บ้านหนองครอบเป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์มอญในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีประวัติความเป็นมาและความเชื่อในเรื่องความเป็นมาของชาติพันธุ์ของตนเองว่าเป็นชาวมอญที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญในสมัยหริภุญชัย และอาศัยอยู่ที่นี้มานานพร้อม ๆ กับการกำเนิดของพระนางจามเทวีตามตำนานโยนก ทั้งนี้ ชาวมอญในปัจจุบันยังคงสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมของชาวมอญ รวมทั้งมีภูมิปัญญาที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น สุราท้องถิ่น
ชื่อบ้านหนองครอบมีที่มาจากสถานที่ตั้งของชุมชนที่มีลักษณะคล้ายหนองน้ำ
บ้านหนองครอบเป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์มอญในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีประวัติความเป็นมาและความเชื่อในเรื่องความเป็นมาของชาติพันธุ์ของตนเองว่าเป็นชาวมอญที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญในสมัยหริภุญชัย และอาศัยอยู่ที่นี้มานานพร้อม ๆ กับการกำเนิดของพระนางจามเทวีตามตำนานโยนก ทั้งนี้ ชาวมอญในปัจจุบันยังคงสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมของชาวมอญ รวมทั้งมีภูมิปัญญาที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น สุราท้องถิ่น
ความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นมาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตำนานพื้นบ้าน และเอกสารสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทำให้ชาวมอญในอำเภอสันป่าตองมีความเชื่อในเรื่องความเป็นมาของชาติพันธุ์ของตนเองว่าเป็นชาวมอญที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญในสมัยหริภุญชัย และอาศัยอยู่ที่นี้มานานพร้อม ๆ กับการกำเนิดของพระนางจามเทวีตามตำนานโยนก ปัจจุบันชาติพันธุ์มอญหรือเม็งในเขตอำเภอสันป่าตอง มีอยู่เพียง 2 หมู่บ้าน คือหมู่บ้านหนองครอบ และบ้านกอโชค และอีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตอำเภอป่าซางจังหวัดลำพูน คือ บ้านหนองดู่ บ้านเกาะกลาง และบ้านหนองผำ
เมื่อชนชาติมอญเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่คงมีความคุ้นเคยกับเส้นทางในการเดินทางได้ดีและมีการติดต่อกันอยู่เสมอมา อีกทั้งเป็นชนชาติที่มีความผูกพันในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจึงทำให้มีการอพยพเข้ามาหลายระลอก สอดคล้องกับความเชื่อของชนชาติมอญฝนเขตอำเภอสันป่าตองและอำเภอป่าซางซึ่งบอกว่ามอญที่นี่เป็นมอญไหล หมายถึงชาวมอญที่อาศัยอยู่ที่นี่มานานตั้งแต่สมัยหริภุญชัยแต่มีการเดินทางติดต่อไปมาหาสู่กับชาวมอญในพม่าอยู่ตลอดเวลา
แต่เดิมบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนแต่เดิมมีทั้งคนลัวะและคนมอญหรือเม็งอาศัยอยู่ จึงมีคำเรียกแม่น้ำปิงว่าแม่น้ำระมิงหรือแม่น้ำเม็ง แต่ประชากรชาวมอญมีน้อยกว่าลัวะ แต่ก็ยอมรับความเป็นชนต่างชาติพันธุ์ ต่อมาเม็งหรือมอญก็ค่อย ๆ หายไป คงเหลือร่องรอยหมู่บ้านเม็งไม่กี่แห่ง เช่น สันนาเม็ง ร้องเม็ง อุเม็ง (อุมเม็ง) แต่หมู่บ้านเหล่านี้ไม่มีสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวมอญอยู่เลย อาจจะเป็นเพราะถูกผสมกลมกลืนกับคนพื้นเมือง เหมือนชนเผ่าอื่น ๆ
ชาติพันธุ์มอญหรือเม็งในอำเภอสันป่าตอง มีอยู่ 2 หมู่บ้านคือบ้านหนองครอบ มีจำนวน 281 ครอบครัว จำนวนประชากร 931 คน และบ้านกอโชคหรือบ้านต้นตัน มีจำนวน 218 ครอบครัว จำนวน 751 คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอป่าซางอีก 2 หมู่บ้านคือบ้านหนองดู่และบ้านเกาะกลาง ประมาณ 270 ครอบครัว มอญทั้ง 4 หมู่บ้านนี้เป็นชาวมอญที่มีความเป็นมาของชาติพันธุ์ในกลุ่มเดียวกัน ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษาพูดภาษาเขียน ตลอดจนประวัติความเป็นมาและความเชื่อเหมือนกัน มีความผูกพันกันเสมือนบ้านพี่บ้านน้องกันไปมาหาสู่ รักใคร่กลมเกลียวกันเป็นอย่างดี เพียงพื้นที่การอยู่อาศัยคนละฝั่งของน้ำปิง ที่กั้นเขตแดนระหว่างเชียงใหม่และลำพูนเท่านั้นเอง ปัจจุบันชาวมอญกลุ่มนี้รวมมีจำนวน ประมาณ 600 ครอบครัว และที่มีความรู้ในการพูดและเขียนภาษามอญมีเหลือประมาณ ร้อย 40 ของประชากร ชาวมอญที่มีอายุน้อยกว่า 40 ลงมาไม่ค่อยรู้ภาษามอญแล้ว เนื่องจากความเปลี่ยน ด้านสังคม เศรษฐกิจ และระบบการศึกษา ที่ทำให้ชาวมอญต้องปรับตัวเองเข้ากับความเปลี่ยนแปลงเหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในสังคมเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ชาวมอญรุ่นหลังจึงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมด้านอื่นของตนเองเท่าที่ควร เนื่องจากมอญในอำเภอสันป่าตองและอำเภอป่าซางจังหวัดลำพูนมีความเกี่ยวพันกันอยู่เมื่อพูดถึงมอญสันป่าตองจึงต้องพูดถึงมอญในเขตอำเภอป่าซางด้วย ปัจจุบันชาวมอญที่มีความรู้เรื่องราวความเป็นมาตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของชาวมอญทั้ง 2 ฝั่งปิง คือ พ่อหนานบุญมี ศรีสถิตย์ธรรม อายุ 82 ปี อาศัยอยู่บ้านหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นวิทยากรเกี่ยวกับชาติพันธุ์มอญทั้ง 2 ฝั่งปิงเป็นอย่างดี
