Advance search

เวียคาดี้

บ้านเวียคะดี้ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ พ.ศ. 2558 ชุมชนนวัตวิถีแห่งเมืองกาญจนบุรี

หมู่ที่ 5
เวียคะดี้
หนองลู
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ส.ค. 2023
บ้านเวียคะดี้
เวียคาดี้

เวียคะดี้ หรือเวียคาดี้ เป็นภาษาปกาเกอะญอ โดยคำว่า “เวีย” แปลว่าทุ่ง ส่วนคำว่า “คะดี้” แปลว่า หวายขม รวมกันได้ว่า “หมู่บ้านทุ่งหวาย”


บ้านเวียคะดี้ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ พ.ศ. 2558 ชุมชนนวัตวิถีแห่งเมืองกาญจนบุรี

เวียคะดี้
หมู่ที่ 5
หนองลู
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
71240
15.18586131
98.3316198
เทศบาลตำบลหนองลู

ประวัติความเป็นมาของบ้านเวียคะดี้นั้นมีอยู่หลายที่มาทั้งที่มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและแบบมุขปาฐะหรือคำบอกเล่าที่เล่าสืบต่อกันมาจากคนในชุมชน โดยจะอธิบายพอสังเขป ดังนี้

ประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรกล่าวถึงบ้านเวียคะดี้ว่า ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2348 โดยประชากรที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มแรก คือ ชาปกาเกอะญอจำนวน 15 หลังคาเรือน ก่อนจะมีการอพย้ายเข้ามาสมทบและเกิดการขยายตัวของบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่ง พ.ศ.2526 มีประชากรส่วนหนึ่งอพยพหนีน้ำท่วมมาจากบ้านนิเถะและอําเภอสังขละบุรี (เก่า) (บ้านนิเถะ หมู่ที่1 ตําบลหนองลู อําเภอสังขละบุรี ในปัจจุบัน) มาตั้ง บ้านเรือนอยู่ในบริเวณนี้ ทางราชการจึงได้กําหนดให้เป็นหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 ตําบลหนองลู อําเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และเกิดเป็นกลุ่มบ้านอีก 3 กลุ่มบ้าน ได้แก่ กลุ่มบ้านช่องลุ กลุ่มบ้านชูแหละ และกลุ่มบ้านโมระข่า

ส่วนตํานานหรือคําบอกเล่าที่สืบต่อกันมาปรากฏอยู่ 3 ตํานานดังนี้

  • ตำนานแรกเล่าว่าบ้านเวียคะ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยอําเภอสังขละบุรียังเป็นกิ่งอําเภอวังกะ ครั้งพระศรีสุวรรณคีรียาเชียงโปรย เป็นนายอําเภอ เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ตามตํานานกล่าวว่า มีชาวปกาเกอะญอ 2 คนพี่น้องชื่อ นายทูกู (คนพี่) และนายหม่องโกหล่า (คนน้อง) ที่มาจากฝั่งทวายประเทศพม่าได้ลายแทงสมบัติจากปู่ย่าตาทวด ในลายแทงได้แสดงเส้นทางการเดินทางไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากที่อยู่เป็นระยะทาง มากกว่า 100 กิโลเมตร ในบริเวณแห่งนั้นเป็นที่ราบลุ่ม ประกอบด้วยดงป่าหวายหนาแน่นซึ่งเป็นแหล่งสมบัติที่มีมูลค่ามหาศาล หลังจากนั้นไม่นานนายทูกูและนายหม่องโกหล่าได้รวบรวมสมัครพรรคพวกออกเดินทางจากบ้านทวาย ประเทศพม่า มุ่งไปยังสถานที่ตามลายแทงได้ระบุไว้ และได้ทําพิธีกรรมตั้งจิตอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หากพบสมบัติจะสร้างเจดีย์ถวาย ณ ที่แห่งนั้นเพื่อแก้บน หลังจากทําพิธีกรรมตั้งจิตอธิษฐานเสร็จ ต่อมาไม่นานบุคคลทั้งสองจึงได้พบสมบัติมากมายในบริเวณสถานที่ดังกล่าว แล้วได้แบ่งให้ผู้ที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันจํานวนหนึ่งเพื่อนํากลับไปบ้านเกิด ส่วนบุคคลทั้งสองที่เป็นเจ้าของลายแทงไม่ได้เดินทางกลับทันที เพราะต้องสร้างเจดีย์ดังที่ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ และตั้งหลักปักฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้ร่วมกับพรรคพวกจำนวนหนึ่ง ภายหลังตั้งบ้านเรือนแล้วจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านโดยสังเกตจากสภาพแวดล้อมโดยรอบของพื้นที่ซึ่งเป็นดงป่าหวาย จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “เวียคาดี้” (เป็นภาษาปกาเกอะญอ เวีย แปลว่า ทุ่ง ส่วน คาดี้หรือคะดี้ แปลว่า หวายขม) ซึ่งต่อมาได้แผลงมาเป็น “เวียคะดี้”

