ชุมชนโบราณ ต้นกำเนิดตำนานพ่อท่านตาบอด พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ที่สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา
ข้อสันนิษฐานที่มาของชื่อบ้านมีอยู่ 2 ที่มาด้วยกัน
- ข้อสันนิษฐานแรก เชื่อว่าเนื่องจากบริเวณชุมชนในอดีตมีต้นพะยอมจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ป่ายอม” หรือ “ป่าพะยอม”
- ข้อสันนิษฐานที่สอง สันนิษฐานว่าอาจเรียกตามนามของบุคคลผู้หนึ่ง คือ "ป้ายอม" ผู้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัดและโรงเรียน ต่อมาจึงใช้เรียกชื่อชุมชนว่า "บ้านป้ายอม" และเพี้ยนเป็น "ป่ายอม" และ "ป่าพะยอม" ในเวลาต่อมา
ชุมชนโบราณ ต้นกำเนิดตำนานพ่อท่านตาบอด พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ที่สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา
ชุมชนบ้านป่าพะยอมในอดีตได้ก่อตั้งมานานไม่น้อยกว่า 200 ปีมาแล้ว ปรากฏตามหลักฐานในอดีตมีเสาธงตามชุมชนต่าง ๆ อันหมายถึงสมัยสงครามเก้าทัพ (พ.ศ. 2339) พม่าเคยเดินทัพผ่านและเชื่อกันว่าส่วนหนึ่งได้มีการปล้นสะดมเอาวัตถุโบราณของวัดประดู่หอมไประหว่างการก่อตั้ง
บ้านป่าพะยอม เป็นชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นเป็นชุมชนแรกของอำเภอป่าพะยอม โดยมีทำเลพื้นที่รอบ ๆ วัดป่าพะยอม ระนาบด้วยลำคลองป่าพะยอมสันนิษฐานกันว่าผู้มาตั้งบ้านเรือนครั้งแรกอพยพมาจากจังหวัดตรัง สงขลา และนครศรีธรรมราช อาจจะหนีคดีสามบาทหรือโรคภัยร้ายแรงจากชุมชนที่อยู่เดิมเพื่อให้ปลอดภัยกับการเกิดโรคระบาด ลักษณะการตั้งบ้านเรือนครั้งแรกประมาณบ้านเรือน 3 หลัง แล้วขยายเพิ่มเติมโดยประมาณ 32 หลัง โดยมีรั้วรอบเป็นต้นไม้ ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่หวาย หรือต้นไม้ที่มีหนาม รั้วรอบที่ครอบคลุมบ้านเรือนทั้ง 32 หลัง มีประโยชน์ไว้ป้องกันสัตว์ป่าที่อันตรายในขณะนั้น เช่น เสือโคร่ง ช้าง หากรั้วรอบถูกสัตว์ทำลายจะมีการซ่อมแซมในการใช้ได้ดีตลอดเวลา
ข้อสันนิษฐานที่มาของชื่อบ้านมีอยู่ 2 ที่มาด้วยกัน ที่มาแรกเชื่อว่าเนื่องจากในอดีตมีต้นพะยอมจำนวนมากในพื้นที่ดินแดนเขตนี้จึงเรียกว่า “ป่ายอม” หรือ “ป่าพะยอม” ซึ่งเรียกตามสิ่งแวดล้อมและภูมิประเทศของชุมชน ที่มาที่สอง สันนิษฐานว่าอาจเรียกตามชื่อบุคคลที่ชุมชนให้การนับถือ ซึ่งเป็นผู้บริจาคที่ดินผืนใหญ่ที่ราบสวยงาม 28 ไร่ นามว่า “ป้ายอม” เพื่อสร้างวัดและโรงเรียน จนเรียกชื่อวัดว่า “วัดป่ายอม” ต่อมาใช้เรียกชื่อชุมชนว่า “บ้านป้ายอม” กาลเวลาทำให้ชื่อ “ป้ายอม” เปลี่ยนไปเป็น “ป่ายอม” ต่อมานายมีศักดิ์ ดวงขวัญ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านป่าพะยอม ขณะดำรงตำแหน่งนายช่างโยธาสุขาภิบาล ร้องขอให้องค์การบริหารส่วนตำบลป่าพะยอม ได้นำข้อสันนิษฐานตามความเชื่อข้อนี้นำมาใช้สื่อเป็นตราขององค์การปกครองส่วนตำบล กล่าวคือ ตราเป็นรูปช้างมีเสมาธรรมจักรไว้บนหลังช้าง รอบข้างมีลายกนกทรงไทยโดยรอบ เพื่อสื่อจินตนาการความหมายว่า อดีตชื่อชุมชนตามความเชื่อ ชื่อว่า “ป้ายอม” ได้บริจาคที่ดินสร้างวัดสร้างโรงเรียนเป็นการสร้างกุศลครั้งยิ่งใหญ่เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา เปรียบเสมือนช้าง สัตว์ที่มีพระคุณต่อผืนแผ่นดินไทย
ลักษณภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ดอนสลับที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ คือ คลองป่าพะยอม ที่มีน้ำเพียงพอให้ชาวบ้านในพื้นที่มีน้ำใช้สำหรับการทพเกษตรกรรมตลอดทั้งปี
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 1 ตำบลป่าพะยอม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ้านพร้าว
