
กลุ่มชาวไทยทรงดำที่ย้ายมาจากบ้านทุ่งเฟื้อ (นาราง) บ้านวังตะโก บ้านหนองปรง บ้านห้วยท่าช้าง จังหวัดเพชรบุรี จากการก่อสร้างเขื่อนเพชร
กลุ่มชาวไทยทรงดำที่ย้ายมาจากบ้านทุ่งเฟื้อ (นาราง) บ้านวังตะโก บ้านหนองปรง บ้านห้วยท่าช้าง จังหวัดเพชรบุรี จากการก่อสร้างเขื่อนเพชร
ภูมิลำเนาเดิม อยู่ที่บ้านทุ่งเฟื้อ (นาราง) บ้านวังตะโก บ้านหนองปรง บ้านห้วยท่าช้าง จังหวัดเพชรบุรี มีความเป็นอยู่ดี อพยพมาเมื่อปี พ.ศ. 2502 สาเหตุที่ต้องย้ายถิ่นฐานมา เนื่องจากกรมชลประทานได้สร้าง “เขื่อนเพชร” ทำให้น้ำไม่ไหลลงไปในลุ่มน้ำเพชรตอนล่าง ในเขตอำเภอเมือง อำเภอบ้านแหลม โดยเฉพาะชาวบ้านทุ่งเฟื้อ น้ำเค็มหนุนสูงขึ้น ทำนาไม่ได้ผลผลิต ขาดน้ำอุปโภคบริโภค เกิดความเดือดร้อนอย่างหนัก
ในปี พ.ศ. 2500 กรมประชาสงเคราะห์ ได้มีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นที่ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อจัดสรรให้ราษฎรที่ไม่มีที่ทำกิน มาสมัครเป็นสมาชิกนิคมฯ เพื่อจะได้มีที่ทำกินตลอดไป
ปี พ.ศ. 2502 ปู่เพชร ชุ่มแอ่น ได้ชักชวนลูกๆ ญาติ และพวกพ้อง มาสมัครเป็นสมาชิกนิคมฯ ได้รับจัดสรรครอบครัวละ 25 ไร่ มีปู่เพชร ชุ่มแอ่น, นายผัน ชุ่มแอ่น, นายด่วน ชุ่มแอ่น, นางทองดี ชุ่มแอ่น, นายหน่อย สร้อยดี, นายเทียน เทพเทศ, นายทวน เทพเทศ, นางหมา แฝงเสียง, นายเปลี่ยน เชื้อเพชร, นายรำเพย ทวีขึ้น, นายฉะอ้อน เปลี่ยนสมัย, นายเพชร แสงดี, นายมั่น แฮวอู, นายบุญส่ง บ้านสะอาด, นายประเสริฐ บ้านสะอาด และนายสำฤทธิ์ อยู่พิทักษ์ ได้รับการจัดสรรอยู่รวมกันที่ สายโท ก.ม.4 ซอยลาว นายแลบ เหมือนพงษ์ อยู่ ก.ม.9 นายวงษ์ ยอมขันธ์ นายพล พุ่มแสวง อยู่ซอยวิจิตรเดชา ซอย ก.ม. 5 รวมแล้ว 21 ครอบครัว และประมาณปี พ.ศ. 2504–2506 ได้มีการอพยพตามมาอีกหลายครอบครัว เช่น นายยาม จ่าราช, นายยนต์ ม่อมเหมาะ, นายขาว อินทร์เชื้อ, นายทองหล่อ แฮวอู, นายฮ้อ อ้อยแดง, นายสมควร อุ่นรั้ว, นายใบ เหน็บชัด, นายสบง เหน็บชัด, นายโพ แอ่นชุ่ม และนายแป๊ะ เติมญวณ รวมครอบครัวชาวไทยทรงดำ 40 ครอบครัว ปัจจุบันรับมอบที่ดินครอบครัวละแปลงๆ ละ 25 ไร่ ก็ช่วยกันตัดโค่นแผ้วถาง โดยการ “เอาแรงกัน” (ภาษาท้องถิ่น) ช่วยกันทำลายป่า คือการต้องบุกเบิกป่าใหญ่เป็นที่ทำกิน ถ้าสมาชิกท่านใดไม่สามารถดำเนินการตามระเบียบที่นิคมฯวางไว้ จะถูกตัดสิทธิ์ในการเป็นสมาชิกและนำไปให้สมาชิกรายอื่นต่อไป
เทศบาลตำบลกม.5 หมู่ที่ 6 บ้านเกตุเอน ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
กลุ่มชาวไทยโซ่งหรือชาวไทยทรงดำ โดยทั่วไปมีความผูกพันกับเครือญาติ และชาวไทยทรงดำด้วยกันเองค่อนข้างสูง
- ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ผลิตผลทางการเกษตรกรรมที่สำคัญ คือ สับปะรด ว่านหางจระเข้ พืชผักผลไม้ล้มลุกต่าง ๆ ได้แก่ ผักกาดหอม ผักคะน้า ผักชี ต้นหอม ฯลฯ ผลไม้ประเภทยืนต้น ได้แก่ มะม่วง ขนุน กระท้อน ฯลฯ
- ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก
คนไทยทรงดำมีความขยันขันแข็งในการทำมาหากินมากตลอดทั้งปี ไทยทรงดำจะทำงานอย่างจริงจัง โดยเริ่มไถนาตั้งแต่เดือน 6 (พฤษภาคม) พอถึงเดือน 7 ก็เริ่มต้นหว่านข้าว จนกระทั่งเดือน 8 ก็หยุดว่างไป ระหว่างเวลาที่หยุดรอข้าวออกรวงนี้ ก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย แต่จะเลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ เผาถ่าน ทำเครื่องจักสาน เป็นต้น พอถึงเดือน 1 2 3 ก็ได้เวลาชวนกันมาเกี่ยวข้าว แล้วนำมานวด ราวเดือน 3-4 พองานนวดข้าวเสร็จสิ้นลง ก็ถึงเวลาพักผ่อนอย่างแท้จริง ดังนั้นเมื่อย่างเข้าเดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ตอนช่วงวันสงกรานต์ 3 วัน เรียกว่า “วันถือ” ไทยทรงดำจะไม่ทำงาน แต่จะใช้เวลาในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ และจัดงานรื่นเริงสนุกสนาน มีการละเล่นนานาชนิด เช่น การเล่นคอน การเล่นผีมดแดง การเล่นสะบ้า เป็นต้น การละเล่นพื้นบ้านแทบทุกชนิดของไทยทรงดำจะต้องมีแคนเป็นส่วนประกอบสำคัญ
บุคคลที่สำคัญเป็นที่นับถือของชาวบ้าน ได้แก่
1. ลุงอ่อม ชุมแอ่น เป็นผู้นำรุ่นแรกที่อพยพมาอาศัยที่ร่มไทรและเป็นต้นสกุล”ชุมแอ่น” เสียชีวิตเมื่อต้นปี 2552
2. นายประเทือน ช่วยทิพย์ เป็นประธานชุมชน มีหน้าที่ดูแล้วสารทุกข์สุขดิบของชาวชุมชนร่มไทร
3. นายอำพัน ชุมแอ่น สมาชิกสภาเทศบาลตำบลกม.5 อ.เมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2 สมัย ปัจจุบันเป็นรองนายกเทศมนตรีตำบลกม.5 เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำในชุมชนร่มไทร
4. นายบุญฮวน แสงเสียง เป็นประธานชมรมไทยทรงดำร่มไทร
วัฒนธรรมและประเพณี
- การเล่นคอน การเล่นคอนเป็นการละเล่นที่ขึ้นชื่อของไทยทรงดำเมื่อ 40-50 ปีก่อน เรียกได้ว่าไทยทรงดำที่ผ่านวัยหนุ่มสาว จะต้องผ่านการเล่นคอนกันมาแล้วเกือบทุกคน จนมีคำกล่าวว่า “บ่เคยอิ้นกอน ฟ้อนแกน บ่แม่นผู้ลาว” (นิพนธ์ เสนาพิทักษ์ 2523:30) เมื่อถึงเทศกาลเล่นคอน ชายหนุ่มก็จะรวมกลุ่มกันประมาณกลุ่มละ 10-15 คน ตามความสมัครใจ ในแต่ละกลุ่มจะมีหมอขับหรือพ่อขับเป็นหัวหน้ากลุ่ม หมอขับเป็นผู้มีความสามารถเชี่ยวชาญในการร้องเพลงขับได้อย่างไพเราะ สามารถโต้ตอบกับฝ่ายหญิงได้ไม่จนมุม นอกจากนี้ที่จะขาดไม่ได้คือต้องมีหมอแคนซึ่งมีความสามารถในการเป่าแคน และหมอลำซึ่งมีความสามารถในการขับคำกลอนหรือแอ่วลาว ส่วนสมาชิกที่เหลือทำหน้าที่เป็นลูกคู่คอยปรบมือร้องรับ เมื่อรวมกันได้แล้วก็ออกเดินทางไปลานขวงของสาวที่จะรับเล่นคอนด้วย