Advance search

ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่าน ทำให้บ้านฝั่งท่ามีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งในด้านการเกษตร พืชพรรณ สัตว์น้ำและนกมากมาย นำไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านฝั่งท่าซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539

หมู่ที่ 5
ฝั่งท่า
วังก์พง
ปราณบุรี
ประจวบคีรีขันธ์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
บ้านฝั่งท่า


ชุมชนชนบท

ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่าน ทำให้บ้านฝั่งท่ามีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งในด้านการเกษตร พืชพรรณ สัตว์น้ำและนกมากมาย นำไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านฝั่งท่าซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539

ฝั่งท่า
หมู่ที่ 5
วังก์พง
ปราณบุรี
ประจวบคีรีขันธ์
77120
12.37885
99.94065
องค์การบริหารส่วนตำบลวังก์พง

บ้านฝั่งท่า เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อใด หรือมีการอพยพโยกย้ายของประชากรอย่างไรนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่อาจอุปมานได้จากประวัติเมืองปราณบุรีว่าแต่เดิมทีเดียวเป็นเมืองเก่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2444 ได้ประกาศให้เมืองปราณบุรีไปขึ้นกับเมืองเพชรบุรี และในปี พ.ศ. 2449 ก็ได้พิจารณาให้เมืองปราณบุรีไปขึ้นอยู่กับแขวงเมืองชุมพร แต่เนื่องจากที่ตั้งของเมืองปราณบุรีกับแขวงเมืองชุมพรอยู่ห่างไกลกันมากไม่สะดวก จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ และเมืองกำเนิดนพคุณตั้งเป็นแขวงเมืองขึ้นใหม่มีสภาพเป็นเมืองจัตวาอีกเมืองหนึ่ง ส่วนการตั้งชื่อเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้รัชกาลที่ 5 ได้พิจารณาเห็นว่าชื่อของเมืองปราณบุรีเป็นชื่อเมืองเก่า สมควรได้สงวนชื่อไว้ จึงทรงพระราชทานชื่อเมืองที่ตั้งใหม่ว่า “เมืองปราณบุรี” โดยตั้งที่ทำการอยู่ที่เกาะหลัก ส่วนเมืองปราณบุรีเดิม (ที่ตั้งอำเภอปราณบุรีปัจจุบัน) ให้เรียกชื่อว่าเมืองปราณ และให้ขึ้นกับเมืองปราณบุรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ตั้งแต่นั้นมาราษฎรต่างก็พากันเรียกเมืองปราณเดิมว่า “เมืองเก่า” และเรียกกันติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงแก้ไขชื่อเมืองปราณบุรีที่ตั้งที่ว่าการที่เกาะหลัก (ประจวบคีรีขันธ์) ว่าเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อกันการจำชื่อไขว้เขวกับเมืองปราณเดิม ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขและใช้ชื่อว่าปราณบุรีตลอดมา

หากพิจารณาจากความเป็นมาของเมืองปราณบุรีแล้ว อาจสันนิษฐานได้ว่า บ้านฝั่งท่า ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในพื้นที่อำเภอปราณบุรีอาจก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการภายหลังการยกฐานะเมืองปราณบุรีเป็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และยกฐานะเมืองปราณ (เดิม) เป็นอำเภอปราณบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงคาดว่าบ้านฝั่งท่าอาจก่อตั้งขึ้นภายหลังสมัยรัชกาลที่ 5 หรือรัตนโกสินทร์ตอนปลาย

บ้านฝั่งท่า หมู่ที่ 5 ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ห่างจากตัวอำเภอปราณบุรีประมาณ 8 กิโลเมตร และห่างจากถนนเพชรเกษมเพียง 4 กิโลเมตรมีพื้นที่ 1,987 ไร่ และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านวังก์พง และบ้านเบญจพาส
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ แม่น้ำปราณบุรี และบ้านนาห้วย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้ำปราณบุรี บ้านนาห้วย และบ้านเบญจพาส
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทางรถไฟ และบ้านท่ามะนาว

การเดินทางเข้าสู่บ้านฝั่งท่านั้นแม้ไม่มีรถโดยสารประจำทางวิ่งผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน แต่สามารถโดยสารรถประจำทางลงที่สี่แยกปราณบุรี หรือนั่งรถตู้มาลงที่แยกที่ว่าการอำเภอปราณบุรี หรือหากโดยสารรถไฟก็สามารถลงที่สถานีรถไฟปราณบุรี แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้าไปในหมู่บ้านได้เช่นเดียวกัน 

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลวังก์พง หมู่ที่ 5 บ้านฝั่งท่า มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,242 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 590 คน ประชากรหญิง 652 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 658 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)

