ชาวบ้านหนองพาบน้ำได้ร่วมกับชุมชนในตำบลโคกสะบ้าและตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง รวม 9 ชุมชน ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ป่าสาคู เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการขุดลอกคลองเพื่อสร้างชลประทาน ซึ่งทำลายป่าสาคูบริเวณแม่น้ำปะเหลียน เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าสาคูที่เป็นทั้งแหล่งรายได้ และแหล่งอาหารของชุมชนมาอย่างยาวนาน
ชื่อเรียกหนองพาบน้ำอาจสันนิษฐานว่ามาจากการที่ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้ในอดีตมีหนองน้ำ และในหนองน้ำอาจมีตะพาบน้ำจำนวนมาก เมื่อมีการเข้ามาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยก่อตั้งเป็นหมู่บ้าน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “หนองพาบน้ำ”
ชาวบ้านหนองพาบน้ำได้ร่วมกับชุมชนในตำบลโคกสะบ้าและตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง รวม 9 ชุมชน ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ป่าสาคู เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการขุดลอกคลองเพื่อสร้างชลประทาน ซึ่งทำลายป่าสาคูบริเวณแม่น้ำปะเหลียน เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าสาคูที่เป็นทั้งแหล่งรายได้ และแหล่งอาหารของชุมชนมาอย่างยาวนาน
บ้านหนองพาบน้ำ เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลโคกสะบ้า ตำบลนาโยง จังหวัดตรัง ประวัติความเป็นมาการก่อตั้งและการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของคนในชุมชนนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏไว้แน่ชัด มีคำบอกเล่าจากผู้อาวุโสในชุนท่านหนึ่งที่กล่าวว่าบ้านหนองพาบน้ำแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานแล้ว แต่อาจจะไม่เกิน 100 ปี เพราะท่านมีอายุ 84 ปี และถือเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาบุกเบิกที่ดินบริเวณนี้ แรกเริ่มพื้นที่แห่งนี้มีผู้เข้ามาบุกเบิกที่ดินทำกินและสร้างที่อยู่อาศัยเพียง 3 ครัวเรือนเท่านั้น แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีผู้คนเริ่มอพยพเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในอดีตพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นป่าหนาทึบ มีสัตว์ป่าดุร้ายจำนวนมากอาศัยอยู่ เช่น เสือ งู โดยเฉพาะงูจงอางที่ชาวบ้านยุคนั้นพบเห็นกันอยู่บ่อยครั้ง สำหรับการเรียกชื่อหมู่บ้านไม่มีการอธิบายไว้แน่ชัดว่าชื่อหนองพาบน้ำมีความเป็นมาอย่างไร แต่อาจพิจารณาจากประวัติความเป็นมาของตำบลโคกสะบ้าตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ว่า ในสมัยก่อนทางราชการจะมีการเรียกชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ โดยการคิดค้นชื่อนั้นส่วนใหญ่จะใช้ลักษณะทางภูมิศาสตร์รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เห็นได้ชัดในพื้นที่นั้น ๆ มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน ฉะนั้น ชื่อเรียกหนองพาบน้ำอาจสันนิษฐานว่ามาจากการที่ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้ในอดีตมีหนองน้ำ และในหนองน้ำอาจมีตะพาบน้ำจำนวนมาก เมื่อมีการเข้ามาสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยก่อตั้งเป็นหมู่บ้าน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “หนองพาบน้ำ”
ตําบลโคกสะบ้ามีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ป่าพรุ และที่ดอน ตั้งอยู่สลับกันไปกระจายอยู่ทั่วตําบล ลักษณะภูมิประเทศลาดเอียงจากทางฝั่งทิศตะวันออกซึ่งติดกับเทือกเขาบรรทัดไปทางฝั่งทิศตะวันตก มีเทือกเขาเล็ก ๆ คือ เขาอ้อยและเขานางประหลาด เป็นแนวเขตอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ด้านทิศตะวันตกของตําบลนั้นจะเป็นเนินเขาหินปูน มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มและเป็นพื้นที่ ป่าพรุ ชาวบ้านได้บุกเบิกพื้นที่ราบลุ่มสําหรับการทํานา โดยอาศัยน้ำในการทํานาและการอุปโภค-บริโภคจากคลองลําชานที่เป็นคลองหลัก และคลองสาขา คือ คลองปด คลองลําลุง ซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในแถบตําบลโคกสะบ้าเช่นเดียวกับชาวบ้านหนองพาบน้ำ นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้บุกเบิกพื้นที่ตอนหรือที่โคกสําหรับการทําสวนผลไม้และปลูกพืชต่าง ๆ ไว้บริโภคเป็นหลักและเพื่อขายบ้างเป็นครั้งคราว
