Advance search

ท่ามกลางอ้อมกอดแห่งขุนเขามีหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอหมู่บ้านหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในหุบเขามานานกว่าร้อยปี แสนงดงามทั้งธรรมชาติและโฉมนารีจนมีคำจำกัดความประจำหมู่บ้านว่า “สาวสวย ธรรมชาติงาม หมู่บ้านนาม วุ้งกระสัง”

หมู่ที่ 10
วุ้งกะสัง
โป่งน้ำร้อน
คลองลาน
กำแพงเพชร
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ส.ค. 2023
บ้านวุ้งกะสัง


ชุมชนชนบท

ท่ามกลางอ้อมกอดแห่งขุนเขามีหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอหมู่บ้านหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในหุบเขามานานกว่าร้อยปี แสนงดงามทั้งธรรมชาติและโฉมนารีจนมีคำจำกัดความประจำหมู่บ้านว่า “สาวสวย ธรรมชาติงาม หมู่บ้านนาม วุ้งกระสัง”

วุ้งกะสัง
หมู่ที่ 10
โป่งน้ำร้อน
คลองลาน
กำแพงเพชร
62180
16.37023
99.20708
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน

บ้านวุ้งกะสัง แบ่งประชาชนที่อาศัยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้านเหนือและกลุ่มบ้านใต้ กลุ่มที่อพยพเข้ามาครั้งแรกคาดว่าเป็นกลุ่มบ้านเหนือ โดยสันนิษฐานว่าอาจย้ายมาจากบ้านเพชรจะขอเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดโรคระบาดอหิวาตกโรค และมีการทำไร่หมุนเวียนจึงย้ายขึ้นมาตามสายน้ำเรื่อย ๆ กระทั่งมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าซึ่งมีประกาศห้ามไม่ให้ชุมชนในอาณาบริเวณขยับโยกย้ายถิ่นฐานอีก อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะอพยพย้ายคนออกจากป่า ทว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงมีการเจรจาตกลงกันให้ชาวบ้านยังคงอาศัยอยู่ในผืนป่าของเขตอุทยานต่อไปได้ภายใต้การปฏิบัติตามกฎระเบียบของอุทยานอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ มีคำบอกเล่าจากผู้อาวุโสในชุมชน คือ แม่พือแจะ แสงทองศรี ว่าตนเองนั้นอาศัยอยู่ในหมู่บ้านตั้งแต่เกิด ซึ่งหากคำนวณตามปีเกิดตามบัตรประชาชนเมื่อ พ.ศ. 2452 จนปัจจุบันรวม 114 ปี ซึ่งคาดว่าเป็นอายุใกล้เคียงกับชุมชน ส่วนกลุ่มบ้านใต้ได้ย้ายออกมาจาก “บ้านสามัคคี” หรือ “สามัคโค๊ะ” ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานได้มีความพยายามที่จะอพยพชาวบ้านกลุ่มนี้ที่เดิมอาศัยอยู่ในป่าลึกให้มาอยู่ที่วุ้งกะสังร่วมกับกลุ่มบ้านเหนือเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว จากนั้นไม่นาน ความเป็นสังคมเมืองเริ่มขยายตัวเข้ามาภายในชุมชนวุ้งกะสัง วิถีการเกษตรที่แต่เดิมมีระบบแบบไร่ข้าวหมุนเวียนเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนก็เริ่มเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดเพื่อการพาณิชย์เป็นหลัก เริ่มมีการจับจ่ายซื้อสินค้าจากในตัวเมืองเข้ามาภายในชุมชน ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการนำควายเข้ามาเลี้ยงโดยเป็นการเลี้ยงแบบปล่อย อีกทั้งยังมีการเลี้ยงไก่และหมูไว้สำหรับใช้ในการประกอบพิธีกรรม แต่ปัจจุบันในชุมชนไม่มีการเลี้ยงหมูแล้ว เมื่อระยะเวลาผ่านไปชุมชนมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการผูกสัมพันธ์กับผู้คนจากภายนอก ลูกหลานได้รับการศึกษาผ่านครูอาสาที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ โดยตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีนับตั้งแต่การรวมกันของกลุ่มบ้านเหนือและกลุ่มบ้านใต้ ชุมชนบ้านวุ้งกะสังเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายตามพลวัตและกาลเวลา ทว่า รากเหง้าทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และจิตวิญญาณ ตลอดจนวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคนของชนปกาเกอะญอบ้านวุ้งกะสังยังคงอยู่ และสืบทอดมาสู่ลูกหลานจนปัจจุบัน

