หมู่บ้านกะเหรี่ยงโปว์ที่น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำและมีความหลากหลายในคติความเชื่อของผีบรรพบุรุษรวมถึงการเปิดรับความเชื่อทางศาสนาตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม
"ตะว่อง" แปลว่า หมู่บ้าน และ "กะหม่วงซ่วย" แปลว่า ดงเสลา มาจากลักษณะทางภูมิประเทศของหมู่บ้านที่เป็นเขตป่าเบญจพรรณ มีทั้งไผ่และรวก และในอดีตคาดว่าน่าจะมีต้นเสลาขึ้นรวมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ "ดงเสลา" ส่วนชื่อ "ดงเสลาเก่า" เกิดจากการเริ่มสร้างเขื่อนศรีนคริทร์ที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในเขตที่อยู่อาศัยบางส่วนของชาวบ้านเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ทางราชการจึงหาพื้นที่จัดสรรทดแทนให้กับชาวบ้าน บ้านดงเสลาจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มบ้าน คือ ดงเสลาเก่า (กลุ่มบ้านที่ไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่เดิม) และดงเสลาใหม่ (กลุ่มบ้านที่ย้ายไปตั้งหมู่บ้านใหม่บริเวณที่ราชการจัดสรรให้)
หมู่บ้านกะเหรี่ยงโปว์ที่น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำและมีความหลากหลายในคติความเชื่อของผีบรรพบุรุษรวมถึงการเปิดรับความเชื่อทางศาสนาตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม
บ้านดงเสลาเก่า เป็นหย่อมบ้านหนึ่งในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านดงเสลา ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่ คือ ชาวปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยงโปว์ ประวัติความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้นั้นไม่มีปรากฏไว้แน่ชัดว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร ทราบเพียงแต่ว่าชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานานแล้วและมักย้ายที่อยู่เรื่อยไปเมื่อมีคนไทยเข้ามาตั้งถิ่นฐาน จึงเกิดเป็นวลีว่า "ไทยไล่กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงไล่เสือ"
แต่จากการรวบรวมจากหลักฐานและเอกสารทางประวัติศาสตร์ของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี อาจสันนิษฐานได้ว่าชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านดงเสลาเก่าอาจจะอพพยจากบริเวณหน้าเมืองกาญจนบุรีขึ้นมาตามลำน้ำแควใหญ่ แล้วมาตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบ้านไร่ และอำเภอห้วนคด จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน โดยชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ดังกล่าวมานี้ยังคงมีการพบปะและความสัมพันธ์ทางสังคมกันอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนประชากรชาวไทยนั้นเพิ่งจะเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยเหตุผลจากการแต่งงานกับคนในหมู่บ้านดงเสลา มีผู้ใหญ่บ้านที่ทางราชการแต่งตั้งให้อย่างเป็นทางการ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนในหมู่บ้านในการทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับทางหน่วยงานราชการ การเดินทางไปหมู่บ้านมีหลายเส้นทาง แต่ที่สะดวกที่สุด คือ เส้นทางกาญจนบุรี-ลาดหญ้า-ศรีสวัสดิ์-ท่าลำไย ใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมงจากตัวเมือง โดยหมู่บ้านดงเสลาเก่าอยู่ห่างจากถนนเส้นหลักประมาณ 1 กิโลเมตร ถนนเข้าหมู่บ้านเป็นถนนลูกรังที่มีสภาพไม่ค่อยดี มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร สิ้นสุดที่วัดดงเสลา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกลางหมู่บ้าน