ทางฝ่ายสาวก็จะจัดเตรียมเสื้อผ้าสำหรับใส่ในงาน จัดอาหารการกิน และจัดทำลูกคอนประมาณ 10 ลูกขึ้นไป แต่ละขวงก็จะมีแม่ขับประจำขวงซึ่งสามารถร้องเพลงขับได้คล่องแคล่ว เมื่อฝ่ายชายเดินทางมาถึงก็มีการขับลำนำโต้ตอบกัน แล้วเลี้ยงอาหารกลางวัน พอตกเย็นก็เตรียมตัวแต่งชุดฮีมาทอดลูกคอนหรือไทยทรงดำเรียกว่า “ต๊อดมะก๊อน” ที่ลานขวง การเล่นจะแบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือหญิงและชาย แต่ละฝ่ายจะผลัดกันโยนลูกคอน หากอีกฝ่ายรับไม่ได้ก็จะถูกบังคับให้ทำตามที่บอก เช่น รำ เต้น เป็นต้น ในระหว่างการทอดลูกคอน จะมีการพูดจาโต้ตอบหยอกล้อกัน ดังนั้นการทอดคอนนอกจากจะให้ความสนุกสนานแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ฝ่ายชายได้เกี้ยวพาราสีฝ่ายหญิงอีกด้วย ขณะที่หนุ่มสาวเล่นคอนกัน พ่อขับและแม่ขับก็ขับลำนำโต้ตอบกัน เล่นลูกคอนกันจนพลบค่ำ ฝ่ายหญิงไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นผ้าเปี่ยว ฝ่ายชายเปลี่ยนเป็นเสื้อซอน แล้วลงมาลานขวง หมอแคนเริ่มบรรเลง หนุ่มสาวจับคู่กันรำแคนจนดึกดื่น จนถึงช่วงเวลาตี 3 เป็นต้นไป ฝ่ายหนุ่มจะมาวานสาวที่ตนหมายตาไว้ ในการวานสาว ฝ่ายสาวและฝ่ายชายจะนั่งเรียงกันบนไม้กระดานหรือไม้ไผ่ยาวคนละด้าน ตรงหัวแถวจะมีพ่อขับและแม่ขับนั่งอยู่ พ่อขับจะถามหนุ่มแต่ละคนว่าต้องการวานสาวคนไหน แล้วถามความสมัครใจของสาวนั้น หากตกลงใจ ก็จะพากันไปคุยตามที่ต่าง ๆ บริเวณลานขวง คุยกันได้จนฟ้าสาง จากนั้นฝ่ายชายก็จะเดินทางไปขวงอื่น หรือกลับหมู่บ้านตนต่อไป
- การเล่นผีมดแดง การเล่นนี้จะเล่นในเดือน 5 เดือน 6 ในตอนกลางคืน ประมาณเที่ยงคืน เล่นได้ทั้งชายหญิง วิธีเล่นคือเอากะลาตัวเมียที่มีรูวางคว่ำลงแล้วเอาผ้าขาวม้าปิดตาผู้เล่นที่จะเป็นผีมดแดง ให้นั่งยอง ๆ หรือยืนบนกะลา คนรอบข้างก็จะตบมือร้องเพลงเพื่อให้ผีมดแดงเข้าผู้เล่น ร้องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้เล่นล้มซึ่งแสดงว่ามีผีมดแดงเข้าผู้เล่นแล้ว ผู้ร่วมเล่นที่เป็นพี่เลี้ยงก็จะเอาเชือกผูกที่เอวและถือเชือกไว้ คอยสั่งให้ผีมดแดงทำอะไรก็ได้ จนกระทั่งผู้เล่นล้มลง แสดงว่าผีมดแดงออกจากร่าง ผู้เล่นเมื่อตื่นขึ้นมาจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างผีมดแดงเข้า
- การเล่นตะกร้อ ตะกร้อที่ไทยโซ่งใช้เล่นต่างจากของไทย จะเป็นตะกร้อที่ทำด้วยใบตาลหรือทางมะพร้าวเอามาสานเป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วใส่เมล็ดนุ่นกับเม็ดมะขามไว้ข้างใน วิธีเล่นคือผู้เล่นต้องยืนเป็นวงกลม โดยชายและหญิงจับคู่กันยืนคุมกันหน้าหลัง ไม่หันหน้าเข้าหากัน เวลาผู้เล่นยืนข้างหน้าจะโยนตะกร้อไปให้ผู้ที่อยู่ข้างหลังของอีกคู่หนึ่ง ถ้าคนข้างหน้ารับตะกร้อไม่ได้ คนที่อยู่ข้างหลังจะคอยเก็บลูกตะกร้อที่หล่นพื้นเอาไปปาคนข้างหน้า หากคนข้างหน้าหลบไม่ทันและถูกปา จะต้องถูกลงโทษโดนปรับ