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านวุ้งกะสังตั้งอยู่ในอาณาเขตผืนป่าตะวันตก เขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เขตจังหวัดกําแพงเพชร ทางด้านทิศเหนือมีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อนติดกับบ้านคลองมดแดง ตำบลโป่งน้ำร้อน ทิศใต้ติดกับบ้านเพชรนิยม (บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกเพชรจะขอ) ตําบลสักงาม อําเภอคลองลาน และทิศตะวันออกติดกับบ้านโป่งน้ำร้อน ทิศตะวันตกติดกับบ้านป่าคา ตําบลโป่งน้ำร้อน อําเภอคลองลาน

ลักษณะทางกายภาพ

บ้านวุ้งกะสังมีที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา บางส่วนเป็นที่ราบ บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในชุมชนห่างจากพื้นที่การเกษตร และมีเพียงบางส่วนที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่การเกษตร ลักษณะดินมีอยู่ 3 ประเภท คือ ดินร่วนปนทรายหรือดินดํา ดินทราย และบริเวณที่ลาดชันส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นดินผสมกรวด ลําน้ำที่สําคัญของหมู่บ้าน คือ คลองวุ้งกะสัง ซึ่งมีคลองสาขามากมาย อาทิ คลองตาดยาว คลองป่าบอน คลองกะทิง เป็นต้น โดยลำคลองเหล่านี้จะไหลรวมกันผ่านพื้นที่ทางการเกษตรไปบรรจบรวมกับคลองสวนหมากบริเวณปากคลองวุ้งกะสัง จากนั้นคลองสวนหมากจะไหลไปรวมกับแม่น้ำปิงบริเวณปากคลองสวนหมากที่ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จึงอาจกล่าวได้ว่าบ้านวุ้งกะสังเป็นแหล่งต้นน้ำสาขาของแม่น้ำปิงก็ว่าได้

สภาพภูมิอากาศ

สภาพอากาศโดยทั่วไปของพื้นที่ชุมชนบ้านวุ้งกะสังมีอุณหภูมิต่ำกว่าที่ราบประมาณ 2-5 องศา เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงมีภูเขาล้อมรอบและป่าไม้ปกคลุมหนาแน่น ทําให้มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อากาศเย็นในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ และฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม แต่จะไม่ร้อนมากเหมือนกับพื้นราบ อย่างไรก็ดี ลักษณะสภาพอากาศในพื้นที่ก็เปลี่ยนแปลงตามลักษณะอากาศทั่วไปของประเทศเช่นกัน

ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรป่าไม้บริเวณบ้านวุ้งกะสังส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ พบพรรณไม้ที่หลากหลาย เช่น สัก มะค่า ประดู่ ชิงชัน และตะแบกแดง ป่าเต็งรัง มีพรรณไม้จําพวกเต็ง รัง เฮียง ควง และมีลักษณะเป็นป่าไผ่หนาแน่น มีไผ่หายากหลายชนิด เช่น ไผ่ข้าวหลาม ไผ่บ้องยาวกาบแดง ไผ่ซาง ไผ่หนาม ไผ่ผาก นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรหายากหลายชนิด เช่น ม้ากระทืบโรง สะค้าน ฝางแดง เสือโคร่ง พญามือเหล็ก โด่ไม่รู้ล้ม รางจืดเปล้าน้อย เปล้าใหญ่ชะเอมหวน ผักพื้นบ้านที่พบมากในบริเวณป่าวุ้งกะสัง คือ ผักกูด ผักหนาม ผักหวาน อีรอก อีนูน และมีพืชจําพวกกล้วยไม้ เฟิร์น มอส ที่หายากจํานวนมาก รวมถึงพันธุ์พืชอีกมากมายหลายชนิดที่พบในป่าวุ้งกะสัง

ทรัพยากรสัตว์ป่า บริเวณรอบหมู่บ้านจะพบเก้ง กวาง มาหาอาหารกินเป็นประจํา บางครั้งมากินมันสําปะหลังของชาวบ้าน แต่ในชุมชนได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ล่า ไม่ทำร้ายเก้ง กวางที่เข้ามาในบริเวณพื้นที่หมู่บ้าน นอกจากสัตว์ป่าแล้วยังพบว่า ทรัพยากรสัตว์น้ำก็มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณตาดเจเรและตาดลูกไข่ มีสัตว์น้ำที่สําคัญ เช่น นาก เต่า และปลาหลากหลายชนิด เช่น ปลามูด ปลาม่อม ปลากา ปลาตะเพียน เป็นต้น

