Advance search

บ้านควนจง

ชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา หนึ่งในพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ หมู่บ้านที่ประชากรมากกว่าครึ่งหมู่บ้านประกอบอาชีพทำสวนยางพาราซึ่งนำไปสู่การกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตอย่างเป็นระบบระหว่างช่วงเวลาการผลิตในสวนยางพารากับวัฒนธรรมท้องถิ่น จนกลายเป็น “ปฏิทินวิถีชีวิตชาวสวนยาง”

หมู่ที่ 4
ควนจง
นาหม่อม
นาหม่อม
สงขลา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
บ้านควนจง

ในหมู่บ้านมีเนินเขาเตี้ย ๆ ลักษณะสัณฐานเป็นรูปวงกลม เรียกว่า ควนกลม (ควน แปลว่า เนิน) และมีกระจง ซึ่งเป็นสัตว์จําพวกเก้งขนาดเล็กชุกชุม จึงเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “ควนจง”


ชุมชนชนบท

ชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา หนึ่งในพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ หมู่บ้านที่ประชากรมากกว่าครึ่งหมู่บ้านประกอบอาชีพทำสวนยางพาราซึ่งนำไปสู่การกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตอย่างเป็นระบบระหว่างช่วงเวลาการผลิตในสวนยางพารากับวัฒนธรรมท้องถิ่น จนกลายเป็น “ปฏิทินวิถีชีวิตชาวสวนยาง”

ควนจง
หมู่ที่ 4
นาหม่อม
นาหม่อม
สงขลา
90310
องค์การบริหารส่วนตำบลนาหม่อม โทร. 0-7438-3012, 0-7438-3021
6.970318
100.5162
องค์การบริหารส่วนตำบลนาหม่อม

ในหมู่บ้านมีเนินเขาเตี้ย ๆ ลักษณะสัณฐานเป็นรูปวงกลม เรียกว่า ควนกลม (ควน แปลว่า เนิน) และมีกระจง ซึ่งเป็นสัตว์จําพวกเก้งขนาดเล็กชุกชุม จึงเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “ควนจง” โดยคาดว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการก่อตั้งและมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมายาวนานกว่าหนึ่งร้อยปี อดีตมีบ้านเรือนเพียงไม่กี่หลังตั้งอยู่บริเวณริมทางหลวงหมายเลข 43 (คนในหมู่บ้านเรียกกันว่า ถนนสายเอเชีย) และบริเวณที่เรียกว่า บ้านตีนนา โดยบ้านตีนนาเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของหมู่บ้าน ผู้คนสองพื้นที่มีการติดต่อกันด้วยการเดินเท้าเป็นหลัก ในช่วงปี พ.ศ. 2460 มีการสร้างทางรถไฟสายใต้หาดใหญ่-สุไหงโก-ลก มี “สถานีรถไฟควนจง” เป็นหนึ่งในสถานีรถไฟของเส้นทางรถไฟสายใต้ รวมถึงมีการตัดถนนสายเอเชียซึ่งสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2493 จึงสันนิษฐานว่าการเติบโตของหมู่บ้านควนจงเกิดจากเส้นทางคมนาคมทั้งถนนสายเอเชียและเส้นทางรถไฟที่ช่วยให้การเดินทางติดต่อกับพื้นที่อื่น ๆ เป็นไปอย่างสะดวก ประกอบกับคนดั้งเดิมและคนต่างถิ่นอพยพเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างทํางานก่อสร้างและทํางานในเหมืองแร่ดีบุกที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ซึ่งคนงานเหมืองเหล่านี้ได้ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวอย่างถาวรในช่วงเวลานั้นแล้วสืบเชื้อสายมาถึงปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ ภายในหมู่บ้านมีการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ใน 4 บริเวณหลัก ๆ ที่เรียกกันว่าบ้านริมถนนสายเอเชีย บ้านตีนนา บ้านตก และบ้านกว้าน โดยมีถนนสายหลักและสายรองเชื่อมโยงบริเวณต่าง ๆ ทั้งภายในหมู่บ้านและภายนอกที่มีอาณาเขตติดต่อกันให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก

ที่ตั้งและอาณาเขต

หมู่บ้านควนจง ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 ตำบลนาหม่อม อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ภาคใต้ของประเทศไทย ภายใต้การปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลนาหม่อม มีอาณาเขตติดกับอำเภอหาดใหญ่ โดยห่างจากตัวเมืองหาดใหญ่ประมาณ 7 กิโลเมตร จากอำเภอนาหม่อม 4 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 3.8 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,188.50 ไร่ โดยประมาณ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านในไร่และบ้านทุ่งโดน ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ทางหลวงหาดใหญ่-ปัตตานี และแนวภูเขา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านพรุเมา ตำบลนาหม่อม อำเภอนาหม่อม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านปลักธง ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่