  • ตำนานที่สองเล่าว่าบ้านเวียคะดี้ หรือเวียคาดี้ ก่อตั้งมาแล้วกว่า 250 ปี โดแกนนำหมู่บ้านชื่อ พู่จาปี้ พาคนจํานวนประมาณ 15 ครอบครัว มาตามหาพระเจดีย์ในลายแทง เมื่อเดินทางตามเส้นทางแล้วยังไม่พบร่องรอยพระเจดีย์เพราะเดินเลยจุดหมายตามลายแทงมาแล้ว จึงย้อนกลับมาตั้งหลักปักฐาน เพราะเชื่อว่าเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ พู่ซาโพ่ว หนึ่งในคณะที่เดินทางได้ลงมือปลูกกระเทียมป่า (เอเกรอ) โดยถางพื้นที่บริเวณในการเพาะปลูก ขณะนั้นได้พบจอมปลวกใต้ต้นมะม่วงและพบอิฐสีแดงก้อนใหญ่วางเรียงอยู่จึงกลับไปดูในลายแทง แล้วรู้ว่าที่นี่เป็นสถานที่ตั้งของพะเจดีย์ตามลายแทง จึงบอกกล่าวให้ผู้คนในคณะรู้และเป็นที่เคารพสักการะบูชา บริเวณใกล้พระธาตุเจดีย์นั้นมีต้นมะม่วงศักดิ์สิทธิ์ต้นหนึ่ง เมื่อกินผลมะม่วงจะช่วยแก้โรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดีและทําให้ร่างกายแข็งแรง ไม่แก่ชรา แต่พู่ซาโพ่วได้เตรียมสถานที่บูรณะพระธาตุเจดีย์จึงตัดต้นมะม่วงนี้ทิ้งเสีย ผู้นําพี่จาปี้ทราบก็รู้สึกเสียใจกับการกระทําจึงเดินทางกลับพม่าพร้อมกับอีก 2 ครอบครัวที่ติดตามมาในครั้งแรก ส่วน ชาวบ้านที่เหลือก็ได้ตั้งรกรากทํามาหากิน และช่วยกันนําดินมาทําอิฐและบูรณะพระธาตุเจดีย์ให้สวยงาม ซึ่งในการทําเจดีย์ต่างก็มีขั้นตอนมากมายตาม มีการนํายอดฉัตรเงินและฉัตรทองบนภูเขากองเงินที่จะต้องทําพิธีบนภูเขาแล้วไหเงินไหทองจะปรากฏขึ้นมา ซึ่งผู้ที่ทําพิธีได้มีข้อกําหนดว่าเงินและทองนี้ห้ามนําไปใช้ส่วนตัว เมื่อได้แร่เงินและทองแล้ว ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้นําแร่เงิน-ทองเดินทางไปยังประเทศพม่าเพื่อสร้างฉัตร เมื่อทําเสร็จแล้วจึงเดินทางกลับมาเพื่อประกอบฉัตรบนยอดพระธาตุเจดีย์ แต่ว่าระหว่างทางถูกโจรปล้น จึงจําเป็นต้องกลับไปประกอบพิธีขอเงินและทองใหม่ แต่ก็ถูกปล้นอีก จากนั้น 2-3 ปีชาวบ้านจึงได้รวบรวมเงินกันไปซื้อฉัตรมาจากเมืองมะละแหม่ง เมื่อประกอบฉัตรเงินและฉัตรทองได้สําเร็จ ต่อมาก็ได้ข่าวว่าคนที่ปล้นฉัตรไปนั้น นําฉัตรไปหลอมเป็นทองแท่ง เงินก้อน แล้วแบ่งกันไม่ลงตัวจึงฆ่าเองกันเองตายทั้งหมด หลังจากนั้นชาวบ้านก็เริ่มแบ่งที่ดินทํากินในบริเวณนี้ ซึ่งก็คือบ้านเวียคะดี้ในปัจจุบัน

