ชุมชนเกษตรกรรมที่มีการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาในการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยปลูกผักเหลียงปะปนไปในสวนยางพารา เพื่อสร้างรายได้และใช้ผืนแปลงเกษตรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
ในอดีตมีชายสูงอายุผู้หนึ่งนามว่า "อยู่" ได้เข้ามาสร้างบ้านอยู่บริเวณใกล้ท่าเรือ การเดินทางสัญจร ณ ช่วงเวลานั้นใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง และเรือส่วนมากจะมาจอดเทียบท่าที่บ้านตาอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ท่าเรือตาอยู่” แล้วจึงเพี้ยนเป็น “ท่าอยู่” ดังปัจจุบัน
ชุมชนเกษตรกรรมที่มีการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาในการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยปลูกผักเหลียงปะปนไปในสวนยางพารา เพื่อสร้างรายได้และใช้ผืนแปลงเกษตรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
ประมาณ 150 ปีที่ผ่านมา มีชายสูงอายุผู้หนึ่งนามว่า "อยู่" (ชาวบ้านเรียก ตาอยู่) ได้เข้ามาสร้างบ้านที่มีลักษณะเป็นขนำอยู่ใกล้ท่าเรือ (ปัจจุบันนี้คือสะพานหัวท่า) มีอาชีพการทําประมงเพื่อจําหน่ายให้กับคนในหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งการสัญจรไปมาในสมัยนั้นไม่มีถนนที่สะดวกเหมือนกับสมัยนี้ ทําให้การสัญจรไปมาหาสู่ระหว่างหมู่บ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะและเรือส่วนใหญ่จะมาจอดเทียบท่าที่บ้านของตาอยู่ จึงทําให้คนในสมัยนั้นเรียกท่าเรือแห่งนี้ว่า “ท่าเรือตาอยู่” ซึ่งต่อมามีการเรียกเพี้ยนกันไปเป็น “ท่าอยู่”
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านท่าอยู่ เป็นหมู่บ้านหนึ่งในปกครองตำบลท่าอยู่ ทางตะวันตกของอ่าวพังงา ล้อมรอบด้วยภูเขาและที่ราบชายฝั่งทะเล เทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่ เทือกเขาบางหลาม อยู่ทางตะวันตกของตำบล มีความสูงประมาณ 430 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งต้นน้ำของคลองบางหลาม ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปสามารถแบ่งเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้
- พื้นที่ลอนคลื่นและเนินเขา ได้แก่ บริเวณตะวันตกของตำบล เป็นบริเวณที่มีลักษณะภูมิประเทศแบบลูกคลื่นลอนลาดถึงแบบลูกคลื่นลอนชันของที่ราบเชิงเขา มีระดับความสูงของพื้นที่มาสม่ำเสมอ ปรากฏเป็นเนินเขา ภูเขา แทรกอยู่บางบริเวณ และลาดเอียงจากทางทิศตะวันออกลงสู่ทิศตะวันต
- บริเวณช่องว่างของกลุ่มภูเขาและบริเวณหุบเขา ได้แก่ บริเวณช่องว่างของกลุ่มภูเขาและเขา และลักษณะภูมิประเทศแบบหุบเขา ซึ่งเป็นลําห้วย ลําธาร เป็นแหล่งต้นน้ำสายต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยทั่วไปมีลักษณะพื้นที่เกือบราบ และมีน้ำแช่ขังในฤดูฝน
- พื้นที่ภูเขาและกลุ่มภูเขา ได้แก่ บริเวณภูเขาซึ่งกระจายอยู่บริเวณ ๆ ทางตะวันตกของตำบล
- บริเวณที่ราบดินตะกอนลําน้ำ พบตามบริเวณสองฝั่งของคลองบางหลามและคลองท่าอยู่ ลักษณะพื้นที่เป็นสันดินริมลําน้ำแบบเกือบราบ ถึงแบบลูกคลื่นลอนลาด และที่ราบลุ่มต่ำแคบ ๆ เมื่อห่างจากฝั่งลําน้ำออกไป มีลักษณะภูมิประเทศแบบเกือบราบ ในฤดูฝนจะมีน้ำท่วมขังเป็นเวลา 3-5 เดือน
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของตำบลท่าอยู่ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีฤดูกาล 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน โดยฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มกราคม ส่วนฤดูร้อนจะอยู่ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลท่าอยู่ หมู่ที่ 2 บ้านท่าอยู่ มีจำนวนประชากรทั้งหมด 1,011 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 489 คน ประชากรหญิง 522 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 495 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)