- การเล่นสะบ้า การเล่นชนิดนี้จะเล่นในเดือน 5 เดือน 6 ในพิธีตรุษสงกรานต์ การเล่นต้องมีลูกสะบ้าทำด้วยไม้กลมๆ ขนาดเท่าจาน และมีไม่อีกแผ่นหนึ่งกลมและแบน มีขนาดเท่าฝากระป๋องนม วิธีเล่น คือ ผู้เล่นต้องนั่งคุกเข่าขาเดียว เอาไม้แผ่นกลมแผ่นเล็กวางไว้ที่หัวเข่า แล้วใช้ไม้อีกอันหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่ดีดให้สะบ้าวิ่งตรงไปยังเป้ากลมใหญ่ ใครดีดถูกเป่า ก็นับว่าชนะ ถ้าไม่ถูกก็อาจถูกปรับเป็นเงิน หรือให้รำให้ดู
- การเกี้ยวพาราสี เป็นประเพณีการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวชาวไทยโซ่ง มีอิสระในการเลือกคู่ครองมาก จะเห็นได้จากการที่ไทยโซ่งมีประเพณีที่เอื้ออำนวยให้ชายหญิงได้พบปะรู้จักกัน ได้แก่ ประเพณีการลงขวงในหมู่บ้านของไทยโซ่งจะมีลานกว้างซึ่งใช้เป็นลานนวดข้าว เรียกว่า “ลานขวง” หมู่บ้านหนึ่งอาจมีหลายขวง นอกจากลานหมู่บ้านแล้ว ลานในบริเวณบ้านที่สาวใช้นั่งทำงานตอนกลางคืนก็เรียกว่า “ขวง” เช่นกัน ลานขวงเป็นสถานที่ที่ให้โอกาสฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมาพบปะพูดคุยทำความรู้จักอุปนิสัยใจคอซึ่งกันและกันเพื่อเลือกคู่ครองที่จะแต่งงาน ในตอนกลางคืนประมาณทุ่มหรือสองทุ่ม หลังจากเสร็จงานในตอนกลางวันแล้ว หญิงสาวกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 3 -4 คน หรือมากกว่านี้จะลงมานั่งขวงเป็นวงกลม จุดไฟไว้ตรงกลางให้สว่างรางๆ และทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช่นงานจักสาน ปั่นฝ้ายกรอด้าย เย็บปักถักร้อย ตำข้าว สีข้าว เป็นต้น การลงมาทำงานเช่นนี้เรียกว่า “อยู่ขวง” ซึ่งสามารถทำได้ตลอดทั้งปี ไม่เลือกฤดูกาล การอยู่ข่วงจะอยู่กันจนถึงเที่ยงคืน ฝ่ายชายก็จะเลือกเที่ยวงานข่วงตามที่เรียกว่า “แอ่วสาว” มีการสนทนา ทำความรู้จัก และหยอกล้อกัน เมื่อฝ่ายชายเกิดความพอใจในสาวผู้ใดก็จะชักชวนและนัดกันไปคุยต่อเมื่อขวงเลิกแล้ว การไปคุยต่อกับสาวเช่นนี้เรียกว่า “โอ้สาว” ซึ่งความหมายที่แท้จริงคือ “จีบสาว” นั่นเองเพราะหาพูดคุยธรรมดา จะเรียกว่า “โอ้โลม” สถานที่ที่พากันไปพูดคุยอาจเป็นริมยุ้งข้าว ริมกองฟางหรือชานเรือน เป็นต้น การ “โอ้สาว” อาจจะเลิกตอนไหนก็ได้ บางคู่อาจจะถึงสว่างก็มีการ “โอ้สาว” โดยทั่วไปจะไม่มีการล่วงเกินกันเพราะเกรงว่าจะผิดผี
การแต่งงาน
