บ้านท่าแค ต้นกำเนิดโนราแห่งแรกของประเทศไทย สถานที่จัดพิธี "โนราโรงครู" พิธีอัญเชิญครูหรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธีเพื่อรับการเซ่นสังเวย นอกจากนี้ยังมีการทำพิธี “ครอบเทริด” หรือ “ผูกผ้าใหญ่” แก่โนรารุ่นใหม่รวมถึงทำพิธีแก้บน สำหรับคนทั่วไปที่ได้บนบานศาลกล่าวไว้กับครูโนรา อีกทั้งยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม “แทงเข้” พิธีสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของโนราโรงครู
บ้านท่าแค ต้นกำเนิดโนราแห่งแรกของประเทศไทย สถานที่จัดพิธี "โนราโรงครู" พิธีอัญเชิญครูหรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธีเพื่อรับการเซ่นสังเวย นอกจากนี้ยังมีการทำพิธี “ครอบเทริด” หรือ “ผูกผ้าใหญ่” แก่โนรารุ่นใหม่รวมถึงทำพิธีแก้บน สำหรับคนทั่วไปที่ได้บนบานศาลกล่าวไว้กับครูโนรา อีกทั้งยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม “แทงเข้” พิธีสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของโนราโรงครู
บ้านท่าแค เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ตามประวัติของชื่อท่าแคที่เทศบาลตําบลท่าแคและนักปราชญ์ท้องถิ่นเผยแพร่นั้นกล่าวตรงกันว่าบ้านท่าแคมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะบริเวณรอบวัดท่าแคที่มีคลองท่าแค่ไหลผ่านเป็นทางน้ำที่ติดต่อมาจากทะเลสาบสงขลา ในอดีตคลองท่าแคสายนี้มีแพขนาดใหญ่ไว้สําหรับให้คนต่างถิ่นได้พักเรือที่แล่นมาค้าขายก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองพัทลุง จึงเรียกที่พักเรือแห่งนี้ว่า “ท่าแพ” และต่อมาเพี้ยนเป็น “ท่าแค” ท่าแพหรือท่าแคในสมัยนั้นจึงเป็นเมืองท่าที่สําคัญและเป็นแหล่งชุมชนที่มีการติดต่อค้าขายกับคนภายนอกอย่างกว้างขวาง
บ้านท่าแค เป็นต้นกำเนิดโนราแห่งแรกของประเทศไทย แสดงผ่านเรื่องเล่าตำนานบรมครูโนรานาม ขุนศรัทธา ซึ่งปัจจุบันมีศาลตั้งอยูที่วัดท่าแค โดยบริเวณรอบวัดท่าแคนั้เป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมาตั้งแต่อดีต ภายในวัดได้ปรากฏสถานที่ที่เกี่ยวกับโนราและขุนศรัทธา ได้แก่ หลักขุนธา และเขื่อนขุนธา ซึ่งมีอิทธิพลและบทบาทสำคัญต่การสืบทอดโนรา วัฒนธรรมประเพณีที่อยู่คู่กับชาวท่าแค่มาอย่างยาวนานนับศตวรรษ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของบ้านท่าแคมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายสำคัญ 2 สายไหลผ่าน คือคลองท่าแค และคลองลําเบ็ด ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ ทํานา ทําสวนยางพารา ส่วนหนึ่งประกอบอาชีพค้าขาย โดยเฉพาะขายใบพลูซึ่งนับว่าเป็นพืชที่ขึ้นชื่อมากของตําบลท่าแค ดังในคําขวัญของเทศบาลตําบลท่าแคคือ “ถิ่นกําเนิดโนราดัง แดนหนังดี ที่นาสวย รวยใบพลู”
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลท่าแค หมู่ที่ 4 บ้านท่าแค มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,012 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 461 คน ประชากรหญิง 551 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 451 ครัวเรือน