หมู่บ้านหนองครอบ ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านชาวมอญ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานตามที่ราบลุ่มแนวยาวขนานกับแม่น้ำปิง ในด้านการคมนาคมมีถนนเลียบลำน้ำปิงเป็นถนนสายสำคัญสามารถติดต่อกัน ได้ทุกหมู่บ้านทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกเนื่องจากมีสะพานข้ามแม่น้ำปิงซึ่งใช้ติดต่อกับจังหวัดลำพูนได้โดยตรง บ้านหนองครอบ จะมีวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ร่วมกันกับอีก 2 หมู่บ้านที่เป็น ชาวมอญ ได้แก่ หมู่บ้านต้นตัน (กอโชค) และหมู่บ้านหนองดู่ ทั้งวัฒนธรรมด้านอาหาร ภาษา การแต่งกาย ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อฯ ซึ่งทั้งสามหมู่บ้านนี้ล้วนแล้วแต่เป็นชุมชนชาวมอญ ที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของพม่าโดยอพยพเข้ามาพร้อมกันในสมัยพระนางจามเทวีวงศ์และ ตั้งถิ่นฐานตามที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ชาวมอญมีวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของตนอยู่มากมายหลายกลุ่มทั้ง ภาษา การแต่งกาย พิธีกรรม ความเชื่อ อาหารฯ โดยทั่วไปแล้วชาวมอญจะใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการนำสุราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนมอญซึ่งสุรากลั่น คนมอญนั้นจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หะเหรียก” ซึ่งบ้านหนองครอบ บ้านต้นตัน (กอโชค) และบ้านหนองดู่ เป็นหมู่บ้านชาวมอญที่อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงและมีการผลิตสุราเพื่อนำไปบริโภคและสังสรรค์รวมไปถึงในช่วงประเพณีหรือพิธีกรรมต่างๆ สุรากลั่นหรือ “หะเหรียก” จะมีบทบาทหน้าที่สำคัญในทุกๆ บริบท ซึ่งบ้านหนองครอบจะเป็นแหล่งผลิตสุรากลั่นที่สำคัญของคนชุมชนมอญเพราะ บ้านหนองครอบแต่เดิมนั้นชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพการเกษตรกรโดยการปลูกข้าว เป็นหลักเพื่อการยังชีพและขายแต่เมื่อมีการเพาะปลูกมากขึ้นจึงทำให้ประสบปัญหา ในด้านค่าใช้จ่าย เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาความต้องการเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกทำให้ต้องเสียต้นทุนในการผลิตมากขึ้น อีกทั้งยังประสบปัญหา น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรเนื่องจากน้ำปิงที่อยู่ระหว่างลำพูน-เชียงใหม่ น้ำจะแล้งเป็นประจำทุกฤดูแล้ง ชาวบ้านหนองครอบจึงใช้น้ำ แม่ขานมาช่วยในการทำการเกษตร แต่ก็ไม่พอเพียงต่อการทำการเกษตรเป็นจำนวนมากเนื่องจากน้ำแม่ขานยังมีชุมชนอื่นที่ใช้น้ำร่วมด้วย เมื่อชาวบ้านประสบปัญหาเช่นนี้จึงหันมาทำโรงงานสุรากลั่นเนื่องจากระยะเวลาในการทำสุรากลั่นจะใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวันแต่การทำการเกษตรนั้นจะใช้เวลานานกว่า การทำสุรากลั่นสามารถทำเงินได้มากกว่าการเกษตรโดยจะได้เงินวันต่อวันแต่การเกษตรจะต้องรอขายผลผลิตถึงจะได้เงินก้อน อีกทั้งการทำสุรากลั่นยังสามารถให้ประโยชน์ได้อีกหลายทางชาวบ้านในชุมชนนี้จึงเลือกที่จะทำสุรากลั่นเป็นอาชีพหลักมากกว่าการการเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของหมู่บ้านนี้ที่แตกต่างไปจากหมู่บ้านมอญในพื้นที่บ้านต้นตัน (กอโชค) ที่เป็นแหล่งผลิตขนมจีน และบ้านหนองดู่ ที่มีการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมส่งผลให้บ้านหนองครอบ บ้านต้นตัน (กอโชค) และบ้านหนองดู่ มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในฐานะที่เป็นคนมอญด้วยกัน มาอย่างยาวนาน
ชุมชนมอญในปัจจุบันแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือหมู่บ้านริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก ได้แก่บ้านหนองดู่-บ่อคาว หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเรือนอำเภอป่าซางจังหวัดลำพูนและหมู่บ้านริมแม่น้ำฝั่งตะวันตกได้แก่ บ้านกอโชค บ้านหนองครอบ หมู่ที่ 3 และ 4 ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะถูกแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์แล้วมอญทั้งสองกลุ่มยังมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในด้านสำเนียงภาษาพูดแต่โดยส่วนรวมแล้วกล่าวได้ว่ามีแบบแผนวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตร่วมกัน
เขตพื้นที่บ้านหนองครอบนั้นอยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ก๊า ซึ่งข้อมูลของตำบลแม่ก๊า มีรายละเอียด คือ ตำบลแม่ก๊าเดิมอยู่ในเขตการปกครองของตำบล ท่าวังพร้าว เมื่อปี พ.ศ. 2442 กำนันตำบลท่าวังพร้าวได้แยกตำบลท่าวังพร้าวออกเป็นตำบลใหม่ ชื่อ “ตำบลแม่ก๊า” ให้ขุนวังพร้าว ผดุงราษฎร์ เป็นกำนัน แบ่งการปกครองออกเป็น 6 หมู่บ้าน ต่อมาประชากรเพิ่มขึ้น มีการขยายจำนวนครัวเรือนและพื้นที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 กำนันขุนวังพร้าว ผดุงราษฎร์ ปลดเกษียณอายุได้เลือกกำนันคนใหม่ คือ นายรส คล่องการงาน เป็นกำนันได้ 5 ปี ก็ลาออก จึงเลือกตั้งใหม่ได้กำนันคือ นายนิเวศ เกียรติอนันต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 - 2529 เกษียณอายุทางราชการได้ทำการเลือกตั้งใหม่ได้กำนันคือ นายแก้ว คำกลาง เป็นกำนัน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2530 - 2533 เกษียณอายุและได้ นายจรัญ อุดเถิน เป็นกำนัน