ไทยทรงดำเรียกว่าพิธีแต่งดองหรือกิ่นดองใหญ่ (งานเลี้ยงเพื่อเกี่ยวดองกันเป็นญาติ) หรือเรียกสั้น ๆ ว่างานกินดองหรืองานกินหลอง เมื่อชายหนุ่มหญิงสาวมีความรักกันใคร่กันถึงขั้นจะแต่งงานกับฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ (เถ้าแก่) ไปสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง เรียกว่าไปโลมหรือไปโอ้โลมโดยต้องนำหญิงสาวที่มีชีวิตการแต่งงานราบรื่นไปด้วย พร้อมกับหมากพลู 2 ชุด เมื่อตกลงกันเรียบร้อยก็นัดหมายทำการหมั้น หรือแต่งงาน พิธีการแต่งงานของไทยทรงดำมี 4 ขั้นตอนคือ “ส่อง สู่ ส่ง สา”
- ขั้นตอนที่ 1 การหมั้นหรือส่อง การหมั้น ฝ่ายชายจะนำหมากพลูไปให้ฝ่ายหญิงไว้
- ขั้นตอนที่ 2 ขั้นสู่ ฝ่ายชายไปเยี่ยมฝ่ายหญิงที่หมั้นหมายไว้เป็นระยะ ๆ เรียกว่า “ไปหยามห่อมะปู”หมายความว่าไปเยี่ยมห่อหมากพลู
- ขั้นตอนที่ 3 ขั้นส่ง เป็นการส่งตัวเจ้าสาวในพิธีแต่งงาน ซึ่งถือเป็นขั้นสำคัญที่สุด
- ขั้นตอนที่ 4 ขั้นอาสา เป็นช่วงที่เจ้าบ่าวอาสารับใช้ครอบครัวของเจ้าสาวเป็นเวลา 1-5 ปี ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน หญิงใดตั้งท้องนอกสมรส เรียกว่า “มานทาง” ผู้ชายจะต้องเสียเงินให้ฝ่ายหญิงและอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน หากฝ่ายชายไม่ยอมรับผู้หญิงเป็นภรรยาจะต้องเสียค่าปรับไหมให้แก่ฝ่ายหญิง ในกรณีที่หญิงนั้นตายต้องเสียค่าปรับไหมให้กับครอบครัวฝ่ายหญิงเรียกว่า “เฮียวซาว” โดยให้ฆ่าควาย 1 ตัว เพื่อเลี้ยงผู้มาช่วยงานศพและต้องรับภาระในการจัดงานศพทั้งหมด
การแต่งกาย
ในสมัยก่อนไทยโซ่งจะมีลักษณะการแต่งกายเป็นแบบฉบับของตนเอง แต่ปัจจุบันพบว่าการแต่งกายแบบไทยโซ่งในหมู่คนสูงอายุเท่านั้น แต่ในโอกาสพิเศษ เช่น เวลาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คนที่อายุน้อยลงมาอาจแต่งกายแบบไทยโซ่ง
เครื่องนุ่งห่มที่เป็นแบบฉบับของผู้ชายไทยโซ่ง คือกางเกงขาสั้นปลายแคบเรียวยาว ปิดเข่า นุ่งขมวดปมที่เอว เรียกว่า “ส้วงขาเต้น” หรือ “ส้วงก้อม” แปลว่า กางเกงขาสั้น ตัวเสื้อเรียกว่า “เสื้อซอน” เป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอกปลายแขนปล่อยกว้างตามขนาดข้อมือของผู้ใส่ ผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินยอดแหลมมีลวดลายเรียงกันถี่ประมาณ 10-19 เม็ด ตัวสั้นแค่เอว ตัวเสื้อเย็บเข้ารูปทรงกระสอบ หน้าอกผายเล็กน้อย คอตั้ง ตัวเสื้อด้านข้างตอนปลายผ่าทั้งสองข้าง แล้วใช้เศษผ้าสองถึงสามชิ้นตัดขนาดรอยเย็บกับรอยผ่า
ส่วนฝ่ายหญิงในชีวิตประจำวันสมัยก่อนนุ่งผ้าซิ่นพื้นดำประกอบด้วย ผ้า 3 ชิ้น ชิ้นที่ 1 เป็นต้นซิ่นส่วนตรงเอว มีสีดำไม่มีลาย กว้างประมาณ 12 นิ้วฟุตเศษ ผ้าชิ้นนี้จะเย็บติดกับผ้าชิ้นที่ 2 ที่เป็นตัวผืน ซึ่งสีดำสลับลายทางสีขาวเหมือนลายเปลือกแตงโมที่มีริ้วเป็นลายสีขาวหรือสีเขียวอ่อน ส่วนที่ 3 กว้างประมาณ 1 นิ้วฟุตเศษ มีลวดลายริ้วสีเขียวอ่อน มีลวดลายริ้วสีขาว 2-3 ริ้ว เย็บติดกับผ้าชิ้นที่ 