Advance search

บ้านหนองแฟบ

บ้านหนองแฟบ ชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปี ภายในชุมชนมีแหล่งโบราณสถานขุดพบพบโครงกระดูกมนุษย์และภาชนะดินเผา เครื่องมือโลหะ เครื่องประดับ ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน เครื่องประดับสำริดที่กำหนดอายุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะปลูกกล้วยหอมส่งออกสู่ตลาดญี่ปุ่นผ่านการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรบ้านลาดและสหกรณ์การเกษตรท่ายาง แหล่งส่งออกกล้วยหอมทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

หมู่ที่ 5
หนองแฟบ
ท่ายาง
ท่ายาง
เพชรบุรี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ส.ค. 2023
บ้านหนองแฟบ

เดิมชื่อว่า “ซากสามโรง” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นบ้านหนองแฟบ เนื่องจากมีหนองน้ำอยู่ทางเหนือของหมู่บ้าน ต่อมาบริเวณต้นน้ำได้บีบตัวแคบลงมาเรื่อย ๆ จนหมดไป ประชาชนในชุมชนจึงเรียกกันมาว่า “หนองแฟบ”


ชุมชนชนบท

บ้านหนองแฟบ ชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปี ภายในชุมชนมีแหล่งโบราณสถานขุดพบพบโครงกระดูกมนุษย์และภาชนะดินเผา เครื่องมือโลหะ เครื่องประดับ ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน เครื่องประดับสำริดที่กำหนดอายุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะปลูกกล้วยหอมส่งออกสู่ตลาดญี่ปุ่นผ่านการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรบ้านลาดและสหกรณ์การเกษตรท่ายาง แหล่งส่งออกกล้วยหอมทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

หนองแฟบ
หมู่ที่ 5
ท่ายาง
ท่ายาง
เพชรบุรี
76130
เทศบาลตำบลท่ายาง โทร. 0-3246-3000
12.98316
99.90903
เทศบาลตำบลท่ายาง

หมู่บ้านหนองแฟบ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2443 เดิมชื่อว่า “ซากสามโรง” ประชากรในชุมชนเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ที่บ้านซากสามโรงมาตั้งแต่เริ่มแรกรุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นบ้านหนองแฟบ เนื่องจากมีหนองน้ำอยู่ทางเหนือของหมู่บ้าน ต่อมาบริเวณต้นน้ำได้บีบตัวแคบลงมาเรื่อย ๆ จนหมดไป ประชาชนในชุมชนจึงเรียกกันมาว่า “หนองแฟบ” แต่บ้างส่วนก็ยังเรียกชื่อ “ซากสามโรง” อยู่จนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสเขาลูกช้างในตําบล ท่าไม้รวก ได้โปรดสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุด ชื่อว่า “เขื่อนเพชร” ซึ่งประชากรบ้านหนองแฟบได้รับประโยชน์จากเขื่อนเพชรในการอาศัยน้ำประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนด้านการคมนาคมได้มีการตัดถนนสายเพชรเกษมผ่านใกล้หมู่ บ้านหนองแฟบ ทําให้การเดินทางสะดวกขึ้น

ในสมัยสงครามเอเชียบูรพา ทหารญี่ปุ่นได้จัดสร้างสนามบินและค่ายทหารบริเวณเขากระจิวใกล้หมู่บ้าน และหลังจากสิ้นสุดสงคราม บ้านหนองแฟบได้มีการพัฒนาทั้งถนนหนทาง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ อาทิ น้ำประปา ไฟฟ้า มีผลให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมมากขึ้น ทําให้บ้านหนองแฟบเป็นแหล่งทําการเกษตรกรรมที่สะดวกเนื่องจากได้ใช้น้ำจากคลองชลประทานสาย 3

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านหนองแฟบตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตําบลท่ายาง อําเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านอื่น ๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 3 บ้านท่ากระเทียม

  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 6 บ้านกระจิว

  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ 8 บ้านนาขึงหนัง

  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ 1 บ้านท่ายาง

บ้านหนองแฟบ มีลักษณะทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่มและลาดเอียงจากทางด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก เป็นพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรเพราะมีแม่น้ําเพชรบุรีและคลองชลประทานสาย 3 ไหลผ่าน ประกอบกับทางด้านตะวันตกมีเทือกเขาสลับซับซ้อน คือ เทือกเขาตะนาวศรี ทําให้เกิดพรมแดนกั้นทิศทางลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ไว้ไม่ให้พัดกระหน่ำเข้ามาในหมู่บ้านอย่างเต็มกำลัง

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของบ้านหนองแฟบทั่วไปค่อนข้างร้อน มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่าน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน บางครั้งได้รับอิทธิพลจากพายุ ดีเปรสชันจากทะเลจีนใต้ ทําให้ฝนตกสม่ำเสมอ ปริมาณน้ำฝนมีปริมาณมาก

