Advance search

ห้วยมะเดื่อ

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ดำและลาหู่แดงที่มีความเข้มแข็งทางด้านศาสนาและความเชื่อ 

ห้วยมะเดื่อ
เวียง
เวียงป่าเป้า
เชียงราย
นักศึกษาหลักสูตร ศศ.บ. (วัฒนธรรมศึกษา) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
1 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
1 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
29 ส.ค. 2023
ห้วยมะเดื่อ

ชาวลาหู่ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยมะเดื่อ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายถิ่นเดิมอาศัยอยู่ตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกนั้นเพียงแค่ 7 ครอบครัวเท่านั้น เดิมเข้ามาอาศัยที่บ้านห้วยไม้เดื่อ ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายก่อน ซึ่งในปัจจุบันหมู่บ้านดังกล่าวอยู่ห่างจากหมู่บ้านห้วยมะเดื่อประมาณ 10 กิโลเมตร ในอดีต เรียกชื่อหมู่บ้านว่า “ห้วยเหี้ย” ต่อมามีการเปลี่ยนมาเป็นหมู่บ้านห้วยมะเดื่อ และมีชาวลาหู่ดำที่ย้ายมาจากดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ชาวลาหู่แดงที่มาจากอำเภอเวียงป่าเป้า และมีชาวลีซูจากบ้านป่าตึง ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ย้ายเข้ามาสมทบ แต่ภายหลังชาวลีซูได้มีการย้ายออกไปอยู่ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือบ้านแม่ขะจาน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เหลือแต่ชาวลาหู่ดำและชาวลาหู่แดง


ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ดำและลาหู่แดงที่มีความเข้มแข็งทางด้านศาสนาและความเชื่อ 

ห้วยมะเดื่อ
เวียง
เวียงป่าเป้า
เชียงราย
57170
องค์การบริหารส่วนตำบลเวียง โทร. 0-5378-1955,0-5364-8856
19.391074
99.422762
องค์การบริหารส่วนตำบลเวียง

หมู่บ้านห้วยมะเดื่อ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายภาคเหนือของไทย ที่มาของคำว่าห้วยมะเดื่อ ของชาวลาหู่นั้น คำว่า ห้วย หมายถึงในชุมชนมีลำธารที่ไหลผ่านหมู่บ้าน 2 สาย และคำว่า เดื่อ นั้น หมายถึงผลของต้นมะเดื่อตามที่ชาวบ้านเรียกกันหมู่บ้านห้วยมะเดื่อก่อตั้งโดย นายกอเป๊อะ และนายตอโบ โดยย้ายมาจากบ้านป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มแรกการก่อตั้งหมู่บ้านมีเพียง 7 หลังคาเรือนเท่านั้นโดยมี นายสมคิด ภัทรเสถียรชัย เป็นผู้สร้างบ้านหรือกระท่อมเป็นบุคคลแรกของหมู่บ้าน ปัจจุบันมีนายปาหยี เป็นผู้ใหญ่บ้านดูแลหมู่บ้านแห่งนี้ ก่อนจะมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานสภาพเดิมของหมู่บ้านเป็นป่าไม้รกที่มีไม้ไผ่และต้นไม้จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นที่ให้ความร่มรื่น ทนแดดทนฝน และมีน้ำลำธารที่ใสสะอาด 2 สายคือ แม่น้ำป่าเหี้ย และแม่น้ำ “อี้กะโล้” หมายถึง “แม่น้ำใหญ่” ที่ไหลผ่านหมู่บ้านและท้ายหมู่บ้าน แม่น้ำในตอนนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้สำหรับดื่มกิน ใช้หุงต้มอาหาร ใช้ชะล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ ใช้ซักเสื้อผ้า เป็นต้น แม่น้ำจึงมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชุมชน และมีทรัพยากรที่สวยงามจากธรรมชาติรวมทั้งสัตว์ป่าที่หลากหลายชนิดทั้งปลา กุ้ง ปูในลำธาร หมูป่า ไก่ป่า เม่น ควาย และไม้ผล เช่นมะม่วงป่าเป็นต้น ในหมู่บ้านแห่งนี้หลังจากมีการย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวลาหู่ในหมู่บ้านชาวบ้านมีการแผ้วถางพื้นที่โดยการ ตัดไม้และเผาในบางส่วนเพื่อใช้สร้างที่พักที่อยู่อาศัยโดยการนำไม้ที่ตัดมาทำเป็น เสาบ้านและโครงหลังคาบ้าน และไม้ไผ่ก็นำมาผ่าเป็นซี่ถี่ ๆ เพื่อนำมาใช้ประกอบทำเป็นฝาบ้าน ส่วนหญ้าก็จะมีการนำหญ้าคา ใช้มุงหลังคาบ้าน แต่ปัจจุบันมีการใช้กระเบื้องแทนหญ้าคา สภาพลำธารปัจจุบันเริ่มขุ่นขึ้นเนื่องจากว่า มีฝนตกหนักและประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ไม้ผลที่มีอยู่ตามป่าเขาก็มีจำนวนน้อยลงชาวบ้านจึงมีการปลูกทดแทน โดยการปลูก ลิ้นจี่ มะม่วง ลำไย ต่าง ๆ และแหล่งธรรมชาติสัตว์ป่ามีการอพยพเข้าไปในป่าลึกยากต่อการล่าสัตว์ ชาวบ้านจึงมีการเลี้ยงสัตว์ทดแทน เช่น ไก่ หมู และปลูกข้าวโพด ข้าว ถั่วต่าง ๆ ตามฤดูกาล และพืชผักสวนครัวแทนการออกไปหาตามป่าตามเขา

ชาวลาหู่ในพื้นที่บ้านห้วยมะเดื่อ ได้มีการย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2522 โดยมี นายกอเป๊อะ และนายตอโบเป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ชาวลาหู่ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยมะเดื่อ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายถิ่นเดิมอาศัยอยู่ ตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกนั้นเพียงแค่ 7 ครอบครัวเท่านั้น เดิมเข้ามาอาศัยที่บ้านห้วยไม้เดื่อ ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ก่อน ซึ่งในปัจจุบันหมู่บ้านดังกล่าวอยู่ห่างจากหมู่บ้านห้วยมะเดื่อประมาณ 10 กิโลเมตร อยู่ทางทิศใต้ต่อจากบ้านแม่ปูนน้อยต่อมาชาวบ้านก็ได้ย้ายไปที่อื่น ประมาณ 10 กว่าปีถึงได้โยกย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน ในสมัยนั้นเรียกว่า “ห้วยเหี้ย” ต่อมามีการเปลี่ยนมาเป็นหมู่บ้านห้วยมะเดื่อ และมีชาวลาหู่ดำที่ย้ายมาจากดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ชาวลาหู่แดงที่มาจากอำเภอเวียงป่าเป้า และมีชาวลีซูจากบ้านป่าตึง ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ย้ายเข้ามาสมทบ แต่ภายหลังชาวลีซูได้มีการย้ายออกไปอยู่ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือ บ้านแม่ขะจาน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เหลือแต่ชาวลาหู่ดำและชาวลาหู่แดง ปัจจุบันมี นายจะหยี จะลอ เป็นผู้นำและปกครองดูแลหมู่บ้านแห่งนี้

