Advance search

ชุมชนวัดชัยสถาน, วัดเหนือ, วัดน้อย

ชุมชนป่าเสร้าหลวงเป็นที่ตั้งของศาสนสถานที่สำคัญ คือ วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย) นอกจากนี้ ยังเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านการสืบสานภูมิปัญญาหมอเมืองและการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมล้านนา คือ กลองสะบัดชัยของกลุ่มเยาวชนศิษย์วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย)

หมู่ที่ 8
ป่าเสร้าน้อย
สันปูเลย
ดอยสะเก็ด
เชียงใหม่
เมธินี ศรีบุญเรือง
1 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
1 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
29 ส.ค. 2023
ป่าเสร้าน้อย
ชุมชนวัดชัยสถาน, วัดเหนือ, วัดน้อย

ชื่อชุมชนบ้านป่าเสร้า สันนิษฐานว่ามีที่มาจากชื่อของต้นเส้าซึ่งขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในท้องถิ่น ลักษณะทั่วไป เป็นพรรณไม้ต้นขนาดกลาง มีขนาดสูง ผลัดใบ ทึบ ใบเดี่ยวและใบหนา และมีขนนุ่มทั้งสองด้าน เปลือกต้นสีเทาเข้มเกือบดำ ผิวขรุขระ มีรอยแตกเป็นทางยาว ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

เดิมแล้วชื่อของวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน คือ ป่าเสร้า แต่วัดป่าเสร้ามีด้วยกัน 2 วัดชาวบ้านจึงต้องเรียกชื่อให้มีความแตกต่าง เรียกตามทิศที่ตั้งของวัด วัดชัยสถิตอยู่ทางทิศใต้ก็เรียกว่าวัดใต้ วัดชัยสถานอยู่ทางทิศเหนือก็เรียกกว่า วัดเหนือ ต่อมาก็ได้เรียกชื่อวัดตามจำนวนคณะศรัทธาที่ไปทำบุญที่วัด วัดชัยสถิตมีคณะศรัทธามากกว่าจึงเรียกว่า วัดหลวง ส่วนวัดชัยสถานมีคณะศรัทธาน้อย จึงเรียกว่า วัดน้อย ต่อมาได้เรียกกันว่าป่าเสร้าน้อย และป่าเสร้าหลวง


ชุมชนชนบท

ชุมชนป่าเสร้าหลวงเป็นที่ตั้งของศาสนสถานที่สำคัญ คือ วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย) นอกจากนี้ ยังเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านการสืบสานภูมิปัญญาหมอเมืองและการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมล้านนา คือ กลองสะบัดชัยของกลุ่มเยาวชนศิษย์วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย)

ป่าเสร้าน้อย
หมู่ที่ 8
สันปูเลย
ดอยสะเก็ด
เชียงใหม่
50220
18.807144414784247
99.07920310925036
เทศบาลตำบลสันปูเลย

ความเป็นมาของชุมชนบ้านป่าเสร้าน้อย

สิบตรีเหรียญ มโนราษฎร กล่าวว่า ตั้งแต่เดิมนั้น ชาวบ้านเรียกป่าเสร้า คือ “ป่าเซา” สถานที่แห่งนี้เป็นป่าไม้เสร้า มีครอบครัวที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ประมาณ 30 ครัวเรือน ในสมัยนั้นการเดินทาง เมื่อก่อนนั้นเวลาจะไปไหนมาไหนก็ลำบาก จะต้องเดินเท้ากัน และมีการใช้วัวล้อเกวียน เป็นยานพาหนะเข้าออกผ่านหมู่บ้านแห่งนี้เพราะหมู่บ้านแห่งนี้เป็นทางผ่านเดียวก่อนที่จะเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ สำหรับผู้ที่เดินทางไปมา เมื่อมาถึงป่าไม้เสร้านี้ก็จะต้องแวะพักคลายร้อนเพื่อพักให้หายเหนื่อย เพราะที่แห่งนี้เต็มไปด้วยป่าไม้เสร้าที่มีความสงบและร่มรื่น เย็นสบาย ผู้คนที่ผ่านไปมาก็ต้องแวะให้หายเซา (เซา แปลว่า เหนื่อย) พอหายเซาแล้วก็จะพากันเดินทางต่อไป 

