Advance search

บ้านชั่ง, บ้านจั่ง, บ้านชั่งแปลง 8

ชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์ผ้าทอตีนจกดอยเต่า ของอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

แปลง 8
ท่าเดื่อ
ดอยเต่า
เชียงใหม่
ลินดา แดงบุญ
4 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
1 มิ.ย. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
21 ส.ค. 2023
แปลง 8
บ้านชั่ง, บ้านจั่ง, บ้านชั่งแปลง 8

เดิมบ้านแปลง 8 เรียกว่าบ้านชั่ง เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่มีความสามารถในงานหัตถกรรม ผู้ชายในชุมชนจะมีการตีแผ่นทองเพื่อหุ้มพระธาตุดอยเกิ้ง จึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่าบ้านชั่ง เพื่อเชิดชุช่างฝีมือในชุมชน


ชุมชนชนบท

ชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์ผ้าทอตีนจกดอยเต่า ของอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

แปลง 8
ท่าเดื่อ
ดอยเต่า
เชียงใหม่
50260
17.947226561727586
98.69658113591731
เทศบาลตำบลดอยแก้ว

บ้านเเปลง 8 หรือบ้านชั่ง หรือบ้านจั่ง ในอดีตมีบ้านเรือนอาศัยอยู่ฟากฝั่งริมน้ำปิง ในปี พ.ศ. 2505 ได้มีการสร้างเขื่อนภูมิพล ทำให้เกิดการอพยพจากที่ดินทำกินเดิมซึ่งถูกน้ำท่วม ขึ้นมาอยู่ที่ดินจัดสรรใหม่ ในอดีตชาวบ้านได้ทำการเกษตรทำนา ปลูกถั่วลิสง และละหุ่ง หมู่บ้านเพิ่งมีไฟฟ้าเข้ามาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520 ได้รับการดูแลมากขึ้นในด้าน สาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา ไฟฟ้าต่าง ๆ

หมู่บ้านเริ่มก่อตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2551 โดยการส่งเสริมของนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิกเริ่มจำนวน 20 คน ทอผ้าลายโบราณ เช่น ลายเกล็ดเต่า ลายดี ลายยกมุก ลายไกล และ ผ้า ซีนตีนจกลายโบราณ เมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้มีโอกาสร่วมรับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้เสด็จมาเยี่ยมราษฎรในอำเภอดอยเต่า จึงทำให้นางแสงเดือน เปี้ยตั๋น ประธานกลุ่มทอผ้าแปลง 4 ได้มีโอกาสเข้าพบกับท่านผู้หญิง จรุงจิตต์ ธีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์ และได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผ้าทอและผลิตภัณฑ์ผ้าทอของ กลุ่มทอผ้าบ้านแปลง 8 ทำให้ในปีต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานฝ้ายให้ทางกลุ่มได้นำมาทอเป็นผลิตภัณฑ์ ผ้าทอส่งให้กับศูนย์ศิลปาชีพสวนจิตลดามาจนถึงปัจจุบัน

สภาพโดยทั่วไปของตำบลท่าเดื่อและตำบลมืดกา เป็นที่ราบแอ่งก้นกระทะ ลักษณะของตำบลท่าเดือ และตำบลมืดกาจะเป็นตำบลขนาดใหญ่ พื้นที่ชุมชนอยู่กันไม่หนาแน่น กระจายตามสัดส่วนทุกหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ สภาพโดยทั่วไปของตำบลท่าเดื่อ-มืดกา สามารถจำแนกออกเป็นด้านต่าง ๆ ตามสภาพการพัฒนาของตำบล เช่นด้านโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานในตำบลท่าเดื่อ - มืดกา ในปัจจุบันถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีไม่ว่าจะเป็นการ พัฒนาถนน ไฟฟ้า ฯลฯ ประชาชนจะได้รับบริการอย่างทั่วถึงการคมนาคม การคมนาคมและขนส่ง เทศบาลตำบลท่าเดื่อ-มืดกา มีเส้นทางคมนาคมที่สามารถติดต่อกับ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดใกล้เคียง และติดต่อกับอำเภอต่าง ๆ ภายในจังหวัดเชียงใหม่ ได้โดยสะดวก โดยมีเส้นทางคมนาคมที่ สำคัญ คือ ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1103 (ถนนสายฮอด – ดอยเต่า-แม่ตื่น) เป็นเส้นทางที่ใช้ติดต่อกับอำเภอ ฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านวังหลวง หมู่ที่ 4 ตำบลท่าเดื่อ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านดงมะนะ หมู่ที่ 6 ตำบลท่าเดื่อ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านสันติสุข หมู่ที่ 7 ตำบลดอยเต่า อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านวังหลวง หมู่ที่ 4 ตำบลท่าเดื่อ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