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 4 ตำบลป่าพะยอม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 5 ตำบลป่าพะยอม
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลป่าพะยอม หมู่ที่ 2 บ้านป่าพะยอม มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,155 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 554 คน ประชากรหญิง 601 คน และจำนวนครัวเรือน 604 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)
ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก อันเป็นผลมาจากสภาพภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นที่ดอนสลับกับที่ราบลุ่ม ทั้งยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สําคัญ คือ คลองป่าพะยอม สำหรับใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี พืชที่ปลูกนั้นมีหลายประเภท เช่น ข้าว มะพร้าว หมาก กล้วย อ้อย ยางพารา มีการเลี้ยงวัว หมูและไก่ไว้เพื่อขายและบริโภคในครัวเรือน ส่วนอาชีพการประมงไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะมีแหล่งน้ำค่อนข้างจํากัด จะมีบ้างก็เป็นเพียงการจับปลาน้ำจืดตามแหล่งเพาะพันธ์ุสัตว์น้ำสาธารณะ เช่น ในคลองป่าพะยอม และอ่างเก็บน้ำป่าพะยอม และเนื่องจากการที่ประชากรในชุมชนมีชีวิตอยู่ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ทําให้ฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในขั้นดีพอใช้ โดยชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 18,000 บาท/คน/ปี รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยประมาณ 36,225-100,000 บาท/ครัวเรือน/ปี
ชาวบ้านในชุมชนป่าพะยอมส่วนมากแล้วนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก มีวัดป่าพะยอมเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ ซึ่งปกติแล้วชาวบ้านจะมีความเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณีเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป คือ ส่วนใหญ่ผูกพันความเชื่ออยู่กับพุทธศาสนาและความเชื่อของท้องถิ่น โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับบรรพบุรุษ เช่น ประเพณีการทําบุญเดือนสิบ ที่เรียกว่า “รับ-ส่งตายาย” ประเพณีตามเทศกาล เช่น วันเข้าพรรษา ออกพรรษา โดยเฉพาะวันออกพรรษาจะมีการลากพระ โดยการลากพระของชาวบ้านจะมีลักษณะเฉพาะบางประการของท้องถิ่น เช่น จะมี “นวน” เป็นพาหนะที่ชาวบ้านใช้เป็นที่ประดิษฐานของพระ แล้วใช้คนลากจํานวนกว่า 100 คน เมื่อลากผ่านชุมชนคนในชุมชนก็จะออกมาแย่งลากพระ นอกจากนี้ก็ยังมีเทศกาลสําคัญ คือ เทศกาลสงกรานต์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เทศกาลวันว่าง” ในวันนี้จะมีกิจกรรมการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตรที่วัด และที่สำคัญ คือ มักจะมีการเล่นโนราห์และหนังตะลุง บางปีจะมีการละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ ตีไก่ ชนวัว และสะบ้าชุดร่วมด้วย
นอกจากนี้ชาวบ้านป่าพะยอม ตลอดจนอำเภอป่าพะยอมยังมีความเชื่อในบุญญาอภินิหารของพระสงฆ์วัดโดนคลานในอดีตที่ได้มรณภาพไปแล้ว 3 รูป เรียกว่า “พ่อท่าเขื่อนใน” โดยชาวบ้านได้อัญเชิญอัฐิของพระสงฆ์ดังกล่าว บรรจุประดิษฐานไว้ในเจดีย์ทรงดอกบัว หรือที่เรียกว่า “เขื่อน” ซึ่งไม่สามารถกําหนดอายุได้ว่าสร้างมาตั้งแต่เมื่อใด ทราบเพียงแต่มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง และมีการเคารพบูชามานานจนถึงปัจจุบัน และในวัดป่าพะยอมเองก็มีพระพุทธรูปสำคัญที่ได้รับการกล่าวขานว่าศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน คือ พระทิพยเนตร หรือ “พ่อท่านตาบอด”