ที่ตั้ง ขนาดและอาณาเขต
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอสันป่าตอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอสันป่าตอง 10 กิโลเมตร ทิศเหนือติดต่อกับองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งต้อม - อำเภอหางดง ทิศใต้ติดกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง - องค์การบริหารส่วนตำบลท่าวังพร้าว ทิศตะวันตกติดกับ องค์การบริหารส่วนตำบลมะขามหลวง - องค์การบริหารส่วนตำบลมะขุนหวาน ทิศตะวันออก ติดกับอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ตำบลแม่ก๊ามีพื้นที่ทั้งหมด 18.87 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11,793.75 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลแม่ก๊ามีลักษณะเป็นแนวยาวขนานกับลำแม่น้ำปิง ระยะทาง 14 กิโลเมตร พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับทำการเกษตร
มอญเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในภาคเหนือ เป็นแม่แบบในการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมหลายอย่างให้แก่คนเมืองในเขตลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ในปัจจุบัน คนเมืองเหนือรู้จักมอญ แต่เพียงว่าเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากมอญพูดภาษามอญที่ปรากฏ ในเขตลำพูนและเชียงใหม่
มอญเป็นชนชาติเจ้าของอารยธรรมอันเก่าแก่ในแผ่นดินพม่าพูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า “มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล” ในช่วง 700 ปีของอาณาจักรมอญมักจะมีแต่ความไม่สงบเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุให้อาณาจักรมอญต้องล่มสลายลง จากนั้นคาดว่าน่าจะอพยพเข้ามาตั้งอาณาจักรของตนทางตอนใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีนและอินเดียเรียกว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ" ชาวมอญได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโดย จะตั้งถิ่นฐานตามที่ราบลุ่มริมน้ำต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งชุมชนมอญและกลุ่มวัฒนธรรมมอญจะกระจายอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากพระนครศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพมหานครหลายชุมชน ชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปตามที่ราบลุ่มริมน้ำภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี อยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบางส่วนตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ทางภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา บ้างเล็กน้อยที่อพยพลงใต้ อย่างเช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยส่วนมากนั้นชาวมอญจะตั้งถิ่นฐานตามแหล่งที่พระเจ้าแผ่นดิน โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินทำกินให้ตั้งแต่แรกเริ่มที่อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย
ชนชาติมอญในพม่าตอนใต้มีชื่อเรียกแตกต่างกันเช่น มอญ รามัญ หรือตะเลง และมอญ ในเมืองไทยนั้นบางครั้งก็เรียกว่า เม็งมอญ หรือมอญเม็ง ซึ่งคำนี้มักปรากฏในตำนานเก่าแก่ทางตอนเหนือของประเทศไทยเช่น พงศาวดารโยนก เป็นต้นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ราบลุ่มแม่น้ำ นอกจากกลุ่มที่ใช้ภาษาตระกูลไต ได้แก่ ยอง เขิน คนเมือง ลื้อ แล้วกล่าวได้ว่ามอญเป็นกลุ่ม ชาติพันธุ์เดียวในเขตที่ราบล้านนาที่แปลกแยกออกไปจากประชากรส่วนใหญ่มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาตามที่ปรากฏในตำนานศิลาจารึกและวรรณกรรมโบราณหลัก คือหลักฐานที่ชี้ถึง ความเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่แถบนี้มาก่อน
คำว่า ‘เม็ง’ เป็นคำที่พูดภาษาตระกูลไต ใช้เรียกคนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งเป็นชนเผ่าโบราณ ที่ใช้ภาษาตระกูล มอญ - เขมร กระจัดกระจายทั่วไปแถบและคาบสมุทรแหลมทองในอดีต จารึกภาษามอญโบราณในยุคแรกๆ ซึ่งพบในเขตที่ราบสูงโคราชเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “เมร็ญ” เชื่อกันว่าได้สูญหายไปแล้วจากภาคอีสานแต่ร่องรอยภาษาที่พูดกันอยู่ในแถวชายแดนเขมรและภาคใต้ของไทยย่อมเป็นการยืนยันได้ว่าชนกลุ่มนี้มีอยู่จริง และมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ อันยาวนาน เข้าใจว่า “เมร็ญ” เป็นคำดั้งเดิมที่เพี้ยนไปเป็นรามัญและมอญ ในแถบภาคกลางของไทยตลอดจนถึงตอนใต้ของพม่า ก่อนที่กลุ่มคนไทยจะเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งตามบริเวณที่ราบ ในเขตล้านนาดินแดนแถบนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของเม็ง ลัวะเผ่าต่างๆ ซึ่งตำนานพื้นเมืองเรียกรวมกันว่าพวก “กร๋อม” หรือบางครั้งก็เรียกว่า “เมงคบุตร” เป็นกลุ่มคนที่เกิดในรอยเท้าสัตว์เข้าใจว่า“เมร็ญ” คือผู้ที่เกิดในรอยเท้าช้างหรือพวกที่นับถือช้างทั้งนี้สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของพวก “เมร็ญ” บริเวณชายแดนไทย-เขมรที่มีความชำนาญในการจับช้างและในพิธีฟ้อนผีเม็งในล้านนา ยังปรากฏมีการคล้องช้างอยู่ในพิธีกรรมดังกล่าวด้วยนอกจากนี้การถ่อเรือถ่อแพในพิธีฟ้อนผี สะท้อนถึงธรรมชาติของเม็งอีกประการหนึ่งคือการตั้งชุมชนในบริเวณที่ราบริมแม่น้ำซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างออกไปจากพวกลัวะกลุ่มต่างๆ ที่นิยมตั้งถิ่นฐานบนภูเขาและพวกเม็งนี้เองคือ ผู้ก่อตั้งรัฐเล็กๆริมแม่น้ำปิงรวมกันเป็นอาณาจักรหริภุญชัย มีความสัมพันธ์กับพวก “ละโว้” ทางตอนใต้และ “สุธรรมวดี” ทางด้านตะวันตก
ก่อนที่พญาเม็งรายโจมตีหริภุญชัย เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เม็งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ในที่ราบริมแม่น้ำปิง มีฐานะเป็นชนชั้นปกครองได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมหลายอย่างให้แก่คนไทย ซึ่งอพยพเข้ามาทีหลังโดยเฉพาะประเพณีการนับถือผีนั้น “ผีเม็ง” ได้รับการยอมรับว่าเป็นผีชั้นสูงกว่าผีอื่นนอกจากนี้จารึกอักษรมอญโบราณจำนวน 7 หลัก ที่พบในเขตลำพูนซึ่งเชื่อกันว่า จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 บางหลักจารึกเป็นภาษาบาลีแล้วแปลเป็นภาษามอญแสดงให้เห็นว่า กลุ่มชนโบราณหรือเม็งที่จังหวัดลำพูนในช่วงเวลานี้นับถือพระพุทธศาสนาที่ใช้ภาษาบาลีเป็นหลักซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ส่งเสริมให้กลุ่มคนไทยที่เข้ามารับพระพุทธศาสนาแนวเดียวกันนี้อาจเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่สนับสนุนผสมล้านนาในยุคพุทธศตวรรษที่ 21 กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงาน นิพนธ์ภาษาบาลี
จารึกอักษรมอญโบราณที่เวียงมะโนอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่าเก่ากว่าจารึกที่ลำพูนแสดงถึงพัฒนาการทางด้านตัวอักษรโบราณภายในอาณาจักรหริภุญชัยว่ามีลักษณะเฉพาะของตัวเองในขณะที่เม็งแห่งหริภุญชัยรับวัฒนธรรม การนับถือพุทธศาสนาแบบมหายานซึ่งตำนานอธิบายว่า ผ่านเข้ามาทางระหว่างในสมัยของพระนางจามเทวี และพุทธศาสนาลัทธิหินยานซึ่งใช้ภาษาบาลีเป็นหลักจากอาณาจักรมอญตอนใต้พม่าในทางตรงกันข้ามมอญในพม่าอาจรับวัฒนธรรม การเขียนอักษรโบราณไปจากหริภุญชัยทั้งนี้ศิลาจารึก “มรเจดีย์” ขอพระเจ้ากยันจิตสิทธะ กษัตริย์พม่าแห่งพุกาม มีรูปแบบตัวหนังสือเหมือนกับที่ปรากฏในศิลาจารึกทั้ง 7 หลักของลำพูน กล่าวอีกนัยหนึ่งอาณาจักรโบราณทั้งสามแห่งนี้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน โดยมีพื้นฐานพัฒนาการภายในแตกต่างกันออกไป หริภุญชัยไม่ใช่อาณาจักรของผู้คนและวัฒนธรรมที่หลั่งไหลมาจากพม่าตอนใต้หรือมอญแห่งละโว้ในอดีต แต่เป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมมีการแลกเปลี่ยนสัมพันธ์กับรัฐโบราณอื่นๆ
การล่มสลายของอาณาจักรหริภุญชัยอันเนื่องมาจากการโจมตีของพญามังรายในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 19 และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของกลุ่มรัฐบนริมฝั่งแม่น้ำปิงอำนาจ ทางการเมืองการปกครองถูกควบคุมโดยผู้นำตระกูลไตอย่างเด็ดขาด ตัวอักษรที่ใช้กันอยู่ในสังคมไทยถึงเชื่อว่าพัฒนามาจากอักษรมอญปรากฏอย่างกว้างขวางประชากรดั้งเดิมซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมหริภุญชัยได้สูญหายไปด้วยแต่ตำนานหลายฉบับได้กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ว่า ไม่มีการกวาดต้อนผู้คนภายหลังสงครามพญามังรายได้แต่งตั้งให้ขุนนางสำคัญมาปกครองหริภุญชัย และตัวอักษรที่ใช้กันอยู่ในสังคมไทยจึงเชื่อว่าพัฒนามาจากอักษรมอญปรากฏอย่างกว้างขวางประชากรดั้งเดิมซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมหริภุญชัยได้ศูนย์หายไปด้วยแต่ตำนานหลายฉบับ ได้กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ว่าไม่มีการกวาดต้อนผู้คนภายหลังสงครามพญามังรายได้แต่งตั้งให้ ขุนนางคนสำคัญมาปกครองหริภุญชัย เชื่อว่าการเคลื่อนย้ายและสูญหายของประชากรมอญ ในช่วงนี้คงมีจำนวนน้อยมากในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 21 พระโพธิรังสีผู้รจนาตำนานจามเทวีวงศ์ ได้กล่าวถึงคนพื้นเมืองในขณะนั้นว่ามีภาษาและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับชาวหงสาวดีแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีประชากรมองพูดภาษามอญอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไต
การขยายอำนาจของพม่าในสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหงสาวดีกับล้านนามีความเข้มข้นมากขึ้นทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจการถ่ายเทของผู้คนและสินค้าโดยอาศัยเส้นทางโบราณจากมะระเหม่งมายัง แม่สอด ระแหง แล้วล่องแม่น้ำปิงขึ้นมาจนถึงลำพูนเชียงใหม่กล่าวได้ว่าการติดต่อดังกล่าวก่อให้เกิดความผสมกลมกลืนระหว่างมอญ - หงสาวดี มอญบริเวณริมแม่น้ำปิงในล้านนา ในขณะที่ประชากรมอญส่วนใหญ่ ในอดีตกำลังจะถูกดูดกลืนหายไปในหมู่คนไทญวนหรือคนเมืองทั้งในด้านภาษาและการผสมผสานทางชาติพันธุ์
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 และต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เกิดสงครามระหว่างมอญกับพม่าทำให้อำนาจของพม่าในเชียงใหม่เริ่มอ่อนแอลงตำนานพื้นเมืองได้กล่าวถึงกลุ่มคนเมือง ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านพม่าร่วมมือการประหาร “ลูกม่านลูกเม็ง” เมื่อพม่ามีชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนืออาณาจักรมอญจึงส่งกองทัพเข้ามากวาดล้างผู้ต่อต้านในเขตล้านนาอีกครั้งหนึ่งจนเกิดสภาพจลาจลโดยทั่วไปมีการจัดกองทัพของกลุ่มชนเล็กๆในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและวัง นอกเหนือจากเมืองใหญ่เช่นเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง หลังจากพม่ายึดเมืองเชียงใหม่ได้อีกครั้งหนึ่งชุมชนเล็กๆดังกล่าวกลายเป็นฐานกำลังที่สำคัญของพระเจ้ากาวิละและพญาจ่าบ้านซึ่งขับไล่พม่าออกไปได้ในสมัยต่อมาได้แก่ ป่าซาง วังพร้าว ท่ากาน บ้านสัน ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงในเขตอำเภอป่าซางจังหวัดลำพูน และ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันเข้าใจว่าบริเวณนี้เป็นชุมชนเม็งมาแต่ครั้งโบราณ เชื่อว่า วังพร้าวมาจากภาษาเม็งว่า “เวิ่งเปรอว” แปลว่าหอผีที่ตั้งอยู่ตรงคุ้งน้ำ ท่ากาน มาจากคำว่า “ตระการ” แปลว่าหน้าด่าน
ปัจจุบันชาติพันธุ์เม็งหรือมอญพื้นเมืองในล้านนาจะมีลักษณะผสมกลมกลืนไปกับคนเมืองหรือกลุ่มไต แต่ยังคงเอกลักษณ์บางอย่างของตัวเองเอาไว้คือประเพณีการฟ้อนผีซึ่งเชื่อว่า ได้ส่งอิทธิพลให้แก่คนเมืองบางกลุ่มรับเอาวิธีดังกล่าวเข้ามาถือปฏิบัติด้วยการฟ้อนผีเม็งดังกล่าว มีแพร่หลายในเขตจังหวัดลำปางซึ่งแตกต่างไปจากวิธีฟ้อนผีของหนึ่งในเขตลำพูนและเชียงใหม่
กล่าวโดยสรุปจากอดีตจนถึงปัจจุบันคนเม็ง ยังไม่สูญหายไปจากประวัติศาสตร์ล้านนา แต่ดูเหมือนว่าความหมายของคำว่า “เม็ง” เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในอีสานและเขมรโบราณเปลี่ยนไปเป็นคนมอญทางตอนใต้ของพม่าตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์คนเหม่งในความเข้าใจของชาวล้านนาโดยทั่วไปหมายถึงคนมอญเท่านั้น
มอญหมู่บ้านมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 780 หลังคาเรือนประชากร 3, 080 คนหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เรียงรายอยู่ริมน้ำปิงยกเว้นบ้านบ่อคาวซึ่งมีผู้คน 64 หลังคาเรือนอยู่ห่างจากริมแม่น้ำเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตรการทำนามีเนื้อที่จำกัดซึ่งลาดเอียงลงสู่แม่น้ำปิงในหมู่บ้านหนองดู่ มีประมาณ 700 ไร่ บ้านต้นตัน(กอโชค) และหนองครอบจำนวนใกล้เคียงกันประมาณ 400 ไร่ ประชากร เกินกว่าครึ่งไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั้งภายในและภายนอกหมู่บ้านควบคู่ไปกับการทำเส้นขนมจีนในบ้านต้นตัน(กอโชค) และบ้านหนองครอบมีการทำสุรากลั่น ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั้งภายในและภายนอกหมู่บ้านควบคู่ไปกับการทำเส้นขนมจีนใน บ้านต้นตัน (กอโชค) และบ้านหนองครอบมีการทำสุรากลั่นเพื่อยึดเป็นอาชีพหลัก
การทำการเกษตรเนื่องจากสภาพพื้นที่มีลักษณะลาดเอียงดังกล่าวแล้วการทำการเกษตรจึงมีทั้งรูปแบบและมาตรการใช้น้ำซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสำหรับบ้านหนองครอบ เมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมานอกจากอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาลแล้วยังใช้น้ำจากระบบเมืองฝายที่สำคัญสามเส้นคือ น้ำจากฝายแม่ทาห่างจากหมู่บ้านหนองครอบประมาณ 5 กิโลเมตรน้ำจากแม่ขานซึ่งติดอยู่กับ เขตอำเภอดอยหล่อ น้ำจากฝายหนองสะลีก ซึ่งกั้นแม่น้ำปิงตอนเหนือหมู่บ้านหนองดู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถใช้น้ำจากสองเส้นแรกได้เนื่องจากปริมาณน้ำลดลงตามธรรมชาติในขณะที่ใช้น้ำจาก น้ำเหมืองหนองสลีก ใช้ได้เฉพาะส่วนที่เป็นหลุมเท่านั้น ทั้งนี้เพราะระดับเมืองต่ำกว่าพื้นที่นา จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการขุดเจาะบาดาลซึ่งมีความลึกของระดับน้ำในดินตั้งแต่ 6 - 11 เมตร ตามลักษณะความลาดเอียงของพื้นที่เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์นั้นการทำนาหรือการทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นลักษณะผลิตเพื่อบริโภคภายในครอบครัวยกเว้นจำนวนน้อยรายซึ่งมีที่นาเกิน 10 ไร่จะขายข้าวซึ่งเป็นผลผลิตส่วนเกินซึ่งบ้านหนองครอบ ผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 60 ถังหรือประมาณ 450 กิโลกรัมต่อไร่ในกรณีที่ต้อง เช่านา คือผู้เช่าเป็นผู้ลงทุนออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างและต้องแบ่งผลผลิตครึ่งหนึ่งให้แก่เจ้าของนา และการทำนานั้นเมื่อได้ผลผลิตคนในพื้นที่ บ้านหนองครอบจะทำการแบ่งแยกข้าวเพื่อทำสุรากลั่นต่อไป
