ก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2500 มีศาสนสถาน โบราณสถาน คือ วัด โรงเรียน ศาลพ่อบ้าน และศาลาใจบ้าน เป็นที่เคารพนับถือ
บ้านร่องปลาขาว มีชื่อเดิมว่า บ้านหนองบัวเงิน เพราะมีดอกบัวเงินออกเต็มหนองน้ำ
ก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2500 มีศาสนสถาน โบราณสถาน คือ วัด โรงเรียน ศาลพ่อบ้าน และศาลาใจบ้าน เป็นที่เคารพนับถือ
บ้านร่องปลาขาว มีชื่อเดิมว่า บ้านหนองบัวเงิน เพราะมีดอกบัวเงินออกเต็มหนองน้ำ ภายในหมู่บ้าน เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2500 เพิ่มขึ้นอยู่กับบ้านหัวดง หมู่ที่ 11 ในปี พ.ศ. 2510 แยกออกจากบ้านหัวดงมาเป็นบ้านร่องปลาขาว หมู่ที่ 15 ต่อมาตำบลห้วยสักได้แยกออกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลห้วยสักและตำบลดอยลาน หมู่บ้านร่องปลาขาว หมู่ที่ 15 เลยต้องเปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 7 ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้แยกหมู่บ้านออกไปเพื่อง่ายต่อการปกครอง เป็นหมู่บ้านโป่งขาม หมู่ที่ 16 และในปี พ.ศ. 2542 ได้รับคำสั่งอนุมัติจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้แยกบ้านร่องปลาขาว หมู่ที่ 7 ออกเป็นหมู่บ้านร่องปลาขาว หมู่ที่ 23 ขึ้นอีกหนึ่งหมู่บ้าน เพื่อการจัดสรร งบประมาณในการพัฒนาหมู่บ้านกระจายได้อย่างทั่วถึง
บรรพบุรุษของชาวตำบลห้วยสักในยุคแรก ๆ นั้น อพยพกันมาจากเชียงใหม่ แล้วมาตั้งรกรากอยู่กันที่บ้านโป่งฮึ้ง (บ้านห้วยพญาเก๊า), บ้านทุ่งป่ายาง, บ้านป่าก๊อ และบ้านห้วยสัก ในปลายรัชสมัย รัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ. 2394 (จุลศักราช 1213 / รัตนโกสินทร์ศก 70) เป็นต้นมา หรือเมื่อราว 160 กว่าปีที่แล้วในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ราวปีพุทธศักราช 2394 (จุลศักราช 1213 / รัตนโกสินทร์ศก 70) ได้มีพ่อค้าวัวต่างกลุ่มหนึ่งนำเอาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ จากเมืองเชียงใหม่ มาซื้อขายแลกเปลี่ยนที่เชียงราย (ซึ่งมากันเป็นประจำทุก ๆ ปีในช่วงฤดูแล้ง) โดยใช้เส้นทางเดินเท้าผ่านมาทางอำเภอฝาง – อำเภอเวียงป่าเป้า - อำเภอแม่สรวย และเข้าสู่เมืองเชียงราย ในระหว่างที่จะเดินทางเพื่อไปค้าขายต่อยังเมืองเทิง (อำเภอเทิงปัจจุบัน) นั้น ได้พิจารณาเห็นว่าชัยภูมิสองข้างทางที่ตนเดินทางผ่านนั้นเป็นที่ราบลุ่ม มีดินดำน้ำชุ่ม อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกและทำเกษตรกรรมเป็นยิ่งนัก เพราะมีห้วยระหานธารใสไหลผ่านตลอดทั้งปี จึงได้พากันตั้งรกรากสร้างบ้านแปงเมืองกันขึ้นเป็นชุมชนเล็ก ๆ ริมลำน้ำ โดยตั้งชื่อว่า “บ้านห้วยพญาเก๊า” และชักชวนเอาญาติพี่น้องจากเชียงใหม่มาอยู่ด้วยกันเพิ่มมากขึ้นทุกปีต่อมาเมื่อชุมชนหนาแน่นขึ้น จึงมีการตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการว่า “บ้านโป่งฮึ้ง” (เนื่องจากในบริเวณนั้นเป็นดินโป่ง ที่สัตว์ป่าและฝูงนกชอบบินลงมากินดินโป่งอยู่เป็นประจำ เวลามีผู้คนเดินผ่านฝูงนกจะแตกฮือเสียงดัง “ฮึ้ง” ด้วยความตกใจ ชาวบ้านจึงพากันตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “โป่งฮึ้ง” ตามเสียงฝูงนกบิน)
ในเวลาต่อมาได้มีการขยายหมู่บ้านออกไปตามทำเลที่ตั้ง เช่น บ้านทุ่งป่ายาง, บ้านป่าก๊อ บ้านห้วยสัก และบ้านดอน เป็นต้น (บ้านดอนศิลา-ปัจจุบันขึ้นอยู่กับอำเภอเวียงชัย) เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากเชียงใหม่ ต่างนับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง จึงได้นำเอาขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ ที่ตนนับถือมายึดถือปฏิบัติด้วย ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างวัดวาอารามตามหมู่บ้านต่าง ๆ ไว้เป็นที่ทำบุญและประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อถือศรัทธาของตน อาทิ วัดเขาแก้วดับภัย (บ้านโป่งฮึ้ง), วัดศรีพิงค์ชัยดับโศก (บ้านทุ่งป่ายา), วัดเกษมสุขสำราญ (บ้านร้องหวาย) แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมมาอยู่จำพรรษาในช่วงแรกเริ่ม