พระพุทธรูปโบราณวัดป่าพะยอม
วัดป่าพะยอม ศาสนสถานสำคัญประจำชุมชนบ้านป่าพะยอม ภายในวัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปโบราณขนาดใหญ่สมัยอยุธยานามว่า “พระทิพยเนตร” หรือชาวบ้านเรียกว่า “พ่อท่านตาบอด” เนื่องจากยังไม่มีการเบิกเนตร พระพุทธรูปองค์นี้สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปที่ถูกอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ประดิษฐานด้านหลังพระอุโบสถวัดป่าพะยอมโดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยวัดได้เปิดให้พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาทั้งภายในและภายนอกชุมชนเข้ามากราบนมัสการได้ตลอดเวลา
อนึ่ง มีตำนานพื้นถิ่นที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาขององค์พระพุทธรูปพ่อท่านตาบอดที่เล่าโดยชาวบ้านในพื้นที่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าตำนานตามคำบอกเล่าของชาวบ้านไม่มีส่วนใดที่ปรากฏว่าพระพุทธรูปองค์นี้ถูกอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ทว่า กลับมีการกล่าวถึงความเป็นมาของชื่อบ้านนามเมืองหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลป่าพะยอม แต่ในที่นี้จะกล่าวพอสังเขปเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาขององค์พระพุทธรูปพ่อท่านตาบอดเท่านั้น ดังความว่า
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีบุคคลผู้หนึ่งชื่อเสียงเรียงนามว่า “หลวงราม” ผู้มีความสามารถด้านไสยศาสตร์และเป็นทหารเอกผู้เก่งกาจของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช กษัตริย์ปกครองเมืองนครศรีธรรมราช วันหนึ่งหลวงรามได้แอบคบชู้กับสนมนางหนึ่งชื่อ นางพริ้ม จึงเป็นเหตุให้ต้องโทษตามกฎมณเฑียรบาลถึงขั้นประหารชีวิต ทั้งสองขึ้นเรือหนีไปยังปากพนัง (ตรงนั้นเรียกว่าบ้านตาหนี ควนตุ๊กตู่ หรือควนสมบูรณ์ในปัจจุบัน) แล้วพบกับหลวงเดช เมื่อหลวงรามเห็นหลวงเดชมีวิชาไม่แพ้ตนจึงเอ่ยปากขอเป็นเกลอ หลวงเดชจึงชี้ทางให้ (ตรงที่หลวงรามหลวงเดชแยกกัน ปัจจุบันเรียกว่า บ้านลามิตร-ลาไม และมีศาลของหลวงราม หลวงเดชตั้งอยู่) จากนั้นหลวงรามได้พานางพริ้มมาถึงวัดป่าพะยอม ก็บังเกิดคิดอยากจะสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งไปทางบ้านเกิดตนเอง เพื่อบารมีจะได้ปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย แต่เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จ มิทันได้เบิกเนตร ทหารก็ตามมาทันเสียก่อน เป็นที่มาของพ่อท่านตาบอด เพราะไม่ได้เบิกเนตร ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปว่าพ่อท่านตาบอดตั้งแต่นั้นมา
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
กระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). บ้านป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://moral.m-culture.go.th/
ศฺรี. (2564). ตำนานพ่อท่านตาบอด(หลวงพ่อทิพยเนตร) ตำนานที่ ๑. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/SRIDAVARAVATISAVARAPUNYA/
อดิศร ศักดิ์สูง. (2547). รายงานวิจัยเรื่องพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในอำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง พ.ศ. 2434-2547 : การสำรวจเบื้องต้น (รายงานการวิจัย). สงขลา : มหาวิทยาลัยทักษิณ.
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/