ลักษณะภูมิประเทศ

หมู่บ้านควนจงจัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อันเป็นบริเวณหนึ่งในภาคใต้ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากที่สุด มีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศเอื้อต่อการทำเกษตรกรรม สภาพพื้นที่เป็นที่ราบแคบยาวจากการถูกขนาบด้วยแนวภูเขาสูงต่ำ (ภาษาใต้เรียกว่า ควน) ภูเขากลายเป็นอาณาเขตล้อมรอบหมู่บ้าน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพาราหรือป่ายาง มีสายน้ำหรือลําธารขนาดเล็กหลายสายไหลจากบนควนลงมาสู่ลําคลอง ชื่อ “คลองหวะ” มีระยะทางที่ไหลผ่านหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร โดยไหลมาจากพื้นที่อำเภอนาหม่อมไปสู่อำเภอหาดใหญ่ ธารน้ำจากบนภูเขาที่ไหลผ่านหมู่บ้านทำให้เกิดเป็นน้ำตกขนาดเล็กที่คนในหมู่บ้านเรียกว่า “โตน” และมีแอ่งเก็บน้ำจืดที่เรียกว่า “ขุม” เกิดจากการจากขุดดินเพื่อทำเหมืองแร่ในอดีต เนื่องจากอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ดีบุก ทำให้พื้นที่หมู่บ้านในอดีตมีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองสูบ โดยมีภาคเอกชนผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองแร่ดีบุกและผลผลิตของแร่ดีบุก ในช่วงปี 2518-2522 ลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่งจึงเป็นผลมาจากการทำเหมืองแร่

สภาพทั่วไปของหมู่บ้านเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ ผู้คนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร โดยเฉพาะการทำสวนยางพาราที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษนับร้อยปี บางพื้นที่มีการทำนามาก่อน ปัจจุบัน บริเวณทุ่งนาบางส่วนถูกปล่อยให้เป็นทุ่งโล่ง ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากด้วยเป็นที่ลุ่มต่ำ บางส่วนถูกเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราและทำสวนผลไม้

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ มี 2 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูฝนและฤดูร้อน ซึ่งมีผลต่อการทำเกษตรกรรมทั้งการทำสวนยางและทำสวนผลไม้ โดยเฉพาะการกรีดยางและการเก็บเกี่ยวผลไม้ในช่วงฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม) เป็นช่วงที่ยางผลัดใบ ถือเป็นการหยุดพักเพื่อฟื้นฟูต้นยางในรอบปี และช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-กุมภาพันธ์) ในช่วงนี้จะมี 2 ระยะ คือ เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกบ้างสลับกันไปในแต่ละวัน ชาวสวนจึงยังคงกรีดยางได้ในบางวัน และเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ในช่วงนี้จะมีฝนตกชุกมาก ต้องงดกรีดยาง เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนมากขึ้นส่งผลให้ช่วงฤดูกาลคลาดเคลื่อนไปบ้าง ชาวสวนยางจึงใช้วิธีสังเกตจากสภาพภูมิอากาศและต้นยางเป็นสําคัญ และด้วยลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา จึงต้องระมัดระวังน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม และน้ำในลําคลองมีระดับสูงขึ้นและไหลบ่าท่วมบริเวณย่านพักอาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรที่อยู่ในตําแหน่งค่อนข้างลุ่มต่ำเป็นประจําทุกปี ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้บางส่วนจึงนิยมสร้างบ้านพักอาศัยยกพื้นสูงเพื่อป้องกันนํ้าท่วม

การใช้ประโยชน์ที่ดิน

1) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนจะกระจุกตัวอยู่ใน 4 บริเวณหลัก ได้แก่ บ้านกว้าน บ้านตก บ้านตีน และบ้านริมถนนเอเชีย ซึ่งเป็นการกระจุกตัวในบริเวณใจกลางหมู่บ้าน ท้ายหมู่บ้าน และตามแนวถนน อันเป็นผลมาจากตําแหน่งที่ดินซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ การตั้งถิ่นฐานจึงเกาะกลุ่มกันตามวงศ์เครือญาติ โดยพบรูปแบบการตั้งถิ่นฐาน 2 แบบหลัก คือ 1) การตั้งถิ่นฐานแบบเส้นตรง (Linear Pattern) บ้านเรือนวางตัวเรียงรายตามเส้นทางคมนาคม มีทางแยกเข้าบ้านแต่ละหลังจากถนน (กลุ่มบ้านริมถนนสายเอเชีย) 2) การตั้งถิ่นฐานแบบรวมศูนย์ (Cluster Pattern) (กลุ่มบ้านกว้าน บ้านตก บ้านตีน) มีโครงข่ายเส้นทางแบบวนรอบ (loop) อยู่ภายในกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มมีตัวบ้านเกาะกลุ่มอยู่แล้วไปเชื่อมต่อกับถนนสายหลัก มีสวนหรือพื้นที่เกษตรกรรมอยู่รอบ ๆ การขยายตัวของบ้านเรือนจึงขยายไปสู่พื้นที่ทำเกษตรกรรม มีบ้านเรือนบางส่วนอยู่ใกล้สวนยางพารา สวนผลไม้ แต่ไม่นิยมอาศัยอยู่ในสวนยางที่ลึกไกลเข้าไปด้านในจากถนนสายหลักหรือสายย่อย อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่จะเป็นโครงสร้าง คสล. 1-2 ชั้น มีร้านค้าอยู่ประปรายในย่านพักอาศัย จํานวนบ้านเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายครอบครัวของคนในหมู่บ้านเองและการย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ของคนภายนอก โดยเฉพาะจากอำเภอหาดใหญ่ เป็นไปในลักษณะการซื้อที่ดินแล้วปลูกสร้างบ้านเอง 

