ป่าตุ้มน้ำอ้อยหวาน ประเพณีงานพระธาตุจอมหิน เกษตรกรรมแดนหอมจีน วัฒนธรรมท้องถิ่นถ้ำหลากลาน ธรรมชาติงามน้ำตกผาลาด ผาตั้ง วังชมพู
ชื่อป่าตุ้มมาจากชื่อต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ชอบขึ้นในที่ลุ่ม
ป่าตุ้มน้ำอ้อยหวาน ประเพณีงานพระธาตุจอมหิน เกษตรกรรมแดนหอมจีน วัฒนธรรมท้องถิ่นถ้ำหลากลาน ธรรมชาติงามน้ำตกผาลาด ผาตั้ง วังชมพู
ตำบลป่าตุ้มก่อตั้งประมาณ 700 ปีมาแล้ว หมู่บ้านแรก ๆ ในตำบล คือ หมู่บ้านทุ่งกู่ ทุ่งห้า ป่าตุ้ม และต้นรุง แล้วได้แยกออกไปอีกเป็น 9 หมู่บ้าน อาชีพดั้งเดิมของคนในตำบลป่าตุ้ม คือ ทำนา ทำสวน หาของป่า ส่วนชื่อตำบลป่าตุ้มได้มาจากสมัยก่อนพื้นที่ส่วนใหญ่ในตำบลป่าตุ้มเป็นป่าไม้ที่มีไม้ตุ้มขึ้นอยู่หนาแน่นในแถบนี้ "ต้นตุ้ม" คือไม้เนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง ลำต้นมีเกล็ด เนื้อไม้จะมีสีเหลืองทอง ส่วนใบคล้ายกับใบยอ แต่ใหญ่กว่า ส่วนโคนใบจะมีกลีบหุ้ม มีดอกเป็นปุยคล้ายเงาะ ในอดีตมีต้นขนาด 2-3 คนโอบ แต่ปัจจุบันหาดูได้ยาก ชาวบ้านป่าตุ้มส่วนใหญ่อพยพมาจากที่สูง ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ และไทใหญ่ ในเขตพื้นที่ป่าตุ้มมีวัดร้างมากมาย เช่น วัดดงอาทิตย์ วัดดงหลวง มีสถานที่สำคัญของตำบล คือ ถ้ำหลากลาน และ พระธาตุจอมหิน ซึ่งในสมัยพญามังราย ผู้ปกครองตำบลป่าตุ้ม คือ ท้าวลือสอน
บ้านป่าตุ้มดอน ตั้งเมื่อราว พ.ศ. 2390 คนกลุ่มใหญ่เป็นคนเชื้อสายไทยใหญ่มาจากเมืองปาย
วัดป่าตุ้มดอน สร้างขึ้นตามคติแบบไทใหญ่ เป็นอาคาร (จอง) 3 หลัง ประกอบด้วย อาคารหลังกลางคือ วิหาร (จองพารา และจองตาน) อาคารด้านทิศใต้และทิศหนือ คือกุฏิสงฆ์ และหอฉัน (จองสังฆะ หรือหลุกหวุนเจ้า และจองซอม) อาคารสามหลังมีพื้นที่แล่นเชื่อกันตลอดทั้งสามหลังและใช้ระดับของพื้นอาคารในการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ บริเวณที่เป็นอาสนสงฆ์ และแท่นสำหรับประดิษฐานพระประธานยกพื้นสูงกว่าพื้นที่อื่น เรียกว่า "ข่าปาน" ในส่วนของหลังคาเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่แบบสองคอสามชาย เชิงชายประดับด้วยไม้สักฉลุลาย เรียกว่า "ปานซอย" นอกจากนี้ ในวิหารยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น จำนวน 3 องค์ ศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะแบบเชียงแสนและแบบมัณฑะเลย์ โดยสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2454 และยังพบพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน (พระสิงห์) สกุลช่างเมืองฝาง พระพุทธรูปเงินแบบล้านนา พระพุทธรูปปานปอง (พระดอกไม้) พระพุทธรูปหินหน่ออีกเป็นจำนวนมาก เป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทั้งทางด้าน ความเชื่อ ด้านประวัติศาสตร์ และด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ
สภาพทั่วไปและอาณาเขตที่ตั้ง ตำบลป่าตุ้ม มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลเขื่อนผาก ตำบลแม่แวน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเวียง ตำบลทุ่งหลวง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
สภาพทางภูมิศาสตร์