  • ตำนานที่สามว่ากันว่าในสมัยก่อนพื้นที่เวียคะดีนี้ไม่ใช่พื้นที่ของชนกลุ่มใด เป็นที่ไม่มีเจ้าของ ต่อมามีชาวพม่าคนหนึ่งอพยพลี้ภัยสงครามจากดินแดนพม่า แต่การเดินทางโดยไม่มีจุดหมายปลายทางทําให้ชายผู้นั้นหลงทางในป่าอยู่หลายเดือน ซึ่งจําต้องดํารงชีพด้วยหาของป่ากินเพื่อประทังชีวิต ในที่สุดชายพม่าผู้นั้นได้เดินมาพบเจอกับฤาษีตนหนึ่ง ฤาษีได้กล่าวว่าที่แห่งนี้ไม่เหมาะสมแก่การตั้งบ้านเรือนให้ถอยย้อนกลับไปอีกหากคิดจะตั้งหมู่บ้าน ที่แห่งนั้นเป็นพื้นที่ที่ดี มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีสิ่งคุ้มครองอยู่แถวนั้น เมื่อฤาษีกล่าวจบ ชายพม่าผู้นั้นก็ได้ถอยหลังกลับไปยังตําแหน่งที่ฤาษีบอก และลงหลักปักฐานอยู่ที่นั้นซึ่งเป็นบริเวณเขตกลุ่มบ้านเวียคะดี้ในปัจจุบัน

ปัจจุบัน บ้านเวียคะดี้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มบ้าน ได้แก่ ช่องลุ ชูแหละ เวียคะดี้ และโมระข่า โดยการตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นนิยมใช้ภาษาปกาเกอะญอในการตั้งชื่อและตั้งจากสภาพพื้นที่ สถานที่สําคัญ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์ในหมู่บ้าน ดังนี้

  • กลุ่มบ้านเวียคะดี้ แปลว่า ดงหวาย ตามที่ได้กล่าวถึงในประวัติศาสตร์หมู่บ้านเวียคะดี้

  • กลุ่มบ้านช่องลุ แปลว่า ลําห้วยที่น้ำแห้ง ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างกลุ่มบ้านช่องลุกับหมู่ที่ 6 บ้านห้วยมาลัย

  • กลุ่มบ้านชูแหละ แปลว่า อาคารสถานที่ราชการชั่วคราวที่ใช้เป็นสถานที่ราชการในการสํารวจสํามะโนครัวประชากรในสมัยก่อน

  • กลุ่มบ้านโมระข่า แปลว่า กระสุนปืน เนื่องจากพื้นที่นี้ สมัยก่อนมีการทําสงครามกันระหว่างพม่าและปกาเกอะญอในพม่า ทําให้มีปลอกกระสุนปืนหล่นอยู่ตามไร่นาของชาวบ้าน

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านเวียคะดี้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตําบลหนองลู จังหวัดกาญจนบุรี มีเขตปกครองครอบคลุม 4 กลุ่มบ้าน ได้แก่ ช่องลุ ชูแหละ เวียคะดี้ และโมระข่า ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความห่างไกลกันพอสมควร มีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านปะไรโหนก หมู่ที่ 10 อําเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยมาลัย หมู่ที่ 6 อําเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยกบ หมู่ที่ 4 อําเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ประเทศพม่า ฝั่งตรงข้ามหมู่บ้านมะล็อคกานี

จุดศูนย์กลางของ 4 กลุ่มบ้าน คือ กลุ่มบ้านเวียคะดี้ เพราะเป็นสถานที่ตั้งของวัด โรงเรียน หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิที่ ท.ภ.7 บ้านเวียคะดี้ กองร้อยทหารพราน และสถานที่ทําการกํานันตําบลหนองลู

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีเขาช้างเผือกทางทิศตะวันตกวางตัวเป็นแนวยาวตลอดพื้นที่ของหมู่บ้าน มีทั้งป่าดงดิบและป่าไม้เบญจพรรณ มีพื้นที่ราบเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่เป็นแนวชายเขา มีลําห้วยน้ำไหลตลอดปีแต่ไม่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และมีระยะทางห่างจากแนวชายแดนไทย-พม่า 12 กิโลเมตร มีเส้นทางคมนาคมเข้า-ออกเพียงเส้นทางเดียว ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม (การทํานา ข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาช้างเผือก มีอาณาเขตประมาณ 2,891 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ

สภาพภูมิอากาศ

บ้านเวียคะดี้ หมู่ที่ 5 ตําบลหนองลู อําเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียง และลมมรสุมทะเลอันดามันใต้ มีฝนตกชุกและมีฤดูฝนที่ยาวนาน อยู่ในเขตโซนร้อน สามารถแบ่งลักษณะภูมิอากาศได้ 3 ฤดู ดังนี้

ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมฤดูฝน อยู่ในระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคมฤดูหนาว อยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม

แหล่งน้ำ

เขื่อนขนาดเล็ก จํานวน 1 เขื่อน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกลุ่มบ้านเวียคะดี้ ระยะห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1.5 กิโลเมตรห้วยตะโก มีต้นสายมาจากต้นน้ำบีคี่ ประเทศพม่า และมีห้วยต่าง ๆ ไหลมารวมกัน ซึ่งรวมแหล่งน้ำที่ไหลมาจากประเทศพม่า ไหลผ่านมะล็อคกานี กลุ่มบ้านโมระข่า กลุ่มบ้านเวียคะดี้ กลุ่มบ้านช่องลุ และบ้านห้วยมาลัย ลงสู่ลําน้ำประโด่งรวยที่บ้านใหม่พัฒนา ตําบลหนองลู อําเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีห้วยป่าไม้ป้อม เป็นห้วยธรรมชาติที่ตั้งอยู่ในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกลุ่มบ้านโมระข่า ห่างจากหมู่บ้าน 600 เมตร ชาวบ้านในกลุ่มบ้านโมระข่าได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนี้ทั้งการอุปโภค-บริโภค และเป็นลําห้วยที่ไม่ได้สร้างเป็นระบบประปาท่อ เนื่องจากไม่มีพื้นที่ลาดชันชาวบ้านจึงอาศัยแหล่งน้ำนี้ด้วยวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมห้วยทิลูซองค่าคี่ เป็นห้วยที่อยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกลุ่มบ้านโมระข่า ห่างจากหมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณล่องหุบเขา ใช้ระบบกาลักน้ำโดยการทําฝายกั้นน้ำให้มีขนาดลึกพอที่จะวางแนวท่อส่งน้ำได้และจ่ายน้ำแบบระบบท่อประปาส่งน้ำไปยังกลุ่มบ้านโมระข่าห้วยคีถุ ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกลุ่มบ้านชุแหละ ใช้ระบบกาลักน้ำโดยการทําฝ่ายกั้นน้ำ แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาทําให้ร่องน้ำมีความลึกมาก จึงไม่ต้องขุดพื้นที่วางระบบท่อได้ทันที โดยกลุ่มบ้านที่ได้ใช้ประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มบ้านชูแหละ กลุ่มบ้านเวียคะดี้ และกลุ่มบ้านช่องลุบางส่วน

แหล่งน้ำที่มีการทําระบบประปาได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตออสเตรเลียประจําประเทศไทย อาสาสมัครออสเตรเลีย และสถานพยาบาลคริสเตียนแม่น้ำแควน้อย ใน พ.ศ. 2529 มีชาวบ้านเป็นผู้ดูแลรักษาและแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย แหล่งน้ำต่าง ๆ นี้ชาวบ้านหมู่ที่ 5 เวียคะดี้ใช้ในการอุปโภค-บริโภคมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลหนองลู หมู่ที่ 5 บ้านเวียคะดี้ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 4,884 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 2,535 คน และประชากรหญิง 2,349 คน จำนวนครัวเรือน 1,144 คน ซึ่งบ้านเวียคะดี้แห่งนี้นับเป็นศูนย์รวมของชนชาติพันธุ์หลายเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นพม่า ละว้า มอญ และประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดหมู่บ้าน คือ ปกาเกอะญอเชื้อสายโปว์และสะกอ โดยบางส่วนได้รับสัญชาติไทยแล้ว และบางส่วนได้รับสถานะให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยทางราชการจะออกบัตรประจำตัวตามสถานะที่บุคคลนั้น ๆ ได้รับ 

