Advance search

"ล่องแพ ชมวิวเขาจมป่า ทัศนาป่าชายเลน ตื่นตาอุโมงค์โกงกาง ทะเลแหวกสุดอลัง สิเน่ห์ล้ำเมืองตรัง"

หมู่ที่ 4
น้ำราบ
บางสัก
กันตัง
ตรัง
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ส.ค. 2023
บ้านน้ำราบ

น้ำราบ เป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำว่า น้ำรอบ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านมีน้ำล้อมรอบ เมื่อมีการเรียกชื่อหมู่บ้านต่อ ๆ กันมา จึงเพี้ยนจากน้ำรอบเป็นน้ำราบ


"ล่องแพ ชมวิวเขาจมป่า ทัศนาป่าชายเลน ตื่นตาอุโมงค์โกงกาง ทะเลแหวกสุดอลัง สิเน่ห์ล้ำเมืองตรัง"

น้ำราบ
หมู่ที่ 4
บางสัก
กันตัง
ตรัง
92110
7.375449
99.3898
องค์การบริหารส่วนตำบลบางสัก

น้ำราบ เป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำว่า น้ำรอบ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านมีน้ำล้อมรอบ เมื่อมีการเรียกชื่อหมู่บ้านต่อ ๆ กันมา จึงเพี้ยนจากน้ำรอบเป็นน้ำราบ ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบัน

บ้านน้ำราบยุคแรกเริ่มมีชาวบ้านจากบ้านเกาะมุกด์จํานวน 5 ครัวเรือน อพยพเข้ามาจับจองพื้นที่ทํากิน ระยะแรกมีเพียง 3 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลหมาดนุ้ย ตระกูลอุเส็น และตระกูลนีระแส ต่อมาเมื่อเริ่มมีคนต่างถิ่นเดินทางมาตั้งรกรากอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้และมีชาวบ้านเดินทางมาเยี่ยมญาติพี่น้องที่มาตั้งรกรากอยู่ก่อน เมื่อเห็นว่า ชุมชนแห่งนี้มีทําเลที่ตั้งเหมาะสม คือ มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ อีกทั้งยังอยู่ใกล้แหล่งน้ำ จึงได้มีการจับจองพื้นที่เพื่อทําสวน ทํานา และตั้งรกรากอยู่อย่างถาวรแล้วยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ปัจจุบันอาชีพทํานาได้หายไปจากชุมชน พื้นที่นาได้กลายเป็นสวนยาง สวนปาล์ม และปลูกพืชไร่อื่น ๆ รวมถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านน้ำราบ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตําบลบางสัก อําเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่ห่างจากตัวเมืองตรังประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากตัวอําเภอกันตังประมาณ 20 กิโลเมตร ลักษณะสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มติดกับทะเลและเนินเขา ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่ม แนวป่าชายเลน ประกอบกับมีคลองเป็นแนวยาวออกไปสู่ทะเลฝั่งอันดามันซึ่งเอื้อต่อการประกอบอาชีพประมง ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีสภาพเป็นเนินเขา ชาวบ้านใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวในการทําเกษตรกรรม ได้แก่ ปลูกยางพารา ปาล์ม และพืชเกษตรอื่น ๆ

บ้านน้ำราบมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านบางสัก หมู่ที่ 1 และบ้านบางสัก หมู่ที่ 2
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหาดยาว หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะลิบง และทะเลอันดามัน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านควนตุ้งกู หมู่ที่ 3
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านทุ่งค่าย หมู่ที่ 5

