บ้านบ่อแก้ว ตั้งอยู่ในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่งสะกอหรือปกาเกอะญอ ปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่การเกษตรเชิงเศรษฐกิจเป็นแหล่งขึ้นชื่อในการทำไร่สตรอว์เบอร์รี ปลูกข้าวดอย รวมถึงการปลูกกาแฟ ซึ่งมีการส่งขายไปยังร้านกาแฟชื่อดังหลายแบรนด์ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ดีบุก-ทังสเตน
แต่เดิมมีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมาตั้งถิ่นฐานปีไหนไม่ปรากฏแน่ชัด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งจากหลายพื้นที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2497 เหมืองแร่บ่อแก้วได้สัมปทานเหมือง ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ภายในประเทศไทยเข้ามาทำงานภายในเหมืองแร่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก ต่อมาในภายหลังเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้วได้ทำการปิดตัวลงเนื่องจากรัฐบาลไม่ต่อสัญญา และไม่อนุญาตให้เหมืองแร่ดังกล่าวทำการเจาะภูเขาเพื่อประกอบธุรกิจ ทำให้คนงานเหมืองแร่ที่อพยพเข้ามาเพื่อหารายได้ต่างก็กระจายกันออกไป บางส่วนมีการย้ายถิ่นฐานออกไปยังที่อื่น ๆ หรือกลับไปอยู่ยังถิ่นฐานเดิมที่เคยอยู่ และบางส่วนยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อมีคนมาอาศัยอยู่มากขึ้นจึงได้อยู่รวมกัน และตั้งเป็นหมู่บ้านโดยตั้งถิ่นฐานกระจายตามพื้นที่และใช้ชื่อว่าบ่อแก้วเพราะแต่เดิมเคยเป็นเหมืองแร่มาก่อน
บ้านบ่อแก้ว ตั้งอยู่ในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่งสะกอหรือปกาเกอะญอ ปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่การเกษตรเชิงเศรษฐกิจเป็นแหล่งขึ้นชื่อในการทำไร่สตรอว์เบอร์รี ปลูกข้าวดอย รวมถึงการปลูกกาแฟ ซึ่งมีการส่งขายไปยังร้านกาแฟชื่อดังหลายแบรนด์ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ดีบุก-ทังสเตน
ตำบลบ่อแก้วเดิมขึ้นกับตำบลแม่สาบ อำเภอแม่ริม เมื่อสะเมิงได้ตั้งเป็นอำเภอบ่อแก้วจึงได้ตั้งเป็นตำบลรวมเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว มีกำนันคนแรกชื่อนายหล้า โพเว ตำบลบ่อแก้วมีผู้ดำรงตำแหน่งกำนันมาแล้วทั้งหมด 12 ท่าน กำนันคนปัจจุบันชื่อนายสมาน ชอโดะ และในปี พ.ศ. 2540 ตำบลบ่อแก้วได้ยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลมีประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้วคนแรกชื่อ นายประสิทธิ์ แสงจันทร์ และได้มีประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว ตำรงตำแหน่งมาแล้วรวมทั้งหมด 7 ท่าน ซึ่งในปัจจุบันตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้วนี้ว่างลง จึงมีการให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้วนายอัครเดช วรหาญ ขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนนายกไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง โดยเริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 เป็นต้นมา
หมู่บ้านบ่อแก้ว ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแต่เดิมมีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมาตั้งถิ่นฐานปีไหนไม่ปรากฏแน่ชัดชัด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งจากหลายพื้นที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2497 เหมืองแร่บ่อแก้วได้สัมปทานเหมือง ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ภายในประเทศไทยเข้ามาทำงานภายในเหมืองแร่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก ต่อมาไม่นานมีการสัมปทานเหมืองแร่อีก 2 แห่ง คือ องค์การเหมืองแร่ และเหมืองสหแร่อุตสาหกรรมจำกัด จนถึงปี พ.