หมู่เกาะเกาะบุโหลน ถิ่นพิสุทธิ์แห่งท้องสมุทรอันดามัน หมู่เกาะที่ยังคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ งดงาม และวิถีชีวิตอันอันเรียบง่าย ดังคำเปรียบเปรยว่าเกาะบุโหลน คือ เกาะสมุยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว คือ เกาะพีพีเมื่อ 20 กว่าปีก่อน คือ เกาะหลีเป๊ะที่ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา
“บุโหลน” เพี้ยนมาจากภาษามลายูว่า “บุโละ” แปลว่า ไม้ไผ่ เนื่องจากบนเกาะแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ไผ่ จึงตั้งชื่อเกาะตามสภาพแวดล้อมพันธุ์ไม้ที่เคยมีอยู่ก่อน
หมู่เกาะเกาะบุโหลน ถิ่นพิสุทธิ์แห่งท้องสมุทรอันดามัน หมู่เกาะที่ยังคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ งดงาม และวิถีชีวิตอันอันเรียบง่าย ดังคำเปรียบเปรยว่าเกาะบุโหลน คือ เกาะสมุยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว คือ เกาะพีพีเมื่อ 20 กว่าปีก่อน คือ เกาะหลีเป๊ะที่ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา
“บุโหลน” เพี้ยนมาจากภาษามลายูว่า “บุโละ” แปลว่า ไม้ไผ่ เนื่องจากบนเกาะแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ไผ่ จึงเรียกชื่อตามพันธุ์ไม้ว่า "เกาะบุโหลน" ซึ่งเป็นเกาะที่มีหาดทรายขาว น้ำใส สามารถมองเห็นปะการังใต้น้ำ จนได้ชื่อว่าเป็นมุกใหม่แห่งอันดามัน โดยเฉพาะเกาะบุโหลนเล หรือบุโหลนใหญ่ มีทิวสนขึ้นริมหาดทรายขาวเป็นแนวยาวเสมือนเป็นแนวกำแพงป้องกันภัยทางด้านเหนือและใต้ สามารถกำบังลมได้ดี และมีจุดดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกกระจายอยู่หลายจุด เช่น เกาะอายำ และเกาะหินขาว อ่าวพังกา นอกจากนี้ยังมีชาวประมงเรือเล็กที่มาอาศัยจอดเรือหาปลามิได้ขาด มีบังกะโลที่สร้างขึ้นไว้สำหรับเป็นที่พักของนักท่องเที่ยว แต่เนื่องจากเกาะบุโหลนยังมีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก ทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะจึงยังคงความอุดมสมบูรณ์และยังไม่ถูกทำลาย
ลักษณะทางกายภาพ
เกาะบุโหลนตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีลักษณะเป็นเกาะหินปูนที่มีความลาดชัน ภูมิประเทศมีที่ราบเพียงเล็กน้อยบริเวณหุบเขาและชายหาด อยู่ในทะเลฝั่งอันดามัน ลักษณะพืชพันธุ์ธรรมชาติที่พบมาก ได้แก่ ตะเคียนหิน ตะเคียนทราย ยาง สาวดํา ตะแบก ไฉน มะม่วงป่า พะยอม ศรีตรัง แคฝอย อินทนิล กระโดน ส้มเสี้ยว ฯลฯ และพืชพื้นล่าง เช่น หวาย เฟิน มอส ขิง ข่า ไผ่ เป็นต้น
นอกจากนี้เกาะบุโหลนยังมีแนวปะการังใต้น้ำที่มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ ปักเป้าทะเล ปลากระทงแดง ปลาไหลทะเล ปลากระบอก ปลากะพง ปลาจะละเม็ดดํา ปลาอินทรี ปลาโอ ปลาสินสมุทร ปลานกแก้ว ปลาสาก ปลาสิงโต ปลาโนรี ปลาผีเสื้อ ม้าน้ํา กุ้ง ปู หอย ปลิงทะเล และดาวทะเล
เกาะบุโหลนประกอบด้วย “5 เกาะ 1 หิน” ได้แก่ เกาะบุโหลนเล (บือซาค) เกาะบุโหลนดอน (ดางาด) เกาะบุโหลนไม้ไผ่ (ตืองะ) เกาะบุโหลนรัง (ซารัง) เกาะหินขนาดเล็กไม่มีชายหาดและแนวปะการัง และเกาะบุโหลนไก่ (อายำ) เกาะเล็ก ๆ ที่ไม่มีชายหาดและแนวปะการังเช่นเดียวกัน (เกาะที่มีคนอาศัยอยู่ คือ เกาะบุโหลนเลและเกาะบุโหลนดอน เกาะบุโหลนไม่ไผ่เป็นที่ตั้งของสำนักงานหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่มีเจ้าหน้าที่อาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง ส่วนเกาะบุโหลนรังและเกาะบุโหลนไก่ไม่มีคนอาศัยอยู่) ส่วน 1 หินนั้น คือ “หินขาว” ที่หลายคนมักเรียกว่าเกาะหินขาว แต่แท้จริงแล้วสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่เกาะ เพราะเป็นเพียงโขดหินใต้ทะเลสีขาวที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ที่มีทั้งส่วนที่ขาวเองตามธรรมชาติและขาวจากสีของขี้นก ภายใต้จุดน้ำหินขาวแห่งนี้มีปะการังซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความชื่นชอบกิจกรรมดำน้ำดูปะการัง
