Advance search

บ้านนาทับ

ชุมชนเล็ก ๆ ริมฝั่งคลองนาทับ ชุมชนที่ที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยพุทธและมุสลิม พื้นที่ที่ยังคงรูปแบบวิถีและกลิ่นอายของการทำประมงพื้นบ้านเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

นาทับ
นาทับ
จะนะ
สงขลา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
21 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
บ้านนาทับ

หน้าทับ เพี้ยนมาจาก หน้าทัพ หรือหน้าค่าย เนื่องจากในอดีตบริเวณนี้เคยถูกใช้เป็นที่ตั้งทัพ และในสมัยก่อนนั้นชาวบ้านแถบนี้นิยมทำนากันเป็นส่วนมาก จึงเรียกว่า "นาทับ"


ชุมชนชนบท

ชุมชนเล็ก ๆ ริมฝั่งคลองนาทับ ชุมชนที่ที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยพุทธและมุสลิม พื้นที่ที่ยังคงรูปแบบวิถีและกลิ่นอายของการทำประมงพื้นบ้านเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

นาทับ
นาทับ
จะนะ
สงขลา
90130
เทศบาลตำบลนาทับ โทร. 0-7489-0785
7.042869
100.6877
เทศบาลตำบลนาทับ

จังหวัดสงขลาในอดีต เดิมทีมีหัวเมืองตั้งอยู่ที่บ้านจะโหนง (ตําบลจะโหนงในปัจจุบัน) ชื่อว่า “เมืองหนะ” ซึ่งมีซากเศษอิฐที่ตั้งวังเจ้าเมืองเป็นหลักฐาน เจ้าเมืองในขณะนั้นเรียกว่า “พระยาหนะ” ซึ่งปัจจุบันยังคงมีลูกหลานพระยาหนะสืบเชื้อสาย ทราบว่าเป็นต้นสกุล “เพชรสุวรรณ” ต่อมาทางราชการได้ย้ายเมืองหนะไปตั้งอยู่ที่ ณ ที่ว่าการอําเภอในปัจจุบัน ตามสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมกว่า เรียกว่า “อําเภอจะนะ”

บ้านนาทับและบ้านจะโหนงเชื่อมโยงกันโดยสายน้ำคลองจะโหนงไหลผ่านคลองนาทับลงไปสู่ทะเลที่บ้านนาทับ ซึ่งในสมัยก่อนผู้คนมักจะเลือกตั้งเมืองใกล้สายน้ำเป็นหลัก เพราะต้องใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางคมนาคม ประกอบกับคลองนาทับเป็นลำคลองที่มีขนาดกว้าง ยาว และลึก ซึ่งเรือใหญ่สามารถเข้าได้สะดวก สมัยหนึ่งทราบว่ามีข้าศึกชาวมลายูยกทัพมาตีเมืองสงขลา โดยเดินทัพเรือมาทางอ่าวไทย เจ้าเมืองสงขลาทราบเรื่องก็สั่งให้เจ้าเมืองหนะนํากําลังทหารเป็นทัพหน้าไปสกัดกั้นข้าศึก และตั้งกองทัพบริเวณริมคลองนาทับ ซึ่งปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบันนี้ ชาวบ้านเรียกว่าค่าย หรือหน้าค่าย และเรียกชื่อบ้านเพี้ยนเป็นบ้านนาทับ (ทับ มาจาก กองทัพ นา มาจากในอดีตชาวบ้านมีอาชีพทำนา) ต่อมาเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครอง ทางราชการจึงตั้งชื่อตําบลว่า ตําบลนาทับ ขึ้นกับอําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และให้บ้านนาทับอยู่ภายใต้การปกครองของตำบลนาทับด้วย 