หมู่บ้านห้วยมะเดื่อ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเวียง เป็นตำบลที่เกิดขึ้นพร้อมกับกิ่งอำเภอเวียงป่าเป้า เมื่อ พ.ศ. 2446 คำว่า“เวียง” ตามภาษาล้านนา แปลว่า เมือง ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนมีประชากรหนาแน่นและเป็นแหล่งศูนย์รวมของส่วนราชการทั้งอำเภอ เป็นศูนย์กลางพาณิชย์ของอำเภอ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ที่ราบสูง ที่เชิงเขา มีภูเขาล้อมรอบตัดผ่านด้วยแม่น้ำลาวและแม่น้ำแม่ปูน

ภูมิประเทศ

อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงรายห่างจากตัวจังหวัดเชียงรายประมาณ 98 กิโลเมตร มีอาณาเขต ดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

มีลักษณะภูมิประเทศ 2 ลักษณะคือ

1. พื้นที่ราบ และพื้นที่ลุ่ม มีการกระจายอยู่ทุกหมู่บ้าน และมีหมู่บ้านละเล็กละน้อยเท่านั้น ส่วนมากการใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกข้าว พืชไร่ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ไม้ผล พืชผัก และใช้เป็นที่อยู่อาศัย

2. พื้นที่สูงและพื้นที่ภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติไม่มีเอกสารสิทธิ ราษฎรใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผัก และไม้ผล

ประชากรในชุมชนส่วนมากเป็นชาวลาหู่ดำและลาหู่แดง ปัจจุบันชาวลาหู่ในหมู่บ้านห้วยมะเดื่อ แบ่งเป็นกลุ่มตามการนับถือศาสนาออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มที่นับถือผี-พุทธศาสนา และกลุ่มที่นับถือคริสต์ศาสนา 

 1) กลุ่มที่นับถือผี-พุทธศาสนา

เดิมการนับถือผีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นความเชื่อหลัก โดยพื้นฐานความเชื่อของชาวบ้านในพื้นที่นี้จะนับถือ “อื่อซา” หรือเทวดาและมีความเชื่อเรื่องภูต ผี ขวัญ วิญญาณ ผสมผสานไปด้วยกัน อื่อซา ถือเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ให้กำเนิดโลกและความดีทั้งปวง จะมีการ “โบกู่” หรือสวดบูชาอ้อนวอน อื่อซา สำหรับความเชื่อเรื่องผีนั้นชาวบ้านเชื่อกันว่ามีอยู่ทั่วไป แต่ก็มีทั้งผีดี และร้าย ตั้งแต่ในบ้านเรือนไปจนทั่วบริเวณหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน เช่น ผีบ้านผีเรือน เป็นผีที่คอยให้ความคุ้มครอง ส่วนผีน้ำ ผีป่า ผีดอยและผีอื่น ๆ ที่อยู่นอกบ้าน ถือเป็นผีร้ายที่ให้โทษต่อคน ตัวอย่าง เช่น ผีบ้าน ผีเรือน ที่ชาวไทยเรียกว่าศาลพระภูมิ หรือเจ้าที่ในหมู่บ้านก็ช่วยคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวนั้น ๆ เช่นเดียวกับชาวไทยพุทธที่มีผีป่า หรือเจ้าที่เจ้าทางในป่า เหมือนกัน เมื่อคนเข้าไปทำสิ่งไม่ดีให้กับสถานที่นั้น ๆ หรือที่ชาวไทยเรียกว่าเป็นการ ลบหลู่ผีป่า ผีเขา หรือเจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่ ก็จะทำให้บุคคลผู้นั้นมีอันเป็นไป และถ้าบุคคลนั้นรู้ตัวเองว่าได้กระทำผิดไว้ แล้วได้ไปลบหลู่ที่แห่งนั้น ก็จะต้องไปหาหมอผี หรือ “โตโบ” ให้ช่วยแก้บน หรือทำพิธีตามความเชื่อ

สำหรับการนับถือพุทธศาสนาชาวบ้านในพื้นที่ได้กล่าวว่าการนับถือพุทธก็เหมือนนับถือผีซึ่งความเชื่อหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ก็เหมือนกับการนับถือผีนั้นเอง ชาวบ้านในพื้นที่ที่นับถือพุทธก็ยังคงปฏิบัติตามธรรมเนียมเดิม เช่น การทำพิธีกรรมต่าง ๆ และการสวดมนต์อ้อนวอนให้ สิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลายช่วยให้คลายความทุกข์และมอบแต่ความสุขกายสบายใจ ลักษณะการนับถือศาสนาและความเชื่อยังคงความดั้งเดิมเหมือนกับการนับถือผี โดยในพื้นที่แห่งนี้มีการสร้าง “หอเหย่” หรือสถานที่ ๆ ชาวลาหู่ที่นับถือพุทธ-ผีในพื้นที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม หอแหย่ในหมู่บ้านแห่งนี้ มีลักษณะการสร้างที่ ภายนอกเป็นการนำสังกะสีมาทำฝาผนังและมุงหลังคาภายในมีลักษณะเป็นห้องโถงความกว้างประมาณ 50 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 1 องค์และองค์เล็ก 1 องค์ มีของถวายที่ทำมาจากไม้ไผ่เรียกว่า “ค๊อตา” ที่ผ่านการทำทานอ้อนวอน “อื่อซา” มาแล้ว โดยค๊อตาจะถือว่าเป็นของสูงที่ห้ามข้ามห้ามนำไปทิ้งถังขยะ แต่จะทิ้งไว้ให้แห้งแล้วค่อยเอามาเผารวมกันนอกจากนี้ ในหอแหย่ ยังมีฆ้อง 1ชิ้น เอาไว้ตีในช่วงพิธีกรรมอ้อนวอน อื่อซา และผ้าขาวผ้าเหลืองที่มีการตัดเป็นชิ้นติดกับไม้ปักไว้ภายในแสดงถึง ความบริสุทธ์ ไร้รอยมลทิน ลักษณะพื้นเทด้วยปูนซีเมนต์ไม่มีการปูกระเบื้อง หอเหย่ แห่งนี้ตั้งขึ้นโดย “โตโบแอ้” เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมแต่ปัจจุบันได้เสียชีวิตลงแล้ว หอเหย่ ณ ปัจจุบันจึงไม่มีบุคคลที่มาดูแลอย่างจริงจัง แต่จะเป็นการดูแลกันเอง โดยชาวบ้านที่นับถือพุทธศาสนา–ผี ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง 16 หลังคาเรือนที่ยังคงศรัทธาและเชื่อถือต่อ “อื่อซา” มีครอบครัวของ นายปานุ นายจะกอ นางนาคาต่อย นางนาอื่อ นายตี๋โก๊ะนายส่าป้า นางนาแนะ เป็นต้น 

2) ผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนา

สำหรับการนับถือคริสต์ศาสนาในหมู่บ้านห้วยมะเดื่อ พบว่ามีโบสถ์คริสต์อยู่ 2 แห่ง คือ ทางฝั่งลาหู่แดงและลาหู่ดำ โบสถ์ของฝั่งลาหู่แดง มี สล่า ทำหน้าที่เป็นบาทหลวงเวลาเข้าโบสถ์ของชาวลาหู่แดง คือเวลา 11-12 นาฬิกา โดยปกติใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในการเข้าโบสถ์ สำหรับ โบสถ์ของทางฝั่งลาหู่ดำมีจะกอทำหน้าที่เป็นบาทหลวงจะแบ่งเวลาในการเข้าโบสถ์เป็น 3 ช่วง ช่วงเช้า 8-9 นาฬิกาช่วงเที่ยง 11-12 นาฬิกาและช่วงเย็น 15-16 นาฬิกาทางฝั่งโบสถ์ของลาหู่ดำจะมีการเข้าโบสถ์ ทำพิธีหลายรอบต่อวัน ซึ่งเวลานั้นขึ้นอยู่กับกฎของแต่ละโบสถ์ซึ่งสาเหตุที่มีการแยกโบสถ์เพราะเดิม ทางฝั่งลาหู่ดำมีจำนวนสมาชิกที่เยอะพอสมควร เมื่อมีผู้นับถือคริสต์ศาสนามากขึ้นจึงแยกโบสถ์ของลาหู่แดงเป็น แห่งที่ 2

ชาวลาหู่แดงที่นับถือคริสต์จะมีพิธี “ศีลล้างบาป” บุคคลที่เข้ารับศีลล้างบาปจะต้องเข้ารับ “บัพติศมา” มีความหมายว่าจุ่มมิด คือการจุ่มศีรษะลงไปในน้ำหรือการกดศีรษะลงในน้ำไม่ใช้วิธีพรมน้ำหรือเทน้ำรดศีรษะ การจุ่มสื่อถึงการตายแล้วเกิดใหม่ของพระเยซู เสมือนการชำระบาปจะมีการทำพิธีนี้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยบุคคลที่ได้รับการทำพิธีเพื่อเป็นการล้างบาป จะถือว่าเป็น“คริสต์เตียน” คือคนของพระเจ้าอย่างเต็มตัวแต่ในการทำพิธีการจุ่มน้ำนั้นไม่มีผู้ใดบังคับเป็นการสมัครใจของแต่ละบุคคลในการทำพิธี พิธีนี้จะจัดทำขึ้นในช่วงเดือน เมษายนของทุกปีและสำหรับผู้ที่เป็นคริสต์เตียนอย่างเต็มตัวจะมีกฎสำหรับบุคคลที่ล้างบาปแล้ว คือ 1) นมัสการแต่พระเจ้าเพียงผู้เดียว 2) อย่าออกพระนามพระเจ้าโดยไม่สมควร 3) วันพระเจ้า (หรือวันสำคัญทางศาสนา) ให้ถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ 4) จงนับถือบิดามารดาอย่าละทิ้งผู้ให้กำเนิด 5) อย่าฆ่าคนเพราะทุกชีวิตนั้นเหมือนลมหายใจเข้าออกของพระเจ้าและพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ชาติ 6) อย่าล่วงประเวณีการที่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงไม่กระทำผิดโดยการมีบุคคลอื่น 7) อย่าลักทรัพย์ขโมยของผู้อื่นรวมไปถึงการเบียดเบียน การกดขี่ 8) อย่านินทาว่าร้ายผู้อื่นการหลอกหลวงทั้งการปฏิบัติและคำพูด 9) อย่าคิดโลภในประเวณี 10) อย่าคิดโลภในสิ่งของผู้อื่นโดยทั้งสองนั้นหมายถึงอย่าโลภครัวเรือนของเพื่อนบ้าน อย่าโลภภรรยาของเพื่อนบ้านหรืออะไรก็ตามที่เป็นของเพื่อนบ้านซึ่งทั้งสองข้อนี้เกี่ยวกับข้อหกและข้อเจ็ด

ความเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มคนที่นับถือคริสต์ศาสนา ในหมู่บ้านห้วยมะเดื่อ

ชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้ที่มีการนับถือศาสนาคริสต์จะมีการเข้าโบสถ์ในทุก ๆ วันอาทิตย์ทางโบสถ์ก็จะมีมิสซา หมายถึง พิธีบูชาขอบคุณ เป็นพิธีของส่วนรวมในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ชาวบ้านต่างมาร่วมงานกันโดยมีทั้งวันเสาร์สำหรับบุคคลที่ติดธุระที่จะมาในวันอาทิตย์ไม่ได้จึงมาร่วมงานเป็นวันเสาร์แทนและวันอาทิตย์เป็นวันที่ชาวบ้านจะมาร่วมเข้าโบสถ์กันเป็นจำนวนมากอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดโดยมีสล่า เป็นผู้เริ่มทำพิธีตั้งแต่เวลา 11-12 นาฬิกา โดยปกติใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในพิธีชาวบ้าน ขอพรอธิษฐานในสิ่งที่ตนนั้นได้กระทำลงไปทั้งดีหรือไม่ดีการที่อธิษฐานกับพระเจ้าบ่อย ๆ เข้าโบสถ์และรักษาบัญญัติ 10 ประการเสมอ