หมู่บ้านดงเสลาเก่า ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 500-1,800 เมตร มี "เขาใหญ่" หรือในภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า "เกยพู้" เป็นป่าต้นน้ำของลำห้วยเดาเหล้า (ห้วยดงเสลา) ซึ่งไหลผ่านหมู่บ้านดงเสลาเก่าลงสู่อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ ลำห้วยนี้มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี ทำให้คนในหมู่บ้านมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
สถิติประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลด่านแม่แฉลบ หมู่ที่ 6 บ้านดงเสลา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,053 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 552 คน และประชากรหญิง 501 คน จำนวนครัวเรือน 402 คน โดยประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่ คือ ชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงโปว์ และส่วนหนึ่งเป็นชาวไทยพื้นถิ่นเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ตั้งแต่ก่อนการอพยพเข้ามาของชาวกะเหรี่ยง ทั้งนี้ชาวกะเหรี่ยงโปว์ในหมู่บ้านดงเสลาเก่ายังแยกออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามผีที่นับถือ ประกอบด้วย กะเหรี่ยงกลุ่มด้ายขาว (ลู้งอัว) กลุ่มด้ายเหลืองธรรมดา (ลู้งบ่องสะเดิ่ง) กลุ่มด้ายเหลืองพระพุทธเจ้า (ลู้งบ่องเกียะ) และกลุ่มกินน้ำสุก (หวี ม่อง) ตามประเพณีของชาวกะเหรี่ยงโปว์นั้น คนที่นับถือผีบรรพบุรุษต่างกลุ่มคติความเชื่อกันจะตั้งบ้านเรือนอยู่ชิดกันไม่ได้ ต้องสร้างบ้านอยู่กันคนละแถบ เพราะมีความเชื่อที่ว่า "ผีบีบกัน" และหากทำผิดกฎข้อห้าม ทำผิดประเพณี ผีบรรพบุรุษอาจลงโทษให้สมาชิกภายในบ้านเกิดอาการเจ็บป่วยได้
สำหรับลักษณะครอบครัวของชาวบ้านดงเสลา มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว ซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก และครอบครัวขยาย ประกอบด้วย พ่อ แม่ และครอบครัวของลูกสาว แต่โดยทั่วไปนิยมให้ความสำคัญกับระบบครอบครัวเดี่ยวมากกว่า หลังพิธีแต่งงาน ฝ่ายชายจะต้องเปลี่ยนไปนับถือผีบรรพบุรุษประจำสายตระกูลของภรรยา และต้องย้ายไปอาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวของฝ่ายหญิง เป็นเวลา 1-2 ปี เพื่อช่วยครอบครัวฝ่ายหญิงทำไร่ข้าว หลังจากนี้จึงสามารถแยกออกมาสร้างบ้านเป็นครอบครัวของตนได้ ซึ่งมักจะสร้างให้อยู่ในบริเวณเดียวกันกับกลุ่มเครือญาติของฝ่ายหญิง
ปกาเกอะญอชาวบ้านดงเสลาเก่าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำไร่เป็นหลัก โดยอาศัยพื้นที่ป่าบริเวณชายเขาและบนเขาใหญ่เป็นพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูก พืชที่นิยมปลูก ได้แก่ ข้าวเจ้า โดยปกติจะปลูกให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอสำหรับใช้บริโภคภายในครัวเรือนตลอดทั้งปีเท่านั้น เมื่อเหลือจากการบริโภคจึงจะนำออกจำหน่าย รองลงมา คือ ข้าวเหนียว ถั่ว งา และฝ้าย