สำหรับการคมนาคมภายในชุมชนบ้านหนองพาบน้ำกับสังคมเมืองภายนอกนั้น มีถนนสาย รพช.ตง. 11024 (สายเกาะหยี-ห้วยลึก) ตัดผ่าน โดยถนนสายนี้มีลักษณะเป็นถนนลูกรังแยกออกจากถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4124 มีขนาดเขตทางกว้าง 30 เมตร ผิวจราจรกว้าง 9 เมตร ตัดผ่านไปยังตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
การคมนาคมของชาวบ้านหนองพาบน้ำในระยะเริ่มแรกนั้นจะอาศัยการเดินทางด้วยเท้า ต่อมาในช่วงประมาณ พ.ศ. 2518 เริ่มมีการใช้รถจักรยานกันในชุมชน แต่ยังไม่ได้มีโครงการตัดถนนหนทางของรัฐเข้ามายังชุมชน จนใน พ.ศ. 2530 เริ่มมีการตัดถนนและมีโครงการพัฒนาพร้อมกับขยายถนนเข้าสู่ชุมชนหลายสาย ในการเดินทางเข้าสู่ตําบลโคกสะบ้านั้นมีถนนสายนาโยง-ย่านตาขาว ซึ่งมีระยะทาง 12 กิโลเมตร โดยชาวบ้านใช้สัญจรไปมาหาสู่กันระหว่างชุมชนได้สะดวกมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2532 ได้มีการขยายไฟฟ้าเข้ามาสู่ชุมชน ชาวบ้านเริ่มหันไปใช้ เครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น มีการใช้หลอดไฟฟ้าแทนตะเกียงน้ำมัน สินค้าจําพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ทยอยเข้ามาสู่ชุมชนมากขึ้นจากพ่อค้าที่เข้ามาขายในชุมชนบ้างหรือจากการที่ชาวบ้านออกไปซื้อสินค้ามาจากในตัวเมือง
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลโคกสะบ้า หมู่ที่ 10 บ้านหนองพาบน้ำ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 964 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 464 คน ประชากรหญิง 500 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 266 ครัวเรือน
สภาพสังคมของชาวบ้านหนองพาบน้ำมีธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดต่อกันมาหลายเรื่อง ที่สําคัญคือการเคารพนับถือกันในระบบเครือญาติอย่างสนิทสนม มีการผูกมิตรสหายเพื่อช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยกันในการดํารงชีวิต การแลกเปลี่ยนแรงงานในการประกอบอาชีพ มีการดํารงชีวิตอย่างเรียบง่ายตามแบบสังคมเกษตรพื้นบ้าน ยึดถือประเพณีไทยต่าง ๆ ตามหลักศาสนา นอกจากนี้ บ้านหนองพาบน้ำรวมถึงชุมชนในตำบลโคกสะบ้ายังเป็นแหล่งรวมของศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมากที่สุดในอําเภอนาโยง เช่น หนังตะลุง มโนราห์ และการผลิตด้านหัตถกรรม การจักสาน และการประกอบอาชีพเย็บจากสาคู
อาชีพที่ปรากฏในชุมชน
- เกษตรกรรม ได้แก่ ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ทำนา
- หัตถกรรม เช่น การจักสานจากสาคู
- ปศุสัตว์ เช่น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่
- รับจ้าง
- รับราชการ
- ค้าขาย
- อื่น ๆ เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นสาคู
ศาสนา
ชาวบ้านหนองพาบน้ำทั้งหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ แต่เนื่องจากภายในชุมชนนั้นไม่มีวัด การประกอบศาสนพิธีทางศาสนา หรือการทำปุ๋ยตักบาตร ชาวบ้านจึงต้องเดินทางไปที่วัดในหมู่บ้านใกล้เคียง คือ วัดไทรทอง หมู่ที่ 1 วัดพยอมงาม หมู่ที่ 3 และวัดนางประหลาดหมู่ที่ 5
ลักษณะบ้านเรือน
การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านหนองพาบน้ำส่วนใหญ่จะเลือกตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่ม ๆ ตามแนวแม่น้ำลําคลอง เพื่ออาศัยน้ำในการอุปโภค-บริโภคและทําการเกษตร การสร้างบ้านเรือนนั้นในสมัยก่อนอาศัยส่วนต่าง ๆ ของต้นสาคูในการสร้างบ้านเรือน เนื่องจากในพื้นที่มีป่าสาคูอยู่เป็นจำนวนมาก โดยใช้ไม้จากต้นสาคูเป็นเสาเรือนและฝาบ้าน จากใช้มุงหลังคาและทางเดินเท้าก็ใช้เปลือกนอกต้นสาคูปูพื้นใช้ทําทางเดิน ซึ่งในปัจจุบันนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการสร้างบ้านเรือนแบบสมัยใหม่ ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยก็หันไปนิยมใช้วัสดุสมัยใหม่ที่มีความสวยงามและคงทนกว่า คือ อิฐและปูน แทนต้นสาคู ส่วนหลังคาก็ปรับเปลี่ยนไปใช้กระเบื้องแทน ผู้ที่มีฐานะปานกลางมักสร้างบ้านด้วยไม้ ส่วนหลังคาใช้สังกะสีเพราะมีราคาถูกกว่ากระเบื้อง และยังมีบางครอบครัวยังคงสร้างบ้านจากไม้สาคูและใบจากอยู่ หลังคานั้นใช้ใบสาคูที่นําไปแช่น้ำและมาเย็บเป็นตับ โดยให้เหตุผลว่าสร้างบ้านจากต้นสาคูและใบจากนั้นมีความเป็นธรรมชาติอากาศ ถ่ายเทสะดวกและเย็นสบายกว่า แต่สังเกตได้ว่าเมื่อครัวเรือนเริ่มมีรายได้บ้างก็มักมีการปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุแบบใหม่เช่นกัน มีเพียงไม่กี่หลังที่มีการสร้างบ้านด้วยวัสดุจากต้นสาคู