ปัจจุบันชาวบ้านท่าอยู่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวนเป็นหลัก พืชเศรษฐกิจสำคัญที่นิยมปลูกมากที่สุด ได้แก่ ยางพารา สะตอ ทุเรียน มะพร้าว มังคุด ลองกอง ผักเหลียง สับปะรด เงาะ หมาก ลางสาด ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพืชผักสวนครัวอีกหลายชนิดที่ชาวปลูกกปลูกในรูปแบบของสวนผสมแบบเกษตรอินทรีย์
ประชาชนในหมู่บ้านท่าอยู่มีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม โดยร้อยละ 70 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 30 นับถือศาสนาอิสลาม โดยในหนึ่งปี ชาวบ้านมีประเพณีและเทศกาลประจำเดือนที่สำคัญ ดังนี้
- เดือนมกราคม : วันขึ้นปีใหม่ ประเพณีให้ทานไฟ งานวันแตงโม
- เดือนมีนาคม : เทศกาลอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล
- เดือนเมษายน : ประเพณีสงกรานต์
- เดือนพฤษภาคม : งานบวงสรวงองค์เทวรูปพระนารายณ์และองค์บริวาร
- เดือนกรกฎาคม : งานเทศกาลผลไม้
- เดือนกันยายน : ประเพณีเทกระจาด
- เดือนตุลาคม : ประเพณีถือศีลกินเจ
- เดือนพฤศจิกายน : ประเพณีลอยกระทง
สืบเนื่องจากบ้านท่าอยู่เป็นชุมชนเกษตรกรรม มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากมายหลายชนิด โดยเฉพาะยางพารา ซึ่งเป็นพืชที่สร้างรายได้และชาวบ้านนิยมปลูกมากที่สุด ดังนั้น ภายในชุมชนบ้านท่าอยู่จึงปรากฏความเชื่อเกี่ยวกับการทำสวนยางพารา ตั้งแต่ความเชื่อเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ในการทำสวนยางพารา ความเชื่อเกี่ยวกับขั้นตอนการทำสวนยางพารา และความเชื่อเกี่ยวกับการเก็บผลผลิต ดังนี้
คติความเชื่อเกี่ยวกับวัสดุและอุปกรณ์ในการทำสวนยางพารา
ชาวสวนยางพาราบ้านท่าอยู่มีความเชื่อเกี่ยวกับอุปกรณ์การทำสวนยางพาราจำพวกของมีคม เช่น จอบ เสียม มีดพร้า ขวาน เลื่อย มีดกรีดยาง อุปกรณ์เหล่านี้ห้ามเดินข้ามอย่างเด็ดขาด เพราะมีความเชื่อสืบ ทอดกันมาว่าหากเดินข้ามอุปกรณ์เหล่านี้แล้วเมื่อนําไปใช้จะก่อให้เกิดอันตราย อาจจะบาดมือ แขน หรือขาได้
คติความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับขั้นตอนการทำสวนยางพารา
เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมการแรกโค่นต้นไม้ใหญ่ แรกถางเพื่อการทำสวนโดยยึดวันที่ฤกษ์งาม ยามดี ไม่เป็นวันจมหรือวันลอย เพื่อสร้างความสบายใจ นอกจากนี้แล้วชาวสวนยางพาราในอดีตเมื่อต้องบุกเบิกพื้นที่ทำสวนยางก็จะมีพิธีกรรมบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางเพื่อขออนุญาตให้การถาง โค่นต้นไม้ โดยการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าเป็นผู้ครอบครองหรือสถิตอยู่ในต้นไม้ที่จะถาง หรือโค่น โดยกำหนดในวันพฤหัสบดี ทั้งนี้ ชาวสวนยางพาราจะเคร่งครัดในการถือฤกษ์ยามในช่วงแรกถางไร่เป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าการแรกโค่น แรกถางในวันฤกษ์งามยามดีจะส่งผลดีต่อการทำสวนยางพาราในภายหลัง
คติความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับการเก็บผลผลิต
ชาวสวนยางพารามีความเชื่อในเรื่องการบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้วันที่กรีดยางเป็นครั้งแรกนั้นเป็นวันดี เพื่อให้เกิดความสิริมงคล ปัจจุบันยังคงปฏิบัติกันอยู่บ้างขึ้นอยู่กับกับจิตนิสัยส่วนบุคคล
การปลูกผักเหลียงด้วยระบบเกษตรผสมผสานในสวนยางพารา