ชาวคริสต์จะมีวันคริสต์มาสเป็นวันสำคัญวันหนึ่งโดยมีต้นคริสต์มาสที่หมายถึงต้นไม้ในสวนสวรรค์ จะจัดขึ้นในแต่ละปีช่วงเดือนธันวาคมที่ชาวบ้านมีการจัดงานภายในหมู่บ้านและมีกิจกรรมให้เข้าร่วมเล่นเกมต่าง ๆ เช่น แข่งกันรับประทานอาหาร เป่าลูกโป่ง ปิดตารับประทานอาหาร เก้าอี้ดนตรี ในกิจกรรมจะมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ร่วมกันทำกิจกรรมอย่างสนุกสนานถือว่าเป็นวันสำคัญของชาวคริสต์ทั้งปวงเพราะเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซูและมีการแลกของขวัญกันภายในโบสถ์ซึ่งชาวบ้านก็ต่างไม่ได้เน้นราคาและสิ่งของมากนักส่วนมากจะเป็นขนมและของใช้ และประดับประดาตกแต่งโบสถ์ด้วยแสงไฟอย่างงดงามความเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมประเพณีนั้นมีทั้งไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยยังมีการผสมผสานกับทาง ผี-พุทธและเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง 

วัฒนธรรมประเพณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือประเพณีปีใหม่หรือ เขาะจาเว ที่ยังคงยึดถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะพิธีกรรมดำหัวผู้ใหญ่ ที่ชาวบ้านในพื้นที่จะนำของถวายได้แก่ เนื้อหมู ขนม ข้าวปุ๊ หรือ อ่อผุที่นำมารวมกันใต้ต้น เขาะแจ่ ซึ่ง “เขาะแจ่” หรือต้นวอเป็นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีในพิธีกรรมเช่นกัน และปฏิบัติเช่นนี้มาจนเป็นวัฒนธรรมและประเพณี สำหรับวัฒนธรรมและประเพณีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปบางส่วนจะเป็นไปในทางของผู้ทำพิธีด้านศาสนาความเชื่อ ความศรัทธา ที่ผู้ทำพิธีนั้นปฏิบัติ และ ที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงคือประเพณีที่ไม่มีพิธีกรรมและวัฒนธรรมเดิมหลงเหลืออยู่คือประเพณีปอยหลวงและวันคริสต์มาส

ลาหู่

ลักษณะการปกครองภายในหมู่บ้านห้วยมะเดื่อ มีรูปแบบการปกครองภายในครอบครัวและการปกครองภายในหมู่บ้านซึ่งการปกครองภายในครอบครัวนั้นในหนึ่งครอบครัวประกอบด้วยผู้เป็นพ่อ จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวทำงานหาเลี้ยงครอบครัว คอยดูแลทุกข์สุขบุคคลภายในครอบครัวคอยอบรมสั่งสอนลูกโดยความเป็นเพศชาย พ่อคือตัวแทนของอำนาจในบ้าน มีลักษณะเด็ดขาด เป็นบุคคลที่จะสร้างวินัยแก่ลูก และคอยดูแลให้ลูกปฏิบัติตามกฎอย่างสม่ำเสมอเป็นคนที่มีวินัย ให้สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดีผู้เป็นแม่จะทำหน้าที่คอยดูแลบุคคลภายในบ้านทำงานในบางส่วนเกี่ยวกับการเกษตรอย่างเช่น เก็บถั่วแดง ปลูกผัก ช่วยเก็บผลผลิต และดูความเรียบร้อยภายในบ้านรวมไปถึงการดูแลเรื่องของอาหารการกิน เช่น การหุงข้าว ในช่วงเช้า ช่วงบ่าย และช่วงเย็น การปกครองภายในครอบครัวจะปกครองแบบประชาธิปไตย ชายหญิงมีสิทธิ์เท่าเทียมกันผู้หญิงจะมีสิทธิ์เป็นผู้นำก็ได้เหมือนกับผู้ชายโดยปกติแล้วจะอยู่ร่วมกันทั้งครอบครัว มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ภายในหนึ่งครอบครัวจะมีสมาชิกอยู่หลายคน คือ พ่อแม่ลูกหลานและผู้เฒ่าผู้แก่คอยช่วยดูแลลูกหลานในยามที่พ่อกับแม่ไปทำงาน 

ลักษณะการปกครองภายในหมู่บ้านผู้นำหมู่บ้านมีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ดูแล คอยสอดส่องดูแลหมู่บ้านให้เกิดความสงบสุข ชักจูงให้ลูกหลานร่วมปฏิบัติงานของส่วนรวม อบรมสั่งสอนทั้งหลักความเชื่อศาสนา ประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ ภายในชุมชนบุคคลที่ชาวบ้านให้การนับถือเป็นผู้นำ มีดังต่อไปนี้ นายอาหยี คะเซดำรงตำแหน่ง “อาดอ”หมายถึงผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำหมู่บ้านในด้านการปกครอง รวมถึงจารีต ประเพณี วัฒนธรรม เป็นผู้มีความประพฤติดี เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากชาวบ้าน นายอะโหล่ และ นายจะกอ ดำรงตำแหน่ง “โตโบ” หมายถึงผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ เป็นตำแหน่งผู้นำศาสนาภายในหมู่บ้านของชาวลาหู่ ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ติดต่อสื่อสารระหว่างคนกับ “อื่อซา” คือเทวดาที่มีอำนาจรักษาโรคภัยไข้เจ็บและอบรมสั่งสอนคนในหมู่บ้านให้เป็นคนดีรู้จักขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรมของชาวลาหู่ และเป็นผู้ที่มีความประพฤติอยู่ในศีลธรรม ไม่กระทำความผิด เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่ง “อาจา” เป็นตำแหน่งของผู้ชายลาหู่ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการติดต่อประสานงาน แลกเปลี่ยน เผยแพร่ประเพณี วัฒนธรรม เป็นผู้ที่คอยให้ความเป็นธรรมเมื่อเกิดเรื่องขัดแย้งต่าง ๆ แต่ละฝ่ายจะทำงานไม่ก้าวก่ายกันและกัน เช่น ผู้นำศาสนาก็จะไม่พูดเรื่องคดีความต่าง ๆ แต่จะพูดเรื่องบาป เรื่องกรรม เรื่องบุญ และความถูกผิดตามจารีตประเพณีที่ชาวลาหู่ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันเรื่องบางอย่างก็ไม่สามารถปฏิบัติได้เช่นในอดีตมากนัก เช่น เรื่องการตัดสินใจในคดีความต่าง ๆ ถ้าหากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ในชุมชนก็จะต้องไปถึงกำนัน หรือตำรวจแทน