1.ลักษณะภูมิประเทศ : พื้นที่ของตำบลป่าตุ้มส่วนใหญ่เป็นภูเขาปกคลุมด้วยป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นต้นน้ำ ที่ก่อให้เกิดลำห้วย และแม่น้ำสายต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค และประโยชน์ในการเกษตร ซึ่งตำบลป่าตุ้มมีที่ราบเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำการเกษตร
2.ลักษณะภูมิอากาศ : ลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคม
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนมิถุนายน ถึง เดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์
3.ลักษณะของดิน : จากการสำรวจและวิเคราะห์สภาพการใช้ที่ดินของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ตำบลป่าตุ้ม มีพื้นที่ทั้งหมด 46,437 ไร่ ดินในตำบลป่าตุ้มส่วนใหญ่เป็นดินร่วนเหนียวปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในระดับปานกลาง จำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้ดังนี้
- การใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร 14,682.54 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.62
- พื้นที่ป่าไม้ 29,551.84 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.64
- พื้นที่อยู่อาศัย 1,879.50 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.05
- พื้นที่แหล่งน้ำ 172.70 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.37
- พื้นที่เบ็ดเตล็ด 149.87 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.32
ทรัพยากรธรรมชาติ
1.น้ำ : แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำแม่สะลวม ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสำคัญสายหนึ่งของแม่น้ำงัดฝั่งซ้าย อันมีห้วยสาขาสำคัญ คือ ห้วยปางฟาน เกิดจากยอดดอยแม่ปูนหลวง ยอดสูงประมาณ 1,412 เมตร และห้วยฝั่งขวามีห้วยแม่ธาตุและห้วยหมากแก่ง เกิดจากยอดดอยตอนเหนือดอยแม่ปูนหลวง ยอดสูงประมาณ 1,695 เมตร ยอดดอยทั้งหมดเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
2.ป่าไม้ : ตำบลป่าตุ้ม มีพื้นที่ป่าไม้ ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง มีไม้เต็ง ไม้รัง ไม้สัก และไม้ประดู่
3.ภูเขา : พื้นที่ด้านทิศตะวันออกของตำบลป่าตุ้มเป็นภูเขา เช่น ยอดดอยม่อนล้าน ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของลำน้ำน้อยใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงตำบลป่าตุ้ม
4.ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ในอดีตทรัพยากรธรรมชาติ ทั้ง ดิน น้ำ ป่าไม้ มีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่ปัจจุบันพบว่าทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลงมาก ป่าไม้ลดน้อยลง มีการลักลอบตัดไม้ การขยายพื้นที่การเกษตรเข้าไปในเขตป่า ปริมาณน้ำธรรมชาติลดลง ลำน้ำลำห้วยแห้งแล้ง คุณภาพดินเสื่อม เนื่องจากมีการทำการเกษตรแบบเข้มข้น โดยใช้สารเคมี ไม่มีการบำรุงรักษาดิน
กลุ่มผู้สูงอายุบ้านป่าตุ้มดอน
