Advance search

หมู่บ้านต้นแบบดีเด่นในการดําเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข จากภูมิปัญญาและความสามารถของชาวบ้านในการต่อยอดบริหารจัดการพืชพรรณและทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นสู่การสร้างรายได้และการเป็นชุมชนเกษตรกรรมท่ามกลางสังคมเมืองภูเก็ต 

หมู่ที่ 5
นากก
ฉลอง
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ส.ค. 2023
บ้านนากก

เนื่องจากสภาพพื้นที่ตั้งหมู่บ้านในอดีตมีต้นกกขึ้นอยู่มาก เมื่อมีการก่อตั้งหมู่บ้านจึงเรียกว่า "บ้านนากก"


หมู่บ้านต้นแบบดีเด่นในการดําเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข จากภูมิปัญญาและความสามารถของชาวบ้านในการต่อยอดบริหารจัดการพืชพรรณและทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นสู่การสร้างรายได้และการเป็นชุมชนเกษตรกรรมท่ามกลางสังคมเมืองภูเก็ต 

นากก
หมู่ที่ 5
ฉลอง
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
7.85802
98.34047
เทศบาลตำบลฉลอง

บ้านนากกในอดีตนั้นมีสภาพเป็นที่ราบลุ่มริมเชิงเขานาคเกิด ประชาชนย้ายถิ่นฐานมาตั้งหมู่บ้านและมีการแผ้วถางพงหญ้าเพื่อประกอบอาชีพทำนา พื้นที่หมู่บ้านนากกมีสภาพแตกต่างจากพื้นที่ลุ่มอื่น ๆ คือ มีต้นกกเป็นจํานวนมาก ต่อมาจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านนากก” ปัจจุบันหมู่บ้านนากก ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 มีอาณาเขตถึงบ้านในตรอก และบ้านเขาน้อยบางส่วน (ในซอยตาเอียด)

อดีตในยุคสมัยเหมืองแร่ บริษัทวิเศษนุกูลกิจได้รับสัมปทานเหมืองแร่จากรัฐบาลให้เข้ามาดําเนินกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่หมู่บ้านนากก ทำให้พื้นที่นาบางส่วนแปรสภาพไปเป็นขุมเหมืองและเนินทรายขนาดใหญ่ ที่หลงเหลืออยู่จากการทำเหมืองแร่ก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่หันไปประกอบอาชีพรับจ้างทำงานในเหมืองแร่ นอกจากนี้พื้นที่นาที่เหลืออยู่ส่วนน้อยยังไม่สามารถทำการเพาะปลูกเพื่อให้ผลผลิตได้ดี เนื่องจากเกิดปัญหานกทำลายผลผลิตของชาวนา จนในที่สุดอาชีพทำนาก็หายไปจากหมู่บ้านนากกโดยสิ้นเชิง 

บ้านนากก เป็น 1 ใน 10 หมู่บ้าน ในพื้นที่ปกครองตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยอยู่ห่างจากวัดฉลองประมาณ 1 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมือง ประมาณ 8 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย ปัจจุบันมีโครงการบ้านจัดสรรเกิดขึ้น 2 โครงการ คือ โครงการเจ้าฟ้าธานี ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามถนนฝั่งตะวันตกและโครงการบ้านชนกานต์ดําเนินการก่อสร้างอยู่บริเวณด้านในหมู่บ้านนากก

การเดินทางไปยังหมู่บ้านนากกจากตัวเมือง สามารถเดินทางด้วยรถยนต์โดยสารประจําทางสายห้าแยกฉลอง มีจุดรอรับ-ส่ง ผู้โดยสารที่อยู่หน้าตลาดเทศบาลฯ ถนนระนอง เยื้องที่ทําการบริษัทการบินไทย หากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากตัวเมืองไปยังสี่แยกไทยนานเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจ้าฟ้าตะวันตก มุ่งหน้าไปทางวัดฉลอง มีศาลาอเนกประสงค์อยู่ตรงทางโค้งซ้ายมือก่อนถึงวัดฉลอง 1 กิโลเมตร

