Advance search

บ้านบางโรง

บ้านบางแป

ชุมชนชาวไทยมุสลิม อดีตศูนย์กลางการปกครองเมืองถลางบางโรง พื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอนุรักษ์ กระทั่งได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นจากการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือรางวัลกินรี ประจำปี 2553 และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย 

หมู่ที่ 3
บางโรง
ป่าคลอก
ถลาง
ภูเก็ต
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
17 ส.ค. 2023
บ้านบางโรง
บ้านบางแป


ชุมชนชนบท

ชุมชนชาวไทยมุสลิม อดีตศูนย์กลางการปกครองเมืองถลางบางโรง พื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอนุรักษ์ กระทั่งได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นจากการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือรางวัลกินรี ประจำปี 2553 และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย 

บางโรง
หมู่ที่ 3
ป่าคลอก
ถลาง
ภูเก็ต
83110
ชุมชนบางโรง โทร. 09-4714-8707
8.050851
98.41046
เทศบาลตำบลป่าคลอก

“บ้านบางโรง” ชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่งบนเกาะภูเก็ต ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองเมืองถลางบางโรงในอดีตเมื่อเกือบ 200 กว่าปีที่แล้ว โดยปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบบริเวณหมู่บ้านบางโรง เช่น เหรียญตราโบราณของต่างชาติ และท่าเรือ 3 แห่ง บริเวณกำแพงเมืองถลาบางโรง คือ ท่าเรือหลังกำแพง ท่าเรือท่าตลาดหรือท่าเรือต้นโด และท่าเรือหลังตึก ท่าเรือใหญ่ โดยท่าเรือตลาดและท่าเรือหลังตึกเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ มีน้ำลึกพอที่จะให้เรือใบเสากระโดง 3 หลัก จอดเทียบท่าขนถ่ายสินค้าได้ ส่วนท่าเรือหลังกำแพงนั้นเป็นท่าเรือขนาดเล็กสำหรับเรือใบขนาดเสากระโดง 1 หลัก เข้าเทียบท่า การปรากฏพบท่าเรือถึง 3 แห่ง บริเวณชุมชนแสดงให้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่ได้มีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างชาติมาเป็นเวลานานแล้ว และจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนและคนในพื้นที่สามารถอธิบายได้ว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านบางโรงนั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในพื้นที่แต่อพยพมาจากที่อื่น เช่น จังหวัดตรัง สตูล ปัตตานี รวมถึงประเทศมาเลเซีย เป็นต้น 

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านบางโรงตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของเกาะภูเก็ต ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวเล็ก ๆ ที่ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ บริเวณทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านมีอ่าวอยู่ 2 อ่าว คือ อ่าวท่ามะพร้าว และอ่าวกุ้ง และทางด้านทิศใต้เป็นพื้นที่ของคลองบางโรง

สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติโดยทั่วไปของบ้านบางโรงมีลักษณะเป็นป่าชายเลน พรรณไม้ที่พบ เช่น โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata) โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata) ลำพู (Sonneraztia spp) ส่วนสัตว์ที่พบ เช่น ลิงกัง ปูดำ นกชายเลนหลายชนิด อาทิ นกยางเขียว นกกระจ้อยป่าโกงกาง เป็ดผีเล็ก ฯลฯ

สภาพภูมิอากาศ

เนื่องจากภูมิประเทศของจังหวัดภูเก็ตมีลักษณะเป็นเกาะล้อมรอบด้วยทะเล สภาพภูมิอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดภูเก็ตจึงค่อนข้างคล้ายคลึงกัน คือ สภาพภูมิอากาศมีลักษณะแบบมรสุมเขตร้อน มีดีเปรสชันตลอดทั้งปีและมีเพียง 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน

  • ฤดูร้อน อยู่ระหว่างช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม อากาศในช่วงนี้จะมีความร้อนชุ่มชื้นเนื่องจากมีความร้อนสูงมากเพราะอิทธิพลจากลมทะเล โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดในภาคใต้ของไทย
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจนถึงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเวลานี้บริเวณเกาะภูเก็ตจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดปกคลุมประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงจังหวัดภูเก็ตด้วย

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลป่าคลอก หมู่ที่ 3 บ้านบางโรง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 3,175 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,575 คน ประชากรหญิง 1,600 คน และจำนวนครัวเรือน 1,357 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) 