  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม อากาศไม่หนาวเย็นมากนัก เนื่องจาก ความกดอากาศปกคลุมมาไม่ถึง อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 18 องศา

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 34 องศา

การใช้ประโยชน์ที่ดิน

1. การใช้ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย ที่พักอาศัยของบ้านหนองแฟบตั้งกันหนาแน่นอยู่ตามทางหลวงและบริเวณคลองชลประทานสาย 3

2. การใช้ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม มีลักษณะเป็นร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกเกาะกลุ่มกันอยู่บริเวณสองฝั่งทางหลวงและบริเวณ 2 ข้างถนนคลองชลประทานสาย 3

3 การใช้ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีร้านซ่อมจักรยานยนต์ รถยนต์ และเครื่องจักรกลทางการเกษตรกระจายกันอยู่ตามทางหลวง

4. การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ทําการเกษตรได้ตลอดปี พืชผลที่ปลูกมาก ได้แก่ การทํานาและปลูกพืชไร่ พืชสวน และพืชผักหมุนเวียนกันตลอดปี

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรน้ำ

บ้านหนองฟบมีคลองชลประทานสาย 3 เป็นแหล่งน้ำสําคัญทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรสามารถทํานาได้ปีละ 2 ครั้ง และยังใช้ในการอุปโภคด้วย

ทรัพยากรธรณี

ในเขตพื้นที่บ้านหนองแฟบมีทรัพยากรธรณีที่สําคัญ ได้แก่ ทรัพยากรดิน ซึ่งมีลักษณะเป็น ดินเหนียวปนทราย ชั้นบนสีดํา ชั้นล่างมีสีเทา หรือสีน้ำตาลอ่อน มีจุดประสีเหลืองและสีน้ำตาล หรือมีสีแดง บางแห่งพบยิบซัมและเปลือกหอยในดินชั้นล่างบริเวณที่ราบลุ่มในดินลึกมีลักษณะเป็นโคลนมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง อันเป็นประโยชน์ในการทํานาหรือยกร่องปลูกพืชผักและผลไม้

ประชากร

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านหนองแฟบ ตำบลท่ายาง มีประชากร 2,836 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,375 คน ประชากรหญิง 1,461 คน และจำนวนครัวเรือน 1,023 ครัวเรือน

ลักษณะเครือญาติ

บ้านหนองแฟบมีลักษณะความเป็นเครือญาติค่อนข้างสูง คือ จะมีนามสกุลใหญ่ ๆ เช่น อ่วมพ่วง โหนชัยยะ ในระหว่างเครือญาติจะมีการไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ การแบ่งปันทรัพย์สินจะแบ่งในลักษณะที่เท่า ๆ กัน การที่จะตัดสินใจที่จะยกทรัพย์สินให้กับลูกคนไหนเท่าไร พ่อแม่จะเป็นผู้แบ่งทรัพย์สินให้กับลูก ๆ ในจํานวนที่เท่า ๆ กัน เช่น การแบ่ง พื้นที่ทํากิน ที่อยู่อาศัย ทําให้ลูกหลานได้อยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียงกันมีส่วนน้อยที่จะแยกตัวออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น แต่จะมาพบกันในวันสําคัญต่าง ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันตรุษจีน

ประชากรบ้านหนองแฟบส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทําสวน ทํานา ทําไร่ และเลี้ยงสัตว์ พืชผลทางการเกษตรที่นิยมปลูก คือ มะนาว กล้วย ชมพู่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจการค้าทางด้านพาณิชยกรรมรับจ้างและอุตสาหกรรม โดยมีอุตสาหกรรมขนาดย่อยเป็นส่วนใหญ่

การเกษตรกรรม

ประชากรในบ้านหนองแฟบจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมพื้นที่เกษตรกรรม มีทั้งการทําสวน ทํานา ปลูกพืชไร่ โดยปลูกพืชสวนและผักหมุนเวียนตลอดปี พืชและผลไม้ที่สําคัญ คือ มะนาว กล้วย ชมพู่ เผือก ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์และพืชผัก