ศ. 2527 เหมืองแร่ต่าง ๆ ภายในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้วได้ทำการปิดตัวลงเนื่องจากรัฐบาลไม่ต่อสัญญา และไม่อนุญาตให้เหมืองแร่ดังกล่าวทำการเจาะภูเขาเพื่อประกอบธุรกิจ ทำให้คนงานเหมืองแร่ที่อพยพเข้ามาเพื่อหารายได้ต่างก็กระจายกันออกไป บางส่วนมีการย้ายถิ่นฐานออกไปยังที่อื่น ๆ หรือกลับไปอยู่ยังถิ่นฐานเดิมที่เคยอยู่ และบางส่วนยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อมีคนมาอาศัยอยู่มากขึ้นจึงได้อยู่รวมกันและตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยตั้งถิ่นฐานกระจายตามพื้นที่ตำบล โดยหมู่บ้านแรกชื่อบ้านปางมะโอ บ้านใหม่ รพช. และบ้านหนองคริซูนอก หลังจากนั้นหมู่บ้านได้ขยายออกไปที่บ้านห้วยฟานเหนือ บ้านสนามกีฬา และบ้านห้วยมะนะ ต่อจากนั้นก็มีหมู่บ้านใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น หมู่บ้านแม่ยางห้าอพยพมาจากบ้านห้วยฟานเหนือ, บ้านสบห้วยฟานอพยพมาจากปางมะโอและบ้านดง, หมู่บ้านป่าเกี๊ยะนอกมาจากบ้านดง, บ้านตีนตาด บ้านแม่โต๋มาจากบ้านปางมะโอ, หมู่บ้านเด่นฮ่อมมาจากบ้านห้วยฟานเหนือ และบางส่วนขยายข้ามเข้าไปตั้งเป็นหมู่บ้านแม่ขะปู ทุกหมู่บ้านจะทำอาชีพไร่หมุนเวียนมาตลอดโดยผ่านรุ่นสู่รุ่น
อาณาเขตติดต่อ
หมู่บ้านบ่อแก้ว ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศตะวันตกระยะทาง 27 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง และตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลยั้งเมิน ตำบลแม่สาบ และตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลแม่นาจร และตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศของตําบลบ่อแก้ว ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีสภาพเป็นป่าดิบ ลักษณะตําบล มีรูปร่างค่อนข้างยาวรีวางตัวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ - ตะวันตกเฉียงใต้มีระดับ ความสูงประมาณ 900 - 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา สภาพพื้นที่เป็นลอนลูกคลื่น มีป่าไม้สน พันธ์ุไม้นานาชนิด และถูกล้อมรอบด้วยภูเขา โดยมีภูเขาที่สําคัญ คือ ดอยม่อนดอน ดอยผาเหลี่ยม ดอยขุนห้วยพระเจ้า ดอยปางมะโอ ดอยเด่น ดอยขุนแม่เอาะ
ลักษณะภูมิอากาศ
อากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 30 องศาเซลเซียส และต่ำสุด7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไปประมาณ 20 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 112 มม./ปี โดยวัดปริมาณน้ำฝน สูงสุด 160 มม./ปี ต่ำสุดระหว่างเดือน กรกฎาคม – ตุลาคม สภาพอากาศเย็นและแห้ง มีลมพัดผ่านอย่างต่อเนื่องเหมาะกับการปลูกพืชเมืองหนาว บางปีอาจเกิดแม่คะนิ้งเกาะตามกิ่งไม้และยอดหญ้า ซึ่งในปัจจุบันยังคงเกิดแม่คะนิ้งบ้างในบางพื้นที่
ลักษณะของดิน
พื้นที่ประมาณร้อยละ 50 เป็นพื้นที่ป่าไม้ล้อมรอบ และมีการใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในลักษณะของพืชไร่แทรกสลับกระจายอยู่ทั่วไป สําหรับบริเวณ ตอนกลางของตําบลใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมในลักษณะของพืชไร่ นาข้าว และพืชสวน ลักษณะธรณีวิทยาของตําบลบ่อแก้ว หินอายุมากสุด คือ หินยุคพรีแคมเบรียน ประกอบด้วย หินแปรเกรดสูง หินไนส์เนื้อหยาบหินชีสต์และหินแคลก์-ซิลิเกต (บ้านผาเด่น) โผล่ให้เห็นด้านทิศเหนือ และ สัมผัสอยู่กับหินมิกมาไทต์ที่มีลักษณะเป็นหินแกรนิตแยกประเภทไม่ได้หินไนส์หินชีสต์และหินควอร์ตไซต์ บริเวณตอนกลางของพื้นที่พบหินไบโอไทต์แกรนิต เนื้อปานกลางถึงเนื้อหยาบ เนื้อเป็นดอก และ หินมัสโคไวต์แกรนิต เนื้อละเอียด ปกคลุมเป็นพื้นที่กว้าง และพื้นที่ด้านทิศใต้มีหินมิกมาไทต์ซึ่งประกอบด้วย หินแกรนิตแยกประเภทไม่ได้หินไนส์หินชีสต์และหินควอร์ตไซต์แผ่ปกคลุมตามแนวขอบเขตตําบลบ่อแก้วสัมผัส กับกลุ่มหินแกรนิตบริเวณแปรสัมผัส หินคาตาคลาสติกแกรนิต หินไบโอไทต์แกรนิตที่มีอายุคาร์- บอนิเฟอรัส และมีหินปูนเนื้อดินในยุคออร์โดวิเชียนโผล่ให้เห็นเป็นพื้นที่เล็กๆทางด้านทิศตะวันออก พื้นที่ โดยทั่วไปมีรอยแตกเกิดอยู่อย่างหนาแน่น อยู่ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้และแนวเกือบทิศ เหนือ-ใต้ทางน้ำจะไหลตามแนวแตกเหล่านี้ มีตะกอนยุคปัจจุบันสะสมตัวอยู่ในที่ราบระดับสูง ส่วนหนึ่งจะเป็นชั้น ตะกอนตะพักร่วนยังไม่แข็งตัวพวกตะกอนกรวด ตะกอนทราย ทรายแป้ง เป็นพื้นที่เพาะปลูกและนาข้าว และเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน
ลักษณะของแหล่งน้ำ
สําหรับลําน้ำที่สําคัญ คือ น้ำแม่บ่อแก้ว มีทิศทางการไหล จากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้สําหรับพื้นที่ราบซึ่งเป็นส่วนน้อยอยู่บริเวณตอนกลางของตําบล และเป็นที่ตั้งบ้านเรือน ของชุมชน และเป็นแหล่งรองรับน้ำที่ไหลหลากมาจากพื้นที่เขาสูงทั้งสองฝั่ง
ลักษณะของไม้และป่าไม้
มีลักษณะป่า 3 ชนิดคือ
- ป่าสนเขา (Pine Forest) ป่าชนิดนี้จะอยู่ในบริเวณเขาอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระหว่าง 200 - 1,200 เมตร ดินในป่าสนเขา จะเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อย มักจะเป็นดินปนทราย ปนกรวด สีน้ำตาล สีเทา หรือบางทีจะเป็นดินลูกรังปริมาณฝนตกรายปีประมาณ 1,000 - 1,500 มิลลิเมตร แต่ดินไม่สามารถเก็บความชื้นไว้ได้จึงทำให้ป่ามีสภาพค่อนข้างแล้ง พรรณไม้ชนิดนี้จะอยู่ในตระกูลสน (Pinaceae) ที่สำคัญ 2 ชนิด คือสนสองใบและสนสามใบ และจะมีพวกก่อชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่
- ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) ป่าชนิดนี้จะอยู่ตามหุบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 500 เมตร มีปริมาณน้ำฝนตกรายปีระหว่าง 1,000 มิลลิเมตร พรรณไม้ในป่าชนิดนี้เป็นพันธุ์ไม้ในตระกูลยาง (Dipterocarpaceae) เช่น ตะเคียนหิน, ตะเคียนทอง, ก่อมะค่าโมง, มะยมป่า, มะกอก ไม้พื้นล่างก็จะมี ไผ่ป่า ไผ่รวก ไม้ตระกูลปาล์มหวายต่าง ๆ
- ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ป่าชนิดนี้มีอยู่เหนือความสูงระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 300 - 500 เมตร ขึ้นไป มักประกอบด้วยต้นไม้หลายชนิดปนกันในฤดูแล้ง ต้นไม้ในป่าเกือบทั้งหมดจะผลัดใบ ซึ่งจะทำให้เกิดไฟไหม้ป่าทุกปี ดินในป่าชนิดนี้ส่วนมากเป็นดินร่วนปนทรายไม่สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ดีพอ ทำให้ป่าชนิดนี้มีสภาพค่อนข้างแห้งแล้ง พรรณไม้ที่สำคัญของป่าชนิดนี้จัดอยู่ในตระกูลสัก (Verbenaceae) เช่น สัก เก็ดแดง เก็ดขาว งิ้วป่า ซ้อ แดง ยมหอม ยมหิน เสี้ยว ไม้พื้นล่างประกอบด้วยหญ้าชนิดต่าง ๆ และไผ่ชนิดต่าง ๆ เช่น ไผ่ไร่ ไผ่ซาง ไผ่ข้าวหลาม ไผ่นา
หมู่บ้านบ่อแก้ว ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขตพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย อันได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง ละว้า ไทลื้อ จีนฮ่อ รวมไปถึงกลุ่มคนจากภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ที่อพยพเข้ามาพร้อมกับบริษัททำเหมืองแร่ กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นระยะเวลานาน ไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่ามีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในปี พ.ศ. ใด และกลุ่มชาติพันธุ์ใดที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มแรก
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ระบุว่า พื้นที่หมู่ที่ 5 บ่อแก้ว มีประชากรเพศชายจำนวน 562 คน เพศหญิงจำนวน 563 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,125 คน
ไทลื้อ, ปกาเกอะญอ, ม้ง, ละว้า (ว้า), จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)หมู่บ้านบ่อแก้วถือเป็นแหล่งการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสตรอว์เบอร์รีที่มีการแปรรูปมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งภายในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้วจะมีโรงงานการแปรรูปสตรอว์เบอร์รีอยู่หนึ่งโรงงานและสวนดอยแก้ว (สวนสตรอว์เบอร์รีที่ทำการแปรรูปสตรอเบอรี่) โรงงานแปรรูปโรงงานแรกมีการปลูกสตรอว์เบอร์รีเองนอกจากนี้ยังมีการรับซื้อสตรอว์เบอร์รีจากเกษตรกรในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้วและทำการแปรรูปสตรอว์เบอร์รีส่วนสวนดอยแก้วจะเป็นสวนสตรอว์เบอร์รีปลอดสารพิษซึ่งในปัจจุบันสวนแห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร (การปลูกสตรอว์เบอร์รีและไม้ผลเมืองหนาว) โดยสวนดอยแก้วจะมีการปลูกสตรอว์เบอร์รีในรูปแบบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ คือมีทั้งปลูกเพื่อการค้า ปลูกเพื่อการวิจัย ปลูกเพื่อทดลองปรับปรุงสายพันธ์ แต่ทุกแปลงจะไม่ใช้สารเคมีใดๆ แต่จะใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นมาเองตลอดจนสารกำจัดศัตรูพืช สวนดอยแก้วจะไม่รับซื้อผลสตรอว์เบอร์รีของเกษตรกรที่ไม่ได้ทำการขึ้นทะเบียนเป็นสตรอว์เบอร์รีปลอดสารพิษ สวนดอยแก้วนำผลสตรอว์เบอร์รีที่ปลูกเองและที่รับซื้อจากเกษตรกรไปทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากสตรอเบอรี่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้วได้แก่
1) น้ำสตรอว์เบอร์รีเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปจากสตรอว์เบอร์รีมีส่วนผสมอันได้แก่
สตรอว์เบอร์รี 3 กิโลกรัม, น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม และน้ำสะอาด 1 ลิตร สำหรับขั้นตอนวิธีการแปรรูปน้ำสตรอว์เบอร์รีคือ ตั้งน้ำให้เดือดโดยใช้ไฟอ่อน ๆ ใส่ผลสตรอว์เบอร์รีสดลงไปต้มประมาณ 10 นาที ใช้กระชอนตักกากสตรอว์เบอร์รีออก (กากสตรอว์เบอร์รีสามารถนำไปทำแยมสตรอว์เบอร์รีได้) จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบางรอให้เย็นจึงสามารถนำไปบรรจุลงขวดได้ และนำจำหน่ายได้ ในการทำการแปรรูปน้ำสตรอว์เบอร์รีหากใส่น้ำมากจนเกินไปน้ำจะจืดและกากสตรอว์เบอร์รีที่ได้จะไม่สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากสตรอว์เบอร์รีได้ยกตัวอย่างเช่น แยมสตรอว์เบอร์รี
2) แยมสตรอว์เบอร์รีเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปจากสตรอว์เบอร์รีรีมีส่วนผสม อันได้แก่ สตรอว์เบอร์รี 1 กิโลกรัมและน้ำตาลทราย 4 ถ้วยตวง สำหรับขั้นตอนวิธีการแปรรูปแยมสตรอว์เบอร์รีคือ ตัดหัวสตรอว์เบอร์รีจากนั้นนำไปล้างทำความสะอาด ผ่าซีกคลุกเคล้ากับน้ำตาลทรายจากนั้นนำขึ้นตั้งไฟอ่อน ๆ ใช้ไม้พายคนเรื่อย ๆ น้ำจากผลสตรอว์เบอร์รีจะซึมออกมา เนื้อสตรอว์เบอร์รีจะนุ่มข้น จนเริ่มติดพายเป็นอันใช้ได้ รอให้เย็นจึงนำไปบรรจุลงขวดที่ล้างและฆ่าเชื้อด้วยน้ำร้อนปิดฝาให้สนิท อีกวิธีหนึ่งในการแปรรูปแยมสตรอว์เบอร์รีคือการนำกากสตรอว์เบอร์รีที่ได้จากการแปรรูปน้ำสตรอว์เบอร์รีมาปั่นจากนั้นเติมน้ำตาลปั่นจนเนื้อสตรอว์เบอร์รีเหนียวจึงนำไปบรรจุลงในขวดได้และนำจำหน่ายได้
3) สตรอว์เบอร์รีอบแห้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปจากสตรอว์เบอร์รีมีส่วนผสม อันได้แก่ สตรอว์เบอร์รี 3 กิโลกรัมและน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม สำหรับขั้นตอนวิธีการแปรรูปสตรอว์เบอร์รีอบแห้งคือ ใส่ผลสตรอว์เบอร์รีลงไปในหม้อ ตามด้วยนํ้าตาลทรายโดยตั้งไฟอ่อน ๆ ใช้ระยะเวลาประมาณ 20 นาที นํ้าตาลทรายจะละลายเองอย่าปล่อยให้ทิ้งไว้นาน เพราะผลสตรอว์เบอร์รีจะเละ จากนั้นตักผลสตรอว์เบอร์รีขึ้นปล่อยทิ้งไว้ให้สะเด็ดนํ้า แล้วนำผลสตรอว์เบอร์รีไปอบในตู้อบใช้เวลาประมาณ 5 - 7 ชั่วโมง รอให้เย็นจึงจะสามารถบรรจุลงในกล่องพลาสติก อีกวิธีหนึ่งในการแปรรูปสตรอว์เบอร์รีอบแห้งคือนำกากสตรอว์เบอร์รีที่ได้จากการแปรรูปน้ำสตรอว์เบอร์รีไปตากแดด ต้มน้ำตาลทรายให้ละลายจากนั้นเอาสตรอว์เบอร์รีไปคลุกให้เข้ากัน ทิ้งค้างไว้ 1 คืน รุ่งเช้าจึงนำไปตากแดดอีกหนึ่งรอบโดยใช้ผ้าขาวบางปูรองสตรอว์เบอร์รีและใช้ผ้าขาวบางปิดทับด้านบนอีกรอบหนึ่งรอจนแห้งจึงนำไปบรรจุ
4) ไวน์สตรอว์เบอร์รีเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปจากสตรอว์เบอร์รีมีส่วนผสมอันได้แก่ สตรอว์เบอร์รี 1 กิโลกรัม, น้ำสะอาด 2 ลิตร, และยีสต์ 4 ช้อนโต๊ะ สำหรับขั้นตอนวิธีการแปรรูปไวน์สตรอว์เบอร์รีคือล้างสตรอว์เบอร์รีให้สะอาด นำสตรอว์เบอร์รีมาบดให้ละเอียด เติมน้ำสะอาด แล้วนำไปต้มที่อุณหภูมิ 80 องศา แล้วทิ้งไว้จนอุณหภูมิเหลืออยู่ที่ 30 องศา จากนั้นเติมยีสต์ลงไปทิ้งไว้ 15 วันโดยประมาณจากนั้นกรองกากออก แล้วนำมาต้มให้ยีสต์ที่ใส่ลงไปตาย ใช้ระยะเวลาประมาณ 5 นาที จากนั้นจึงไปทิ้งไว้ให้เย็น แล้วบรรจุใส่ขวดที่สะอาด ปิดให้สนิท จากนั้นจึงจะสามารถนำไปจำหน่ายได้