จนถึงปีพุทธศักราช 2435 (จุลศักราช 1254 / รัตนโกสินทร์ศก 111) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดการปกครองแบบสมัยใหม่ทั่วทั้งประเทศ ในส่วนภูมิภาคนั้นได้แบ่งเขตการปกครองส่วนออกเป็น เมือง (จังหวัด) อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านตามลำดับในครั้งนั้นทางราชการได้ยกฐานะหมู่บ้านโป่งฮึ้งขึ้นเป็นตำบล เรียกว่า “ตำบลโป่งฮึ้ง” มีผู้ดำรงตำแหน่งพ่อแคว่นหรือกำนันปกครองตามลำดับ ดังนี้ พระยาเทพพนม, พระยาเทพ, นายเครื่อง สุภารัตน์ ในปีพุทธศักราช 2440 (จุลศักราช 1259 / รัตนโกสินทร์ศก 116) ทางราชการพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านห้วยสักเป็นชุมชนหนาแน่น กอปรกับมีการคมนาคมสะดวกกว่า และง่ายต่อการติดต่อ จึงได้ย้ายตำบลโป่งฮึ้งมาไว้ที่บ้านห้วยสัก และเปลี่ยนชื่อจากตำบลโป่งฮึ้งมาเป็น “ตำบลห้วยสัก” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนมานับแต่นั้นมาจนปัจจุบัน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ เทศบาลตำบลสิริเวียงชัย , เทศบาลตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เทศบาลตำบลดอยลาน อำเภอเมืองเชียงราย และ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่อ้อ เทศบาลตำบลสันมะเค็ด อำเภอพาน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทศบาลตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย และเทศบาลตำบลดอยลาน อำเภอเมืองเชียงราย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เทศบาลตำบลท่าสาย เทศบาลตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมืองเชียงราย
ลักษณะภูมิอากาศ
- ฤดูร้อน ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 30.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35.4 องศาเซลเซียส
- ฤดูฝน ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคม มีฝนตกทั้งปี 145 วัน ปริมาณฝน รวมตลอดทั้งปี 2,042.6 มิลลิเมตร
- ฤดูหนาว อยู่ในช่วงกลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 15.1 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 10.2 องศาเซลเซียส
บ้านร่องปลาขาวมีประชากรรวม 759 คน แบ่งเป็นเพศชาย 388 คน เพศหญิง 371 คน โดยมีจำนวนครัวเรือนรวมทั้งสิ้น 352 ครัวเรือน
ชาวบ้านหมู่บ้านร่องปลาขาวส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย การเกษตร และรับจ้างทั่วไป
1.พระครูพิสิฐสมาจาร (วรชบนนท์) เจ้าอาวาสวัดร่องปลาขาวเป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดร่องปลาขาวและพัฒนาปรับปรุงจนถึงปัจจุบัน
วัดร่องปลาขาว
ตั้งอยู่เลขที่ 152 หมู่ 7 บ้านร่องปลาขาว ตำบลห้วยสัก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 99 ตารางวา
วัดร่องปลาขาว เดิมชื่อ วัดหนองบัวเงิน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดหนองโบสถ เมื่อปี พ.ศ. 2504 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น วัดร่องปลาขาว ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2521 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2528
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย วิหาร อุโบสถ พระธาตุรัตนเลิศมงคลชัย ศาลาการเปรียญ ศาลาพระประจำวันเกิด ศาลาพระพุทธรูป กุฏิ ศาลาบาตร ศาลาพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม ศาลาปู่เจ้าวัด
ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย พระพุทธรูปปูนปั้น หลวงพ่อทันใจ พระสีวลี พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม รูปปั้นเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต รูปปั้นเหมือนครูบาศรีวิชัย พระฤาษี พระพิฆเนศ
เทศบาลตำบลห้วยสัก. (2566). ข้อมูลทั่วไป. จาก https://www.huaisak.go.th/
วัดร่องปลาขาว. จาก https://www.facebook.com/watrongplakhao
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2565). วัดร่องปลาขาว. จาก https://culturalenvi.onep.go.th/
พระสมหมาย เท้าเขื่อนแก้ว (โอภาโส), รองเจ้าอาวาสวัดร่องปลาขาว, สัมภาษณ์, 16 มีนาคม 2566.