้องย้ายครอบครัวไปอยู่ต่างหาก จะไปสร้างบ้านของตนเอง หรือย้ายไปอยู่บ้านฝ่ายชายแล้วแต่ความสะดวก ครอบครัวชาวคลิตี้ล่างส่วนใหญ่เป็นระบบความสัมพันธ์ที่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมีความเท่าเทียมกัน และค่อนข้างให้ความสำคัญกับผู้หญิงเรื่องประเพณีในครัวเรือน เพราะผู้หญิงจะเป็นผู้ทำหน้าที่สืบทอด และเป็นผู้นำในการไหว้พระ-ผีในบ้าน ซึ่งอำนาจของชายหญิงชาวคลิตี้ล่างจะขึ้นอยู่กับบทบาททางวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายมีอำนาจตัดสินใจในส่วนบทบาทและประสบการณ์ที่ตนเองมี แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกครอบครัวที่จะให้อำนาจความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง เพราะแม้ว่าความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม จะมีส่วนในการกำหนดวิถีการดำรงชีวิต ทว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของสมาชิกในครอบครัวนั้น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

ปกาเกอะญอ

เศรษฐกิจ

ชาวบ้านคลิตี้ล่างยังคงมีอาชีพหลักคือการทำไร่หมุนเวียน พืชที่สำคัญ คือ ข้าว แต่ปลูกไว้เพื่อบริโภคเท่านั้นไม่ได้นำออกไปจำหน่าย เมื่อถึงฤดูกาลทำไร่ข้าว ทุกครัวเรือนจะหยอดเมล็ดข้าวพร้อมเมล็ดผัก เช่น พริก แตงไทย แตงเปรี้ยว คะน้า กวางตุ้ง ผักชีกะเหรี่ยง ผักขี้โอ้ง ข้าวโพด ฯลฯ โดยข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ชาวบ้านนิยมปลูกเพื่อนำไปจำหน่ายและสร้างรายได้หลักให้กับชาวคลิตี้ล่าง นอกจากนี้ พริก และผักต่าง ๆ ที่ปลูกในไร่ข้าว รวมถึงสัตว์เลี้ยง เช่น วัว และไก่ ที่ชาวบ้านจะนำออกไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการหาของป่า และล่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหาร แต่จะไม่นำออกไปขายเพราะเป็นข้อห้ามของหมู่บ้าน เมื่อว่างเว้นจากงานไร่สวนของตนเอง ชาวบ้านจะออกไปรับจ้างทั่วไป เช่น หยอดเมล็ดข้าวโพด เก็บพริก หักข้าวโพด แบกข้าวโพด โดยการรับจ้างจะรับทั้งงานที่อยู่ในหมู่บ้าน และต่างหมู่บ้าน   

สำหรับการผลผลิตในไร่ ทั้งข้าวโพด พริก หรือพืชผักอื่น ๆ ที่ต้องการจำหน่าย จะมีพ่อค้าจากบ้านทิพุเย และบ้านห้วยเสือ อำเภอทองผาภูมิมารับซื้อถึงในหมู่บ้าน อีกทั้งยังนำอาหารสด เช่น หมู ไก่ ไส้กรอก เข้ามาจำหน่ายให้กับคนในหมู่บ้านอีกด้วย   

องค์กรชุมชน

ชุมชนบ้านคลิตี้ล่างได้มีการรวมตัวกันตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน มีหน้าที่คอยสอดส่องดูแลความสงบของหมู่บ้าน ตลอดจนประสานงานกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน มีคณะกรรมการเงินกองทุนหมู่บ้านซึ่งเกิดจากการที่ชาวคลิตี้ล่างได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียเหมืองแร่คลิตี้ที่มีการเจือปนของสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำและจับสัตว์น้ำจากลำห้วยคลิตี้ได้ อีกทั้งยังมีชาวบ้านหลายรายที่ล้มป่วยจากการที่ร่างกายได้รับสารเจือปนดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย เจ้าของเหมืองแร่ได้มอบเงินจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพและเยียวยาค่ารักษาพยาบาลให้แก่ชาวคลิตี้ล่าง จากนั้นชาวบ้านได้ประชุมหารือวางกฎระเบียบในการบริหารจัดการเงิน ดังนี้