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ด้วยลักษณะภูมิประเทศของบ้านน้ำราบที่มีลักษณะเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล ส่งผลให้บ้านน้ำราบเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศชายฝั่งทั้งทรัพยากรป่าชายเลน ป่าชายหาด และหญ้าทะเล ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ป่าชายเลน : บ้านน้ำราบมีป่าชายเลนอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับทะเลฝั่งอันดามัน ผืนป่าชายเลนที่มีอยู่ในชุมชนส่วนใหญ่เป็นป่าปลูกขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนป่าชายเลนเดิมที่เสื่อมโทรมจากการบุกรุกทําลายในยุคที่มีการสัมปทานป่าชายเลนซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีความสําคัญต่อชุมชนบ้านน้ำราบมาตั้งแต่อดีต ชาวบ้านในชุมชนจะอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนเป็นแหล่งทํามาหากินและแหล่งสร้างรายได้ และนําไม้จากป่าชายเลนมาใช้ประโยชน์ เช่น ใช้สร้างที่อยู่อาศัย ทําเครื่องมือประมง และเป็นฟืนสําหรับหุงต้ม พันธุ์ไม้ในป่าชายเลนที่สําคัญ อาทิ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตะบูนดํา ตะบูนขาว ต้นพังกา แสมดํา โปรงแดง โปรงขาว ถั่วขาว ฝาดดอกขาว ฝาดดอกแดง ตีนเป็ดทะเล ถั่วดํา ถั่วขาว ฯลฯ
  • ป่าชายหาด : ป่าชายหาดบริเวณพื้นที่บ้านน้ำราบเป็นสังคมพืชที่พบได้บริเวณหาดทรายทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน พันธุ์ไม้ที่พบส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นพุ่มไม้ขนาดเล็ก เช่น เสม็ดขาว เตยทะเล โพธิ์ทะเล และปอทะเล
  • หญ้าทะเล : แหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบ้านน้ำราบ พบได้ตั้งแต่บริเวณปากคลองบ้านฉางหลาง ปากคลองควนตุ้งกู แหลมหยงหลํา เกาะมุกด์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรค่อนข้างอุดมสมบูรณ์และมีความหนาแน่นของหญ้าทะเลเป็นอย่างมาก

ประชากร

สถิติจำนวนจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลบางสัก หมู่ที่ 4 บ้านน้ำราบทั้งสิ้น 1,532 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 768 คน และประชากรหญิง 764 คน จำนวนครัวเรือน 459 ครัวเรือน

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

ครอบครัวของชาวบ้านน้ำราบส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีจำนวนสมาชิกประมาณ 3-5 คน ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวรักใคร่กลมเกลียวกันดี พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกของตนมีการศึกษาที่ดี เมื่อออกเรือนไปมีครอบครัวของตนเอง บางส่วนก็จะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ บางส่วนก็จะแยกครอบครัวออกไปอยู่ที่อื่น แต่ยังคงมีการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

ความสัมพันธ์เครือญาติ

ความสัมพันธ์เครือญาติของชาวบ้านน้ำราบ เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบของการผูกพันทางสายโลหิตของคนที่มาจากสายเลือดหรือรากเหง้าเดียวกัน หรือมีบรรพบุรุษสายตระกูลเดียวกัน เห็นได้จากนามสกุลที่ใช้ภายในชุมชนนั้นมีเพียงไม่กี่นามสกุล ได้แก่ หมาดนุ้ย อุเส็น หลําหลง อะเส็ม นีระแส สะหมาด โออินทร์ ทิ้งหลี เบญสอาด บางสัก คงสมุทร ยุโต๊ะ ลิโต๊ะ และหวั่นมุสา แต่ในระยะหลังเริ่มมีการอพยพเข้ามาของผู้คนจากนอกพื้นที่โดยการเข้ามาแต่งงานกับชาวบ้านน้ำราบทําให้เกิดการผสมผสานระหว่างสายตระกูลดั้งเดิมของชาวบ้านน้ำราบกับคนจากถิ่นอื่น แต่คนในชุมชนบ้านน้ำราบก็ยังมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติหรือเป็นพี่น้องกันอยู่ มีการพึ่งพาอาศัยกันกลายเป็นกลุ่มทางสังคมที่ช่วยให้ชุมชนเกิดความเป็นปึกแผ่น และยังเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาที่ดีของชุมชน

ปัจจุบันชาวบ้านน้ำราบมีแหล่งที่มาของรายได้หลักจากการประกอบอาชีพทําสวนยางพารา ทําประมงชายฝั่ง และรับจ้าง ซึ่งอาชีพแต่ละประเภทสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนที่แตกต่างกัน สามารถแจกแจงรายละเอียดตามประเภทอาชีพได้ ดังนี้

การทําสวนยางพารา

สวนยางพาราถือเป็นรายได้หลักของชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชน โดยผลผลิตที่ได้ปกติแล้วจะนิยมขายเป็นน้ำยางสด ซึ่งจะมีพ่อค้าเดินทางเข้ามารับซื้อในหมู่บ้าน บางครอบครัวขายเป็นแผ่นยางดิบ โดยนำไปขายในตัวเมืองตรังหรือในตัวอําเภอกันตัง สำหรับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารามีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 13,000-20,000 บาทต่อครัวเรือน