จากสภาพสังคมที่มีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานของภาคใต้ ภูมิปัญญาสั่งสมมาแต่ละยุคล้วนเรียนรู้และเลียนแบบจากธรรมชาติทั้งสิ้น ป่าไม้ซึ่งเป็นระบบฟาร์มธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดให้ผลผลิตทั้งพืชและสัตว์ป่า จึงเป็นรูปแบบที่ประชากรในภาคใต้นํามาพัฒนาเป็นระบบเกษตรกรรม มีทั้งการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ผสมผสานกันอยู่ในกระบวนการผลิตของชุมชน จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายไปทั่วภูมิภาค
บ้านท่าอยู่ เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้นำเอารูปแบบการทำเกษตรผสมผสานเข้ามาปรับใช้กับพืชเศรษฐกิจของชุมชน คือ ยางพาราและผักเหลียง โดยนำผักเหลียงมาปลูกในระบบการปลูกพืชต่างระดับในพื้นที่สวนยางพาราที่เปิดกรีดได้แล้ว ทั้งนี้ เกษตรกรจะต้องคํานึงถึงในเรื่องของการเตรียมพื้นที่และระยะในการปลูก โดยจะต้องทําการปลูกในระหว่างแถวของพืชหลักเท่านั้น เพื่อจะไม่ให้มีผลกระทบกับพืชหลักที่ปลูกอยู่ ระยะในการปลูกที่นิยมใช้อยู่โดยทั่วไป คือ ระยะปลูก 2x2 มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- การเตรียมหลุมปลูก ขนาดของหลุมกว้าง x ยาว x ลึก ประมาณ 20-30 เซนติเมตร
- ฤดูกาลที่เหมาะในการปลูก การปลูกผักเหลียงนั้นสามารถที่จะปลูกได้ทุกฤดูทั้งปี แต่โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝนเพื่อจะได้ไม่ต้องรดน้ำในระยะแรกของการปลูก
- การให้ปุ๋ยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน โดยใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักโรยให้รอบโคนต้น ตัดแต่งกิ่งเป็นประจำ และหมั่นสังเกตไม่ให้ลำต้นสูงเกินมือเอื้อม หรือประมาณ 2 เมตร จึงจะทำให้สะดวกต่อการเก็บยอดผักเหลียง
- เมื่อผักเหลียงอายุได้ประมาณ 2 ปี สามารถเก็บยอดได้ การเก็บเกี่ยวผักเหลียงนั้นให้ใช้มือเด็ดก้านใบหักตรงข้อ โดยจะต้องระวังไม่ให้ใบติดมากับก้านใบ
- การจําหน่าย นับได้ว่าเป็นความได้เปรียบของเกษตรกรผู้ปลูกผักชนิดนี้ เนื่องจากสามารถกําหนดราคาได้เอง ไม่เหมือนกับพืชอื่น ๆ ทั้งนี้ เพราะปริมาณของผักเหลียงยังมีน้อย จึงไม่เพียงพอสำหรับผู้บริโภคการจําหน่ายนั้นผู้ปลูกจะจําหน่ายขายปลีกเอง ราคากําละ 5-10 บาท ในปัจจุบัน ผักเหลียงนอกจากจะเป็นพืชเศรษฐกิจของบ้านท่าอยู่แล้ว ยังเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ที่ทํารายได้ให้กับผู้ปลูกเป็นอย่างดี อนึ่ง เกษตรกรผู้ปลูกผักเหลียงนอกจากจะเก็บเกี่ยวใบยอดอ่อนจําหน่ายแล้ว ยังสามารถเพาะต้นพันธุ์เหลียงจําหน่ายได้อีกเนื่องจากปริมาณความต้องการต้นพันธุ์ที่จะไปปลูกมีจํานวนมาก ผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการ จึงนับได้ว่าเป็นโอกาสทองของเกษตรกรผู้ปลูกผักเหลียงในชุมชนที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
การทำยางดักสัตว์
ชาวสวนยางพาราในชุมชนท่าอยู่มีภูมิปัญญาในการดัดแปลงน้ำยางจากต้นยางพาราที่เหลือจากการทํายางแผ่นดิบเพื่อนําน้ำยางพารามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจําวันได้อย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด ดังเช่นการนําน้ำยางพารามาประยุกต์ใช้เป็นยางดักนกเพื่อไล่นกที่มาจิกทําลายพืชผล เช่น ผลไม้สุกต่าง ๆ หรือข้าวที่ออกรวงสุกในไร่นา หรือเพื่อการล่านกบางชนิดมาเป็นอาหาร นอกจากนี้แล้ว เกษตรกรบางรายจะนํายางดักนกมาใช้ดักจับหนู หรือมาดักจับแมลงวันที่มาตอมอาหารได้ด้วย
ยางดักสัตว์ เป็นยางที่ได้จากการนํายางไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ยางพารา ยางไทร ยางตีนเป็ด ยางขนุน ยางกล้วย และน้ำมันยางผสมเข้าด้วยกันทําให้เกิดความเหนียวเหนอะ หากมีสิ่งใดแตะก็จะทําให้สิ่งนั้นติดอยู่กับยาง ใช้สำหรับดักตีนหรือแตะปีกของสัตว์ เช่น นก หนู แมลงวัน