ชาวบ้านบางโรงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้าน ทำสวนผัก ผลไม้ เช่น สับปะรด ทำไร่ รับจ้างทั่วไป และการทอผ้าปาเต๊ะ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของบ้านบางโรง โดยชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยจากการทำไร่ประมาณครัวเรือนละ 84,000 บาทต่อปี รายได้จากการทำสวนผลไม้ประมาณ 36,000 บาทต่อปี สวนผัก 36,000 บาทต่อปี ไม้ดอกไม้ประดับ 36,000 บาทต่อปี สวนยางพาราประมาณ 187,500 บาทต่อปี และรายได้จากการทำประมงประมาณ 10,000-36,000 บาทต่อปี นอกจากการประมง เกษตรกรรม และรับจ้างแล้ว ชาวบ้านบางโรงหลายครัวเรือนยังมีรายได้มาจากการเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่าย เช่น เป็ด ไก่ แพะ (โดยทั่วไปนิยมเสียงสายพันธุ์ทอกเกนเบิร์ก สายพันธุ์บอร์ สีขาวพาดน้ำตาล และสายพันธุ์ชาแนล สีขาวนวล) ครัวเรือนละประมาณ 10,000 บาทต่อปี

อนึ่ง ด้วยความที่บ้านบางโรงตั้งอยู่ระหว่างภูเขาและทะเล ทำให้บ้านบางโรงมีทรัพยากรทั้งภูเขาและทะเลที่หลากหลาย มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาตินานาพรรณ จึงทำให้บ้านบางโรงเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความเป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์เดินทางมาเที่ยวชม ทำให้มีการจัดตั้งกลุ่ม “ท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์บ้านบางโรง” ขึ้น เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภายในชุมชน

กลุ่มท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์บ้านบางโรง

การเกิดขึ้นของกลุ่มท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์บ้านบางโรงนั้นเกิดขึ้นจากแนวคิดการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนของชาวบ้านบางโรง เมื่อป่าชายเลนเกิดความอุดมสมบูรณ์ การท่องเที่ยวจึงเริ่มเข้ามาในภายหลัง ชุมชนเริ่มเปิดพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติเข้ามา แรกเริ่มมีการใช้เรือหางยาวและเรือแจวในการพานักท่องเที่ยวล่องเรือชมทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมป่าชายเลนและฟาร์มกระชังปลาของชาวบ้าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในชุมชน จากนั้นชาวบ้านเริ่มมองว่าการใช้เรือหางยาวและเรือแจวนั้นไม่เพียงพอต่อการเติบโตของการท่องเที่ยว เนื่องจากเรือดังกล่าวเป็นเรือที่ชาวบ้านใช้สำหรับประกอบอาชีพ จึงมีการพัฒนามาใช้เรือแคนูและเรือคายัคแทน ต่อมาเมื่อเริ่มมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านเริ่มมองว่าการพายเรือเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวให้เจริญเติบโต จึงได้มีการจัดกิจกรรมโดยดึงเอาจุดเด่นจุดด้อยของชุมชนมาเป็นแกนหลักในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี อาชีพ และทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ เอามารวบรวมกันแล้วก็ผลิตเป็นกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นมา โดยกิจกรรมเหล่านี้ ได้แก่

  1. กิจกรรมศึกษาชมประวัติศาสตร์ชุมชน ที่แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ชุมชนจะเหลือเพียงหลักศิลาจารึก แต่ชาวบ้านจะใช้วิธีการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้นักท่องเที่ยวฟังแทน
  2. กิจกรรมสัมผัสเรียนรู้ป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ชมลิงแสม ร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนทั้งโกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ และต้นแสม
  3. กิจกรรมสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านบางโรง เช่น เก็บมะพร้าวกะทิในสวน ชมการเลี้ยงปลาในกระชังของชาวบ้าน ได้แก่ ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง และปลาเก๋า ซึ่งปลาทั้ง 3 ชนิด ล้วนแต่เป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ชายประมงในชุมชนเป็นอย่างดี
  4. กิจกรรมพายเรือแคนูศึกษาระบบนิเวศคลองบางโรง ชมความงามของป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านที่มีความผูกพันกับป่าชายเลน ชมความอุดมสมบูรณ์ของปูแสมที่เกาะอยู่ตามต้นไม้ และหากตรงกับช่วงเวลาน้ำลงจะได้เห็นปูก้ามดาบและปลาตีนที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนด้วย
  5. สถานอนุบาลชะนี หรือ “โครงการคืนชะนีสู่ป่า” เป็นโครงการเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของชะนีที่ถูกจับมาเลี้ยง และเมื่อชะนีมีความพร้อมก็จะคืนชะนีสู่ป่าต่อไป ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวกับชุมชนจะได้เรียนรู้พฤติกรรมของชะนี และชื่นชมความน่ารักของชะนีอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การชมสวนผลไม้นานาชนิดทั้งสวนทุเรียน ลองกอง มังคุด จำปาดะ สับปะรดภูเก็ต และผลไม้ท้องถิ่นอื่น ๆ อีกมากมาย การเที่ยวชมฟาร์มแพะที่ชาวบ้านเลี้ยงอย่างสะอาดและถูกสุขลักษณะ และยังสามารถร่วมรีดนมแพะได้ด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวบ้านบางโรงให้ความสำคัญมิใช่มีเพียงเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ชาวบ้านยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชุมชนควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะป่าชายเลน ที่มีบทบาทเป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ของชาวบางโรงให้คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ต่อไป