1. เป็นเงินทุนประกอบอาชีพ 500,000 บาท

2. เป็นเงินค่ารักษาพยาบาล ค่าพาหนะ และค่าอาหาร ในการเฝ้ารับผู้ป่วยแต่ละครั้ง จำนวน 500,000 บาท

สำหรับเงินทุนประกอบอาชีพที่ชาวบ้านกู้ยืมนั้น ส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในการประกอบอาชีพภาคการเกษตร เช่น ซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช รถแทรกเตอร์ ซื้อวัวมาเลี้ยง และซื้อรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

กฎระเบียบชุมชน

เมื่อปี พ.ศ. 2543 คณะกรรมการหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้มีการร่วมกันตั้งกฏบังคับข้อระเบียบการปฏิบัติของคนในชุมชน โดยสลักข้อบังคับเป็นลายลักษณ์อักษรที่สมาชิกทุกคนต้องปฏิบัติตาม หากมีการละเมิดข้อบังคับ คณะกรรมการหมู่บ้านและเหล่าผู้อาวุโส พร้อมทั้งสมาชิกในชุมชนจะร่วมกันพิจารณาตัดสินปัญหาและบทลงโทษร่วมกัน กฎระเบียบต่าง ๆ ของชุมชนกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง มีดังนี้

1. ทุกบ้านต้องส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมของหมู่บ้านอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

2. ห้ามขายที่ดินให้คนนอกพื้นที่เด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะยึดที่ดินผืนดังกล่าวเป็นที่สาธารณะประโยชน์

3. ห้ามตัดไม้ไปขาย

4. ห้ามล่าสัตว์เพื่อขาย สัตว์ที่ล่ามาต้องสำหรับบริโภคในหมู่บ้านเท่านั้น

5. ทุกวันพระใหญ่ ขึ้น 15 ค่ำ ทุกคนในหมู่บ้านต้องสวมชุดพื้นเมืองของชนเผ่า

6. ห้ามยิงปืนโดยไม่มีเหตุจำเป็น หากยิงปืนเล่น ปรับนัดละ 500 บาท

7. ห้ามเสพ และจำหน่ายสารเสพติดในหมู่บ้านโดยเด็ดขาด

8. ห้ามเล่นการพนันในหมู่บ้าน

9. บุคคลที่จะสร้างที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านต้องมีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด และมีฐานะเป็นเขยหรือสะใภ้เท่านั้น

10. หากใครจะย้ายออกจากหมู่บ้าน ต้องยกที่ดินให้คนในหมู่บ้านเท่านั้น  

11. ห้ามขายเหล้าและเล่นการพนันในวันพระ ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท 

ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างนับถือศาสนาพุทธ และยังคงมีความเชื่อเรื่องการไหว้ผีอยู่ด้วย มีวัฒนธรรมประเพณีทางศาสนาที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ทั้งที่เป็นประเพณีชีวิตและประเพณีในรอบปี เช่น ประเพณีแต่งงาน พิธีกินไก่ ปีใหม่กะเหรี่ยงซึ่งจะมีการสรงน้ำพระ และการไหว้เจดีย์ทราย พิธีค้ำโพธิ์ พิธีไหว้สะพาน และพิธีหล่ากะบ่องเดือน 10 (งานบุญเครื่องบิน) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับงานสารทเดือน 10 ของไทย ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าการทำบุญนี้ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว และทำบุญให้ตัวเองในชาติหน้า อีกทั้งยังเป็นการขอพรให้แก่เทวดาทั้งหลาย เจ้าพ่อ เจ้าป่าเจ้าเขา พระแม่ธรณี พระแม่คงคา โพ่ตะกุ๊ (เทวดาที่ดูแลน้ำ) รวมถึงพระแม่โพสพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้ได้รับผลบุญในครั้งนี้ แล้วช่วยดูแลคุ้มครองกันภัยให้แก่ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างตลอดไป

เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างมีรูปแบบการดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก ชาวคลิตี้ล่างจึงมีความเชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับการผลิตพืชผลทางการเกษตร โดยชาวคลิตี้ล่างเชื่อว่าในไร่ข้าวจะมีพี้บือโหย่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญมากต่อวิถีการผลิตของชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง เพราะเชื่อว่าพี้บือโหย่หรือยายข้าว เป็นผู้ที่มอบข้าวให้แก่ชาวกะเหรี่ยง นอกจากพี้บือโหย่แล้ว พระแม่ธรณีก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญต่อการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างเป็นอย่างมาก ก่อนการทำไร่ทุกครั้งจะต้องทำพิธีขอใช้ที่ดินจากพระแม่ธรณี เพื่อให้พระแม่ธรณีช่วยคุ้มครองพืชผลในไร่ ในช่วงระยะเวลาของการทำไร่ข้าวของชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง จะมีการประกอบพิธีกรรมสำคัญ 3 พิธีกรรม ดังนี้

  • พิธีปลูกข้าว 9 กอ และการผูกขวัญข้าว : ในช่วงก่อนหยอดเมล็ดข้าว จะมีการทำพิธีปลูกข้าว 9 กอ ซึ่งข้าวที่ได้นี้จะกลายเป็นแม่ข้าว (บือมู) จากนั้นในช่วงเดือน 9 จะมีการผูกขวัญข้าว โดยนำสายสิญจน์ และสร้อยทองมาผูกที่กอข้าว 9 กอ เชื่อว่าเป็นการเรียกขวัญข้าวให้กลับมา และจะทำให้ข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ ได้ข้าวพอกินตลอดทั้งปี

  • พิธีไล่นก : จะทำเมื่อทำพิธีหยอดข้าวเสร็จเรียบร้อย โดยเชื่อว่าจะทำให้บรรดานกและสัตว์ต่าง ๆ ไม่มากินข้าวที่หยอดลงไป เพราะจะให้นกและสัตว์ต่าง ๆ เหล่านั้นไปกินข้าวที่โปรยไว้ในพิธีไล่นกแทน

  • พิธีฟาดข้าว : เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเก็บเกี่ยว การฟาดข้าวจะทำในช่วงเวลากลางคืนเริ่มตั้งแต่ 1 ทุ่มเป็นต้นไป มีการร้องเพลงเกี้ยวระหว่างชายหญิง สร้างความสนุกสนานครื้นเครง ในช่วงของการฟาดข้าว จะมีการนำข้าวใหม่ไปหุงแล้วนำไปถวายพระแม่โพสพ และเกี่ยวข้าวที่เป็นแม่ข้าว (บือมู) 9 กอ มาแขวนบริเวณที่จะฟาดข้าว เชื่อว่าจะทำให้ได้ข้าวเยอะขึ้น 

ปฏิทินชุมชน

เดือน ประเพณี กิจกรรม : ไร่ข้าว,พริก กิจกรรม : ไร่ข้าวโพด กิจกรรม : ทำนา
มกราคม ปีใหม่สากล ฟันไร่ หวดหญ้า พักที่นา
กุมภาพันธ์ - ฟันไร่, เตรียมจุดไฟเผาไร่ หวดหญ้า, เตรียมจุดไฟเผาไร่ เตรียมหวดหญ้า
มีนาคม - เผาไร่ รื้อไร่ เผาไร่ รื้อไร่ หวดหญ้า
เมษายน สงกรานต์ (ปีใหม่กะเหรี่ยง) รื้อไร่ ดายหญ้า ไถไร่เตรียมพร้อมลงเมล็ดพันธุ์ ไถนา
พฤษภาคม -

เตรียมการเพาะปลูก ถ้าฝนตกสามารถเริ่มหยอดเมล็ดข้าว  พริก แตง ผักชี ฟักทอง และผักอื่น ๆ ได้

