Advance search

บ้านเขิน

เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวไทเขินที่สืบทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมการทำเครื่องเขินในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียง

นันทาราม
หายยา
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
อัจฉรา นิยะรัตน์
4 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
1 มิ.ย. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
21 ส.ค. 2023
นันทาราม
บ้านเขิน

เดิมทีชุมชนมีชื่อเรียกว่าบ้านเขิน ซึ่งมีที่มาจากชื่อเรียกของกลุ่มชาวไทเขินที่อพยพย้ายถิ่นฐานมายังบริเวณดังกล่าว ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นชุมชนนันทาราม ตามชื่อวัดที่เปลี่ยนแปลงไป


เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวไทเขินที่สืบทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมการทำเครื่องเขินในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียง

นันทาราม
หายยา
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
50100
18.774509537163848
98.98639875294498
เทศบาลตำบลหายยา

ชุมชนไทเขิน บ้านนันทาราม ตั้งอยู่นอกประตูเชียงใหม่ เดิมเรียกว่า บ้านเขิน ในเขตตำบลหายยา แขวงเม็งราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ทั้งหมด 27 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา

ข้อมูลการอพยพของชาวไทเขินจากเชียงตุงสู่เชียงใหม่ ชาวไทเขินบ้านนันทารามอพยพมาจากเมืองเชียงตุงด้วยความจำเป็นทางการเมืองมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2350 ในสมัยพระเจ้ากาวิละ โดยได้กลายมาเป็นพลเมืองของรัฐชาติสยามตามนโยบายการปกครองที่มีการผนวกเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา การอพยพเข้ามานั้นไม่ใช่ในฐานะของเชลยศึกแต่ถือเป็น “เจ้านอกเมือง” คือ เจ้าเชื้อสายพญามังรายเช่นเดียวกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็น “เจ้าในเมือง” โดยบทบาทของเจ้าค่อย ๆ ลดลงในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ด้วยการผสมกลมกลืนกับคนในท้องถิ่น กลุ่มคนที่อพยพเข้ามามีทั้งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ข้าราชบริพาร และไพร่ 

ชาวไทเขินเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้านเขินหรือบ้านนันทาราม ก่อนการแยกย้ายถิ่นฐานไปตามที่ต่าง ๆ ในเมืองเชียงใหม่ โดยบ้านนันทารามมีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี เป็นชาวไทเขินที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยของพระเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2350 พระยาอุปราชธรรมลังกาได้เกลี้ยกล่อมให้เจ้ามหาสิริชัยสารัมพยะเจ้าเมืองเชียงตุงยอมสวามิภักดิ์และนำกำลังพลมายังเชียงใหม่ ซึ่งได้มีการเห็นชอบนำเจ้านายและกำลังไพร่พลจำนวนหลายร้อยครอบครัวเข้ามายังเชียงใหม่ โดยให้ชาวไทเขินที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุงอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ระหว่างกำแพงชั้นในกับกำแพงชั้นนอกทางด้านทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่หรือบริเวณวัดนันทาราม ส่วนเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ให้ตั้งคุ้มอยู่บริเวณเหนือวัดนันทาราม

ไทเขินตั้งถิ่นฐานบริเวณหายยา ประตูเชียงใหม่ บ้านนันทาราม โดยอพยพมาจากเมืองเชียงตุง ประกอบอาชีพทำเครื่องเขิน ชาวไทเขินที่ถูกกวาดต้อนมามีหลายชนชั้น หลายอาชีพ กลุ่มไพร่ชั้นดีตั้งถิ่นฐานใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น ไทเขินบ้านนันทารามตั้งถิ่นฐานบริเวณกำแพงเมืองชั้นนอก กลุ่มไพร่ที่ไม่เป็นช่างฝีมือตั้งถิ่นฐานอยู่นอกเมือง เช่น อำเภอสันทราย อำเภอสันป่าตอง 

เมืองเชียงใหม่มีนโยบายในการจัดการกลุ่มชาวไทเขินโดยกำหนดให้ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นในกับกำแพงเมืองชั้นนอกทางด้านทิศใต้บริเวณวัดนันทาราม มีการกำหนดให้เจ้านายเชียงตุงตั้งคุ้มบริเวณหน้าวัดนันทารามจำนวน 2 คุ้ม คือ คุ้มเหนือเป็นที่อยู่ของเจ้าแม่คำแดง ได้แก่ คนในสกุลเทพสุวรรณ เทพสิรินทร์ และเทพรัตน์ในปัจจุบัน ส่วนคุ้มใต้เป็นที่อยู่ของเจ้าแสนเมืองและเจ้าศิริชัยโชติสารัมภยะ บริเวณฝั่งตรงข้ามวัดนันทาราม ส่วนไพร่พลนั้นกระจายที่อยู่โดยรอบเพื่อรับใช้เจ้านาย