2) ที่ดินประเภทเกษตรกรรม ภายในหมู่บ้านมีที่ดินที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในสัดส่วนมากกว่าที่ดินประเภทอื่น ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพาราโดยอยู่บริเวณรอบหมู่บ้าน มีเพียงบางส่วนที่มีการปลูกพืชชนิดอื่นปะปนอยู่หรือสลับกับการปลูกยางพารา ในระยะหลังเกษตรกรเปลี่ยนแปลงการปลูกยางพารามาเป็นสวนผลไม้มากขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนแต่ยังไม่หนาแน่นมากนัก บางสวนมีการขุดสระน้ำ สร้างขนําไว้ในสวนสําหรับพักและเก็บอุปกรณ์ที่ใช้ทำการเกษตร นอกจากนั้น ในหมู่บ้านยังมีพื้นที่ธรรมชาติ ทั้งที่โล่ง ป่าไม้ ป่าพรุ แม่น้ำลําคลอง ขุม เหมือง ฯลฯ ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมในหมู่บ้าน สามารถจําแนกได้ 2 ประเภท ดังนี้

  • พื้นที่สวนยางพารา ในหมู่บ้านยังคงมีอยู่จํานวนมาก ทั้งบริเวณที่อยู่ริมถนนสายหลักของหมู่บ้านและบริเวณที่อยู่บนควน สวนยางบางส่วนมีการปลูกพืชแซมยาง โดยเป็นต้นไม้ประเภทไม้ป่า เช่น สัก ตะเคียน ตะแบก นอกจากนั้น บนเส้นทางที่ถูกขนาบด้วยสวนยางพาราสองข้างถนนประกอบกับเส้นทางที่คดเคี้ยว จะมีลักษณะเสมือนเป็น “อุโมงค์ต้นยางพารา” ทำให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม ร่มรื่นและเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลที่ใบยางพาราเปลี่ยนสีอีกด้วย

  • สวนผสมหรือสวนสมรม เป็นการปลูกพืชผักผลไม้ชนิดต่าง ๆ ผสมผสานอยู่ในบริเวณเดียวกัน เรียกว่า “สวนสมรม” บางสวนมีการขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ มีศาลาหรือขนําสําหรับนั่งพักและเก็บอุปกรณ์ทำการเกษตร พืชพรรณต่าง ๆ ที่ชาวสวนนิยมปลูกโดยส่วนใหญ่เป็นพืชในท้องถิ่นภาคใต้ ปลูกง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตตามฤดูกาล ได้แก่ ไม้ยืนต้น เช่น สะตอ เนียง มะพร้าว หมาก ฯลฯ ผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ขนุน จําปะดะ มะม่วง ฯลฯ ผักสวนครัวและพืชสมุนไพร เช่น พริก มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา ตะไคร้ ไผ่ตง ฯลฯ สวนสมรมในปัจจุบันจะไม่ปล่อยให้เป็นป่ารกและเติบโตเองตามธรรมชาติดังเช่นในอดีต แต่จะมีการกําหนดตําแหน่งและการเว้นระยะการปลูกที่ชัดเจน มีการดูแลรดน้ำ กําจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยที่เป็นระบบเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ นอกจากนั้น ชาวสวนยังใช้แนวคิดทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการทำสวนและการปลูกพืชผักสวนครัวในพื้นที่จํากัด ดังนั้น หลายสวนจึงมีศักยภาพที่สามารถนํามาพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายการท่องเที่ยวได้

3) ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ภายในหมู่บ้านมีพื้นที่สําคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ วัดภูเขาล้อม ที่พักสงฆ์วังมะพร้าว ศาลาต้นไทร และเขาลังกา โดยคนในหมู่บ้านจะเดินทางไปประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่วัดภูเขาล้อมเป็นหลัก 