สังคมของชาวลาหู่ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยมะเดื่อ เป็นสังคมที่ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยมีความเชื่อสังคมและวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ในรูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย และ ความเหมาะสม เปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญงอกงาม และสืบต่อกันมาที่ มิได้เน้นเฉพาะชนกลุ่มเดียวเท่านั้นแต่รวมถึงชนกลุ่มอื่น ๆ ที่มีเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมบางอย่าง โดยชาวลาหู่มีวัฒนธรรมดั้งเดิมคือการนับถือผี หรือ “อื่อซา” หรือเทวดา เชื่อกันว่าจะบันดาลให้ทุกคนสมบูรณ์พูนสุข ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ อื่อซาคือบุคคลที่ชาวลาหู่นับถือและศรัทธาเป็นอย่างมาก

วัฒนธรรมประเพณี ปีใหม่ หรือกินวอ (เขาะจาเว) ปลายเดือนมกราคม หรือเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่บรรดาญาติมิตร ได้กลับมาร่วมงานกันที่บ้านอย่างพร้อมเพรียงเรียงหน้า ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลเมื่อทราบว่าทางหมู่บ้านมีการจัดงานดังกล่าวก็จะกลับมาร่วมกัน เทศกาลของชาวบ้านค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองทุกหลังคาเรือน ในหมู่บ้านก็ต้องทำการบูชา และสวด “โบกู่” หมายถึงการสวดอ้อนวอนขอพรจาก “อื่อซา” อุทิศผลผลิตที่ได้ในรอบปีนั้น ๆ ให้แก่ “อื่อซา” ได้รับประทาน และเพื่อได้รับรู้ รับทราบ ประกอบกับขอโชคลาภในปีต่อไป เช่น ในปีนี้ ได้ผลผลิตเท่านี้ทำถวายให้ท่านอื่อซา หนึ่งถ้วยหนึ่งจาน ถวายแด่ท่านอื่อซารับประทาน และได้รับรู้ ปีหน้าหากจะขอผลผลิตให้ได้เก้าเท่า ก็ถวายเก้าถ้วยเก้าจาน เป็นต้น นอกจากนี้ ในงานเลี้ยงวันปีใหม่ของชาวลาหู่ จะมีการใช้ หมูดำ เป็นหลักในการสังเวยและการเลี้ยงกัน กล่าวคือ จะมีการฆ่าหมู แล้วเอาส่วนที่เป็นเนื้อหมูและหัวของหมู นำไปเซ่นสังเวยต่อ “อื่อซา” พร้อมกับข้าวเหนียวนึ่งที่นึ่งแล้วมาตำให้เหนียว เมื่อเสร็จแล้วก็ปั้นให้เป็นก้อนกลม ๆ เรียกว่า "อ่อผุ" บางที่จะได้ยินเรียกกันว่า "ข้าวปุ๊ก" แล้วจึงนำเนื้อหมูดังกล่าว มาปรุงหรือทำเป็นอาหารเลี้ยงกันอย่างเต็มที่เป็นเวลา 7-10 วันในการกินเลี้ยงกันตลอดพิธีกรรมธรรมเนียมของชาวลาหู่ ที่นับถือผี ยังมีธรรมเนียมเรื่องการ “ถือศีล” ในทุก ๆ 15 วัน “วันศีล” ของชาวลาหู่จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ อีกทั้งในช่วงประเพณี “เขาะจาเว” หรือปีใหม่ของชาวลาหู่ จะมีการถือศีลในช่วงวันที่ 3 ของประเพณีปีใหม่ด้วยการถือศีล หมายความว่าจะต้องงดการกินเนื้อสัตว์ การฆ่าสัตว์ การดื่มเหล้า เป็นต้น มีความเชื่อว่าเป็นวันพักผ่อนของกลุ่มคนที่นับถือผีที่ปฏิบัติสืบ ๆ ต่อกันมาผู้เฒ่าผู้แก่มีการอบรบสั่งสอนให้มีการปฏิบัติติตาม

นอกจากนี้ยังมีประเพณีการทำบุญสะเดาะเคราะห์ เมื่อชาวบ้านได้รับเคราะห์ หรือมีการเจ็บป่วยไม่สบายกายและใจ ก็จะได้จัดเตรียมสิ่งของเพื่อไปให้ผู้นำทางศาสนาทำพิธี ซึ่งชาวบ้าน เรียกว่า “ค๊อตาเตเว่” คือ การไปตัดไม้ไผ่มาผ่าซี้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และมามัดรวมกันและนำสำลีมาโป๊ะไว้ด้านบนเพื่อมาทำเป็นของทานให้ แก่อื่อซา โดยเครื่องมือเหล่านี้จะมีผู้บอกวิธีการทำคือ “ลาซ่อ” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการเครื่องมือในการประกอบพิธีกรรม เพื่อนำไปไห้ผู้นำทางศาสนา หรือที่เรียกว่า “โตโบ” เพื่อสวดขอพรให้หายจากเคราะห์ร้ายต่าง ๆ หรือเคราะห์ที่จะมาถึง และมัดมือด้วยสายสินธุ นอกจากนี้ยังมีสิ่งของที่จะต้องเตรียมเพื่อนำไปประกอบการทำพิธีกรรม ได้แก่

1) เทียน ถือว่าให้นำไปจุดเพื่อ แสงสว่างในการประกอบพิธีกรรมในแต่ละครั้ง

2) สำลี หรือ ฝ้าย สำลีต้องเป็นสีขาว ชาวลาหู่ถือว่า สำลีหรือฝ้ายนี้ จะไป รับคำพูดที่เคยพูดไม่ดี หรือพูดให้ร้ายแก่ผู้อื่น