หากฝนตก สามารถขุดหลุมเตรียมหยอดเมล็ดข้าวโพดได้ หว่านเมล็ดข้าว
มิถุนายน -

หยอดเมล็ดพันธุ์ โดยการผสมเมล็ดพันธุ์ทุกอย่าง แล้วหยอดพร้อมกัน

ขั้นตอนนี้ต้องคอยระวังไม่ให้สัตว์มากิน หรือรบกวนเมล็ดพันธุ์

หยอดเมล็ดข้าวโพด ถอนกล้า, ดำนา
กรกฎาคม เข้าพรรษา ดูแลพืชผลในไร่ ดูแล ดายหญ้าในไร่ข้าวโพด ดำนา คอยสังเกตน้ำเข้าออกที่นา และดูแลต้นอ่อนข้าวไม่ให้ศัตรูพืชมารบกวน
สิงหาคม งานผูกข้อมือ เรียกขวัญเครือญาติ ดูแลพืชผลในไร่, ข้าวเริ่มตั้งท้องออกรวง ดายหญ้า คอยดูน้ำเข้าออกที่นา
กันยายน งานบุญเดือนสิบ ดูแลพืชผลในไร่, ข้าวเริ่มออกรวงเหลือง ระวังไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ มารบกวนผลผลิต คอยดูน้ำเข้าออกที่นา
ตุลาคม ออกพรรษา, ทอดกฐิน เกี่ยวข้าว เก็บพริก หักข้าวโพด เกี่ยวข้าว
พฤศจิกายน ลอยกระทง เกี่ยวข้าว ฟาดข้าว ตากพริกแห้ง หักข้าวโพด นวดข้าว
ธันวาคม - ฟาดข้าว, พักไร่, เตรียมหาพื้นที่ทำไร่ปีถัดไป สีข้าวโพดเตรียมขาย นวดข้าว, ขนข้าวขึ้นยุ้ง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียน

ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างมีภูมิปัญญาในการทำไร่หมุนเวียนว่า หากปลูกพืชในที่ดินผืนเดิมติดต่อกันทุกปี จะทำให้หญ้าขึ้นรก ดินเสื่อมคุณภาพ แต่หากปล่อยไว้ 4-5 ปี แล้วค่อยเวียนกลับมาทำใหม่ พื้นที่ส่วนนั้นจะกลายเป็นไร่ซาก หญ้าที่ขึ้นจะถูกต้นไม้ใหญ่คลุมจนตาย ทำให้ไม่ต้องลำบากเสียเวลาในการดายหญ้า เพียงแค่จุดไฟเผาไร่เพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้ดินก็เพียงพอ ชาวคลิตี้ล่างมีทรรศนะว่า การจุดไฟเผาไร่ไม่ได้ทำให้ต้นไม้ตาย และไม่ได้ทำให้ป่าเกิดความเสียหาย

การเลือกพื้นที่ทำไร่ของชาวคลิตี้ล่าง มีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนและสะท้อนถึงความเคารพที่ชาวบ้านมีต่อธรรมชาติ เพราะนอกจากจะพิจารณาลักษณะทางกายภาพของพื้นที่แล้ว ยังต้องทำพิธีขออนุญาตใช้พื้นที่จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ พระแม่ธรณี โดยชาวคลิตี้ล่างมีภูมิปัญญาซึ่งเป็นวิธีการในการเลือกที่ดินทำไร่ และวิธีการขอใช้ที่ดินจากพระแม่ธรณีหลายวิธีด้วยกัน ดังนี้

  • วิธีที่ 1 จะต้องเลือกวันดีในการไปหาพื้นที่ทำไร่ โดยดูจากตำราของคนกะเหรี่ยง

  • วิธีที่ 2 ถอดเสื้อแล้วนอนลงบนพื้นไร่ ที่ผ่านการกวาดทำความสะอาดมากพอที่จะนอนได้ หากไม่มีมดกัด หมายความว่าสามารถใช้ที่ดินในการทำไร่ได้ แต่หากมีมดกัด จะต้องย้ายไปหาที่ดินผืนใหม่

  • วิธีที่ 3 เอามีดมาหวดไร่ให้มีความกว้างประมาณ 1-3 เมตร ถ้าไม่มีเก้งและนกกะหร่างร้อง ก็สามารถทำไร่นี้ได้

