หมู่บ้านที่มีบึงน้ำเป็นแนวยาวตลอดทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน อีกทั้งมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมภาคอีสานและภาคกลาง อาทิ การบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าพ่อศรีเทพ งานบุญผะเหวด
นายพิทักษ์ จันทร์ดิษฐ์ (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 16) ได้กล่าวถึงที่มาของชื่อหมู่บ้านบึงนาจาน ว่าด้วยลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านถูกล้อมรอบด้วยบึง อีกทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติอย่าง ต้นจาน ขึ้นอยู่หนาแน่น ลักษณะดอกมีสีแดงและส้ม ส่วนคำว่า “นา” คือไร่นาของชาวบ้านในบริเวณนั้น รวมทั้งหมดจึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านนั่นเอง
หมู่บ้านที่มีบึงน้ำเป็นแนวยาวตลอดทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน อีกทั้งมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมภาคอีสานและภาคกลาง อาทิ การบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าพ่อศรีเทพ งานบุญผะเหวด
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2497 ชาวบ้านจากอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี อพยพมาตั้งบ้านเรือนโดยการเดินทางด้วยเท้าและเล็งเห็นว่า บ้านบึงนาจาน มีแหล่งทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ บึงน้ำล้อมรอบ มีปลาชุกชุม บริเวณทุ่งนามีต้นจาน (ทองกวาว) ขึ้นอยู่หนาแน่นจึงได้ตั้งบ้านเรือนที่นี่และให้ชื่อหมู่บ้านว่า “บึงนาจาน” ต่อมาได้มีผู้อพยพจากภาคอีสานมาอยู่มากขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2525 จึงได้แยกหมู่บ้าน ออกเป็น 2 หมู่ โดยหมู่ที่ 6 เดิมนั้น คือ บ้านบึงนาจาน อยู่ทางทิศตะวันตกของถนนกลางหมู่บ้าน และหมู่ที่ 13 บ้านหลักเมือง อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ขณะเดียวกันจากการสัมภาษณ์ นายชูชัย รามี่ อายุ 78 ปี กล่าวว่า ในสมัยนั้นมีต้นจานเยอะ ประกอบกับมีบึงรอบหมู่บ้าน แต่จริง ๆ บึงนั้นก็คือคูเมืองเก่าและได้มีการขุดเพิ่มเติม ส่วน นายไทย ลุนลี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า ในหมู่บ้านมีต้นจานเยอะ มีบึงรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีบึงใน 1,300 ไร่ และบึงนอก 1,500 ไร่ และนายพิทักษ์ จันทร์ดิษฐ์ อายุ 40 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 16 กล่าวว่า สาเหตุที่ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านบึงนาจาน เพราะว่าหมู่บ้านถูกล้อมรอบด้วยบึง และมีต้นจานที่ออกดอกสีแดง สีส้ม เยอะมากส่วนคำว่า นา ก็คือไร่นาของชาวบ้านในบริเวณนั้น จึงเป็นเหตุผลในการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบึงนาจาน”
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านสระปรือ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนสายศรีเทพ-วิเชียรบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านศรีเทพน้อย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองสาธารณะ
การคมนาคม สภาพทั่วไปเป็นพื้นราบ มีบึงน้ำเป็นแนวทางยาวทางทิศตะวันออกยาวตลอดหมู่บ้าน หมู่บ้านบึงนาจานอยู่ทางทิศตะวันออกของทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) เมื่อถึงตัวอำเภอศรีเทพจะมีสี่แยก และแยกทางทิศตะวันออกเข้าสู่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ระยะทาง 9 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกเข้าถึงง่าย
บ้านบึงนาจาน ประกอบด้วย จำนวนบ้าน 183 หลังคาเรือน รวมประชากรทั้งหมด 528 คน โดยแบ่งเป็นชาย 255 คน และหญิง 273 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2566)
กลุ่มแม่บ้านทำข้าวโปง สมัยก่อนเป็นกลุ่มจักสาน แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาทำข้าวโปง ซึ่งเป็นขนมที่เซ่นไหว้เจ้าพ่อศรีเทพ ประกอบด้วยสมาชิกภายในกลุ่ม 25 คน คนที่ทำมีเพียง 5 คน เพราะการทำขนมยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก เมื่อทำกันหลายคนขนาดของขนมที่ได้จึงเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก
ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือ ทำนา อาชีพรอง ทำไร่ข้าวโพด ไร่งา และปลูกพืชผักต่าง ๆ วัฒนธรรมส่วนมากเป็นวัฒนธรรมแบบภาคอีสานและภาคกลาง ประเพณีทำบุญในวันสำคัญต่าง เช่น การบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าพ่อศรีเทพ ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี บุญเทศน์มหาชาติหรือบุญผะเหวดหรือการทำบุญกองข้าวใหญ่ในเดือน 3-4 บุญบั้งไฟ ในเดือน 6 ของทุกปี การเซ่นไหว้เจ้าพ่อศรีเทพ ในเดือน 6 การทำบุญกลางบ้าน ในวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งทำที่ศาลากลางบ้านเพื่อสะเดาะห์เคราะห์คนในหมู่บ้าน
1) นายพิทักษ์ จันทร์ดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้าน
2) นายชูชัย รามี่ หมอนวดแผนโบราณ เป็นผู้มีความรู้ในด้านสมุนไพร การรักษาโรคต่าง ๆ จบการศึกษาด้านการแพทย์แผนไทย ทำงานจิตอาสารักษาตามงานหรือโครงการต่าง ๆ สอนและนวดตามโรงพยาบาล สาธิตตามต่างจังหวัด หลังจากนั้นได้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านบึงนาจาน ได้เปิดนวดแผนโบราณและรักษาโรคในหมู่บ้าน เช่น ฝังเข็ม ครอบแก้ว อบ ประคบ ต่อเส้น มีทั้งอาการหายขาดและรักษาเพื่อบรรเทาขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้
ภาษาพูดส่วนใหญ่คือ ภาษาอีสาน และภาษาไทยกลาง เพราะผู้คนส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ เป็นต้น
สุนทรีย์ รอดดิษฐ์. (2563). การพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนรอบอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน (รายงานการวิจัย). เพชรบูรณ์: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์.