ซึ่งนอกจากจะปลูกเพื่อสร้างรายได้แล้วยังมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง และยังนิยมปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อใช้ในการประกอบอาหารในครัวเรือนของตนเองด้วย เช่น ตะไคร้ พริก กะเพรา กล้วย อ้อย บางครอบครัวปลูกละหุ่ง หมาก นุ่น มะขามเปรี้ยว หรือข้าวโพดไว้ขาย ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อในหมู่บ้าน ในส่วนของการเลี้ยงสัตว์นั้น นิยมเลี้ยงวัว ซึ่งชาวกะเหรี่ยงทุกกลุ่มสามารถเลี้ยงได้โดยไม่มีข้อห้าม หลังฤดูกาลเพาะปลูกชาวบ้านจะออกไปหาอาชีพเสริม เช่น งานรับจ้างทั่วไป ผู้ชายจะเป็นช่างรับเหมาทั่วไป ส่วนผู้หญิง จะเข้าไปรับจ้างทอผ้าตามโรงงานในเมือง
นอกจากการเพาะปลูกแล้ว ยังมีบางส่วนที่ทำการปศุสัตว์ โดยสัตว์ที่สามารถเลี้ยงได้ทุกกลุ่มผีบรรพบุรุษโดยไม่มีข้อห้าม ได้แก่ วัว ส่วนไก่ เลี้ยงได้เฉพาะในกลุ่มด้ายขาว (ลู้งอัว) กลุ่มด้ายเหลืองพระพุทธเจ้า (ลู้งบ่องเกียะ) และกลุ่มกินน้ำสุก สำหรับกลุ่มด้ายเหลืองธรรมดา (ลู้งบ่องสะเดิ่ง) มีข้อห้ามไม่ให้เลี้ยง เนื่องจาก หลังจากลองซื้อไก่มาเลี้ยงปรากฏว่าคนในบ้านเกิดเจ็บป่วย และเมื่อกล่าวแก่ผีว่าจะเลิกเลี้ยงก็หายป่วย ทำให้กลุ่มด้ายเหลืองธรรมดา (ลู้งบ่องสะเดิ่ง) ไม่เลี้ยงไก่
ในการเลี้ยงไก่ ชาวบ้านจะปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ โดยอาจให้ข้าวเปลือกเพิ่มบ้าง ไก่สามารถเข้าไปในเขตบ้านของกลุ่มด้ายเหลืองธรรมดาได้ แต่หากเป็นบ้านของเจ้าวัด (โบงคู้) ไม่ว่าสัตว์ชนิดใดก็ไม่สามารถเข้าไปได้เว้นแต่สุนัข เนื่องด้วยเป็นข้อห้ามตามคติโบราณ
ในปี 2546 ชาวบ้านได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงบ้านดงเสลาขึ้น โดยได้รับความร่วมมือและการส่งเสริมจากศูนย์พัฒนาชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้ให้คำปรึกษาช่องทางต่าง ๆ และเงินทุนในการซื้อด้ายเพื่อทอผ้า แรกเริ่มมีสมาชิก 13 คน ซึ่งสมาชิกเป็นกลุ่มแม่บ้านในหมู่บ้านดงเสลาที่ทอผ้าไว้ใช้ทั่วไปอยู่แล้ว เป็นการสร้างรายได้ให้ครอบครัวเพิ่มขึ้น และยังเป็นการอนุรักษ์สืบทอดการทอผ้าแบบกะเหรี่ยงไม่ให้สูญหายไปจากท้องถิ่นอีกด้วย
ในปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านดงเสลาเก่า นับถือผีบรรพบุรุษประจำสายตระกูลและยังนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทเช่นเดียวกับชาวไทยพื้นราบด้วย ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านต้องประกอบพิธีตามประเพณีการนับถือผีบรรพบุรุษประจำสายตระกูลแล้ว ยังต้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามหน้าที่ของพุทธศาสนานิกชนด้วย แต่สิ่งที่ยังอยู่และมีบทบาทสำคัญกับชาวกะเหรี่ยงบ้านดงเสลานั้น คือข้อบังคับเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพบุรุษที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวซึ่งมีความสำคัญต่อการจัดการระบบการผลิตของชาวที่พึ่งพาการทำไร่หมุนเวียนช่วยให้เกิดการกระจายแรงงานการผลิตของสังคมได้เป็นอย่างดี ภายในหมู่บ้านจะมีวัดดงเสลาเก่าตั้งอยู่บริเวณกลางหมู่บ้าน เป็นวัดที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้นมา ภายในบริเวณวัด ประกอบด้วยศาลาการเปรียญ หอระฆังและกุฏิของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชาวกะเหรี่ยงในหมูบ้านดงเสลาเก่าและหมู่บ้านใกล้เคียง
ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า บ้านดงเสล่าเป็นชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการนับถือผีบรรพบุรุษเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยคติความเชื่อนี้สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- กลุ่มที่นับถือลัทธิเดิม ได้แก่ กลุ่มด้ายขาว (ลู้งอั้ว) และกลุ่มกินน้ำสุก (หวีหม่อง)
- กลุ่มที่นับถือลัทธิใหม่ ได้แก่ กลุ่มด้ายเหลืองธรรมดา (ลู้งบ่องสะเดิ่ง) และกลุ่มด้ายเหลืองพระพุทธเจ้า (ลู้งบ่องเกียะ)
ในที่นี้จะอธิบายคติความเชื่อการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงบ้านดงเสล่าตามกลุ่มย่อย ดังต่อไปนี้
ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มด้ายขาว (ลู้งอั้ว)
ปัจจุบัน ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มด้ายขาวนิยมการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษหรือผีประจำตระกูลด้วยงาดำและข้าวสุก แต่ก่อนที่จะมีการเซ่นไหว้ผีด้วยงาดำและข้าวสุกนั้น ในอดีตเคยเซ่นผีด้วยอ้นและปลามาก่อน แต่เนื่องจากอ้นเป็นสัตว์ที่หายาก อีกทั้งหาจะซื้อยังมีราคาแพง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเพิ่มขึ้นไปอีก แต่หากจะละการประกอบพิธีให้ถูกต้องครบทุกขั้นตอนก็เกรงว่าผีจะลงโทษ จึงได้มีการบอกกล่าวแก่ผีเพื่อให้รับทราบถึงการเปลี่ยนของที่จะใช้เซ่นไหว้ในแต่ละปี
ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มกินน้ำสุก (หวีหม่อง)
ในการประกอบพิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มกินน้ำสุก สามารถกระทำเมื่อใดก็ได้ตามความสะดวกของสมาชิกในครอบครัว และไม่จำเป็นต้องรอให้สมาชิกในครอบครัวครบทุกคน ผู้นำในการประกอบพิธี คือ หัวหน้าครอบครัว ในการทำพิธีมีเพียงแค่การดื่มน้ำต้มสุกขากขันและสวดมนต์ เป็นอันเสร็จพิธี
ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มด้ายเหลืองธรรมดา (ลู้งบ่องสะเดิ่ง) หรือลัทธิเจ้าวัด
การประกอบพิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้จะมีการสานไม้ไผ่ทำเป็นสะเดิ่งขนาดเล็กหนึ่งต้น ตั้งไว้ในทิศหัวนอนของหัวหน้าครอบครัว เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเจดีย์หรือโกร่งในบริเวณบ้านของเจ้าวัด (โบงคู้) ของกลุ่ม สำหรับช่วงเวลาในการประกอบพิธีกรรมนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ความสะดวกของแต่ละครอบครัว คือ บางครอบครัวอาจเดินไปร่วมประกอบพิธีกรรมที่บ้านของเจ้าวัด หรือบางครอบครัวก็อาจประกอบพิธีกรรมที่บ้านของตนเองตามแต่ความสะดวก
ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มด้ายเหลืองพระพุทธเจ้า (ลู้งบ่องเกียะ)
ในการประกอบพิธีกรรมของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้จะกระทำกันภายในครอบครัว โดยหัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้นำในการไหว้พระ และเซ่นผีด้วยดอกไม้ ข้าว งา และน้ำ จากนั้นจึงผูกข้อมือให้แก่สมาชิกในครอบครัวด้วยด้ายฝ้ายที่ย้อมสีเหลือง เป็นอันสิ้นสุดพิธี