ก่อตั้งมามากกว่า 14 ปี (นับถึง ณ ปี พ.ศ. 2565) ผ่านการมีประธานกลุ่มผู้สูงอายุมาแล้ว 3 คน (วาระ 4 ปี) วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มเป็นไปตามการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามนโยบายของภาครัฐที่แต่ละหมู่บ้านมีกลุ่มผู้สูงอายุของตนเอง โดยมีเกณฑ์การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้สลับซับซ้อน เนื่องจากใช้เกณฑ์อายุเป็นตัวกำหนด หากสมาชิกหมู่บ้านท่านใดมีอายุครบ 60 ปี บุคคลนั้นนับเป็นสมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุโดยทันที ปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุบ้านป่าตุ้มดอน มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 91 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมู่บ้าน 378 คน (ใน 156 ครัวเรือน) คิดเป็นร้อยละ 24.07 ของประชากรทั้งหมด และมีจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จำนวน 64 คน คิดเป็นร้อยละ 16.93 ของประชากรทั้งหมด โดยนัยยะนี้เทียบเคียงได้ว่า บ้านป้าตุ้มดอน เป็น “สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์”
การดำเนินกิจกรรมผู้สูงอายุที่ผ่านมาของกลุ่มผู้สูงอายุบ้านป่าตุ้มดอน จะเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมของทางตำบล และอำเภอที่จัดให้กับสมาชิกผู้สูงวัยในพื้นที่ โดยมีรูปแบบกิจกรรมจัดอยู่ในหมวดสันทนาการ และการให้ความรู้ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม เช่น กิจกรรมละลายพฤติกรรม การสนทนาธรรม การให้ความรู้ทางการเกษตรพื้นฐาน (เลี้ยงไก่ กบ ปลาดุก)
1.แม่บัวซอน เหม่ชัยภูมิ
แม่บัวซอน หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า แม่ซอน ปัจจุบัน อายุ 87 ปี เป็นบุคคลเก่าแก่แห่งชุมชนบ้านป่าตุ้ม ซึ่งถึงแม้ว่าแม่บัวซอนจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่แถบอีสานตามสามี สุดท้ายแม่บัวซอนก็ได้กลับมาอยู่อาศัยที่ถิ่นฐานเดิม ถึงแม้แม่บัวซอนอายุจะมากแล้ว เดินเหินไม่ค่อยสะดวก แต่วันที่ทีมงานไปเยี่ยมที่บ้าน แม่บัวซอนยังโชว์ฝีมือการถีบจักรเพื่อเย็บกางเกงของตัวเองไว้สวมใส่ แต่ยังจำและถ่ายทอดเหตุการณ์ในอดีตได้ โดยเฉพาะพ่อของแม่บัวซอนที่มีมรดกมอบให้ลูกหลานเก็บไว้เป็นคัมภีร์โบราณหลายชิ้น ที่เขียนด้วยตนเองเป็นภาษาไทใหญ่และภาษาบาลี ซึ่งนับว่าหาดูได้ยากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นชะตาเกิด (สูติบัตรจากใบลาน) พระหินหน่อ พับสา หินคง แอ๊บ (เชี่ยนหมาก) กะเลิ๊บ (กระเป๋าหนังสัตว์) เป็นต้น ยายเล่าว่าสมัยก่อนไม่มีหน่วยงานรับแจ้งเกิด เช่นที่ว่าการอำเภอ เหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นจึงไปบอกพระที่วัดในลงรายละเอียดเกี่ยวกับการเกิดลงในใบลาน เช่น วันที่เกิด เวลาตกฟาก ราศีเกิด เป็นต้น จากนั้นนำมาเก็บไว้ บางคนเก็บไว้ในกล่องไม้ บางคนเก็บไว้ในกับ (เครื่องจักสานไม้ไผ่เป็นทรงกระบอก) เป็นต้น