ศาสนสถานที่สำคัญ คือ วัดนันทารามมีการสร้างขึ้นมาก่อนที่ชาวไทเขินจะเข้ามาอยู่ สภาพแวดล้อมของวัดนันทารามในอดีตมีสภาพเป็นป่าเสียส่วนใหญ่ โดยส่วนมากเป็นป่าไผ่ ป่าขี้เหล็ก บ้านเรือนของผู้คนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่รอบ ๆ บริเวณวัด เมื่อชาวไทเขินมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนี้ก็ยึดการประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา และทำเรื่องเขิน ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนจนสืบทอดวิชาความรู้มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษจนมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ชุมชนไทเขิน บ้านนันทาราม ตั้งอยู่นอกประตูเชียงใหม่ เดิมเรียกว่า บ้านเขิน ในเขตตำบลหายยา แขวงเม็งราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ทั้งหมด 27 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา

ชุมชนนันทารามตั้งบ้านเรือนเรียงตามเส้นทางการคมนาคม มีทั้งบ้านตึกชั้นเดียว สองชั้น สามชั้น บ้านไม้ชั้นเดียว บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ตึกแถว และอาคารชุด การตั้งบ้านเรือนตั้งห่างกัน ไม่มีการกั้นรั้วบ้าน เนื่องด้วยเป็นเครือญาติกันทั้งหมด

ในอดีตลักษณะบ้านเรือนมีลักษณะเป็นตูบ เรือนไม้ไผ่ เรือนไม้ตามฐานะของเจ้าของ สร้างด้วยไม้ไผ่ ไม้สัก ใบจาก ใบตองตึง ใบจาก ดินขอ มีลักษณะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน แบ่งออกเป็นส่วนชานไว้สำหรับรับแขก ห้องนอน ห้องครัว ใต้ถุนใช้สำหรับเลี้ยงวัวและควาย ลักษณะพิเศษคือมีห้องปิดทึบด้านล่างสำหรับเก็บเครื่องเขินเพื่อป้องกันฝุ่นละอองที่อาจสร้างความเสียหายให้กับเครื่องเขิน สำหรับคุ้มเจ้ามีลักษณะเป็นเรือนไม้ทรงสูงขนาดใหญ่เป็นห้องยาวหลังเดียว ไม่มีเรือนข้าราชบริพาร

ประชากรรวมทั้งสิ้น 1,518 คน จำนวนหลังคาเรือน 142 หลัง จำนวนครอบครัว 184 ครัวเรือน โดยแบ่งประชากรชาย 700 คน ประชากรหญิง 818 คน และจากการสำรวจข้อมูลพบว่า ชาวไทเขินที่อยู่อาศัยบริเวณนี้มีจำนวนประมาณ 40-50 ครัวเรือน ที่เหลือคือการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนภายนอก

ไทขึน

ปัจจุบันการประกอบอาชีพของคนในชุมชน ส่วนใหญ่สอดรับกับธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น การทำเกสเฮาส์ท การทำร้านอาหาร และอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีการประกอบอาชีพรับราชการ พนักงานบริษัทเอกชน ส่วนอาชีพช่างเครื่องเขินนั้นพบว่า ภายในชุมชนวัดนันทารามเหลือครอบครัวที่ยังคงทำอาชีพนี้อยู่ 3 ครอบครัว จากจำนวนครอบครัวทั้งหมด 500 ครอบครัว และแต่ละครอบครัวที่ยังยึดอาชีพช่างเครื่องเขินก็ล้วนสืบเชื่อสายชาวไทเขินเมื่องครั้งอพยพมาจากเชียงตุงในสมัยพระเจ้ากาวิละทั้งสิ้น

สังคมของชาวไทเขินเป็นสังคมเกษตรกรรม มีการทำนาบริเวณประตูก้อม ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่เรื่อยไปจนถึงถนนเส้นเชียงใหม่หางดงและบ้านป่ากล้วย และยังมีการทำเครื่องเขินในช่วงที่ว่างจากการทำนาเพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่าย

จากนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มอาชีพทำเครื่องเขินและน้ำหนังในปี พ.ศ. 2546 โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มหนุ่มสาว กองทุนชุมชน กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม อสม. ชุมชน

ระบบการผลิตสัมพันธ์กับฤดูกาลทางธรรมชาติ หลังจากการทำไร่นาเข้าสู่ฤดูฝนจะมีการทำเครื่องเขินซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยางรักแห้งสนิทได้ดีที่สุด ส่วนฤดูหนาวจะเปลี่ยนเป็นการทำน้ำหนังซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้ำหนังแข็งตัวได้ดีที่สุด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

งานหัตถกรรมเครื่องเขิน

ปี พ.ศ. 2518 ถือเป็นยุครุ่งเรืองของงานหัตถกรรม เพราะถ้ามีทัวร์มาเที่ยวที่เชียงใหม่ จะต้องแวะมาดูงานเครื่องเขินวิชัยกุล งานเครื่องเงินลายไทย ก่อนที่จะขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ จนเมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ได้มีการสร้างถนนสายวัฒนธรรมที่สันกำแพง เครื่องเขินวิชัยกุลก็ได้ย้ายไปอยู่โซนนั้นด้วย ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจซบเซาจึงได้ย้ายกลับมาอยู่ที่เดิมคือตรงถนนนันทาราม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2545 เจ้าอาวาสวัดนันทาราม ได้รวบรวมเอาบรรดาครูช่างให้มารวมกันอยู่ที่วัดนี้ และจัดให้มีพิพิธภัณฑ์เครื่องเขิน เพราะไม่อยากให้งานหัตถกรรมสูญหายไป 

“ตระกูลวิชัยกุล" เป็นเหมือนฝ่ายที่รวบรวมงานฝีมือด้านเครื่องเขินของสล่าในละแวกวัดนันทาราม เป็นการช่วยสร้างงานให้ชาวบ้าน โดยเราลงทุนวัสดุทุกอย่าง เช่น พวกยางรัก พวกไม้ต่าง ๆ จะสั่งมาให้ชาวบ้านทั้งหมด อาศัยฝีมือแรงงานอย่างเดียว คืองานเครื่องเขินชิ้นหนึ่ง ไม่ได้จบที่คนเดียว มีทั้งคนทำงานสานไม้ไผ่ งานลงรัก งานวาดลวดลาย สมัยก่อนเขาจะปั่นจักรยานมาทำงานที่บ้านเรา แต่เดี๋ยวนี้เราต้องไปส่งงานที่บ้านเขาแทน ซึ่งอยู่คนละที่กัน กระจายกันไป ไม่ได้ทำอยู่จุดเดียว”

เครื่องเขิน เป็นงานฝีมือของชาวไทเขินที่อพยพมาอยู่ในเมืองไทย มีโครงสร้างที่ทำจากไม้ไผ่สานเพราะมีน้ำหนักเบา นำมาทาด้วยยางไม้สีดำที่เรียกว่า ‘ยางรัก’ ทาซ้ำ ๆ จนยางรักมันเงาได้รูปสวยงาม แล้ววาดลวดลายด้วยมือ เมื่อวาดเสร็จแล้วก็จะนำแผ่นทองคำแท้มาติด แล้วจึงล้างออก ลวดลายต่าง ๆ ก็จะกลายเป็นสีทองส่งประกายสว่างตัดกับสีดำของยางรัก สวยงามล้ำค่ามีเอกลักษณ์สวยงาม นอกจากลายรดน้ำปิดทองแล้ว ยังมีลายขูดโบราณ ลายเพ้นท์สีอะคริลิก หรือลายเปลือกไข่ เป็นต้น

วัดนันทาราม

วัดนันทาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือ พระปลัดบุญธรรม ธมฺมวโร

วัดนันทาราม แต่เดิมชื่อ วัดเมืองลาบ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2040 อย่างไรก็ดีบ้างระบุว่า สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2060 ในสมัยของพระเมืองแก้ว ณ ที่ถวายพระเพลิงพระยอดเชียงราย ผู้เป็นพระราชบิดา แล้วจัดให้มีการสมโภช สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2020 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2124ในตำนานมูลศาสนากล่าวถึงวัดนันทารามว่าเป็นวัดใหญ่และมีความสำคัญ เมื่อ พ.ศ. 1987 พระนันทปัญญา วัดนันทารามได้เป็นพระสังฆราชและเป็นอาจารย์ของพระมหาญาณคัมภีระ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าแดง อีกแหล่งข้อมูลระบุว่าสร้างในสมัยพระเจ้าเม็งรายเมื่อครั้งสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1838