การทำประมงชายฝั่ง

การทำประมงชายฝั่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความสำคัญอย่างมากต่อรายได้ของชาวบ้านน้ำราบ เนื่องจากบ้านน้ำราบเป็นชุมชนที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลอันดามันซึ่งสามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี สัตว์น้ำที่จับมาได้จะขายให้แก่เจ้าของแพปลาในหมู่บ้าน โดยชาวบ้านมีรายได้จากการทำประมงเฉลี่ยเดือนละประมาณ 12,000-19,000 บาทต่อครัวเรือน

อาชีพรับจ้าง

ชาวบ้านที่มีอาชีพรับจ้าง ได้แก่ ขนย้ายผลผลิตสัตว์น้ำ แกะเนื้อปู ลูกจ้างเรือประมงขนาดใหญ่ ทํางานในโรงงานผลิตอาหารทะเลส่งออกในตัวอําเภอกันตัง รับจ้างกรีดยาง และรับจ้างทั่วไป โดยชาวบ้านมีรายได้จากการรับจ้างเฉลี่ยเดือนละประมาณ 6,000-8,000 บาทต่อคน

อนึ่ง จากการที่ชุมชนบ้านน้ำราบมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้สัตว์น้ำนานาชนิด ได้แก่ ปูม้า ปลา กุ้ง ในแนวลําคลองบ้านน้ำราบมีความอุดมสมบูรณ์ตามมา คนในชุมชนบ้านน้ำราบทั้งที่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริมยามว่างจากการประกอบอาชีพหลัก สามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนจากป่าชายเลนแหล่งนี้ สัตว์น้ำที่จับได้ส่วนใหญ่ก็จะขายให้กับเจ้าของแพปลาในชุมชนเพื่อขายต่อให้กับคนภายนอกชุมชนหรือพ่อค้าแม่ค้ารายใหญ่ต่อไป ขณะเดียวกันชาวบ้านน้ำราบก็ต้องต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผืนป่าลชายเลน แม่น้ำลำคลอง เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย การทำประมงแบบล้างผลาญ และการที่รัฐเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาตัดไม้ในพื้นที่ป่าชายเลนของชุมชน ในเวลาต่อมาภายหลังการยกเลิกสัมปทานป่าชายเลนด้วยความตระหนักและพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านน้ำราบ และได้อาศัยจุดแข็งของชุมชน คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่งดงามและอุดมสมบูรณ์พัฒนาเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้คนในชุมชน การรวมตัวกันของชาวประมงที่ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กลายเป็นแนวความคิดที่ได้แพร่หลายไปสู่ชุมชนใกล้เคียงที่เรียกว่า “เขตเลเสบ้าน” หรือเขตทะเลสี่หมู่บ้านที่ประกอบไปด้วย บ้านน้ำราบ บ้านควนตุ้งกู บ้านฉางหลาง และบ้านเกาะมุกด์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวังรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและร่วมกันแก้ปัญหาการใช้เครื่องมือทำลายล้างต่าง ๆ ส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้านเชิงอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมผลักดันนโยบายและกฎหมายคุ้มครองสิทธิการทำประมงและควบคุมการใช้เครื่องมือทำลายล้าง โดยทั้ง 4 หมู่บ้านได้มีข้อตกลงร่วมกันเป็นกติกาชุมชน ดังนี้

  1. ห้ามทำประมงด้วยอวนรุน อวนลาก อวนประกอบเครื่องมือกระทุ้งน้ำ อวนชัก อวนทับตลิ่ง ระเบิด ยาเบื่อ เบ็ดราไว ลอบหรือไซที่ตาอวนต่ำกว่า 2 นิ้ว
  2. การจำกัดและห้ามทำประมงตามช่วงเวลา ตามฤดูกาลในบางพื้นที่
  3. ร่วมกันฟื้นฟูระบบนิเวศโดยรวม
  4. ป่าชายเลนชุมชน การดูแลรักษาและรักษาประโยชน์ให้เป็นไปตามกฎกติกาของชุมชน