5) เหล้าสตรอว์เบอร์รีเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปจากสตรอว์เบอร์รีมีส่วนผสมอันได้แก่ สตรอว์เบอร์รีสด, น้ำตาลทราย, ยีสต์ทำเหล้า, น้ำสะอาด และเครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิต สำหรับขั้นตอนวิธีการแปรรูปเหล้าสตรอว์เบอร์รีคือนำสตรอว์เบอร์รีมาคัดและนำไปล้างด้วยน้ำสะอาดจนสะอาด นำสตรอว์เบอร์รีที่สะอาดมาสับเป็นชิ้นเล็ก นำสตรอว์เบอร์รีที่ได้ใส่น้ำตาลและใส่ยีสต์สำหรับทำสุราตามสัดส่วน บรรจุลงในถังแช่หรือหมักแล้วเติมน้ำประมาณ 1 ใน 5 ของปริมาณสตรอว์เบอร์รีและน้ำตาลแช่หรือหมักไว้ประมาณ 7 - 15 วัน นำสุราแช่มากลั่นโดยใช้วิธี และอุปกรณ์ในการกลั่นสุรา หาวัสดุมารองรับน้ำสุรากลั่น นำตัวอย่างน้ำสุรากลั่นไปให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตรวจรับรองจากนั้นทำการบรรจุลงขวดและนำจำหน่ายได้
ภาษาที่ถูกใช้ในหมู่บ้านบ่อแก้ว ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง ละว้า ไทลื้อ จีนฮ่อ ภาษาอีสาน ภาษาใต้ และภาษาไทยภาคกลาง
หมู่บ้านบ่อแก้วเป็นหมู่บ้านที่มีการปรับเปลี่ยนสภาพทางสังคมจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมเกษตรกรรมอย่างเต็มรูปแบบมาโดยประมาณ 40 ปีแล้ว หลังจากมีการปรับเปลี่ยนสภาพทางสังคมจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมเกษตรกรรม ในแรกเริ่มเกษตรกรภายในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้วลงทุนในการปลูกสตรอว์เบอร์รีน้อยแต่ได้กำไรมาก คือแรกเริ่มมีการเพาะกล้าไหลสตรอว์เบอร์รีเอง ลงทุนไม่มาก ได้กำไรจากการจำหน่ายสตรอว์เบอร์รีมากโดยผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยลงทุนทั้งหมด 50,000 บาท ก็สามารถได้ผลผลิตที่สร้างผลกำไรได้ประมาณ 100,000 บาทต่อปี ภายหลังเกษตรกรเริ่มปลูกสตรอว์เบอร์รีมากขึ้นเนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ทำให้ต้องลงทุนซื้อกล้าไหลสตรอว์เบอร์รีมากขึ้น ตกต้นละ 2-4 บาท มีการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง และนำไปจำหน่ายเองบ้างตามท้องตลาดซึ่งจะได้ราคามากกว่าพ่อค้าคนกลางประมาณ 10-20 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อมีการผลิตเพิ่มขึ้นต้นทุนก็สูงขึ้น แต่กำไรกลับน้อยลงเนื่องจากเกิดปัญหาสตรอว์เบอร์รีล้นตลาด ราคาสตรอว์เบอร์รีต่ำสุดอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจึงคิดหาวิธีในการแก้ปัญหาและได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ธ.ก.ส ในเรื่องของการแปรรูปสตรอว์เบอร์รี ภายหลังการแปรรูปสตรอว์เบอร์รีทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มมากขึ้นทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากเดิมเนื่องจากเงินยังคงมีการหมุนเวียนอยู่ภายในชุมชนบ้านบ่อแก้วตลอดเวลา
พัฒนาการการปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในชุมชนบ้านบ่อแก้ว
กิตติ แสงจันทร์ หนึ่งในผู้ริเริ่มการปลูกสตรอว์เบอร์รีในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้ว ให้ข้อมูลถึงการเข้ามาของสตรอว์เบอร์รีในเขตพื้นที่ดังกล่าวว่า สตรอว์เบอร์รีถูกนำเข้ามาภายในพื้นที่บ้านบ่อแก้ว โดย นายประพันธุ์ โปธา ได้นำต้นไหลสตรอว์เบอร์รีมาจากเกษตรกรแม่แจ๊ะ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ไม่ดีเท่าที่ควรนายประพันธุ์ โปธา จึงทดลองนำต้นไหลมาปลูกปรากฏว่าได้ผลผลิตทางการเกษตรมากกว่าแม่แจ๊ะจึงริเริ่มเป็นผู้นำต้นไหลสตรอว์เบอร์รีเข้ามาปลูก และกระจายในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้ว