ยายเล่าว่าได้เรียนหนังสือตอนอายุ 12 ปี ส่วนน้องสาวยายไม่ชอบไปโรงเรียนก็อ่านหนังสือไม่ออกจนเสียชีวิต ยายซอนชอบเรียนหนังสือ จึงอ่านออกเขียนได้ ส่วนน้องสาวทำอาชีพทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ แต่ก่อนแม่บัวซอนทำอาชีพค้าขาย ขายของที่กาด (ตลาด) เวียงพร้าว พออายุได้ 22 ปี ได้แต่งงานและย้ายไปเวียงจันทน์ตามสามี ทำอาชีพขายของใช้ ผัก กระเทียม ผลไม้ โดยย้ายไปตั้งรกรากอยู่ อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย เนื่องจากต้องไปดูแลลูก 5 คน จากนั้นกลับมาอยู่ป่าตุ้มดอน เมื่อปี พ.ศ. 2517 มีลูกชาย คือครูสมชายตามกลับมาอยู่ด้วยเป็นคนแรก จากนั้นลูก ๆ ก็ทยอยกลับตามมาทีละคน
ยายเล่าว่าสมัยก่อนบ้านป่าตุ้มดอนไม่เจริญ ถนนหนทางเป็นทางเกวียน ไม่มีแม้แต่จักรยานขี่ ไม่มีวิทยุ โทรทัศน์ ยายได้เห็นและขี่จักรยานเป็นครั้งแรกเมื่ออายุได้ 22 ปี ตอนนั้นได้แต่งงานพอดี คนในบ้านป่าตุ้มส่วนใหญ่ทำอาชีพ ทำไร่ ทำสวนถั่วเพื่อเอามาทำถั่วเน่า สวนฝ้าย ส่วนสวนอ้อยเพิ่งมีภายหลัง ชาวบ้านส่วนใหญ่ทอผ้า ปั่นฝ้ายเอง ยายได้ทอผ้าตั้งแต่อายุ 14 ปี ส่วนวัดป่าตุ้มสมัยก่อน เป็นวัดไม้ เจ้าอาวาสและพระเป็นชาวไทใหญ่ คนไทใหญ่ในบ้านป่าตุ้มดอนจะอยู่ละแวกบ้านแม่กองคำเป็นต้นไป ส่วนของโบราณบ้านยาย มีแอ๊บหมาก ขันข้าวตอกดอกไม้ที่เหลาเป็นเส้นไม่เหมือนสมัยนี้ หนังสือไทใหญ่ พับสา เอาไว้ไหว้บูชา นอกจากนี้ลูกชายของ แม่บัวซอน คือ ครูสมชาย เหม่ชัยภูมิ ได้นำองค์ความรู้ในพับสาของทวดไปตีพิมพ์เป็นหนังสือบอกวันมงคล ที่เรียกว่า วันหัวเรียงหมอน เป็นวิทยาทานแก่คนทั่วไปอีกด้วย
2.พ่อคำ นันติ (อุ้ยมาศ)
อุ้ยมาศ เป็นปราชญ์คนสำคัญของบ้านป่าตุ้ม เนื่องจากมีองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทใหญ่ และล้านนาในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านศิลปะการฟ้อนไทใหญ่ การเล่นดนตรีไทใหญ่ การประดิษฐ์เครื่องดนตรี การอ่านเขียนตัวอักษรล้านนา ทั้งภาษาบาลี และไทใหญ่ รวมถึงเป็นหมอชาวบ้านภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย ชาวบ้านเล่าลือว่า ลุงมาศจะทำตามฮาง คือ จุดกระถางประทีปน้ำมันงา เพื่อนำมาใช้แก้เคล็ด และทำพิธีการปัดเป่า ซึ่งเป็นความเชื่อในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย อันตรายต่าง ๆ เช่น ลุงมาศจะเป่าน้ำมนต์ก่อนออกจากบ้าน 1 ชั่วโมง เป็นต้น
อุ้ยมาศประกอบหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ทำไร่อ้อย ช่างสัก ฟ้อน ชาวบ้านเล่าว่าลีลาในการฟ้อนไทใหญ่ของอุ้ยมาศว่ามีความอ่อนช้อยและสวยงามมาก แต่ก่อนอุ้ยมาศรับงานแสดงตามต่างอำเภอ ทั้งแบบไปแสดงเดี่ยว และแสดงเป็นหมู่คณะ แต่อุ้ยมาศประสบอุบัติเหตุทำให้ต้องตัดฝ่าเท้าขวาออกไปครึ่งหนึ่ง จึงทำให้ไม่สามารถฟ้อนได้งดงามได้ดังเดิม ถึงแม้จะมีปัญหาในการเดิน แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการโชว์ลีลาฟ้อนไทใหญ่ และการสีสะล้อร่วมกับวงดนตรีกลองมองเชิงของชุมชนป่าตุ้มดอน อุ้ยมาศนอกจากจะฟ้อนรำ และเล่นดนตรีได้หลากชนิดแล้ว อุ้ยมาศยังผลิตเครื่องดนตรีเอง เช่น ขลุ่ย ระนาด สะล้อ เป็นต้น ซึ่งอุ้ยมาศได้นำสะล้ออายุกว่า 70 ปี ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง โดยเล่นเพลง มอเตอร์ไซค์ทำหล่น ให้ทีมงานฟังอย่างสนุกสนาน
พระปานปอง