ประชากร

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลโป่งน้ำร้อน หมู่ที่ 10 บ้านวุ้งกะสัง มีจำนวนประชากร 353 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 181 คน ประชากรหญิง 172 คน และจำนวนคัวเรือนทั้งสิ้น 108 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565) ประชากรในชุมชน คือ ชาวปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยงที่สันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากพม่า แล้วค่อย ๆ ขยับขยายถิ่นฐานมาจนถึงบ้านวุ้งกะสังในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับชาวปกาเกอะญอในอำเภออุ้มผางด้วย

ระบบเครือญาติ

ระบบสังคมของชุมชนบ้านวุ้งกะสัง มีลักษณะความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติที่เกี่ยวดองกัน โดยดั้งเดิมมีตระกูลใหญ่อยู่ 4 ตระกูล ได้แก่ แสงทองศรี แสนทองศรี หัวบือ และรักไทย ต่อมามีคนนอกชุมชนหรือคนต่างถิ่นเข้ามาแต่งงานกับคนในพื้นที่ทําให้เกิดความสัมพันธ์ขยายวงกว้างมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอาศัยอยู่ในชุมชน โดยทั่วไปครอบครัวของชาวบ้านวุ้งกะสังมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก หลาน อาพี (ย่าหรือยาย) อาจือ (ตาหรือปู่) และบ้านของเครือญาติจะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีการไปมาหาสู่ใกล้ชิดสนิทสนม มีการช่วยเหลือ แบ่งปันซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมหนึ่งที่ถือเป็นการเชื่อมสัมพันธ์และแสดงออกถึงความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์เครือญาติ คือ การลงแขกเอาแรงกันทํางาน และการรวมตัวกันทํากิจกรรมต่าง ๆ เสมอ เช่น การช่วยเหลือกันในงานบุญ

ชุมชนบ้านวุ้งกะสัง ยังมีระบบการนับถือผู้อาวุโสทั้งในระดับครอบครัว เครือญาติ และในชุมชน นับถือผู้อาวุโสเป็นเหมือนผู้นําชุมชน สืบทอดผ่านรุ่นต่อรุ่นตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน สําหรับการแบ่งมรดกนั้นจะแบ่งให้ทายาทเท่า ๆ กัน ทั้งที่ดินทำกินและทรัพย์สินเงินทอง แต่หากเป็นบ้านจะมอบให้ลูกสาวคนเล็ก เพราะถือว่าผู้หญิงคือผู้ที่ต้องสืบผีต่อไปและจะต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ และผู้ที่เลี้ยงดูพ่อแม่มักจะได้รับมรดกมากกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ และเมื่อเกิดความขัดแย้งในครอบครัวหรือในชุมชน ผู้อาวุโสจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย โดยสอบถามสาเหตุและตัดสินด้วยเหตุผลให้ประนีประนอมความขัดแย้งนั้นลงด้วยการพูดจาปรับความเข้าใจต่อกัน

ระบบเครือญาติของบ้านวุ้งกะสัง ถือเป็นจุดเด่นสําคัญที่ทําให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกัน คำสั่งสอนของผู้อาวุโสมักสอนมาจากความจริงที่เคยเกิดขึ้น และถ่ายทอดจากประสบการณ์ของตนเองที่ผ่านมา ทว่า ก็ยังยอมรับฟังข้อคิดเห็นของคนรุ่นหลังเช่นกัน ภายในชุมชนจึงเกิดความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นของประชาชนทุกช่วงวัย ร่วมแรงร่วมจําพัฒนาชุมชนด้วยกัน ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่หล่อหลอมให้เยาวชนรุ่นหลังเกิดสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง เคารพต่อวัฒนธรรมชุมชน และยังเชื่อมั่นที่จะทํามาหากินในท้องถิ่นของตัวเองด้วย