ปกาเกอะญอ, มอญ, ละว้า (ว้า)

ชาวบ้านใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ยึดอาชีพทําไร่ ทํานา เลี้ยงสัตว์ และรับจ้างในการสร้างรายได้ ผลผลิตที่ได้จากการทําไร่ทํานาจะเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน และแบ่งขายเป็นเพียงบางส่วน นอกจากนี้ ชาวบ้านบางรายมีรายได้จากอาชีพค้าขาย ในหมู่บ้านทั้ง 4 กลุ่ม มีร้านค้า 29 ร้าน โรงสีข้าว 3 แห่ง และเก็บพืชผักตามธรรมชาติมาขายให้เพื่อนบ้านในชุมชน

นอกจากนี้ ปัจจุบันบ้านนเวียคะดี้ได้เปิดชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้เหล่านักท่องเที่ยวได้เข้ามาร่วมสัมผัสวิถีการดำเนินชีวิตของชาวปกาเกอะญอ มีผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ของชุมชนที่นักท่องเที่ยวสามารถเลือกจับจ่ายเป็นของฝาก รวมถึงศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยมีการแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น และกิจกรรมด้านปศุสัตว์ อาทิ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบคอนโด เลี้ยงสุกรพื้นเมือง และปลูกหญ้าเนเปียสำหรับเป็นอาหารของโคและสัตว์อื่น ๆ อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ คือ วัดเวียคะดี้ ซึ่งมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ พระเจดีย์อุณาโลม (เจดีย์สององค์) ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว สถานที่ตั้งของเจดีย์สององค์นี้มีการเล่าต่อ ๆ กันมาว่าเป็นสถานที่ที่เกิดการแลกเปลี่ยนตัวประกันระหว่างพระนเรศวรมหาราชกับพระพี่นางสุพรรณกัลยา และเป็นเจดีย์ที่ปรากฏในตำนานของบ้านเวียคะดี้ บริเวณใกล้เคียงยังมีต้นลีลาวดี (ลั่นทม) โบราณ อายุกว่า 400 ปี ขนาด 3 คนโอบชาวบ้านเชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระนเรศวรมหาราช และยังมีต้นโพธิ์ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงปลูกไว้ ณ โรงเรียน ตชด.สหธนาคารกรุงเทพ

ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP

  • เสื้อ/ย่ามกะเหรี่ยง
  • ปลานิลแดดเดียว
  • ผักเหลียงปลารมควัน
  • น้ำมันงาพนาวัลย์
  • น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น
  • หมูแดดเดียว
  • ข้าวเกรียบสมุนไพร

ศาสนา

ประชากรส่วนใหญ่ในบ้านเวียคะดี้เป็นชาวปกาเกอะญอเชื้อสายโปว์และสะกอ มีศาสนาที่นับถืออยู่ 2 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ร้อยละ 90 และศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ร้อยละ 10 ของจํานวนประชากร ในกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธ จะมีการกําหนดเวรในการทําอาหารไปถวายพระตอนฉันเช้าและฉันเพลก่อนวันพระทุกวัน ซึ่งจะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละกลุ่มบ้าน ก่อนถึงวันพระหนึ่งวันชาวบ้านจะมารวมตัวกันในช่วงบ่ายไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ไม่แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน และชาวบ้านก็จะเตรียมอาหารจนถึงตอนเช้าแล้วจึงนําไปถวายพระสงฆ์ได้ทันที ส่วนในกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ก็จะมีการปฏิบัติกิจทุกวันอาทิตย์เป็นประจํา อยู่ที่โบสถ์คริสตจักรสังขละบุรีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กลุ่มบ้านช่องลุ ข้อสังเกตหนึ่งที่สำคัญของชาวบ้านเวียคะดี้ คือ เมื่อถึงวันพระของทุกเดือน ชาวบ้านทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์จะหยุดทําภารกิจในชีวิตประจําวัน อันได้แก่ การไปทําไร่ ทํานา และทําสวน ชาวบ้านจะถือวันนี้เป็นวันหยุดพักผ่อนหรือเป็นวันที่ชาวบ้านช่วยเหลือกันในการพัฒนาหมู่บ้าน บูรณะวัด และทํากิจกรรมอื่น ๆ ที่มีในชุมชนร่วมกัน ซึ่งไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ก็สามารถช่วยเกื้อกูลกันเป็นอย่างดีโดยไม่แบ่งแยกศาสนา