เป็นภูมิปัญญาการสร้างพระของชาวไทใหญ่แต่โบราณ ปาน หมายถึง ดอกไม้ / ปอง หมายถึง การนำมารวมกัน พระปานปอง จึงหมายถึง พระพุทธรูปที่สร้างจากการนำดอกไม้มารวมกัน ทั้งนี้อาจมีเทคนิคแตกต่างกันไปบ้าง วัดป่าตุ้มดอน ต.ป่าตุ้ม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีชาวไทใหญ่ตั้งถิ่นฐาน และมีพระพุทธรูปปานปอง ประดิษฐานอยู่เป็นจำนวนมาก
ดนตรีพื้นบ้าน
ดนตรีพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมตามประเพณีต่าง ๆ ในชุมชนป่าตุ้ม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่วัดป่าตุ้มดอนมีเครื่องดนตรีโบราณหลายชิ้นเก็บอยู่ ซึ่งบางชิ้นชำรุดไปตามอายุ แต่บางชิ้นยังถูกนำมาเล่นในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานยี่เป็ง โดยผู้เล่นดนตรีล้วนแล้วแต่เป็นคนในชุมชนป่าตุ้มด้วยกันเอง เครื่องดนตรีและการเล่นดนตรีนั้นเป็นการละเล่นแบบไทใหญ่ ใช้เล่นประกอบการฟ้องกิงกะหล่า การฟ้อนโต เป็นต้น
จากภาพประวัติศาสตร์หลาย ๆ ภาพที่ปรากฏในฐานข้อมูลจดหมายเหตุนี้ แสดงให้เห็นถึงประเพณี วัฒนธรรมที่ชาวไทใหญ่และคนเมืองที่อาศัยในชุมชนร่วมกันสืบทอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นดนตรีไทใหญ่เพื่อประกอบกิจกรรมและประเพณีต่าง ๆ เช่น การฟ้อนโต การฟ้อนนกกิงกะหล่า การฟ้อนก้าลาย โดยชาวบ้านในชุมชนที่เล่นเครื่องดนตรีเป็นจะพากันร่วมบรรเลงเพลงกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งในวันที่ทีมงานไปเก็บข้อมูล พ่อครูและชาวบ้านในชุมชนหลายท่านสละเวลามาแสดงดนตรีให้ชม มีทั้งอุ้ยมาศที่ขึ้นชื่อด้านการเล่นเครื่องดนตรีหลาย ๆ ประเภท การฟ้อนก้าลาย และท่านอื่น ๆ เช่น ลุงอุดม ชมชาติ, คุณลุงสมจิต ดวงวงศ์, แก่บ้านวินัส ทองเผือก, พ่ออภัย คืนมาเมือง เป็นต้น โดยแต่ละท่านได้เล่นดนตรีไปเรื่อย ๆ ส่วนอุ้ยมาศได้สีล้อและฟ้อนก้าลายอย่างสนุกสนาน
ชาวบ้านหลาย ๆ ท่าน เล่าว่า เครื่องดนตรีของวัดทั้งหมด ทั้งฆ้อง กลองปู่เจ่ กลองมองเซิง ฉาบ ฯลฯ มีอายุประมาณ 4 ชั่วอายุคน เดิมมี อุ๊ยมา เป็นเจ้าของ ซึ่งได้มาจากเมืองอังวะ ประเทศพม่า จากนั้นได้ขายต่อให้อุ๊ยปาในราคา 30,000 บาท ต่อมาเป็นมรดกตกทอดสู่รุ่นลูกอุ๊ยปา ซึ่งได้นำไปขายให้ชาวต่างชาติ ในราคา 130,000 บาท แต่เมื่อชาวต่างชาติได้กลองและเครื่องดนตรีไป เกิดฝันร้ายบ่อยครั้ง จึงรู้สึกไม่ดีและนำมาขายคืนให้ลูกอุ๊ยปา จากนั้นลูกอู๊ยปาจึงนำมาขายให้วัดในราคา 70,000 บาท
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). กำกิ๋นบ้านป่าตุ้มดอน. เชียงใหม่: โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เรื่อง การวิจัยหลักสูตรอย่างมีส่วนร่วมของมนุษยชนสำหรับสถานศึกษา.
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). โครงการ การพัฒนาพื้นที่วัดและชุมชนป่าตุ้มดอนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของท้องถิ่นตามแนวความคิด GLAM (Gallery, Library, Archive, Museum). จาก https://www.glampatum.cmru.ac.th/
เทศบาลตำบลป่าตุ้ม. (2565). ข้อมูลพื้นฐาน เทศบาลตำบลป่าตุ้ม. จาก https://www.patum.go.th/
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2566). วัดป่าตุ้มดอน. จาก https://culturalenvi.onep.go.th/
สุรเดช ลุนิทรานนท์ และณกานต์ อนุกูลวรรธกะ. (2565). สุขภาวะดีสมใจ สูงวัยป่าตุ้มดอน. วารสารข่วงผญา, 16(1), 85-97.