ปกาเกอะญอ

ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพในการทําเกษตรกรรมเพาะปลูกพืช ตั้งแต่อดีตชาวบ้านวุ้งกะสังจะทําข้าวไร่เพื่อเก็บผลผลิตไว้บริโภคในครัวเรือนและนำไปแลกเกลือ แต่ช่วงเวลาต่อมามีการทำไร่ข้าวโพดและถั่ว แต่ก็ต้องประสบปัญหาขาดทุน ราคาผลผลิตตกต่ำ และยังมีการใช้สารเคมีในปริมาณมาก ชาวบ้านจึงเลิกทำไร่ข้าวโพดและถั่วแล้วหันมาทำไร่มันสำปะหลังแทน เนื่องจากเห็นว่ามันสำปะหลังเป็นพืชที่ใช้สารเคมีน้อยกว่าข้าวโพด ต้นทุนไม่สูงมาก อีกทั้งยังมีรายได้เป็นเงินก้อนและมีความอิสระทางการค้ามากกว่า

อีกหนึ่งอาชีพที่พบว่ายังคงมีความสำคัญกับชุมชนวุ้งกะสัง คือ การเลี้ยงควาย การเลี้ยงควายของชาวบ้านไม่ใช่อาชีพดั้งเดิมแต่มีคนนําเข้ามาเลี้ยง เมื่อชาวบ้านเห็นว่าน่าสนใจจึงได้นํามาเลี้ยงตาม ซึ่งการเลี้ยงควายมีมาประมาณ 30 ปีแล้ว โดยจะเลี้ยงแบบปล่อยในป่า ไม่ใช่เลี้ยงแบบไล่ทุ่งเหมือนชุมชนอื่น ควายจะอยู่กันเป็นฝูง ๆ เพราะมีการทําคอกแบบรวมกันเป็นจุดในป่า การไปดูควายของชาวบ้านก็จะไปกันเป็นกลุ่มเพื่อจะไปติดตามสุขภาพของควายว่าเป็นอย่างไร หรือนําอาหารพวกลูกไม้ เกลือ ไปให้ ภายในชุมชนบ้านวุ้งกะสังมีควายรวมกันกว่า 300 ตัว ซึ่งเทียบกับจํานวนประชากรแล้วก็เป็น 1 ตัวต่อ 1 คน ราคาขายควายประมาณตัวละ 20,000-50,000 บาท ครอบครัวหนึ่งจะมีควาย 1-5 ตัว มีการขายหมุนเวียนเพื่อนํารายได้มาใช้จ่ายในวาระที่สําคัญ เช่น งานบวช งานแต่ง งานศพ ใช้หนี้สิน จ่ายค่างวดรถ นอกจากนี้ควายยังเป็นมรดกที่แต่ละครอบครัวมอบให้แก่ลูกสาวที่ออกเรือนในวันแต่งงาน เสมือนทุนขวัญให้กับครอบครัวใหม่ หรืออีกประการหนึ่ง การเลี้ยงควายเป็นเหมือนเงินออมเงินเก็บของชาวบ้านก็ว่าได้

อีกหนึ่งอาชีพที่ความสำคัญมากเช่นเดียวกับการเกษตรกรรมและการเลี้ยงควาย คือ การค้าขาย ภายในชุมชนมีร้านค้าทั้งหมด 4 ร้าน ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับให้คนในชุมชนได้จับจ่ายซื้อของใช้ กับข้าว เครื่องดื่ม วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ร้านค้านอกจากมีบทบาททางเศรษฐกิจแล้ว ยังเปรียบเหมือนศูนย์รวมของคนในชุมชนในการพบปะสังสรรค์ นอกจากการค้าขายสิ่งของอุปโภค-บริโภคต่าง ๆ แล้ว ยังมีการค้าขายของป่าที่ชาวบ้านหามาได้ตามฤดูกาล เป็นอาชีพที่ชาวบ้านได้สร้างรายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวระหว่างรอผลผลิตพืชไร่ออกขาย