2 เป็นตีนซิ่น ถ้าสามีตายต้องเลาะเอาตีนซิ่นนี้ออกเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ให้สามี วิธีการนุ่งซิ่น คือ เอามุมผ้าทางซ้ายและทางขวาพับทบกันตรงกลาง แล้วพับลงคาดด้วยเข็มขัดให้สูงกว่าส่วนหลัง เพื่อสะดวกในการก้าวเดินเวลาทำงาน ถ้าซิ่นลายแตงโมในชีวิตประจำวันจะใส่กับ “เสื้อน้อยหรือ เสื้อแขนจิ๊ด” ซึ่งเป็นเสื้อแขนกุดตัวเสื้อสั้นผ้ากระดุมด้านหน้า นอกจากเสื้อน้อยแล้ว ในสมัยก่อนนิยมคาด “ผ้าเปี่ยว” ซึ่งเป็นผ้าคาดอก ปักลวดลายไว้ที่ชายทั้ง 2 ข้าง หญิงที่แต่งงานแล้วจะใช้ผ้าเปี่ยวสีดำหรือสีครามแก่ ส่วนหญิงสาวจะใช้ผ้าเปี่ยวย้อมสีสันต่างๆ นอกจากนี้มีผ้าผืนเล็กๆ ยาวๆ ใช้คล้องคอพาดไหล่ทับผ้าเปี่ยวอีกทีนึง ในเวลาลงขวงหรือในโอกาสที่มีการละเล่นต่างๆ หญิงไทยโซ่งนิยมใช้ผ้าเปี่ยวคาดอก ในปัจจุบันจะเห็นแม่เฒ่าไทยโซ่ง พาดผ้าเปี่ยวสีครามไว้บนไหล่สำหรับใช้สารพัดประโยชน์ นอกจากเสื้อผ้าดังกล่าวแล้ว ในโอกาสที่ออกนอกบ้านเช่นเดินทางไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง หญิงไทยโซ่งจะนิยมใส่ “เสื้อก้อม” ซึ่งเป็นแขนยาวทรงกระบอก ตัวเสื้อเย็บเข้าตัว คอตั้งผ่าอกตลอด ติดกระดุมเงินถี่ราว 10 เม็ดหรือมากกว่านั้น
ในโอกาสพิเศษ เช่น ประกอบพิธีเสน พิธีแต่งงาน หรือการละเล่น เช่น เล่นคอน ไทยโซ่งจะแต่งชุดใหญ่เรียกว่า “เสื้อฮี” ตัดเย็บด้วยผ้าย้อมคราม มี 2 ด้าน ใช้ได้ทั้งด้านในและด้านนอก เสื้อฮีของชายยาวคลุมสะโพก คอกลมติดคอ กุ๊นรอบคอด้วยผ้าไหมแดง แล้วเดินเส้นทับด้วยไหมสีอื่นตาม แต่จะเห็นสวยงาม ตรงคอเสื้อด้านข้างติดกระดุมแบบคล้อง 1 เม็ดผ่าตลอด โดยเริ่มผ่าตรงกระดุมด้านซ้ายแล้วผ่ามาตลอด ด้านหน้าจะป้ายทบมาด้านข้างและติดกระดุมอีก 1 เม็ด ที่เอวด้านข้างซึ่งเป็นด้านเดียวกับที่ติดกระดุมคอ แขนเสื้อเป็นแขนกระบอกยาวปลายแคบ จากรักแร้ถึงปลายเสื้อจะปักตกแต่งด้วยเศษผ้าไหมสี และด้ายไหมสีต่างๆ พร้อมทั้งติดกระจกชิ้นเล็กๆ ตามลวดลาย ด้านข้างผ่าตั้งแต่ปลายเสื้อจนเกือบถึงเอว แล้วปักตกแต่งอย่างสวยงาม เสื้อฮีด้านนี้จะใช้ในงานมงคลต่างๆ ส่วนอีกด้านหนึ่งเมื่อกลับออกมาจะเป็นด้านที่มีสีสันหลากหลาย โดยตกแต่งผ้าสีต่างๆ ไว้ตามชายเสื้อและขอบแขน ใช้ในโอกาสอวมงคล เช่น งานพิธีศพ จะใส่กลับกันไม่ได้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดแบบแผน เสื้อฮีจะใช้กับกางเกงขายาวสีดำขาแคบ เรียกว่า “ส้วงฮี”
เสื้อผ้าที่ไทยโซ่งใช้สวมใส่ในสมัยก่อน จะปั่นด้าย นำมาทอ ย้อมคราม และตัดเย็บทุกอย่างด้วยตัวเอง ทุกคนมีเสื้อฮีไว้ใช้ในโอกาสพิเศษต่างๆ แต่ปัจจุบันจะหาดูเสื้อฮีได้ยากขึ้นทุกที่เครื่องประดับของไทยโซ่งใช้โลหะทำด้วย เงิน ทอง นาค เช่น กำไลมือ ต่างหู เป็นต้น
