“สวนไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ยึดมั่นเศรษฐกิจพอเพียง สู่ชุมชนเข้มแข็ง”
เดิมทีหมู่บ้านสวนไทยนี้ได้แยกมาจากบ้านสวนเทศ หมู่ที่ 5 ตําบลแป-ระ บริเวณแห่งนี้สันนิษฐานว่าเคยเป็นหมู่บ้านร้างมาก่อน โดยคาดเดาจากหลักฐานโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่ เช่น ถ้วย ไห จาน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบเรียกพื้นที่นี้ว่า “เถาบ้านร้าง” มีเรื่องเล่าว่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2459 ได้มีชาวบ้านจำนวน 5-6 คน เดินทางเข้ามาตั้งบ้านเรือนและถางที่ดินรกร้างสำหรับทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ จึงได้ชื่อว่าบ้านสวนเทศ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านสวนไทย และในปี พ.ศ. 2506 ได้มีชาวรัตภูมิ จังหวัดสงขลา 5-6 คน เข้ามาตั้งถิ่นฐานทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านสวนเทศ ก่อนแยกหมู่บ้านออกจากบ้านสวนเทศใน พ.ศ. 2545 แล้วเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสวนไทย” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันบ้านสวนไทยจะแยกตัวออกมาจากบ้านสวนเทศแล้ว ทว่า ทั้งสองหมู่บ้านยังคงมีสัมพันธ์ติดต่อเป็นบ้านพี่บ้านน้องชุมชนเดียวกัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้าน ผัง 36 ตำบลอุไดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านพรุต้นอ้อ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสวนเทศ ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยไทร ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านสวนไทยมีพื้นที่ประมาณ 2,730 ไร่ ภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบ พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรทั้งสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ และพืชผักสวนครัวอื่น ๆ มีคลองคลองหมังเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสายสำคัญไหลผ่านชุมชนให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 บ้านสวนไทย ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล มีประชากรทั้งสิ้น 416 คน แยกเป็นประชากรชาย 205 คน ประชากรหญิง 211 คน และจำนวนครัวเรือน 154 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนนับถือศาสนาพุทธ และมีอีกส่วนหนึ่งนับถือศาสนาอิสลาม แต่นับเป็นส่วนน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าภายในชุมชนจะมีความแตกต่างของศาสนาอยู่ ทว่า ประชากรทั้งสองกลุ่มก็สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข มีความสามัคคี ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล สามารถทำกิจกรรมชุมชนและเป็นสมาชิกที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นร่วมกันได้
การประกอบอาชีพ
ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ พืชผักสวนครัว และบางส่วนประกอบธุรกิจส่วนตัว มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 67,308 บาท/คน/ปี
กลุ่มองค์กรชุมชน
- กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์บ้านสวนไทย : นางภัณทิลา มลิทอง ประธานกลุ่ม
- กลุ่มติดตายาง : นายกฤษณะ จันทร์แดง ประธานกลุ่ม
- กลุ่มเลี้ยงไก่ : นายคณิศร ยั่งยืน ประธานกลุ่ม
- กลุ่มเลี้ยงปลา : นายคณิศร ยั่งยืน ประธานกลุ่ม
- กลุ่มปลูกยางพารา : นายกฤษณะ จันทร์แดง ประธานกลุ่ม
- กลุ่มรับซื้อน้ำยางสด : นายกฤษณะ จันทร์แดง ประธานกลุ่ม
- กลุ่มน้ำพริกตำมือ : นางสาวพรอุษา ราชเมืองขวาง ประธานกลุ่ม
ประชากรในหมู่บ้านสวนไทยมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ส่งผลให้เกิดความช่วยเหลือกันระหว่างชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมและที่สำคัญ คือ บ้านสวนไทยเป็นหมู่บ้านที่มีไทยชาวพุทธอาศัยอยู่มากกว่าหมู่บ้านอื่นในตำบลแประ ทําให้มีวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธที่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่น ๆ ได้แก่ ประเพณีทําบุญเดือนสิบ การชักพระ การทอดกฐิน การรดน้ำผู้สูงอายุ วันสงกรานต์ ฯลฯ