ปัจจุบันชาวบ้านท่าแคมีอาชีพหลัก คือ ทำนา ทำสวนผลไม้ และสวนยางพารา สภาพเศรษฐกิจภายในชุมชนยังคงพึ่งพาการเกษตรอันเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ นอกจากนี้ยังมีการปลูกพลูขาย ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจขึ้นชื่อของตำบลท่าแค ปลูกหัวมันเทศ หัวมันหลา หัวบอน ประชากรบางส่วนประกอบอาชีพค้าขาย
ทั้งการเปิดร้านขายของชำในชุมชน หรือการนำสินค้าเข้าไปขายในตัวเมือง การรับจ้าง โดยปกติจะเป็นการรับจ้างทั่วไป และรับราชการซึ่งนับเป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อค่านิยมการเลี้ยงดูบุตรหลานของชาวท่าแคในปัจจุบัน
ชาวบ้านในชุมชนท่าแคส่วนมากแล้วจะนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก โดยมีวัดท่าแคเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันสำคัญต่าง ๆ ภายในวัดท่าแคได้ปรากฏสถานที่ที่เกี่ยวกับโนราและขุนศรัทธา ได้แก่ หลักขุนธาและเขื่อนขุนธา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ ขุนศรัทธา ปฐมบรมครูหมอโนราของชาวท่าแค โดยในทุกวันพุธที่ 2 ของเดือนหกตามปฏิทินจันทรคติ ชาวบ้านท่าแครวมถึงหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลท่าแคจะร่วมกันจัดงานโนราโรงครูประจำปีวัดท่าแคขึ้น เพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมครูหมอโนรา และแสดงถึงความเคารพศรัทธาที่มีต่อพขุนศรัทธา บรมครูของโนราชาวท่าแค
นอกจากโนราโรงครูประจำปีวัดท่าแคแล้ว บ้านท่าแคยังมีประเพณีวันสารทเดือนสิบหรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่าประเพณีชิงเปรต เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่ชาวบ้านจะทําบุญอุทิศบุญกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว มีประเพณีชักพระ จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในประเพณีชักพระนี้จะมีการละเล่นซัดต้ม และการแข่งโพน อนึ่ง ยังมีประเพณีที่สําคัญอีกหนึ่งประเพณี คือ ประเพณีกวนข้าวยาคูหรือข้าวย่าโค จัดในช่วงเดือนยี่ของทุกปี เป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงอย่างมากของตําบลท่าแค จะเห็นได้ว่าประเพณีหรือกิจกรรมที่ยังคงสืบทอดอยู่นั้นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรกรรม การนับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้งความเชื่อในเรื่องผีหรือวิญญาณบรรพบุรุษอยู่ในทุกประเพณีของชาวท่าแค
นายแปลก ชนะบาล หรือโนราแปลก (แปลกดำ) : ต้นกำเนิดการสร้างโรงครูโนราท่าแค
แปลก ชนะบาล หรือโนราแปลก (แปลกดำ) นายโนรามีชื่อแห่งบ้านท่าแค บรมครูโนราคนสำคัญของเมืองพัทลุง ผู้ริเริ่มการปลูกโรงโนราตามแบบโบราณจากเสาไม้ไผ่ มุงด้วยตับจากบนลานดินหน้าต้นโพธิ์ เพื่อใช้สำหรับงานไหว้ครูโนราในเดือนหก เมื่อพิธีกรรมโนราโรงครูเสร็จลงก็รื้อโรงโนราลงทั้งหมดแล้วค่อยทําใหม่อีกปีต่อไป และรูปแบบพิธีกรรมโนราโรงครูวัดท่าแคก็มีแบบแผนการปฏิบัติแน่นอนตั้งแต่นั้นมา ก่อนเปลี่ยนมาสร้างเป็นโรงโนราถาวรบริเวณข้างศาลขุนศรัทธาในยุคของโนราสมพงษ์ น้อยดาวรุ่ง (สมพงษ์ ชนะบาล) อีกหนึ่งบรมครูคนสำคัญของชาวโนรา พัทลุง ผู้เป็นเครือญาติของโนราแปลก โดยโรงโนราถาวรนี้สร้างเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู ซึ่งสร้างจากวัสดุที่คงทนใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นเสาและคานมุงด้วยตับจาก ไม่มีฝาผนัง เป็นอาคาร เปิดโล่งพื้นเทปูนปูกระเบื้อง ครั้นเมื่อโนราสมพงษ์เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2558 ผู้รับหน้าที่ต่อจากโนราสมพงษ์คนปัจจุบัน คือ โนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ ซึ่งก็เป็นสายเครือญาติกับทั้งโนราแปลกและโนราสมพงษ์
