ชุมชนชาวมอญที่มีอายุยาวนานมากกว่าสองศตวรรษ แหล่งมรดกทางภูมิปัญญาภาพจิตรกรรมฝาผนังตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่สลักลวดลายอย่างวิจิตรงดงามไว้บนฝาผนังวัดคงคาราม อีกทั้งยังมีพิพิธิธภัณฑ์พื้นบ้านรวบรวมศิลปะของมีค่าของชาวมอญมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล
ชุมชนชาวมอญที่มีอายุยาวนานมากกว่าสองศตวรรษ แหล่งมรดกทางภูมิปัญญาภาพจิตรกรรมฝาผนังตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่สลักลวดลายอย่างวิจิตรงดงามไว้บนฝาผนังวัดคงคาราม อีกทั้งยังมีพิพิธิธภัณฑ์พื้นบ้านรวบรวมศิลปะของมีค่าของชาวมอญมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล
ภายหลังจากที่พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาจากพม่าและทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมื่อข่าวนี้ได้แพร่กระจายไปถึงพม่า หัวหน้ามอญเมืองเมาะลําเลิงซึ่งกําลังหลบหนีพม่าอยู่ก็ส่งคนเข้ามาติดต่อเจ้าพระยารามัญวงศ์ที่เคยรับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตก เพื่อขออพยพเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตก็อพยพครัวเรือนและพวกติดตามเข้ามาประมาณหนึ่งพันครัวเรือน โดยเดินทางเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ แต่ขณะอพยพเข้ามานั้น กรุงธนบุรีก็ได้เกิดเหตุจลาจลวุ่นวายขึ้น พวกชาวมอญจึงได้หยุดพักตั้งถิ่นพํานักอยู่ที่ไทรโยค เมืองกาญจนบุรี
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชย์พร้อมทั้งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยารามัญวงศ์ก็ได้กราบทูลถึงเรื่องที่มอญขอเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารให้ทรงรับทราบ และพระองค์ก็ได้ทรงอนุญาต พร้อมแต่งตั้งเจ้านายมอญเมืองเมาะลําเลิงทั้งหมดจํานวนเจ็ดคนซึ่งก็เป็นเครือญาติวงศ์เดียวกันให้เป็นนายด่านป้องกันทัพพม่า โดยเมืองด่านทั้งเจ็ด ได้แก่ เมืองไทรโยค ท่าขนุน ท่ากระดาน ท่าตะกั่ว ลุ่มสุ่ม สิงห์ และเมืองทองผาภูมิ ชาวมอญเรียกเจ้าเมืองทั้งเจ็ดนี้ว่า “เจี๊ยะเดิงฮะเป๊าะ” (เจี๊ยะ-กิน หรือครอง, เดิง-เมือง, ฮะเป๊าะ-เจ็ด) ต่อมาชาวมอญที่อยู่ใต้การปกครองของพม่าได้ทราบข่าวก็ได้อพยพติดตามเข้ามาสมทบอีกเป็นจํานวนมาก เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงได้มีชาวมอญบางกลุ่มได้คิดขยับขยายออกไปหาที่ทํากินที่อยู่ใหม่ และต่อมาจึงได้มีการอพยพไปอยู่ที่ปากเกร็ด นนทบุรี และจังหวัดใกล้เคียงถิ่นอื่นอีกเป็นจํานวนมาก
ด้วยสภาพพื้นที่ของไทรโยค เมืองกาญจนบุรี มีสภาพเป็นป่าเขา เมื่อชาวมอญมีจํานวนเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ราบลุ่มที่ใช้ในการเพาะปลูกจากเดิมที่มีน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งไม่เพียงพอมากขึ้นไปอีก ทําให้เกิดความเดือดร้อนเกิดอัตคัดขัดสนขึ้น หัวหน้ามอญทั้งเจ็ดจึงได้เดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อแจ้งต่อเจ้าพระยารามัญวงศ์และเจ้าพระยามหาโยธา ให้รับทราบถึงความเดือดร้อน พระยาทั้งสองนําความเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขอพระราชทานที่ดินทํากินให้แก่ชาวมอญ ซึ่งพระองค์ก็ทรงพระเมตตาได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต โดยทรงมอบท้องตราให้แก่พระยามอญทั้งเจ็ดเพื่อให้ไปเลือกที่ตั้งถิ่นฐานและที่ทํากินเอาเอง พระยามอญทั้งเจ็ดกับชาวมอญที่ติดตามมาจึงได้พากันเดินทางโดยล่องเรือลงมาตามลําน้ำแม่กลอง เมื่อพบว่าพื้นที่ตั้งแต่เขตอําเภอบ้านโป่งถึงอําเภอโพธารามในขณะนั้นมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำและสะดวกในการเดินทาง ประกอบกับขณะนั้นยังมีคนอาศัยอยู่น้อย จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นหมู่บ้าน และต่อมาก็ได้สร้างวัดขึ้นเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านชื่อว่า “เกียโต้” หรือ “วัดทรัพย์กลาง” ต่อมาในภายหลังสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาไทยว่า “วัดคงคาราม” ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ได้สันนิษฐานการตั้งชื่อวัดไว้ว่า คงจะมีที่มาจากคําว่า คงคา แปลว่า แม่น้ำ ผสมกับคําว่า อาราม แปลว่า ที่อยู่ของพระสงฆ์สามเณร หรือหมายถึงวัด จึงสรุปรวมความได้ว่ามีนัยมาจากการที่ “เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ” ส่วนบรรดาญาติพี่น้องชาวมอญทั้งหลายที่ติดตามมาพร้อมกันในคราวนั้นก็ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นแนวตลอดสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งต่อมาก็ขยายตัวใหญ่ขึ้นกลายเป็นหมู่บ้าน และได้สร้างวัดขึ้นเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาของหมู่บ้านตนเอง พร้อมกันนั้นก็ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ของตนเองตามชื่อหมู่บ้านเดิมของตน เมื่อครั้งที่อยู่ในเมืองเมาะลําเลิง
จากหลักฐานที่ชุมชนมีอยู่ สามารถนํามาใช้ในการคาดคํานวณหาอายุการก่อตั้งเป็นหมู่บ้านของชุมชนบ้านคงคาเหนือว่าได้ตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านมาตั้งแต่ครั้งในปี พ.ศ. ใดนั้น คงไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่ก็ได้พบว่า หมู่บ้านคงคาเหนือนี้ มีอายุในการก่อตั้งชุมชนมากว่า 200 ปี จวบจนถึงปัจจุบัน ด้วยหลักฐานที่สามารถสรุปอ้างอิงได้ดังนี้