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านนาทับมีลักษณะเป็นที่ราบติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยสลับเนินเขา มีลำคลองไหลผ่านสามารถออกสู่ทะเลอ่าวไทยได้ คือ คลองนาทับ ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านนาทับมายาวนาน ส่วนพื้นที่ราบมีลักษณะลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ทำให้ฝนตกชุกตลอดทั้งปี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าโปร่ง มีคลองนาทับซึ่งเป็นคลองน้ำกร่อยไหลผ่าน ทำให้ประชาชนสามารถทำการประมงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจขนาดใหญ่ของตำบลนาทับ  

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลนาทับ หมู่ที่ 6 บ้านนาทับ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 627 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 302 คน ประชากรหญิง 325 คน จำนวนครัวเรือน 237 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)

ชาวบ้านนาทับส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการประมง คือ มีการออกเรือไปหาปลาในทะเลเพื่อนํามาจำหน่ายเป็นรายได้ในครอบครัว บางส่วนมีการเลี้ยงปลากะพงในกระชัง การลากกุ้งเพื่อนำไปทำกะปิทั้งที่ลากจากชายทะเล เรียกว่า รุนเคย และที่ลากจากคลองนาทับด้วยวิธีการช้อน ทั้งนื้ เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทยซึ่งเหมาะแก่การทําประมง แต่ในขณะเดียวกันวัยรุ่นหนุ่มสาวยุคใหม่มักนิยมไปรับจ้างทํางานในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ด้วยเหตุผลที่ว่าอยากหารายได้เป็นของตนเองและไม่อยากประกอบอาชีพประมงซึ่งมองว่าเป็นงานที่หนัก ในขณะเดียวกันผู้ที่ทําอาชีพเกษตรก็มี คือ ผู้ที่มีที่ดินมากพอที่จะปลูกยางพารา ทำสวนมะม่วง และปลูกแตงโม นับได้ว่าอาชีพเกษตรก็เป็นอาชีพหนึ่งที่อยู่คู่วิถีชีวิตชาวนาทับมาเป็นเวลายาวนาน

นอกจากประมงและเกษตรกรรมแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอีพที่ค่อนข้างได้รับความนิยมจากกลุ่มชาวบ้านที่มีทำเลที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริเวณริมถนนสายหลักหรือบริเวณศูนย์กลางหมู่บ้าน คือ อาชีพค้าขายในลักษณะร้านขายของชำซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านมากพอสมควร 

ศาสนา

บ้านนาทับมีทั้งประชากรที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ทำให้ภายในชุมชนมีวัฒนธรรมประเพณีบางประการที่แตกต่างกันอยู่ และมีบางประการที่เกิดการผสมผสานกลมกลืนจนยากจะแยกได้ว่าประเพณีหรือวัฒนธรรมนั้น ๆ มีพื้นเพจากศาสนาใด

วัฒนธรรมของชาวไทยพุทธในชุมชนบ้านนาทับ เป็นวัฒนธรรมในลักษณะขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตตามธรรมชาติซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาที่แสดงออกผ่านพิธีกรรมและประเพณีเนื่องในช่วงต่าง ๆ ของชีวิต เช่น การเกิด การ บวช การแต่งงาน การตาย สำหรับวัฒนธรรมของชาวไทยมุสลิม หรือประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นวัฒนธรรมที่มีองค์ประกอบมาจากศาสนาเพราะชาวมุสลิมไม่สามารถแยกวิถีชีวิตออกมาจากศาสนาได้ ดังนั้น ศาสนาจึงเป็นทั้งระบบในการดำเนินชีวิต รูปแบบแห่งพฤติกรรม ตลอดจนสิ่งที่สร้างขึ้น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความศรัทธาว่า “อัลลอฮฺ คือ พระเจ้าเพียงองค์เดียว” และ “มูฮัมหมัด คือ ศาสนทูตของพระองค์” ฉะนั้น ประชากรที่เป็นชาวไทยมุสลิมจึงมีหลักข้อห้ามหนึ่ง คือ จะไม่เป็นผู้ผลิตและกระทําการเคารพรูปปั้ และไม่เคารพบูชาธรรมชาติทั้งมวล เช่น ต้นไม้ ภูเขา รูปภาพต่าง ๆ สำหรับในด้านพิธีกรรมนั้น นอกเหนือจากสิ่งที่กําหนดเอาไว้แล้ว พิธีกรรมอื่น ๆ ก็จะต้องไม่ขัดต่อหลักความศรัทธาดังกล่าว ได้แก่ ประเพณีการแต่งงาน การตาย การถือศีลอด การทําบุญกุโบร์ ซึ่งมีศาสนาเป็นหลักในการปฏิบัติ