ศาสนสถานที่สำคัญ ในหมู่บ้านเวียคะดี้มีจำนวน 4 แห่ง ดังนี้

  • วัดเวียคะดี้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484 ตั้งอยู่ที่กลุ่มบ้านเวียคะดี้
  • สํานักสงฆ์โมระข่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2529 ตั้งอยู่ที่กลุ่มบ้านโมระข่า
  • โบสถ์คริสตจักรสังขละบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2516 ตั้งอยู่ที่กลุ่มบ้านช่องลุ ผู้นําทางศาสนา คริสต์ คือ อาจารย์ทองคํา ทองเปราะ ประธานคริสตจักรภาคที่ 16
  • ศาลาธรรมโมระข่า สังกัดคริสตจักรยาระเด็น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2549 ตั้งอยู่ที่กลุ่มบ้านโม ระข่า ผู้ดูแลศาลาธรรมโมระข่า คือ นายเต้อกี ชาวปกาเกอะญอกลุ่มบ้านโมระข่า

ความเชื่อ

ชาวบ้านเวียคะดี้ ยังคงมีความเชื่อเรื่องเทวดา นางฟ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ รวมไปถึงผีเจ้าป่าเจ้าเขา ผีไร่ ผีนา ผีน้ำ ฯลฯ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ชาวบ้านได้แสดงออกผ่านสะมูที่ทําจากไม้ไผ่สานเป็นรูปทรงตามลักษณะการใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในขณะที่สัตว์ป่า เช่น เก้ง กวาง เข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะถือว่าเป็นลางไม่ดี จะต้องทําพิธีกรรมปะไรหนาด ซึ่งเป็นพิธีปัดเป่ารังควานให้เหตุร้ายหายไปจากหมู่บ้าน การประกอบพิธีกรรมมีทั้งพิธีกรรมสงฆ์และพิธีกรรมฆราวาส จะเริ่มทําพิธีกรรมตั้งแต่ 20.00 นาฬิกา บริเวณที่มีการตั้งศาลหรือสะมูที่ใช้ไหว้ผี นอกจากนี้ ยังพบว่ามีพิธีกรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น พิธีกรรมกินไก่เลี้ยงผี เป็นพิธีกรรมในครอบครัวชาวปกาเกอะญอ จากความเชื่อว่าหากมีใครเจ็บป่วยรักษาไม่หายหรือป่วยเรื้อรัง ชาวบ้านมีความเชื่อว่าผีบรรพบุรุษเป็นผู้กระทํา จึงต้องมีพิธีกรรมกินไก่เลี้ยงผี เพื่อขอขมาผีบรรพบุรุษของตน และคนในครอบครัวไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หากมีการประกอบพิธีกรรมนี้จะต้องกลับมากินไก่ต้มที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทุกคน โชคร้ายและโรคที่เป็นอยู่ก็จะบรรเทาลงตามความเชื่อนั้น