ลักษณะดิน
ดินบนเกาะบุโหลนเป็นดินแบบหาดทราย (Beach) เป็นพื้นที่ระหว่างแนวน้ำทะเลขึ้นและน้ำทะเลลง มีลักษณะเป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นจากการกระทําของคลื่นและกระแสน้ำทะเล ยังไม่มีพืชพรรณชนิดใดขึ้นปกคลุม มีเนื้อดินเป็นดินทรายและมักมีเปลือกหอยปะปนอยู่ในดิน โดยแต่ละพื้นที่บนเกาะบุโหลนจะมีลักษณะดินที่แตกต่างกัน ดังนี้
- บริเวณที่เป็นสันหาดและสันทราย เกิดจากการทับถมของทรายโดยการกระทําของคลื่น หรือกระแสน้ำทะเล มีลักษณะแคบเป็นแนวขนานกับชายฝั่งทะเลเป็นช่วง ๆ เนื่องจากสันหาดและสันทรายเหล่านี้เป็นทรายส่วนใหญ่ ดังนั้น ดินที่พบส่วนใหญ่จึงมีเนื้อดินเป็นทรายจัด มีการระบายน้ำมากเกินไป มีปริมาณธาตุอาหารตามธรรมชาติต่ำ
- บริเวณที่ราบลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง เกิดจากการทับถมของตะกอนลําน้ำจากแผ่นดินที่ไหลลง สู่ทะเลและปะปนกับตะกอนของน้ำทะเล ทําให้มีการทับถมเกิดแผ่นดินขนานกับชายฝั่งทะเลขึ้น พื้นที่เหล่านี้จะปกคลุมด้วยพืชพรรณพวกไม้โกงกาง มีการระบายน้ำได้เร็วมาก เนื่องจากมีสภาพน้ำแช่ขัง ลักษณะเนื้อดินทั่วไปเป็นดินเหนียวทั้งดินบนและดินล่าง
- บริเวณพื้นที่เขาและภูเขา เป็นบริเวณที่มีความลาดชันของพื้นที่มากกว่า 35.8% ขึ้นไป ซึ่งจะมีหินดินดานสีดําปนเทาเกิดรวมกับหินทรายสีขาวถึงสีน้ำตาลปนเหลือง
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของเกาะบุโหลนโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นแบบร้อนชื้น อบอุ่น ไม่ร้อนจัด แบ่งเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน โดยช่วงฤดูร้อนมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมประกอบกับสภาพภูมิประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนี้
- ฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ได้รับอิทธิพลจากลมซึ่งพัดจากมหาสมุทรเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ หอบเอาไอน้ำเข้ามาปะทะกับทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งขวางทิศทางลมตามแนวเหนือใต้ ทําให้ฝนตกบริเวณพื้นที่ตามแนวภูเขา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูฝนตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคม-ปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมาจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เป็นสําคัญ และต่อจากนั้นจะเริ่มอ่อนกำลังลง ลมจะเปลี่ยนทิศทางเป็นมรสุมอีกฤดูหนึ่ง
- ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลมที่พัดผ่านทะเลจีนอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปกติจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน ทําให้ฝนตกตลอดแนวชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ส่วนฝั่งตะวันตก ลมที่พัดมาปะทะกับทิวเขานครศรีธรรมราช ทําให้เกิดฝนตกน้อยในพื้นที่ ดังนั้น เดือนมกราคม-เมษายน จึงเป็นช่วงฤดูแล้ง
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลปากน้ำ หมู่ที่ 3 บ้านเกาะบุโหลน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 598 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 302 คน ประชากรหญิง 296 คน และจำนวนครัวเรือน 193 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565) ประชากรที่อาศัยอยู่เป็นชาวบ้านที่มีพื้นเพมาจากชาวเลอูรักลาโวยจ เสรีชนผู้ชีวิตอย่างอิสระเสรีในมหาสมุทร ก่อนเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตมาตั้งบ้านเรือนถาวร และชาวบ้านจากบนฝั่งที่ขึ้นไปประกอบอาชีพและตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะมาจนปัจจุบัน
อูรักลาโวยจสภาวะทางเศรษฐกิจของชาวบ้านบนเกาะบุโหลนมีรายได้หลักมาจากการทำประมง ซึ่งรายได้ไม่แน่นอน บางวันรายได้ค่อนข้างสูง แต่บางวันรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในครอบครัว เนื่องจากจำนวนสัตว์น้ำที่จับได้ในแต่ละวันไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีภาวะหนี้สิน โดยเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมจากแพปลาหรือนายทุนและแหล่งเงินทุนอื่น ๆ เพื่อนํามาประกอบอาชีพประมงทั้งหมด เช่น การซ่อมแซมเรือ ซื้อเรือ ซื้อเครื่องมือ และอุปกรณ์การทําประมง ฯลฯ นอกจากนี้ชาวบ้านหรือเกษตรกรบนเกาะบูโหลนยังจะต้องซื้อหาอาหารหรือสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคในราคาที่ต่างจากท้องตลาดทั่วไปในราคาที่สูงกว่าราคาสินค้าทั่วไป อันเนื่องมาจากการขนส่งสินค้า อาหารต่าง ๆ มายังเกาะต้องอาศัยเพียงการขนส่งทางเรือเพียงอย่างเดียว ทําให้การปรับราคาสินค้าขึ้นอยู่กับความพอใจของพ่อค้าแม่ค้า และหากชาวบ้านประสงค์จะเดินทางมายังแผ่นดินใหญ่เพื่อซื้ออาหาร หรือสินค้าทางการเกษตร ก็จะต้องใช้เรือของตนเองเดินทาง หากใครไม่มีเรื่องเป็นของตนเองก็จะต้องเดินทางมากับเรือเพื่อนบ้านหรือเรือรับจ้างที่คิดอัตราค่าโดยสารค่อนข้างแพง
การทําประมงพื้นบ้านบนเกาะบุโหลน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีเรือเป็นของตนเอง สําหรับครอบครัวที่ไม่มีเรือเป็นของตนเองจะทําการเช่าเรือประมง หรือออกทำการประมงร่วมกับเรือของเพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้อง โดยเฉลี่ยค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินเรือและค่าซ่อมแซมเรือ การทำประมงบนเกาะบุโหลนสามารถทำได้ตลอดทั้งปี เช่น การทําประมงลอบปลาหมึก การทําประมงอวนจมปูม้า ทั้งนี้ ยังมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องแหล่งทําประมงกับชาวประมงพาณิชย์ อีกทั้งทรัพยากรสัตว์น้ำเริ่มลดน้อยลง ทําให้จับสัตว์น้ำได้ไม่คุ้มทุน ประกอบกับการขาดเงินทุนที่จัดซื้อเครื่องมือที่หลากหลายชนิดเข้ามาใช้ในการทําประมงตามฤดูกาลในแต่ละปี ร่วมกับเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้จับสัตว์น้ำได้มากขึ้นและลดการว่างงานในแต่ละช่วงเวลาได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวบ้านบนเกาะบุโหลนจะมีความชำนาญในการทำประมง แต่ขณะเดียวกันกลับขาดความรู้ด้านการทำเกษตรกรรม ทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ กอปรกับแหล่งน้ำจืดที่มีไม่เพียงพอ อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังมีลักษณะเป็นดินทรายและบางส่วนเป็นกรด และมักมีพายุลมแรงตลอดทั้งปีซึ่งไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชผลทางการเกษตรเท่าใดนัก โดยพืชที่ปลูกบนเกาะบุโหลน ได้แก่ มะม่วง พริก กะเพรา โหระพา ขมิ้น ขิง ข่า มังคุด ลองกอง มะพร้าว ชะมวง ยางพารา ซึ่งบางชนิดก็สามารถเจริญเติบโตได้ดีท่ามกลางสภาพแวดล้อมของเกาะบุโหลน เช่น มะละกอ ชะอม น้อยหน่า โดยการปลูกพืชบนเกาะจะเป็นการปลูกแบบปล่อยตามสภาพแวดล้อม เช่น การปลูกพืชผักสวนครัวบางชนิดที่ปลูกลงไปในดินทรายซึ่งไม่มีแร่ธาตุ อันเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พืชม่ามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้