คนมอญในบ้านหนองครอบมีประเพณีต่าง ๆ ในรอบปีคล้ายกับคนเมืองหรือคนไทยภาคเหนือไม่ว่าจะเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม เช่น การแฮกนา การเอาขวัญข้าว การมัดมือควาย ฯลฯ หรือประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา แต่มีประเพณีบางอย่างที่ยังคงถือปฏิบัติกันอยู่ในชุมชนทั้งที่ได้สูญหายไปแล้วในกลุ่มคนเมือง เช่น จองเกริ้ง หรือการบูชาเรือสำเภา เป็นต้น
ในปัจจุบันผู้นับถือผีเม็งเป็นผีประจำตระกูลกระจายอยู่ทั่วไปในเขตล้านนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และลำปาง ส่วนใหญ่เป็นคนเมืองที่รับวัฒนธรรมผีเม็ง เข้ามาโดยการ “ซื้อผี” เพราะเชื่อว่าถ้านับถือผีประเภทนี้แล้วจะมีความร่ำรวยมีชาวล้านนากลุ่มเดียวที่ถูกเรียกว่า “เม็ง” ตั้งชุมชนบริเวณริมน้ำปิงในเขตอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่าประชากรที่นี่คือกลุ่มคนดั้งเดิมที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวมอญ ทางตอนใต้ของพม่าจนยากที่จะแยก “เม็ง” ออกจาก “มอญ” โดยใช้ภาษาพูดแต่เพียงอย่างเดียว เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน อย่างไรก็ตามลักษณะการนับถือผีบรรพบุรุษที่แตกต่างกันน่าจะเป็นตัวจำแนกได้ว่าภายในชุมชนมอญหรือเม็งในปัจจุบัน กลุ่มไหนคือชาวพื้นเมืองเรื่องเดิมและกลุ่มไหนคือชาวมอญที่อพยพเข้ามาสมทบในสมัยหลัง
ท่ามกลางชาวยองประชากรส่วนใหญ่ ซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยของพระเจ้ากาวิละ เมื่อสองศตวรรษที่ผ่านมา เม็งกลายเป็นชนกลุ่มน้อยและมักถูกกล่าวถึงในเชิงดูถูกเหยียดหยาม เช่น “เม็งตัวดำ” หรือ “เม็งกินตับ” บางครั้งคนเม็งเองจึงเกิดความรู้สึกไม่ค่อยพอใจนักกับคำว่า เม็ง ที่กล่าวถึงโดยคนยอง แต่คำดูถูกดังกล่าวได้สะท้อนถึงบุคลิกและลักษณะทางสังคมของชาวเม็งที่แตกต่างออกไปจากยอง ความเชี่ยวชาญในการล่องเรือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของชาวเม็งที่แสดงถึงวัฒนธรรมของผู้คนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ริมแม่น้ำซึ่งสะท้อนออกมา ผ่านพิธีฟ้อนผีบรรพบุรุษและควบคู่กับการนับถือผีคือความเลื่อมใสและศรัทธาในพุทธศาสนา วัดเม็งเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่อุดมการณ์ผ่านคัมภีร์ใบลานและบทสวดภาษาเม็ง นับเป็นความแตกต่างออกไปจากวัดของคนเมืองและคนยองโดยทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามที่มาของวัดเม็งยังไม่มีรายละเอียดมากนัก การอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานโดยถูกต้องตามหลักวิชาการและทำการค้นคว้าอย่างจริงจังน่าจะได้รับการพิจารณาจากกลุ่มผู้สนใจศึกษาวัฒนธรรมล้านนาพร้อม ๆ กับการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณโบราณสถาน กลุ่มวัดหลังวัดเกาะกลางก่อนที่คัมภีร์เก่าแก่และโบราณสถานเหล่านั้นจะถูกทำลายไปตามกาลเวลา
สุรากลั่น
ความสำคัญของสุรากลั่นของคนมอญในเขตพื้นที่บ้านหนองครอบ ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีวัฒนธรรมมอญที่มีสุรากลั่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตผ่านวัฒนธรรมการบริโภค ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรม ทั้งงานมงคลและอวมงคล เช่น การไหว้ผีบรรพบุรุษ การฟ้อนผีเม็ง เป็นต้น ในการผลิตสุรานั้น ตามความเชื่อของคนมอญผู้ที่ทำการผลิตสุรากลั่นนั่นจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจดี เพราะจะทำให้ได้ สุรากลั่นที่รสชาติดี และการนำสุราไปใช้ในวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มอญนั้น ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าสุราเป็นตัวกลางในการติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของ การต้อนรับ การแสดงความยินดี เป็นพิธีกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ ความเสมอภาคและใกล้ชิดกันรวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตและประเพณี
“สุรากลั่น” จึงถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการเข้าถึงซึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่ว่าอำนาจนั้นจะเป็น เทวดาหรือแม้แต่ผี ก็มักใช้เหล้าหรือสุราเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการเข้าถึงสิ่งเหล่านั้น นอกเหนือจากนั้นวงจรชีวิตของผู้คนยังต้องหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปตามเวลา เกิด แก่ เจ็บ ตายแต่งงานขึ้นบ้านใหม่ เดินทางย้ายถิ่นฐาน เปลี่ยนอาชีพ เกิดอุบัติเหตุแต่รอดตาย ขึ้นราชการใหม่ศักราชใหม่ และโอกาสอื่นๆ อีกจำนวนมากที่มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของคนในชุมชนมอญบ้านหนองครอบและชุมชนมอญในพื้นที่ใกล้เคียงโดยสุรากลั่นที่เข้ามามีบทบาทกับวัฒนธรรมมอญสามารถจำแนกเพื่อความเข้าใจได้ดังนี้