เมื่อ พ.ศ. 2523 ป่าเสร้าน้อย เดิมอยู่ในหมู่ที่ 5 เมื่อเริ่มมีบ้านเรือนสร้างขึ้น ประมาณ 70 กว่าเรือน และมีจำนวนราษฎรเพิ่มมากขึ้น การปกครองไม่ทั่วถึง พ่อกำนันได้ปรึกษาหารือกัน เพื่อขอแยกหมู่บ้านออกมาเป็น หมู่ 12 โดยจะใช้ชื่อว่า “บ้านป้าเสร้าน้อย” โดยมีวัดป่าเสร้าน้อย และโรงเรียนบ้านป่าเสร้าอยู่ที่เดิมมาก่อนแล้ว

ประวัติของวัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย)

วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2440 เป็นวัดร้างโบราณ มีพระกลิ้งมาบูรณะ และชักชวนชาวบ้านตั้งเป็นวัดขึ้น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2480 วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย) ตั้งอยู่เลขที่ 65 บ้านป่าเสร้าน้อย หมู่ที่ 12 ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 75 ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือประมาณ 2 เส้น 15 วา จดโรงเรียนบ้านป่าเสร้า ทิศใต้ประมาณ 2 เส้น 15 วา จดทุ่งนา ทิศตะวันออกประมาณ 2 เส้น 2 วา จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันตกประมาณ 2 เส้น 10 วา จดโรงเรียนบ้านป่าเสร้า ตามที่ระบุในแบบกรอกประวัติวัด เขตวิสุงคามสีมากว้าง 9.90 เมตร ยาว 17 เมตร เดิมแล้วชื่อวัดป่าเสร้า แต่วัดป่าเสร้ามีด้วยกัน 2 วัดชาวบ้านจึงต้องเรียกชื่อให้มีความแตกต่าง เรียกตามทิศที่ตั้งของวัด วัดชัยสถิตอยู่ทางทิศใต้ก็เรียกว่า วัดใต้ วัดชัยสถานอยู่ทางทิศเหนือก็เรียกกว่า วัดเหนือ ต่อมาก็ได้เรียกชื่อวัดตามจำนวนคณะศรัทธาที่ไปทำบุญที่วัด วัดชัยสถิตมีคณะศรัทธามากกว่าจึงเรียกว่า วัดหลวง ส่วนวัดชัยสถานมีคณะศรัทธาน้อย จึงเรียกว่า วัดน้อย ต่อมาได้เรียกกันว่า ป่าเสร้าน้อย ป่าเสร้าหลวง การบริหารและการปกครองของวัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย) คือ

  • รูปที่ 1 พระอธิการกลิ้ง
  • รูปที่ 2 พระอธิการดี
  • รูปที่ 3 พระบุญสม
  • รูปที่ 4 พระอ้าย
  • รูปที่ 5 พระคำมูล
  • รูปที่ 6 พระบุญมี
  • รูปที่ 7 พระบุญธรรม
  • รูปที่ 8 พระอธิการดวงตา
  • รูปที่ 9 พระสมัคร (พ.ศ. 2516-2519)
  • รูปที่ 10 พระอินปัน (พ.ศ. 2519-2520)
  • รูปที่ 11 พระสวัสดิ์ (พ.ศ. 2521-2522)
  • รูปที่ 12 พระอธิการนิเวศน์ ปภงฺกโร
  • ปัจจุบัน คือ พระครูประภัศร์ ชัยคุณ ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2523 เป็นต้นมา และได้เปิดศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอน พ.ศ. 2520 นอกจากนี้มีที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน

ความเป็นมาของชุมชนบ้านป่าเสร้าหลวง

ส่วนความเป็นมาของหมู่บ้านป่าเสร้าหลวงซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลสันปูเลย เป็นตำบลขนาดใหญ่อยู่ในเขตอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มคนพื้นเมืองภาคเหนือดั้งเดิม กลุ่มชาวไทใหญ่ที่อพยพย้ายถิ่นมาแต่โบราณและได้สร้างถิ่นฐานในพื้นที่ กลุ่มประชากรแฝง คือกลุ่มผู้มีสำมะโนครัวในทะเบียนพื้นที่อื่น แต่ได้มาพักพิงอาศัยในเขตพื้นที่ตำบลสันปูเลย เพื่อประกอบอาชีพ หรือทำกิจการต่าง ๆ อาชีพส่วนใหญ่ของประชาชนตำบลสันปูเลยได้แก่ อาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ทำสวน ทำไร่ ปลูกผลไม้ อาชีพค้าขาย อาชีพอิสระ และรับราชการ โดยมีความหลากหลายของคนในชุมชนเนื่องด้วยเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท มีระบบคมนาคมที่สะดวกและห่างไกลจากอำเภอเมืองเชียงใหม่เพียง 12 กิโลเมตร และด้วยมีสภาพบ้านเรือนแต่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก ด้วยมีบ้านจัดสรรเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้มีประชาชนย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ มีการเจริญด้านพาณิชย์ การค้าขาย ตลาดสด ตลาดนัด ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงหน่วยงานราชการอื่น โรงเรียน สถานศึกษา องค์กรอิสระ ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ต้นไม้ประจำตำบลสันปูเลย ได้แก่ ต้นแกนา

ต้นแคนา หรือแคป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูบของลำต้นได้ถึง 10-20 เมตร ลำต้นตรง มักแตกกิ่งต่ำ เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมสีเทาและอาจมีจุดดำประ ผิวต้นเรียบหรือล่อนเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำราก โดยสามารถพบต้นแคนาได้ตามป่า ตามทุ่ง ตามไร่นา และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ประกอบกับในพื้นที่บริเวณนี้มีสภาพเป็นสันเขาเตี้ย ๆ ก่อนจะมีการปรับสภาพเป็นเขตชุมชน จึงมีการพัฒนาด้านคมนาคม การตัดผ่านของถนน และการสร้างบ้านแปงเมือง จึงมีสภาพที่เปลี่ยนไป “คำว่าสัน” หมายถึง ที่สันดอนหรือภูเขาเตี้ยๆ เป็นที่เนิน ไม่เสมอราบเรียบ และในพื้นที่มีต้นปูเลยขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปเรียกต้นไพล หรือต้นปูเลย จึงเป็นที่มาของชื่อตำบล “สันปูเลย” เช่นเดียวกับ “สันนาเม็ง” สันคะยอม” “สันกลาง” ต้นไพลหรือต้นปูเลย เป็นไม้ล้มลุกมีความสูงประมาณ 0.7-1.5 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เปลือกมีสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อด้านในมีสีเหลืองและเหลืองแกมเขียว แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ โดยจะประกอบได้ด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันอยู่ เหง้าไพลสดฉ่ำน้ำ รสฝาด เอียด ร้อนซ่า มีกลิ่นเฉพาะ ส่วนเหง้าแก่สดและแห้งจะมีรสเผ็ดเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด แง่งหรือเหง้า แต่โดยทั่วไปแล้วจะใช้ส่วนขอเหง้าเป็นท่อนพันธุ์ในการเพาะปลูก พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียแถบประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย 

เทศบาลตำบลสันปูเลยมีเนื้อที่ประมาณ 19.09 ตารางกิโลเมตร (11,875 ไร่) มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและทำนา พื้นที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น สลับร้อนแห้งแล้ง หรือฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู 

อาณาเขตและที่ตั้ง

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ เทศบาลตลาดขวัญ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เทศบาลสันกลาง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทศบาลสำราญราษฎร์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เทศบาลสันพระเนตร

ลักษณะภูมิอากาศ 

เทศบาลตำบลสันปูเลยมีสภาพอากาศเย็นและร้อนผสมกัน แบ่งได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25.0-36.2 องศาเซลเซียส, ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 22.2-32.7 องศาเซลเซียส และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 15.7-30.0 องศาเซลเซียส

จำนวนประชากร และจำนวนครัวเรือนชุมชนป่าเสร้าน้อย มีประชากรประมาณ 1,575 คน จำนวนครัวเรือน 1,281 ครัวเรือน ประชากรแบ่งเป็น ชาย 732 คน และเป็นหญิง 843 คน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ประวัติผู้ถ่ายทอดการตีกลองสะบัดชัย

1. ผู้ถ่ายทอดการตีกลองสะบัดชัยโบราณ: พ่อครูมานพ ยาระณะ

ผู้ถ่ายทอดการตีกลองสะบัดชัยโบราณ คือ พ่อครูมานพ ยาระณะ หรือชื่อเรียกอีกชื่อ พ่อครูพัน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2474 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 บิดาชื่อนายคำปัน ยาระณะ อาชีพรับราชการครู มารดาชื่อนางบัวเขียว ยาระณะ อาชีพ ค้าขาย ภรรยาชื่อนางสมัย ยาระณะ (ไชย์วงศ์)

มีบุตรสาว 1 คน คือ นางสาวชลธาร ยาระณะ พ่อครูมานพ ยาระณะ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดศรีดอนไชย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสนใจ และศึกษาศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนามาตั้งแต่เด็กจนมีความเชี่ยวชาญ ศิลปะการฟ้อน ศิลปะการต่อสู้ การตีกลองสะบัดชัยโบราณ การตีกลองปูเจ่ การตีกลองปูจา ดนตรีพื้นบ้านล้านนา และดนตรีไทย 

พ่อครูมานพ ยาระณะ เป็นผู้ประดิษฐ์กระบวนท่าฟ้อนผางขึ้นใหม่ จนเป็นแบบฉบับของการทำตำราเรียนให้กับวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ เป็นผู้มีความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ตนเองมีอยู่ให้กับลูกหลาน เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสาน ศิลปะการแสดงล้านนาให้ยั่งยืนคงอยู่

พ่อครูมานพ ยาระณะ เป็นผู้แสดง และนำลูกศิษย์ไปแสดงในงานบุญประเพณีต่าง ๆ ที่หน่วยงานราชการ และเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และยังให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาตามสถาบันการศึกษา โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และบ้านของตนเอง เป็นเวลามากกว่า 60 ปี โดยไม่มีการเรียกร้องค่าเล่าเรียนใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลทางวิชาการด้านศิลปะพื้นบ้านล้านนานำเสนอทางหนังสือ และวีดิทัศน์ 

พ่อครูมานพ ยาระณะยังเป็นผู้มีผลงานการแสดงที่โดดเด่น มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนเอง และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นศิลปินดีเด่นจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรางวัลเพชรราชภัฏ-เพชรล้านนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติจากสภาการศึกษา เป็นครูภูมิปัญญา รุ่นที่ 3 พ่อครูมานพ ยาระณะ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) พ.ศ. 2548

ผลงานการแสดงล้านนาของพ่อครูมานพ ยาระณะ ได้แก่ การฟ้อนดาบ การฟ้อนหอก การฟ้อนเจิง การตีกลองสะบัดชัยโบราณ การตีกลองปูเจ่ การตีกลองก้นยาว การตีกลองมองเซิง ศิลปะการตีฉาบ การฟ้อนผาง (ผางประทีป) 