ต่อมาไม่นานได้มีการก่อตั้งกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน เกิดขึ้นหลังจากที่ชุมชนได้เล็งเห็นว่าการทำกิจกรรมการอนุรักษ์ในแต่ละครั้งนั้น ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางกลุ่มไม่ได้คาดหวังพึ่งงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว จึงได้ร่วมกันจัดทำการท่องเที่ยวของชุมชนขึ้น โดยให้ชุมชนได้จัดการบริหารธุรกิจท่องเที่ยวด้วยตัวเองเพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่คนในชุมชน และรายได้ส่วนหนึ่งก็หักเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้ง “กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านน้ำราบ-ท่าขยง” ขึ้น เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนด้วย (ท่าขยงเป็นกลุ่มหย่อมบ้านของชุมชนบ้านน้ำราบ)

บ้านน้ำราบเป็นชุมชนมุสลิมที่ชาวบ้านทั้งชุมชนนับถือศาสนาอิสลามเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ฉะนั้น วัฒนธรรม และประเพณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนจึงเป็นประเพณีตามหลักศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่

  • พิธีเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมในการเข้าสู่ศาสนาอิสลามของเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี
  • ประเพณีแต่งงานบ่าวสาวของศาสนาอิสลาม
  • การถือศีลอด
  • ประเพณีฮารีรายอ 2 ครั้ง (อีดิฏฟิรหรีและอีดิฏอัสฮา)

1. นายหลงเฟียะ บางสัก  หรือบังเดียะประธานประมงพื้นบ้าน บ้านน้ำราบ ผู้นำชุมชนในการพลิกฟื้นป่าชายเลนและท้องทะเลชุมชนจากความเสื่อมโทรมและการทำประมงแบบทำลายล้างสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอนุรักษ์

ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ : ป่าชายเลน

บ้านน้ำราบมีพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 3,200 ไร่ ที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลรักษานับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์และสวยงาม ซึ่งชาวบ้านในชุมชนบ้านน้ำราบมีการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนมาตั้งแต่อดีตตามวิถีชีวิตของคนในชุมชนชายฝั่งทั้งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและแหล่งอาหาร แหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน แหล่งสร้างรายได้ให้กับชุมชน ที่กําบังคลื่นลม และใช้เพื่อสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย นอกจากนี้พื้นที่ป่าชายเลนบ้านน้ำราบยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญ คือ ทะเลแหวกบ้านน้ำราบซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะสันทรายขนาดใหญ่บริเวณปากอ่าว แนวสันทรายที่งดงาม อุโมงค์โกงกางที่มีป่าโกงกางขึ้นอยู่หนาทึบ เกาะรูปหัวใจ ถ้ำเขาตีนแรด และเขาจมป่า เป็นภูเขาที่สูงไม่มากนัก โดยมีความสูงอยู่ที่ 84 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีลักษณะเป็นป่าโกงกางผืนใหญ่ มีคลองน้ำที่คดเคี้ยว นอกจากต้นไม้เล็กใหญ่แล้ว ยังมีสัตว์น้อยใหญ่อาศัยอยู่ แสดงถึงความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก สาเหตุที่สถานที่แห่งนี้ถูกเรียกกันว่าเขาจมป่า เพราะว่าภูเขาลูกนี้ถูกบดบังไปด้วยผืนป่าโกงกางขนาดใหญ่ เหมือนกับจมอยู่ในป่า หากมองในระยะไกลก็จะกลมกลืนจนมองไม่เห็น แต่พอได้เข้าไปใกล้มากขึ้นถึงจะมองเห็น ชาวบ้านจึงพากันเรียกที่นี่ว่า “เขาจมป่า”