1) จากเอกสารของฝ่ายส่งเสริมการศาสนาและวัฒนธรรม สํานักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี “ทะเบียนวัดของจังหวัดราชบุรี” พบว่าวัดคงคารามได้ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. 2320 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2330 ดังนั้น การตั้งถิ่นฐานของ ชชาวมอญในบ้านคงคาเหนือต้องอยู่ในช่วง พ.ศ. 2320 หรือก่อนหน้านั้นขึ้นไป
2) จากการคํานวณอายุของโลงศพโบราณแบบรามัญที่ใช้สําหรับบรรจุสรีระร่างของพระครูวิสุทธิบดี เจ้าอาวาสวัดคงคาราม ซึ่งได้จารึกไว้เป็นภาษามอญ และเป็นโลงมอญที่มีอยู่คู่กับวัดคงคารามมาแต่อดีตกาล คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี
3) โดยการคํานวณจากช่วงระยะเวลาระหว่างการขึ้นครองราชย์ของรัชกาล ที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2325 และเมื่อพระองค์ทรงสวรรคตในปี พ.ศ. 2352 ดังนั้น การที่เจ้าพระยารามัญวงศ์และเจ้าพระยามหาโยธา ได้เข้าเฝ้าขอพระราชทานที่ทํากินให้แก่ชาวมอญในช่วงหลังจากรัชกาลที่ 1 ได้ทรงขึ้นครองราชย์เรียบร้อยแล้ว และทรงพระราชทานที่ทํากินให้แก่ชาวมอญ โดยให้ท้องตราแก่พระยามอญทั้งเจ็ดในการไปเลือกที่ตั้งถิ่นฐานที่ทํากินเอาเอง ย่อมสรุปได้ว่า การอพยพมาตั้งถิ่นฐานของชาวมอญในลุ่มน้ำแม่กลองต้องอยู่ในช่วง พ.ศ. 2325-2352 ดังนั้น การ ตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านของชาวมอญชุมชนบ้านคงคาเหนือจึงมีอายุการก่อตั้งไม่น้อยกว่า 200 ปี (วัชระ ชูสุทธิ์, 2551: 81-83)
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านป่าไผ่ หมู่ที่ 4 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านวัดไทร หมู่ที่ 1 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านไร่ หมู่ที่ 7 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำแม่กลอง จรดตําบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านคงคาเหนือ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มน้ำแม่กลองทางตอนกลางของจังหวัดราชบุรี โดยตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก หรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง โดยพื้นที่ของหมู่บ้านทอดยาวจากทิศเหนือลงมาสู่ทิศใต้ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มเลียบริมแม่น้ำลาดต่ำไกลออกไปยังทิศตะวันออก ทําให้สภาพพื้นที่มีความเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและทําการเกษตรกรรม
บริเวณด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านซึ่งมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำแม่กลอง แต่เดิมในอดีตจะมีถนนสายเล็ก ๆ เป็นถนนดินเลียบชายตลิ่งตลอดแนวหมู่บ้าน ซึ่งผู้คนในชุมชนได้ใช้เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปมาระหว่างหมู่บ้านและตัวอําเภอโพธาราม โดยได้อาศัยความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเป็นร่มเงา เนื่องจากในอดีตนั้น การเดินทางต้องอาศัยการเดินเท้าเป็นหลัก ส่วนผู้มีฐานะหรือตําแหน่งก็จะใช้ม้าในการเดินทาง แต่ก็มีเป็นจํานวนน้อย ต่อมาได้มีรถจักรยานใช้ในการเดินทางแล้วจึงพัฒนามาเป็นจักรยานยนต์และรถยนต์ตามลําดับ ต่อมาถนนสายหลักเส้นนี้ก็ได้ถูกพัฒนาปรับปรุงเป็นถนนลาดยาง ในระยะต่อมาก็ได้มีการสร้างถนนสายหลักขึ้นภายในชุมชนอีกหลายเส้นทาง ได้แก่ ถนนสายวัดป่า-คงคา ถนนสายบ้านไร่-คงคา ถนนสายเลียบทางรถไฟ ถนนเลียบคลองชลประทาน และถนนสายค่ายหลวงเข้าหมู่บ้าน เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนกับเชื่อมต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง
ปัจจุบันพื้นที่ของหมู่บ้านแบ่งเป็นสองส่วนตามแนวยาวจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ โดยกั้นแบ่งจากเส้นทางรถไฟ ซึ่งพื้นที่ส่วนในที่ติดกับแม่น้ำจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่ชาวบ้านปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น ส่วนพื้นที่ด้านนอกถัดจากทางรถไฟออกไปทางทิศตะวันออกเดิมเป็นทุ่งนาและไร่สวน แต่ในปัจจุบันเมื่อหมู่บ้านได้ขยายตัวและประชากรเพิ่มมากขึ้น พื้นที่การเกษตรส่วนนี้จึงถูกพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนแทน โดยในอดีตเมื่อถึงหน้าน้ำหลากหลังเดือนแปดจนถึงเดือนสิบสอง น้ำเหนือที่ไหลลงมาจากเมืองกาญจนบุรี ผ่านอําเภอบ้านโป่ง ก็จะเอ่อล้นจากตลิ่งและจากลําคลองสายใหญ่ใต้วัดคงคารามซึ่งแยกมาจากลําน้ำแม่กลองไหลเข้าท่วมตัวหมู่บ้านผ่านไปยังทุ่งนาด้านท้ายของหมู่บ้านเป็นประจําทุกปี โดยระดับน้ำจะท่วมสูงอย่างมากประมาณ 1 เมตรเศษ แต่จะท่วมเป็นเวลาไม่นานมากนัก เนื่องจากกระแสน้ำจะไหลผ่านจากหมู่บ้านออกไปยังทุ่งนาที่อยู่ทางทิศตะวันออกได้อย่างสะดวกเพราะไม่ค่อยมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ น้ำจึงลดระดับลงได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่ก่อให้เกิด ความเดือดร้อนหรือเสียหายต่อพืชผล สัตว์เลี้ยง และการอยู่อาศัยมากนัก ประกอบกับชาวบ้านส่วนมากนิยมปลูกบ้านแบบยกพื้นใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม และทุกครัวเรือนจะมีเรือไม้ลําเล็ก ๆ หรือ “เรือบด” ไว้ใช้สัญจรในฤดูหน้าน้ำหลาก ปัญหาดังกล่าวนี้จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านมากนัก อีกทั้งผลจากการที่น้ำท่วมทุกปีทําให้พื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น การเพาะปลูกได้ผลผลิตสูง ต่อมาเมื่อได้มีการสร้างเขื่อนที่จังหวัดกาญจนบุรีขึ้น สภาพปัญหาน้ำท่วมก็หมดไป สภาพพื้นที่หมู่บ้านในปัจจุบันจึงถูกพัฒนาจากพื้นที่การเพาะปลูกมาเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นพื้นที่ในการดําเนินกิจการของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ภาคการทําเกษตรกรรมจึงเหลืออยู่ไม่มากนัก