สถานที่สำคัญในชุมชน

  • วัดบ้านชั่งแปลง 8
  • โรงเรียนศูนย์อพยพแปลง 8
  • ศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าจกบ้านชั่งแปลง 8

บ้านชั่งหรือบ้านแปลง 8 มีจำนวนประชากร 589 คน จำนวน 238 ครัวเรือน ส่วนมากเป็นชาวไทยวนหรือชาวไทยภาคเหนือ

ไทยวน

ประชากรในเขตเทศบาล ร้อยละ 70 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ลำไย ข้าว เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ ยังมีการทำการประมง ประมาณร้อยละ 13 ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยจะทำประมงบริเวณทะเลสาบดอยเต่า และแม่น้ำปิง และมีการทำปศุสัตว์ เป็นการประกอบการในลักษณะเลี้ยงในครัวเรือนเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม เช่น การเลี้ยงไก่ เป็ด โค สุกร กระบือ

ประเพณีประจำปีที่สำคัญของชุมชน มีดังนี้

  • ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ประมาณเดือนมกราคม
  • ประเพณีสงฆ์น้ำพระธาตุดอยเกิ้ง ประมาณเดือนกุมภาพันธ์
  • ประเพณียี่เป็งรําลึก ประมาณเดือนเมษายน
  • ประเพณีแห่ไม้ค้ำ ประมาณเดือนเมษายน
  • ประเพณีวันสงกรานต์ ประมาณเดือนเมษายน
  • ประเพณียี่เป็งรำลึก ประมาณเดือน ตุลาคม พฤศจิกายน
  • ประเพณีวันเข้าพรรษา ออกพรรษา ประมาณเดือนกรกฎาคม ตุลาคม พฤศจิกายน

1.แสงเดือน เปี้ยตั๋น 

ประธานศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าจกบ้านชั่งแปลง 8 มีความสามารถในการทอผ้าจก ตั้งแต่อายุ 16 ปี ได้เรียนรู้การทอผ้าจากแม่เฒ่า แม่นิล ถามัง ประมาณ 2 อาทิตย์ ก็สามารถเรียนรู้วิธีทอผ้าจกได้ และหลังจากนั้นได้สืบค้นลวดลายผ้าเก่าจากผู้สูงอายุมาทำการแกะลายผ้า ซึ่งเป็นลายเก่าแก่ถือว่าเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนชน ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านทอผ้าและผลิตภัณฑ์ผ้าทอของโรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติความเป็นมาของผ้าทอตีนจกดอยเต่ากับการหายไปและการกลับมาของผ้าซีนตีนจก

ซิ่นน้ำท่วม หรือ ซิ่นน้ำถ้วม ตามภาษาอักขระล้านนาเป็นซิ่นชาวไทยยวนของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลสาบดอยเต่าจังหวัดเชียงใหม่ที่มาของการขนานนามว่า ‘ซิ่นน้ำถ้วม’ เนื่องด้วยช่างทอได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพล ทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยจนต้องอพยพโยกย้ายถิ่นจากบริเวณเดิมซิ่นน้ำถ้วมเป็นซิ่นตีนจกที่มีชื่อเสียงของ จ.เชียงใหม่ ด้วยลวดลายการทออันเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามไม่แพ้ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม หากจะกล่าวถึงบริเวณที่สร้างงานหัตถศิลป์มีชื่อดังกล่าวนี้ให้ชัดเจนก็คือพื้นที่ทะเลสาบดอยเต่าของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมดซึ่งในอดีตเป็นชุมชนโบราณที่มีความเจริญในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากผ้าทอดอยเต่าไร้ผู้สืบทอดการทอผ้าที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผ้าทอของดอยเต่าเริ่มขาดหายไปจากชุมชน