การเลี้ยงสัตว์ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่พบบนเกาะบุโหลน แต่การเลี้ยงสัตว์นั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบริโภคมากกว่าจะเลี้ยงไว้เพื่อจำหน่าย เช่น แพะ เป็ด ไก่ นกกระทา โดยเลี้ยงแบบปล่อยให้หาอาหารเอง ไม่มีคอก หรือจัดเตรียมอาหารให้ อีกทั้งยังไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เป็นเหตุให้เมื่อเกิดโรคระบาดจึงทำให้สัตว์ติดโรคและล้มตายเป็นจำนวนมาก
นอกเหนือจากอาชีพดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อีกหนึ่งอาชีพที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อรายได้ของประชากรบนเกาะบุโหลน คือ รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยจุดเด่นของเกาะบุโหลน คือ เป็นเกาะที่มีความเงียบสงบเหมาะสําหรับการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน มีหาดทรายและปะการังใต้น้ำสวยงาม โดยเฉพาะปะการังอ่อนหรือปะการังเจ็ดสีซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดําน้ำชมปะการังในโลกใต้ท้องทะเลเกาะบุโหลน แต่อาจด้วยการประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวที่ไม่ดีเท่าที่ควร จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังเกาะบุโหลนจํานวนไม่มากเท่าใดนัก เป็นผลให้สภาพแวดล้อมของเกาะบุโหลนยังไม่ถูกรบกวนและถูกทําลาย ทว่า ขณะเดียวกันรายได้ที่ชาวบ้านบนเกาะบุโหลนจะได้รับจากภาคการท่องเที่ยวก็จะน้อยลงตามจำนวนนักท่องเที่ยว
ประชากรบนเกาะบุโหลนส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม มีมัสยิดประจำหมู่บ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความเชื่อเรื่องการนับถือผี เทวดา ดินฟ้าอากาศ และปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ปัจจุบันในหมู่บ้านยังคงมีพิธีกรรมการบวงสรวงกราบไหว้ฟ้าดิน กราบไหว้แม่ย่านางเรือ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพประมง รวมถึงมีประเพณีที่มีความเชื่อมโยงระหว่างหลักศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม เช่น ประเพณีไหลเรือไฟ ที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยเชื่อว่าการไหลเรือไฟเปรียบเสมือนการไหลลอยความทุกข์ให้ไปกับสายน้ำ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
ปัจจุบันเกาะบุโหลนกำลังประสบปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ การขาดแคลนน้ำเพื่อใช้อุปโภค-บริโภค เพราะน้ำบนเกาะแห่งนี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้าน ส่วนใหญ่น้ำบนเกาะที่ใช้ในการอุปโภค-บริโภคมาจากน้ำฝนที่ตกลงมาสู่สระน้ำบนภูเขาที่ชาวบ้านได้ขุดไว้เพื่อกักเก็บน้ำ ก่อนจะนำน้ำดังกล่าวปล่อยแจกจ่ายให้ประชาชน แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ชาวบ้านต้องประหยัดน้ำอย่างหนัก กระทั่งบางครั้งต้องนำน้ำทะเลมาอาบน้ำแทนน้ำจืด ในขณะที่น้ำดื่มต้องอาศัยการจัดซื้อจากในอำเภอเมืองละงูและการรับบริจาคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าที่มีการจำกัดการงานในเวลา 18.00-22.00 น. ซึ่งนอกเหนือจากช่วงเวลาดังกล่าว ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการดับไฟ ทำให้ชาวบ้านบนเกาะต้องประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก
ด้วยศักยภาพอันล้นเหลือและทรัพยากรธรรมชาติอันงดงาม อีกทั้งยังคงมีความดิบ (ยังไม่ถูกประยุกต์ ดัดแปลง หรือกระทำการสิ่งใดที่ถือเป็นการรบกวนธรรมชาติ) ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้เกาะบุโหลนในวันนี้เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาพักอยู่ไม่ได้ขาด ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดสตูลโดยการส่งเสริมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง ได้ร่วมกันผลักดันกิจกรรมนำร่อง “เที่ยวเกาะบุโหลนแบบวันเดย์ทริป” (1 Day Trip) เพื่อต้องการกระจายรายได้สู่พื้นที่เกาะบุโหลนให้มากขึ้น และกระจายนักท่องเที่ยวที่ไปอัดแน่นบนเกาะหลีเป๊ะให้มาเที่ยวทะเลสตูลทางตอนเหนือที่เกาะแห่งนี้