  • วิธีที่ 4 ตัดไม้ไผ่ยาว 1 วา มาตีที่ดิน 3 ครั้ง แล้วนำไม้มาวัดขนาดความยาวอีกครั้ง หากไม้มีขนาดตามที่อธิษฐานไว้ ถือว่าพระแม่ธรณีอนุญาตให้ทำไร่ในที่ดินผืนนี้ได้

  • วิธีที่ 5 หากขณะถางป่าอยู่แล้วลิงลมมาปรากฏตัวให้เห็น จะต้องไปหาที่ดินทำไร่ใหม่

  • วิธีที่ 6 หากพื้นที่ทำไร่มีไม้ลักษณะคล้ายไม้ปิ้งปลา จะไม่สามารถทำไร่ได้ เพราะเชื่อว่าหากทำไร่ในที่ดินที่มีไม้ปิ้งปลา เสมือนว่าเจ้าของจะโดนปิ้งไปด้วย

  • วิธีที่ 7 หากกลับบ้านแล้วฝันไม่ดีจะต้องย้ายที่ดินทำไร่ใหม่

ภูมิปัญญาทางความเชื่อเหล่านี้ ยังถือเป็นข้อปฏิบัติที่ชาวคลิตี้ล่างยึดถืออย่างเคร่งครัด ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยง และเชื่อว่าหากผู้ใดฝ่าฝืนจะทำไร่ไม่ขึ้น ผลผลิตไม่งอกงาม ข้าวไม่พอกิน พบเจอแต่สิ่งไม่ดี และอาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงแก่ชีวิตได้ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภายหลังการก่อตั้งโรงแต่งแร่ ณ บ้านคลิตี้บน ช่วงปี พ.ศ. 2510-2541 ชาวคลิตี้ล่างต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสายน้ำลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวคลิตี้ล่าง ชาวคลิตี้ล่างพบว่าในลำห้วยจะมีโคลนดิน มีกลิ่นเหม็นฉุนสารเคมี น้ำมีสีคล้ำขุ่น เมื่อดื่มเข้าไปจะรู้สึกเวียนหัว เมื่ออาบหรือเล่นจะรู้สึกคันตามตัว ชาวบ้านต้องตกอยู่ในสภาวะความเจ็บป่วยผิดปกติอันมีสาเหตุมาจากหางแร่ตะกั่วปนเปื้อนจากโรงแต่งแร่ที่ปล่อยไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ในขณะนั้นชาวคลิตี้ล่างต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมไร้ทางเลือก เนื่องจากขณะนั้นประปาภูเขายังเข้าไม่ถึงพื้นที่ชุมชน นอกจากน้ำจากลำห้วยคลิตี้แล้ว ชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือกอื่นในการหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลำห้วยคลิตี้สร้างความสูญเสียที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทางสังคมตั้งแต่ระดับปัจเจก ครอบครัว และชุมชน ชาวบ้านพบว่าสัตว์น้ำในลำห้วยเริ่มมีลักษณะรูปร่างผิดปกติ จำนวนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวบ้านจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจับปลาใหม่ จากเดิมที่ใช้เพียงการตกเบ็ด ก็เปลี่ยนมาใช้การดำหาปลาแทน

ในส่วนของความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สัตว์เลี้ยงที่เป็นรายได้หลักเลี้ยงปากท้อง และอนาคตทางการศึกษาของลูกหลานชาวคลิตี้ล่างดังเช่นควายเริ่มเจ็บป่วยและล้มตายอย่างผิดปกติมากกว่า 300 ตัว ส่วนควายที่เหลือชาวบ้านต้องจำใจขายออกไปทั้งหมดเพราะไม่อาจเลี้ยงต่อได้ การสูญเสียนี้ชาวบ้านไม่ได้รับการชดเชยจากผู้ก่อมลพิษหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่อย่างใด นอกจากนี้ ปัญหาการปล่อยหางน้ำแร่ตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ยังส่งผลกระทบต่อประเพณีและวัฒนธรรมของชาวคลิตี้ล่าง ทุกปีจะมีการจัดประเพณีลอยกระทง แม้ว่าช่วงนั้นน้ำจะเหม็นเน่า แต่งานประเพณีดังกล่าวยังคงต้องจัดต่อไป โดยชาวบ้านจะรีบลอยแล้วรีบออกมา ในช่วงสงกรานต์ คนที่เล่นน้ำสงกรานต์หลายคนเกิดอาการผื่นคันตามตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวคลิตี้ล่างต้องพบกับความเสื่อมสภาพของลำห้วยคลิตี้ แต่งานประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เคยปฏิบัติสืบทอดยังคงต้องดำรงต่อไป มิฉะนั้นนอกจากชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่างต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมแล้ว อาจต้องประสบกับความสูญเสียทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชุมชนด้วยอย่างแน่นอน