ซิ่นน้ำท่วมมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกับซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ภูมิปัญญาสิ่งทอพื้นบ้านของชุมชนบ้านดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นผ้าทอที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นลวดลายมรดกที่สืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนานทั้งด้านสีโครงสร้างของผ้า และลวดลายอย่างเช่น ผ้าทอตีนจกลายหนีน้ำท่วม ลวดลายที่พบแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ลายหลัก เป็นลายขนาดใหญ่มีหน้าที่ใช้เป็นส่วนที่จกอยู่ตรงกลางของลวดลาย มักเป็นลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มี 9 ลายดังต่อไปนี้ ลายโกมนกหงส์, ลายโกมนกไล่, ลายโกมนกเป็ด, โกมหัวกุด, ลายโกมกระแจ๋, ลายโกมขอเบ็ด, ลายเขี้ยวหมาหน้อย, ลายขอผักกูด, ลายดอกบัวคำ ลายประกอบเป็นลายขนาดเล็ก มักถูกจัดตำแหน่งให้อยู่สองข้างของลายหลักข้างละเท่า ๆ กัน มีอยู่ 18 ลาย ดังต่อไปนี้ ลายก่ำปุ๊ง, ลายห้องนก, ลายเฮือสะเปาคำ, ลายสายฟ้าหล้วง, ลายเครือนกไล่, ลายกาบสัก, ลายกุดก่ำเบ้อ, ลายอี้เนี้ยซอนทราย, ลายจั๋นหลวง, ลายจั๋นกลีบ, ลายสร้อยนกดอกหมาก, ลายขันเกิ่ง, ลายขันเงี้ยง, ลายขันดอก, ลายน้ำต้น, ลายเขี้ยวหมาหลวง, ลายกาบหน่อ, ลายเกล็ดงูเหลือม, และยังมีวิธีเรียกลายย่อย ๆ ลงไปตามส่วนของลวดลาย เช่น ชนิดที่ 1 ลายโกม (โคม) ลายขัน ชนิดที่ 2 ลายเครือ, ลายกูด ชนิดที่ 3 ลายแบบผสม ลวดลายในผืนผ้า มักเรียกตามจินตนาการของช่างผู้ทอ เช่น ลวดลายจากธรรมชาติพฤกษาและลวดลายจากสัตว์

ลวดลายผ้าตีนจกลายหนีน้ำท่วม ได้ถูกใช้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงมรดกทางหัตถกรรมของบรรพบุรุษในอดีตมีการใช้ผ้าทอตีนจกลายหนีน้ำถ้วมในชีวิตประจำวัน ได้แก่ งานประเพณี งานบุญงานรื่นเริง และประเพณีที่เกี่ยวกับความตาย โดยสวมใส่ให้กับผู้ตายแล้วนำศพไปเผาปัจจุบันยังมีการใช้ผ้าทอตีนจกในงานประเพณี งานบุญ และงานรื่นเริงอยู่ แต่การใส่ผ้าทอตีนจกให้ผู้ตายน้อยลง เพราะผ้าทอตีนจกเก่ามีราคาแพงเป็นสิ่งที่หายาก และมีคุณค่าเพื่อการสะสม‘ซิ่นน้ำท่วม’ จัดเป็นหนึ่งในมรดกผ้าซิ่นแห่งดินแดนล้านนาที่หายาก ปัจจุบันมีการรื้อฟื้นสืบทอดการทอผ้าซิ่นชนิดนี้ที่ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอลี้ ในจังหวัดลำพูนด้วย

อัตลักษณ์ลวดลายของผ้าทอและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานของผ้าทอ