ความสัมพันธ์ของชาวบ้านฝั่งท่ายังนับว่าสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกันไว้ได้ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นเดิมซึ่งสืบเชื้อสายและรู้จักกันมานาน แม้ว่าจะมีบางส่วนเป็นคนต่างถิ่น ทว่า ก็ย้ายเข้ามาตั้งรกรากในบ้านฝั่งท่าเป็นเวลานานแล้ว ฉะนั้น ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี 

ปัจจุบันประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากประชากรวัยทำงานโดยมากแล้วจะออกไปทำงานต่างชุมชนโดยเฉพาะในกรุงเทพ ซึ่งหลายครอบครัวมีบุตรหลานจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และเมื่อจบการศึกษาแล้วก็มักหางานทำในตัวเมืองโดยไม่ได้กลับมาประกอบอาชีพดั้งเดิมในหมู่บ้าน ส่วนประชากรวัยเด็กมักติดตามบิดามารดาไปเรียนหนังสือตามภูมิลำเนาที่บิดามารดาไปทำงาน ทำให้ภายในหมู่บ้านจึงมีเพียงผู้สูงอายุอาศัยอยู่เป็นส่วนมาก 

ชาวบ้านฝั่งท่าส่วนมากยังคงยึดอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก และมีการปศุสัตว์เลี้ยงวัวเนื้อและวัวนม การทำเกษตรส่วนใหญ่เป็นการทำไร่และสวนผลไม้ เช่น สับปะรด ส้มโอ มะม่วง มะขาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสับปะรดที่นิยมปลูกมากที่สุด เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของท้องถิ่น อีกทั้งบริเวณใกล้เคียงยังมีโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋อง ซึ่งทำให้การจำหน่ายผลผลิตจากไร่สับปะรดของชาวบ้านมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นเพราะไม่ต้องไปหาโรงงานหรือตลาดไกล ๆ เพื่อจำหน่ายผลผลิต การทำเกษตรกรรมของชาวบ้านฝั่งท่ามีลักษณะเด่น คือ จะไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าไปปนเปื้นในผลผลิตทางการเกษตร ทั้งนี้ เนื่องจากบ้านฝั่งท่าเป็นหมู่บ้านที่มีแนวคิดอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเกษตร มีการอนุรักษ์นกป่าพื้นบ้านและสัตว์กินแมลงต่าง ๆ ไว้ให้รักษาระบบนิเวศภายในสวนเพื่อลดต้นทุนในการใช้สารเคมีและสุขอนามัยที่ดีแก่เกษตรกร ครอบครัว ตลอดจนผู้บริโภค

การเกิดขึ้นของหมู่บ้านอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเกษตร นำไปสู่การริเริ่มก่อตั้งกลุ่มเพื่อจัดการการท่องเที่ยวใน พ.ศ. 2542 ภายใต้ชื่อ ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านฝั่งท่า ดำเนินกิจกรรมการให้บริการนักท่องเที่ยวล่องเรือชมแม่น้ำปราณบุรี และชมสวนเกษตรอินทรีย์ชีวภาพเรื่อยมาจนได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรในการอบรมให้ความรู้ในการจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในปี พ.ศ. 2545 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรอนุรักษ์บ้านฝั่งท่า ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนมาจนปัจจุบัน

อนึ่ง นอกจากการรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งชมรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรอนุรักษ์บ้านฝั่งท่าแล้ว ชาวบ้านยังได้มีการก่อตั้งกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นอีกมากมายหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้เลี้ยงโค กลุ่มไร่นาสวนผสม กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มผลิตปุ๋ยอัดเม็ด แต่ละกลุ่มจะมีการประสานงานกันดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชน โดยให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความสมัครสมานสามัคคีและไม่มีข้อขัดแย้งกันของชาวบ้านในชุมชน จึงทำให้กลุ่มกิจกรรมชุมชนเหล่านี้สามารถดำเนินการและทำงานร่วมกันได้อย่างสันติสุข