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรคำบลคลองตาคต หมู่ที่ 3 บ้านคงคาเหนือ มีจำนวนปรากรทั้งสิ้น 958 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 450 ประชากรหญิง 508 คน และจำนวนครัวเรือน 370 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565) ประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน คือ ชาวมอญเมาะลำเลิงที่คาดว่าอพยพเข้ามมาก่อตั้งหมู่บ้านเป็นเวลากว่า 200 ปีมาแล้ว
สภาพสังคมของชุมชนบ้านคงคาเหนือนั้นยังคงมีลักษณะของสังคมยุคดั้งเดิม คือ ยังยึดถือหลักการแห่งการเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในการสนองต่อความต้องการในระดับตนเอง ครัวเรือน และสังคม เช่น ในการจัดงานพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับครัวเรือนและงานส่วนรวมของสังคม โดยสถาบันหลักทางสังคมที่สําคัญที่ช่วยให้การดํารงวิถีแห่งความเป็นชุมชนชาวไทยรามัญได้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ยังคงทรงพลังอยู่คือสถาบันครอบครัวและสถาบันทางศาสนา โดยลักษณะพื้นฐานของการอยู่อาศัยของแต่ละครัวเรือนในอดีต มีการอยู่อาศัยร่วมกันของคนหลายช่วงอายุในครัวเรือนเดียวกันในลักษณะของครอบครัวขยายเป็นส่วนมาก แต่ก็มีบางส่วนที่ได้แยกตัวออกไปตั้งครัวเรือนใหม่ในลักษณะของครอบครัวเดี่ยว ซึ่งในปัจจุบัน ผู้คนในชุมชนชาวมอญบ้านคงคาเหนือก็ยังคงนิยมที่จะอยู่ร่วมกันในครัวเรือนเดียวกันระหว่างรุ่นบรรพบุรุษกับรุ่นลูกและรุ่นหลาน ดังนั้น ครัวเรือนในชุมชนจึงยังคงมีระบบความสัมพันธ์ที่ดีอย่างแน่นแฟ้นต่อกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามาสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ให้เกิดความเป็นปัจเจกมากขึ้นก็ตาม
มอญสังคมอดีตของชุมชนบ้านคงคาเหนือนั้น จะมีค่านิยมหลักในการประกอบอาชีพที่ถือได้ว่าเป็นความมุ่งหมายสูงสุดของทุกครัวเรือน คือ “การรับราชการ” ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจึงได้ส่งเสริมให้ลูกหลานของตนได้เข้ารับการศึกษาในระดับขั้นสูงสุด คล้ายกับการแข่งขันกันกลาย ๆ ของครัวเรือนแต่ละครัวเรือนในชุมชน ดังนั้น เมื่อบุตรหลานสําเร็จการศึกษาและสอบบรรจุเข้ารับราชการได้ ก็จะได้รับการยอมรับและได้รับการเคารพนับถือจากคนในชุมชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ อันมีเหตุผลหลักมาจากชุมชนเชื่อว่า อาชีพรับราชการเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ผู้ที่จะรับราชการได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถจึงจะสามารถสอบเข้าได้ ทั้งยังเป็นอาชีพที่สังคมยอมรับว่ามีเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่วงศ์ตระกูล และที่สําคัญ คือ จากการที่ถือว่าตนเองได้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองมอญทั้งเจ็ด ที่มีเกียรติภูมิและความรู้ทางการศึกษาอย่างดีตั้งแต่ครั้งที่อยู่ในเมืองมอญ ซึ่งค่านิยมนี้ก็ยังคงเป็นค่านิยมสูงสุดของชุมชนสืบมาจวบจนปัจจุบัน จนเป็นที่ทราบกันดีของผู้คนในชุมชนสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ที่เรียกขานหมู่บ้านวัดคง คาเหนือว่าเป็น “หมู่บ้านข้าราชการ”
นอกเหนือจากการรับราชการแล้ว ลําดับอาชีพที่รองลงมา คือ การทําเกษตรกรรม ได้แก่ การทํานา ทําไร่ ทําสวน ในอดีต ระบบการผลิตของชุมชนจะใช้ระบบการลงแขกช่วยเหลือกันตั้งแต่ขั้นแรกของกระบวนการผลิต เช่น ในการไถหว่าน การดํานา จนถึงขั้นสุดท้ายของการเก็บเกี่ยว โดยชุมชนชาวมอญบ้านคงคาเหนือจะมีหลักในการจัดการผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ คือ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะนําไปขายส่วนหนึ่ง แบ่งปันญาติพี่น้องส่วนหนึ่ง ทําบุญส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้ในยุ้งฉางเพื่อบริโภคและทําพันธุ์สําหรับการเพาะปลูกในปีถัดไป ภายหลังตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ระบบการค้าขายในตลาดใหญ่ของอําเภอโพธารามขยายตัวขึ้น เนื่องจากการคมนาคมระหว่างตัวอําเภอกับอําเภอใกล้เคียงและกับกรุงเทพฯ มีความสะดวกมากขึ้น ดังนั้น ชาวบ้านในชุมชนจึงได้ประกอบอาชีพในการค้าขายเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยพาะกลุ่มผู้หญิง ด้วยการนําผลผลิตจากไร่สวนใส่กระจาดเดินหาบไปขายในตลาดอําเภอโพธาราม ต่อมาแม่ค้าเหล่านี้ก็ได้พัฒนาการค้าขายโดยการรวบรวมและรับซื้อพืชผลจากการผลิตของคนในชุมชน นําขึ้นรถยนต์โดยสารประจําทางที่ตลาดอําเภอโพธารามนําไปค้าขายยังตลาดในกรุงเทพฯ เช่น ที่ตลาดศาลาน้ำร้อน ตลาดพรานนก ฯลฯ ส่วนฝ่ายผู้ชายก็ยังคงเป็นแรงงานหลักของครัวเรือนในการผลิตที่ต้องอาศัยความแข็งแรงในการเพาะปลูก ทําไร่ทํานา ต่อมาเมื่อสังคมอุตสาหกรรมได้ขยายตัวเข้ามายังเขตอําเภอโพธาราม เมื่อความต้องการของแรงงานและภาระครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น ผู้คนในชุมชนก็เริ่มเดินทางไปทํางานในบริษัท ห้างร้าน และโรงงานต่าง ๆ ทั้งในเขตจังหวัดใกล้เคียงและกรุงเทพฯ เป็นจํานวนเพิ่มมากขึ้นตามลําดับจวบจนปัจจุบัน