สตรอว์เบอร์รีในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้ว ในช่วงแรกเริ่มมีการปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 16, 20, 329, 156, 70, 72 และพันธุ์ 80 ตามลำดับ โดยสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 16 เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติออกเปรี้ยว ผิวบาง ลูกเล็ก สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 20 เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติออกหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม ผิวบาง สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 และ 156 เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติหวาน กรอบ อมเปรี้ยว ขนาดผลใหญ่ สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 70, 72 เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติหวานหอม ผิวบาง ลูกเล็ก สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 80 เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติ หวานอมเปรี้ยว ลูกขนาดพอดี ผิวหนา กรอบ ในปัจจุบันเกษตรกรในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้ว นิยมปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 80 เพียงพันธุ์เดียว เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถรับประทานสดได้ และคาดว่าจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ของสตรอว์เบอร์รีเพิ่มโดยจะทำการพัฒนาสายพันธุ์จากสายพันธุ์ 80 จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นถึงพัฒนาการการปลูกสตรอว์เบอร์รีในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้ว คือหมู่บ้านบ่อแก้วมีอาชีพหลักคือการปลูกสตรอว์เบอร์รี เพราะฉะนั้นในแต่ละปีจะมีผลผลิตเป็นจำนวนมากที่ถูกนำไปจำหน่าย ดังนั้นในทุก ๆ ปีเกษตรกรจะได้รับผลกระทบคือสตรอว์เบอร์รีล้นตลาด ทำให้เกษตรกรขาดทุน และไม่ได้กำไรเท่าที่ควร จึงก่อให้เกิดกลุ่มการแปรรูปขึ้นภายในชุมชนโดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ธ.ก.ส การแปรรูปผลิตภัณฑ์สตรอว์เบอร์รีนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจภายในชุมชนคือ สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากสตรอว์เบอร์รีที่ล้นตลาด หรือสตรอว์เบอร์รีที่ไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสตรอว์เบอร์รีนี้ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากอำเภอสะเมิงโดยถูกนำเป็นสินค้า O-TOP หรือสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และมีการจัดงานสตรอว์เบอร์รีในทุก ๆ เดือนกุมภาพันธ์ของทุก ๆ ปี ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าแม้สตรอว์เบอร์รีจะล้นตลาดเกษตรกรก็ยังคงหารายได้เพิ่มจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสตรอว์เบอร์รี โดยรายได้ทั้งหมดก็หมุนเวียนอยู่ภายในชุมชนบ่อแก้ว และอำเภอสะเมิง
พื้นที่บ้านบ่อแก้วในปัจจุบัน แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ในการทำเหมืองแร่ มีการเข้ามาของกลุ่มคนจากเขตพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งภายหลังกลุ่มคนเหล่านี้ได้กระจายตัวกันเพื่อตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกิดกลุ่มสังคมเล็ก ๆ ขึ้นเป็นสังคมอุตสาหกรรมมีอาชีพหลักคือการทำเหมืองแร่แต่ก็มีการทำไร่หมุนเวียนร่วมด้วย ภายหลังมีการเข้ามาของสตรอว์เบอร์รีพืชทางเศรษฐกิจจึงทำให้กลุ่มสังคมอุตสาหกรรมนี้ปรับเปลี่ยน และพัฒนาเป็นสังคมเกษตรกรรมอย่างเต็มรูปแบบ โดยในการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมของหมู่บ้านบ่อแก้วนี้มีเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่สองเงื่อนไขด้วยกันคือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมภายในชุมชน และเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมจากภายนอก
1) การเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมภายในชุมชนมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันได้แก่ สภาพพื้นที่ และกลุ่มคน เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมภายในชุมชน
1.1) สภาพพื้นที่ ในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้วแต่เดิมมีสภาพพื้นที่เป็นหุบเขา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีป่าไม้ล้อมรอบโดยมีสภาพเป็นป่าดิบเขา และป่าสน ปี พ.ศ. 2495 คณะสำรวจแร่ของนายอร่าม ยุคล เข้าสำรวจพื้นที่หาแหล่งแร่ ขุดหลุดทดลองทั้งหมด 400 หลุมทั่วบริเวณแต่ไม่พบแหล่งแร่ที่แน่ชัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 คณะสำรวจแร่ของนายชาญ ศิริพงศ์ และนายประเวศ สุคนธชาติ พบแหล่งแร่ดีบุก และซีไลท์เป็นจำนวนมากจึงมีการสัมปทานเหมืองขึ้นในเขตพื้นที่ดังกล่าว หลังจากนั้นจึงมีกลุ่มคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และประกอบอาชีพหลักคือการทำเหมืองแร่ ก่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มสังคมอุตสาหกรรม พื้นที่ดังกล่าวแต่เดิมที่เป็นหุบเขาที่มีสภาพเป็นป่าดิบเขา และป่าสน จึงถูกปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นที่ราบขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ. 2527 เหมืองแร่ต่าง ๆ ในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้วปิดตัวลงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้หันไปปลูกไร่หมุนเวียน เช่น ข้าว ฝิ่น ข้าวโพด เป็นต้น ย้อนกลับไป 40 ปีที่แล้ว ประมาณปี พ.ศ. 2521 สตรอว์เบอร์รีถูกนำเข้ามาในเขตพื้นที่บ้านบ่อแก้ว ทำให้กลุ่มสังคมอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นกลุ่มสังคมเกษตรกรรมอย่างเต็มตัว เนื่องจากไม่ได้ทำเหมืองแร่ และสตรอว์เบอร์รีเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกในพื้นที่บ้านบ่อแก้วได้
1.2) กลุ่มคน ปี พ.ศ. 2497 เหมืองแร่บ่อแก้วได้สัมปทานเหมือง ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ภายในประเทศไทยทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ เข้ามาทำงานภายในเหมืองแร่เป็นจำนวนมาก และตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาไม่นานมีการสัมปทานเหมืองแร่เพิ่มอีก 2 แห่ง ทำให้มีแรงงานต่างด้าวอพยพเข้ามาในเขตพื้นที่ ทำให้กลุ่มคนเดิมต้องหารายได้ใหม่ เนื่องจากแรงงานต่างด้าวรับค่าแรงน้อยกว่าคนในพื้นที่ ทำให้คนในพื้นที่ต้องเปลี่ยนมาปลูกไร่หมุนเวียน ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2521 สตรอว์เบอร์รีถูกนำเข้ามาในเขตพื้นที่ดังกล่าวคนกลุ่มนี้จึงหันไปทำการเกษตร และปลูกสตรอว์เบอร์รีแบบนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน ทำให้สภาพทางสังคมจากกลุ่มสังคมอุตสาหกรรมถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นสังคมเกษตรกรรมอย่างสมบูรณ์ในที่สุด
2) การเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมจากภายนอกหมู่บ้านบ่อแก้วมีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมจากภายนอกคือการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ คือแต่เดิมหมู่บ้านบ่อแก้วเป็นสังคมอุตสาหกรรม จากนั้นเมื่อมีสตรอว์เบอร์รีเข้ามาในเขตพื้นที่ทำให้กลุ่มคนในพื้นที่ปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพจากการทำเหมืองแร่มาเป็นการปลูกสตรอว์เบอร์รี ซึ่งก็สามารถกล่าวได้ว่าปรับเปลี่ยนสภาพทางสังคมจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมเกษตรกรรม โดยมีภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนคือกองพัฒนาเกษตรที่สูง และโครงการหลวงแม่แฮ (บ่อแก้ว) ทั้งสองหน่วยงานนี้มีหน้าที่ในการ พัฒนาสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี เสริมสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการปลูกสตรอว์เบอร์รีให้แก่คนในชุมชน และนอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนจากกองทุน ธ.ก.ส ในเรื่องการแปรรูปสตรอว์เบอร์รี
กองพัฒนาเกษตรที่สูง. (2543). การปลูกสตรอเบอรี่. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน).
ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์. (2543). สตรอเบอรี่: พืชเศรษฐกิจใหม่. สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรในเขตวิกฤตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์.
นาตยา สิงห์คำ. (2561). สตรอเบอรี่ : การเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจภายในชุมชนบ้านบ่อแก้ว ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
ประสาร เสียวกสิกรณ์ (2550). การผลิตและการตลาดสตรอเบอรี่สายพันธุ์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของเกษตรกรในเขต ตำบลบ่อแก้ว จังหวัดเชียงใหม่. ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสาขาวิชาบริหารธุรกิจ. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
พงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ และพัชรา จูงใจ. (2524). แผนที่ตั้งของหมู่เหมืองสะเมิง ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2561, จาก http://library.dmr. go.th/Document/
พงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ และพัชรา จูงใจ. (2524). แผนที่บริเวณหมู่เหมืองสะเมิง และหมู่บ้านใกล้เคียง. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2561, จากhttp://library.dmr.go.th/Document/
พงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ และพัชรา จูงใจ. (2524). แผนที่แสดงบริเวณที่เปิดทำการเหมือง. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2561, จาก http://library.dmr.go.th/Document/
สวนดอยแก้ว suandoikaew สตรอเบอร์รี่ปลอดสาร. (2553). แยมสตรอว์เบอร์รีสูตรน้ำตาลน้อย. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2561, จาก https://web.facebook.com/suandoikeaworganicfarm
สวนดอยแก้ว suandoikaew สตรอเบอร์รี่ปลอดสาร. (2553). เหล้าสตรอว์เบอร์รี. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2561, จาก https://web.facebook.com/suandoikeaworganicfarm
บ่อแก้ว ลัวฉือนี การท่องเที่ยวตำบลบ่อแก้ว. (2567). สตรอว์เบอร์รี. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/photo.
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว. (2543). ข้อมูลตำบลบ่อแก้ว. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2561, จาก http://www.borkaew.go.th
เอกนรินทร์ ปินทะนา (2550). ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการในการปลูกสตรอเบอรี่ในตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
Google Map. (2561). บ้านบ่อแก้ว. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2561, จาก https://www.google. com/maps/
Google Map. (2561). อำเภอสะเมิงถึงหมู่บ้านบ่อแก้ว. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2561, จาก https://www.google.com/maps/
กมลลักษณ์ ปริยาภัสร์สุกุล, สัมภาษณ์, 1 กุมภาพันธ์ 2561.
กิตติ แสงจันทร์, สัมภาษณ์, 1 กุมภาพันธ์ 2561.
จตุรณต์ แย้มวารี, สัมภาษณ์, 20 สิงหาคม 2561.
จริยา แสงจันทร์, สัมภาษณ์, 1 กุมภาพันธ์ 2561.
จิรนันทร์ ปั๋นสา, สัมภาษณ์, 1 กุมภาพันธ์ 2561.
ชัชวาล พันธ์งาม, สัมภาษณ์, 22 สิงหาคม 2561.
ชัชวาล โยนยิ่ง, สัมภาษณ์, 1 กุมภาพันธ์ 2561
ชุมพร ปั๋นสา, สัมภาษณ์, 1 กุมภาพันธ์ 2561.
นันทวุฒิ เสาร์แก้ว, สัมภาษณ์, 22 สิงหาคม 2561.
นิภา สมบูรณ์, สัมภาษณ์, 22 สิงหาคม 2561.
ประนอม ดวงชัย, สัมภาษณ์, 20 สิงหาคม 2561.
พิจิตรา แสงยะ, สัมภาษณ์, 1 กุมภาพันธ์ 2561.
รติมา แสงสุวรรณ, สัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 251.
วิทยา นาราตะ, สัมภาษณ์, 1 กุมภาพันธ์ 2561.
สมฤทัย สมบูรณ์, สัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2561.