ความเชื่อ

บ้านนาทับ เป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผลให้ภายในชุมชนมีความเชื่อในด้านต่าง ๆ ซึ่งมีปรากฏอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับยากลางบ้าน หรือการใช้สมุนไพรมาเป็นยาในการบําบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ความเชื่อทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับเวทมนตร์คาถารักษาแก้พิษงูกัดและรักษาโรคกระดูกหัก กระดูกร้าว และบางส่วนก็มีความเชื่อว่าเวทมนตร์คาถาทางไสยศาสตร์สามารถทําให้อยู่อยู่คงคงกระพัน ความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น การเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา ปรากฏการณ์ดาวหาง ผีพุ่งไต้ ความเชื่อที่เกี่ยวกับลางดีและลางร้าย หรือความเชื่อเกี่ยวกับลางบอกเหตุว่าจะเกิดเหตุร้ายในบ้านเมือง ตลอดจนความเชื่อเกี่ยวกับจริยวัตร เช่น ห้ามสบถพล่อย ๆ จะได้รับผลตามคําสบถ ห้ามลับมีดกลางคืนจะเกิดอัปมงคล ทว่า ความเชื่อเหล่านี้ในปัจจุบันลดน้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น หรือวัยหนุ่มสาว ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะความเชื่อเดิม ๆ ไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนสมัยก่อน อาจมีสาเหตุมาจากการศึกษาที่มีอิทธิพลทําให้คนมีเหตุมีผลมากขึ้น ประกอบกับความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทแก่บ้านนาทับมากขึ้น จึงทำให้ความเชื่อดั้งเดิมเหล่านี้ถูกลดทอนบทบาทความสำคัญลงไป

วัฒนธรรมการแต่งกาย

วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวบ้านนาทับ ตามปกติผู้ชายส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าโสร่งหรือนุ่งกางเกงขายาว ใส่เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืดคอกลม และคอปกตามสมัยนิยม สวมรองเท้าแตะ ไม่นิยมใส่เครื่องประดับแต่นิยมใส่นาฬิกาข้อมือ ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าปาเต๊ะหรือผ้าซิ่น ส่วนเสื้อจะใส่ตามแบบสมัยนิยม และถ้าเป็นผู้หญิงชาวไทยมุสลิมจะมีการคลุมฮิญาบหรือคลุมหัว สำหรับวัยรุ่นทั้งผู้ชายและผู้หญิง นิยมนุ่งกางเกงยีนส์เมื่อออกนอกบ้าน ถ้าอยู่ที่บ้านก็จะนุ่งผ้าโสร่ง ผ้าปาเต๊ะ และผ้าซิ่น สวมเสื้อตามสมัยนิยม และนิยมใส่เครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน นาฬิกา ตุ้มหู จะมีพิเศษเฉพาะกรณีชายไทยมุสลิมเท่านั้น คือ หากไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามจะสวมหมวกปิเยาะ (หมวกแขก) นุ่งโสร่ง และใส่เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืดคอกลมสีพื้นแขนยาว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลางสําเนียงใต้

ภาษาเขียน : อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นาทับ โมเดล. (2563).สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/Arkeerat

อาดีช วารีกูล. (2547). ศึกษาการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวไทยมุสลิมบ้านนาทับ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.

Google Earth. (2564). สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/