  • วัดภูเขาล้อม หรือวัดควนจง เป็นวัดประจำหมู่บ้าน สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี พ.ศ. 2493 ในตําแหน่งที่เป็นป่าช้าเก่าแก่ เรียกกันว่า “นาเจ้าแป้น” ซึ่งยังคงเป็นตําแน่งเดิมในปัจจุบัน ส่วนบริเวณที่ตั้ง โบสถ์และกุฏิพระสงฆ์ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามในที่ดินซึ่งคนในหมู่บ้านร่วมกันบริจาค ในระยะแรกได้จัดตั้งเป็น สํานักสงฆ์ก่อน โดยเริ่มจากการมาธุดงของพระภิกษุจากทางภาคอีสานจํานวน 2 รูป คือหลวงพ่อเม่าและ หลวงพ่อพรหม ในบริเวณนี้ซึ่งยังเป็นป่ารกที่เงียบและวังเวง ชาวบ้านจึงมีความเลื่อมใสศรัทธาหลวงพ่อทั้งสองรูปจึงช่วยกันหักร้างถางพงแล้วสร้างเป็นที่พักชั่วคราวและเรียกพระภิกษุทั้ง 2 รูปว่าพระอาจารย์ จากนั้นหลวงพ่อสมจิตต์ ซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ที่เมืองสงขลาและอุปสมบทอยู่ที่วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) ได้เดินทางมาพํานักที่สํานักสงฆ์และจําพรรษาอยู่ต่อเนื่องหลายปี โดยท่านมีความเคร่งครัดในการบําเพ็ญเพียรภาวนา จึงเป็นที่เลื่อมใสแก่ญาติโยมชาวบ้านควนจงและแพร่กระจายไปสู่ภายนอก รวมถึงครอบครัวของท่านที่สงขลา ทำให้มีผู้ศรัทธามาทำบุญเป็นจํานวนมาก จนมีทุนรอนในการสร้างพระอุโบสถขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2510-2515 เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จได้รับพระราชานุญาตมีวิสุงคามสีมาเรียบร้อยจึงตั้งเป็นวัดควน และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเขาล้อม” โดยหลวงพ่อสมจิตต์ (หลวงพ่อจิตต์ จิตตวโร) ได้ดํารงตําแหน่งในฐานะ เจ้าอาวาส เรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ.2558 ท่านได้ละสังขารลง จึงได้มีการแต่งตั้งพระอาจารย์สุรีย์หรือพระครูภัทร ปัญญาคุณ ดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาสแทน ด้วยแรงศรัทธาจากศิษย์รวมถึงญาติโยมชาวควนจงได้จัดให้มีการทำบุญในวันครบรอบในวันที่ 18 เมษายนของทุกปี โดยถือเป็นประเพณีสําคัญของหมู่บ้าน
  • ศาลาต้นไทร หรือเรียกว่า “หลาต้นไทร” (หลา เป็นภาษาใต้ หมายถึง ศาลา) ตั้งอยู่บนถนนสายหลักของหมู่บ้าน โดยสร้างเป็นศาลาไม้ขึ้นราวปี พ.ศ. 2460 ในบริเวณที่มีต้นไทรขนาดใหญ่เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาก่อนที่จะมีการจัดตั้งวัดขึ้นในหมู่บ้าน โดยนิมนต์พระจากวัดในอำเภอนาหม่อมและละแวกใกล้เคียงมาประกอบพิธีกรรม ภายหลังจากที่สร้างวัดภูเขาล้อมแล้ว ชาวบ้านก็ยังคงใช้หลาแห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทำบุญในวันพระต่อเนื่องมา เนื่องจากการเดินทางไปยังวัดภูเขาล้อมขณะนั้นต้องเดินผ่านเส้นทางมีเป็นป่ารกชัฏและมีระยะทางค่อข้างไกล แต่ภายหลังจากที่มียานพาหนะและถนนหนทางสะดวกมากขึ้น คนในหมู่บ้านจึงเดินทางไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดแทน หลาแห่งนี้จึงถูกปล่อยทิ้งร้างไว้นานหลายสิบปีและชํารุดไปตามกาลเวลา ต่อมีการบูรณะโดยสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นทดแทนหลาเดิมที่ผุพัง รวมทั้งมีการสร้างศาลพระภูมิเพื่อเป็นที่สิงสถิตของเจ้าที่ เทวดาอารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในหมู่บ้านมีความเชื่อความศรัทธาว่าช่วยปกป้องคุ้มครองให้ชุมชนมีความสงบสุข จึงนับเป็นสถานที่สําคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจําของผู้คนในหมู่บ้าน ด้วยตําแหน่งของหลาต้นไทรตั้งอยู่ริมคลอง มีต้นไทรขนาดใหญ่ และมีต้นไม้ให้ความร่มรื่น รวมทั้งตั้งอยู่ระหว่างบ้านกว้าน บ้านตก บ้านตีน และริมถนนเอเชีย จึงเดินทางได้สะดวก ประกอบกับผู้นำคนปัจจุบันของหมู่บ้านต้องการพัฒนาเป็นพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นศูนย์กลางสําหรับทำกิจกรรมของคนในชุมชน จึงมีศาลาสําหรับทำกิจกรรมและตลาดชุมชนขึ้น ศาลาต้นไทร หรือหลาต้นไทรแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งบริเวณที่นับว่ามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นจุดรองรับนักท่องเที่ยวได้
  • สถานีรถไฟควนจง สถานีรถไฟควนจง (เดิม) ตั้งอยู่ระหว่างสถานีชุมทางหาดใหญ่-สถานีนาม่วง เป็นเส้นทางรถไฟสายใต้จากกรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก สถานีรถไฟควนจงถูกยกเลิกการใช้งานไปเมื่อประมาณ พ.ศ. 2530 เนื่องจากมีจํานวนผู้โดยสารน้อย ด้วยตําแหน่งตั้งห่างจากสถานีนาม่วงและชุมทางหาดใหญ่ไม่มากนัก รวมทั้งมีรถสองแถววิ่งรับส่งผู้โดยสารที่สะดวกกว่า มีจํานวนเที่ยวถี่กว่า สถานีควนจงจึงไม่มีการรับ-ส่งผู้โดยสารอีกต่อไป แต่เส้นทางรถไฟยังคงใช้งานปกติ และตําแหน่งที่ตั้งสถานยังคงมีอยู่ในปัจจุบันแต่มีสภาพเป็นป่ารกร้าง และตัวอาคารสถานีก็เสื่อมสภาพไปตามเวลา