ชุมชนชาวมอญ (ไทยรามัญ) บ้านคงคาเหนือ เป็นสังคมย่อยอีกสังคมหนึ่งในประเทศไทยที่มีพัฒนาการทางสังคมและวิถีวัฒนธรรมที่เก่าแก่อันเป็นมรดกสืบทอดมาจากบรรพชนของตนเอง ซึ่งผู้คนในชุมชนยังคงช่วยกันธํารงรักษาวัฒนธรรมไว้ได้เป็นอย่างดีตามแนวทางดั้งเดิมของบรรพบุรุษทั้งในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อตามหลักพุทธศาสนาและการนับถือผี ตลอดจนการจัดพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นรูปแบบเฉพาะของชนชาวมอญ ซึ่งมีเอกลักษณ์อันแสดงถึงความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ที่ได้สืบทอดเชื้อสายต่อเนื่องกันมานานกว่าสองร้อยปีแล้ว โดยวัฒนธรรมพื้นฐานในการดําเนินวิถีชีวิตของชุมชนชาวมอญบ้านคงคาเหนือ โดยจะอธิบายดังรายละเอียดต่อไปนี้
ศาสนาและความเชื่อ
ความเชื่อของคนไทยเชื้อสายมอญบ้านคงคาเหนือตั้งแต่อดีตมานั้น มีความเชื่อในเรื่องการนับถือถือผีควบคู่กับการนับถือพุทธศาสนา ซึ่งใช้เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่มีความเชื่อมั่นและความศรัทธาอย่างลึกซึ้งเหนียวแน่น ดังนั้น ในการดําเนินวิถีชีวิตของชนชาวมอญจึงมีความเกี่ยวข้องผูกพันกับวัด พระสงฆ์ การทําบุญ และการนับถือผีตามที่บรรพชนได้สั่งสอนและนําให้ปฏิบัติอยู่เสมอมิได้ขาด
การนับถือผีบรรพบุรุษ หรือในภาษามอญเรียกว่า “อะล๊กฮ้อยห์” หรือในบางครั้งก็เรียกว่า “ผีบ้าน ผีเรือน” ได้เช่นกัน ซึ่งคําเรียกเหล่านี้ คนในชุมชนชาวมอญจะเป็นที่เข้าใจได้ตรงกัน การนับถือผีบรรพบุรุษ หมายถึง การที่คนมอญหรือคนไทยเชื้อสายมอญ (รามัญ) ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้แสดงออกถึงความเคารพ ความเชื่อถือศรัทธาและความยึดมั่นกตัญญูกตเวทิตาต่อบุพบรรพชนหรือบุพการีของตนเองที่ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว อาทิ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ฯลฯ โดยที่บุคคลเหล่านี้เป็นญาติผู้อาวุโสแห่งตระกูล ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณที่ได้ให้การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนบุตรหลานตั้งแต่เยาว์วัยจนเติบใหญ่ ชาวมอญมีความเชื่อว่าผีบรรพบุรุษของแต่ละตระกูลผีจะทําหน้าที่คอยดูแลปกป้องคุ้มครองลูกหลานให้เกิดความปลอดภัยและดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีรูปแบบวิธีการปฏิบัติในการเข้าถึงความเชื่ออันเป็นการเฉพาะของแต่ละตระกูล โดยเชื่อว่าต้องนับถือและกระทําตามแนวทางบรรพบุรุษที่ได้กระทํามา ซึ่งหากเกิดการฝ่าฝืนไม่เชื่อฟังหรือละเลยไม่กระทําตามกฎเกณฑ์ ก็จะได้รับการลงโทษจากผี เช่น ทําให้เกิดการเจ็บป่วย เกิดเหตุเภทภัย หรือการทํามาหากินไม่ขึ้นทั้งแก่ตนเองหรือบุตรหลานในครัวเรือน การนับถือผีประจําหมู่บ้าน รวมถึงผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วไปที่มีอยู่ในชุมชน ที่เชื่อกันว่าจะช่วยคุ้มครองให้หมู่บ้านมีความปลอดภัยจากสิ่งไม่ดีทั้งปวง โดยทุกคนในหมู่บ้านต้องให้ความเคารพ และมีวิธีการของชุมชนในการแสดงถึงความเคารพนับถือ เช่น การจัดเลี้ยงผีประจํา หมู่บ้านที่ศาลเจ้าเป็นประจําทุกปี หรือการจัดของเซ่นไหว้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ เป็นการครั้งคราว โดยความเชื่อเหล่านี้ ชาวบ้านคงคาเหนือยังคงให้ความนับถือและได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
การเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน
บ้านคงคาเหนือจะมีพิธีเลี้ยงผีประจําหมู่บ้าน หรือเรียกกันว่า “ศาลเตี้ย” หรือ “ศาลเจ้าพ่อเทศ” เป็นประจําทุกปี ในช่วงเดือน 6 วันเลี้ยงผี เรียกว่า “วันออกศาลเจ้า” ก่อนถึงวันจัดเลี้ยงหนึ่งวัน คนในหมู่บ้านก็จะมาช่วยกันทําความสะอาดสถานที่ด้านนอกและด้านในบริเวณศาลพร้อมเปลี่ยนผ้าสีที่ผูกประดับศาลใหม่ให้เรียบร้อยสวยงาม ซึ่งในสมัยก่อนจนถึงปัจจุบันจะมีตัวแทนชุมชนเป็นคนเดินบอกบุญเรี่ยไรเงินตามบ้านเพื่อที่จะได้มาร่วมทําบุญกัน เงินที่ได้มาก็จะนําไปใช้ในการจัดซื้อของมาจัดเลี้ยงผี ถวายพระ และเป็นค่าดนตรีปี่พาทย์มอญ ที่จําเป็นต้องใช้บรรเลงประกอบพิธีการรําผีและเข้าทรงของคนทรง ในการบอกบุญ ผู้เรี่ยไรก็จะทําหน้าที่ในการบอกกําหนดนัดหมายและวันเวลาให้กับชาวบ้านทุกคนได้รับทราบ และเชิญชวนให้มาร่วมงานพิธีเลี้ยงผีประจําหมู่บ้านในปีนั้น
การจัดพิธีเลี้ยงผีประจําหมู่บ้านนี้จัดขึ้นเป็นประจําทุกปีมิได้ขาดเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้าน ในการขอให้ “เจ้าพ่อเทศ” ซึ่งเป็นผีประจําหมู่บ้านได้ช่วยคุ้มครองดูแลหมู่บ้านและลูกหลานให้มีความสุขสงบและมีความเจริญในปีต่อไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานบุญร่วมกันของคนในหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน และเป็นการแสดงถึงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน
ประเพณีทุคคตะ หรือ “แม่งปล่ายเติกขะตะ”