ทั้งนี้ นอกจากสภาพธรรมชาติหาดทรายชายทะเลแล้ว ลักษณะเด่นหนึ่งของเกาะบุโหลน คือ อยู่ใกล้ฝั่ง มีความเป็นวิถีชีวิต สงบ บรรยากาศดีเหมาะการพักผ่อน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เริ่มมีนายทุนเข้าไปจับจองที่ดินบนเกาะเพื่อสร้างรีสอร์ต โฮมสเตย์ หรือที่พักเพื่อรองรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งนายทุนหลายรายที่ได้ไปจับจองที่ดินบนเกาะบุโหลนด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดการเข้าไปปราบปรามรื้อถอนรีสอร์ตจำนวนหนึ่งของกลุ่มนายทุนที่เข้ามาบุกรุกพื้นที่อุทยานอย่างผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ด้วยแนวทางการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบไทย ๆ ที่ผู้อนุรักษ์ หวังดี จริงใจ เน้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน มักจะพ่ายแพ้ต่อผู้ที่มาแสวงหาผลประโยชน์กอบโกย สุดท้ายสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เกาะหลายเกาะ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าตามมาจนเสียศูนย์กู่ไม่กลับ กลายเป็นปัญหาพื้นฐานที่วันนี้ยังแก้กันไม่ได้ โดยเฉพาะความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติอันเกิดจากธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าอนาคตในอีก 5-10 ปี ภายหน้า หากเกาะบุโหลนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น เกาะบุโหลนจะยังคงมีความสามารถที่จะบริหารจัดการและอนุรักษ์ไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและวิถีชีวิตอันเป็นมนต์เสน่ห์ของเกาะบุโหลนไว้ได้หรือไม่
หมู่เกาะเภตรา
นายหนุ่ม ณ นนท์. (2563). เกาะแห่งหนึ่งในสตูล ที่ชื่อว่า...เกาะบุโหลน. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://pantip.com/
ปิ่น บุตรี. (2558). “เกาะบุโหลน” งามหลาย...ธรรมชาติพิสุทธิ์ทะเลไทย รักษาไว้ให้ดีๆ/ปิ่น บุตรี. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/travel/
ผู้จัดการออนไลน์. (2566). รองเลขาธิการ ศอ.บต.นำทีมรุดสำรวจปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้านเกาะบุโหลน. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/south/
มูลนิธิชัยพัฒนา. (2554). โครงการช่วยเหลือราษฎรเกาะบุโหลน ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล (9 พฤศจิกายน 2554). สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.chaipat.or.th/site-content/
วราวุธ อโณทัย. (2552). แนวทางการพัฒนาการเกษตรของเกษตรกรเกาะบูโหลน ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สำนักงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2565). โครงการสำรวจ ศึกษา วิจัยและพัฒนา เกาะบูโหลน จังหวัดสตูล. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://rpc.psu.ac.th/
Designbydx. (2559). เกาะบุโหลน และบ้านบากันใหญ่ จ.สตูล กุมภาพันธ์ 2559 (5 วัน 4 คืน). สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://hikingthai.com/
GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน). (2564). เปิดมุมมองด้วยดวงตาจากอวกาศไปกับGISTDA...ครั้งใหม่ที่จะทำให้เราใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/gistda/