ประเพณีประจำเดือน

  • เดือนมกราคม : ทําบุญปีใหม่/กินข้าวใหม่ ชาวบ้านจะเตรียมตัวกันตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม เตรียมอาหารคาวหวาน ห่อข้าวต้ม นําไปถวายพระที่วัดเวียคะดี้ เพื่อทําบุญในวันขึ้นปีใหม่ตามคติความเชื่อที่ว่าให้ความทุกข์ ความโศก โรคภัย และสิ่งที่ไม่เจริญหมดไปพร้อมกับปีเก่า ให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงามในปีใหม่ที่เริ่มขึ้น
  • เดือนมีนาคม : ทำบุญประจําปีวัดเวียคะดี้ ในวันขึ้น 12 ค่ำ-15 ค่ำ เป็นงานประเพณีทําบุญเจดีย์ประจําหมู่บ้าน มีการแสดงทั้งรําตง รําละคร และการแสดงของโรงเรียน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วม
  • เดือนเมษายน : ประเพณีสงกรานต์ ทุกบ้านนิยมทําข้าวต้มมัดและเรียกให้เพื่อนบ้านมารับประทาน โดยประเพณสงกรานต์ของชาวบ้านเวียคะดี้มีข้อสังเกต คือ ไม่มีการเล่นสาดน้ำเหมือนประเพณีสงกรานต์ของชาวไทย แต่นิยมเล่นสะบ้า และจะมีการถวายน้ำหอมแก่นางสงกรานต์ มีการนำข้าวต้มมัดที่ทําเสร็จใหม่ ๆ มาวางถวายบนสะมูและตั้งจิตอธิฐานขอในสิ่งที่เจริญและดีงาม เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว
  • เดือนกรกฎาคม : เทศกาลเข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคมประเพณีผูกข้อมือ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดมาอย่างยาวนาน เป็นประเพณีที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่ในหมู่บ้านกับกลุ่มเยาวชน เพื่อให้เด็กในหมู่บ้านได้ตระหนักถือการมีสัมมาคารวะ ให้ความเคารพผู้อาวุโส และเป็นประเพณีปัดรังควานให้เด็กในหมู่บ้านได้เติบโตมีความ เจริญรุ่งเรือง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยประเพณีผูกข้อมือนี้จะมีทั้งพิธีกรรมสงฆ์และฆราวาส พิธีกรรมของสงฆ์จะทําตอนเช้าเช่นเดียวกับการทำบุญในวันพระ ส่วนพิธีกรรมของฆราวาสจะมีการเตรียมพิธีผูกข้อมือ คือ ชาวบ้านจะเตรียมกล้วย อ้อย ข้าวสวยปั้นเป็นก้อน และดอกไม้สีขาว คนที่จะมาผูกข้อมือให้ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ความอาวุโส เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้น คนไหนต้องการผูกข้อมือจะต้องถือข้าวสวยปั้น กล้วย และอ้อย ไว้ในมือนำไปหาผู้เฒ่าผู้แก่ให้ผูกข้อมือให้ เป็นอันเสร็จพิธี
  • เดือนตุลาคม : เทศกาลออกพรรษา
  • เดือนพฤศจิกายน : ประเพณีลอยกระทงและประเพณีทอดกฐิน
  • เดือนธันวาคม : ประเพณีฟาดข้าวของชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ และวันคริสต์มาสของชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์

อาหารพื้นถิ่น

  • น้ำพริกแตงเปรี้ยว
  • ข้าวหมูยำกะเหรี่ยง
  • ปลาสับข้าวคั่ว
  • ปลาหมักเกลือขมิ้นทอง
  • ลาบปลาสูตรกะเหรี่ยง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

รำตง

รำตง เป็นการแสดงเฉพาะของชาวปกาเกอะญอ ในชุมชนบ้านเวียคะดี้นิยมทำการแสดงนี้ในช่วงวันสำคัญทุกเทศกาลหรือในงานประจำปี รวมถึงงานบวช งานแต่ง และงานรื่นเริงอื่น ๆ คําว่ารําตง หมายถึง การเต้นรํา การเหยียบย่ำให้เข้าจังหวะเพื่อแก้บน หรือขอบคุณพระแม่โพสพในบริเวณลานฟาดข้าว ในภาษาปกาเกอญอ เรียกว่า เท่อลีโตงว์ หรือไยโตงว์ โดยมีเครื่องดนตรีประกอบการละเล่น 2 ชิ้น คือ กลองสองหน้า ที่ทําจากไม้ขนุน และเครื่องเคาะจังหวะ หรือเรียกว่า วาเหล่เคาะ ที่ทําจากไม้ไผ่ป่า ต่อมาได้มีผู้คิดค้นเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีกหลายชิ้น และคิดท่ารําตงขึ้นมาใหม่อีกหลายรูปแบบ เครื่องดนตรีที่คิดขึ้นมาใหม่ต้องการเน้นประกอบเสียงร้องเพลงให้ไพเราะยิ่งขึ้น เร้าใจขึ้น ผู้ชมและผู้ฟังจะเกิดอารมณ์ไปตามเนื้อหาของเพลง เช่น ระนาดเหล็ก โหม่งราง ฉาบ ฉิ่ง ฯลฯ