อนึ่ง ด้วยลักษณะทางกายภาพของชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวที่งดงามหลายแห่ง มีลำคลองไหลคดเคี้ยวราวกับนาคราชเลื้อยหล่อเลี้ยงทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และไหลเซาะตามเกาะแก่ง กอปรกับทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำตกวุ้งกะสัง มีถ้ำหลายแห่ง อาทิ ถ้ำชัยมงคลที่มีอายุมากกว่าร้อยปี สังเกตได้จากหินย้อยภายในถ้ำที่ก่อตัวขึ้นจนกลายสภาพมาเป็นหินเนื้อแข็งฝังติดแน่นเพดาน ถ้ำน้ำลอด เป็นถ้ำที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์หินเหมือนช่องแคบที่มีน้ำไหลผ่านอยู่ใต้ตีนเขาในป่าสักทางใต้ของหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ขนาดใหญ่มากมาย มีต้นมะเดื่อยักษ์อยู่กลางหมู่บ้าน ซึ่งมีความเป็นมาที่น่าพิศวง มีพืชผักเกษตรที่สมบูรณ์แบบเลี้ยงผู้คนทุกฤดูกาล ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่หมู่บ้านวุ้งกระสังยังรักษาไว้ได้ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน ดนตรีและการแสดง เช่น ระบำเกลียวเชือก การแสดงพื้นเมืองของชาวปกาเกอะญอโดยจะมีการแสดงร่วมกับการบรรเลงเตหน่า หรือพิณโบราณของชาวปกาเกอะญอ อาหารพื้นถิ่น ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงภายในศูนย์วัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านวุ้งกะสัง รวมถึงผ้าทอกะเหรี่ยงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่นำพาบ้านวุ้งกะสังให้พัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม OTOP นวัตวิถี ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทอย่างมากต่อรายได้และระบบเศรษฐกิจในชุมชน 

ปฏิทินการผลิต

เดือนกิจกรรมการผลิตของป่า/ผักพื้นบ้าน
มกราคม

- เป็นช่วงขุดมันสำปะหลัง ภายหลังขุดแล้วจะมีการปลูกใหม่อีกครั้ง

- นำควายไปเลี้ยงในป่า บางครอบครัวนำควายมาเลี้ยงไว้ในที่นาของตนเอง

- เก็บฟางข้าวไว้เป็นอาหารควาย
- ผักกูด ผักอีไร ผักหนาม
กุมภาพันธ์

- ลงแขกขุดและปลูกมันสำปะหลัง

- เลี้ยงควาย
- ผักหวาน ผักอีนูน ชะเอม ผักกูด
มีนาคม

- ลงแขกขุดและปลูกมันสำปะหลัง

- ถางไร่

- เลี้ยงควาย
- ผักหวาน ผักอีรอก
เมษายน

- ปลูกมันสำปะหลัง

- ถางไร่เตรียมทำนา

- เลี้ยงควาย
- ผักหวาน ผักอีรอก
พฤษภาคม

- เริ่มมีการฉีดยากำจัดวัชพืชในร่องมันสำปะหลังครั้งแรก

- เมื่อฝนตกจะเตรียมไถนา ตากดินทิ้งไว้ สำหรับนาลุ่มจะเริ่มเอาน้ำเข้านา ส่วนนาไร่จะหว่านกล้าเตรียมปักดำ

- เลี้ยงควาย
- หาหน่อไม้มาดอง แล้วบรรจุเก็บไว้ในถุง
มิถุนายน

- เตรียมแปลงนาเพื่อปักดำ หากมีเพลี้ยหรือแมลงมารบกวนจะทำการฉีดยาฆ่าแมลง และอาจมีการใส่ปุ๋ยเร่งฮอร์โมน

- เลี้ยงควาย
-
กรกฎาคม

- เริ่มมีการปักดำกล้า หรือหว่านข้าว และเริ่มหยอดข้าวไร่ ปลูกผัก ปลูกพริก และสมุนไพรต่าง ๆ

- ดูแลแปลงมันสำปะหลัง ตัดแต่งกิ่ง

- เลี้ยงควาย
-
สิงหาคม- เป็นช่วงฤดูกาลเริ่มทำนาอย่างจริงจัง-
กันยายน

- รอข้าวเจริญเติบโต มีการถางหญ้าในไร่ตลอดทุกวัน

- เตรียมขุดมัน

- เลี้ยงควาย
-
ตุลาคม

- เป็นช่วงที่ข้าวเริ่มออกรวง ระยะนี้ชาวบ้านจะไปนอนเฝ้าไร่นา บ้างก็ติดธงไล่นกที่มารบกวนผลผลิต