กลุ่มประมงชายฝั่ง

การประกอบอาชีพการประมงแบบพื้นบ้านนั้นเป็นพื้นฐานเดิมของคนในชุมชนบ้านบางโรง ซึ่งชาวบ้านในชุมชนโดยมากจะประกอบอาชีพการทำประมงเลี้ยงตนเองเรื่อยมา จนกระทั่งอุตสาหกรรมประมงเริ่มเข้ามาสู่ชุมชน ชาวบ้านในชุมชนได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำประมงขนาดใหญ่ เช่น การใช้อวนลาก อวนรุน หรือแม้แต่การทำประมงแบบเดิมของชาวบ้านเองที่เป็นการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน คือ การทำโพงพาง ก็สร้างปัญหาในระยะยาวให้ชาวบ้านในชุมชนเช่นเดียวกัน จากเหตุผลดังกล่าวจึงเกิดการรวมกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้านขึ้นมาเพื่อที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเองในการประกอบการประมงแบบยั่งยืน ซึ่งหลักการพื้นฐานหรือจุดประสงค์หลักของกลุ่มประมงชายฝั่ง คือ การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำ ห้ามใช้อวนลากอวนรุน ห้ามใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ไม่เหมาะสม เช่น โพงพาง หรืออวนที่มีตาห่าง ฯลฯ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง โดยทำเป็นโครงการศาลาเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงปลาในกระชังตามสภาพพื้นที่ของชุมชนบ้านบางโรง ให้ชาวบ้านในชุมชนมีหลักในการประกอบสัมมาอาชีพที่ถูกต้อง ทั้งตามหลักของธรรมชาติและหลักการของศาสนาอิสลาม

ศาสนา

ชาวบ้านบางโรงส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือมัสยิดประจำชุมชนอยู่ 2 แห่ง คือ มัสยิดนูรุลญันนะท์และมัสยิดดาริสสลาม (บางแป)

ลักษณะการสร้างบ้านเรือน

บ้านเรือนที่พบในชุมชนบ้านบางโรงมี 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นบ้านเรือนที่ปลูกมาตั้งแต่สมัยก่อนจะใช้วัสดุประเภทไม้จากป่าทั้งป่าบกและป่าเลนที่หาได้ในพื้นที่ชุมชนมาสร้างบ้าน และมีการยกบ้านสูงเพื่อมีใต้ถุนเอาไว้ใช้ในการเก็บสิ่งของหรืออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพหรือไม่ก็เลี้ยงสัตว์ ซึ่งบ้านเรือนในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏว่ามีรั้วเพื่อเป็นการแบ่งกั้นอาณาเขตระหว่างบ้านแต่ละหลัง ซึ่งเป็นลักษณะการอยู่กันแบบเป็นเครือญาติกันในส่วนใหญ่ ส่วนลักษณะที่ 2 คือ บ้านปูนซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน มีลักษณะเหมือนบ้านที่พบเห็นกันได้ทั่วไปตามแต่ละจังหวัดของภาคใต้หรือประเทศไทย

1. นายเสบ เกิดทรัพย์  ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์บ้านบางโรง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นภูเก็ต ภาษาไทยกลาง ภาษาอังกฤษ (สื่อสารกับนักท่องเที่ยว)

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีภาษาเป็นเอกลักษณ์ของคนภูเก็ต โดยภาษาถิ่นของภูเก็ต หรือที่เรียกว่าภาษาไทยบ้าบ๋า เป็นภาษาที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนฮกเกี้ยนมาก เพราะคนภูเก็ตส่วนมากจะมาจากจีนฮกเกี้ยน ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา ของคนภูเก็ตจึงจะคล้ายคลึงกับจีนฮกเกี้ยนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในที่นี้รวมถึงชุมชนบ้านบางโรงด้วย ทว่า ในปัจจุบันภาษาถิ่นของภูเก็ตเริ่มนับวันจะเลือนหาย เพราะวัฒนธรรมสมัยใหม่ได้เข้ามา ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาถิ่นของภูเก็ตสักเท่าใดนัก ที่ใช้กันอยู่ก็จะเห็นจะเป็นคนรุ่นคนแก่ รุ่นอาม่า อาอี๋ อาโป้ ที่ยังใช้กันอยู่


ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะภูเก็ต มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 38 ตารางกิโลเมตร มีหมู่บ้านในปกครอง 9 หมู่บ้าน โดยหมู่บ้านบางโรงขึ้นเป็นหมู่ที่ 3 มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เกาะนาคาน้อยซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงหอยมุก มีท่าเรือบางโรงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลในอ่าวพังงา เช่น เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่  แต่เมื่อย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2513 รัฐให้สัมปทานทำไม้ป่าชายเลนในจังหวัดภูเก็ตหลายโครงการ รวมทั้งที่ตำบลป่าคลอก รวมเนื้อที่สัมปทานทั้งหมดเกือบ 20,000 ไร่ ผู้รับสัมปทานจะตัดไม้โกงกางเพื่อนำไปเผาถ่าน ซึ่งถ่านไม้โกงกางเป็นถ่านไม้ที่มีราคาแพงกว่าถ่านไม้ทั่วไป เพราะให้ความร้อนสูงและติดไฟนาน ส่งไปจำหน่ายในภาคใต้ ปีนัง และสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีการลักลอบตัดไม้ในป่าเพื่อนำไปทำเสารางแร่ในเหมืองดีบุก ทำให้ไม้ในป่าชายเลนและไม้เนื้อแข็งในป่าถูกทำลายเป็นจำนวนมาก การสัมปทานป่าชายเลนโดยไม่มีการปลูกทดแทนส่งผลให้บ้านของสัตว์น้ำวัยอ่อน กุ้ง หอย ปู ปลา ถูกทำลาย แหล่งอาหารของชาวบ้านลดน้อยลง และมีผู้คนจากที่ต่าง ๆ เข้ามาทำงานในพื้นที่สัมปทาน นำวัฒนธรรมต่างถิ่นและอบายมุขต่างเข้ามาสั่นคลอนชุมชนมุสลิมที่ป่าคลอก

ราวปี พ.ศ. 2516-2518 “โต๊ะอิหม่ามหยีหมัน ปานดำ” ผู้นำทางศาสนาบ้านบางโรง มองเห็นหายนะที่คืบคลานเข้ามาจึงเริ่มใช้หลักศาสนาสร้างเกราะป้องกันชุมชนโดยมีมัสยิดบ้านบางโรงเป็นศูนย์กลาง เริ่มจากกลุ่มเยาวชนซึ่งมีอยู่ราว 30 คน อบรมเรื่องการใช้ชีวิต การปฏิบัติตามหลักศาสนา การดูแลทรัพยากรป่าไม้ในชุมชน  ใช้ช่วงเวลาละหมาดทุกวันศุกร์หลังเที่ยงวัน ซึ่งหลายปีต่อมาเมื่อกลุ่มเยาวชนเหล่านี้เติบโตได้กลายเป็นแกนนำในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชนในตำบลป่าคลอก เช่น นายเสบ เกิดทรัพย์ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์บ้านบางโรง หนึ่งในกลุ่มเยาวชนบ้านบางโรงที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากโต๊ะอิหม่ามหยีหมันแล้วตื่นตัวลุกขึ้นมาฟื้นฟูทรัพยากรในตำบลป่าคลอก เพราะนอกจากปัญหาป่าชายเลนถูกทำลายแล้ว

ประมาณปี พ.ศ. 2522 ยังมีปัญหาเรืออวนรุนเข้ามาทำประมงในเขตหากินของชาวบ้าน ลากเอาสัตว์เล็กสัตว์น้อยในทะเลติดอวนขึ้นไป ทำให้คนป่าคลอกรวมถึงชาวบ้านบางโรงรวมตัวกันต่อต้านการบุกรุกของเรืออวนรุนเพื่อปกป้องท้องทะเลอันเป็นแหล่งทรัพยากรของชาวบ้านทุกผู้คน การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเปรียบเสมือนหม้อข้าวของชาวบ้านนำไปสู่การเป็นหนี้สิน ทรัพยากรสัตว์ทะเลลดน้อยลง การทำมาหากินฝืดเคืองเคือง หลายครอบครัวต้องเอาที่ดินไปจำนองนายทุนเงินกู้เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว เมื่อไม่มีเงินชำระคืนที่ดินจึงถูกยึด นอกจากนี้ยังมีปัญหานายทุนบุกรุกป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้งและรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วง พ.ศ. 2537 เนื่องจากนายทุนเอาป่าชายเลนไปออกโฉนดได้ แต่ชาวบ้านเข้าไปทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ชาวบ้านจึงร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้ชาวบ้านได้พื้นที่ป่าชายเลนกลับคืนมาประมาณ 500 ไร่ ทั้งนี้ ยังมีการรวมตัวกันของชาวบ้านบางโรงและชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นในตำบลป่าคลอกเรียกร้องให้ยกเลิกสัมปทานทำไม้โกงกาง กระทั่ง พ.ศ. 2539 ความพยายามของชาวบ้านประสบความสำเร็จ รัฐประกาศปิดสัมปทานป่าชายเลนทั่วประเทศ ความสำเร็จจากการทวงคืนพื้นที่ป่าชายเลนดังกล่าวได้นำไปสู่ความพยายามในการแก้ปัญหาภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในยุคสัมปทาน มีการก่อตั้งกองทุนปลดเปลื้องหนี้สินภายใต้ชื่อ “กลุ่มออมทรัพย์อัล-อามานะห์” (บ้านบางโรง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเรื่องเงินทุนและออมเงินให้แก่กลุ่มสมาชิก ซึ่งยังเปิดดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และมีเงินหมุนเวียนภายในกลุ่มมากถึง 15 ล้านบาท

อนึ่ง นอกจากจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แล้ว แกนนำชาวบ้านได้ร่วมกันฟื้นฟูดูแลป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง โดยการตั้งกฎและกติกาต่าง ๆ เช่น ห้ามตัดไม้ป่าชายเลน ห้ามบุกรุก ห้ามทำประมงผิดกฎหมาย ช่วยกันปลูกต้นโกงกาง สร้างบ้านปลา ทำธนาคารปู ทำให้ป่าชายเลนฟื้นตัว และสัตว์น้ำมีแหล่งอาศัย จัดตั้งกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านบางโรง เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวพายเรือแคนนูชมป่าชายเลน มีร้านอาหารชุมชน “ครัวบางโรง” ขายอาหารพื้นบ้าน-ซีฟู้ด โดยให้กลุ่มแม่บ้านและกลุ่มเยาวชนประมาณ 12 คนช่วยกันบริหาร ซื้อกุ้ง หอย ปู ปลา จากประมงพื้นบ้านมาทำอาหาร รายได้ส่วนหนึ่งเข้ากลุ่มออมทรัพย์และนำไปใช้ดูแลป่าชายเลนในชุมชนต่อไป

ความสำเร็จจากการดำเนินการของกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านบางโรง ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภายในชุมชนแห่งนี้ และด้วยเสน่ห์และศักยภาพของชุมชน รวมถึงการบริหารจัดการที่ดี ทำให้บ้านบางโรงได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นจากการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือรางวัล “กินรี” ประจำปี 2553 จากการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ

  • รางวัลหมู่บ้าน OTOP Village Champion
  • รางวัลแผนแม่บทชุมชนดีเด่น ระดับเขต
  • รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ระดับจังหวัด
  • รางวัลชนะเลิศประเภทการบริการ (วิสาหกิจชุมชนดีเด่น) ปี 2553
  • รางวัลหมู่บ้านต้นแบบประชาธิปไตยดีเด่น ปี 2553
  • รางวัลชนะเลิศกลุ่มยุวเกษตรมุสลิมบ้านบางโรง ปี 2553
  • รางวัลหมู่บ้านหมู่บ้านโอทอป-การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 1 ใน 80 แห่งของประเทศ (ททท.)
  • รองชนะเลิศประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2

ท่องเที่ยวชุมชนบางโรง Bangrong CBT. (2566). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/cbtbangrong/

พีระพิชญ์ ปานภักดี. (2550). รูปแบบการจัดการป่าชายเลนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน : กรณีศึกษา ชุมชนบ้านบางโรง หมู่ 3 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยนเรศวร.

Cbtthailand. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านบางโรง. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/

Google Earth. (2566). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

Kapook. (ม.ป.ป.). บางโรง-เกาะนาคาใหญ่ มีป่าเป็นโต๊ะทำงาน มีบ้านเป็นทะเล. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.kapook.com/

SummerB. (2565). เที่ยวภูเก็ต สัมผัสวิถี ชุมชนบ้านบางโรง ทำความรู้จักกับ ชุมชนบ้านบางโรง. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/

Sukkrapop. (2561). ชุมชนบ้านบางโรง จังหวัดภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก http://community.onep.go.th/

Thaipost. (2565). กว่าจะเป็นวันนี้.....เส้นทางสู่ชุมชนเข้มแข็งที่ป่าคลอก จ.ภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thaipost.net/