แม้ว่าการรำตงจะเป็นการแสดงที่มักแสดงกันในงานรื่นเริง ทว่า ยังมีนัยแฝงด้วยความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์เกี่ยวกับพระแม่โพสพและความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีบ้านผีเรือน ซึ่งเป็นคติดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ โดยในพื้นที่ที่จะทำการแสดงต้องทําพิธีกรรมบอกกล่าวผีบ้านผีเรือน เจ้าที่เจ้าทาง รุกขเทวดา ในเขตพื้นที่นั้นให้รับทราบเสียก่อน โดยนําธูป เทียน ดอกไม้ อย่างละ 5 ชุด มาขอขมาในการลบหลู่ หรือทําผิด อีกทั้งจะต้องทําพิธีกรรมไหว้หรือบูชาครูบาอาจารย์เพื่อเป็นสิริมงคล และสร้างขวัญกําลังใจให้ผู้แสดงประสบผลสําเร็จ ด้วยเครื่องบูชา (กระต้อมป่วย” หรือ “ปวย”) ที่ประกอบด้วย กะละมัง มะพร้าว กล้วยน้ำว้า หมาก พลู บุหรี่ ดอกไม้ ธูป เทียน น้ำขมิ้น ส้มป่อย หรือน้ำหอม เงินไหว้ครู 5 บาท เครื่องดื่ม 1 ขวด มาจัดใส่กะละมัง แล้วผู้ทำพิธีจะพรมน้ำขมิ้น ส้มป่อย ให้ผู้แสดงทุกคนเพื่อเป็นสิริมงคลก่อนเริ่มการแสดง 

ชาวบ้านเวียคะดี้ใช้ภาษาไทย (ภาคกลาง) เป็นภาษาราชการ และมีภาษาเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่แบ่งได้อีกสองภาษา คือ ภาษากะเหรี่ยงโปว์ และภาษากะเหรี่ยงสะกอ ซึ่งการสื่อสารในชีวิตประจําวันของชาวบ้านมักใช้ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ในการสื่อสาร 


ภายหลังการประกาศพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิครอบคลุมพื้นที่อำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละบุรี ส่งผลให้บ้านเวียคะดี้เป็นหนึ่งหมู่บ้านที่ถูกกำหนดเข้าอยู่ในอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติไปโดยปริยาย และมีการตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิที่ ท.ภ.7 (เวียคะดี้) สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการดํารงวิถีชีวิตของชาวบ้านให้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามระบบทุนนิยมซึ่งเข้ามามีบทบาทในการดํารงชีพ ทําให้มีความต้องการทางด้านวัตถุมากขึ้น ชาวบ้านจึงมองว่าการมีหน่วยพิทักษ์อุทยานสร้างความยากลำบากต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตมากขึ้น ชาวบ้านไม่สามารถหาของป่าหรือล่าสัตว์ได้ ทําให้ขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัวและขาดรายได้ที่จะนํามาซึ่งการตอบสนองความต้องการของครัวเรือน ไม่สามารถที่จะทําไร่ได้อีก แม้ว่าความเป็นจริงแล้วการมีหน่วยพิทักษ์อุทยานขึ้นมาก็เพื่อที่จะรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่า โดยเจ้าหน้าที่ในหน่วยพิทักษ์อุทยานก็มิได้เคร่งครัด บางอย่างก็ได้รับการอนุโลมให้ชาวบ้านได้อาศัยผืนป่าในการดํารงชีวิต ทว่า ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงพบว่าในปัจจุบันนี้มีชาวปกาเกอะญอบ้านเวียคะดี้จำนวนหนึ่งเริ่มออกไปประกอบอาชีพนอกชุมชนเพื่อหารายได้ที่เพียงพอต่อการจุนเจือครอบครัวและดำรงชีพ


ทองผาภูมิ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตวงสิทธิ์ ตงศิริ. (2555). การเกื้อกูลที่ดินทำกินเพื่อความอยู่รอดของชาวกะเหรี่ยง : กรณีศึกษา บ้านเวียคะดี้ หมู่ที่ 5 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นวัตวิถีบ้านเวียคะดี้. (2566). ^^หนาเด่^^..เป็นภาษากระเหรี่ยงที่ใช้เรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้..ส่งต่อมาจากคนรุ่นก่อน. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/

Google Earth. (2563). สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

NEUNG007. (2561). บ้านเวียคะดี้ สังขละบุรี. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://taronpaitour.wordpress.com/

Sanook. (2562). บ้านเวียคะดี้ ด่านเจดีย์ 2 องค์. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sanook.com/travel/

wow together. (ม.ป.ป.). บ้านเวียคะดี้ จังหวัดกาญจนบุรี. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.wowtgt.com/