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลนาหม่อม หมู่ที่ 4 บ้านควนจง มีจำนานประชากรทั้งสิ้น 1,425 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 682 คน ประชากรหญิง 743 คน จำนวนครัวเรือน 954 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)

การประกอบอาชีพ

ชาวบ้านควนจงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตรเป็นหลัก โดยมีรายได้หลักมาจากการทำสวนยางพารา สวนผัก ผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ตลอดจนพืชผักสวนครัวและสมุนไพรต่าง ๆ ส่วนอาชีพรอง คือ รับจ้าง ค้าขาย และรับราชการ

ทั้งนี้ สามารถจำแนกผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรบ้านควนจงได้ 2 ประเภท คือ ผลผลิตจากยางพาราและผลผลิตจากพืชพรรณอื่น ๆ ได้แก่ ผักสวนครัว พืชสมุนไพร ผลไม้ โดยส่วนใหญ่จะจําหน่ายแบบสดไม่ผ่านการแปรรูป โดยผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มาจากระบบการผลิต 4 ลักษณะ ดังนี้

1) ระบบการผลิตยางพารา ในหมู่บ้านจะมี 2 ลักษณะ คือ เจ้าของสวนยางกรีดเองและจ้างลูกจ้างกรีดแล้วแบ่งค่าตอบแทนในอัตราส่วนตามตกลง ส่วนการปลูกพืชผักผลไม้ส่วนใหญ่เจ้าของสวนจะปลูก ดูแลและเก็บเกี่ยวเอง บางกรณีที่ทําเองไม่ได้ทั้งหมดอาจมีการว่าจ้างลูกจ้างโดยมีค่าตอบแทนตามตกลงกัน ระบบการผลิตยางพาราในหมู่บ้านปัจจุบันจําหน่ายในรูปของน้ำยางสด เนื่องจากมีความสะดวกมากกว่าการทํายางแผ่นที่เคยทํากันมาในอดีต

2) ระบบการผลิตแบบสวนผสมหรือสวนสมรม เป็นการปลูกพืชหลายชนิดโดยเฉพาะผลไม้ ไม้ยืนต้น เช่น มังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกอง กล้วย มะละกอ มะพร้าว หมาก สะตอ เนียง ทั้งสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและสายพันธุ์พื้นบ้าน หลายระดับในพื้นที่เดียวกันเพื่อสร้างความหลากหลายและก่อให้เกิดความเกื้อกูลกัน มีการปลูกพืชทนร่มใต้โคนต้น การใช้วัสดุคลุมดิน การใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก มีแหล่งน้ำในสวนทั้งจากการขุดบ่อและขุดสระ ในสระมีการเลี้ยงปลา อันเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งดิน น้ํา แสงแดด ให้เกิด ประโยชน์สูงสุด สร้างความสมดุลแก่ระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์แก่สภาพแวดล้อม

3) ระบบการผลิตแบบแปลงผักสวนครัว เป็นการปลูกเฉพาะผักสวนครัวและพืชสมุนไพร เช่น บวบ มะระ กะเพรา โหระพา ฟักเขียว ฟักทอง คะน้า ผักกาด ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง มะกรูด มะนาว ถั่วพู พริก ตะไคร้ ข่า ขมิ้น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด เผือก มัน ฯลฯ โดยเก็บเกี่ยวผลผลิตวันต่อวันแล้วนําไปจําหน่ายที่ตลาดนัดหรือมีแม่ค้ามารับซื้อ บางส่วนปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน

4) ระบบการผลิตแบบแปลงผักในพื้นที่จํากัด โดยส่วนใหญ่เป็นการปลูกไว้บริเวณบ้าน ทั้งแบบใช้ดินปลูกในภาชนะและแบบไร้ดิน โดยหนึ่งในวิธีการปลูกผักลักษณะนี้มีวิธีที่เรียกว่า “ปลูกผักยกแคร่” คือ เป็นการยกแปลงปลูกให้อยู่ในระดับสูง แปลงปลูกทําจากโครงสร้างเหล็ก มีหลังคาคลุมกันแดดฝน มีการใช้ดิน ปุ๋ย และการรดน้ำเหมือนการปลูกแบบปกติ แต่ควบคุมการใช้ในปริมาณที่น้อยว่าปลูกแบบปกติ พืชที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นผักสวนครัว ผักสําหรับทําสลัด เป็นต้น