มะนาว: นิยมปลูกกันมาก เนื่องจากพื้นที่เป็นบริเวณที่ได้รับน้ำจากคลองชลประทานสาย 3 ตลอดทั้งปี จึงสามารถทําการเพาะปลูกและนําผลผลิตป้อนสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี รายได้จากการปลูกมะนาวค่อนข้างแตกต่างกันในแต่ละช่วง หากเป็นในฤดูหนาวราคามะนาวจะตกต่ำ ทําให้ประชากรบ้านหนองแฟบที่ปลูกมะนาวได้รับความเดือดร้อน ส่วนในฤดูร้อนจะได้ราคาดีมาก ทําให้ได้รายได้สูงในช่วงฤดูร้อน การส่งขายมะนาวจะนําไปขายที่ตลาดรับซื้อมะนาว “หนองป่วย" โดยมีแม่ค้าจากต่างจังหวัดและในตัวจังหวัดเองมารับซื้อ แม่ค้าจากต่างจังหวัดก็มีจากทางใต้และทางเหนือที่มารับซื้อ บางส่วนเป็นแม่ค้าที่มาจากกรุงเทพ

กล้วยหอม: บ้านหนองแฟบเป็นแหล่งเพาะปลูกกล้วยหอมทองส่งออกสู่ตลาดญี่ปุ่น โดยสหกรณ์การเกษตรบ้านลาดจะมีคนมาตัดกล้วยหอมจากบ้านหนองแฟบไปทําการบรรจุและคัดเลือกส่งตลาดต่างประเทศ แต่ผู้ที่ปลูกกล้วยหอมส่งสหกรณ์การเกษตรบ้านลาดจะต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรบ้านลาดเท่านั้น กล้วยหอมที่สหกรณ์การเกษตรบ้านลาดต้องการคือกล้วยที่ยังไม่สุก หากว่ากล้วยสุกจะไม่สามารถส่งสหกรณ์การเกษตรได้ จึงต้องนำไปขายส่งให้กับพ่อค้าหรือแม่ค้าคนกลาง แต่จะได้ราคาที่ต่ำลงและไม่คงที่ ภายหลังการก่อตั้งกลุ่มสหกรณ์การเกษตรท่ายางที่รับซื้อผลผลิตกล้วยหอมทองจากประชากรในตำบลท่ายางทุกพื้นที่ กระที่งกลายเป็นแหล่งส่งออกกล้วยหอมทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่นอกจากจะส่งออกกล้วยหอมทองไปยังประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังมียอดการส่งขายให้แก่ห้างดังและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศในจำนวนมากเป็นลำดับต้น ทำให้ชาวบ้านหนองแฟบมีตลาดรับซื้อกล้วยจากสวนเพิ่มมากขึ้น โดยกล้วยหอมที่สหกรณ์การเกษตรบ้านลาดและสหกรณ์การเกษตรท่ายางรับซื้อจากชาวบ้าน มีทั้งที่จำหน่ายเป็นกล้วยสดและที่นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากชนิด อาทิ กล้วยตาก กล้วยกรอบ 

การอุตสาหกรรม

อาชีพของประชากรบ้านหนองแฟบอีกอย่างหนึ่ง คือ ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และเครื่องจักรกลทางการเกษตรจะมีค่อนข้างมาก เนื่องจากได้ขยายตัวมาจากอําเภอท่ายางและมีพื้นที่เหมาะกับการตั้งร้านซ่อมรถ ในพื้นที่บ้านหนองแฟบจึงมีร้านซ่อมรถหลายร้าน

การพณิชยกรรม/การบริการ

การค้าในบ้านหนองแฟบจะเป็นการค้าปลีก ร้านค้าส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าประเภทอะไหล่รถ ปั๊มน้ำมัน ร้านขายพวงมาลัย ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ สวนอาหาร ร้านอาหารตามสั่ง มินิมาร์ท ร้านซักอบรีด ร้านเสริมสวย ซึ่งสามารถสร้างรายได้แก่ประชากรบ้านหนองแฟบได้มากพอสมควร

ประชากรบ้านหนองแฟบนับถือศาสนาพุทธ สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา คือ วัดบรรพตาวาส (วัดเขากระจิว) ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 บ้านเขากระจิว โดยบทบาทของพระสงฆ์ในวัดเขากระจิวต่อชุมชนบ้านหนองแฟบนั้นอาจกล่าวได้ว่าไม่โดดเด่นมากนัก เนื่องจากวัดดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้าน แต่เจ้าอาวาสวัดเขากระจิวนั้นเป็นพระนักพัฒนา ท่านได้พัฒนาถนนทางเข้าวัด ทําให้ชาวบ้านหนองแฟบสามารถเดินทางเขาไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดได้สะดวกขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แหล่งโบราณคดีบ้านหนองแฟบ

เมื่อปี พ.ศ. 2537 ชาวบ้านหนองแฟบได้ทำการขุดดินลึกลงไป 50 เซนติเมตร เพื่อทำไร่จึงได้พบโครงกระดูกจำนวน 3 โครง หัันศรีษะไปทางทิศตะวันออก มีภาชนะดินเผา เครื่องมือโลหะ เครื่องประดับ และลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน เครื่องประดับสำริดอยู่ร่วมกับโครงกระดูกโบราณวัตถุ ภาชนะดินเผาพบทั้งสภาพสมบูรณ์และชำรุดแตกหักเป็นชิ้นส่วน กำหนดยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รูปแบบที่พบมีรูปทรง ดังนี้