3) ผ้าขาว เพื่อความสะอาดและความบริสุทธิ์ ผ้าจึงต้องเป็นผ้าสีขาว

4) น้ำ เพื่อนำไปล้างมือผู้นำศาสนาหรือโตโบ

5) ด้าย การทำพิธีจะต้องเป็นด้ายขาวเหมือนกัน สำหรับด้ายนี้ เมื่อโตโบทำพิธีเสร็จก็เอาผูกข้อมือหรือห้อยคอ เพื่อป้องกันอันตรายสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ที่นำไปทำประกอบกับเครื่องมือ ในการประกอบพิธีกรรมนั้นจะต้องเป็นสีขาว เท่านั้น จะใช้สีขาวเป็นสื่อแสดงความบริสุทธ์ และมีประเพณีวันศีลทุก ๆ 15 วันของเดือนชาวบ้านจะมีการทำ “ค๊อตา” ทำถวายแด่อื่อซา หรือเทวดาใน หอเหย่ และภายในบ้านของตนชาวบ้านที่นับถือพุทธหรือผีจะมี “ค๊อตา” ภายในบ้านโดยในเช้าของวันศีลจะต้องหุงข้าวใหม่ห้ามนำข้าวที่เหลือค้างคืนเด็ดขาด และห้ามมีการชิมหรือกินก่อนเด็ดขาดมีความเชื่อคือต้องนำไปถวายแก่ “อื่อซา”หรือเทวดาก่อนที่จะมีการรับประทานอาหารกัน และจะต้องงดการกินเนื้อสัตว์ การฆ่าสัตว์ การดื่มเหล้าในวันศีลเป็นเวลา 1 วันและห้ามออกไปทำงานเป็นวันพักผ่อนครอบครัว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในชุมชนสื่อสารกันด้วยภาษาไทยกลาง ภาษาไทยท้องถิ่นภาคเหนือหรือคำเมือง และภาษาลาหู่หรือภาษามูเซออยู่ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า เดิมไม่มีระบบการเขียนจนมิชชันนารีชาวตะวันตกพัฒนาระบบการเขียนด้วยอักษรโรมัน


วิถีชีวิตหลังการเปลี่ยนแปลงศาสนาของชาวลาหู่ที่นับถือคริสต์ปัจจุบันมีผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนา 200 กว่าหลังคาเรือนภายในหมู่บ้าน หลังจากที่มีการเปลี่ยนศาสนาวิถีชีวิตก็มีการเปลี่ยนแปลงไปได้แก่

1) การแสดงความเคารพด้วยการไหว้เปลี่ยน เป็นการจับมือกัน (shake hand) เมื่อเจอกันแสดงความยินดีหรือเมื่อพบกันหรือจากกันโดยจะใช้มือขวาในการจับมือเพราะถือเป็นการแสดงความเคารพต่ออีกฝ่ายด้วย ควรยืนและยืดตัวตรงก่อนแล้วค่อยยื่นมือนอกจากนี้ก็ควรสบตาอีกฝ่ายและยิ้มอย่างจริงใจ ให้ดูมีความสุข

2) การนับถือการบูชาพระเจ้า และความเชื่อที่ต้องเข้าโบสถ์ทุก ๆ วันอาทิตย์ร้องเพลงสรรเสริญ อธิษฐานขอสิ่งต่าง ๆ และฟังเทศนา แง่มุมต่าง ๆ ที่สล่าจะบอกเล่าให้แก่ชาวบ้านได้ฟังและรับรู้ในเรื่องของพระเจ้า

3) การเข้านอน ก็จะมีการอธิษฐานขอพรถึงพระเจ้าเพื่อความสบายใจของตนเองซึ่งก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคลว่าการขอพรจากพระเจ้าก่อนนอนจะทำให้จิตใจเรานั้นไม่กระวนกระวายสงบและหลับไปอย่างเต็มอิ่ม

4) การรับประทานอาหารมีการก้มและอธิษฐานกล่าวขอบคุณพระเจ้าสำหรับอาหารที่ท่านประทานให้ทุกมื้อจะกล่าวในใจว่าข้าแต่พระบิดาเจ้าผู้เป็นที่รัก ขอบพระคุณพระองค์สำหรับอาหารที่ได้ที่พระองค์ประทานให้แก่ข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงชำระอาหารนี้ให้สะอาดและบริสุทธิ์ และอวยพรให้อาหารนี้เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ขอบพระคุณพระองค์ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ “อาเมน” และกล่าวขอบคุณอีกครั้ง 

5) การเรียนศีลมหาสนิทคือ พิธีกรรมเพื่อร่วมสนิทกับพระเยซู โดยการรับประทาน ขนมปัง (สัญลักษณ์แทนพระกายของพระองค์) และน้ำแดงแทนไวน์แดง (สัญลักษณ์แทนพระโลหิต) การประกอบพิธีศีลมหาสนิท เพื่อให้ชาวคริสต์ระลึกถึงคุณของพระเจ้า เพื่อการประกาศยอมรับว่าพระเจ้าได้สถิตอยู่ในกายตน เพื่อแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ และเพื่ออยู่ร่วมกันด้วยความรักในประชาคมเดียวกัน ศีลมหาสนิทมีที่มาจากเหตุการณ์ก่อนพระเยซูถูกจับกุมไปตรึงกางเขน ตรงกับคืนวันพฤหัสบดี มีการรับประทานอาหารร่วมกับอัครสาวกสิบสององค์ อันเป็นพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายในการรับประทานอาหารครั้งนั้นอยู่ในช่วง ปัสกา มีเพียง ขนมปัง และน้ำแดงแทนการใช้ไวน์แดง ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพันธะสัญญาใหม่ ในการไถ่บาปด้วยเนื้อและเลือดของพระเจ้าและพิธีการรับศีลล้างบาป มีเครื่องหมายที่สำคัญคือการใช้น้ำศีลล้างบาปท่องศีลมหาสนิททุกครั้งเพื่อท่องในการล้างบาปทุกครั้งที่มีพิธีการล้างบาปผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ทุกคนต้องผ่านพิธีรับศีลนี้ก่อน เพื่อแสดงว่าตนเองได้เข้ามาเป็นสมาชิกคริสต์เตียนแล้ว จึงจะสามารถรับศีลอื่น ๆ ต่อไปได้อีก การรับศีลล้างบาปนี้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในชีวิตแม้ว่าจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น แต่ถ้ากลับมานับถือศาสนาคริสต์อีกก็ไม่ต้องรับศีลนี้ เพราะถือได้ว่าทำการล้างบาปแล้ว ทั้งนี้เชื่อกันว่ามีบาปกำเนิดติดตัวมาตั้งแต่เกิดสืบมาแต่บรรพบุรุษ ซึ่งตามพันธะสัญญาเดิม และมีการกินเจก่อนมีพิธีปัสกา