อัตลักษณ์ของผ้าทอดอยเต่า ทำให้การทอมีความยากต้องใช้เทคนิคในการทอแบบขั้นสูงมีความซับซ้อนในขั้นตอนของการทอ และต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ทําให้ผู้ทอต้องใช้ทักษะและความอดทนสูง ลายที่ยาก คือ ลายเกล็ดเต่าและลายดีดอกใหญ่ เป็นลายที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักกันมากนัก แต่เริ่มมีคนทอได้เพราะว่าใช้เทคนิคการเหยียบที่มีการสอนในหลักสูตรการสอนว่าต้องเหยียบอย่างไร ใช้เส้นฝ้ายย้อมสีธรรมชาติที่ถูกถักทออย่างบรรจง จนได้ผ้าซิ่นตีนจกที่มีลวดลายงดงาม รวมทั้งยังเริ่มมีการแปรรูปผ้าจกสู่ผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม การทอทางดอยเต่าจะนิยมจกด้วยผ้าฝ้ายเส้นใหญ่ สีสัน สดใส ลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดทรงป้อม ๆ แต่ขนาดจะใหญ่กว่าแบบอื่น และช่วงจกจะมีขนาดกว้างกว่าแบบอื่นเช่นกัน ในปัจจุบันยังมีการใช้ผ้าทอตีนจกลายหนีน้ำท่วมในชีวิตประจำวัน ได้แก่ งานบุญ งานประเพณี วันสำคัญต่าง ๆ ในกลุ่มของผู้หญิงและผู้หญิงสูงอายุเพื่อสืบทอดผ้าทอไว้สืบไป

ประชากรส่วนใหญ่สื่อสารด้วยภาษาไทยถิ่นเหนือหรือคำเมือง และภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แก้วกุดั่น. (2562). ลายผ้าโบราณ...สืบทอดผ่าน "ครูภูมิปัญญา" พ.ศ. 2562(ออนไลน์). จาก http://sakulthaionline.com/magazine/

ใจภิกดิ์ บุรพเจตนา. (2559). การประยุกต์ลวดลายจากอัตลักษณ์ผ้าทอตีนจกแม่แจ่มเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเชิงวัฒนธรรมประเภทของตกแต่งบ้าน. วารสารวิชาการ, 9(3), 1720-1738.

ชุติมา งามพิพัฒน์. (2564). การประยุกต์ลวดลายผ้าซิ่นตีนจกอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับการสร้างสรรค์แฟชั่นร่วมสมัย. วารสารศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพ, 3(2), 25-26.

เทศบาลตำบลท่าเดื่อ-มืดกา อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่. (5 กรกฎาคม 2563). ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นเทศบาลตำบลท่าเดื่อ-มืดกา อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่(ออนไลน์). จาก https://www.thadueamuedka.go.th/

ธิตินัดดา จินาจันทร์. (2565). การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ้าซิ่นตีนจกโหล่งลี้ โดยใช้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน. วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม, 10(1), 168-178.

พิศาพิมพ์ จันทร์พรหม. (2566). ศูนย์บ่มเพาะซิ่นตีนจกดอยเต่า (โหล่งฮอด-ดอยเต่า) : เครื่องมือการสื่อสารเชิงเอกลักษณ์ตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาตร์เพื่อการส่งเสริมท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานภูมินิเวศวัฒนธรรมชุมชน. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา.

มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2543). ผ้าทอพื้นเมืองในภาคเหนือ โครงการพัฒนาผ้าพื้นเมืองในทุกจังหวัดของประเทศโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

วสิน อุ่นจะนำ. (2555). การแต่งกายแบบจารีตของชาวเชียงใหม่. ร่มพยอม วารสารสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 14(2), 43-49.

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์. (2565) ผ้าซิ่นตีนจกดอยเต่า ภูมิปัญญาเคยเลือนหาย ปัจจุบัน ผลิตขายแทบไม่ทัน พ.ศ. 2565. (ออนไลน์). จาก https://www.sentangsedtee.com/

เอื้อมพร หาญสนามยุทธ์. (2557). หนังสืออ่านเพิ่มเติมเรียนรู้สู่งานอาชีพธุรกิจผลิตภัณฑ์ผ้าทอดอยเต่าเล่มที่ 7 เรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้าทอดอยเต่า. เชียงใหม่: โรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม.

เอื้อมเดือน. (ออนไลน์). จาก https://www.facebook.com/banchangplang8/

แสงเดือน เปี้ยตั๋น, สัมภาษณ์, 4 กุมภาพันธ์ 2566.