ทั้งนี้ เนื่องจากบ้านฝั่งท่าตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำปราณบุรี ซึ่งบริเวณนี้มีทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ทั้งดินชายฝั่ง ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่จำนวนมากทั้งต้นไทร ไผ่ และไม้ยืนต้นชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกป่าพื้นบ้านหลายชนิด เช่น นกเขา นกกระแต นกกางเขน นกหัวขวาน ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถล่องเรือจากหมู่บ้านเข้าไปยังแม่น้ำปราณบุรีเพื่อชมภูมิทัศน์สองฝั่งแม่น้ำและป่าชายเลนธรรมชาติ ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้าน รวมถึงอู่ต่อเรือประมงที่มีเรือตังเกหาปลาสีสันสวยงามจอดเรียงรายอยู่หลายร้อยลำ ปัจจัยดังกล่าวมานี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บ้านฝั่งท่ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของอำเภอปราณบุรี อีกทั้งบริเวณใกล้เคียงยังมีสถานที่สำคัญ เช่น วนอุทยานปราณปราณบุรี วนอุทยานท้าวโกษา มีชายหาดที่เงียบสงบ อาทิ หาดเขากะโหลก หาดนเรศวร หาดปราณบุรี ฯลฯ ทำให้การจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านฝั่งท่ามีโอกาสที่จะเติบโตมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งรายได้ที่ได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเหล่านี้คาดว่าอาจจะกลายเป็นรายได้หลักของชาวบ้านในอนาคต

บ้านฝั่งท่า เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านในชุมชนเป็นพุทธศาสนิกชนทั้งหมู่บ้าน กล่าวคือ ชาวบ้านฝั่งท่าทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นแล้วประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และพิธีกรรมต่าง ๆ จึงมีความเกี่ยวข้องกับหลักพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ประเพณีวันสงกรานต์ ฯลฯ โดยจะกล่าวถึงรายละเอียดในวันสำคัญต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ประเพณีวันสงกรานต์ : ถือเป็นประเพณีวันปีใหม่ไทยที่พุทธศาสนิกชนทุกพื้นที่ต่างปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่โบราณกาล ในวันนี้จะมีการทำบุญ ตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และกิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านในชุมชนและครอบครัว โดยจะตรงกับวันที่ 12-15 เมษายน ของทุกปี
  • วันเข้าพรรษา : เป็นพุทธบัญญัติซึ่งภิกษุสงฆ์ทุกรูปต้องปฏิบัติ หมายถึง การไม่จาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ เว้นแต่มีกิจจำเป็น โดยวันเข้าพรรษานี้จะอยู่ในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ไปจนครบระยะเวลา 3 เดือนในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และในวันเข้าพรรษานี้มีประเพณีสำคัญที่ขาดเป็นไม่ได้ คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา และถวายผ้าอาบน้ำฝน
  • วันออกพรรษา : ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งวันออกพรรษานี้ หมายถึง วันที่พระภิกษุพ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่ หรืออยู่ในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน พระสงฆ์ได้ทำปวารณาเปิดโอกาสให้เพื่อนภิกษุว่ากล่าวตักเตือนเรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือ และสามัคคีกัน เมื่อออกพรรษาแล้วจะได้นำความรู้จากหลักธรรมละประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษาเผยแพร่แก่ประชาชน
  • ประเพณีการทอดกฐิน : ประเพณีที่กระทำหลังออกพรรษา โดยมีกำหนดระยะเวลา 1 เดือน ระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11-กลางเดือน 12 การทอดกฐินมีความหมายถึงการนำผ้ากฐินไปวางต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำ 5 รูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์นั้น ๆ เป็นผู้รับกฐิน โดยวัดที่สามารถรับกฐินได้ต้องมีพระภิกษุจำพรรษาโดยไม่ขาดพรรษาเลย
  • ประเพณีลอยกระทง : เป็นประเพณีสำคัญที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ โดยชาวบ้านมีความเชื่อหลายประการที่เกี่ยวข้องกับประเพณีดังกล่าว เช่น เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่เราได้อาศัยน้ำกินน้ำใช้ การขอขมาต่อพระแม่คงคาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในแม่น้ำ การสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยไปกับกระทง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย

1. นายประจักษ์ หัวใจเพชร ผู้ประสานงานการท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านฝั่งท่า

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ททท.สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ : TAT Prachuap Khiri Khan. (2558). ททท.ชวนท่องเที่ยวเชิงเกษตร. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/

อภิวัฒน์ ภูริศิวารักษ์. (2551). การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ศึกษาพื้นที่บเนฝั่งท่า หมู่ 5 ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

องค์การบริหารส่วนตำบลวังก์พง. (ม.ป.ป.). ฐานข้อมูลเกี่ยวกับศาสนา-ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี-และภูมิปัญญาท้องถิ่น. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.wangpong.go.th/

Amazing Thailand. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าบ้านฝั่งท่า. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://thai.tourismthailand.org/

Google Earth. (2565). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

Hotel Marketing Thailand. (2564). ล่องเรือชมสองฝั่งแม่น้ำปราณ. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/photo/

ROYAL COAST การพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก. (2563). อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก http://hs.pbru.ac.th/