ระบบเสียง ภาษาไทยโซ่งมีสำเนียงผิดเพี้ยนจากลาวเวียงจันทน์และลาวทางภาคอีสานไม่มากนัก ภาษาพูด ภาษาไทยโซ่งคือภาษาไทยดำในอดีต จัดอยู่ในภาษาตระกูลไท (Thai family) สาขาตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Branch) (Li 1960) และ(Hartmann 1980)ได้แบ่งภาษาไทสาขาตะวันตกเฉียงใต้ออกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะของการแตกตัวของวรรณยุกต์ ภาษาไทดำจัดอยู่ในกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ตอนบน (Upper Southwestern tai) ซึ่งประกอบด้วย ภาษาไทแดง ไทดำ ไทขาวลื้อเชียงตุง ลื้อเชียงรุ้ง และชาน ไทยโซ่งใช้ภาษาของตนเองพูดจาติดต่อในกลุ่มไทยโซ่งด้วยกัน แต่จะใช้ภาษาไทยภาคกลางพูดจาติดต่อกับคนนอกกลุ่มหรือคนไทยอื่นๆ คนรุ่นเก่าที่สูงอายุจะพูดภาษาไทยกลางไม่สู้สันทัดนัก แต่เด็กรุ่นใหม่ต้องเข้าโรงเรียนและใช้ภาษากลางเป็นสื่อในการติดต่อเปืนประจำจึงใช้ภาษาไทยกลางได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนเด็กไทยอื่นๆ กับไทยพวน แต่ของไทยโซ่งมีเสียงสั้นกว่า (สมพนธ์ สุขวงศ์ 2506)
พิธีกรรมไทยทรงดำ/ไทดำ
- เฮ็ดแฮว หรือพิธีกรรมความตายวาระสุดท้ายของไทดำ ชาวไทยทรงดำถือว่าการตายเป็นเรื่องสำคัญมาก ญาติพี่น้องผีเรือนเดียวกันจะหยุดทำงานทุกอย่างเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ เมื่อมีการตาย เรียกว่า “กำบ้าน กำเมือง” จนกว่าจะนำศพไปเผาแล้ว เฮือนแฮ้วเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการหลังเผาศพ ในวันรุ่งขึ้น ญาติพี่น้องและผู้สืบผีจะมาทำพิธี ณ บริเวณที่เผาศพ ขั้นแรก การเก็บกระดูกผู้ตาย ขั้นต่อมา สร้างแฮ้ว เรียกว่า “เฮ็ดแฮ้ว” และประกอบพิธีส่งวิญญาณ นายเขยเป็นผู้บอกทางให้วิญญาณผู้ตายเดินทางกลับบ้านมาตุภูมิเดิม หรือเมืองแถง ประเทศเวียดนาม จากนั้นนายเขยจะบอกวิญญาณผู้ตาย เมื่อถึงมื้อเวนตง ก็ให้ผู้ตายกลับบ้านมารับเครื่องเซ่นทุก 10 วัน หรือที่เรียกว่า “ปาดตง” อีกด้วย เพราะตามความเชื่อ ผีผู้ล่วงลับสามารถให้คุณ ให้โทษแก่คนในครอบครัว จึงต้องมีการเชิญเป็นผีประจำบ้านเรือน เรียกว่า “ผีเฮือน” โดยเชิญผีของผู้ที่ล่วงลับจากความเจ็บป่วยและหมดอายุเท่านั้น
- เสนเรือน นอกเหนือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในยามปกติแล้ว ชาวไทยทรงดำหรือไทดำประกอบพิธีที่เรียกว่า “เสนเรือน” ทุกปีหรือ 2-3 ปีครั้ง เพื่อให้ผีเรือนของตนได้มารับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลาน ประเพณีนี้แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ อย่างที่กล่าวไว้แล้ว ผีที่ล่วงลับสามารถให้คุณให้โทษได้ ฉะนั้น หากเซ่นไหว้ผีเรือนอย่างเหมาะสม ผีเรือนจะปกป้องคุ้มครองรักษาสมาชิกในครอบครัวและบันดาลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าตามคติความเชื่อ การเซ่นไหว้มีความซับซ้อนและมีผู้ประกอบพิธีเฉพาะหรือที่เรียกว่า “หมอเสน” ประกอบพิธีเลี้ยงผีเรือน โดยมีสำรับเผื่อน ลักษณะคล้ายโตกสานด้วยไม้ไผ่ไว้ใส่เครื่องเซ่น หนึ่งในนั้นคือหมูที่มีการเลี้ยงไว้ก่อนหน้านั้น หมอเสนต้องอ่าน “ปับผีเรือน” หรือบัญชีผีประจำบ้านเรียกให้มารับเครื่องเซ่น หลังจากเซ่นไหว้ผีเรือนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนจะทำพิธีเสี่ยงทายเรียกว่า “ส่องไก่” ด้วยการพิจารณาลักษณะของตีนไก่ในแกงหน่อไม้เปรี้ยวหรือ “แกงหน่อส้ม” หากตีนไก่หงิกงอแสดงว่า ไม่ดี จะมีเรื่องร้าย เช่น การเจ็บป่วย การตาย หรือการทำมาหากินประสบปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น แต่ถ้าตีนไก่เหยียดตรงแสดงว่าทุกคนในครอบครัวของเจ้าภาพจะประสบแต่ความสุขความเจริญ
- อิ่นก๋อนฟ้อนแก๊น การละเล่นในกลุ่มคนไทยทรงดำหรือไทดำนี้ อาจเรียกว่าการเล่นคอน เดิมทีในเดือน 5 เมื่อว่างจากฤดูทำนาทำไร่ พวกหญิงสาวลาวโซ่งนั่งรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 15-20 คนขึ้นไป ณ บ้านใดบ้านหนึ่งสำหรับเป็น “ขวง” เพื่อให้มานั่งทำงานฝีมือร่วมกัน และเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่ครอง เมื่อถึงวัน 1 ค่ำฝ่ายชายจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มและตระเวนไปตามหมู่บ้านเพื่อไป “เล่นคอน” ซึ่งหมายถึงการเล่นทอดลูกช่วงนั่นเองแต่ในปัจจุบันนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูประเพณีในวันไทยทรงดำ ที่มีการจัดหมุนเวียนไปในแต่ละหมู่บ้านที่มีลูกหลานชาวไทยทรงดำหรือไทดำสืบเชื้อสาย เพื่อให้เกิดการไปหาสู่ระหว่างลูกหลานชาวไทยทรงดำ การเล่นลูกช่วงกลายเป็นการสาธิตทางวัฒนธรรมที่ให้หนุ่มสาวตั้งแถวและโยนโลก “มะกอน” สลับไปมาและยังมีการฟ้อนแคนที่อาศัยวงแคนจากการจ้าง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานที่แต่งกายด้วยชุดไทยทรงดำทั้งชายและหญิงรื่นเริง แต่ที่สำคัญกว่านั้น งานไทยทรงดำตอกย้ำถึงอัตลักษณ์ทางภาษา การแต่งกาย และประเพณีของคนไทดำที่ย้ายถิ่นและตั้งถิ่นฐานในสังคมมานานนับร้อยปี
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์. กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2566]
เทศบาลตำบลกม.5 อำเภอเมืองฯ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, จาก https://www.kormorha.go.th/ [สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2566]
ประวัติศาสตร์นอกตำรา. หนังสือบอกทางคนตาย กลับสู่บ้านเกิดที่เมืองลอ และการเสนเฮือน, จาก https://youtu.be/cDfK2upI16w?si=KbdVPUuszXEOTO3Z [สืบค้นเมื่อ 23 สิงหคม 2566]