1. นายดิเรก นุรักภักดี : ปราชญ์ชาวบ้าน ครูหมอ อายุ 64 ปี
2. นางวรรณี แก้วมณี : ปราชญ์ชาวบ้าน นวดแผนโบรษณ อายุ 61 ปี
3. นางเพียว เกื้อกูลสงค์ : ปราชญ์ชาวบ้าน น้ำมันสมุนไพร อายุ 62 ปี
4. นางพรชนก ชุ่มชื้น : ปราชญ์ชาวบ้าน น้ำมันสมุนไพร อายุ 47 ปี
5. นายคณิศร ยั่งยืน : ปราชญ์ชาวบ้าน การทำน้ำยาล้างจาน อายุ 47 ปี
6. นางสาวพรอุษา ราชเมืองขวาง : ปราชญ์ชาวบ้าน การทำเครื่องแกง อายุ 33 ปี
7. นางสมปอง หนูช่วย : ปราชญ์ชาวบ้าน หมอบ้าน อายุ 78 ปี
8. นายแสง เดชะ : ปราชญ์ชาวบ้าน การจักสาน อายุ 73 ปี
9. นายดับ แก้วเมฆ : ปราชญ์ชาวบ้าน การนวดแผนโบราณ อายุ 75 ปี
10. นายมิตรชัย สุราล : ปราชญ์ชาวบ้าน หมอบ้าน อายุ 45 ปี
โครงการส่งเสริมการสร้างสัมมาชีพชุมชนในระดับหมู่บ้าน : การทำพริกแกงตำมือ
บ้านสวนไทยเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม โดยเน้นไปที่สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทว่า เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรของพืชเศรษฐกิจดังกล่าวตกต่ำมาก ส่งผลให้รายได้ลดลงตามไปด้วย หมู่บ้านจึงได้มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพเสริมให้เกิดขึ้นในชุมชนภายใต้การดำเนินการของ “กลุ่มทำน้ำพริกตำมือบ้านสวนไทย” เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้ให้คนในชุมชน โดยการรวมกลุ่มในครั้งนี้ได้สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น สร้างกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวบนฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการกลุ่ม พร้อมทั้งมีการวางจำหน่ายผลผลิตของกลุ่มผ่านระบบออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ไอจี ฯลฯ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
จากลักษณะที่ตั้ง สภาพสังคม รายได้ ตลอดจนการประกอบอาชีพ เช่น การปลูกผัก การเลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว ในพื้นที่ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ชาวบ้านในชุมชนตลอดจนพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านอยู่ดี กินดี ในรูปแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต จึงเกิดเป็นการกำหนดอัตลักษณ์ ยุทธศาสตร์ และค่านิยมประจำหมู่บ้าน ดังนี้
อัตลักษณ์หมู่บ้าน
- ส่งเสริมให้ชุมชนปลอดอบายมุข
- ส่งเสริมการนําหลักศาสนามาใช้ในการดําเนินชีวิต
- ส่งเสริมการเกษตรที่มุ่งเน้นการผลผลิตที่มีคุณภาพ
- มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์หมู่บ้าน
- ประชาชนมีคุณชีวิตที่ดี มีความรับผิดชอบต่อคนเองและสังคม
- ประชาชนมีส่วนร่วมในการทํากิจกรรมของหมู่บ้านในทุก ๆ ด้าน
- ประชาชนมีส่วนร่วมในการสองส่องรณรงค์ไม่ให้ยาเสพติดแพร่ระบาดในหมู่บ้าน
- ประชาชนรักบ้านเกิด หันมาพัฒนาหมู่บ้านของตนเองอย่างเต็มที่
- มีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวก
- ส่งเสริมการรวมกลุ่ม พัฒนาอาชีพให้มีมาตรฐาน
- สนับสนุนการประกอบอาชีพหลักและอาชีพเสริมอย่างเต็มที่
- ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น
- ส่งเสริมให้มีความรักสามัคคี
ค่านิมยมหมู่บ้าน
- ดําเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
- ขยัน ประหยัด อดออม
- พึ่งตนเอง ก่อนคิดพึ่งคนอื่น
- มีความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
- มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย
กรมพัฒนาชุมชน. (2560). รายงานการพัฒนาหมู่บ้าน (Village Development Report :VDR) บ้านสวนไทย ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล.