บ้านแหลมนก ชุมชนชาวประมงปลายแหลมอ่าวปัตตานี มีการทำประมงหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การประมงทะเล การประมงพื้นบ้าน การเพาะเลี้ยงหอยแครง และการแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าจากการประมง อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของลานนกกระยาง สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชุมชนเสริมสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาวบ้านเกาะนก
การตั้งชื่อของหมู่บ้านได้มาจากการฝูงนก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงนกหลากหลายชนิด ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “บ้านแหลมนก” มาจนถึง ณ ปัจจุบัน
บ้านแหลมนก ชุมชนชาวประมงปลายแหลมอ่าวปัตตานี มีการทำประมงหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การประมงทะเล การประมงพื้นบ้าน การเพาะเลี้ยงหอยแครง และการแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าจากการประมง อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของลานนกกระยาง สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชุมชนเสริมสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาวบ้านเกาะนก
บ้านแหลมนกเป็นชุมชนประมงที่เกิดขึ้นใหม่หลังปี พ.ศ.2523 สืบเนื่องจากทางจังหวัดปัตตานีได้กําหนดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด โดยตามแผนได้กําหนดให้จัดทําท่าเทียบเรือประมงขนาดใหญ่ขึ้น ทําให้กลุ่มชาวประมงและลูกเรือประมงขนาดใหญ่ที่เคยมาแวะพักและตั้งหลักแหล่งในบริเวณหลังบ้านรองผู้ว่า (บริเวณปากน้ำ) ซึ่งเป็นชาวประมงที่ย้ายมาจากอําเภอปะนาเระที่มีฐานะยากจนมาก และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นลูกเรือประมงที่มาแวะพักเป็นการชั่วคราว จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าบริเวณอ่าวปัตตานีมีความเหมาะสมในการทําอาชีพประมง จึงได้ย้ายครอบครัวซึ่งอยู่ต่างจังหวัดมาร่วมอยู่ด้วย โดยสร้างที่พักเป็นเพิงขนาดเล็ก หรือบ้านที่มีลักษณะรื้อถอนได้ง่าย และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นชาวประมงที่อาศัยอยู่ในบริเวณท่าเรือน้ำลึกซึ่งจะมีชาวประมงจากจังหวัดต่าง ๆ มาอาศัยอยู่ เช่น ชาวปานาเระ เพชรบุรี สงขลา และนครศรีธรรมราช จนเมื่อจังหวัดปัตตานีได้กําหนดแผนในการพัฒนาดังกล่าว จึงได้จัดย้ายกลุ่มคนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวออกนอกพื้นที่ไปอยู่ที่หมู่บ้านแหลมนก ในเนื้อที่ทั้งหมด 800 ไร่ ชาวบ้านใช้เป็นที่อยู่อาศัย 60 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่ทํานาเกลือ และด้วยหมู่บ้านแห่งนี้อยู่ใกล้กับท่าเทียบเรือประมง ชาวบ้านทั้งสองกลุ่มประกอบอาชีพในกิจกรรมการประมงทั้งสิ้น ประกอบกับแหลมนกเป็นพื้นที่ที่ยื่นออกไปในทะเลเป็นพื้นดินตกตะกอนและมีนกอาศัยชุกชุมมาก เป็นป่าเสม็ดมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำท่วมขัง และมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก จังหวัดจึงได้เลือกแหลมนกเป็นพื้นที่ที่ให้ชาวบ้านอพยพมาอยู่ โดยได้จัดแบ่งพื้นที่ให้เป็นล็อก ล็อกหนึ่งกว้างประมาณ 200 ตารางวา ราคาค่าเช่าที่ล็อกละ 35 บาทต่อปี (ต่อมาค่าเช่าที่ได้ปรับเป็น 600 บาทต่อปี)