2. ผู้ถ่ายทอดการตีกลองสะบัดชัยวิวัฒนาการ: พ่อครูคำ กาไวย์

นายคำ กาไวย์ หรือชื่อเรียกอีกชื่อ พ่อครูคำ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2477 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 บิดาชื่อนายอ้าย กาไวย์ มารดาชื่อนางแก้ว เรือนมูล มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 3 คน พ่อครูคำ กาไวย์ เป็นบุตรคนสุดท้อง สมรสกับ นางคำ สวนหมาก เมื่อปี พ.ศ. 2497 มีบุตรชายหญิงรวมกัน 4 คน เมื่อเรียนจบชั้นประโยคประถมศึกษาแล้วไม่ได้เรียนต่อ เมื่อได้พบเห็นการแสดงพื้นเมืองล้านนา ตามงานรื่นเริงต่าง ๆ มีความสนใจเป็นพิเศษใน “การตีกลองสะบัดชัย” พยายามที่จะสมัครเข้าฝึกหัดกับคณะต่าง ๆ แต่ก็ไม่มีโอกาส จนในที่สุดด้วยความสนใจและตั้งใจ พ่อครูคำ กาไวย์ กลายเป็นคนตีกลองประจำศรัทธาวัดเอรัณฑวัน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

พ่อครูคำ กาไวย์ เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สืบสาน พัฒนา และสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาด้วยความรัก อีกทั้งยังทุ่มเทจนเป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไปว่าเป็นศิลปินที่มีความเชี่ยวชาญอย่างสูงยิ่งในด้านการฟ้อนรำพื้นบ้านล้านนา พ่อครูคำ กาไวย์ นอกจากจะเป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญในด้านการตีกลองสะบัดชัยวิวัฒนาการ ยังเป็นศิลปินที่ได้รับการยกย่องสูงเด่นของล้านนา พ่อครูคำ กาไวย์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) ประจำปี พ.ศ. 2535 และยังมีความคิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์ กระบวนฟ้อนรำแบบล้านนาที่มีชื่อเสียงหลายชุด ผลงานการแสดงล้านนาของพ่อครูคำ กาไวย์ เช่น ฟ้อนสาวไหมชาย-หญิง ฟ้อนเครื่องเขิน ฟ้อนวี ฟ้อนดาบ ฟ้อนโคมผัด กลองปูเจ่ กลองขุดดิน การตีกลองสะบัดชัยวิวัฒนาการ การตีกลองมองเซิง เป็นต้น 

3. ผู้ถ่ายทอดการตีกลองสะบัดชัย: ครูมงคล เสียงชารี 

ครูมงคล เสียงชารี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2502 ที่อยู่ปัจจุบันอาศัยอยู่หมู่ที่ 4 บ้านป่าคา ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บิดาชื่อนายขอม เสียงชารี มารดาชื่อนางบัวจิ๋น เสียงชารี เป็นบุตรคนที่ 5 ในพี่น้อง 6 คน คือ ครูปารณี เสียงชารี, ครูทองเนตร เสียงชารี, ครูโสภิตรา เสียงชารี, นางไพรบูลย์ พนมมิตร, ครูมงคล เสียงชารี และนายชนุตณรงค์ เสียงชารี

ครูมงคล เสียงชารี ได้เรียนสำเร็จในระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบ้านเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากเรียนจบแล้ว มีแรงบันดาลใจ มีความรักในการแสดงพื้นบ้าน และมีความชื่อชอบการแสดง เช่น ศิลปะการป้องกันตัว และการตีกลองล้านนาทุกประเภท จึงมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนศิลปะการแสดง ครูมงคล เสียงชารี จึงได้เข้าสมัครศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาวิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในขณะเดียวกัน ได้เรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแสดงพื้นบ้านกับพ่อครูมานพ ยาระณะ โดยในการไปเรียนนั้นสมัยก่อน การจะถ่ายทอดวิชานั้นไม่ได้ให้กันง่าย ๆ โดยผู้สอนจะคอยสังเกตว่า ผู้เรียนอยากจะได้วิชาจริง ๆ จนพ่อครูมานพ ยาระณะ จึงเริ่มสอนวิชาการต่อสู้และการตีกลอง เช่น กลองชัยมงคล กลองปูจา กลองปูเจ่ และกลองมองเซิง เมื่อครูมงคล เสียงชารี เรียนจบในระดับมัธยมศึกษา จึงสอบวิชาชุดครูมัธยมพิเศษของคุรุสภา และเริ่มเข้ารับราชการเป็นครูสอนในวิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ ศิลปะที่ ครูมงคล เสียงชารี ได้รับจากพ่อครูมานพ ยาระณะ ได้แก่ศิลปะการตีกลองชัยมงคล กลองปูจา กลองสะบัดชัย กลองปูเจ่ กลองมองเซิง กลองทิงบ้อง กลองซิ่งม่อง เจิงดาบ เจิงหอก เจิงไหมคำ มวยไทย มวยดาวเหนือ เป็นต้น