อนึ่ง การปนเปื้อนของหางแร่ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อความสัมพันธ์ในชุมชนคลิตี้ล่างเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ. 2537-2544 ชาวบ้านในชุมชนเกิดความเครียดโดยไม่ทราบสาเหตุ คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้หญิงเกิดอาการทางจิตอย่างหนัก ซึ่งทำให้ระดับความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ตลอดจนความสัมพันธ์ระดับญาติพี่น้องระหว่างหมู่บ้านคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง ต้องกลายเป็นความบาดหมางถึงขนาดตัดญาติ เนื่องจากชาวคลิตี้บนบางคนที่ความสัมพันธ์เครือญาติกับชาวคลิตี้ล่าง ได้ไปทำงานอยู่ในโรงแต่งแร่ ภายหลังเหมืองแร่ปิดตัวลง ชาวคลิตี้บนได้กล่าวโทษว่าชาวคลิตี้ล่างเป็นคนค้านเหมือง เป็นตัวการที่ทำให้โรงแต่งแร่ต้องถูกปิด และพวกเขาต้องสูญเสียรายได้

ภายหลังปัญหาการปล่อยหางแร่ตะกั่วสู่ลำห้วยคลิตี้ได้รับการร้องเรียนและถูกตีแผ่สู่สาธารณะ ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาตรวจสอบ เป็นเหตุให้โรงแต่งแร่ถูกสั่งปิด และจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท ในปี พ.ศ. 2541 ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีบทบาทหลักในการดูแลรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ชาวคลิตี้ล่างได้รับรู้เรื่องโรคพิษตะกั่ว ค่าตะกั่วที่เกินมาตรฐานในแหล่งน้ำและอาหาร และแม้ว่าน้ำในลำห้วยคลิตี้จะเริ่มมีสีใสขึ้น รสชาติของน้ำเริ่มกลับมาเป็นปกติ กลิ่นไม่ค่อยเหม็น เว้นแต่ช่วงหน้าฝนที่ยังมีกลิ่นสารเคมีอยู่บ้าง แต่สารปนเปื้อนที่อยู่ในลำน้ำยังไม่อาจระงับได้ กระทั่งในปี พ.ศ. 2558 เพื่อเรียกร้องให้โรงแต่งแร่เยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และเกิดความเจ็บป่วยจากหางแร่ตะกั่ว ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างได้ทำการฟ้องร้องโรงแต่งแร่ และฟ้องร้องกรมควบคุมมลพิษที่ไม่สามารถเข้าระงับการปนเปื้อนของสารพิษได้อย่างทันที พวกเขาชนะคดีความในสองปีถัดมา โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษเยียวยา และทำการฟื้นฟูจนกว่าจะไม่พบคราบตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ สูงเกินกว่ามาตรฐาน

กรณีการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้กลายเป็นกรณีศึกษาที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการจัดการแก้ไขฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพดีขึ้น เรื่องแรกคือ กระทั่งปัจจุบันนี้ยังไม่มีความชัดเจนที่ทางโรงแต่งแร่จะออกมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่กรมควบคุมมลพิษใช้ในการดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูแหล่งน้ำไปแล้วอย่างไร ซึ่งรัฐทำได้เพียงแค่นำเงินที่มาจากภาษีประชาชนมารับผิดชอบต่อปัญหาที่ประชาชนไม่ได้ก่อ ซึ่งถ้าหากผลการดำเนินคดีนำไปสู่การบังคับให้ผู้ก่อมลพิษรับผิดชอบค่าใช้จ่าย สิ่งนี้คงจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับเมืองไทย สองคือเรื่องความเป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ จะเห็นได้ว่าโรงแต่งแร่คลิตี้ถูกอนุมัติจัดสร้างโดยกระทรวงอุตสาหกรรม แต่เมื่อเกิดปัญหาหน่วยงานที่ต้องมาฟื้นฟูเยียวยากลับเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผ่านกรมควบคุมมลพิษ) และกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องออกมาดูแลเรื่องสุขภาพ และรับผิดชอบปัญหาดังกล่าว เรื่องสุดท้ายคือเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จากกรณีการแก้ไขฟื้นฟูปัญหาหางแร่ตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ระยะแรก นอกจากการเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นของชาวบ้าน ก็ไม่ได้มีการนำชุดข้อมูลชุมชนมาร่วมคลี่คลายปัญหา ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างต้องจำยอมใช้ทรัพยากรน้ำปนเปื้อนเหล่านี้ดำรงชีพด้วยความจำเป็น เพราะนโยบายแก้ไขที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา จนถึงทุกวันนี้ ชุมชนยังคงรอด้วยความหวังที่จะเห็น “ลำห้วยคลิตี้” กลับมาคงสภาพที่ดีตามเดิม บนพื้นฐานการมีส่วนร่วม เพื่อรักษาสิทธิ์ความเป็นชุมชน ในการดูแลฟื้นฟูต่อไป (ภูริช วรรธโนรมณ์, 2564)


ปัจจุบันหมู่บ้านคลิตี้ล่างยังไม่มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา ทำให้เด็ก ๆ ต้องออกไปเรียนในโรงเรียนหมู่บ้านอื่น เช่น โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน โรงเรียนบ้านนองหลุ โรงเรียนนาสวน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พนมทวน และโรงเรียนบึงหัวแหวน ฯลฯ การที่เยาวชนชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่างต้องออกไปศึกษาต่างพื้นที่ ด้วยระยะทางที่ห่างไกล ผลที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเดินทาง และค่าที่พักอาศัยระหว่างภาคการศึกษา เด็กหญิงและเด็กชายชาวกะเหรี่ยงในวัย 4-5 ขวบ ต้องอยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ของพ่อแม่และลูก ลูกไม่ได้รับการขัดเขลามากพอจากสถาบันครอบครัว พ่อแม่ขาดแรงงานที่จะแบ่งเบาภาระครัวเรือน การเรียนรู้ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนสูญหาย ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนคลิตี้ล่างกำลังถูกตัดทอนวัฒนธรรมการเรียนรู้จากชุมชนที่อยู่อาศัยอันเป็นผลมาจากนโยบายการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การหลั่งไหลของแรงงานภาคชนบทสู่สังคมเมือง ความไม่มีสำนึกรักบ้านเกิด การไม่เกิดความคิดและความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพที่ภูมิลำเนา เหล่านี้เป็นประเด็นปัญหาที่ภาครัฐต้องนำไปทบทวน และตระหนักถึงปัญหา เพื่อเข้าถึงกระบวนการแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ชุมชนบ้านคลิตี้ล่างได้ โดยที่เยาวชนชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างไม่ต้องสูญเสียอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และยังคงรักษาความสัมพันธ์ ตลอดจนสำนึกรักในถิ่นฐานภูมิลำเนาของตนได้ 


ลำคลองงู
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566].

จีระวรรณ์ บรรเทาทุกข์. (2547). การรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพในมิติหญิง-ชาย : ศึกษากรณีหมู่บ้านกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.

ภูริช วรรธโนรมณ์. (2564). บทเรียนจากเหมืองแร่ : ความล้มเหลวของรัฐในการแก้ปัญหา ‘ลำห้วยคลิตี้’. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.seub.or.th/ [สืบค้นมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566].