บ้านที่สร้างอยู่อาศัยในอดีตส่วนใหญ่จะสร้างลักษณะเป็นเพิงพออยู่ได้ เส้นทางการคมนาคมเป็นถนนดินแดง ไม่มีน้ำและไฟใช้ ในช่วงแรกจะมีผู้มาอยู่อาศัยประมาณ 30-50 ครัวเรือน หลังจากนั้นมีลูกเรือประมง ชาวประมงและผู้คนจากหลากหลายอาชีพเข้ามาอยู่อาศัย เพราะค่าเช่าที่ดินบริเวณนี้มีราคาถูก และสามารถ ประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น อาชีพประมง ธุรกิจส่วนตัวที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง ค้าขาย และรับจ้าง เกี่ยวกับการประมง เช่น ผู้ชายจะดําหอยวางอวนปลากระบอก ลากหอย วางลอบ วางเบ็ด วางอวน ค้าขาย และ รับจ้างทั่วไป ส่วนผู้หญิงนอกจากเป็นแม่บ้านแล้ว ก็จะรับจ้างทําปลาหมึก ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านแหลมนก หมู่ที่ 9 เป็นส่วนหนึ่งของตําบลบานา อําเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ตรงปลายแหลมในบริเวณด้านอ่าวปัตตานี มีเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่อื่น ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดทะเลอ่าวปัตตานี
- ทิศใต้ ติดหมู่ที่ 3 ตำบลบานา และนาเกลือ
- ทิศตะวันออก ติดหมู่ที่ 3 ตำบลบานา และทะเลอ่าวปัตตานี
- ทิศตะวันตก ติดหมู่ที่ 8 ตำบลบานา ลําคลอง และนากุ้ง
บริเวณชุมชนมีอาณาเขตส่วนใหญ่ล้อมรอบด้วยทะเล ซึ่งเดิมพื้นที่จะเป็นนาเกลือร้างที่ชาวบ้านชุมชนดั้งเดิมในบริเวณใกล้เคียงมาใช้ประโยชน์ทํานาเกลือ เช่น ชุมชนตันหยงลูโต๊ะ และชุมชนอื่น ๆ ในตําบลบานา
การคมนาคม
ถนนสาธารณะที่ใช้สัญจรเข้าไปในชุมชนบ้านแหลมนก เป็นถนนที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 มีลักษณะเป็นถนนดินลูกรัง แต่เดิมเป็นถนนที่หมู่บ้านตันหยงลูโต๊ะใช้ในการขนถ่ายเกลือ ชาวบ้านในชุมชนแหลมนกได้มาตั้งที่อยู่อาศัยใน พ.ศ. 2523 จึงได้อาศัยใช้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสัญจรคมนาคมกับภายนอกชุมชน แต่ลักษณะของเส้นทางเป็นทางเดินถนนดิน ช่วงฤดูฝนการสัญจรไปมาภายนอกชุมชนไม่สะดวกและยากลําบากมาก เป็นหลุมเป็นบ่อ น้ำท่วมขังตลอดเส้นทาง และในช่วงฤดูแล้งจะมีฝุ่นละออง หากจะเดินทางติดต่อภายนอกชุมชนจะต้องเตรียมเสื้อผ้าสองชุดเพื่อจะได้นําไปเปลี่ยน เพราะเสื้อผ้าที่สวมใส่จะสกปรก เปรอะเปื้อนด้วยโคลนและฝุ่นเป็นอย่างมาก และชาวบ้านไม่มีรถรับส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือในตัวเมืองต้องเดินเท้าออกไปเรียนหนังสือในตัวอําเภอซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินมาก เพราะเส้นทางสายนี้มีความเปลี่ยวเนื่องจากมีซ่องโสเภณี ต่อมาในปี พ.ศ.2535 กรมทางหลวงเริ่มทําถนนลาดยางแอลฟัคต์ สายนาเกลือไปนราธิวาส และได้ลาดยางไปจนถึงชุมชนบ้านแหลมนก ทําให้การคมนาคมของชาวบ้านแหลมนกมีความสะดวกมากขึ้นตามลำดับ
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากร หมู่ที่ 9 บ้านแหลมนก ตำบลบานา มีจำนวนประชากร 1,361 โดยแยกเป็นประชากรชาย 643 คน ประชากรหญิง 718 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 485 ครัวเรือน
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง จึงมักเลือกตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมคลองและริมทะเล เพราะสามารถทําการประมงได้ทั้งในลําคลองและอ่าวปัตตานีและน่านน้ำอ่าวไทย อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับบริเวณท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ คือ ท่าเทียบเรือปัตตานี ซึ่งเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดอาชีพที่หลากหลาย โดยการทำประมงของชาวบ้านแหลมนกนั้นมีอยู่หลายลักษณะทั้งประมงทางทะเล ประมงพื้นบ้าน การเพาะเลี้ยงหอยแครง และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการประมง ดังนี้