ประเพณีตำนานทุคคตะ หรือ “แม่งปล่ายเติกขะตะ” โดยชาวบ้านจะออกเสียงเป็น “ตุ๊ก-กะ-ตะ” การจัดงานทุคคตะของชุมชนชาวมอญบ้านคงคาเหนือ จะทําการเลี้ยงพระเฉพาะในปีที่มีเดือน 8 สองหน ก่อนถึงวันที่กําหนดประมาณ 1 เดือน ทางวัดคงคารามก็จะประกาศแจ้งให้ชาวบ้านได้ทำการจองพระภิษุ โดยปกติธรรมเนียมโบราณจองพระจะจองได้ครัวเรือนละหนึ่งรูปเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้ผ่อนคลายในเรื่องการจํากัดจํานวนพระลง เนื่องจากเหตุผลหลายประการและท้ายสุดต้องการให้ชาวบ้านได้ทําบุญร่วมกัน เมื่อครบวันก็ปิดการรับจองพระ ทางวัดโดยเจ้าอาวาสก็จะไปนิมนต์พระตามวัดต่าง ๆ มาให้ครบกับจํานวนพระที่าวบ้านจองไว้ ก่อนวันเลี้ยงหนึ่งวันพ่อแม่ ญาติพี่น้องในครัวเรือน ก็จะช่วยกันเตรียมบ้านเรือนให้สะอาด จัดสถานที่เลี้ยงพระ ทําการตั้งโต๊ะหมู่บูชา ปูเสื่อจัดเตรียมอาสนะ เตรียมอาหารคาวหวาน และจตุปัจจัยไทยธรรมไว้ให้พร้อม เมื่อถึงวันเลี้ยงพระทุคคตะ ในตอนเช้าเวลาประมาณ 06.00 น. แต่ละครัวเรือนก็จะส่งตัวแทนของครัวเรือนไปรับพระที่วัด เมื่อพระทั้งหมดที่ได้รับกิจนิมนต์ไว้แต่ละวัดมาพร้อมเพรียง คณะกรรมการวัดก็จะดําเนินการจับสลากด้วยการเขียนชื่อเจ้าของบ้านที่จองพระใส่ไว้ในขันใบใหญ่ ต่อมาก็นิมนต์ให้พระแต่ละวัดเข้าจับสลากทีละรูปจนครบจํานวนพระทั้งหมดที่วัดได้ไปนิมนต์มา เมื่อไปถึงบ้าน เจ้าบ้านทําการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ต่อมาจึงทําการกล่าวสมาสงฆ์ และทําการอาราธนาศีล เมื่อพระให้ศีลจบเจ้าของบ้านกับลูกหลานก็จะยกนําอาหารคาวหวานและผลไม้มาวางไว้เตรียมถวาย จากนั้นจึงกล่าวนําถวายและถวายภัตตาหารต่อพระตามลําดับ เมื่อพระฉันเสร็จเรียบร้อยก็จะทําการถวายเครื่องไทยจตุปัจจัยไทยธรรม พระก็สวดให้พรแก่ญาติโยมทุกคนที่มาร่วมทําบุญ พร้อมทําพิธีกรวดน้ำ ขณะเดียวกันเจ้าบ้านก็จะเลี้ยงข้าวลูกศิษย์วัดที่ตามพระมา พร้อมแจกเงินเป็นน้ำใจ ถือว่าเป็นลูกหลานได้มีเงินซื้อขนมกิน ต่อจากนั้นก็นําพระส่งกลับถึงวัดเป็นอันเสร็จพิธีเลี้ยงทุคคตะในปีนั้น
วัฒนธรรมการกิน
ชุมชนบ้านคงคาเหนือโดยสภาพพื้นที่แล้วมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของอาหารการกินเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยตั้งแต่ในอดีตเป็นต้นมา และด้วย
ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีอาชีพทํานาปลูกข้าวเป็นหลัก ทําให้ชุมชนมีข้าวในการบริโภคตลอดทั้งปี แม้ในปัจจุบันการปลูกข้าวจะลดน้อยลงไปบ้าง ทว่า ก็ไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากผู้ที่ไม่ได้ทํานาส่วนมากก็จะมีที่ดินให้ผู้อื่นเช่าทํานา โดยคิดค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก ประการต่อมาชุมชนอยู่ติดแม่น้ำแม่กลองที่มีความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก เช่น ปลากด ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาลักกล้วย ปลายี่สก กุ้งแม่น้ำ ฯลฯ ส่วนวิธีการ ในการจับสัตว์น้ำก็ยังคงใช้วิธีดั้งเดิมอยู่ เช่น การทอดแห การลอยตาข่าย การวางลอบ การวางเบ็ดราว ส่วนวิธีการหาปลาที่สูญหายไปแล้ว คือ การยกยอ กับการลากเชือก เนื่องจาก ระดับของน้ำในแม่น้ำที่ต่ำลงกว่าอดีตมาก และสภาพพื้นผิวดินใต้น้ำที่ไม่มีทราย ส่วนพืชผัก ผลไม้ ที่นํามารับประทานหรือปรุงเป็นอาหารของแต่ละครัวเรือน ก็มีการปลูกกันเอง เช่น พืชผักสวนครัว ข้าวโพด กล้วย มะม่วง ชมพู่ ส่วนผักที่ขึ้นโดยทั่วไปตามธรรมชาติที่มีในชุมชนตามชายทุ่งหรือท่าน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักแว่น ผักกระถิน ฯลฯ ทุกคนก็สามารถเก็บมารับประทานได้ ต่อมาเมื่อการคมนาคมติดต่อกับตลาดโพธารามสะดวกขึ้น การซื้อหาของกินของใช้ก็มีความสมบูรณ์มากขึ้นกว่าเดิม จึงกล่าวได้ว่า บ้านคงคาเหนือเป็นชุมชนที่มีอาหารบริบูรณ์และไม่เคยขาดแคลนสักเพียงครั้งตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน
- แกง หรือ “ฟะห์” ที่ชาวมอญนิยม คือ แกงส้ม เครื่องแกงส้มเหมือนกับเครื่องแกงส้มของคนไทย แต่จะเพิ่มผิวมะกรูด กระชาย และข้าวสารแช่น้ำให้นิ่มก่อนนําไปโขลกรวมกับเครื่องพริกแกงส้มทั้งหมด เนื้อสัตว์ที่ชาวมอญนิยมรับประทานมาก คือ ปลา ไก่ หมู เนื้อวัว ส่วนที่นิยมนํามาแกงส้มและได้รสชาติแกงส้มดีที่สุด คือ ปลา ผักหรือไม้ผลที่ใช้สําหรับแกงส้ม เช่น ลูกสั้น (อะล้อด) มะตาด (ฮะเปร๋า) ผักปรัง (อะเนิงลาน) กระเจี๊ยบ (ปิ้ลอ) บอน (กราวด์) ถั่วเขียวกับใบมะรุม (ฟะห์เม่ะบอยส์) ส่วนแกงกะทิที่นิยม คือ แกงใบขี้เหล็กกับปลาช่อนย่างหรือเนื้อหมูย่าง (ฟะห์เป๊ะคัด) ส่วนแกงเลียงที่นิยม เช่น แกงเลียงใบกะเพรากับปลาย่าง (ฟะห์ดัดฮะโก่ม)
- น้ำพริกที่นิยมมีสี่ชนิด คือ น้ำพริกแดง (อะเริ่ดฮะเก๊ดฉ น้ำพริกปลาย่าง (อะเริ่ดก๊ะฮะเต้อ) น้ำปลา (ดั๊ดอะจอม) น้ำพริกกุ้งแห้ง (อะเริ่ดฮงุ่ยห์) โดยจะรับประทานแนมกับผักพื้นบ้าน เช่น กระถิน ยอดผักบุ้ง แตงกวา หน่อกระชายอ่อน มะเดื่อดอง ลูกตําลึงดอง ผักเสี้ยนดอง ฯลฯ
- ขนมจีน หรือ “ฮะนอมห์” คือ อาหารชนิดหนึ่งซึ่งนิยมทําและจัดเลี้ยงในงานต่าง ๆ ของชาวมอญในหมู่บ้าน เช่น งานบวช งานแต่ง หรือนําไปเลี้ยงคนที่วัดเมื่อมีงานสําคัญทางศาสนา
- ข้าวแช่ หรือ “เปิงซังกรานต์” คือ อาหารมอญที่จะนิยมทําเฉพาะในช่วงระหว่างเทศกาลวันสงกรานต์ การหุงข้าวแช่นี้โบราณถือว่าเป็นพิธีกรรมในการบูชาเทวดา โดยจะทำแจกจ่ายให้แก่ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน และผู้สูงอายุในหมู่บ้านเพื่อขอพรปีใหม่ ส่วนที่เหลือคนในครอครัวจะเก็บไว้รับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล
- ขนม หรือ “กวานห์” ขนมที่ชาวมอญชุมชนบ้านคงคาเหนือนิยมทํารับประทานส่วนมากจะเป็นขนมพื้นบ้านที่สามารถหาวัตถุดิบได้ง่ายจากไร่สวนรอบ ๆ บ้าน นํามาใช้ในการทําขนม เช่น มะพร้าว กล้วย ใบตอง กระบอกไม้ไผ่ ส่วนวิธีการทําขนมก็ไม่ได้สลับซับซ้อนมากนัก การทําขนมที่พบในชุมชนบ้านคงคาเหนือสรุปได้สี่กรณี คือ การทําขนมสําหรับการทําบุญตักบาตร โดยเฉพาะในช่วงวันพระ ตรุษเทศกาลต่าง ๆ ขนมที่นิยมทํา เช่น กะละแม ข้าวเหนียวแดง ขนมเทียน ข้าวต้มมัด ข้าวหลาม กรณีที่สอง คือ การทําขนมในงานพิธีของชุมชน เช่น งานบวช งานแต่ง ขนมที่ทําจําพวกนี้จะเป็นชุดแม่ครัวของหวาน ได้แก่ ขนมทองหยิบ ทองหยอด ขนมหม้อแกง ขนมฝอยทอง ฯลฯ กรณีที่สาม คือ การทําขนมที่ใช้ในงานพิธีกรรมของผีมอญ ที่มีวิธีการ ขั้นตอน และรูปแบบในการทําที่เฉพาะ เช่น ขนมทอด ขนมต้มในการเลี้ยงผีหรือการรําผี และกรณีสุดท้าย คือ ขนมที่ทํารับประทานกันในครัวเรือนทั่วไป เช่น ขนมตาล กล้วยบวชชี ขนมแกงบวดฟักทอง จาวตาลเชื่อม ฯลฯ ซึ่งขนมเหล่านี้ ทุกครัวเรือนชาวมอญนิยมทํารับประทานกันเองในครอบครัว เนื่องจากวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ทําขนมจะมีอยู่แล้วในครัวเรือนหรือไปหาเก็บเอาได้จากในไร่ในสวนไม่ต้องซื้อ
จิตรกรรมผนัง วัดคงคาราม
วัดคงคาราม วัดประจำชุมชนบ้านคงคาเหนือ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาจนสมัยกรุงธนบุรี โดยชาวมอญรามัญที่เปลี่ยนถิ่นอาศัยมาตามลำน้ำแม่กลองได้ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดคงคารามซึ่งมีมาก่อนแล้วนั้นขึ้นเป็นวัดกลาง เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมในการร่วมทำสังฆกรรมของสงฆ์แบบรามัญนิกาย โดยมีชื่อเรียกเป็นภาษามอญว่า “เกี้ยโต้” วัดคงคารามเจริญรุ่งเรืองในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้รับการอุปถัมภ์โดยเจ้าจอมมารดากลิ่น และทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นพระอารามหลวง ซึ่งได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดคงคาราม” โบราณสถานที่สำคัญภายในวัดคงคาราม คือ พระอุโบสถ ซึ่งมีเจดีย์ทรงรามัญ 7 องค์ รายรอบ เป็นตัวแทนของพระยามอญทั้ง 7 ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังอันทรงคุณค่าทางศิลปะ เป็นฝีมือช่างสกุลกรุงเทพฯ ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนั้นยังมีเรือนไทยที่มีค่าและมีความสวยงาม ปัจจุบันเรือนไทยกุฏิ 9 ห้อง ซึ่งได้ถูกจัดตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม รวบรวมศิลปะของมีค่าของชาวมอญมาตั้งแต่โบราณ
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดคงคาราม เป็นงานจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 4 อันสืบทอดจากสกุลช่างรัชกาลที่ 3 เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร ผนังด้านหลังเขียนภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน พื้นที่ห้องระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพทศชาติชาดก พื้นที่เหนือช่องหน้าต่างขึ้นไปเขียนภาพพุทธประวัติ และเหนือขึ้นไปเขียนภาพพระอดีตพุทธเจ้า ลักษณะเด่นของจิตรกรรมแห่งนี้ คือ ความเป็นงานจิตรกรรมในหัวเมืองอันเกิดจากงานฝีมือระดับครูช่างหรือช่างจากกรุงเทพฯ ที่ออกไปรับงานตามหัวเมือง ที่เกิดการผสมผสานกับคติความเชื่อ วัฒนธรรมของผู้คนในหัวเมือง เกิดเป็นงานจิตรกรรมที่มีเอกลักษณ์ของหัวเมือง จิตรกรรมแห่งนี้มีลักษณะอย่างงานช่างในกรุงเทพฯ มีการปิดทอง การตัดเส้นเล็กและเรียบสม่ำเสมอ การเขียนรูปปราสาทและอาคารบ้านเรือนที่มีอิทธิพลของศิลปะจีนผสมกับลักษณะของศิลปะยุโรป การเขียนภาพต้นไม้ ท้องฟ้า ภูเขา (เขามอ เขาไม้) ตลอดจนภาพบุคคลชั้นสูง และภาพข้าราชสำนัก การเขียนภาพชาวบ้านประกอบกับเทคนิคการใช้สีโดยเฉพาะสีเขียวแก่จัด จิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้จึงจัดว่างดงามสูงสุดและคัดเลือกครูช่างที่มีความรู้ความสามารถ ความชำนาญในงานจิตรกรรม และมีความเข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง (กรมศิลปากร 2525: 52) จิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้ปรากฏภาพเกี่ยวกับอาหารการกินอยู่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ
- กลุ่มแรก พบเป็นภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ที่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหลักคือ พุทธประวัติและทศชาติชาดก อาทิ ภาพนางสุชาดากวนข้าวมธุปายาสถวายพระโพธิสัตว์ ในภาพบุคคลแสดงอากัปกิริยาท่าทางเหมือนจริงผสมผสานกับนาฏลักษณ์ ประกอบด้วยอุปกรณ์อย่างสมจริงในการทำข้าวมธุปายาส ภาพชาวตะวันตกนั่งรับประทานอาหารบนเก้าอี้พร้อมชุดโต๊ะอย่างตะวันออก ภาพการค้าขายของชาวจีนทางเรือซึ่งเป็นปกติสามัญในสมัยนั้น กลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างคติปรัมปราที่ยังยึดโยงอยู่กับท่าทางนาฏลักษณ์ตามแบบแผนจารีตกับแนวคิดแบบตะวันตกที่มุ่งให้ความสำคัญกับสมจริงและความสมเหตุสมผล
- กลุ่มที่สอง กลุ่มภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง พบเป็นชีวิตประจำวันของชาวบ้าน อาทิ ภาพเด็ก ๆ ชาวบ้านนอกกำแพงเมืองกำลังเล่นต่าง ๆ ภาพชาวบ้านกำลังล่าสัตว์ เก็บผลไม้ เก็บของป่า ภาพชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่แสดงออกด้วยการแต่งกาย ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกลุ่มชาวมอญในบริเวณรอบวัดแห่งนี้ กลุ่มนี้แสดงอากัปกิริยาท่าทางลักษณะสามัญอย่างชัดเจน โดยไม่ได้คำนึงถึงท่าทางแบบนาฏลักษณ์ที่คงสงวนไว้ใช้กับตัวพระตัวนางหรือตัวบุคคลที่สำคัญเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสมจริงของเรื่องราวด้วยภาพเขียน