กลุ่มองค์กรชุมชน ชาวบ้านควนจงมีการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการประกอบอาชีพทั้งกลุ่มที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ได้แก่

1) กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และธนาคารหมู่บ้าน

2) กลุ่มสตรีอาสาพัฒนา4

3) กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานชุมชน

4) กลุ่มอาชีพแม่บ้านควนจง

5) กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน

6) กลุ่มอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน

7) กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ควนจง

8) กลุ่มน้ำยางสด เป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของชาวสวนยางในหมู่บ้านโดยอิสระ เพื่อรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิก แล้วส่งขายไปยังโรงงานโดยตรงเพื่อให้ได้ราคาสูงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

9) กลุ่มปลูกพืชผักสวนครัว เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเองตามความสมัครใจเพื่อจําหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกออกสู่ตลาด โดยอาจเป็นการรวมกลุ่มภายในเครือญาติหรือบ้านใกล้เรือนเคียง

วิถีชีวิตชาวสวนในหมู่บ้านของชาวบ้านควนจง ปกติแล้วจะดําเนินชีวิตไปตามช่วงฤดูกาลในการทําสวน ยางพาราเป็นสําคัญ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนกับฤดูฝน ซึ่งช่วงฤดูฝนมีระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคม และช่วงฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนเมษายน ฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่ยางผลัดใบ ชาวสวนจะงดกรีดยางเพื่อให้ต้นยางได้ฟื้นฟูลําต้น เช่นเดียวกับวันที่ฝนตกในช่วงฤดูฝนที่จะต้องงดกรีดยางเพื่อไม่ให้ต้นยางหน้าเปื่อยและเกิดความเสียหายต่อผลผลิตหรือน้ำยาง สําหรับวันที่กรีดยาง ชาวสวนจะตื่นตั้งแต่ช่วงดึกถึงเช้ามืดเพื่อเข้าสวนกรีดยาง แล้วเสร็จในช่วงเช้าหรือสาย จากนั้นจะนําน้ำยางสดไปจําหน่ายยังกลุ่มหรือร้านที่ขายประจํา จากนั้นทําความสะอาดภาชนะจึงเป็นอันแล้วเสร็จ เมื่อถึงช่วงเย็น ชาวสวนบางคนอาจเตรียมการสําหรับการกรีดยางในวันรุ่งขึ้น เช่น ลับมีด เตรียมภาชนะ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ และในช่วงว่างเว้นจากการกรีดยาง ชาวสวนจะทํางานอื่น ๆ เช่น เข้าสวนเพื่อดูแลสวน ทั้งถางหญ้า ใส่ปุ๋ย ตลอดจนดูแลปลูกพืชผักผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกแบบผสมผสาน เนื่องจากสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตหมุนเวียนได้ตลอดปี วิถีชีวิตของชาวบ้านควนจง โดยเฉพาะชาวสวนยางพาราซึ่งเป็นอาชีพของชาวบ้านส่วนใหญ่จึงดําเนินไปอย่างเป็นระบบ ทั้งในรอบวัน รอบสัปดาห์ รอบปี จนกลายเป็น “ปฏิทินวิถีชีวิตชาวสวนยาง”

ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าหมู่บ้านควนจงนั้นเป็นหมู่บ้านที่ประชากรกว่าครึ่งหมู่บ้านประกอบอาชีพทำสวนยางพาราเป็นหลัก ส่งผลให้ภายในชุมชนมีลักษณะความเป็นสังคมเฉพาะ คือ สังคมชาวสวนยาง มีวิถีชีวิต และวัฒนธรรมเฉพาะของชาวสวนยางผสมผสานกับประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต โดยในช่วงที่มีงานประเพณีชาวสวนยางจะวางแผนกรีดยางไว้ล่วงหน้าเพื่อในวันที่มีการจัดงานจะได้ว่างจากภาระงานในสวนยาง จึงอาจกล่าวได้ว่า ชาวสวนยางพาราในหมู่บ้านควนจงมีการวางแผนช่วงเวลาการผลิตในสวนของตนเองให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน ทั้งนี้  กิจกรรมประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้านควนจงมีดังต่อไปนี้