ประเภทของยางดักนกและดักสัตว์ ยางดักนกและดักสัตว์ที่นิยมใช้ในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง มี 3 ชนิด ได้แก่
- ยางตีน ใช้สำหรับดักตีนสัตว์
- ยางสะเหลือด (ลื่น) ใช้สำหรับดักเพื่อให้นกเกาะแล้วลื่นล้มและเมื่อกระพือปีกยางก็จะติดปีก ทำให้นกไม่สามารถบินหนีได้
- ยางปีก ใช้สำหรับแตะปีกนกในขณะที่นกหรือแมลงบินผ่านมาโดยไม่รู้ตัว
สำหรับบ้านท่าอยู่ ยางที่นิยมนํามาใช้มากที่สุด คือ ยางปีก เพราะในฤดูเทศกาลผลไม้ เกษตรกรชาวสวนยางพาราจะนําผลไม้ที่ปลูกไว้เป็นพืชร่วมยางออกจําหน่าย เช่น มังคุด เงาะ ทุเรียน ซึ่งในร้านค้าจะมีแมลงวัน แมงหวี่ มารบกวนเป็นจํานวนมาก จึงได้นํายางปีกพันก้านมะพร้าวไว้ล่อแมลงวัน แมงหวี่ที่อยู่ในบริเวณร้านค้าได้
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
การประกอบอาชีพทำสวนยางพาราของเกษตรกรในชุมชนบ้านท่าอยู่ จังหวัดพังงา นั้นเกษตรกรส่วนใหญ่มีฐานะเป็นเจ้าของสวนยางรายย่อย กล่าวคือ เจ้าของสวนยางมักเป็นผู้ประกอบการในกิจการสวนยางด้วยตนเอง จึงส่งผลต่อมาตรฐานการผลิตยางแผ่น เพราะเกษตรชาวสวนยางขาดความรู้ที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการทำอย่างแผ่นชั้นดี ทำให้ยางแผ่นดิบที่เกษตรกรผลิตออกมานั้นมีคุณภาพแตกต่างกัน ผลผลิตของเกษตรกรบางรายผลิตได้ดีมาก แต่ในบางรายผลิตได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น มีความชื้นและมีสิ่งเจือปน มีฟองอากาศ ขนาดของยางแผ่นไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้เมื่อเกษตรกรทำยางแผ่นที่คุณภาพไม่ได้ตามมาตรฐานออกจำหน่าย จึงถูกพ่อค้าคนกลางประเมินคุณภาพเป็นยางแผ่นคุณภาพต่ำและรับซื้อในราคาต่ำ จากปัญหาดังกล่าวเกษตรกรในชุมชนบ้านท่าอยู่จึงได้จัดตั้ง “กลุ่มเกษตรกรทำสวนท่าอยู่” เพื่อให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันปรับปรุงคุณภาพยางแผ่นดิบให้เป็นยางแผ่นที่มีคุณภาพดีซึ่งส่งผลให้ผู้ซื้อให้ราคาสูงขึ้น และเพิ่มอํานาจการต่อรองด้านราคาซื้อ-ขายกับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งต่อมาเกษตรกรในชุมชนบ้านท่าอยู่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาครัฐเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพและการขายยางแผ่นดิบ ทั้งนี้ กลุ่มฯได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกภายในกลุ่มได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกอบอาชีพการทำสวนยางพารา ให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้พัฒนาวิธีการทำสวนยางพาราที่มีคุณภาพดี ทำให้ชุมชนแห่งนี้สามารถดํารงอาชีพการทำสวนยางพาราไว้อย่างมั่นคง และสามารถผลิตยางแผ่นคุณภาพชั้นดีมาได้จนถึงปัจจุบัน
กรมการปกครอง. สำนักบริหารการทะเบียน. (2565). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). สืบค้นเมื่อ 24 กรฎาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/
ชุติกาญจน์ คิดชอบ. (2552). ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำสวนยางพารา: กรณีศึกษาตำบลท่าอยู่ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาไทยคดีศึกษา สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
อุษณี เจียมรา. (2560). เกษตรกรพังงา ปลูกผักเหมียง เลี้ยงโคขุน เสริมรายได้ในสวนยาง. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.technologychaoban.com/
Google Earth. (2563). สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
Openrice. (2561). ใบเหลียง ราชินีแห่งผักพื้นบ้านของภาคใต้. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.openrice.com/