ชาวกะเหรี่ยงทุกคนในหมู่บ้านจะสื่อสารกันด้วยภาษากะเหรี่ยง แต่เมื่อต้องติดต่อกับคนไทยพื้นราบจะใช้ภาษาไทย สำหรับภาษาเขียน นอกจากภาษาไทยแล้ว ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสบางคนในชุมชนสามารถอ่านและเขียนภาษากะเหรี่ยงได้ แต่ไม่นิยมใช้ เนื่องจากอิทธิพลของระบบการศึกษาและวัฒนธรรมภายนอกแพร่ขยายเขาไปในชุมชน โดยเฉพาะอิทธิพลทางภาษาไทยที่เข้าไปมีบทบาทอย่างมาก ส่งผลให้ชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนนิยมใช้ภาษาไทยมากกว่า กระทั่งว่าเด็กหลายคนในชุมชนไม่สามารถอ่านและเขียนภาษากะเหรี่ยงได้แล้ว
ในปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงโปว์ในหมู่บ้านดงเสลาเก่า ได้มีการปรับเปลี่ยนระเบียบปฏิบัติข้อบังคมบางอย่างในคติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษเพื่อให้สอดคล้องกับข้อจำกัดทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังมีการนำศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธเข้าไปเผยแผ่ในหมู่บ้านจากคนพื้นราบที่ เช่น การที่เปลี่ยนจากการนับถือผีแบบดั้งเดิมที่ต้องเลี้ยงผีทั้งเจ้าป่า เจ้าเขา และผีบรรพบุรุษ อันเป็นศูนย์กลางแห่งการเคารพสักการะอย่างเคร่งครัดไปสู่การนับถือผีแบบก้าวหน้าที่ความเคร่งครัดในการประกอบพิธีเลี้ยงผีได้น้อยลง เห็นได้จากการที่ชาวกะเหรี่ยงในกลุ่มด้ายเหลืองธรรมดา (ลู้งบ่องสะเดิ่ง) และกลุ่มกินน้ำสุก (หวีม่อง) ไม่ต้องไปประกอบพิธีกรรมตามประเพณีกับเจ้าวัด (โบงคู้) หัวหน้าทำพิธีในกลุ่มของตนแล้ว แต่สามารถประกอบพิธีกรรมตามประเพณีระหว่างสมาชิกในครอบครัวของตนเองได้ ทั้งนี้ เนื่องมาจากความไม่สะดวกในการเดินทางไปร่วมประกอบพิธี และปัจจุบันไม่ค่อยมีบุคคลถูกคัดเลือกจากผีให้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าวัด เพราะไม่มีบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่ง และความไม่ต้องการเป็นผู้ได้รับตำแหน่งเจ้าวัด ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงนี้ ชาวกะเหรี่ยงในกลุ่มดังกล่าวต่างยอมรับได้ เพราะมั่นใจว่าถึงอย่างไรก็มีพระพุทธศาสนาที่นับถือร่วมกับผีบรรพบุรุษประจำสายตระกูลตามประเพณีดั้งเดิมไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สามารถป้องกันโทษจากผีบรรพบุรุษของตนเองได้ และมุมหนึ่งชาวกะเหรี่ยงโปว์จำเป็นจะต้องใช้พุทธศาสนามาช่วยในการสร้างความยอมรับการเป็นสมาชิกของสังคมแก่ชาวไทยพื้นราบโดยทั่วไป ซึ่งชาวไทยพื้นราบมักมองว่าพวกเขาเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในสังคม พุทธศาสนาจึงเป็นกลไกสำคัญในการปรับตัวทางสังคมและวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงโปว์ในการติดต่อสัมพันธ์และสร้างการยอมรับจากชาวไทยพื้นราบ
อย่างไรก็ตาม แม้แนวปฏิบัติเกี่ยวกับประเพณีการนับถือผีบรรพบุรุษจะถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบตามข้อจำกัดทางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ที่สิ่งที่ยังคงอยู่คือข้อบังคับเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพบุรุษที่ยังคงมีบทบาทในการช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้ยังคงมีความแน่นแฟ้นกันอยู่ดังเช่นที่เคยเป็นมา
สุภลักษณ์ โทณลักษณ์. (2542). การนับถือผีบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงโปว์: บทบาท ความสำคัญ และการเปลี่ยนแปลง กรณีศึกษาที่หมู่บ้านดงเสลาเก่า ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. สารนิพนธ์ปริญญษศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.