เดือนประเพณีช่วงเวลารายละเอียด
มกราคมวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคมเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันนี้จะมีการทำบุญตักบาตรโดยหมุนเวียนตามจุดต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เช่น ลานโรงเรียน ลานอาคารอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน
กุมภาพันธ์ทำบุญทานไฟวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์จัดขึ้นในช่วงเช้ามืดที่ลานวัด ภายในพิธีกรรมจะมีการจุดไฟด้วยไม้ฟืนเพื่อให้ความอบอุ่นตลอดเวลา โดยชาวบ้านจะยืนรายล้อมกองไฟ มีการเตรียมวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารมาประกอบอาหารภายในวัดตั้งช่วงเวลาประมาณ 02.00 น. เมื่อฟ้าสว่างจะนิมนต์พระภิกษุมารับบิณฑบาต จากนั้นชาวบ้านจะแลกเปลี่ยนและรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน
เมษายนประเพณีสงกรานต์และรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุวันที่ 13 เมษายนมีกิจกรรมขอพรพระ สรงน้ำพระ จัดสงกรานต์สัญจร และรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในชุมชน โดยสถานที่สำหรับจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในแต่ละปีจะเปลี่ยนสถานที่ตามความเหมาะสม เช่น บ้านผู้สูงอายุคนใดคนหนึ่ง ลานวัด ฯลฯ
เมษายนทำบุญอุทิศในวันครบรอบวันละสังขารหลวงพ่อมหาจิตต์ จิตวโรวันที่ 18 เมษายนเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงหลวงพ่อมหาจิตต์ จิตวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดภูเขาล้อม พระเกจิอาจารย์ที่ได้รับความเคารพศรัทธาจากชาวบ้านและบรรดาลูกศิษย์จำนวนมาก 
เมษายนประเพณีทำบุญวันว่างวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำเดือน 5จัดขึ้นที่ศาลาภายในบริเวณสุสานวัดภูเขาล้อม จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมาติกา ผูกโยงสายสิญจน์ไปยังบัวหรือสถูปเก็บอัฐิของผู้ล่วงลับ มีการฉายหนังตะลุงมหรสพสมโภช 1 คืน และในเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ จะมีการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
กรกฎาคมประเพณีแห่เทียนพรรษาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือก่อนวันเข้าพรรษา 1 วันประเพณีที่มีการนำเทียน หรือเรียกว่าแห่เทียนพรรษา เพื่อไปถวายพระภิกษุที่วัดในวันเข้าพรรษา
กันยายนประเพณีสารทเดือนสิบวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เดือน 10บางครั้งเรียกว่า “รับ-ส่งเปรต” โดยในวันนี้จะมีการวางอาหารทั้งคาว หวาน ผลไม้สำหรับทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ โดยเฉพาะสัมภเวสีไร้ญาติที่เชื่อว่าจะมารับเอาส่วนบุญในวันนี้เช่นเดียวกัน
ตุลาคมทอดกฐินสามัคคีวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11-วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12เป็นกฐินของประชาชน จึงเรียก กฐินสามัคคี มีขอบเขตระยะเวลา 1 เดือน หลังออกพรรษา
พฤศจิกายนประเพณีลอยกระทงวันเพ็ญเดือน 1จัดขึ้นบริเวณท่าน้ำริมคลองในหมู่บ้าน โดยจะมีการจัดประกวดกระทงหนูน้อยนพมาศด้วย 

 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาชุมชน

บ้านควนจงมีภูมิปัญญาชุมชนที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของชาวบ้านในชุมชน โดยนำทรัพยากร ความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีในท้องถิ่นมาปรับประยุกต์เพื่อพัฒนาอาชีพและนำรายได้มาสู่ชุมชน ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์ธำรงรักษาวัฒนธรรมในท้องถิ่น ดังนี้

  • การประกอบอาหาร ทั้งคาวหวาน อาหารพื้นบ้านภาคใต้ และอาหารตามประเพณีท้องถิ่น เช่น ขนมต้ม ขนมเจาะหูสําหรับงานวันสารทเดือนสิบ
  • การทํางานฝีมือ เช่น การสานตะกร้า การทําผ้าบาติก
  • การจับปลาน้ำจืด เช่น การทอดแห วางอวนปลาน้ำจืด การจับปลาไหล
  • การประกอบพิธีกรรมความเชื่อของท้องถิ่น เช่น ไหว้เจ้าที่ ไหว้ครูหมอตายาย ดูฤกษ์วันดีในพิธีการมงคล 

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง


หมู่บ้านควนจงตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นับว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ อีกทั้งยังภูเขาเป็นกำแพงกั้นอาณาเขตของหมู่บ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพาราหรือป่ายาง มีสายน้ำหรือลําธารขนาดเล็กหลายสายไหลจากบนควนลงมาสู่ลําคลอง อีกทั้งยังมีแอ่งเก็บน้ำจืดที่เรียกว่า “ขุม” อันเกิดจากการจากขุดดินเพื่อทําเหมืองแร่ในอดีต ซึ่งลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมของชุมชนดังกล่าวนี้ถือเป็นจุดแข็งที่อาจนำพาบ้านควนจงพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศอนุรักษ์ในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นจุดด้อยด้วยเช่นกัน เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ยังขาดซึ่งความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน กอปรกับอิทธิพลของค่านิยมสมัยใหม่ที่แผ่ขยายเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกลายเป็นภัยคุกคามในชุมชน โดยในที่นี้จะสรุปแต่ละประเด็นเป็นข้อ ๆ ดังที่ฐปนี รัตนถาวร และพรชัย จิตติวสุรัตน์ (2561: 146-148) ได้อธิบายไว้เพื่อง่ายต่อความเข้าใจดังต่อไปนี้