- ในช่วงปลายเดือนลานมันจะเปิดรับซื้อผลผลิต ซึ่งชาวบ้านจะเริ่มขุดมันในช่วงนี้

- เลี้ยงควาย
- ดอกตั้งหรือดอกเอื้องแรวเริ่มออกดอก
พฤศจิกายน

- เริ่มเก็บเกี่ยวข้าว

- ขุดมันสำปะหลัง

- เลี้ยงควาย
- เก็บผักกูด ลูกชะเอม 
ธันวาคม

- ขุดมันสำปะหลัง

- นำควายไปเลี้ยงในป่า บางครอบครัวนำควายมาเลี้ยงไว้ในที่นาของตนเอง

- เก็บผักกูด

ศาสนา

ชาวบ้านวุ้งกะสังนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนับถือผี ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณดั้งเดิมตามคติของชาวปกาเกอะญอ โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและการให้ความเคารพธรรมชาติ บ้านวุ้งกะสังมีสำนักสงฆ์ 1 แห่ง และวัดอีก 1 แห่ง คือ วัดป่าปางมะนาว ถือเป็นศาสนสถานสำคัญเพียงแห่งเดียวของชุมชน ในช่วงวันสำคัญทางศาสนา บริเวณศาสนสถานทั้งสองแห่งนี้มักจะมีชาวบ้านทั้งวัยผู้ใหญ่และกลุ่มเยาวชนในชุมชนไปร่วมศาสนกิจหรือกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำ ทว่า ข้อสังเกตประการหนึ่งของพุทธศาสนิกชนบ้านวุ้งกะสังตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ จะไม่มีการทำบุญตักบาตรในวันธรรมสวนะหรือวันพระใหญ่ แต่ในวันนี้ชาวบ้านจะละเว้นจากภาระงานทุกประการแล้วมารวมตัวกันทำกิจกรรมภายในชุมชน เช่น การซ่อมถนน ซ่อมประปา ซ่อมโรงเรียน และกิจกรรมอื่นของชุมชน พระพุทธศาสนาจึงนับได้ว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนทุกช่วงวัย และหล่อหลอมจิตใจของคนในชุมชนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อ

ดังที่ทราบกันแล้วว่าชาวบ้านวุ้งกะสัง คือ ชาวปกาเกอะญอ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการสืบวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อเก่าแก่ซึ่งเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีการธำรงรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น แม้จะไม่มีการสืบทอดมาทั้งหมดเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอก แต่ชาวปกาเกอะญอบ้านวุ้งกะสังก็มีความพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่คู่วิถีชีวิตไปได้ยาวนานที่สุด เช่น พิธีเลี้ยงผีไร่ผีนา โดยก่อนที่จะเริ่มการเก็บเกี่ยวผลผลิต จะมีการนําไก่และเหล้าไปบูชาบริเวณใดบริเวณหนึ่งของนาไร่ รวมถึงประเพณีเลี้ยงเจ้าเดือนสาม ประเพณีที่จะให้ทุกครอบครัวมารวมตัวกัน นําไก่มาบ้านละหนึ่งตัว นําเหล้ามาบ้านละหนึ่งขวด นํามาบูชาศาลใหญ่ของหมู่บ้าน โดยห้ามคนนอกที่ไม่ใช่คนในหมู่บ้านเข้าร่วมพิธี เพราะมีความเชื่อว่าจะไม่ดีต่อผู้เข้าร่วมงาน และอีกประเพณีหนึ่งที่ยังสืบทอดอยู่ คือ ประเพณีเวียนเทียนเจดีย์ (หม่าบู๊โค๊ะ) หรืองานไหว้เจดีย์ เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อของชุมชนเพื่อขอขมาสิงสาราสัตว์ไม่ให้ทำร้ายผู้คน ให้แคล้วคลาดปลอดภัย ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่ เจ้าทาง ผีบรรพบุรุษ พระแม่ธรณี พระแม่โพสพ (ชาวปกาเกอะญอนับถือว่าข้าวยิ่งใหญ่ที่สุด) ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่งบุญให้ดูแลลูกหลานให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนห้าของทุก ๆ ปี บริเวณลานพิธีที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้น

ประเพณีวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ก็ยังมีการสืบทอดอยู่ภายในชุมชน เช่น ระบำเกลียวเชือก วัฒนธรรมการอยู่อาศัย บ้านหลายหลังในปัจจุบันยังมีห้างไฟหรือแม่เตาไฟไว้ประจําในบ้าน แม้จะไม่นิยมใช้งานแล้ว แต่ก็พอมีให้เห็นสะดุดตาหลายบ้าน ซึ่งห้างเตาไฟนี้จะใช้ประโยชน์ตั้งแต่การหุงต้มจนถึงการรักษาพยาบาล เช่น การอยู่ไฟหลังคลอด นอกจากนี้บ้านหลายหลังยังมีห้องผีตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอที่คนนอกห้ามยุ่งวุ่นวาย การสร้าง บ้านเรือนก็ยังคงเอกลักษณ์ความเรียบง่าย เน้นการใช้สอย ไม่มีห้องซับซ้อน แต่มีความงดงามที่เรียบง่าย ปรับไปตามยุคสมัยและความคงทนของการใช้งาน ความเชื่อและความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังคงแพร่หลายในบ้านวุ้งกะสัง และชาวบ้านก็ยังคงยึดถือข้อห้ามจากบรรพบุรุษที่สืบทอดมา ยังเชื่อว่า “มีป่าก็มีน้ำ ไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำ” เราอยู่กับป่าเราต้องรักษาป่า อย่าทําลายป่า เพราะจะนำมาซึ่งความเดือดร้อน เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

ระบำเกลียวเชือก หรือ “ตะลุโคะ” เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอที่มักแสดงกันในช่วงเทศกาลปีใหม่และหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยจะร่ายรำประกอบเสียงดนตรีจากการบรรเลงเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น เตหน่า ฯลฯ ปัจจุบันชุมชนบ้านวุ้งกะสังได้นำการแสดงดังกล่าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ถือเป็นการสืบสานความภาคภูมิใจและร่วมอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาวปกาเกอะญอที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน 

ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว


การประกอบอาชีพของชาวบ้านวุ้งกะสังโดยเฉพาะการทำเกษตรกรรม ปัจจุบันประสบกับปัญหาศัตรูพืชที่เข้ามารบกวนพืชผลทางการเกษตร เช่น แมลง เพลี้ย หนู ที่เข้ามาทําลายผลผลิตเสียหาย อีกประการหนึ่งคือ เรื่องราคาผลผลิตที่ชาวบ้านไม่สามารถควบคุมได้ เพราะต้องจำกัดอยู่กับกลไกตลาด และสุดท้าย คือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน บางปีแล้งก็จะส่งผลทําให้มันสําปะหลังไม่เจริญเติบโต หรือบางปีที่ฝนตกชุกก็จะทําให้หัวมันเน่า นอกจากการเพาะปลูกแล้ว การเลี้ยงควายก็เป็นอาชีพหนึ่งที่สําคัญในชุมชน ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เสือโคร่งเข้ามารบกวนควายที่เลี้ยงในป่าลึก แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ติดใจเอาความเพราะเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติ ประกอบกับภายในชุมชนมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ล่า ไม่ทำร้าย ไม่ทำลายสัตว์ป่าทุกชนิดที่เข้ามารบกวนสัตว์เลี้ยงหรือผลผลิตทางการเกษตร อย่างมากที่สุดก็เพียงแค่ไล่ออกไป


คลองวังเจ้า

เรื่องเล่าจากเตหน่า

เตหน่า หรือเตหน่ากู หรือเตนา เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย วิธีการเล่นจะวางลักษณะคล้ายกีตาร์ ส่วนคอโค้งงอขึ้นลักษณะคล้ายพิณของพม่า รูปแบบดั้งเดิมส่วนลำตัวจะเป็นไม้ มีการใช้หนังสัตว์บาง ๆ อย่างหนังแมวขึงประดับ ส่วนด้านหน้ามีสาย 6–8 สายที่ทำจากวัสดุ เช่น เอ็นสัตว์หรือเถาวัลย์ แต่ในปัจจุบันส่วนมากเปลี่ยนมาใช้แผ่นเหล็กบาง ๆ หรือแผ่นไม้ทำส่วนด้านหน้าแทนหนังสัตว์ และใช้สายเบรกรถจักรยานยนต์ขึงทำสาย ถือได้ว่ามีการพัฒนาทางกายภาพตามยุคสมัยเรื่อยมา โดยการริเริ่มจากพี่น้องนักดนตรีชาวปกาเกอะญอหลายท่านหลายรุ่น เตหน่า เป็นเครื่องดนตรีที่สามารถบรรเลงเดี่ยว บรรเลงหมู่ หรือบรรเลงประกอบเครื่องดนตรีอื่น ๆ หรือบ่อยครั้งมักจะนำมาบรรเลงประกอบบทธา ซึ่งหมายถึงบทกวีประจำชาติพันธุ์ มีเนื้อหาที่พูดถึงประวัติศาสตร์ ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ การใช้เครื่องดนตรีนี้สืบทอดแบบมุขปาฐะ หรือปากต่อปากบอกต่อกันไปยังรุ่นสู่รุ่น