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหารศิลปะพื้นเมืองล้านนาแต่ต่อมาได้มีการปฏิสังขรณ์เป็นอาคารคอนกรีต เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ถัดขึ้น มาเป็นชั้นลูกแก้วย่อเก็จและฐานกลม 3 ชั้น มีองค์ระฆังทรงกลมเพรียว บัลลังก์สี่เหลี่ยม องค์เจดีย์ปิดด้วยแผ่นทองจังโกทั้งองค์ และหอไตร 2 ชั้น ชั้นที่ 2 เป็นที่สำหรับเก็บพระคัมภีร์โบราณ อายุไม่ต่ำกว่า 500–600 ปี ส่วนชั้นที่ 1 เป็นที่สำหรับปฏิบัติธรรม นั่งวิปัสสนา

ภาษาถิ่น ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทย และมีภาษาถิ่น ที่เรียกว่า ภาษาไทเขิน เป็นภาษาสำหรับสื่อสารในท้องถิ่น ภาษาของชาวไทเขินมีสำเนียงที่แตกต่างจากชาวไทยวน มักลงท้ายด้วยคำว่า “แด้” ใช้ตัวอักษรธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาพม่า


การศึกษาของ อิสราภรณ์ พัฒนวรรณ (2552) อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงเริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่รัฐบาลสยามผนวกล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสยามโดยเมื่อ พ.ศ. 2500 มีการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินโดยมีการขายที่นาให้กับคนต่างพื้นที่รวมทั้งรัฐเพื่อสร้างสนามบิน มีการเปลี่ยนแปลงการประกอบอาชีพโดยยกเลิกการทำนา 

ธุรกิจในย่านตัวเมืองเดิมเชียงใหม่ คือย่านถนนวัวลาย-นันทาราม ซบเซาลงตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมาอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการขยายเมืองหลักและเมืองรองแห่งภาคเหนือ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4-5 (พ.ศ. 2520-2529) ซึ่งได้มีการส่งเสริมเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว ขยายศูนย์กลางรถโดยสารจากสถานีขนส่งช้างเผือกไปยังสถานีขนส่งอาเขต และขยายย่านธุรกิจแห่งใหม่เช่นย่านถนนเชียงใหม่-สันกำแพง อย่างไรก็ดีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2549) ได้กลับมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งผลให้ชุมชนนันทาราม เกิดการสร้างอัตลักษณ์ผ่านวัตถุทางวัฒนธรรมอย่าง “เครื่องเขิน” ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ยังคงมีการสืบทอดเรื่อยมา 

ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมไทเขิน คือ การปฏิรูปการปกครองในล้านนา การเข้ามาของทุนนิยมและวัฒนธรรมตะวันตก นโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาแบบแผนใหม่

การเปลี่ยนแปลงช่วง พ.ศ. 2450-2463

การเปลี่ยนแปลงช่วง พ.ศ. 2450-2463 มีลักษณะเป็นการผสมกลมกลืนกับคนเมืองหรือไทยวนเนื่องด้วยสภาพที่ตั้งชุมชนอยู่ใกล้ตัวเมือง สิ่งที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงหลัก คือ ภาษาและเครื่องแต่งกาย ชาวไทเขินเปลี่ยนมาพูดภาษาคำเมือง (ภาษาไทยถิ่นเหนือ) เป็นหลักตั้งแต่ พ.ศ. 2462 เป็นต้นมา ส่วนการแต่งกายทั้งกลุ่มเจ้านายและสามัญชนก็มีการผสมกลมกลืนกับคนเมืองเช่นกัน 