ครูมงคล เสียงชารี ได้ไปศึกษาองค์ความรู้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนากับพ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2535 ได้แก่ กลองขุมดิน กลองสะบัดชัย ฟ้อนปั่นฝ้าย ฟ้อนโคมผัด ฟ้อนวี ฟ้อนดาบ เป็นต้น

กลุ่มเยาวชนศิษย์วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย) ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

พระนคร ปัญญาวชิโร (ปรังฤทธิ์) กล่าวว่า สืบเนื่องจากปี พ.ศ. 2519 วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย) ได้เปิดดำเนินการเรียนการสอนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เยาวชนในท้องถิ่น โดยมีพระครูประภัศร์ชัยคุณ เจ้าอาวาสวัดชัยสถาน เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการเรียนการสอน เมื่อปี พ.ศ. 2543 พระนคร ปัญญาวชิโร (ปรังฤทธิ์) ซึ่งเป็นครูผู้สอนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดชัยสถาน ได้ดำเนินการสอนศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนาขึ้นเพื่อเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร พระนคร ปัญญาวชิโร ยังได้กล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนาสามารถใช้เป็นสื่อในการขัดเกลาจิตใจของเยาวชนให้เป็นคนดี ห่างไกลจากยาเสพติด และยังจะเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนมีความรัก ความหวงแหน และความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีกด้วย จึงดำเนินการสอนศิลปะการฟ้อนดาบขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 โดยเชิญนางอรพิน กล้าผจญ มาเป็นครูผู้สอนต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ได้เริ่มการฝึกสอนศิลปะการตีกลองสะบัดชัยแบบวิวัฒนาการหรือแบบสมัยใหม่ โดยมีคณะลูกศิษย์วัดศรีประดิษฐ์ (ป่าคา) อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ด้วยความที่ศิลปะการตีกลองสะบัดชัยแบบวิวัฒนาการเป็นการแสดงที่ตื่นเต้น สามารถเร้าความสนใจจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการเป็นผู้มีใจรักในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนาของกลุ่มเยาวชนดังกล่าว ทำให้เกิดความอยากรู้ และอยากพัฒนาลีลาการตีกลองให้ดียิ่งขึ้น พระนคร ปัญญาวชิโร ยังได้กล่าวในฐานะผู้ดูแล และผู้ดำเนินโครงการจึงได้นำกลุ่มเยาวชนได้ไปขอศึกษาศิลปะการตีกลองสะบัดชัยแบบวิวัฒนาการจาก พ่อครูมานพ ยาระณะ (พ่อครูพัน) แต่เนื่องจากพ่อครูมานพ ยาระณะ มีความชำนาญศิลปะการตีกลองสะบัดชัยแบบโบราณ จึงไม่สามารถสอนให้ได้ จึงมอบให้อาจารย์มงคล เสียงชารี อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ทำการสอนแทน โดยมีนางสาวอัญชัน ชนะเลิศ ลูกศิษย์พ่อครูมานพ ยาระณะ เป็นผู้สอนลีลาการล่อฉาบ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2544 พระนคร ปัญญาวชิโร และอาจารย์มงคล เสียงชารี ได้นำกลุ่มเยาวชนไปรดน้ำดำหัว และฝากตัวเป็นศิษย์กับพ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2535 เพื่อศึกษาลีลาการตีกลองสะบัดชัยแบบวิวัฒนาการเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งจนเกิดความชำนาญ