โนราแปลกเป็นโนราชั้นครู ผู้รักษาลีลาการรำและขนบนิยมของโนราโบราณมาโดยตลอด ทั้งยังมีความเชื่อว่าครูต้นของโนราท่านหนึ่ง คือ ขุนศรัทธาราม อยู่ที่ท่าแค ดังนั้นทุกปีในวันพุธที่ 2 ของเดือนหก โนราแปลกจะจัดพิธีไหว้ครูโดยรำโนราโรงครูถวายภายในบริเวณวัดอภัยยารามหรือวัดท่าแคซึ่งมีศาลพ่อขุนศรัทธาตั้งอยู่ ในงานจะมีประชาชนจากหลายแหล่งซึ่งเชื่อว่าตัวเองมี “ตายายโนรา” ร่วมกันมาชุมนุมอย่างคับคั่ง นอกจากนั้นผู้ที่ต้องการแก้เหมรฺย (อ่านว่า เหมย แปลว่า การบนบาน) ต่าง ๆ ก็จะมาแก้กันในงานนี้ด้วย
บ้านท่าแค ต้นกำเนิดโนรา รากเหง้าทางภูมิปัญญาแห่งแดนทักษิณ
บ้านท่าแค เป็นต้นกำเนิดโนราแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นสถานที่จัดพิธี “โนราโรงครู” พิธีอัญเชิญครูหรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธีเพื่อรับการเซ่นสังเวยทำพิธีไหว้ครู จัดขึ้นทุกวันพุธที่ 2 เดือนหก เป็นประจำทุกปี จุดประสงค์ของการเกิดโนราโรงครูเพื่อบูชาครู แก้บน ตัดจุก ผูกผ้าคนที่จะเป็นโนราใหญ่ (ครอบเทริด) และยังเป็นการเล่นบูชาพ่อขุนศรีศรัทธาผู้ให้กำเนิดโนรา การแก้บนในโรงครูเสมือนการไปขอครูหมอตายายโนรา การมาแก้บนจึงเป็นการลบล้างมลทินกายมลทินใจ สิ่งที่ได้ให้สัญญาไว้จะได้ไม่เป็นเภทภัย การไม่มาแก้บน ถ้าไม่ได้ติดเหมฺรฺย (สินบนที่สัญญาไว้) ถือว่าไม่ได้เป็นพันธะสัญญาที่จะทำให้เกิดเภทภัย แต่ที่สุดแล้วการที่เดินทางมาประกอบพิธีก็เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์และครูหมอตายาย เพราะความกตัญญูย่อมส่งผลดีกลับคืนสู่ตนเอง
ปัจจุบัน คณะโนรามีชื่อประจำบ้านท่าแคและจังหวัดพัทลุง คือ คณะโนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ ผู้สืบเชื้อสายจากโนราแปลกและโนราสมพงษ์ บรมครูโนราแห่งเมืองพัทลุง สำหรับคณะโนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ หัวใจของการเล่นโรงครูต้องมีการร่าย 12 คำพรัด หรือกลอน 12 ข้อ ที่แฝงไปด้วยคำสอนของศาสนา การรำ 12 เพลง โดยหนึ่งใน 12 เพลง เป็นเพลงครู ซึ่งถือเป็นท่ารำสูงสุดของโนรา และมีการเล่น 12 เรื่อง เป็นวรรณคดีไทย มีตั้งแต่พระสุธน-มโนราห์ พระรถเมรี ไปจนถึงไกรทอง วรรณคดีที่เลือกมาเล่นมีความสอดคล้องกับพิธีกรรม เช่น พระสุธน มโนราห์ เป็นการคล้องหงส์ หรือไกรทอง เป็นการแทงจระเข้ (จำลอง) อันเป็นพิธีกรรมที่ประกอบด้วยศาสตร์และศิลป์แห่งภูมิปัญญา มีทั้งศิลปะ มีทั้งการใช้พระเวท เป็นทั้งความเชื่อ วิถีชีวิต เรื่องการสะเดาะเคราะห์ และเปรียบเหมือนการลอยทุกข์ลอยโศก
โดยพิธีกรรมแทงจระเข้ มาจากความเชื่อว่าจระเข้ (ชาละวัน) เป็นตัวแทนของสิ่งไม่ดี มีการสร้างตัวจระเข้จำลองจากต้นกล้วยพังลาหรือกล้วยตานี ปรากฏตั้งเด่นไว้หน้าลานโรงโนราให้ผู้คนทำบุญนำเงิน ข้าวของ มาใส่ไว้ในปากจระเข้ ด้วยเชื่อว่าเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ เพราะเมื่อจระเข้ถูกแทงตายจะนำไปลอยน้ำ ทุกข์โศก โชคร้ายก็จะให้ลอยไปพร้อม ๆ กับจระเข้ ภายในงานโนราโรงครู วัดท่าแค ไม่ได้มีแต่เพียงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจจาก ททท. ทั้งบูธสาธิตลูกปัดมโนราห์ การทำสร้อยและชุดมโนราห์ กระเป๋ากระจูดลูกปัดมโนราห์ การทำเทริดมโนราห์ เวิร์กช็อปทำมือ อาทิ ร้อยลูกปัดโนรา พวงกุญแจหน้ากากตาพรานจากผ้าย้อมสีธรรมชาติ พร้อมทั้งจำลองโรงภาพยนต์ หนังกลางแปลงนำเสนอหนังเรื่อง เทริด และโนรา เพื่อตอกย้ำเรื่องราวของมโนราห์ มรดกโลก และความเป็นมาให้นักท่องเที่ยวได้รับชม
ทั้งนี้ โนราโรงครู ไม่เพียงเป็นความผูกพันกับวิถีชีวิตเท่านั้น แต่เป็นวิถีชีวิตของคนใต้ ที่สอนคนตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าเป็นหมอโนราสามารถประกอบพิธีกรรมความเชื่อได้ ไม่ว่าจะทำเกิด (ทำคลอด) เอาเด็กขึ้นเปล ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และสามารถกระทำได้ทุกแขนงศาสตร์ที่เป็นความเชื่อผูกพันกับวิถีชีวิตของคนภาคใต้
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : อักษรไทย
กระทรวงวัฒนธรรม. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2566). นายแปลก ชนะบาล. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.m-culture.in.th/album/194227/
ณัฐวัตร อินทร์ภักดี. (2559). “คติชนสร้างสรรค์” จากความเชื่อเรื่องครูหมอโนราที่ตำบลท่าแค จังหวัดพัทลุง. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอีกษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ผู้จัดการออนไลน์. (2566). โนราโรงครู วัดท่าแค ในวันที่ศรัทธายังเนืองแน่น และสถานะความเป็นมรดกโลกฯ. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9660000044969
. (2566). สืบสานศิลป์ถิ่นโนรา: โนราโรงครู วัดท่าแค ปี 2566. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9660000041582
พงศ์อินทร์ นันทวงศ์. (2562). การจัดการมรดกทางวัฒนธรรม : กรณีศึกษาศาลเจ้าพ่อขุนศรัทธาบ้านท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปสษสตรมหาบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
ศาสตร์แห่งครูหมอโนรา. (2557). โนราแปลก ชนะบาล ท่าแค. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/SastrHaengNoraRongKhru/photos/a.375794992534431/559945617452700/
articleเที่ยว. (2566). เที่ยววัดท่าแค พัทลุง สืบสานวัฒนธรรม ไหว้พ่อขุนศรีศรัทธา ต้นกำเนิดมโนราห์. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/detail/Ep9V4b8Jk3a2
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
Norasompong. (ม.ป.ป.). ภาพถ่ายโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง ·. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566, จาก http://norasompong.blogspot.com/p/blog-page.html
Sanook. (2560). โนราโรงครู “รากแห่งวัฒนธรรมศรัทธา มรดกอันทรงคุณค่าแห่งด้ามขวานทอง”. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sanook.com/travel/1404021/