การประมงทางทะเล บ้านแหลมนกมีชาวบ้านที่ทําประมงการทะเล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเจ้าของเรือประมง (เจ้าของแพ) ซึ่งชาวบ้านกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่ย้ายถิ่นมาจากจังหวัดริมทะเลภาคกลาง ดั้งเดิมเคยเป็นลูกเรือประมงพาณิชย์มาก่อน และกลุ่มลูกเรือประมง เป็นชาวบ้านที่ย้ายถิ่นมาจากภาคอีสาน ประเทศพม่า และเขมร
การประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านที่ทําประมงพื้นมีจํานวนมาก ซึ่งเป็นชาวบ้านกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลามที่ย้ายถิ่นมาจากจังหวัดต่าง ๆ จังหวัดในภาคใต้ และกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่ย้ายถิ่นมาจากแหล่งต่าง ๆ ที่อยู่ริมทะเลในจังหวัดปัตตานี โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำประมงพื้นบ้านมีอยู่หลายชนิดตามประเภทของสัตว์น้ำที่ต้องการจับ เช่น อวนลอยกุ้ง สำหรับจับกุ้งแชบ๊วย กุ้งหวาย อวนจมปู สำหรับจับปูม้า อวนลอยกุ้ง 3 ชั้น สำหรับจับกุ้งขาว กุ้งหวาย กุ้งหัวมัน อวนปลาทราย อวนปลากระเบน อวนปลาหมึก อวนลอยกุ้งกลางคืนหรืออวนใย อวนปูดำ เหล็กเกี่ยวปูม้า ฉมวกแทงกุ้ง โพงพาง สำหรับจับกุ้งเคย กุ้งแสม กุ้งขาวเล็ก หยองปูดำ แหกุ้ง แหปลา
การเพาะเลี้ยงหอยแครง โดยหอยแครงที่นิยมเลี้ยงทั่วไป คือ หอยแครงเทศ หอยแครงชุ่ย หอยแครงปากซุ้ม หอยแครงมันหรือหอยแครงเบี้ยว เป็นหอยขนาดใหญ่ไม่มากนัก ชอบฝังตัวอยู่ตามชายหาดโคลนหรือเลนละเอียดในบริเวณชายฝั่งทะเลจนถึงแนวที่อยู่ห่างฝั่งออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร การเลือกทำเลในการเพาะเลี้ยงหอยแครงโดยปกติจะเลือกบริเวณชายฝั่งดินเลนที่มีหอยอยู่ตามธรรมชาติ และสามารถหาพันธุ์หอยได้ง่าย รูปแบบการเลี้ยง มี 2 รูปแบบคือ การเลี้ยงแบบดั้งเดิมและการเลี้ยงแบบพัฒนา การเตรียมแปลงเลี้ยง การรวบรวมพันธุ์หอยแครง และการหว่านลูกหอยลงแปลงเลี้ยง มีวิธีการดังนี้
- แยกลูกหอยแครงออกจากเศษขยะและวัสดุต่าง ๆ ทําความสะอาดนําไปบรรจุในถุงปุ๋ย ถุงละประมาณ 60 กิโลกรัม ใช้น้ำทะเลราดกระสอบจนชุ่มจึงเย็บปากถุง
- นําถุงลูกหอยขึ้นบรรทุก ใช้ด้านยาวของกระสอบขวางตัวรถ และไม่คลุมถุงหอยจนทึบ สามารถให้ลมผ่านไปมาได้สะดวก
- ไม่ควรให้ลูกหอยสัมผัสกับน้ำจืดหรือแดดโดยเด็ดขาด
- ระยะเวลาในการลําเลียงลูกหอยไม่ควรเกิน 36 ชั่วโมง ตั้งแต่บรรจุจนถึงแปลงหว่าน
- ชั่งน้ำหนักหอยทั้งกระสอบ
- นําลูกหอยออกมาชังให้ได้น้ำหนัก 1 กิโลกรัม แล้วนับจํานวนลูกหอย
- จดขนาดแปลงหอยที่แบ่งได้
- ทราบความต้องการหว่านหอยในอัตราความหนาแน่น ตัว/ตารางเมตร หอยขนาดเล็ก 1,500 ตัว/กิโลกรัมขึ้นไป หว่านในอัตรา 600 ตัว/ตารางเมตร หอยที่มีขนาดโต หว่านในอัตรา 300-500ตัว/ตารางเมตร คํานวณการใช้หอยต่อแปลง (400x400 = 160,000 ตัว หรือ 6.6 กระสอบ)
การแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงของชุมชนแหลมนกที่มีมาก คือ กุ้งแห้งฝอย กุ้งแห้ง หมึกแห้ง ปลาเค็ม ข้าวเกรียบ ปลากะตักเค็ม กระเพาะปลา ปลาหวาน หูปลาฉลาม หูปลาโรนัน หอยแครงต้ม และอื่น ๆ การทําผลิตภัณฑ์ประมงเป็นการนํากุ้ง หมึก ปลา หอย และสัตว์อื่น ๆ ที่จับได้มาแปรรูป หรือถ้าเป็นอุตสาหกรรมก็จะซื้อมาจากแพปลาที่ท่าเรือน้ำลึกซึ่งอยู่ใกล้กับชุมชนประมาณ 2-3 กิโลเมตร โดยปริมาณผลิตภัณฑ์แปรรูปขึ้นอยู่กับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้