เตหน่านั้นมีเรื่องเล่าอยู่มากมาย ตำนานหนึ่งเล่าว่าเมื่อครั้งที่เหล่าชาติพันธุ์กำลังถูกศัตรูรุกราน ศิลปินคนหนึ่งของชาวปกาเกอะญอได้ดีดเตหน่า 12 สาย เสียงเพลงบรรเลงไพเราะทำให้ผู้มารุกรานนั้นหลับใหลเคลิบเคลิ้มไปกับเสียงเพลง ชาวชาติพันธุ์จึงสามารถอพยพหนีออกมาได้ ว่ากันว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ใช้เวลาประกอบร่างกว่า 3 ปีจึงจะแล้วเสร็จ ด้วยพิธีรีตองมากมาย อย่างปีที่หนึ่งต้องจับจองไม้มาสร้างตัวเตหน่า โดยเลือกหาเฉพาะคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง นำไม้มาฝังดินตามทางสามแพร่งจนครบหนึ่งสัปดาห์ค่อยขุดนำไปขึ้นรูป และปีต่อไปจึงทำการขึงสาย

นอกจากนี้ยังพบว่าในปัจจุบันมีการนำเตหน่ามาใช้เป็นสื่อกลางในการนำเสนอเรื่องราว วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ตลอดจนการแสดงตัวตนของชาวปกาเกอะญอผ่านเสียงบรรเลงและการขับบทธา ในยุคสมัยหนึ่งที่มีนโยบายการขับคนออกจากป่า ชาวปกาเกอะญอจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวนี้ ด้วยป่าเปรียบเสมือนวิถีชีวิตของพวกเขา ขณะเดียวกันมีกลุ่มศิลปินและนักปราชญ์ชาวปกาเกอะญอจำนวนหนึ่งที่พยายามออกไปหาเพื่อนฝูง ออกไปรวบรวมคนที่เห็นค้านการไล่คนออกจากป่า แต่ครั้นจะออกไปเดินประท้วงก็ดูธรรมดาน่าเบื่อ จึงใช้เครื่องดนตรีประจำถิ่นนี้เป็นตัวการสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงกับสังคมข้างนอกให้ได้มากยิ่งขึ้น พูดคุยแลกเปลี่ยน บอกเล่าเรื่องราวของป่าที่เปรียบเสมือนบ้านผ่านเสียงบรรเลง “เตหน่า” จากชาวปกาเกอะญอ

ฐานข้อมูลท้องถิ่นกำแพงเพชร-ตาก. (2562). ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนบ้านวุ้งกระสัง. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566, จาก https://arit.kpru.ac.th/

ที่นี่ กำแพงเพชร. (2560). น้ำตกวุ้งกะสัง หมู่บ้านกะเหรี่ยงวุ้งกะสัง ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/photo/ฃ

ที่นี่ กำแพงเพชร. (2561). • เที่ยวบ้านวุ้งกะสัง •  ต.โป่งน้ำร้อน | อ.คลองลาน | จ.กำแพงเพชร. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566จาก https://web.facebook.com/teenee.kamphaengphet/

ธีรชาติ ชัยประเสริฐ. (2561). เตหน่า พิณโบราณในนิทานปกาเกอะญอที่กลายเป็นเครื่องมือสื่อสาร. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566, จาก https://readthecloud.co/lazy-man-pwa-ka-nyaw-lute/

สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). ระบำเกลียวเชือก. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566จาก http://www.thaiculture.go.th/

ศศิวรรณ ใจอาสา. (2558). การศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาบ้านวุ้งกะสัง ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร (รายงานการวิจัย). ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยบัณฑิตพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อธิวัฒน์ อุต้น. (2561). ปะกาเกอะญอ เรื่องเล่าจากเตหน่ากู. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thethaiact.com/

Cbtthailand. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านวุ้งกะสัง. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566, จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/

Jitarsabank. (2563). ค่ายคน ป่า และ ชาวเขา ที่บ้านวุ้งกะสัง จ.กำแพงเพชร. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.jitarsabank.com/

Thailandtourismdirectory. (ม.ป.ป.). บ้านวุ้งกะสัง. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/

Vsport. (2561). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านวุ้งกะสัง จังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566จาก https://www.vsportkamphaeng.com/