ชมรมอนุรักษ์ป่าสาคูอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
บ้านหนองพาบน้ำร่วมกับชุมชนในตำบลโคกสะบ้า และตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ได้ร่วมกันก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ป่าสาคู เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการขุดลอกคลองเพื่อสร้างชลประทาน ซึ่งทำลายป่าสาคูบริเวณแม่น้ำปะเหลียน มีผลต่อเนื่องไปถึงแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและเศรษฐกิจชุมชนที่เคยพึ่งพาต้นสาคู มีการรื้อฟื้นสาคูเข้าสู่วัฒนธรรมการกิน เชื่อมโยงการทำงานกับภาคีระดับจังหวัดด้วยหลัก “4 ร่วม” สู่ความยั่งยืน ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ร่วมติดตามและประเมินผล เพื่อให้เกิดการศึกษาระบบนิเวศป่าสาคูและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการป่าสาคูที่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอนาโยง นำงานรักษาป่าสาคูเข้าสู่เยาวชน จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียน และผลักดันให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกสาคูในรูปของป่าครอบครัว
ป่าสาคูเคยเป็นพืชสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านหนองพาบน้ำ เป็นทั้งแหล่งรายได้ และแหล่งอาหารของชุมชน รากสาคูกักเก็บน้ำคล้ายห้องเล็ก ๆ ที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เมื่อมีผลกระทบจากการทำลายป่าสาคู กลุ่มผู้หญิงเป็นคนกลุ่มแรกที่เริ่มวิตก เพราะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการหาอาหาร จึงนำการตั้งกลุ่มข้าวซ้อมมือมาเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนถึงการพึ่งพาป่าสาคูและการเสนอคุณค่าของป่าสาคูให้ชุมชนตระหนัก นำไปสู่ความเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูป่าสาคูโดยมีสมาคมหยาดฝนเข้ามาทำงานเชื่อมประสานผู้คนกลุ่มต่าง ๆ สามารถจัดตั้งเป็น “กลุ่มผู้หญิงป่าสาคูร่วมใจ” มีกิจกรรมการแปรรูปอาหารและขนมจากแป้งสาคู ต่อมาขยายการทำงานไปสู่กลุ่มผู้ชาย เกิดเป็นชมรมอนุรักษ์ป่าสาคูอำเภอนาโยง ในปี 2543 ด้วยความร่วมมือของชาวบ้าน 9 หมู่บ้าน ในตำบลนาข้าวเสียและตำบลโคกสะบ้า เพื่อฟื้นฟูป่าสาคู 130 ไร่ นับเป็นองค์กรภาคประชาชนแรกที่ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้และสร้างกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าสาคูอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังขยายกิจกรรมเข้าสู่โรงเรียนรอบพื้นที่ป่าสาคู มีเป้าหมายให้เกิดการเรียนการสอนเรื่องป่าสาคูในมิติต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนมีความรู้และเข้าใจคุณค่าของพืชสาคู พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับป่าสาคูโดยมีชาวบ้านเป็นครู โรงเรียนหลายแห่งทำโครงการพิเศษเพื่อรณรงค์ป่าสาคู อาทิ ตั้งชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมกิจกรรมแต่งสางกลางคลอง กิจกรรมปลูกป่าสาคู เก็บขยะในคลองป่าสาคู การเดินรณรงค์ไม่ทิ้งขยะในแม่น้ำลำคลอง การเดินสำรวจหาต้นน้ำ การจัดทำโครงการเยาวชนนักสืบสายน้ำ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : อักษรไทย
คลองลำชาน
ที่ว่าการอำเภอนาโยง. (2554). ศูนย์เรียนรู้นิเวศวิทยาป่าสาคู. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.nayong.dopatrang.go.th/
สุทธิดา อุ่นจิต และมณีนุช บุญเรือง. (2562). กลุ่มผู้หญิงป่าสาคูรวมใจแห่งเมืองตรัง ครูพิเศษผู้สอนวิชาสาคู 101 ตั้งแต่การทำต้นไม้ให้เป็นแป้ง ขนมขี้มัน ลอดช่อง และไข่มุก. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://readthecloud.co/sago-trang/
สถาบันลูกลูกสีเขียว. (2561). ชมรมอนุรักษ์ป่าสาคูอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.greenglobeinstitute.com/
สาริณีย์ จันทรัศมี. (2550). การสร้างทุนทางสังคมเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าสาคู : ศึกษากรณีขบวนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายอนุรักษ์ป่าสาคู อ.นาโยง จ.ตรัง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.
ศูนย์การเรียนรู้นิเวศวิทยาป่าสาคู อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง. (2565). สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/