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : อักษรไทย


บ้านน้ำราบ เป็นชุมชนมุสลิมที่ในอดีตเคยประสบปัญหาป่าชายเลนถูกบุกรุกทําลายจนเกิดความเสื่อมโทรมจากกระแสการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-3 (พ.ศ. 2504-2519) ที่มุ่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อีกทั้งในช่วง พ.ศ. 2511-2535 ภาครัฐได้มีนโยบายให้สัมปทานทําไม้ป่าชายเลนแก่ภาคเอกชน ทําให้นายทุนต่างพื้นที่เข้ามาตัดไม้ป่าชายเลนและสร้างเตาถ่านขนาดใหญ่ในชุมชน มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2535-2540 ภาครัฐได้มีนโยบายส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งโดยเฉพาะกุ้งกุลาดํา เพื่อการส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศ ในช่วงเวลาดังกล่าวพื้นที่ป่าชายเลนทั่วประเทศได้ถูกใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาและได้ลดจํานวนอย่างรวดเร็ว พื้นที่ป่าชายเลนบ้านน้ำราบจํานวนมากได้ถูกบุกรุกทําลายจากนโยบายการพัฒนา ความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำของชุมชนที่เคยอุดมสมบูรณ์และลดจํานวนลดอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าได้มีการยกเลิกสัมปทานทําไม้ป่าชายเลนไปแล้วและการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาลดน้อยลงไปมาก แต่ก็ยังมีการลักลอบตัดไม้ทําลายป่าชายเลนของคนนอกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านน้ำราบจึงราบจึงได้เริ่มตระหนักถึงความเป็นอยู่ในอนาคตที่ต้องพึ่งพิงป่าชายเลนซึ่งเป็นฐานทรัพยากรของชุมชนที่สําคัญในการดํารงชีพ

พ.ศ. 2543 แกนนําชุมชนได้ริเริ่มในการจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนที่เคยเสื่อมโทรมเพื่อให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์ โดยระยะแรกยังไม่ประสบความสําเร็จเนื่องจากแกนนํายังขาดประสบการณ์ สมาชิกยังไม่เข้าใจ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน แต่หลังจากการศึกษาดูงานในพื้นที่อื่นตลอดจนการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายนอกชุมชน และการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน อีกทั้งคนในชุมชนได้เห็นความสําคัญของป่าชายเลนมากยิ่งขึ้น และจากการที่ป่าชายเลนช่วยลดความรุนแรงจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิซึ่งชุมชนได้ประสบในปลายปี พ.ศ. 2547 ทําให้พื้นที่ป่าชายเลนบ้านน้ำราบจากที่เคยเสื่อมโทรมได้รับการดูแลรักษาจนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ปัจจุบันชุมชนบ้านน้ำราบได้กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานของชุมชนอื่น ๆ และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านป่าชายเลนให้กับเยาวชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ทว่า ชาวบ้านน้ำราบเห็นว่ายังไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงในการจัดการป่าชายเลนของชุมชน การเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านป่าชายเลนให้กับเยาวชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นผลแห่งความสําเร็จเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น แต่การจัดการป่าชายเลนให้เกิดความยั่งยืนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นเป้าหมายที่แท้จริงที่คนในชุมชนอยากให้เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เขาจมป่า จ.ตรัง. (2566). บ้านน้ำราบ จ.ตรัง มาเที่ยวได้ทุกวัน มาเที่ยวได้ทั้งปี. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/KhaoJomPa

บ้านน้ำราบ จ.ตรัง. (2566). ทริปปัง!! Summer ชวนมา บ้านน้ำราบ จ.ตรัง แจกแพลนเที่ยว. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/BanNamRabTrang/

ปิ่น บุตรี. (2565). “บ้านน้ำราบ-เขาจมป่า” ตื่นตาอุโมงค์โกงกาง ทะเลแหวกสุดอลัง เสน่ห์ “เมืองตรัง” Amazing ยิ่งกว่าเดิม. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/travel/

ปิยวุฒิ แดงเหมือน. (2566). เปิดเช็กอินแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านน้ำราบ ชุมชนทำประมงพื้นบ้าน. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.technologychaoban.com/folkways/

ปิยาณีย์ เพชรศรีช่วง. (2557). รูปแบบการเมืองภาคประชาชนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของกลุ่มประมงพื้นบ้านเขตเลเส (สี่) บ้าน จังหวัดตรัง. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.

อภิชาติ หนูน้อย. (2560). ทุนทางสังคมกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการป่าชายเลนบ้านน้ำราบ ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

Bank's Journey. (2566). สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/photo/

Kapook. (2565). เขาจมป่า ที่เที่ยวตรัง ท่ามกลางธรรมชาติ โอบล้อมด้วยภูเขาและทะเล. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.kapook.com/

S.O.S. Save Our Seas. (2562). THE HERO หลงเฟียะ บางสัก พลิกฟื้นป่า ทะเล สู่แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.youtube.com/