จุดแข็ง (Strengths)

  1. มีความได้เปรียบด้านตําแหน่งที่ตั้ง ที่อยู่ระหว่างอําเภอหาดใหญ่และอําเภอนาหม่อม มีโครงข่ายถนนที่สามารถเข้าสู่ชุมชนได้หลายเส้นทาง การเดินทางสัญจรและติดต่อกับชุมชนภายนอกจึงค่อนข้างสะดวกสบาย
  2. มีสภาพภูมิศาสตร์และองค์ประกอบทางธรรมชาติที่ดี ถูกโอบล้อมด้วยภูเขา มีลำคลอง ลํารางไหลผ่าน และมีแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่
  3. มีมรดกทางวัฒนธรรมทั้งทางด้านที่จับต้องได้ (tangible) และจับต้องไม่ได้ ทั้งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชาวสวนยางพาราอันเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนที่ดึงดูดผู้มาเยือนได้
  4. มีการดําเนินชีวิตที่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นชาวสวนยางพาราและสวนผสมที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษผสานกับการทําเกษตรกรรมแบบร่วมสมัย จนกลายเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมอยู่ภายในตัวชาวสวน
  5. มีความเข้มแข็งของภาคประชาชนและชุมชน เนื่องจากมีการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน มีการรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายที่หลากหลายและเข้มแข็ง
  6. มีการจัดตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบในระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน
  7. มีพื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัดภูเข้าล้อม ซึ่งเป็นที่รู้จักและศรัทธาของคนทั่วไป โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนในอําเภอหาดใหญ่ที่มักเข้ามาที่วัดเพื่อใส่บาตรในช่วงเช้าของทุกวันและเข้าร่วมพิธีกรรมตามประเพณีในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น ทําบุญทานไฟ ทอดกฐิน เข้าพรรษา
  8. ผลผลิตจากสวนมีคุณภาพและมีความหลากหลาย ทั้งผักและผลไม้นานาชนิด

จุดอ่อน (Weaknesses)

  1. องค์ประกอบเชิงพื้นที่และสภาพแวดล้อมโดยรวมยังขาดการดูแลและการปรับปรุง ยังปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เช่น ริมถนน ลําคลอง ขุมเหมือง นาร้าง
  2. การควบคุมสิ่งก่อสร้างชั่วคราวบนพื้นที่สาธารณะยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวด ทั้งตําแหน่งที่ตั้ง รูปแบบ รวมถึงวัสดุที่ใช้ บางส่วนจึงเป็นการทําลายทัศนียภาพโดยรวม
  3. การทํากิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้านและการทําเกษตรกรรมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ จึงมีแนวโน้มที่จะขาดการสืบทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
  4. ไม่มีสิ่งอํานวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น สถานพยาบาลรองรับการเกิดอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยภายในชุมชน ระบบขนส่งสาธารณะในการเข้าสู่ชุมชนและภายในชุมชน 
  5. แนวโน้มประชากรสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น

ภัยคุกคาม (Threats)

  1. ราคาผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะยางพาราราคาตกต่ำ ส่งผลให้ชาวสวนยางมีแนวโน้มเปลี่ยนอาชีพการทําเกษตรกรรมไปประกอบอาชีพอื่น
  2. การขยายตัวของสิ่งก่อสร้างภายในหมู่บ้าน การกว้านซื้อที่ดินของนายทุนและคนนอกชุมชน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารจากเกษตรกรรมเป็นประเภทอื่น เป็นสาเหตุให้พื้นที่ธรรมชาติ สวนยางพารา สวนผสมต่าง ๆ ลดล
  3. เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ส่งผลให้วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายและพึ่งพาตนเองของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งภูมิทัศน์โดยรวมในชุมชนที่มีสิ่งแปลกปลอมมากขึ้น เช่น ป้ายโฆษณาไวนิล อาคารรูปร่างรูปทรงแปลกแยกจากสภาพแวดล้อมเดิม
  4. ภาครัฐมีแผนการเวนคืนพื้นที่เพื่อจัดสร้างสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ โดยเฉพาะการตัดถนนเลี่ยงเมือง การติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง ฯลฯ ซึ่งมักครอบคลุมพื้นที่สวนยางขนาดใหญ่และพื้นที่บริเวณหมู่บ้าน ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลงและทําลายระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ฐปนี รัตนถาวร และพรชัย จิตติวสุรัตน์. (2561). แนวทางการจัดทำแผนแม่บทชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเกษตร ผ่านโครงข่ายเชิงพื้นที่และเครือข่ายทางสังคมวัฒนธรรมชาวสวนยางพารา กรณีศึกษาหมู่บ้านควนจง อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์.