นอกจากการทำประมง ชาวบ้านแหลมนกบางส่วนยังมีการประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นการขายสินค้าจากการประมงและผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ส่วนมากเป็นการขายของชำโดยจะขายในบ้านของตนเองเป็นหลัก อีกทั้งยังมีการรับจ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ เช่น ชาวพม่า และชาวเมียนมา ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแหลมนก และคนต่างจังหวัดที่เข้ามารับจ้างเพื่อทำการประมงหรือทำนาเกลือเป็นการสร้างรายได้และส่วนใหญ่จะเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเป็นครอบครัวเพื่อเป็นการประหยัดค่าเดินทางไป-กลับ
ตลาดอาหารทะเลแหลมนก
ตลาดอาหารทะเลแหลมนก เป็นตลาดที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลบานา เปิดจำหน่ายสินค้าเป็นประจำทุกวัน โดยมีสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน คือ อาหารทะเลสด อาหารทะเลแปรรูป และเกลือหวาน รวมทั้งเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน ของฝาก อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชาวประมงแหลมนก และสถานที่ท่องเที่ยวสะพานไม้บานา รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในจังหวัดปัตตานีด้วย
ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ได้แก่
- กะปิแกง น้ำพริก
- ปลาแห้ง ปลาหมึกแห้ง
- หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม
- เกลือหวาน
กิจกรรมตามประเพณีในชุมชน ได้แก่
- ประเพณีถือศีลอดเดือนรอมฎอน
- วันตรุษอีดิ้ลฟิตรี
- วันตรุษอีดิ้ลอัฏฮา (ประเพณีกรุบาน)
- ประเพณีกวนอาซูรอ
- กิจกรรมเมาลิดนบี
ลานนกกระยาง
บ้านแหลมนกมีสถานที่สำคัญที่ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชาวจังหวัดปัตตานี คือ ลานนกกระยาง สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเสริมสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ชื่อลานนกกระยาง มีที่มาจากพื้นที่บริเวณนี้ แต่เดิมมีนกกระยางจำนวนมากมาอาศัยอยู่อยู่และมาหากิน แต่เนื่องจากพื้นที่แถบนี้เมื่อก่อนเป็นโรงงาน ซึ่งมักถูกร้องเรียนบ่อยครั้งเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์จากโรงงาน หลังจากการประสานงานกับ อบจ.ปัตตานี ให้ย้ายโรงงานแถบนี้ไปอยู่ในแหล่งอุตสาหกรรม ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ จัดกิจกรรมนันทนาการ รวมทั้งเสริมสร้างรายได้เศรษฐกิจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ชุมชนบ้านแหลมนกได้ อีกทางหนึ่ง
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : อักษรไทย
ไฟฟ้า
เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บนที่ดินว่างเปล่า เจ้าของที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์การใช้ที่ดิน ดังนั้นในช่วงแรกภายในชุมชนจึงไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านอาศัยแสงสว่างจากเทียนไข ตะเกียงน้ำมันก๊าด หรือหากบ้านใดมีเรือกอและก็จะใช้ตะเกียงเจ้าพายุอัดแก๊สจากเครื่องยนต์ซึ่งให้แสงสว่างได้ดีกว่าบ้านอื่น ๆ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2529 ชาวบ้านที่มาอาศัยกลุ่มแรกได้มีหนังสือร้องทุกข์ขอให้มีไฟฟ้าใช้ แต่ตามหลักทางราชการผู้มีไฟฟ้าใช้จะต้องมีทะเบียนบ้าน ชาวบ้านทําเรื่องร้องทุกข์ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดออกทะเบียนบ้านให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้พิจารณาให้มีสําเนาทะเบียนบ้านกับผู้ที่ชําระค่าเช่าที่ดิน