1. ภาชนะดินเผาแบบมีเชิง ความสูง 8-10เซนติเมตร ลำตัวกลมป่อง ปากยกขอบผายออก ผิวเรียบ รมดำ เนื้อค่อนข้างบาง ด้านนอกมีร่องรอยแป้นหมุนช้า ด้านในมีรอยหินดุ

2. ภาชนะดินเผามีเชิงความสูง 9-10 เซนติเมตร ลำตัวป่อง มีสันมน ปากยกขอบผายออก ด้านในมีร่องรอยหินขุต ด้านนอกเหนือสันมีลายขูดขีดตัดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน

3. ภาชนดินเผาก้นกลม ปากยกขอบผายออก ตกแต่งด้วยการขูดขีด บริเวณไหล่ขูดเป็นเส้นขนานรอบลำตัว 2 เส้นคู่เป็นลายเชือกทาบตีทับกันไป-มา และรมควันเป็นสีดำ ด้านในมีผิวขรุขระ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เซนติเมตร สูง 10.5 เซนติเมตร

ส่วนลูกปัดที่พบมีทั้งที่ทำจากหินและแก้ว ได้แก่ ลูกปัดหินอเกต ลูกปัดหินคาร์นีเลียน และลูกปัดแก้วสีฟ้า โดยโบราณวัตถุที่พบในครังนี้ ส่วนหนึ่งอยู่ที่ชาวบ้าน แต่ส่วนหนึ่งอยู่ที่วัดบรรพตาวาส

โบราณวัตถุที่พบร่วมกับโครงกระดูกมีรูปแบบเหมือนกันที่พบในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น แหล่งในเขตจังหวัดราชบุรี แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของผู้คนในพื้นราบที่ไม่ไกลจากทะเล ที่มีการพัฒนาขึ้นมาในระดับหนึ่ง มีการติดต่อกับชุมชนภายนอก และต่อมาเมื่อได้อิิทธิพลวัฒนธรรมจากภายนอกโดยเฉพาะวัฒนธรรมอินเดียผสมผสานกับวัฒนธรรมในท้องถิ่นคลี่คลายมาเป็นวัฒนธรรมแบบทวารดี โดยพบร่องรอยชุมชนวัฒนธรรมทวารวดีอยู่เป็นกลุ่มไม่ไกลจากบริเวณแหล่งโบราณคดีนี้ สำหรับแหล่งบ้านหนองแฟบสันนิษฐานว่าอาจเป็นแหล่งฝังศพบ้านเขากระจิว

ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน: อักษรไทย


ในอดีตบ้านหนองแฟบมีการรักษาอาการเจ็บป่วยกับหมอแผนโบราณ คือ พ่อเอี่ยม เป็นผู้มีความรู้ทางแพทย์แผนโบราณประจำหมู่บ้าน โดยท่านได้ทําการรักษาโรคต่าง ๆ ด้วยวิธีการกวาดลิ้น ใช้ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน แต่ต่อมาเมื่อมีการแพทย์แผนใหม่ ชาวบ้านได้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลท่ายางและคลินิกในตัวตําบลท่ายาง แต่ไม่นิยมรักษาที่อนามัยเนื่องจากการเดินทางไปยังโรงพยาบาลและคลินิกสะดวกกว่า

ปัจจุบันประชากรในหมู่บ้านหนองแฟบเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจํานวนมาก ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีประชากรเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์จํานวนถึง 68 ราย เนื่องจากการไม่เข้าใจถึงสาเหตุของโรคและวิธีป้องกัน ในปัจจุบันการป่วยเสียชีวิตในโรคเอดส์ลดลงมากเนื่องจากทางสาธารณสุขเข้ามาสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ชาวบ้านให้เกิดความตระหนักถึงสาเหตุและผลกระทบจากการเกิดโรคดังกล่าว 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กล้วยหอมทองบ้านลาด. (2558). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/profile.php?id=100079580710729&sk=photos

พยุง วงศ์น้อย. (2539). แหล่งโบราณคดีบ้านหนองแฟบ. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.finearts.go.th/

สหกรณ์การเกษตรท่ายางจำกัด กล้วยหอมทอง. (2564). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/Thayangcoop.Homthong/

       . (2565). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/Thayangcoop.Homthong/

สินีนาฎ มุสิกะ. (2545). ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด : กรณีศึกษาสมาชิกกลุ่มปลูกกล้วยหอมทองส่งออก บ้านหนองแฟบ ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/