ประเพณีที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน คือ การทำบุญสะเดาะเคราะห์พิธีกรรมของทางคริสต์การทำบุญเพื่อการสะเดาะเคราะห์และเพื่อความสบายใจ ในพิธีกรรมส่วนใหญ่ชาวบ้านจะมีการทำอาหารเช่น เมนูต้มไก่ ขนมเส้น และข้าวต้มใส่ไก่ หรือ “อ่อแนะ” ที่ชาวบ้านเรียกกันมักนิยมทำกันก่อนที่จะมีการรับประทานอาหารจะมีการขอบคุณก้มกราบอธิษฐานก่อนรับประทานอาหารร่วมกัน และพิธีการกินข้าวใหม่จะจัดขึ้นราวเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นการนำพืช ผักเกษตรโดยเฉพาะข้าว ข้าวใหม่ และส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น แตงกวา เผือก ข้าวโพดผลผลิตที่ตนได้ปลูกไว้ ไปให้แต่ละบ้านเป็นการแลกเปลี่ยนกันในแต่ละปีนั้น และมีการกินเลี้ยงกันทั้งวันทั้งคืนโดยในช่วงเช้าจะมีการรดน้ำดำหัวขอพรบุคคลที่เขานับถือหรือบุคคลที่เป็นผู้อาวุโสโดยเตรียม 1) น้ำใส่ขวดหรือใส่ภาชนะนำไปล้างมือให้แก่บุคคลที่เรานับถือ หรือผู้อาวุโส 2) ของที่จะนำไปถวายอย่างเช่น ขนม น้ำผลไม้ กระเช้า และยังมีประเพณีแซก่อ (ก่อทราย) จัดขึ้นในทุก เดือนเมษายนของทุกปีโดยการนำเอากระบอกไม้ไผ่ที่ประดับไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับตามฤดูกาลเพื่อที่จะนำมาทำพิธีกรรม เตรียมเมล็ดข้าว ข้าวโพด ทราย เทียน มาจุดในที่ทำพิธีเคารพ โดยมีผู้เฒ่าเป็นผู้ทำพิธีพูดบทสวดอุทิศส่วนกุศล และขอขมาขอบคุณสวดและทุกคนต้องกำข้าวสารไว้ในมือเมื่อผู้ทำพิธีหรือผู้เฒ่าผู้แก่เริ่มสวดจะโปรยก่อน 1 รอบ ผู้เฒ่าผู้แก่จะพูดว่า “ส่า” “ขอให้บ้านเรือนอยู่เย็นเป็นสุขพ้นภัยอันตรายทั้งปวงพบแต่ความสุขได้ตามที่ตนปรารถนาและอุทิศบุญกุศลนี้แก่บุพการีที่ล่วงลับไปแล้วรวมไปถึงขอให้หมู่บ้านแห่งนี้พบแต่ความสุขและความเจริญ ” หลังจากที่พูดเสร็จ ก็โปรยข้าวสารอีกรอบทำพิธีเสร็จก็จะนำดอกไม้ที่ประดับไว้กับกระบอกไม้ไผ่หรือเทียนกลับมาจุดและไว้ที่บ้านของตนเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนและบุคคลภายในบ้าน

ประเพณีที่มีเพิ่มเข้ามาคือประเพณีปอยหลวงที่จัดขึ้นทุกปีโดยภายในงานจัด เพื่อเป็นการรวมตัวกันของชาวลาหู่ที่นับถือคริสต์มารวมตัวกันในงานจะประกอบไปด้วยการแสดงต่าง ๆ นักร้องและมีการเผยแพร่การพูดถึงหลักคำสอนของพระเยซูเมื่อปีล่าสุดเมื่อเดือน มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ หมู่บ้านแม่ไห๊พัฒนา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ประเด็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงศาสนาของชาวลาหู่ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยมะเดื่อ

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยด้วยกันคือ ปัจจัยภายในและปัจจัยด้านภายนอก

ปัจจัยภายใน: ความเชื่อความศรัทธาในเรื่องของศาสนาก่อให้เกิด ทั้งปัจจัยภายในที่ประกอบด้วยปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมและความเชื่อส่วนบุคคลและปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ

1) ปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมเละความเชื่อส่วนบุคคลเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองและเกิดความเชื่อขึ้นมาจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงศาสนาขึ้นเช่น นางสาวสุวานี สกุนาพรรณเดิมนับถือศาสนาพุทธหรือผีได้เล่าว่าตั้งแต่เกิดมาก็เกิดอาการไม่สบายตลอดเป็นอันเจ็บป่วยตลอดเวลา รวมไปถึงแม่ของนางสาวสุวานีที่มีอาการเจ็บป่วยตลอด คืออาการที่หายจากอย่างหนึ่งก็เป็นอย่างหนึ่ง โรคภัยคุกคามตลอดเวลาร่างกายไม่แข็งแรงเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้งโดยพี่สาวของสุวานี มีการเปลี่ยนศาสนาก่อนเดิมนับถือพุทธหรือผีเนื่องจากมีความเชื่อส่วนบุคคลที่เกิดเหตุการณ์กับพี่สาวของ สุวานี เกิดอาการตั้งครรภ์ตั้งแต่ท้องแรกจนถึงท้องที่สามก็มีอาการแท้งลูกตลอดเข้าโรงพยาบาลก็ไม่พบสาเหตุ เลยเกิดความเชื่อและในช่วงแรกก็มีการปรึกษากับสามีผู้ชายก่อนเกี่ยวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงเกิดการเปลี่ยนศาสนาและในช่วงแรกก็ไม่ได้มีความเชื่อมาก พอเวลาผ่านไปก็ตั้งครรภ์อีกครั้งจนมาถึงปัจจุบันลูก 2 ปัจจุบันทั้งแม่และลูกร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ และ เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวจากการเล่าปากต่อปากจากทั้งคนไกลและคนใกล้แม่ของสุวานีจึงเปลี่ยนตามและก็พบว่าสุขภาพของตนนั้นดีขึ้นจากที่ไม่สบายบ่อยครั้งก็ดีขึ้นและปัจจุบันสุขภาพก็ดีขึ้นมากเป็นการบอกต่อปากต่อปากในเหตุการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนให้ผู้อื่นได้รับรู้โดยการเล่าจากปากต่อปากกันการอธิษฐานเมื่อเกิดความไม่สบายใจหรือขอสิ่งต่าง ๆ กับพระเจ้าให้ลูกมีแต่ความสุขพบแต่สิ่งดี ๆ จากการอธิษฐานต่อพระเจ้า 

2) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ จากบทสัมภาษณ์กับนางนวลจันทร์ ซึ่งมีอาชีพการทำการเกษตร หมุ่นเวียนแต่ปีที่ผ่านมาได้มีการปลูกถั่วแดงนางนวลจันทร์ ได้เล่าว่า ในปีที่ผ่านมาปลูกถั่วได้ราคาดีมากและถั่วก็มีลักษณะที่สวยงามน้ำหนักดีเพราะตนนั้นได้ขอพรต่อพระเจ้าว่า ถ้าหากปีนี้ปลูกถั่วแดงได้ราคาดีหรือน้ำหนักดีจะทำนุบำรุงโบสถ์คริสตจักรให้ดีขึ้นจากการที่ตนได้กล่าวนั้นทำให้เกิดผลดังหวัง นางนวลจันทร์จึงมีการทำการปรับปรุงโบสถ์โดยการซื้อปูนและอิฐบล็อคให้แก่ สล่าเพื่อจะนำไปปรับปรุง และคาดหวังว่าทุก ๆ ปีผลผลิตจะดีขึ้นผลผลิตได้ตามที่คาดหวังไว้ในปีถัดไปและชาวบ้านในพื้นที่ยังมีความเชื่ออีกว่าการปลูกข้าวในแต่ละปีนั้นชาวบ้านจะนิยมปลูกกันในพื้นที่สูงปลูกกันเป็นจำนวนมากมีความมีเชื่อกันอีกว่าหากการปลูกข้าว ข้าวมีลักษณะใบเหลืองต้นแคะครอบครัวนั้นจะพากันไปไร่ข้าวและทำพิธีขอพร โดยขอพรและขอขมา มีการฆ่าไก่ ขั้นตอนการฆ่าไก่นั้น ขั้นแรก จะใช้วิธีการฆ่าโดยการบีบคอไก่ หรือจะเชือดแล้วแต่ผู้ทำพิธีและกล่าวขอขมา เป็นอันเสร็จสิ้นหลังจากนั้นก็ต้มไก่และรับประทานกันตรงนั้นโดยไม่เอากลับบ้านเชื่อกันว่าเมื่อได้ทำพิธีแล้วสิ่งที่ขอจะทำเป็นจริงไม่มากก็น้อยที่จะเกิดผลลัพธ์นั้นก็ถือว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคลอีกเช่นกันและจะเห็นได้ว่าพิธีกรรมของการนับถือผีพุทธก็ยังมีอยู่บ้างในชุมชนแห่งนี้ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ได้ทำกันมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน

ปัจจัยภายนอก: การศรัทธาในเรื่องของพระเจ้าก่อให้เกิด ทั้งปัจจัยภายนอกที่มีผู้นำศาสนาจากแหล่งต่าง ๆ ที่เป็นบุคคลที่นับถือพระเจ้าและสื่อต่าง ๆ ที่เข้ามามีปัจจัยกับทางชุมชนแห่งนี้

1) มีผู้นำทางศาสนาจากทางอื่นเช่น ทางฝั่งที่อาศัยอยู่ทางพม่า หนองเต่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่เข้ามาให้ข้อมูลในเรื่องของพระเจ้าสรรเสริญ อธิษฐาน และพูดถึงหลักคำสอนพระเจ้าได้ทรงทำอะไรให้กับปวงชนในด้านศาสนากับชาวบ้านชาวบ้าน เรียกว่า แทนชื่อว่า สล่า มาเป็นผู้ที่จะทำพิธีโดยสล่าจะเริ่มพูดถึงเรื่องราวพระเยซูว่าพระเยซู ทรงเป็น “บุตรที่รัก” ผู้ที่ พระองค์ที่โปรดปรานมากจากนั้นพระเยซูเสด็จลงมาและเป็นพยานถึงการพลีพระชนม์เพื่อการชดใช้บาปที่ปวงชนได้กระทำ ทรงเชื้อเชิญผู้คนให้รู้แน่แก่ใจว่าพระองค์ทรงเป็นพระคริสต์โดยออกมาสัมผัสรอยแผล และรอยตะปูที่มือและเท้าของพระองค์พยานเหล่านี้แสดงไว้โดยไม่ต้องสงสัยว่าการชดใช้ของพระเยซูเสร็จสมบูรณ์และพระบิดาทรงทำตาม พันธสัญญาของพระองค์ว่าจะประทานพระผู้ช่วยให้รอด ความสุขของพระบิดา ซึ่งมีให้ได้เพราะการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและการศรัทธาพระเจ้าเพียงองค์เดียวและการกลับใจเมื่อเราทำผิด การขอต่อพระเจ้าเชื่อว่าพระเจ้าจะให้อภัยแก่ตนและกลับใจเป็นคนดี โดยสล่าจะสอนหลักคำสอนของพระคริสต์ให้แก่ชาวบ้านเพราะเชื่อทุกคนล้วนแต่มีบาปกรรมทั้งนั้นอยู่ที่จะมากหรือน้อยทำให้ชาวบ้านเกิดความรักแก่พระเจ้านั้นเอง

2) สื่อบุคคลในสมัยก่อนไม่มีสื่อที่ติดต่อได้ง่ายเหมือนสมัยนี้การเผยแพร่หลักคำสอนจึงเป็นการเดินทางมาจากต่างแดนในเวลาที่นานพอสมควร แต่ในสมัยนี้มีทั้งสื่อและยานพาหนะในการเดินทางจึงง่ายต่อการเข้ามาพบปะ ในระหว่างทางจะพบป้ายที่เขียนถึงพระเจ้าว่า“พระเจ้าผู้สร้างโลก” นั้นแสดงถึงความรักที่ชุมชนนั้นมีต่อพระเจ้า และสื่ออื่น ๆ เช่น โทรทัศน์เป็นสื่อที่ทุกครัวเรือนมีในปัจจุบันที่สามารถพบได้ในปัจจุบัน ผู้ชักนำที่มาจากต่างแดน เช่น หนองเต่า ที่เดินทางมาจัดกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาการศรัทธาในพระเจ้า ก่อนที่จะมีบุคคลนี้เข้ามาต้องมีการขออนุญาตกับทางผู้ใหญ่บ้าน และบุคคลสำคัญในหมู่บ้านเพื่อความสะดวกต่อการจัดกิจกรรมที่ถ่ายทอดสาระความรู้ แนวคิดและประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ตนได้พบเจอความเชื่อความศรัทธาไปสู่บุคคลอื่นหรือสื่อกิจกรรมต่าง ๆ เช่นวันคริสต์มาสซึ่งเป็นวันสำคัญที่จะรวมตัวกันของชาวคริสต์ในหมู่บ้านเพื่อเฉลิมฉลองและจัดกิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลินใจกับบุคคลในหมู่บ้าน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2556). มูเซอ. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. (2541). ชาวเขา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งศิลป์.

จริยา แซก๋อย. (2561). การเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนาจากพุทธศาสนาสู่คริสต์ศาสนาของชาวลาหู่ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยมะเดื่อ ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย. สารนิพนธ์ปริญญาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

ทัศนี ศรีมงคล. (2546). วัฒนธรรมของชุมชนโครงการหลวง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้น.

องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงป่าเป้า. (2566). ข้อมูลทั่วไป. เข้าถึงจาก https://www.tambonwiang.com/sourceFiles.php?file=info