แต่เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนอ้างว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย ยากจนมากไม่สามารถชําระค่าเช่าได้ ทําให้ทางรัฐต้องกําหนดเงื่อนไขขึ้นมาเพื่อเป็นการต่อรองระหว่างรัฐกับชาวบ้าน จึงทําให้การติดตั้งระบบไฟฟ้าได้รับไม่ทั่วถึง ผู้ที่ได้รับทะเบียนบ้านจะขอติดตั้งไฟฟ้าได้ และจะต้องร่วมออกค่าใช้จ่ายในการติดตั้งกระแสไฟฟ้า คือ ค่าเสา ค่าสายหลัก (สายเมนท์) และอุปกรณ์บางส่วน เฉลี่ยแล้วหลังคาเรือนละ 100 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งค่ามิเตอร์ ค่าสวิตซ์ เบรกเกอร์ ค่าเสา ค่าสาย เฉลี่ยค่าใช้จ่ายครัวเรือนละประมาณ 750 บาท แต่ชาวบ้านบางส่วนที่ยังไม่มีทะเบียนบ้านก็ยังต้องใช้ไฟฟ้าที่ขอต่อจากบ้านของเพื่อนบ้าน โดยมีการรวมกลุ่มกันซื้อไฟฟ้าราคายูนิตละ 8 บาท ซึ่งต่างกับชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ในละแวกเดียวกันที่จ่ายค่าไฟฟ้าราคาเพียงยูนิตละ 5 บาท
ประปา
ในระยะแรกเริ่มมาตั้งถิ่นฐาน ชาวบ้านไม่มีน้ำจืดใช้ ชาวบ้านที่พอจะมีอุปกรณ์และรถจักรยานยนต์พ่วงข้างจะไปเอาน้ำจากสะพานปลาหรือนาน ๆ ครั้งจะมีรถน้ำจากส่วนราชการนําน้ำมาแจก ต่อมา ทางราชการได้มาเจาะบาดาลให้ใช้แบบโยก และเมื่อประมาณปี พ.ศ.2529 ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันซื้อน้ำประปาและต่อระบบน้ำประปาจากเรือนจํากลาง จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนประมาณกิโลเมตรกว่า โดยต่อท่อประปาและสร้างถังเก็บน้ำ และใช้เครื่องสูบน้ำต่อท่อประปาไปยังครัวเรือนต่าง ๆ ซึ่งจะคิดค่าติดตั้งระบบประปาครัวเรือนละ 150 บาท และค่าน้ำประปายูนิตละ 7 บาท แต่อย่างไรก็ตามปัญหาน้ำก็ยังมี คือ น้ำไหลไม่สม่ำเสมอและน้ำจะแดงเป็นคราบ แต่ราคาน้ำประปาก็ยังจะขึ้นราคาเป็นยูนิตละ 9 บาท ซึ่งเป็นปัญหาสําหรับชาวบ้านที่มีรายได้น้อย แต่ชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือกเพราะที่ตั้งของชุมชนอยู่ริมทะเล ไม่สามารถหาแหล่งน้ำจืดจากที่อื่น ๆ ได้ แม้ราคาจะแพงชาวบ้านก็มีความจำเป็นต้องยินยอมจ่าย เพราะน้ำจืดถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน
กระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). นูรุดดิน (บ้านแหลมนก) จังหวัดปัตตานี. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://moral.m-culture.go.th/moralcommunity/
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2564). พาสำรวจชายฝั่งหน้าลานนกกระยาง บ้านบานา ทะเลปัตตานี. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.dmcr.go.th/detailAll/51560/nws/22
กรรณิกา ชูสกุล. (2557). หมู่บ้าน แหลมนก หมู่ 9 ตำบล บานา อำเภอ เมือง จังหวัด ปัตตานี. รายงานประกอบการศึกษารายวิชา 434-316 Thai Economy มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
เบ็ญจวรรณ บัวขวัญ. (2553). วิถีชีวิตชุมชนประมงแหลมนก ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี (รายงานการวิจัย). วิทยาลัยชุมชนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยทักษิณ.
อิเลียส เเซมา. (2563). เปิดสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ "ลานนกกระยาง" หมู่ 9 บ.แหลมนก ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.psu10725.net/index.php/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
Mocagrimart. (ม.ป.ป.). ตลาดอาหารทะเลแหลมนก. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.mocagrimart.com/