สุรากลั่นกับประเพณีหรือพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิด
การเกิดไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทารกคลอดออกมาจากท้องแม่แค่นั้น พิธีกรรม ในวัฒนธรรมมอญที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เชื่อว่าสุรากลั่นเป็นเครื่องมือที่เข้ามามีบทบาท ในการเป็นสื่อกลางในการขออำนาจผีเทวดาอารักษ์เข้ามาช่วยให้เด็กที่เกิดออกมามีสุขภาพ ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วยและเป็นการเฉลิมฉลองอีกด้วยพิธีที่สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดของวัฒนธรรมมอญนั้นก็คือ พิธีกรรมแจ้งเกิด พิธีกรรมนี้ถือว่ามีวามสำคัญกับคนมอญ โดยจะบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษด้วยสุรากลั่นเพื่อเป็นสื่อในการอัญเชิญให้ดวงวิญญาณของ บรรพบุรุษมาร่วมเป็นสักขีพยานในการแจ้งเกิดสมาชิกใหม่ แขกที่มาร่วมงานจะมีการเทน้ำเงินทอง (สุรากลั่นผสมกับน้ำเปล่า) ให้พ่อแม่ของเด็กเพื่อนำไปชำระร่างกายเด็ก มีความเชื่อว่าน้ำบริสุทธิ์หรือ สุรากลั่น สามารถล้างสิ่งสกปรกและสิ่งชั่วร้ายที่อยู่ในร่างของเด็กทารกได้ แต่ในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงของระยะเวลาประกอบกับความทันสมัยของเทคโนโลยี พิธีกรรมนี้จึงได้สูญหาย ไปแล้วในปัจจุบัน
สุรากลั่นกับประเพณีหรือพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการแก่
การแก่ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่หลายปีผ่านไปไวมากขึ้นเท่านั้นจากที่เคยเป็นพ่อแม่ก็กลายเป็น ปู่ย่าตายายมีลูกหลานจำนวนมาก จากเด็กหญิงเด็กชายเติบโตขึ้นมากายเป็นหนุ่มสาวถึงเวลา บวชก็บวช เรียนก็เรียน สมควรมีเหย้ามีเรือนก็มีโอกาสเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก่ทั้งสิ้นงานบวชงานบ้านงานไม้งานแต่งงานเป็นการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่หรือจะพูดว่า เป็นการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของสัตว์สังคมมากน้อยบ้างตามแต่กาลเทศะและเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆการปรับความสัมพันธ์เช่นนี้ก็มักจะหนีไม่พ้นการทำพิธีกรรมและเฉลิมฉลอง (ฉลาดชาย รมิตานนท์, 2547) เช่นเดียวกับวัฒนธรรมมอญมีพิธีกรรม ที่มีความเกี่ยวข้องกับการแก่ ก็คือ การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์หรือพิธีกรรม การแต่งงาน โดยสุรากลั่นจะเข้ามามีบทบาทมากในงานแต่งงานของคนมอญตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน งานแต่งงานของคนมอญขาดสุรากลั่นไม่ได้เด็ดขาด โดยมีชื่อพิเศษว่า “เจียะหะเหรียก” เป็นคำพูดแทนสุราในพิธีสมรส การจัดซื้อเจียะหะเหรียก หมายความว่าเตรียม งานสมรสไปดื่มสุรามงคลก็คือไปร่วมพิธีแต่งงาน นำสุรากลั่นเป็นสำหรับเลี้ยงแขก สำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาว มีพิธีดื่มเหล้าโดย เป็นการแลกถ้วยกันดื่มสุราโดยเป็นพิธีแสดงว่าจากนี้ไปเป็นครอบครัวเดียวกัน การแลกถ้วยกันดื่มสุราเป็นขั้นตอนดั้งเดิมในพิธีสมรส โดยในพิธีแขกที่มาร่วมพิธี รวมไปถึงเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องมีการดื่มสุรากลั่นเพื่อแสดงความยินดีให้กับเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ถ้าบุคคลใดไม่กินจะแสดงถึงความรังเกียจต่อคู่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำในพิธีแต่งงานของคนมอญในอดีต
สุรากลั่นกับประเพณีหรือพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการเจ็บ
การเจ็บ แม้ว่าจะถือว่าเป็นปกติวิสัยของมนุษย์แต่การเจ็บการไข้ถ้าไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ ก็จะดีที่สุด แต่ถ้าเกิดเจ็บเกิดไข้ขึ้นมาทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้รุนแรงจนถึงพิการหรือตายได้ ขึ้นอยู่กับว่าในสังคมนั้น ๆ มีวัฒนธรรมหรือความรู้ว่าด้วยเรื่องการ เกิด การแก่ การเจ็บไข้ และการตายของมนุษย์ว่าอย่างไรสาเหตุการเจ็บไข้ได้ป่วยของความเชื่อในวัฒนธรรมมอญ มีหลายสาเหตุตั้งแต่ธาตุดินน้ำ ลม ไฟ ในร่างกายแปรปรวน ผีทำ คนทำ เทวดาทำ กรรมเก่า ดวงดาวทรงอิทธิพลประเภท พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก กินผิด อยู่ผิด ขวัญหายและยังมีเหตุอีกมากมาย และวิธีรักษาก็ตั้งแต่ใช้สมุนไพร เวทมนตร์คาถา ไล่ผี ไหว้ ผีทำบุญทำทาน ปัดรังควาน สะเดาะเคราะห์ต่ออายุสืบชะตา เรียกขวัญ ร้องขวัญ มัดมือ เป็นต้น สุรากลั่นในบางครั้งก็ถือเป็นยาสมุนไพรบางตำรับต้องดองจึงจะให้ผลส่วนในพิธีกรรม เซ่นไหว้ สะเดาะเคราะห์ต่างๆ ขาดสุราไม่ได้เว้นแต่พิธีพุทธและอิสลาม (ฉลาดชาย รมิตานนท์, 2547) วัฒนธรรมมอญที่ใช้ สุรากลั่นเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บไข้ได้ป่วยก็คือ “การเรียกขวัญ” ในอดีตนั้นคนมอญในพื้นที่บ้านหนองครอบ เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งเจ็บไข้ได้ป่วย ผอมเหลืองไม่มีสีสันวรรณะ กินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลาหลายวัน หรือสะดุ้งตกใจกลัวเมื่อพบเห็น สิ่งที่น่ากลัว และประสบกับเหตุการณ์ที่หดหู่ อาจทำให้ขวัญหนีหายไปเหล่านี้ญาติพี่น้องจะช่วยกันจัดแต่งขันตั้งเครื่องบายศรีเพื่อเรียกขวัญให้กับผู้ ประสบเหตุนั้น และเพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจ และเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยนั้น สุราจะเข้ามามีบทบาทในพิธีกรรมนี้ คือ การเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องเซ่นไหว้ หรือ ขันตั้งในการทำพิธีเรียกขวัญของคนมอญ ซึ่งพิธีกรรมการเรียกขวัญของคนมอญในพื้นที่บ้านหนองครอบและคนมอญในพื้นที่โดยรอบนั้นยังคงมีการสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันนี้
คนเราประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก่อตัวกันขึ้นมาเป็นรูปร่างที่ประกอบด้วยอาการ 32 เป็นอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายและเชื่อว่าจะมี “ขวัญ” หรือจิตเข้ามาเป็นส่วนคอยควบคุมการดำรงอยู่ของร่างกาย เช่น ขวัญแข้ง, ขวัญขา, ขวัญตา, ขวัญหู, ขวัญใจ, ขวัญคอ ซึ่งขวัญของส่วนต่าง ๆ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์กันทั้งร่างกายและจิตหรือขวัญ ซึ่งหากส่วนใดส่วนหนึ่งได้รับ การกระทบกระเทือนก็จะส่งผลให้อีกส่วนได้รับผลกระทบไปพร้อม ๆ กัน อาทิ เมื่อร่างกายได้รับความกระทบกระเทือนบาดเจ็บขึ้นมาก็ย่อมส่งผลให้ จิตใจได้รับผลดังกล่าวตามกัน ดังนั้นเมื่อร่างกายและจิตใจได้รับความกระทบกระเทือนก็ย่อมจะมีแนวทางในการแก้ไขหรือการเสริมสร้างให้ทั้งสองส่วนกลับคืนสู่สภาพปกติ ซึ่งการรักษาทางกายนั้นจะมุ่งเน้นการรักษาโดยการใช้ยาสมุนไพรและกระบวนการรักษาอื่นที่เน้นวิธีการรักษาแต่เพียงภายนอกแต่ทางด้านจิตใจ นอกจากการให้กำลังใจแล้วกระบวนการ “เรียกขวัญ / สู่ขวัญ” ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่หมอผู้ทำพิธี ได้มีการนำมาใช้ในการรักษาเพื่อการเสริมสร้างสภาพจิตใจให้คืนสู่สภาพปกติ
สุรากลั่นกับประเพณีหรือพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการตาย
การตาย ถ้าเลี่ยงได้คนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากตายแต่สุดท้ายก็ต้องตายเหมือนกันหมดประเพณี การทำศพของคนมักจะมีคนมาช่วยงานกันไปมากน้อยตามฐานะ พิธีศพจึงไม่เพียงแต่เป็น การจัดการให้กับผู้ตายได้ไปสู่สวรรค์หรือโลกของบรรพบุรุษเท่านั้นมันยังเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ของคนที่ยังอยู่ว่าจะคบหาช่วยเหลือกันต่อไปหรือไม่ถ้าไม่ก็ไม่ต้องไปเผาผีกัน ดังนั้นงานศพตามชนบทจึงมักจะเลี้ยง ข้าวเลี้ยงเหล้าคนมาช่วยงานเพราะเป็นการประสานความสัมพันธ์ต่อไปเช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมมอญที่ที่มีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตายหรือเป็นตัวกลาง ในการสื่อกับวิญญาณบรรพบุรุษชาวมอญในพื้นที่บ้านหนองครอบนั้นจะนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น ในขณะเดียวกันชาวมอญก็ยังเคารพและเชื่อในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยทั่วไปชาวมอญจะให้ความสำคัญกับเรื่องผีบรรพบุรุษมากแต่ในขณะเดียวกันคนมอญในพื้นที่บ้านหนองครอบจะมีศาลที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวมอญให้ความเคารพอีกด้วย ไม่เพียงแต่บ้าน หนองครอบที่มีศาลประจำหมู่บ้านแล้วยังมีหมู่บ้านหนองดู่และหมู่บ้านต้นตัน (กอโชค) ยังมีการตั้งศาลประจำหมู่บ้าน
การสื่อสารใช้ภาษาไทยกลางและภาษาถิ่นเหนือ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ภาษาเม็ง โดยในบ้านหนองดู่ - บ่อคาว มีสำเนียงแตกต่างกันเล็กน้อยกับกลุ่มหนองครอบ - กอโชค ในอดีตมีการศึกษาการอ่านและเขียนภาษามอญในวัดหนองดูส่วนใหญ่ เป็นการจารคัมภีร์ใบลาน ซึ่งมีเนื้อหาใช้สำหรับสวดมนตร์และเทศนา บทสวดปาฏิโมกข์ ของพระมอญได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในหมู่บ้านชาวยองและคนเมือง ปัจจุบันผู้ที่สามารถเขียนและอ่านภาษามอญได้ส่วนมากเป็นผู้เฒ่าอายุเลย 60 ปีขึ้นไป คนเหล่านี้เคยผ่านการบวชเรียนในวัดหนองดู่ในอดีตซึ่งปัจจุบันการศึกษาการเขียนและอ่านภาษามอญใช้ตำราแบบเรียนภาษามอญได้รับการสนับสนุนจากสมาคมไทย - รามัญ กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามการศึกษาในสมัยนี้ มีความจำกัดและไม่ได้รับผลสำเร็จเท่าที่ควรทั้งนี้เพราะตำราแบบเรียนภาษามอญในปัจจุบันแตกต่างจากภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันและเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในปัจจุบันมองไม่เห็นความสำคัญของการเขียนภาษามอญซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ทั้งสองกลุ่มยังคงพูดภาษาเม็งและยังใช้บทสวดภาษาเม็ง
ดวงนภา ต่อมสังฆ์. (2561). กระบวนการผลิตสุรากลั่นและความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนชุมชนมอญในเขตพื้นที่ บ้านหนองครอบ ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ก๊า. (2566). ประวัติและข้อมูลสภาพทั่วไป. จาก https://maeka.go.th/