การเปลี่ยนแปลงช่วง พ.ศ. 2464-2489

ตั้งแต่ พ.ศ. 2449 เป็นต้นมา มีการสอนภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งด้านโหราศาสตร์ การทำนาย แพทยศาสตร์ ไสยศาสตร์ และพิธีกรรม รวมทั้งการถ่ายทอดอักขรวิธีล้านนาและปริยัติธรรมโดยพระสงฆ์ให้กับเฉพาะผู้ชายภายในวัดนันทาราม แต่เมื่อเชียงใหม่ได้รับอิทธิพลทางด้านการศึกษาจากรัฐสยาม จึงได้มีการตั้งโรงเรียนที่มีการสอนภาษาไทยในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยจัดให้มีการสอนในวัดตำบลละ 2-3 โรง และในตำบลหายยามีการตั้งโรงเรียนภายในวัดศรีสุพรรณและวัดนันทาราม จึงก่อให้เกิดการเรียนการสอนในรูปแบบการศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ อย่างไรก็ดีในระยะนี้ ด้วยความจำเป็นในการใช้แรงงานของครอบครัวชาวไทเขินยังคงผูกติดกับจารีตที่เด็กหญิงต้องทำงานบ้านและรับภาระเลี้ยงดูน้องที่ยังเล็ก จึงพบการผ่อนผันการเข้าเรียนโดยให้บุตรคนใดคนหนึ่งเข้าเรียน ภายใต้เหตุผลว่าเด็กหญิงต้องเป็นผู้ถ่ายทอดงานช่างด้านการจักสานและการวาดลวดลายบนเครื่องเขินซึ่งเป็นงานหัตถกรรมของหมู่บ้าน ส่วนเด็กชายส่วนมากมักจะจบการศึกษาระดับประถมศึกษาเท่านั้น ระบบการสอนของโรงเรียนใช้ภาษาไทยกลางซึ่งส่งผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษาไทเขิน

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างเส้นทางรถไฟมายังเชียงใหม่ เกิดการเข้ามาของคนจีนเพื่อทำการค้า เกิดการขยายตัวของย่านการค้าทั้งตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย รวมทั้งเกิดการขยายตัวของตลาดเครื่องเขินซึ่งเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2476 บางครอบครัวมีการผลิตเครื่องเขินขายเพียงอย่างเดียวไม่มีการทำนา หรือบางครอบครัวก็ยังมีการทำนาและน้ำหนังควบคู่กับการผลิตเครื่องเขินจำหน่าย โดยในปี พ.ศ. 2478 จากการทำเครื่องเขินภายในครอบครัว เริ่มมีการแบ่งงานกันทำในละแวกหมู่บ้านโดยมีการว่าจ้างทำลวดลาย แหล่งขายเครื่องเขินและน้ำหนังที่สำคัญ คือ ตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย 

การทำเครื่องเขินหยุดชะงักลงไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484 แต่ชาวไทเขินก็ได้กลับมาทำอีกครั้ง โดยใช้หลุมหลบภัยเป็นขุม (หลุม) อบเครื่องเขินซึ่งภายในมีสภาพอากาศที่เย็นช่วยทำให้รักแห้งเร็ว สามารถผลิตได้จำนวนมากขึ้นและมีการส่งไปขายยังกรุงเทพฯ เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือน 

การเปลี่ยนแปลงช่วง พ.ศ. 2490-2519

ในช่วงก่อนการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นต้องการใช้พื้นที่บริเวณป่ากล้วยสร้างสนามบิน จึงมีการเวนคืนที่ดินซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ของชาวไทเขินบ้านนันทาราม ชาวบ้านจึงต้องขายที่ดินในราคาถูกแก่ทางการรวมทั้งนายทุนธุรกิจ ส่วนการทำเครื่องเขินมีลักษณะเป็นการทำอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองระบบตลาดโดยมีตระกูลวิชัยกุลเป็นตระกูลสำคัญที่สืบทอดการทำเครื่องเขิน รวมทั้งระหว่างปี พ.ศ. 2500-2520 ชาวไทเขินบ้านนันทารามเริ่มมีการขายที่นาอีกจำนวนมาก เกิดหมู่บ้านจัดสรร พร้อม ๆ กับการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวของชุมชนนันทาราม

พ.ศ. 2500 ภาครัฐมีการส่งเสริมการผลิตศิลปหัตถกรรมสู่ระบบการค้า จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตแบบยังชีพสู่การผลิตเพื่อการค้า เกิดร้านขายเครื่องเขินภายในชุมชนและมีการรับเครื่องเขินจากครัวเรือนต่าง ๆ หรือว่าจ้างการผลิตมาจำหน่ายภายในร้านของคนในชุมชน แต่ระบบการศึกษาที่ขยายตัวก็ส่งผลให้ลูกหลานของชาวไทเขินหันไปประกอบอาชีพที่มีรายได้สูงกว่า เช่น ครู อาจารย์ พ่อค้า หมอ พยาบาล มากกว่าการทำเครื่องเขิน ก่อให้เกิดปัญหาด้านการสืบทอด เช่นเดียวกับน้ำหนัง ที่ประสบปัญหาระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนไปทำให้หาวัตถุดิบเช่นกาบไผ่ได้ยากขึ้น การทำน้ำหนังเป็นอาชีพเริ่มลดลงสวนทางกับความต้องการบริโภคที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง 

ระบบสาธารณูปโภคของบ้านนันทารามมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไฟฟ้าเข้ามาในปี พ.ศ. 2496 มีการขยายถนน มีการสร้างโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แต่การรักษาพยาบาลของชาวไทเขินยังคงพึ่งพายาของวัดนันทาราม ส่วนโรงเรียนวัดนันทารามได้ปิดการสอนลงตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ การแต่งกายมีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบตะวันตกตั้งแต่ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา แต่ผู้หญิงชาวไทเขินยังคงนิยมนุ่งซิ่นเมื่อมีงานประเพณีต่าง ๆ 

การเปลี่ยนแปลงช่วง พ.ศ. 2520-2551

ช่วงเวลา พ.ศ. 2520-2551 เป็นช่วงเวลาแห่งความเป็น “สมัยใหม่” ในทุกด้านของชุมชนนันทาราม โดยด้านภาษา ชาวไทเขินมีการพูดทั้งภาษาคำเมือง (ภาษาไทยถิ่นเหนือ) และภาษาไทยกลาง โดยนิยมเขียนตัวอักษรไทยกลางเป็นหลัก ด้านประชากร มีการอพยพของคนต่างถิ่นทั้งปัจจัยด้านอาชีพและครอบครัว ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา รูปแบบความสัมพันธ์มีความเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายสู่ลักษณะของครอบครัวเดี่ยว 

ชุมชนนันทารามมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและระบบนิเวศน์ โดยสภาพคุ้มเจ้าที่เคยบ่งบอกความเป็นมาของชุมชนมีการเปลี่ยนเจ้าของและถูกรื้อถอนเป็นสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ สภาพบ้านเรือนปัจจุบัน (พ.ศ. 2551) มีเพียงบ้านเลขที่ 56/2 ถนนนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ที่ยังคงมีลักษณะเป็นบ้านไทเขินในรูปแบบคงเดิม 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมาเมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เขตพื้นที่สันกำแพงเป็นเขตพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตเครื่องเขิน คือ เกิดการเคลื่อนย้ายฝีมือแรงงานไปยังร้านเครื่องเขินในพื้นที่อำเภอสันกำแพงซึ่งมีค่าตอบแทนที่สูงกว่า อีกทั้งยังเกิดระบบผูกขาดกับบริษัททัวร์ที่ทำให้บทบาทของแหล่งผลิตเครื่องเขินในชุมชนนันทารามซบเซาลงเหลือเพียงร้านประเทืองเครื่องเขินและวิชัยกุลเครื่องเขินเท่านั้น 

การเข้ามาของไฟฟ้าก่อให้เกิดความสะดวกสบายและทำให้ชาวไทเขินสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากยิ่งขึ้นเกิดการติดต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับสังคมภายนอก เกิดการนิยมบริโภคอาหารแบบภาคกลางและต่างชาติ ส่งผลให้น้ำหนังเกือบจะไม่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ ส่วนการแต่งกายเปลี่ยนไปตามความนิยมการแต่งกายพื้นเมืองและการแต่งกายแบบตะวันตก ชาวไทเขินได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นในระดับอุดมศึกษา มีช่องทางการประกอบอาชีพที่หลากหลาย อาชีพการทำเครื่องเขินและน้ำหนังประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบและผู้สืบทอด โรงพยาบาลเป็นสถานพยาบาลหลัก โดยวัดนันทารามซึ่งเคยเป็นศูนย์ยาสมุนไพรพื้นบ้านได้ลดบทบาทลง “ยาตุ๊เจ้าวัดนันตา” เป็นยาที่มีชื่อเสียงของพระครูสิริรัตนสุนทร (อิ่นแก้ว) เจ้าอาวาสวัดนันทรามในช่วง พ.ศ. 2502-2539 ได้รับการสืบทอดโดยญาติและเปิดเป็นร้านขายยาวิรัชโอสถซึ่งมีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2566). วัดนันทาราม. จาก  https://thailandtourismdirectory.go.th/

ศฐา วรุณกูล. (2557). แนวทางการบริหารต้นทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพเครื่องเขินชุมชนวัดนันทาราม . เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

อิสราภรณ์ พัฒนวรรณ. (2552). กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทเขินในชุมชนนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ . วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ภูมิภาคศึกษา), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Salamade. (2565). วิชัยกุลเครื่องเขิน. จาก https://salahmade.com/