เมื่อศึกษาศิลปะการตีกลองสะบัดชัยแบบโบราณ จนคล่องแล้วก็ได้ศึกษาศิลปวัฒนธรรมด้านอื่นๆ จากพ่อครูมานพ ยาระณะ เพิ่มเติมอีก เช่น ศิลปะการตีกลองปูจา ศิลปะการตีกลองปูเจ่ ศิลปะการฟ้อนดาบ ศิลปะการฟ้อนหอก และศิลปะการฟ้อนผาง เป็นต้น ในปัจจุบันกลุ่มเยาวชนศิษย์วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย) ยังคงมีการสืบสานต่อมาถึงปัจจุบัน โดยมีการสอนรุ่นต่อรุ่น หรือพี่สอนน้อง และยังสอนให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่สนใจจะเรียนการตีกลองสะบัดชัย

ประวัติความเป็นมาของกลองสะบัดชัยของกลุ่มเยาวชนศิษย์วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย) 

เจ้าอาวาส พระครูประภัศร์ ชัยคุณ กล่าวว่าเนื่องจากปลายปี พ.ศ. 2542 เจ้าอาวาสวัดชัยสถาน หรือพระครูประภัศร์ชัยคุณ ได้มีดำริที่จะจัดตั้งคณะกลองสะบัดชัยขึ้น จึงได้จัดซื้อกลองสะบัดชัย อุปกรณ์การแสดงชุดหนึ่ง และมอบหมายให้ครูธวัช พรหมวิจารณ์ โรงเรียนบ้านป่าเสร้าเป็นผู้ดูแล โดยครูธวัช ได้เชิญอาจารย์มงคล เสียงชารีจากวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่มาเป็นวิทยากร ในวันแรกที่ทำการไหว้ครูและปูพื้นฐานการตีกลองสะบัดชัย ได้เกิดลมพัดมีฝนตกอย่างแรง จึงทำให้ต้องย้ายสถานที่ไปสอนที่อาคารโรงเรียนบ้านป่าเสร้า หลังจากที่ได้มีการปูพื้นฐานแล้วได้ขาดผู้ดูแล ทำให้การฝึกซ้อมห่างหายไประยะหนึ่ง

พระนคร ปัญญาวชิโร ให้ข้อมูลว่าต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2543 พระนคร ปัญญาวชิโร และนายกำจัด คำใจ ได้ไปติดต่อคณะกลองจากวัดศรีประดิษฐ์ (ป่าคา) ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นวิทยากรสอนศิลปะการตีกลองสะบัดชัยสืบต่อจากดำริอาจารย์เจ้าอาวาสได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์พระมหาจรูญ เจ้าอาวาสวัดศรีประดิษฐ์ได้จัดส่งลูกศิษย์ 3 คน มาเป็นผู้ฝึกสอน ได้แก่ คุณเกริกฤทธิ์ สล่าปัน (ชา), คุณเกรียงศักดิ์ บัวบาล (แอ) และคุณสมพร สมรูป การฝึกสอนเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 มีนักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่มีความสนใจเข้าร่วมการฝึกสอนจำนวน 20 คน

ภาษาเหนือ (เชียงใหม่) หรือคำเมือง ร่วมกับการใช้ภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Map. (2561). สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2561, จาก https://goo.gl/maps/

คณะกลองเยาวชนศิษย์วัดชัยสถาน-ป่าเสร้าน้อย. (2556). สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2561, จาก https://www.facebook.com/klongsabudchaipasaonoi/photos/

ต้นตะวัน สุวรรณศรี. (2561). การผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสืบสานศิลปะการแสดงตีกลองสะบัดชัย กรณีศึกษากลุ่มเยาวชนศิษย์วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย) อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

เทศบาลตำบลสันปูเลย. (2559). สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2561, จาก http://www.splmu.go.th/

วัดชัยสถาน (ป่าเสร้าน้อย), สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2561, จาก http://www.pasaonoi.com/

พระนคร ปัญญาวชิโร (ปรังฤทธิ์). สัมภาษณ์, 29 สิงหาคม 2561.

มงคล เสียงชารี. สัมภาษณ์, 8 กันยายน 2561.