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลถลาง หมู่ที่ 5 บ้านนากก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 3,478 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,676 คน ประชากรหญิง 1,802 คน และจำนวนครัวเรือน 2,483 ครัวเรือน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่นอกเหนือจากคนพื้นถิ่นเดิมแล้ว คือ ชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งนับเป็นประชากรส่วนใหญ่ในชุมชน

จีน

การประกอบอาชีพ

ชาวบ้านนากกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง รองลงมาประกอบอาชีพค้าขาย ทําสวนยางพารา สวนผลไม้ ปลูกผักสวนครัวจําหน่ายแก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยมีตลาดร้านค้าของหมู่บ้านเป็นที่วางจําหน่าย และส่วนหนึ่งนําไปจําหน่ายในชุมชนใกล้เคียง ซึ่งทําให้ชาวบ้านนากกมีอาชีพและสามารถสร้างรายได้แก่ครอบครัว นอกจากนี้ ปัจจุบันในหมู่บ้านยังมีค่ายมวยจํานวน 2 ค่าย ซึ่งฝึกสอนเยาวชนในหมู่บ้านโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่สําหรับบุคคลภายนอกคิดค่าบริการรายวิชาละ 7,000 บาท

อนึ่ง ภายในหมู่บ้านยังมีจุดชมวิวสวนป่าชุมชนเทือกเขานาคเกิดซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศให้เป็นแหล่งการศึกษาพันธุ์ไม้ต่าง ๆ โดยในปัจจุบันชาวบ้านได้ดำเนินการพัฒนาสวนป่าบริเวณดังกล่าวให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เปิดรับนัดท่องเที่ยว แล้วมีการสร้างบังกะโลสำหรับเป็นที่พักรับรองนักท่องเที่ยว เช่น บ้านสวนบังกะโล ซอยตาเอียด มีราคาค่าที่พักคืนละ 600 บาท

กลุ่มกองทุนในชุมชน

ปัจจุบันหมู่บ้านนากก ได้มีกองทุนหมู่บ้านและกลุ่มเศรษฐกิจชุมชน เพื่อนําเงินจากกองทุนไปหมุนเวียนในหมู่บ้าน สร้างสวัสดิการให้คนในชุมชน ประกอบด้วย กองทุนหมู่บ้าน 1 กองทุน เงินหมุนเวียน 1 ล้านบาท มีนายเผด็จ ลูก จันทร์ เป็นประธาน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จํานวน 1 กลุ่ม สมาชิก 50 คน มีเงินทุนหมุนเวียน 31,250 บาท มีนางมิตรใจ ศรีนาค เป็นประธาน และกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนบ้านนากก จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนบ้านนากก มีนายสัญญา หิรัญวดี เป็นประธาน

กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนบ้านนากก ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพของชาวบ้าน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการออมเงินของสมาชิกภายในกลุ่ม โดยแรกเริ่มได้รับพระราชทานเงินจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจำนวน 20,000 บาท เพื่อเป็นกองทุนสำรองจ่ายและแหล่งเงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจกรรมกลุ่มของสมาชิก ปัจจุบันกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนบ้านนากกมีสมาชิกทั้งหมด 30 คน ในจำนวนนี้มีทั้งที่ประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และรับจ้างทั่วไป โดยกลุ่มมีการดำเนินกิจกรรม ดังนี้

กิจกรรมระดับครัวเรือน

  • เลี้ยงสัตว์ ได้แก่  เป็ดเทศ หอยขม ไก่ ห่าน ปลานิล ปลาอีสบ ปลานวลจันทร์
  • การปลูกพืชผักสวนครัวไว้สำหรับบริโภคภายในครัวเรือน ได้แก่ ผักบุ้ง คะน้า พริก มะเขือ บวบ ตะไคร้ ผักเหมียง มะเขือเทศ กระเจี๊ยบเขียว ผักกูด เป็นต้น
  • ปลูกไม้ผล ได้แก่ กล้วย สับปะรด ขนุน
  • การทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือน (รายวัน)

กิจกรรมการผลิตของกลุ่ม

  • เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ไก่ เป็ดเทศ
  • การปลูกผักพื้นบ้านในสวนยางพารา ได้แก่ พลู ใบเตย ผักเหมียง
  • การทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ
  • การทำน้ำส้มควันไม้
  • การเพาะเห็ด
  • การแปรรูป ได้แก่ ชาผักเหมียง ผักเหมียงโรยข้าว

กลุ่มอาชีพ

สําหรับกลุ่มอาชีพในหมู่บ้านนากก ประกอบด้วย กลุ่มผลิตเครื่องแกง กลุ่มผลิตน้ำพริกเผา กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ กลุ่มทําน้ำยาล้างจาน และกลุ่มปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อจัดจําหน่ายในตลาดร้านค้าชุมชน กลุ่มอาชีพดังกล่าว เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านในหมู่บ้านนากก โดยใช้เวลาว่างหลังการทํางานประจําเสร็จสิ้นแล้ว รวมกลุ่มกันจัดทําผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้เข้ากลุ่ม และนํารายได้ที่ได้รับมาสร้างสวัสดิการให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนากกในยามจําเป็นต่อไป

ชาวบ้านนากกส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดฉลองเป็นศูนย์รวมจิตใจในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งในแต่ละปีบ้านนากกจะมีเทศกาล ประเพณีที่สำคัญที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ดังนี้

ประเพณีสวดกลางบ้าน

ประเพณีสวดกลางบ้าน (สวดสมโภชหมู่บ้าน) จัดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปีเพื่อความเป็นสิริมงคลของหมู่บ้านและประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน โดยภายในวันเดียวกันนี้จะมีการจัดพิธีรดน้ำดําหัวขอพรผู้สูงอายุในหมู่บ้านด้วย สําหรับการจัดประเพณีสวดกลางบ้านนั้นสืบเนื่องจากปีใดที่มีชาวบ้านในหมู่บ้านเสียชีวิตมาก ก็จะจัดประเพณีดังกล่าวขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล ตลอดจนจะทําให้เกิดความรักสามัคคีของคนในหมู่บ้าน โดยในตอนเช้าจะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดและให้พรชาวบ้านในหมู่บ้าน หลังจากนั้นจะเป็นการมอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน รายละ 300 บาท เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2549 มีพิธีมอบเงินให้ผู้สูงอายุ 48 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 14,400 บาท หลังเสร็จสิ้นการมอบเงินให้ผู้สูงอายุ ชาวบ้านที่มาร่วมงานสวดกลางบ้านจะร่วมกันรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และในช่วงกลางคืนจะมีกิจกรรมนันทนาการเพื่อความสนุกสนานในหมู่บ้านนากก

เทศกาลประจําปี

ประเพณีวันตรุษจีน เป็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของคนจีน วันตรุษจีนตรงกับวันแรกของเดือน 1 ของจีน หรือเดือน 2 เดือน 3 ทางจันทรคติ มีพิธีกรรมทั้งหมด 3 วัน วันแรก คือ วันที่ 29 เดือน 12 ของจีน มีการเตรียมอาหารและของใช้สําหรับวันรุ่งขึ้น วันที่สอง คือ วันที่ 30 เดือน 12 ของจีน มีการไหว้ 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า จะมีการไหวเทพเจ้า และช่วงบ่ายจะมีการไหว้บรรพบุรุษ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีไหว้จะมีการรับประทานอาหาร ร่วมกันในครอบครัวและมีการแจกอังเปา (แต๊เอีย) ให้แก่เด็ก ๆ วันที่สาม คือ วันที่ 1 ของเดือน 1 ของจีน ในวันนี้ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าใหม่เพื่อเป็นสิริมงคลไปไหว้พระที่ศาลเจ้า และจะไม่มีการทํางาน ไม่มีการพูดคําหยาบหรือดุด่าว่ากล่าวกัน

ประเพณีเช็งเม้ง เป็นการรวมญาติครั้งใหญ่เพื่อทํากิจกรรมบูชาบรรพบุรุษร่วมกัน ส่วนใหญ่จะตรงกับวันที่ 5 เมษายนของทุกปี แต่ในการไหว้นั้นระยะเวลาที่สามารถไหว้ได้ คือ ก่อนวันที่ 5 เมษายน 10 วัน และหลังวันที่ 5 เมษายน 10 วัน

ประเพณีไหว้เทวดา เป็นการไหว้ต้อนรับและขอบคุณเทวดาที่ช่วยพิทักษ์คุ้มครองมนุษย์ เวลาของการไหว้จะเริ่มขึ้นหลังเที่ยงคืนของวันที่ 8 เดือน 1 ของจีน หรือช่วงเวลาเริ่มต้นวันที่ 9 เดือน 1 ของไหว้ที่สำคัญ คือ ต้นอ้อย 2 ต้น และของคาวหวานต่าง ๆ

ประเพณีสารทจีน เป็นเดือนที่ชาวจีนถือว่ายมบาลได้ทำการปล่อยภูตผีหรือวิญญาณต่าง ๆ ให้ออกมารับส่วนบุญประจําปี มีการไหว้บรรพบุรุษของแต่ละครอบครัวในวันที่ 15 เดือน 7 จีน มีการไป่ปั๊ว หรือจัดตกแต่งเครื่องเซ่นไหว้ภูตผีและวิญญาณ ด้วยการทําขนมและแกะสลักผลไม้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ และของไหว้ที่สำคัญคือ “นั่ง” หรือขนมเต่าสีแดง เป็นขนมที่ทําจากแป้งข้าวเหนียว มีไส้ถั่วเหลืองกวน หรือทําจากแป้งสาลีที่ไม่มีไส้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอายุยืนนาน โดยจะนำไปไหว้ ณ ศาลเจ้าต่าง ๆ

ประเพณีถือศีลกินผัก เป็นการถือศีลชําระจิตใจและงดเว้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด มีระยะเวลา 9 วัน เริ่มตั้งแต่ ขึ้น 1 ค่ำ-9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนกันยายน–ตุลาคมของทุกปี

ประเพณีสารทไทย ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นเดือนที่ชาวไทยมีความเชื่อว่ายมปล่อยภูตผีและวิญญาณให้มารับเอาส่วนบุญจากญาติพี่น้อง ในวันนี้จึงมีการนําของคาวหวานต่าง ๆ มาทําบุญและให้ทานที่วัด สําหรับขนมที่สำคัญในพิธี คือ ขนมลา ขนมเทียน ขนมท่อนใต้ ขนมต้ม ฯลฯ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาชุมชน

หมู่บ้านนากก มีภูมิปัญญาของท้องถิ่นของชาวบ้านที่มาจากการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งมีครอบครัวตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข เป็นศูนย์เรียนรู้ของคนในชุมชนและผู้มาศึกษาดูงาน โดยเฉพาะด้านการขยายพันธุ์ใบมะกรูด ต้นข่า ผักเหมียง ขี้เหล็ก ผักกูด ดอกดาหลาหลากสี เป็นภูมิปัญญาที่มีชาวบ้านเป็นผู้ริเริ่ม เกิดการเรียนรู้ คิด แก้ปัญหา ด้วยตนเอง ปรับปรุง และพัฒนาด้านการประกอบอาชีพให้สามารถเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านดังกล่าว สามารถสร้างรายได้ให้กับบุคคล ครอบครัว ชุมชน เกิดสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในชุมชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสําคัญที่ทําให้หมู่บ้านนากกได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านต้นแบบดีเด่นในการดําเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็นเป็นสุข (วาสนา ศรีนวลใย, 2551: 79-80)

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นภูเก็ต ภาษาไทยกลาง ภาษาอังกฤษ (สื่อสารกับนักท่องเที่ยว)

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. (ม.ป.ป.). กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนบ้านนากก. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.psproject.org/

วาสนา ศรีนวลใย. (2551). ศึกษาการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข : กรณีศึกษา หมู่บ้านนากก หมู่ที่ 5 ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.

Baania. (2566). บ้านเจ้าฟ้าธานี. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.baania.com/