ผ้าห่อคัมภีร์ วัดคงคาราม
หากกล่าวถึงข้าวของที่หลาย ๆ วัดเก็บดูแลรักษาและเก็บสะสมทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ อาจมีรายชื่อของผ้าห่อคัมภีร์อยู่ในลำดับต้น ๆ ประโยชน์ใช้สอยของผ้าห่อคัมภีร์ก็ตรงตามชื่อ คือ เป็นผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์ และหนังสือธรรม เพื่อปกป้องพระธรรมคำสอนตามพระพุทธศาสนาที่บันทึกอยู่บนเนื้อวัสดุที่บอบบางไม่ให้เกิดริ้วรอยความเสียหาย วัสดุที่ใช้ทำผ้าห่อคัมภีร์นั้นมีหลากหลายแตกต่างกันทั้งฐานะของผู้สร้าง พื้นที่ และยุคสมัย
ในสมัยที่การพิมพ์ยังไม่แพร่หลาย คัมภีร์ใบลานมีบทบาทมากในการเผยแผ่พุทธศาสนา ผู้ชายสามารถบวชเรียนได้ มีโอกาสอุทิศตนตามหลักศาสนา ส่วนผู้หญิงก็มีบทบาทสำคัญที่จะทำนุบำรุงศาสนาในทุก ๆ ด้าน เช่น การเป็นโยมอุปปัฏฐายิกา การทำบุญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ การสร้างศาสนสถาน-วัตถุ ฯลฯ การทำผ้าห่อคัมภีร์ก็เป็นโอกาสที่ผู้หญิงจะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการอุทิศแรงกายและความตั้งใจจริงในการถักทอ และตัดเย็บผ้าห่อคัมภีร์ให้เป็นเครื่องปกป้องพระธรรมคำสอนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา นอกจากคุณค่าทางด้านพุทธศาสนาแล้ว ผ้าห่อคัมภีร์ยังสะท้อนให้เห็นศรัทธาความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คนอีกด้วย โดยผ้าห่อคัมภีร์ที่พบในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามมีมากมายหลายชนิดและมีแหล่งผลิตจากหลายประเทศ แต่ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจากประเทศอินเดีย รองลงมา คือ ผ้าพิมพ์จากญี่ปุ่น ผ้าพื้นเมือง ผ้าจากยุโรป อินโดนีเซียและจีน มีทั้งแบบมีโครงไม้ไผ่และแบบที่ไม่มีโครงไม้ไผ่ ผ้าแบบที่มีโครงไม้ไผ่นี้เป็นผ้าที่ทำขึ้นสำหรับใช้ห่อคัมภีร์โดยเฉพาะ โครงไม้ไผ่จะช่วยรับน้ำหนักคัมภีร์ที่มีน้ำหนักมากได้ ผ้าแบบนี้นอกจากจะพบในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามแล้ว ยังพบที่บ้านม่วง ชุมชนชาวมอญในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กลุ่มคนยองทางภาคเหนือ และในพม่า นอกจากนี้ยังพบผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ผ้าลายตาราง มีทั้งที่ใช้เป็นผ้าห่อจริงกับผ้าที่ใช้เป็นผ้าดามพื้นหลังเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับผ้าห่อคัมภีร์ มีทั้งทำจากผ้าฝ้ายและผ้าไหม แต่ผ้าโสร่งไหมอาจไม่ใช่ของชาวมอญ เพราะที่บ้านคงคาเหนือไม่เลี้ยงไหม แต่อาจมาจากภาคอีสานโดยมีผู้ซื้อมาถวาย หรือมีคนอีสานเข้ามาขายผ้าแถบนี้ เพราะในสมัยก่อนเมื่อหมดฤดูทำนา คนจากภาคอีสาน เช่น จากปักธงชัย โคราช จะหาบผ้ามาขาย ผ้าแบบนี้มีลักษณะเหมือนสไบ หน้าแคบมีลายขวาง ซึ่งพบที่เดียว คือ วัดคงคาราม
ชาวมอญ ถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในประเทศพม่า ซึ่งในอดีตได้ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเป็นปึกแผ่นจนกลายเป็นอาณาจักรอยู่ทางตอนกลางจรดอ่าวเมาะตะมะทางภาคใต้ของพม่า และในช่วงสมัยทวารวดีระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-17 มอญก็ได้ตั้งเป็นอาณาจักรในไทยบริเวณทางตอนกลางตลอดถึงภาคตะวันตกของประเทศไทย จากความรุ่งเรืองของมอญ ทําให้ชาวมอญได้คิดค้นภาษาของตนเองขึ้นมาเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน โดยนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์และทางมานุษยวิทยาได้จัดให้ภาษามอญอยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) หรือในกลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro Asiatic)
ปัจจุบันชาวมอญบ้านคงคาเหนือยังคงใช้ภาษามอญในการพูดคุยติดต่อสื่อสารระหว่างกัน แต่การพูดภาษามอญกันนี้จะใช้เฉพาะกับคนภายในชุมชนเดียวกันเท่านั้น เมื่อมีคนนอกชุมชนเข้ามาร่วมด้วยในการสนทนาก็จะเปลี่ยนมาใช้ภาษาไทยลางเพื่อเป็นการให้เกียรติคนนอก โดยผู้ที่ยังสามารถใช้ภาษามอญได้ดีในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้สูงอายุ สำหรับเยาวชนในหมู่บ้านก็ยังคงใช้ภาษามอญได้ดี แต่เนื่องจากระบบสื่อสารในปัจจุบันที่มีความเป็นสากลมากขึ้น ภาษาไทยกลางและภาษาอังกฤษเข้ามามีบทบาทต่อการสื่อสาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเริ่มสูญหายของภาษามอญจากระบบสังคมชาวมอญบ้านคงคาเหนือ
ในอดีตนั้น วัดคงคารามได้มีการจัดการสอนภาษามอญให้กับเยาวชนในหมู่บ้าน โดยมีพระเป็นผู้สอนให้ เมื่อพระท่านได้มรณภาพไปแล้วก็ขาดพระผู้เชี่ยวชาญที่จะมาสอนทดแทนได้ ประกอบกับในปัจจุบันผู้คนในชุมชนที่อ่านได้และเขียนตัวหนังสือมอญได้ ที่มีอยู่ในหมู่บ้านก็เหลืออยู่น้อยมาก ส่วนในระดับเชี่ยวชาญจนสามารถ ถ่ายทอดและสั่งสอนได้นั้นก็จํานวนน้อย ดังนั้น การที่จะรักษาวัฒนธรรมด้านภาษามอญ ทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียนซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สําคัญในการที่จะดํารงอัตลักษณ์ของชาวมอญจะต้องทําการปรับตัวทําการแก้ไขข้อจํากัดอย่างเร่งด่วน ส่วนการใช้ภาษามอญในทางพุทธศาสนาของวัดคงคาราม ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการใช้ภาษามอญอยู่เป็นประจําในพิธีกรรมทางสงฆ์ เช่น การอาราธนาศีลการอาราธนาธรรม การให้ศีล การสวดพระอภิธรรม การสวดมนต์ทําวัตรเช้า-เย็นของพระสงฆ์ และของเหล่าอุบาสกอุบาสิกาชาวมอญในวันพระ หรือวันธรรมสวนะต่าง ๆ ที่ได้ปฏิบัติกันอยู่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจํา
ระบบการศึกษาของชุมชนบ้านคงคาเหนือในอดีต ผู้ที่จะเข้าศึกษาหาวิชาความรู้จะต้องเข้าไปที่วัด ด้วยวิธีการที่หนึ่ง คือ ไปขอเป็นลูกศิษย์วัด วิธีที่สองบวช คือ การบวชเป็นพระ วิธีที่สาม คือ เข้าไปขอศึกษาวิชาขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่ต้องการโดยเฉพาะ ผู้ที่ทําหน้าที่ในการสั่งสอน คือ พระที่จําพรรษาอยู่จะเป็นผู้สอนหรือถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ โดยความรู้ที่วัดได้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดให้กับลูกหลานในชุมชนแยกเป็นความรู้หลักได้สามประเภท คือ ความรู้ทางโลก เช่น วิชาการคํานวณเลข ภาษาไทย และภาษามอญ ฯลฯ ส่วนความรู้ทางธรรม ได้แก่ พุทธประวัติ ศาสนพิธี ฯลฯ และความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการดํารงวิถีชีวิต เช่น วิชาสร้างบ้านเรือน วิชาการทํายารักษาโรคเจ็บป่วย วิชาทางโหราศาสตร์ ฯลฯ โดยเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการเรียน การสอนก็มีอยู่อย่างจํากัดเพียง เช่น กระดานชนวนกับดินสอเขียน ส่วนหนังสือตําราเรียนก็มีอยู่เฉพาะที่วัดสําหรับใช้สอนเท่านั้น ต่อมาเมื่อระบบการศึกษาของรัฐได้จัดตั้งขึ้น จึงได้มีการสร้างโรงเรียนขึ้นมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2467 ชื่อว่า “โรงเรียนวัดคงคารามอินทราชผดุงศิลป์” เป็นสถานที่ให้เด็กในชุมชนได้เข้าศึกษาเล่าเรียนในระดับชั้นประถมตั้งแต่นั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะไปเข้ารับการศึกษาต่อในขั้นที่สูงกว่าที่อําเภอโพธาราม ต่อมาเมื่อคนในชุมชนและคนในหมู่บ้านใกล้เคียงมีเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการสร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแห่ง ชื่อว่า “โรงเรียนธรรมาธิปไตย” และได้ทําการเปิดสอนในระดับประถมศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน
ตำนานทุคคตะ
ทุคคตะ หรือ “แม่งปล่ายเติกขะตะ” หรือออกเสียงว่า “ตุ๊ก-กะ-ตะ” ตามตํานานของชาวบ้านคงคาเหนือโดยย่อว่า ในสมัยพุทธกาลครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสป นั้น ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองพาราณสี ได้มีสองตายายที่มีฐานะยากจนเข็ญใจอยู่อาศัยกันตามลําพังในกระท่อมท้ายหมู่บ้าน ทั้งสองตายายนี้เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าตลอดมา แต่เนื่องด้วยยากจนเข็ญใจ จึงไม่มีทรัพย์ในการทําบุญเหมือนชาวบ้านคนอื่นเขา ต่อมาในหมู่บ้านได้กําหนดการจัดงานเลี้ยงพระขึ้นมาและเปิดให้ชาวบ้านในหมู่บ้านได้จองพระเพื่อรับเป็นเจ้าภาพในการถวายภัตตาหาร ด้วยความตั้งใจว่าด้วยที่ตัวเองก็แก่มากแล้ว ตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ จึงคิดว่าโอกาสที่จะทําบุญเลี้ยงพระสักครั้งหนึ่งก็เหลือน้อยลงเต็มที่ จึงตัดสินใจว่าก่อนที่จะตายลงไปก็ขอให้ได้เลี้ยงพระสักหนึ่งรูปเพื่อได้เป็นอานิสงส์ผลบุญต่อไปในภายภาคหน้า จึงได้ไปจองรับพระเป็นเจ้าภาพรูปหนึ่ง ก่อนจะถึงวันที่จะต้องไปรับพระมาเลี้ยงภัตตาหารที่บ้านตนนั้น สองตายายก็ออกไปรับจ้างคนในหมู่บ้านเพื่อหาเงิน แต่ก็ได้มาเพียงเล็กน้อยยังไม่พอเพียงในการนําไปซื้อหาของมาเลี้ยงพระได้ ในช่วงฤดูนั้นชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จพอดี เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวใส่ยุ้งฉางเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ปล่อยนาพักทิ้งไป ด้วยความตั้งใจมั่นของสองตายายที่อยากทําบุญเป็นอย่างมากแต่ก็ยากจนเข็ญใจ จึงได้พากันไปเก็บเมล็ดข้าวเปลือกที่หลุดร่วงอยู่ในแปลงนา เมื่อได้มาแล้วก็มาทําเป็นข้าวสารเตรียมหุงข้าวไว้เลี้ยงพระในตอนเช้ามืด ด้วยอานิสงส์อันเป็นความตั้งใจของสองตายายและจิตอันเป็นกุศลที่แรงกล้ายิ่ง ได้ร้อนไปถึงพระอินทร์ที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระอินทร์ได้ตรวจดูด้วยญาณของพระองค์ เห็นถึงความศรัทธาของสองตายาย จึงได้เหาะลงมาเนรมิตให้ข้าวปลาอาหารที่มีอยู่น้อยนิดนั้นกลายเป็นอาหารอันอุดมสมบูรณ์เพียบพร้อม และกลิ่นหอมของอาหารนั้นได้ลอยฟุ้งไปทั่วหมู่บ้าน ชาวบ้านเมื่อได้กลิ่นหอมก็เดินตามมาดูและได้ซักถามสองตายาย สองตายายก็เล่าให้ฟังต่อมางานบุญประเพณี การเลี้ยงพระของหมู่บ้านแห่งนั้นจึงได้กระทําสืบต่อกันมาโดยมิได้ขาด
กรมศิลปากร. 2525. รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดราชบุรี. ชุดที่ 2. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
นวลพรรณ บุญธรรม. (ม.ป.ป.). วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.xn--b3czk4afcy3gxah5a1g4e.com/
วัชระ ชูสุทธิ์. (2551). การถ่ายทอดวัฒนธรรมกานับถือผีบรรพบุรุษขแงชาวมอญ (รามัญ) : กรณีศึกษา ชุมชนชาวมอญบ้านคงคาเหนือ หมู่ที่ 3 ต.คลองคาตค อ.โพธาราม จ.ราชบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สถาบันไทยคดีศึกษา. (ม.ป.ป.). วัดคงคาราม. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566, จาก http://tkriart.com/content/31/view
Google Earth. (2566). สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/